แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อหลายปีก่อน ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในชนบท ครูใหญ่กำลังเดินตรวจดูความเรียบร้อยรอบๆโรงเรียน ก็ไปพบสิ่งผิดปกติใต้ถุนอาคารหลังหนึ่ง มีเด็กนักเรียน 4-5 คนซุกซ่อนกันอยู่ใต้ถุนอาคาร มีอาการพิรุธ ครูใหญ่ก็เลยเรียกเด็กพวกนี้ออกมา ปรากฏว่ากำลังมั่วสุมดมกาวกัน แทนที่ครูใหญ่จะลงโทษเด็ก กลับถามเด็กว่า ทำไมถึงดมกาว ทำไมไม่เข้าห้องเรียน
เด็กก็ตอบว่า ไม่อยากเรียนวิชาคณิตศาสตร์ครับ เพราะผมเรียนไม่รู้เรื่อง แล้วก็ไม่ได้ทำการบ้านด้วย กลัวถูกตีอีก ก็เลยหนีเรียนมาดมกาวกัน ครูใหญ่ก็ถามต่อว่า เธอไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์ แล้วไม่ชอบวิชาไหนอีก ปรากฏว่าเด็กไม่ชอบสักวิชาเลย ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ครูถามต่ออีกว่างั้นเธอชอบอะไร
เด็กบางคนก็ตอบว่า ผมชอบวิชาซ่อมมอเตอร์ไซค์ครับ อีกคนหนึ่งบอกชอบวิชาตัดผมครับ อีกคนหนึ่งตอบว่าชอบการเกษตรครับ ปรากฏว่าเป็นวิชาที่ไม่มีสอนในโรงเรียนเลย ครูใหญ่ก็อึ้ง แล้วก็พูดต่อว่า เอาล่ะพวกเธอไปเข้าห้องเรียนก่อน แล้วครูใหญ่ก็พาเด็กกลุ่มนี้ไป แล้วกระซิบบอกครูคณิตศาสตร์ว่าอย่าทำโทษเด็กพวกนี้น่ะ
นับแต่นั้นมา ครูใหญ่ก็พยายามหาวิชาที่เด็กชอบ แต่โรงเรียนก็มีข้อจำกัด เพราะโรงเรียนก็สอนแต่วิชาสามัญ ก็เลยให้เด็กๆไปเรียนจากชาวบ้านในชุมชน เด็กที่ชอบซ่อมมอเตอร์ไซค์ก็ไปเรียนที่ร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ในชุมชนซึ่งก็ไม่ใช่เป็นหมู่บ้านทีเดียวกำลังจะเป็นตำบลแล้ว อีกคนหนึ่งไปฝึกงานจากปั๊มน้ำมันขนาดเล็ก เด็กคนไหนชอบวิชาตัดผมก็ไปฝึกงานกับช่างตัดผมในชุมชน ให้ไปฝึกงานอาทิตย์ละ 2 วัน
แล้วก็มีครูช่วยแนะนำด้วย ให้เด็กทำแผนการเรียน ปรากฏว่าเด็กเหล่านี้ซึ่งไม่เอาถ่านในวิชาเรียนกลับตั้งใจกับวิชาชีพที่ตัวเองไปฝึกงาน แล้วพอทำ ก็ได้รางวัล เช่นเด็กที่ไปฝึกงานที่ร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ เจ้าของก็ให้ปะยาง เด็กปะยางได้ ก็ให้เงิน 5 บาทเป็นรางวัล เด็กก็ภูมิใจ ตอนหลังก็พัฒนาฝีมือ พัฒนาทักษะมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งซ่อมมอเตอร์ไซค์ได้
ส่วนเด็กที่เรียนวิชาตัดผม ก็เรียนได้จนตัดผมเป็น เด็กที่ไปเรียนวิชาเกษตรกับชาวบ้าน ก็สามารถที่จะปลูกพืชผลให้เป็นเรื่องเป็นราวได้ เด็กเห็นความสำเร็จของสิ่งที่ตัวเองทำก็ภูมิใจ ยิ่งได้มีโอกาสไปช่วยงานโรงเรียน หรือไปช่วยงานชุมชน เด็กก็รู้สึกว่าได้รับการยอมรับ รู้สึกมีศักดิ์ศรี นับตั้งแต่นั้นมา เด็กพวกนี้ไม่ไปสนใจเรื่องดมกาว หรืออบายมุข หรือการพนันเลย เพราะเขารู้สึกมีความภูมิใจ รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า
โรงเรียนนี้ตอนหลังก็มีการรื้อหลักสูตร หลักสูตรเดิมก็ยังมีอยู่ หลักสูตรสามัญคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เรียนอยู่สอนอยู่ แต่สอนวิชาอื่นด้วย ครูไม่ได้สอนเอง แต่ให้เด็กไปเรียนจากชาวบ้านที่เขามีประสบการณ์ ชาวบ้านก็ภูมิใจว่าได้สอนลูกหลานให้เขามีความรู้ ให้มีทักษะให้มีวิชาชีพ เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างโรงเรียนกับชุมชน
ตอนหลังก็เลยกลายเป็นแม่แบบของโรงเรียนในชนบทที่เชื่อมระหว่างโรงเรียนกับชุมชน แล้วก็เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้หลายอย่างตามความถนัด คือเอาเด็กนักเรียนเป็นศูนย์กลาง แทนที่จะเอาวิชาเป็นศูนย์กลาง ถ้าเอาวิชาเป็นศูนย์กลาง เด็กคนไหนก็ตามจะมีหัวหรือไม่มีหัวก็ต้องเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หัวไม่ไปก็ต้องจำใจเรียน
สุดท้ายก็รู้สึกล้มเหลว เพราะว่าเรียนไม่ได้ เรียนไม่รู้เรื่อง สุดท้ายก็หันไปดมกาวที่สมัยนี้ก็คือไปติดยาแทน สุดท้ายก็ไปมั่วสุมกับเพื่อนที่เป็นแก๊งอันธพาล แต่ครูใหญ่ท่านนี้เข้าใจเด็ก เห็นเด็กดมกาว ถ้าเป็นครูคนอื่นก็อาจจะโกรธ แล้วก็จับเด็กมาลงโทษ เพราะว่าอุอาจมาก ดมกาวในโรงเรียน ในวิชาที่กำลังเรียนอยู่ด้วย แทนที่จะไปดมกาวนอกโรงเรียนในเวลาเลิกเรียน ทำขนาดนี้
แต่ครูใหญ่ท่านนี้มองว่าเด็กทำอย่างนี้ต้องมีเหตุผล ก็เลยถาม แล้วก็พบว่า ความจริงแล้ว เด็กพวกนี้ไม่ใช่ไม่รักดี ถึงไปดมกาว แต่เพราะว่าไม่มีโอกาสที่จะทำดี โอกาสที่จะทำดีได้ มีน้อยสำหรับเด็กกลุ่มนี้ เพราะว่าวิชาที่สอนในโรงเรียน เด็กเรียนไม่รู้เรื่องเลย เพราะว่าหัวไม่ไป ก็เลยเอาดีทางวิชาเหล่านี้ไม่ได้ พอเอาดีกับวิชาเหล่านี้ไม่ได้ เด็กก็รู้สึกว่าแย่
พอครูลงโทษครูด่า ก็ยิ่งรู้สึกมีปมด้อย พอเกิดปมด้อยก็รู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ในเมื่อเอาดีไม่ได้ก็ไปเอาชั่วก็แล้วกัน หรือมิเช่นนั้นก็ไปอาศัยพวกยาเสพติดหรือสิ่งเสพติดช่วยบรรเทาความกลุ้มใจ เพราะคนเราต้องการเป็น Somebody หรือเป็นคนที่มีคุณค่า ถ้ารู้สึกว่าตนเองไร้คุณค่า หรือถูกครูดุครูด่าครูว่า ตัวเองไม่มีความสามารถอะไร ก็รู้สึกว่าแย่
ก็เลยเอายาเสพติดมาบำบัดความทุกข์ หรือไม่เช่นนั้นพอมีความทุกข์มากๆ จิตใจก็มีโอกาสที่จะโน้มเอียงไปในทางทำชั่วได้ง่าย เพราะรู้สึกว่าทำดีแล้วทำไม่ได้ ก็ทำชั่วเสียเลย เรียกว่า เด่นทางดีไม่ได้ก็ไปเด่นทางชั่วก็แล้วกัน
แต่พอเปิดโอกาสให้เด็กได้ทำในสิ่งที่เขาถนัด หัวไม่ไปหรือใช้หัวไม่เป็น ก็ใช้แขนใช้มือ บางคนไม่ถนัดใช้หัวแต่ถนัดใช้มือทำวิชาชีพ ทำแล้วประสบความสำเร็จ เป็นที่ยอมรับ ก็รู้สึกตนเองมีคุณค่า เป็นที่ยอมรับ ความรัก ความใฝ่ดีมันก็เกิดขึ้นได้ง่าย
อันนี้ก็เป็นเรื่องราวของครูสุรินทร์ กิจนิจชีว์ ครูใหญ่ รร.สาคลีวิทยาซึ่งตอนหลังท่านก็ได้ปฏิรูปการสอนการเรียนในโรงเรียน เพราะอาศัยเด็กดมกาวนี้แหล่ะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเฉลียวใจสงสัยว่าโรงเรียนของเรามีความผิดพลาดบางอย่าง จึงไม่สามารถที่จะรองรับเด็กเหล่านี้ได้
แต่พอเปิดโอกาสให้เด็กเหล่านี้ได้ร่ำเรียนในสิ่งที่ชอบที่ถนัด แล้วมีความสุขขึ้นมา เด็กก็มีความสุข ครูก็มีความสุข พ่อแม่ของเด็กก็มีความสุข ชุมชนก็มีความสุข เพราะว่าเด็กอันธพาลเด็กดมกาวก็หายไป แถมยังมีวัยรุ่นมาช่วยงานในหมู่บ้านในชุมชน
อันนี้ก็เป็นเรื่องราวที่ทำให้เราน่าจะได้คิดได้ว่า เด็กที่เกกมะเหรกเกเรติดยาหรือเป็นแก๊งอันธพาล บางทีก็ไม่ใช่เพราะไม่รักดีหรือใฝ่ชั่ว แต่เป็นเพราะว่าเขามีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้เขาไม่สามารถที่จะทำดีได้ หรือไม่สามารถจะรักดีอย่างที่พ่อแม่ ครู หรือว่าชุมชนปรารถนาได้
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้า วันที่ 30 สิงหาคม 2564