แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อเช้าได้พูดกันถึงเรื่องของการปฏิบัติโดยสมควรแก่ธรรม ธรรมแม้เป็นสิ่งที่ดีเป็นสิ่งที่ประเสริฐ แต่ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกด้วย ถ้าปฏิบัติผิดก็เกิดโทษได้ ปฏิบัติผิดปฏิบัติอย่างไร
ประการแรกคือ ใช้ธรรมะในทางที่ผิด หมายความว่าศึกษาปฏิบัติธรรมเพื่อส่งเสริมกิเลส อาจจะกลายเป็นไปเพื่อแสวงหาลาภสักการะ หรือเพื่อยกตนข่มท่าน ใช้ธรรมะเพื่อข่มขู่หรือว่ากดดันผู้อื่น หรือว่าเพื่อแสดงภูมิรู้ของตัวว่าฉันเป็นคนที่มีความรู้เยอะ อันนี้เรียกว่าเป็นการใช้ธรรมะในทางที่ผิด เพื่อสนองกิเลสเพื่อสนองอัตตาหรือว่าปรนเปรอตัวตนก็ได้
ประการต่อมาคือ การใช้ธรรมผิดวัตถุประสงค์ เช่น สันโดษ พอปฏิบัติไปแล้วปฏิบัติไปไม่ถูก มันก็เกิดความเกียจคร้านขึ้นมา แม้ว่าจะอยู่ง่ายใช้ชีวิตสมถะ รวมทั้งไม่รู้จักพอใจในสิ่งที่ดียินดีในสิ่งที่ได้ แต่ว่าสิ่งที่ตามมาคือความเกียจคร้าน ความเฉื่อยเนือย เพราะว่าพอใจแล้ว ไม่มีอะไรที่ต้องแสวงหา ก็เลยใช้เวลาที่เหลือนั่งๆนอนๆ
แทนที่จะเอาเวลา พลังงานที่มีอยู่ ไปทำประโยชน์ให้กับส่วนรวม หรือว่าเสริมสร้างบำเพ็ญคุณธรรมหรือกุศลธรรมมากขึ้น เช่น เอาเวลาไปปฏิบัติธรรมทำความเพียร
อุเบกขาก็เหมือนกัน ถ้าใช้ผิดวัตถุประสงค์ ก็กลายเป็นว่านิ่งดูดายต่อความทุกอย่างของผู้อื่น หรือว่าปล่อยปละละเลยหน้าที่หรือสิ่งที่ควรทำ อุเบกขามีไว้เพื่อให้รู้จักนิ่งสงบเพื่อพิจารณาว่า ควรจะทำอะไรแค่ไหนกับสิ่งที่เกิดขึ้นข้างหน้า ทั้งกับตนเองและกับผู้อื่น
รวมทั้งรู้จักคอยหากว่ายังไม่ถึงเวลาก็พร้อมที่จะสงบ แต่ก็พร้อมจะทำในสิ่งที่ควรทำเมื่อโอกาสหรือเวลามาถึง หรือว่าเมื่อทำเต็มที่แล้ว ช่วยเหลือผู้คนแล้ว แต่มันไม่เป็นจริงหรือว่าเขาไม่ต้องการแล้ว ก็รู้จักวาง
หรือว่า ถ้ารู้ว่าทำมากไปกว่านี้แล้วจะเกิดผลเสีย เช่น ช่วยลูก ช่วยแม้กระทั่งทำการบ้านให้ลูก อันนี้มันมากเกินไปแล้ว แม้จะทำด้วยความเมตตากรุณา แต่ถ้าทำถึงขั้นนี้มันก็เกิดผลเสียต่อลูก ทำให้เด็กไม่รู้จักพึ่งตนเอง เราก็ต้องหยุด ก็ต้องให้ลูกรับผิดชอบต่อการบ้านที่มี หรือว่ารู้จักแก้ปัญหาด้วยตัวเองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยให้เขาเติบโตขึ้นมามีวุฒิภาวะ
อันนี้การปฏิบัติสมควรแก่ธรรม ยังมีมากกว่านั้น เช่น ประการต่อมาก็คือ การปฏิบัติธรรมอย่างถูกกรณี หรือถูกเวลา อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ธรรมแม้จะดีแต่ต้องใช้ให้ถูกเวลาหรือถูกกรณีด้วย ยกตัวอย่างเช่นหมวดธรรมหมวดหนึ่งคือ โพชฌงค์ 7 เป็นหมวดธรรมที่สำคัญ เป็นธรรมะเพื่อการตรัสรู้ มี 7 ประการ แต่ว่ามี 2 กลุ่มใหญ่ๆ
กลุ่มแรก มี 3 ได้แก่ ธัมมวิจยะคือการใคร่ครวญธรรม วิริยะคือความเพียร และปิติคือความอิ่ม อีกกลุ่มหนึ่งก็มี ปัสสัทธิคือความผ่อนคลาย สงบเย็นทั้งกายและใจ สมาธิคือความตั้งมั่น และอุเบกขา
สองกลุ่มนี้ ถ้าเราสังเกต จะมีลักษณะที่แตกต่างกัน ดีทั้งคู่ แต่มีจุดเน้นไปคนละแบบ กลุ่มแรก ธัมมวิจยะ วิริยะ ปิติ จะเป็นลักษณะที่ค่อนข้างกระตุ้นให้เกิดการกระทำ ส่วนกลุ่มที่สอง คือ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา มีลักษณะชะลอ ไม่ค่อยกระตือรือร้น Active เท่าไหร่ ค่อนข้างไปทางนิ่ง
เวลาเราจะเจริญธรรมะในโพชฌงค์ 7 ก็ต้องใช้ให้ถูกเวลาด้วย หรือทุกกรณี เช่น ในยามที่ฟุ้งซ่าน จึงค่อยใช้ธรรมะกลุ่มสมาธิ หรือปัสสัทธิ หรืออุเบกขา เพราะว่าเป็นธรรมะที่ช่วยชะลอ ช่วยทำให้สงบ
แต่ในยามเซื่องซึมเฉื่อยเนือยก็ต้องใช้ธรรมะกลุ่มแรกก็คือ ธัมมวิจยะ บางทีง่วงนอน ทำอย่างไรก็ไม่หายง่วง ก็ลองพยายามพิจารณาใคร่ครวญธรรมะดู ก็ทำให้ตื่นขึ้นมาได้ ทำให้เกิดความตื่นตัวขึ้นมาในจิตใจ หรือวิริยะก็เหมือนกัน ถ้ามันเฉื่อยเนือยมาก ก็ต้องทำความเพียร ปิติก็ช่วยทำให้ใจเกิดอาการตื่นตัวขึ้นมา มันเป็นอาการคล้ายๆฟูฟ่องขึ้นมา แทนที่จะฟุบเพราะความเฉื่อยเนือย
ส่วนที่ว่าใช้ผิด ใช้อย่างไร ก็คือว่า ในเวลาที่จิตฟุ้งซ่านอยู่แล้ว ก็ยังไปใช้ธรรมะกลุ่มแรก ธัมมวิจยะ ก็ยิ่งฟุ้งเข้าไปใหญ่ ความคิดก็แล่นไม่หยุด หรือทำความเพียร ขยันเพิ่มความเพียรเข้าไปใหญ่ มันก็ยิ่งฟุ้ง ในทำนองเดียว ในขณะที่กำลังหดหู่ เฉื่อยเนือย ง่วงเหงาหาวนอน ขืนไปใช้ธรรมะกลุ่มหลัง ปัสสัทธิก็ดี สมาธิก็ดี อุเบกขาก็ดี ก็ยิ่งเฉื่อยเนือยเข้าไปใหญ่
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนกับว่า ไฟกำลังจะมอดดับ ก็โยนหญ้าสดเข้าไป แล้วมันจะเป็นอย่างไร ไฟก็ดับ ไฟที่กำลังมอดดับ ถ้าอยากจะให้มันลุก มันก็ต้องใส่หญ้าแห้งเข้าไป ก็หมายความว่า ถ้าใจมันเฉื่อยเนือย ก็ต้องเจริญธัมมวิจยะ หรือวิริยะ หรือปิติเข้าไป อันนี้คือตัวอย่างของการปฏิบัติธรรมให้ถูกกรณี ถ้าทำผิดกรณี มันก็เกิดผลเสีย
ในบรรดาโพชฌงค์ 7 มีอีกธรรมะหนึ่ง ที่เป็นโดดๆ ไม่ได้สังกัดกลุ่มใดคือ สติ เป็นตัวที่ 7 ซึ่งตัวสติ มีคุณสมบัติทั้งเป็นตัวกระตุ้นและตัวชะลอ ในยามง่วงเหงาหาวนอน ถ้ามีสติขึ้นมา ก็ทำให้เกิดความตื่นตัวขึ้นมา กระฉับกระเฉง ในยามที่รุ่มร้อน สติจะช่วยทำให้ใจเย็นลง ในยามที่ชอบผลุนผัน สติก็ทำให้ทำอะไรช้าลง
การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ต้องรู้จักใช้ธรรมะให้ถูกกรณี และก็ถูกเวลาด้วย เช่น บางคนจะข้ามถนนแต่ว่ายังอดไม่ได้ที่จะเจริญสติหรือเจริญสมาธิ ด้วยการเอาจิตมากำหนดที่ท้องพองยุบ หรือกำหนดที่เท้าที่กำลังเขยื้อนขยับ อันนั้นมันดี ถ้าทำในวัดหรือสถานปฏิบัติ ก็ควรทำ แต่ถ้าไปทำในขณะที่ข้ามถนน อันนี้มันผิดกรณีแล้ว
ตอนที่ข้ามถนนต้องมีสติ ดูถนนว่าโล่งไหม ไม่ปล่อยใจให้ลอย แต่เอาใจไปเพ่งที่เท้า หรือไปเพ่งที่ท้องในขณะข้ามถนน อันนี้ก็เกิดอันตรายขึ้นมาได้ เรียกว่าภาวนาผิดเวลา สวดมนต์ก็เหมือนกัน การสวดมนต์นั้นดี มันทำให้จิตเป็นสมาธิ แต่ก็ต้องสวดเป็นเวล่ำเวลาด้วย ไม่ใช่ขับรถก็สวดมนต์ ข้ามถนนก็สวดมนต์ อันนี้มันก็เกิดอันตรายขึ้นมาได้ เพราะว่าใช้ธรรมะผิดเวลา หรือใช้ธรรมะผิดกรณี เวลาข้ามต้องอาศัยธรรมะคือใช้สติ
มีผู้หญิงคนหนึ่งหกล้มเป็นประจำ ไปหาหมอกายภาพ หมอก็แปลกใจว่า ทำไมอายุเธอก็ไม่มาก การทรงตัวก็ดี ไม่มีอะไรผิดปกติ แต่ทำไมเธอหกล้มบ่อย ครั้งล่าสุดเธอหกล้มขณะที่กำลังเปิดประตูลงจากรถ หกล้มแบบนี้มา 3 ครั้งแล้ว เปิดประตูรถแล้วก้าวลงมาก็หกล้มเลย หมอก็เลยถามว่า ตอนที่เปิดประตูรถ สวดมนต์ใช่ไหม เธอแปลกใจว่าหมอรู้ได้อย่างไร
ที่หมอรู้ เพราะว่าเธอเคยคุยให้หมอฟังประจำ ว่าเธอสวดมนต์เป็นประจำให้ได้ 84000 จบ มีเครื่องกดอยู่ที่มือ กดตลอดเวลาเมื่อสวดครบจบ พฤติกรรมแบบนี้ หมอก็เลยเดาได้ว่า ทำไมเธอถึงหกล้มขณะที่เปิดประตูรถ สวดมนต์นี้ดี แต่ว่าต้องทำให้เป็นเวลา ในขณะที่ลงจากรถ ธรรมะที่ควรใช้คือสติ มีสติรู้ตัวในขณะที่เปิดประตูลงจากรถ ขึ้นบันได เป็นต้น ฉะนั้น การปฏิบัติธรรม ต้องรู้จักใช้ให้ถูกเวลา และก็ถูกกรณีด้วย
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมอีกความหมายหนึ่งก็คือว่า ปฏิบัติแต่พอดี อย่างที่เคยพูดไว้แล้วว่า พอดีกับทางสายกลางไม่ใช่อันเดียวกัน ถึงแม้ว่าปฏิบัติทางสายกลางแล้ว มันก็ต้องรู้จักปฏิบัติให้พอดีด้วย อย่างเช่น สัมมาวายามะ คือความเพียรชอบ แม้มีความเพียรชอบแล้ว ก็คือว่า ป้องกันไม่ให้อกุศลธรรมเกิด และขจัดอกุศลธรรมที่มีอยู่ให้หมดไปด้วย รวมทั้งเสริมสร้างกุศลธรรมให้เกิดขึ้น และเพิ่มพูนให้มากๆขึ้นไป
แต่ก็ต้องทำความเพียรแต่พอดีด้วย อย่างเช่น พระโสณโกฬิวิสะ ท่านเจริญสติปัฏฐาน แต่ภาวนาอย่างด้วยอาการหน้าดำคร่ำเคร่ง แม้ว่าเท้าแตกก็ยังไม่ยอมเลิก เดินจงกรมไม่ได้ก็คลานเอา จนกระทั่งหัวเข่าก็แตก ฝ่ามือก็แตก เพราะท่านเป็นคนที่ผิวบาง จนกระทั่งเกิดความท้อในการปฏิบัติ อยากจะสึกหาลาเพศไป
พระพุทธเจ้าเมื่อทราบก็เสด็จมาแล้วก็แนะนำพระโสณะ ด้วยการเปรียบกับพิณสามสาย ถ้าพิณขึงให้ตึงเกินไปมันก็ไม่เพราะ แต่ถ้าหย่อนไปมันก็ไม่เพราะ ต้องขึงแต่พอดีจึงจะเพราะ การทำความเพียรก็ต้องทำแต่พอดี ถ้ามากไปก็ฟุ้งซ่าน น้อยไปก็เกียจคร้านเซื่องซึม พระโสณะจึงเข้าใจ หลังจากนั้นก็ลดความเพียรลง ลดไม่ใช่แค่ในส่วนที่เป็นอากัปกริยาแต่รวมไปถึงใจด้วย ไม่ใช่ทำด้วยความคร่ำเคร่ง ปล่อยวางลงบ้าง สุดท้ายท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์
เรื่องความพอดีในการปฏิบัตินั้นสำคัญเหมือนกัน เพราะว่าธรรมดาคนเรามักจะเหวี่ยงไปทางใดทางหนึ่งถ้าไม่มากไปก็น้อยไป แต่ส่วนใหญ่น้อยไป ที่มากไปยังมีน้อย คนส่วนใหญ่ต้องเพิ่มความเพียร มีแต่คนส่วนน้อยที่ลดความเพียรลง ให้มันพอดี
นอกจากการปฏิบัติธรรมให้พอดีแล้ว ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือว่า การไม่ยึดติดถือมั่นในธรรมะ อันนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจยากหน่อย คนส่วนใหญ่จะเห็นว่าธรรมะเป็นสิ่งที่ดี ยึดมั่นถือมั่นจะเสียหายอย่างไร อันนี้พระพุทธเจ้าตรัสตักเตือนไว้เลย อุปมาเหมือนคนหนึ่งเดินทางไกลมา พอถึงแม่น้ำสายใหญ่ ต้องการข้ามไปอีกฝั่งหนึ่ง ก็เลยเอากิ่งไม้ใบไม้หญ้ามามัดรวมกันเป็นแพ แล้วก็ใช้แพข้ามไปฝั่งตรงข้าม
ชายผู้นั้นเห็นว่าแพมีอุปการะมาก อย่ากระนั้นเลย เมื่อเราถึงฝั่งแล้ว เราก็ควรจะเอาแพแบกใส่บ่าเดินขึ้นไปด้วย พระพุทธเจ้าก็สอบถามพระสาวกว่าชายผู้นี้ทำถูกไหม พระสาวกบอกว่า ทำไม่ถูก ที่ถูก ก็ควรจะเอาแพทิ้งไว้ที่ฝั่ง หรือทิ้งแพไว้ในลำน้ำ ให้ลำน้ำพัดพาไป
พระพุทธเจ้าก็ตรัสต่อไปว่า ฉันใดก็ฉันนั้น ธรรมะที่พระองค์ทรงแสดงก็เหมือนแพเป็นไปเพื่อการสลัดออก ไม่ใช่เป็นไปเพื่อการยึดติด ขนาดธรรมะยังไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นับประสาอะไรกับอธรรม ธรรมะเป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าก็ต้องระวังเพราะคนเรามีโอกาสที่จะยึดมั่นถือมั่น แม้กระทั่งธรรมะที่เป็นไปเพื่อการสลัด เพื่อการปล่อยวาง
อย่างเช่น ธรรมะเรื่องอนัตตา เป็นธรรมะขั้นสูงเลย แต่ว่าหลายคนพอศึกษาธรรมะข้อนี้แล้วเกิดความเข้าใจ เกิดความยึดติด อาตมาเคยไปแสดงธรรม พูดถึงพุทธพจน์ข้อหนึ่งที่ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เราทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว พูดจบมีอาจารย์หนึ่งพูดท้วงขึ้นมาว่า พระพุทธเจ้าสอนเรื่องอนัตตา มันไม่มีตัวตน จะมาพูดได้อย่างไรว่า เรามีกรรมเป็นของตน
ท่านคงไม่รู้ว่า เรามีกรรมเป็นของตน ก็เป็นพุทธพจน์ข้อหนึ่งเหมือนกัน ท่านคงยอมรับไม่ได้ว่า พระพุทธเจ้าสอนแบบนี้ด้วย บอกว่าพระพุทธเจ้าสอนอนัตตา แล้วเราจะมีกรรมเป็นของตนได้อย่างไร คือปฏิเสธ หรือไม่ยอมรับ ซึ่งก็คงจะรวมไปถึงว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนด้วย ก็คงจะไม่ยอมรับ ทั้งๆที่เป็นพุทธพจน์ เพราะว่ายึดติดในธรรมะอนัตตา
หรือว่าพอยึดติดในอนัตตา พอมีคนไม่เห็นด้วยในธรรมะข้อนี้ ก็โกรธเขา ด่าว่าเขา อันนี้ก็ไม่ถูก เพราะการทำเช่นนั้น ก็แสดงให้เห็นถึงความยึดติด พอยึดติดในธรรมะข้อใดก็ตาม พอมีคนไม่เห็นด้วยในธรรมะข้อนั้น มันก็เหมือนกับว่า มากระทบกระแทกตัวตนของเรา ในขณะที่สอนอนัตตา แต่ว่าคนสอนมีตัวตนเต็มที่ พอมีคนไม่เห็นด้วยกับอนัตตา ก็รู้สึกว่ามาพูดกระทบกระแทกตัวเราด้วย ก็เลยโกรธต่อว่าเขา อันนี้ก็ไม่ถูก
หรือแม้กระทั่ง ธรรมะที่กว้างไปกว่านั้น เช่น พระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาเป็นของดี แต่ถ้ายึดมั่นในพระพุทธศาสนา มันก็เกิดปัญหาขึ้นมาได้ อย่างเช่น พอเจอคนที่เขาไม่นับถือพุทธศาสนา ก็ไม่พอใจเขา หรือบางทีเป็นลูกหลานเราเอง ไม่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ผมเป็นคนไม่มีพุทธศาสนา หนูเป็นคนที่ไม่เป็นพระพุทธศาสนา พ่อแม่ก็โกรธหรือเสียใจว่า ทำไมลูกหรือหลาน เป็นคนแบบนี้
ที่จริงเขาไม่นับถือพระพุทธศาสนาก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ถ้าหากเขาเป็นคนดี เพราะว่าหลายคน ความดีของเขา จริยธรรมของเขา ไม่ได้อิงศาสนาแต่อิงความเชื่อหรือปรัชญาบางอย่าง บางคนไม่มีศาสนาแต่มีเมตตากรุณาสูงมาก คนที่มีศาสนาเสียอีกบางทีกลับมีเมตตากรุณาน้อยกว่า
พุทธศานาเป็นของดีแต่ถ้ายึดมั่นถือมั่นก็เกิดปัญหาขึ้นมาได้ ทำให้เกิดความเกลียดชัง ทำให้เกิดความโกรธคนที่เขาไม่นับถือเหมือนเรา ศาสนาแม้จะดี จะประเสริฐ แต่หากยึดมั่นถือมั่นก็นำไปสู่สงคราม นำไปสู่ก่อการร้ายอย่างที่เป็นข่าวทุกวันนี้ พวกที่ก่อการร้ายก็เป็นผู้ที่นับถือศาสนาทั้งนั้น แต่ว่าเคร่งครัดแบบยึดมั่นถือมั่น ใครที่คิดต่างจากตัวหรือไม่นับถือศาสนาของตัว ถือว่าเป็นคนเลวร้ายที่ต้องกำจัด
ไม่ใช่เฉพาะหลักธรรม การปฏิบัติก็เหมือนกัน หลายคนก็เห็นว่า การสวดมนต์เป็นของดี การนั่งสมาธิเป็นของดี ก็อยากจะให้ลูก อยากจะให้หลาน คนใกล้ตัว สามี หรือลูกศิษย์ สวดมนต์ นั่งสมาธิ แต่พอเขาไม่สนใจ ก็โกรธเขา ต่อว่าเขา เกิดความร้าวฉาน อันนี้ก็เป็นเพราะความยึดมั่นถือมั่นในธรรมะ
ขึ้นชื่อว่าความยึดมั่นถือมั่นแล้ว ไม่ว่าจะยึดมั่นอะไรก็ตาม ก็เกิดผลเสียทั้งนั้น แม้กระทั่งสิ่งที่เราคิดว่าถูก อย่างที่หลวงพ่อเฟื่อง โชติโก ท่านเคยกล่าวไว้ แม้ความเห็นเราถูก แต่ถ้ายึดไว้ มันก็ผิด เพราะว่าอะไรเพราะว่าไม่มีอะไรที่ยึดมั่นถือมั่นได้ และที่สำคัญ พอยึดมั่นถือมั่นไปแล้ว ใครที่คิดไม่เหมือนเรา เห็นไม่เหมือนเรา เราก็มองเขาว่าเป็นคนละพวก หรือยิ่งกว่านั้นคือ หาว่าเขาเป็นคนโง่ หรือเป็นคนเลว ความรู้สึกแบบนี้มันผิดตั้งแต่แรกแล้ว เพราะว่ามันจะนำไปสู่การต่อว่าด่าทอ หรือว่าการเบียดเบียนกันในที่สุด
เพราะฉะนั้นให้เราตระหนักว่า ธรรมะแม้จะเป็นสิ่งที่ดีอย่างไร ต้องปฏิบัติให้ถูก ถ้าปฏิบัติผิดมันก็เกิดปัญหา เรียกว่าทำผิดในสิ่งที่ถูก สิ่งที่ถูกก็ต้องทำให้ถูกด้วย เพราะว่าถ้าทำผิดแล้วก็เกิดผลเสียเกิดปัญหาตามมา อันนี้เป็นสิ่งที่คนไม่ค่อยตระหนักกันเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น ที่พระพุทธเจ้าตรัสปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก หรือรู้จักธรรมะแล้วก็ต้องรู้จักปฏิบัติให้ถูกอย่างที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้น
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 28 สิงหาคม 2564