แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะ หมายถึงความดีและความจริงอย่างที่เคยพูดไปแล้ว ความจริงก็เรียกว่าสัจธรรม ความดีเป็นเรื่องของจริยธรรม ทั้งความดีและความจริงจะสัมพันธ์กับอีกสิ่งหนึ่งคือ ความสุข
ความดีกับความสุขเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด อย่างเช่น เวลา พระให้ศีล ก็จะสรุปได้ว่า สีเลนะ สุคติยันติ ศีลทำให้เกิดสุข ศีลก็คือความดี ความดีบางทีมีชื่ออีกอย่างหนึ่งก็คือบุญ บุญทำให้เกิดความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เมื่อเราทำความดี ก็ย่อมเกิดความสุขตามมา
ความจริงก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราเกี่ยวข้องกับความจริงอย่างถูกต้อง มันก็เกิดสุข แต่ว่าอาจจะเห็นไม่ชัดเพราะว่า สุขเกิดขึ้นเมื่อความพ้นทุกข์หรือการดับทุกข์เกิดขึ้น เมื่อวางทุกข์หรือเมื่อทุกข์ดับ ก็เกิดสุขตามมา การที่วางทุกข์ได้เมื่อรู้ความจริง
และ คำสอนที่เป็นแก่นแท้ของพระพุทธเจ้าก็คือ อริยสัจ อริยสัจหมายถึงความจริงอันประเสริฐ และความจริงนี้เป็นสิ่งที่เราต้องรู้ การรู้ในอริยสัจ 4 รู้ในทุกข์ รู้ในสมุทัย รู้ในนิโรธ รู้ในมรรค มันเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ นำไปสู่ความสงบระงับ ความสงบเย็นหรือความสุขได้
เพราะฉะนั้น ความจริงเป็นสิ่งสำคัญในพระพุทธศาสนา เราจะดับทุกข์ เราจะแก้ปัญหาไม่ได้เลยถ้าเราไม่รู้ความจริง แม้กระทั่งในทางโลกก็ยอมรับในเรื่องนี้ว่า การรู้ความจริงเป็นสิ่งสำคัญที่จะแก้ทุกข์ ความทุกข์ในที่นี้อาจจะหมายถึงความทุกข์ทางกาย เช่น ความเจ็บป่วย เวลาคนป่วยไปหาหมอ หมอจำเป็นต้องรู้ความจริงเกี่ยวกับผู้ป่วย รู้ความจริงเกี่ยวกับอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะที่เป็นปัญหา
อาจจะมีการวัดความดัน เอ๊กซเรย์ หรือตรวจแล็บ เพื่อจะรู้ความจริงเกี่ยวกับร่างกายของผู้ป่วย แต่บ่อยครั้งเท่านั้นก็ยังไม่พอ ต้องรู้ความจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ป่วยด้วย ว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงอย่างไรบ้างเกี่ยวกับการกิน การสูบบุหรี่ การออกกำลังกาย การพักผ่อน การหักโหม ก็ต้องรู้ ความจริงเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยดับทุกข์หรือว่าแก้ปัญหาความเจ็บป่วยได้
แต่ในบางกรณีต้องอาศัยความจริงมากกว่านั้น ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพโดยตรงเลย อย่างเช่น ผู้หญิงคนหนึ่ง อายุไม่มาก ประมาณ 30 กว่า ปวดหัว ปวดท้อง ความดันสูงเป็นประจำ รักษาเท่าไหร่ก็ไม่หาย หายก็ชั่วคราว หมอก็แปลกใจ เพราะว่าร่างกายของเธอก็ปกติ ไม่มีส่วนใดที่จะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการที่ว่าได้
ทีแรกหมอก็ท้อแล้ว แต่ว่าอยู่ๆก็ได้คิดขึ้นมา ก็เลยสอบถามผู้ป่วย ให้เธอเล่าประวัติของเธอให้หมอฟังหน่อย เธอเล่าว่าเธอเป็นเด็กกำพร้า พ่อแม่เสียตั้งแต่เล็ก อยู่ในความดูแลของพี่สาว ซึ่งก็อายุมากกว่าเธอมากทีเดียว เวลาเธอพูดถึงพี่สาว เธอจะแสดงอาการออกมาอย่างเห็นได้ชัดถึงความโกรธพี่สาวที่ใช้อำนาจกับเธอ ชอบบังคับเธอสารพัด
พอหมอเห็นอย่างนี้ หมอก็เลยรู้ว่า อาการของเธอเกิดจากอะไร จึงแนะนำเธอว่าให้อภัยพี่สาว เธอไม่ยอมแล้วเธอก็หายไปเลย จนกระทั่ง 1 ปีต่อมา หมอได้รับจดหมายของเธอว่า เธอหายแล้วอาการที่ว่านี้ เพราะได้ทำตามที่หมอบอก คือให้อภัยพี่สาว ตอนแรกหมอไม่สามารถที่จะรักษาผู้ป่วยคนนี้ได้ เพราะหมอไม่รู้ความจริงอย่างรอบด้าน ไปตรวจแต่ร่างกาย
แต่ว่าไม่ได้รู้ความจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเธอกับพี่สาว ซึ่งมันเชื่อมโยงกับอารมณ์ แต่พอรู้ความจริงเข้า หมอก็เห็นทางออกที่จะแก้ปัญหาความเจ็บป่วยของคนไข้นี้ได้ อยู่ที่ว่าผู้ป่วยจะยอมรับหรือเปล่าถ้าผู้ป่วยยอมรับ ความเจ็บป่วยหายไป ทุกข์กายก็ดับไปเพราะว่าการรู้ความจริง
มีผู้ป่วยอีกคนหนึ่ง มีอาการใจสั่น หน้ามืด วิงเวียน เหมือนกับเป็นโรคหัวใจ แต่ว่าตรวจเท่าไหร่ก็ไม่พบ ให้ยาเท่าไหร่ก็ไม่หาย จนกระทั่งหมอสงสัย ซักถามประวัติเกี่ยวกับครอบครัวของเธอ เธอพูดถึงสามี สามีเป็นคนที่ชอบเล่นการพนัน เจ้าชู้ด้วย และสร้างปัญหาทางการเงิน ทำให้เธอมีความทุกข์ใจมีความวิตกกังวลมาก หมอก็เอะใจสงสัยว่านี่แหละคือตัวปัญหาที่ทำให้เธอป่วย ก็เลยบอกคนไข้ว่าคราวหน้าให้พาสามีมาด้วย
พูดเท่านี้ คนไข้ก็ดีใจแล้วเพราะว่าเธอทุกข์ใจเรื่องสามีมาก พอสามีมาหาหมอตามนัดพร้อมผู้ป่วย หมอก็แนะนำขอร้องสามีว่าให้เลิกพฤติกรรมที่ว่านี้เพื่อเห็นแก่ภรรยา สามีก็รับปาก เพราะว่าสามีก็ไม่เคยรู้ว่าพฤติกรรมตนมีผลต่อภรรยา เท่านี้ภรรยาก็มีอาการดีขึ้นมาก แต่ก่อนรักษาไม่ได้ผลเพราะหมอไม่รู้ความจริงว่าเป็นเพราะจิตใจอารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องจากสามี พอรู้ความจริงก็เห็นทางออก นำไปสู่การเยียวยารักษาผู้ป่วยได้ ก็เกิดความปกติสุขตามมา
เพราะฉะนั้น การรู้ความจริงเป็นสิ่งสำคัญ อย่าว่าแต่ทางธรรมเลย ทางโลกเรื่องสุขภาพก็เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เราจะทำอะไรก็ต้องรู้ความจริง อาจจะไม่ถึงกับรอบด้านแต่เป็นความจริงที่ตรงกับปัญหา อย่างเช่นสระน้ำของวัดมันรั่ว ทีแรกก็ไม่รู้หาสาเหตุไม่ได้ ทำอย่างไรก็รั่วอยู่ดี น้ำก็ลดระดับเร็วมาก แต่พอหารูรั่วเจอ ก็อุดรูรั่วได้ ปรากฏว่าน้ำไม่ลดระดับอย่างที่เคยเป็น ปัญหาก็หมดไป ที่ปัญหาหมดไปก็เพราะว่ารู้ความจริง
ความทุกข์ทางใจก็เหมือนกันถ้ารู้ความจริง โดยเฉพาะทางพระพุทธศาสนา ย้ำเลยว่า ให้รู้ความจริงเกี่ยวกับทุกข์ โดยเฉพาะทุกข์ที่เป็นเรื่องของอริยสัจ ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องรู้ เมื่อรู้ทุกข์แล้ว การที่จะแก้ทุกข์ ดับทุกข์ก็จะเป็นไปได้ นอกจากรู้ความจริงแล้ว สิ่งหนึ่งที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่งคือ การยอมรับความจริง
ความจริงในที่นี้อาจจะหมายถึงเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์เช่น ความเจ็บป่วย ความสูญเสียคนรัก ของรัก ความล้มเหลว หรือแม้กระทั่งปัญหาต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้คือโควิค ซึ่งเป็นความจริงที่เราต้องยอมรับเป็นเบื้องต้น เพราะถ้าเราไม่ไม่ยอมรับความจริงแบบนี้ เราก็จะเป็นทุกข์มาก เช่น ถ้าป่วยแล้วไม่ยอมรับความจริง อาการที่ไม่ยอมรับความจริงคือ ใจผลักไส ต่อต้าน ปฏิเสธ
จริงอยู่ เหตุผลยอมรับได้ว่าฉันป่วยเป็นมะเร็ง อันนี้เป็นการยอมรับด้วยเหตุผล ด้วยสมอง แต่ใจไม่ยอมรับ พอใจไม่ยอมรับก็ทุกข์มาก มีผู้หญิงคนนึงอายุ 30 ชีวิตก็กำลังเจริญก้าวหน้า วันหนึ่งพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ แล้วชนิดของมะเร็งเป็นกับคนแก่หรือผู้ที่สูบบุหรี่เยอะๆ หมอถามว่าเธอสูบบุหรี่บ้างไหม เธอปฏิเสธว่าเธอไม่ได้สูบบุหรี่
ตอนที่พบว่าตัวเองเป็นมะเร็งที่ว่านี้เธอเป็นทุกข์มากเลย เพราะใจยอมรับไม่ได้ ว่าทำไมต้องเป็นฉันๆ หลักฐานข้อมูลทางการแพทย์ก็ยืนยัน เหตุผลยอมรับ แต่ใจไม่ยอมรับ ก็ทุกข์มาก จนกระทั่งเธอได้ไปปฏิบัติธรรมเจริญสติ ได้มาเฝ้าดูจิตใจของตัว แล้วก็พบว่าเหตุแห่งความทุกข์สำคัญอย่างหนึ่งคือ ใจไม่ยอมรับ ทันที่ใจยอมรับ ความทุกข์มันก็ลดลงไปเยอะเลย ทุกข์กายมีอยู่แต่ทุกข์ใจบรรเทาเบาบางลง
เธอพูดไว้ดี เธอบอกว่า ความจริงบางครั้งก็โหดร้าย แต่การไม่ยอมรับความจริงต่างหากมันโหดร้ายกว่า เพราะมันเหมือนคุกที่ขังใจเอาไว้ พอคุกขังเอาไว้ ใจไม่ยอมรับความจริง มันทรมานมาก แต่พอยอมรับความจริงได้ ใจก็เป็นอิสระ ความป่วยยังมีอยู่ แต่ว่าใจไม่ทุกข์มากแล้ว
คนจำนวนมากเวลาเจอเหตุร้าย ใจไม่ยอมรับ ไม่ยอมรับว่านี่คือความจริงที่เกิดขึ้น ใจก็บ่นโวยวายตีโพยตีพายว่าทำไมต้องเป็นฉัน บางทีถึงขั้นปฏิเสธว่ามันเกิดขึ้น แต่ที่ยอมรับ ก็ยอมรับแค่ระดับสมอง หรือยอมรับเหตุผลแต่ใจไม่ยอมรับ อันนี้ยิ่งทำให้เป็นทุกข์มากขึ้น แต่พอใจยอมรับได้ มันก็เหมือนกับปลดล็อคได้ในระดับหนึ่ง
เพราะฉะนั้น การยอมรับความจริงเป็นบันไดขั้นต้น สู่การคลายทุกข์ แต่คนส่วนใหญ่ยอมรับความจริงได้ยากเพราะว่ามันไม่ตรงหรือสวนทางกับความคาดหวัง มันไม่ได้เป็นไปอย่างที่ใจนึก มันขัดกับสิ่งที่ยึดสิ่งที่อยาก จนกว่าใจจะคลายความยึดความอยากจึงจะยอมรับได้
คนเราไม่ยอมรับด้วยหลายเหตุผล บางทีก็แสดงการไม่ยอมรับอย่างซื่อๆเลย อย่างเช่น เราอาจจะเห็นรถบางคันสีขาว แต่เขาติดสติ๊กเกอร์ว่ารถคันนี้สีแดง อันนี้ไม่ใช่สติ๊กเกอร์ที่ตลกๆ แต่มันสะท้อนให้เห็นทัศนคติของเจ้าของรถว่าไม่ยอมรับว่ารถคันนี้สีขาว อาจจะเป็นเพราะว่าถูกทักว่า มันไม่เป็นสีมงคล สีมงคลต้องเป็นสีแดง
เพราะฉะนั้น อยากให้รถสีแดงก็ติดสติ๊กเกอร์เอาไว้ ถ้าหลอกคนอื่นไม่ได้ ก็หลอกตัวเอง อันนี้เป็นตัวอย่างของการไม่ยอมรับความจริง และคิดว่าความจริงนั้น จะเปลี่ยนแปลงได้ดั่งใจนึก ถ้าหากว่าติดสติ๊กเกอร์เอาไว้ แต่ถ้ายอมรับความจริงได้ มันช่วยทำให้ชีวิตเป็นอิสระได้มาก
นอกจากยอมรับความจริงแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ก็คือ การเห็นความจริง คนเราบ่อยครั้งเราไม่สามารถจะเห็นความจริงได้ อย่างที่เคยพูดวันก่อนเรื่องของสัญญาวิปลาส จิตวิปลาส เห็นเชือกเป็นงู เห็นรากไม้เป็นงู อันนี้เป็นการที่เห็นความจริงอย่างคลาดเคลื่อน หรือเห็นสิ่งต่างๆคาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะอะไร เพราะมีความกลัว
แต่บางทีเป็นเพราะมีอคติ อคติก็ทำให้ไม่สามารถที่จะเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงได้ อยากจะเห็นสิ่งต่างๆตามใจอยาก หรือเห็นสิ่งต่างๆบิดเบี้ยวเพราะความโกรธ ความกลัว ทำอย่างไรถึงจะเห็นความจริงได้ก็ต้องมีสติ สติจะมาแทนอคติ ถ้ามีสติเมื่อไหร่มันก็จะไม่มีความตื่น ความกลัว ความโกรธ แล้วก็จะเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง เมื่อเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง เราก็จะเกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้อง ไม่มีปัญหา
แต่ความเป็นจริงนั้น มันไม่ใช่แค่ รูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสหรือสิ่งภายนอกที่ปรากฏแก่สายตา หรือว่าหูของเรา ความจริงที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ความจริงที่เกิดขึ้นในใจ อันนี้เรียกว่าธรรมารมณ์ ในการเจริญสติหรือในการทำกรรมฐาน จำเป็นมากที่เราจะเห็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในใจ ที่จริงต้องพูดให้กว้างกว่านั้นคือ เห็นความจริงของกายและใจ เราจะเห็นความจริงของกายและใจได้ก็เพราะมีสติ
เพราะถ้าไม่มีสติ หรือมีสติที่มั่นคงเพียงพอ มันมีอะไรเกิดขึ้นในใจ มันก็มีการผลักดัน การผลักไส ไม่ให้มันปรากฏขึ้น แม้กระทั่งในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรมเวลามีความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ก็ไม่ยอมเห็นมันตามที่เป็นจริงก็พยายามผลักไสมัน กดข่มมัน อารมณ์บางอารมณ์ไม่ชอบก็ผลักไสมัน
แต่ถ้ามีสติอย่างแท้จริง ก็จะยอมให้สิ่งต่างๆปรากฏขึ้นตามความเป็นจริงหรือตามสภาวะที่มันเป็น ซึ่งสำคัญมากโดยเฉพาะในระดับที่เป็นการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งเป็นการเปิดใจให้เห็นความจริงของกายและใจ
ถ้าไม่มีสติ หรือไม่ปล่อยให้สติทำงาน มันก็จะมีอาการเลือกที่รัก มักที่ชัง อารมณ์บางอย่างก็ยอมรับ อยากได้ ชอบ เช่น ความสงบความแจ่มใสเบิกบ้าน อารมณ์บางอย่างไม่ชอบก็ผลักไสออกไป หรือแม้จะยอมให้มันเกิดขึ้น แต่ว่ามันก็มีลักษณะบิดเบี้ยว เพราะมีการเติมแต่ง อย่างเช่น เวลามีอกุศลธรรมเกิดขึ้นในใจ เช่น ความโกรธ ความเกลียด ความอิจฉา มันก็มีการเติมแต่ง ว่าอารมณ์พวกนี้เป็นตัวร้าย เป็นตัวที่ต้องขับไสไล่ส่ง เป็นตัวที่ต้องกำจัด
แต่พอทำเช่นนั้น นอกจากมันทำให้เกิดความทุกข์แล้ว มันยังทำให้ขาดโอกาสที่จะเห็นความจริงอย่างที่มันเป็นด้วย เพราะว่าอารมณ์เหล่านี้ ก็เช่นเดียวกับกุศลธรรม มันก็สามารถที่จะเผยแสดงสัจธรรมให้เราเห็นได้ ถ้าเราเห็นมันอย่างที่มันเป็น ที่จริงไม่ใช่เฉพาะอารมณ์ที่ว่าอย่างเดียว แม้กระทั่งกายและใจ ถ้าเราไม่มีสติ เราก็ไม่สามารถที่จะเห็นกายและใจตามความเป็นจริงได้
ก็คือไปเห็นว่ากายนี้เป็นเรา กายนี้เป็นฉัน กายเป็นตัวตน จิตก็เหมือนกัน เห็นว่าจิตเป็นตัวตน เห็นว่าจิตนี้เป็นฉัน ไม่ได้เห็นมันตามที่มันเป็น หรือตามสภาวะที่เป็นจริงของมัน แต่เมื่อเราเจริญสติ แล้วเราใช้สติดู สติมันจะยอมให้สิ่งต่างๆปรากฏขึ้นตามความเป็นจริง ตามสภาวะที่มันเป็น เช่น เมื่อเรามีสติรู้กายรู้ใจ มันก็จะเห็นว่า กายนี้มันก็เป็นสักแต่ว่ากาย ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา
อย่างที่เราเวลาสาธยายในสติปัฏฐาน จะมีข้อความหนึ่งบอกว่า เห็นกายในกาย เห็นจิตในจิต ความหมายก็คือ เห็นกายว่าเป็นกาย เห็นจิตว่าเป็นจิต ไม่ใช่เห็นกายว่าเป็นเรา ไม่ใช่เห็นกายว่าเป็นของเรา ไม่ใช่เห็นกายว่าเป็นตัวเป็นตน การที่จะเห็นกายตามสภาวะที่มันเป็น มันต้องอาศัยการดูหรือรู้ซื่อๆ เป็นการดูหรือการรู้ที่ไม่เติมแต่ง
เมื่อดูไปเรื่อยๆก็จะเห็น กายเป็นกาย ไม่ใช่เราไม่ใช่ฉัน เห็นจิตเป็นจิต ไม่ใช่เราไม่ใช่ฉัน รวมทั้งเห็นสภาวะอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล ว่าก็มีสภาวะอย่างนั้นของมันเอง มันเป็นเช่นนั้นเอง มันมาแล้วก็ไป มันทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ แล้วมันก็ไม่ใช่เรา อันนี้คือการเห็นความจริง ตามที่เป็นจริง และที่เห็นอย่างนั้นได้เพราะมีสติ
สติช่วยทำให้เห็นสิ่งต่างๆตามสภาวะที่มันเป็น ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากให้มันเป็น หรือสิ่งที่มันควรจะเป็น ถ้าเราเห็นแบบนี้ เห็นสิ่งต่างๆตามที่มันเป็น ต่อไปก็จะเห็นความยึดความอยาก ที่เป็นตัวการทำให้เกิดการปฏิเสธ ไม่ยอมรับความจริง เมื่อเห็นความยึดความอยาก เห็นมันเรียกว่าอย่างคาหนังคาเขา
โดยเฉพาะถ้าเห็นความจริงเป็นพื้นฐานเป็นเบื้องต้นว่า มันไม่มีอะไรที่ยึดมั่นถือมั่นได้ ความยึดความอยากที่อยากให้มันตั้งอยู่นานๆหรืออยากให้มันเที่ยง อยากให้มันเป็นไปดั่งใจ มันก็ค่อยๆสลายหายไป การยอมการยอมรับความจริงก็จะเกิดขึ้นได้ แล้วก็นำไปสู่การรู้ความจริงที่ลึกซึ้งได้ในที่สุด
เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา นอกจากการทำความดีแล้ว เราก็ต้องพัฒนาไปถึงขั้นที่เรียกว่า รู้ความจริง ยอมรับความจริง แล้วก็เห็นความจริงได้
และยิ่งถ้าเรารู้ความจริงเกี่ยวกับกายและใจ เห็นความจริงของกายและใจมากเท่าไร มันก็จะยอมรับความเป็นไปของโลกธรรมที่ปรากฏกับเราได้ เราก็จะสามารถอยู่กับความผันผวนปรวนแปรด้วยใจที่ไม่ทุกข์ และถึงตอนนั้นความสุขก็จะปรากฏขึ้น ไม่ได้เป็นความสุขที่เกิดจากการเสพสิ่งปรนเปรอ แต่เป็นความสุขที่เกิดจากความสงบ เพราะว่าเห็นความจริงและก็ยอมรับความจริงได้
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 29 สิงหาคม 2564