แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เวลามีก้อนหินหรือก้อนอิฐตกลงมาจากตึกสูงที่กำลังมีการก่อสร้าง ใครก็ตามที่อยู่แถวนั้น ถ้าเห็นก็วิ่งหนีไม่มีใครที่จะยอมให้ก้อนหินนั้นตกมาถูกตัว หรือยิ่งกว่านั้น ไม่มีใครที่จะวิ่งไปเอาตัวหรือเอาหน้ารับก้อนหินที่ตกลงมา
แต่บ่อยครั้ง เวลาเห็นใครบางคนพูดจาหรือแสดงอากัปกิริยาผิดปกติ ผู้คนกลับเอาตัวตนเข้าไปรับการกระทำหรือคำพูดเหล่านั้น ทึกทักว่าเขากำลังพูดหรือแสดงอาการเพื่อประชดประชันตัวเอง คือว่ากำลังเอาตัวเองเป็นเป้า ทั้งๆที่เขาไม่ได้คิดแบบนั้นเลย เราเคยเป็นไหม เห็นเพื่อนร่วมงาน หรือว่าคนรู้จัก เขามีสีหน้าบึ้งตึง แล้วพูดเสียงดังๆว่าเบื่อว่ะ แต่เราไปคิดว่าเขากำลังพูดว่าเบื่อเรา ทั้งที่เขาไม่ได้มีเจตนาอย่างนั้นเลย
เวลาใครบางคน เดินเสียงดังตึงตัง กระแทกของต่อหน้าเรา หรือว่าปิดประตูเสียงดัง เขาอาจจะมีเหตุผลหลายประการที่ทำอย่างนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับเราเลยก็ได้ เช่น อาจกำลังมีอารมณ์ค้างจากที่บ้าน หรือไม่พอใจใครสักคน แต่บังเอิญเราอยู่ตรงนั้นพอดี ก็ไปทึกทักว่าเขากำลังว่าเรา เขาแสดงอากัปกิริยากระแทกใส่เรา อันนี้ก็ไม่ต่างจากหินที่ตกลงมาจากตึกนั้น เขาเอาหน้าเอาตัวไปรับ ผลคืออะไร เจ็บปวด ความทุกข์
คนเราก็มีพฤติกรรมแบบนั้นอยู่บ่อยๆ เวลามีคำพูดหรือการกระทำที่ไม่ดีเกิดขึ้น เจ้าตัวอาจจะแสดงอากัปกริยาออกไปด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราปล่อยให้มันผ่านไป ก็ไม่ทุกข์ แต่เป็นเพราะเอาตัวตนไปรับไปเป็นเป้าของการกระทำเหล่านั้น ก็เลยมีความเจ็บปวด มีความเจ็บแค้นขึ้น ทั้งที่เจ้าตัวไม่ได้มีเจตนานั้นเลย
แต่ทั้งนี้ก็มีหลายกรณีที่เจ้าตัว เขามีเจตนาอย่างนั้นจริงๆ เหมือนกับว่าตั้งใจขว้างก้อนหินใส่เรา ถ้าเจออย่างนั้น จะทำอย่างไร ควรจะวางใจอย่างไร
มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง นักปรัชญาท่านหนึ่งอยากจะโต้วาทะกับท่านนัสรูดิน นัสรูดินก็ตกลงและนัดหมายเวลาให้ไปที่บ้านของนัสรูดิน ถึงเวลานักปรัชญาก็ไปที่บ้านนัสรูดิน แต่ไม่เจอ ก็รออยู่ที่บ้าน รอเป็นชั่วโมง ผ่านไป 2-3 ชั่วโมงก็ยังไม่เจอนัสรูดิน นักปรัชญาก็เริ่มโกรธ ก่อนจะไป ก็เอาช็อกมาเขียนไว้ที่หน้าประตูบ้านว่า ไอ้หน้าปัดซบ
พอนัสรูดินกลับมาบ้านเห็น ก็เลยเดินตรงไปที่บ้านนักปรัชญา แล้วก็พูดขึ้นมาว่า ผมลืมนัดสนิทเลย ขอโทษด้วย เพิ่งนึกขึ้นมาได้ ตอนเห็นชื่อคุณที่หน้าประตูคุณ ถึงได้รีบมา ต้องขอโทษด้วย นัสรูดินถูกด่า แต่ว่าแทนที่จะรับคำด่าของนักปรัชญาคนนั้น กลับเอาคำด่านั้นมาคืนให้กับเจ้าของ นัสรูดินไม่มีความรู้สึกทุกข์ร้อนเลย เพราะว่าเขาไม่ได้รับเอาคำด่าของนักปรัชญาคนนั้น
นักปรัชญานั้นจะเขียนอย่างไรจะว่าอย่างไรนัสรูดินก็ไม่ทุกข์ ถ้าไม่รับคำด่าของนักปรัชญา แถมยังเอาคำด่านั้นมาคืนนักปรัชญาด้วย ถ้านักปรัชญาคนนั้นรับ เขาก็ต้องทุกข์แน่นอนเลย อยู่ที่ว่าเขาจะฉลาดเหมือนกับนัสรูดินหรือเปล่า
มีเรื่องทำนองนี้คล้ายๆกันในสมัยพุทธกาลที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าโดยตรง มีพราหมณ์คนหนึ่งโมโหโกรธพระพุทธเจ้าที่เป็นเหตุให้ลูกศิษย์ของเขาหันมาสมาทานพระรัตนตรัย นับถือพระพุทธเจ้าเป็นศาสดา บริษัทบริวารของเขาก็น้อยลง เขาก็เลยเดินตามด่าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็มีอาการนิ่งสงบ จนกระทั่งเสด็จถึงเชตวัน ก็หันมาสนทนากับพราหมณ์คนนั้น ถามพราหมณ์ว่า มีอาคันตุกะมาเยี่ยมบ้านท่านหรือไม่
พราหมณ์บอกว่ามีเยอะทีเดียว พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามต่อไปว่า เมื่อมีอาคันตุกะมาเยี่ยม ท่านทำอย่างไรพราหมณ์บอกว่าเอาน้ำของขบเคี้ยวมาต้อนรับ พระพุทธเจ้าตรัสถามต่อว่า แล้วถ้าคันตุกะไม่รับของเหล่านั้น ของเหล่านั้นจะเป็นของใคร พราหมณ์ก็ตอบว่า ของเหล่านั้นก็ต้องเป็นของข้าพเจ้าไงล่ะ พระพุทธเจ้าก็บอกว่าฉันใดก็ฉันนั้น คำบริภาษที่ต่อว่า ที่ท่านมีให้กับเรา ถ้าเราไม่รับ มันจะเป็นของใคร พราหมณ์ก็อึ้งไปเลย
อันนี้เป็นคำแนะนำที่ดีสำหรับพวกเราทุกคน เพราะว่าคำต่อว่าด่าทอ มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แล้วก็เกิดขึ้นเป็นประจำ ไม่เลือกว่าคนนั้นจะเป็นคนดีหรือว่าเป็นคนไม่ดี เป็นฆราวาสหรือว่าเป็นนักบวช เป็นคนดีแค่ไหนก็ยังต้องเจอคำบริภาษคำต่อว่าด่าทอ แต่ว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้ว หรือเมื่อประสบแล้ว ไม่จำเป็นต้องทุกข์ก็ได้ ถ้าหากว่าเราไม่เอาตัวตนมารับคำต่อว่าด่าทอเหล่านั้น
ก็เปรียบเหมือนกับคนขว้างก้อนหินมาใส่เรา ไม่ใช่แค่ก้อนหินที่ตกลงมาจากตึกสูง มันไม่ได้มีเจตนาจะเอาใครเป็นเป้า แต่เป็นเพราะว่าเราเอาตัวเองเป็นเป้ารับก้อนหินเหล่านั้น จึงเป็นทุกข์ แต่บ่อยครั้งก้อนหินก็เกิดจากเจตนาของผู้ขว้าง ที่ต้องการให้เราตกเป็นเป้าของก้อนหินเหล่านั้น แต่เราก็เลือกได้ว่า เราจะยอมเป็นเป้าของก้อนหินเหล่านั้นไหม
ถ้าเห็นอยู่ต่อหน้าต่อตา สิ่งที่ควรทำก็คือ หลบ ไม่รับ หรือไม่ยอมเป็นเป้าของก้อนหินเหล่านั้น ก็คือไม่ยอมเป็นเป้าให้กับคำด่าว่าเหล่านั้น แต่ก็บ่อยครั้งที่หรือว่าแทบทุกครั้งที่เราก็ยอม เอาตัวเองเป็นเป้าของคำด่าเหล่านั้น คือรับเอาคำด่าเหล่านั้นมาเต็มๆ
บางครั้งก็ไม่รู้ว่าเขาว่าอะไร อย่างเช่น มีคนมาพูดว่าคนนี้เขานินทาเธอ ทุกคนหรือส่วนใหญ่พอได้ยิน ก็จะถามขึ้นมาทันทีเลยว่า เขาว่าอะไรฉัน พอรู้ว่าคำต่อว่านั้นคืออะไร ก็โกรธเลย ทั้งๆที่ถ้าไม่รู้ ยังจะดีเสียกว่า การที่ไปซักไซ้ว่าเขาว่าอะไรฉัน มันก็ไม่ต่างจากการที่รู้ว่ามีหินขว้างมาใส่เรา แทนที่จะหลบ ก็เอาหน้าไปรับ วิ่งไปเลยทั้งๆที่ถ้าอยู่ที่เดิม หินก็ขว้างไม่ถูกอยู่แล้ว
ตัวเองก็ไม่รู้ว่าเขาว่าอะไร แต่เพราะความอยากรู้อยากเห็น ซักไซ้ไล่เลียง พอรู้เข้า ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา อันนี้เรียกว่าเหมือนเอาตัว วิ่งเข้าไปรับก้อนหิน ไปช่วยให้เขาขว้างก้อนหินให้ถูกเป้า เรียกว่าช่วยเขา ทั้งที่ทีแรกมันไม่ถูกเป้า เพราะเจ้าตัวไม่รับรู้อะไร แต่พอไปขุดคุ้ยไปซักไซ้ว่าเขาว่าอะไร ก็เลยรู้สึกเจ็บปวดเจ็บแค้นขึ้นมา มันก็สมเจตนาของผู้ขว้างหรือผู้ต่อว่า อันนี้ก็ไม่ต่างจากการที่วิ่งไปรับเอาหน้าไปรับหรือเอาตัวไปรับก้อนหิน
ที่จริงสิ่งที่ควรทำมากกว่าก็คือ ในเมื่อไม่รู้ว่าเขาว่าอะไรก็ดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปซักไซ้ไล่เลียง เพราะว่าซักไซ้แล้วก็เป็นทุกข์ โกรธแค้น การวางใจให้ถูกต้องต่อคำต่อว่าด่าทอ คำบริภาษ คำวิจารณ์ เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคน มันเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าเรียกว่าโลกธรรม
โลกธรรมมีทั้งฝ่ายบวกและฝ่ายลบ โลกธรรมฝ่ายบวกก็คือ ได้ลาภ ได้ยศ ได้รับคำสรรเสริญ และได้รับความสุข ส่วนโลกธรรมฝ่ายลบก็คือ เสื่อมลาภเสื่อมยศ เจอคำนินทาว่าร้าย และได้รับความทุกข์
มันเป็นธรรมดาที่เราทุกคนต้องเจอ เราเลือกไม่ได้ เพราะเราไม่สามารถที่จะบงการความรู้สึกนึกคิดของใครได้ แต่เราเลือกได้ว่า เราจะรับมือกับมันอย่างไร เราจะเอาตัวตนออกรับ เอาหน้าเอาตัวรับก้อนหิน หรือว่าจะไม่รับหรือหลบไม่ให้ก้อนหินนั้นมาถูกตัว ที่จริงนอกจากการหลบไม่ให้ก้อนหินพุ่งมาถูกตัว หรือว่าไม่รับเอาคำต่อว่าด่าทอนั้นมาเป็นของเราแล้ว
เรายังสามารถที่จะเอาประโยชน์จากสิ่งนั้นมาใช้ได้ ก้อนหินที่ขว้างมาเมื่อหลบแล้ว ไม่ถูกตัว ก้อนหินก้อนนั้นก็ยังสามารถมีประโยชน์ได้ อยู่ที่ว่าเราจะเห็นประโยชน์ของมันไหม หรือจะเปรียบให้ชัดก็คือ เวลาเราเดินผ่านสวนมะพร้าว แล้วมีลิงเกเรชอบแกล้งคน มันเอามะพร้าวขว้างใส่คน ถ้าเราเห็นก็ต้องหลบ ไม่เอาหน้าหรือเอาตัวไปรับมะพร้าวลูกนั้น
แต่หลบแล้ว เราจะทำอย่างไรกับลูกมะพร้าว จะเอาลูกมะพร้าวนั้นขว้างกลับไปที่ลิง หรือเอามะพร้าวนั้นกลับบ้านมาเฉาะเอาเปลือกออก จะได้กินน้ำกินเนื้อ หลายคนพอเห็นลิงขว้างมะพร้าวใส่ ก็เอาตัวเอาหน้ารับ แล้วก็เจ็บ พอเจ็บแล้วก็โกรธ หยิบลูกมะพร้าวนั้นขว้างใส่ลิงตัวนั้น
ก็คือว่า นอกจากรับคำด่าจนเป็นทุกข์แล้ว ก็ยังโกรธตอบ ด้วยการด่ากลับ อันนั้นเรียกว่าพลาด 2 สถาน ก็คือ หนึ่ง เอาตัวรับลูกมะพร้าว เสร็จแล้วเราหน้ารับ จนเจ็บปวด สอง เอาลูกมะพร้าวขว้างกลับ ทั้งๆที่ สิ่งที่ควรทำคือหลบ ไม่ให้ลูกมะพร้าวนั้นขว้างมาถูกตัว เสร็จแล้วก็ แทนที่จะเอาลูกมะพร้าวนั้นขว้างกลับ ก็หยิบลูกมะพร้าวนั้นกลับบ้าน แล้วก็กินเนื้อและน้ำของมัน
คำต่อว่าด่าทอก็เหมือนกัน นอกจากเราจะหลบ ไม่เอาตัวตนเข้าไปรับ เรายังสามารถที่จะทำได้ดีกว่านั้นคือหาประโยชน์จากมัน หลวงพ่อคําเขียนเคยกล่าวว่า แม้ถูกด่าก็ยังเห็นสัจธรรมได้ สัจธรรมจากการกระทำของเขาในเรื่องโลกธรรม 8 ว่า ทำดีแค่ไหนก็ยังถูกต่อว่าถูกนินทา อันนี้เป็นธรรมดาของโลกเลย หรือเห็นสัจธรรมที่ใจของเราก็ได้ ว่าพอมีคำพูดมากระทบ พอไปยึดมั่นถือมั่นในคำพูดเหล่านั้น มันก็เกิดความโกรธขึ้นมา
แต่ถ้าหากว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นกับคำพูดเหล่านั้น วางมัน ไม่รับมาเป็นของเรา มันก็ไม่ทุกข์ แปลกคำต่อว่าด่าทอนี้มันเหมือนกับขยะ แต่ว่าคนส่วนใหญ่แล้วพอเจอแล้วมักจะคิดว่าเป็นเราเป็นของเรา ทั้งๆที่มันไม่น่ายึด แต่พอได้ยินทีไรเจอทีไร ก็เข้าไปยึดว่าเป็นเราเป็นของเรา แถมหวงแหนเสียอีก ไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง คือ เก็บเอามาคิดอยู่เรื่อยๆ เอามาคิดทีไรก็เจ็บทุกที
ไม่ต่างจากมีดที่กรีดแผล หรือว่าเศษแก้วที่บาดมือ นึกทีไรก็เจ็บทุกที แต่ก็ไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง ยังยึดมั่นถือมั่นเป็นเราเป็นของเรา จิตมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นธรรมชาติของจิตที่ถูกความหลงครอบงำ อันนี้เป็นสัจธรรมเป็นความจริงอย่างหนึ่ง ถ้าเราเห็นจะรู้ว่าอ๋อ ที่ใจเป็นทุกข์ก็เป็นเพราะว่า การไปยึด การไปแบกสิ่งเหล่านี้เอาไว้ มันไม่ใช่เป็นแค่ขยะเท่านั้น แต่มันยังเป็นเศษแก้วหรือตะปูที่มาคอยทิ่มตำจิตใจ
ตราบใดที่ยังไปยึดไปถือมันเอาไว้ ต่อเมื่อปล่อย ใจก็จะสบายเป็นปกติ ถ้าเราเห็นการทำงานของจิตแบบนี้ มันก็ได้ประโยชน์ แล้วก็ทำให้เราตระหนักว่าที่เราทุกข์ มันไม่ใช่เป็นเพราะคำพูดของเขา หรือการกระทำของเขา แต่เป็นเพราะใจเราที่ไปยึดมั่นถือมั่น หรือว่าเป็นเพราะใจที่เอาตัวตนออกรับคำด่าเหล่านั้น
พอเห็นแล้ว มันก็ช่วยทำให้เรารู้ว่า เราทำอะไรกับเขาไม่ได้ เราจะไปบังคับให้เขาพูดเพราะๆไม่ได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ การไม่ทุกข์กับการกระทำหรือคำพูดเหล่านั้น ด้วยการไม่รับเอามาเป็นของเรา ไม่เอาตัวตนไปเป็นเป้า อันนี้ก็เป็นบทเรียนที่เราสามารถจะเรียนรู้ได้จากคำต่อว่าด่าทอ เหมือนกับว่าเราเอามะพร้าวมาเฉาะกิน เอาเนื้อเอาน้ำมัน หรือมาใช้เพื่อการลดละอัตตา ขัดเกลากิเลสให้เบาบาง
ที่วัดหลวงปู่ขาว สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ มีแม่ชีท่านหนึ่งคือแม่ชีสา เป็นแม่ชีที่อุปฐากพระ เณรดีมาก ขณะเดียวกันท่านก็ปฏิบัติธรรมได้ดีด้วย หลวงปู่ขาวสั่งให้ลูกศิษย์ 2 คนไปต่อว่าแม่ชีสา แล้วก็ไปที่กุฏิเลย เรียกแม่ชีสาออกมาจากกุฏิ จากนั้นก็ผลัดกันด่า ต้องช่วยกันด่า เพราะท่านไม่ถนัดเรื่องการด่าเท่าไร แม่ชีสา ทีแรกก็งง พอตั้งสติได้ ก็พนมมือรับฟังคำต่อว่านั้น
จนกระทั่งพระ 2 รูปนั้นว่าจนไม่รู้จะว่าต่ออย่างไรแล้ว พอหยุดว่า แม่ชีสาก็พูดขึ้นมาว่า ท่านอาจารย์ด่าดิฉันเสร็จแล้วหรือ ดิฉันฟังแล้วซาบซึ้งใจเหลือเกิน คำต่อว่าเหล่านี้ล้วนแต่เป็นธรรม คราวหน้าก็นิมนต์มาด่าว่าใหม่ มันจะช่วยขัดเกลากิเลสให้เบาบาง แม่ชีสาพูดด้วยความจริงใจ ไม่ใช่พูดด้วยการประชด
ที่สำคัญก็คือว่าแม่ชีสาไม่โกรธ ไม่ทุกข์ และพร้อมน้อมรับ น้อมรับเพราะอะไร เพราะเห็นว่ามันมีประโยชน์ ที่จะช่วยขัดเกลากิเลสให้เบาบางได้ มันเป็นตัวช่วยลดทอนอัตตา ตราบใดที่ยังมีอัตตาอยู่ก็ยังทุกข์ ต่อเมื่ออัตตาเบาบาง มันก็ไม่ทุกข์ แต่อัตตาจะเบาบาง ส่วนหนึ่งก็อาศัยคำต่อว่าด่าทอ มาเป็นเครื่องฝึกเครื่องซ้อม อันนี้เรียกว่ารู้จักเอามะพร้าว หรือเอาก้อนหินที่ขว้างใส่ตัว มาใช้ให้เป็นประโยชน์
ที่จริงสิ่งที่แม่สาทำ ไม่ใช่เอาอัตตารับ เพราะถ้าเอาอัตตารับก็ต้องโกรธ แต่ท่านเอาปัญญารับ เอาปัญญาออกหน้า คนเราเลือกได้ เวลาเจอเหตุการณ์แบบนี้จะเอาอัตตาออกรับ หรือจะเอาปัญญาออกรับ ถ้าเอาอัตตาออกรับก็ทุกข์ เจ็บปวด แค้น แต่ถ้าเอาปัญญาออกรับ มันก็ได้ความรู้ได้ปัญญา หรือได้ประโยชน์จากการกระทำและคำพูดเหล่านั้น
และถ้าหากว่าเราใช้ปัญญาออกรับเราก็จะรู้ว่ามันเป็นโลกธรรม และมันก็ไม่ควรจะยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งเหล่านั้น แล้วก็จะเห็นต่อไปด้วยว่า ถ้าจะฝึกใจไม่ให้ทุกข์กับคำต่อว่าด่าทอ ก็ต้องฝึกใจไม่ให้เป็นสุข ปลาบปลื้มดีใจกับคำชื่นชมสรรเสริญ คนมักจะถามว่า ทำอย่างไรไม่ให้ทุกข์เวลาถูกนินทาถูกว่าร้าย
ทางออกก็คือว่า ก็เวลาที่เขาชมเรา สรรเสริญเรา เราก็อย่าดีใจ เพราะถ้าเราดีใจ ปลาบปลื้มเวลามีคนชื่นชมสรรเสริญเรา พอมีคำติเตียนเรา มันก็ต้องทุกข์เป็นธรรมดา มันเป็นสิ่งที่ไปด้วยกัน ดีใจเพราะคำสรรเสริญ ก็ย่อมทุกข์เพราะคำต่อว่า ถ้าไม่อยากทุกข์เพราะคำต่อว่า ก็อย่าปล่อยให้ใจปลาบปลื้มเวลาได้รับคำสรรเสริญ ไม่เอาตัวตนออกรับทั้งคำต่อว่าด่าทอ แล้วก็คำสรรเสริญชื่นชม
ซึ่งจะทำอย่างนั้นได้ ก็ต้องมีสติ เวลาใจยินดีกับคำชื่นชมสรรเสริญ ก็อย่าปล่อยใจลิงโลดไปกับคำสรรเสริญหรืออารมณ์เหล่านั้น ถ้าฝึกสติอย่างนี้ได้ เวลาเจอคำตำหนิ คำต่อว่าแล้วใจกระเพื่อมขึ้นมา เกิดอาการยินร้าย ก็รู้ทัน ไม่ปล่อยใจจมไปกับความทุกข์ หรือดิ่งลงไปกับความน้อยเนื้อต่ำใจ
มันเป็นแบบฝึกหัดได้ดี ไม่ว่าจะเป็นคำสรรเสริญก็ดี คำนินทาก็ดี ถ้าเราเอามาใช้ประโยชน์ มันก็จะมีปัญญามากขึ้นอัตตาก็จะเบาบาง สามารถจะอยู่กับโลกธรรมได้ ไม่ว่าบวกหรือลบ ด้วยใจที่ไม่ทุกข์
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเช้าวันที่ 29 สิงหาคม 2564