แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ประเสริฐ ซึ่งเราก็ทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ว่าธรรมจะมีประโยชน์กับชีวิตของเราได้ต้องอาศัย 3 สิ่งหรือ 3 อย่างคือ อันที่ 1 คือฟัง อันที่ 2 คือคิด อันที่ 3 คือทำหรือปฏิบัติ ถ้ามี 3 อย่างนี้ครบก็ทำให้ธรรมเกิดประโยชน์ต่อเราอย่างแท้จริง จนถึงกับทำให้สิ้นทุกข์ได้
ฟัง คิด และทำ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากในหมวดธรรมที่ชื่อโสตาปัตติยังคะ ซึ่งเป็นธรรมที่ทำให้บรรลุถึงความเป็นโสดาบัน ซึ่ง 3 ใน 4 ประการ ที่เป็นการ ฟัง คิด ทำ อยู่ในหมวดธรรมดังกล่าว
ฟังคือฟังธรรม ฟังจากใคร ก็ฟังจากสัตบุรุษ หรือว่าครูบาอาจารย์ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะฟัง ก็จะมีข้อหนึ่งคือการเสวนาสัตบุรุษ หรือการคบหาสัตบุรุษ เป็นกัลยาณมิตร เมื่อคบหาก็จะเกิดการฟังธรรมสวนะ
ส่วนการคิดนั้น ท่านก็เจาะจงเลยว่าหมายถึงโยนิโสมนสิการ ไม่ใช่คิดเรื่อยเปื่อย โยนิโสมนสิการคือการคิดอย่างมีเหตุผลหรืออย่างถูกวิธี เช่น มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าเป็นปัญหา เป็นความทุกข์ ก็มองหาสาเหตุ หาตัวสมุทัยหรือว่า มิฉะนั้นก็ สาวหาเหตุว่า มันมีความเป็นมาอย่างไร หรือมองไปถึงว่า มันจะส่งผลกระทบอย่างไร รวมทั้งการรู้จักคิดบวกคิดลบ คิดให้ถ้วนทั่ว คิดให้ครบทุกด้าน ด้านที่เป็นคุณด้านที่เป็นโทษ
แล้วที่ดีกว่านั้นก็การหาทางออกจากสิ่งที่เป็นโทษ อันนี้เป็นตัวอย่างของโยนิโสมนสิการ หรือการคิดถูกคิดเป็น ซึ่งเมื่อนำมาใช้กับธรรมะ ก็ทำให้เกิดความเข้าใจธรรมะ ทั้งสิ่งที่เป็นสัจธรรมความจริง และสิ่งที่เป็นจริยธรรม หรือข้อพึงประพฤติปฏิบัติ จากนั้นก็ลงมือปฏิบัติ
ฟัง คิดและก็ทำ เป็นบ่อเกิดปัญญาเลย ปัญญานั้นมี 3 สุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการฟัง ฟังในที่นี้รวมไปถึงการอ่านด้วย หนังสือที่ประกอบด้วยธรรม ตั้งแต่จากพระไตรปิฎกลงมา อันนี้เรียกว่าเป็นสุตตะซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาได้
จินตามยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการคิด พิจารณา และประการสุดท้าย ภาวนามยปัญญาคือปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติ ภาวนาในที่นี้ ความหมายคือการปฏิบัติให้มากขึ้น
เพราะฉะนั้น ฟัง คิด และทำ เป็นองค์ประกอบที่เรียกว่าต้องทำให้ครบถ้วน ให้ครบชุดเลยทีเดียว และถ้าทำให้ครบชุด ทำให้ถูกวิธี มันก็นำไปสู่การเห็นธรรม ถึงขั้นบรรลุโสดาบันได้
พูดถึงการทำหรือการปฏิบัติ ก็เจาะจงเลยว่าเป็นการปฏิบัติที่เรียกว่า ธรรมมานุธัมมปฏิบัติ คือ การปฏิบัติโดยสมควรแก่ธรรม เราคงเคยได้ยิน เพราะว่ามีบทสวดหลายบทที่พูดถึง เช่น ชนเหล่าใดที่ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ในธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว ชนเหล่านั้นจักถึงฝั่งแห่งพระนิพพาน ข้ามพ้นบ่วงแห่งมัจจุที่ข้ามได้ยาก อันนี้ก็เป็นข้อความหนึ่งที่เราสวดอยู่บ่อยๆ
หรือบางบทที่ท่านพูดว่า ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ อย่างที่ว่าธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ถ้าเราเอะใจหน่อยก็อาจจะสงสัยว่า ธรรมที่ประพฤติไม่ดี มีด้วยหรือ ธรรมะที่ประพฤติไม่ดีก็มีเพราะถ้าประพฤติไม่ดีก็นำความทุกข์มาให้ แต่ถ้าประพฤติดีแล้วก็นำสุขมาให้ ประพฤติดีแล้วหมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่าปฏิบัติโดยสมควรแก่ธรรมนั่นเอง
ธรรมะ แม้เป็นของดีแต่ถ้าปฏิบัติไม่ถูกก็เกิดโทษ มันก็เหมือนกับของใช้ต่างๆ อย่างเช่น มีด ถ้าใช้ไม่ถูกมันก็บาดมือทำให้เกิดบาดแผล ไฟก็เหมือนกันถ้าใช้ไม่ถูกมันก็ไหม้บ้าน เผาเรือนได้ ธรรมะก็เหมือนกันเป็นธรรมที่ดีเป็นธรรมที่ประเสริฐก็ต้องปฏิบัติให้ถูก ท่านใช้คำว่าปฏิบัติสมควรแก่ธรรม เราต้องระวังอย่าปฏิบัติโดยไม่สมควรแก่ธรรม
ปฏิบัติโดยไม่สมควรแก่ธรรมหมายความว่าอย่างไร เช่น ปฏิบัติผิดหรือใช้ในทางที่ผิด อย่างเช่น ศึกษาธรรมเพื่อไปยกตนข่มท่าน ศึกษาธรรมเพื่อจะได้เอาไปเถียงชนะผู้อื่น เพื่อจะได้ไปข่มขู่ผู้อื่นว่า สู้ฉันไม่ได้ฉันมีความรู้มากกว่า หรือว่าฉันมีอาจารย์ที่ดีกว่า ฉันอยู่สำนักที่ปฏิบัติถูกต้องมากกว่า อันนี้เรียกว่าใช้ธรรมะในทางที่ผิด คือ ใช้เพื่อสนองปรนเปรออัตตา
หรือยิ่งกว่านั้นใช้ธรรมเพื่อแสวงหาลาภสักการะ สร้างภาพว่าเป็นผู้ที่เคร่ง คนจะได้เคารพนับถือ คนจะได้เอาลาภสักการะมาให้ อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องระวัง พระพุทธเจ้าบางครั้งก็ตรัสเปรียบการศึกษาธรรมเหมือนกับจับงู งูพิษด้วย ถ้าจับงูพิษไม่ดี มันก็กัดจนบาดเจ็บถึงตายได้ คำว่างูพิษพระองค์ไม่ได้ตรัสเปรียบได้กับ หรือใช้อุปมากับเงินอย่างเดียว บางที่บางแห่งเขาใช้เปรียบเงินเหมือนกับอสรพิษ
แต่ในบางพระสูตร พระองค์ก็ตรัสเปรียบธรรมะเหมือนกับยาพิษเหมือนกัน ศึกษาธรรมก็เหมือนกับการจับงูพิษ จับถูกก็ปลอดภัย จับผิดก็เป็นอันตราย และการจับงูพิษแบบผิดๆก็คือการศึกษาธรรมเพื่อข่มขู่ผู้อื่นเพื่อยกตนข่มท่าน หรือเพื่อแสวงหาลาภสักการะ ถ้าศึกษาธรรมแบบนี้ก็เรียกว่าศึกษาผิดวิธีแล้วเพราะใช้ธรรมะในทางที่ผิด
เราต้องใช้ธรรมะในทางที่ถูก เพื่อลดละกิเลส เพื่อให้คุณธรรมเจริญงอกงามขึ้นมาในใจ จนกระทั่งสามารถจะทำประโยชน์ให้ถึงพร้อม ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านได้ นอกจากการไม่ใช้ธรรมะในทางที่ผิดแล้ว ก็ต้องรู้จักใช้ธรรมะให้ถูกวัตถุประสงค์ด้วย หรือว่าใช้ธรรมะให้ถูกตามจุดมุ่งหมาย
ธรรมะแต่ละข้อ มีจุดมุ่งหมายเฉพาะตัว ถ้าไม่เข้าใจจุดมุ่งหมายก็ปฏิบัติผิดได้ อย่างเช่น สันโดษ สันโดษเป็นธรรมะที่คนไทยคุ้นเคยกันดี แต่ก็เข้าใจผิดและก็ปฏิบัติผิดกันมาก ที่ผิดไม่ใช่ว่าเป็นการใช้ในทางที่ผิด แต่ว่าเป็นการปฏิบัติผิดวัตถุประสงค์ สันโดษนั้นพระพุทธเจ้าตรัสแนะนำในทางปฏิบัติก็เพื่อจะได้ส่งเสริมการทำความดีให้ยิ่งๆขึ้นไป
ความหมายของสันโดษที่เราเข้าใจก็คือว่า อยู่เรียบง่าย รวมทั้งที่ควรนึกเพิ่มเติมก็คือว่าพอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่ได้ ถ้าเราใช้สันโดษถูก ปฏิบัติได้ถูก เราก็จะไม่ใช้เวลาไปกับการหาเงินทองหาทรัพย์สินให้ได้มากๆ คือ รู้จักพอ ไม่เสียเวลากับการหาเงินหาทอง สะสมทรัพย์สมบัติ มีเท่าไหร่ก็ไม่พอ ถ้าทำอย่างนั้นมันก็ไม่มีเวลาที่จะทำสิ่งที่ดีงามได้ อันนี้คือความหมายหรือวัตถุประสงค์ในการพอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่ได้
ส่วนการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย เพื่อที่จะได้ไม่เสียเวลาไปกับการแสวงหาสิ่งปรนเปรอตน เพราะถ้าอยู่อย่างเรียบง่ายแล้ว มันมีเวลาเหลือ สำหรับการที่จะไปทำสิ่งที่ดีมีประโยชน์มากกว่า คนทุกวันนี้ เนื่องจากไม่เห็นคุณค่าของการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ก็เลยไปดิ้นรนแสวงหาสิ่งปรนเปรอตนทั้งทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายหรือแม้กระทั่งทางใจ จนกระทั่งแทบไม่มีเวลาพักผ่อน
บางคนอ้างว่า ไม่มีเวลาปฏิบัติธรรมเพราะงานเยอะ แต่บางทีไม่มีเวลาปฏิบัติธรรมเพราะว่าหมดเวลาไปกับเสพสิ่งปรนเปรอ ดูหนังดูละคร เที่ยวห้าง แต่ตอนนี้พอรู้จักใช้ชีวิตที่เรียบง่าย เสียเวลาไปกับการหาสิ่งเสพสิ่งปรนเปรอน้อยลง หรือถึงมีสิ่งเสพสิ่งปรนเปรอ ก็ไม่เสียเวลาไปกับมันมาก ก็มีเวลาไปกับการทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่น หรือการศึกษาปฏิบัติธรรมให้มากขึ้น
คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจสันโดษผิด หรือปฏิบัติผิด ก็คือว่า เอาล่ะ ฉันไม่ดิ้นรนแสวงหาเงินทองมากๆแล้วแต่ก่อนต้องมี 30,000 ถึงจะอยู่ได้ แต่ตอนนี้มี 5,000 ก็อยู่ได้แล้ว เพราะว่าฉันพอใจกับเงินที่ได้มา 5,000 ก็พอใจแล้ว แล้วก็มีชีวิตที่เรียบง่าย 5,000 ก็อยู่ได้ แทนที่จะเสียเวลากับการหาเงินตลอดเดือนหรือวันละหลายชั่วโมง ตอนหลังก็หาเงินแค่อาทิตย์ละ 2 วัน หรือว่าวันหนึ่งทำไม่กี่ชั่วโมงก็พอกินแล้ว
แล้วเวลาที่เหลือทำอะไร หลายคนก็นั่งๆนอนๆ ไม่ได้ทำอะไรให้เป็นประโยชน์ กลายเป็นขี้เกียจขึ้นมาสันโดษนั้นหลายคนปฏิบัติแล้วกลายเป็นเพิ่มพูนความขี้เกียจกลายเป็นคนเกียจคร้าน ก็ทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดในหมู่คนทั่วไปว่า คนไทยเกียจคร้านเพราะความสันโดษ คนไทยก็เลยไม่พัฒนา
ตอนที่มีการปฏิวัติเกือบ 60 ปีที่แล้ว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ต้องการให้ประเทศเจริญก้าวหน้า เข้าสู่ยุคพัฒนาเพราะเห็นว่าสันโดษเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ก็เลยขอร้องพระทั้งประเทศให้เลิกสอนสันโดษ เพราะว่าสันโดษทำให้คนไทยขี้เกียจ แล้วพอขี้เกียจ ก็ไม่กระตือรือร้นที่จะทำงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นว่า ตัวผู้ปกครองก็ไม่เข้าใจเรื่องสันโดษ
แต่ขณะเดียวกันก็สะท้อนต่อไปว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยก็ปฏิบัติสันโดษผิด ก็เลยทำให้เกิดความเกียจคร้านขึ้นมา เพราะฉะนั้น เพื่อป้องกันปัญหา พระพุทธเจ้าจึงสอนหรือแนะนำให้บำเพ็ญความเพียรควบคู่กับสันโดษด้วย เวลาพระพุทธเจ้าสอนสันโดษในทรัพย์ ในปัจจัย 4 ระองค์ก็จะสอนเพิ่มเติมว่าให้มีความเพียร ให้มีวิริยะ วิริยะในการปฏิบัติธรรม วิริยะในการทำความดี ในการสร้างกุศลธรรมให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะถ้าไม่มีวิริยะตรงนี้แล้ว โอกาสที่จะปฏิบัติสันโดษผิด มันก็มี
นอกจากสันโดษแล้ว ก็ยังมีอีกหลายข้อที่ชาวพุทธปฏิบัติผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งไปๆมาๆมันก็ไปสนองกิเลสได้ อย่างเช่นคำสอนว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน อัตตาหิ อัตโนนาโถ เป็นธรรมะที่ดี แต่หลายคนปฏิบัติแล้วเอามาใช้ในทางที่ผิด ในแง่ที่ว่าเวลาเห็นคนเดือดร้อน ยากจน เจ็บป่วย หิวโหย แทนที่จะไปช่วยเหลือ ก็บอกว่าเขาต้องช่วยตัวเอง เพราะว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ใช้ธรรมะข้อนี้เป็นข้ออ้างในการที่จะไม่ช่วยเหลือผู้อื่น ใครเดือดร้อนอย่างไร ต้องช่วยตัวเอง ฉันไม่ช่วย เพราะตนเป็นที่พึ่งของตน
อีกข้อหนึ่งที่ปฏิบัติผิดกันมาก ด้วยความเข้าใจไม่ถูกต้อง ก็คือ อุเบกขา อุเบกขา เดี๋ยวนี้ไปเข้าใจว่าหมายถึงนิ่งดูดายหรือปล่อยปละละเลย เห็นคนเดือดร้อนก็อุเบกขา นิ่งเฉย เห็นอะไรที่ควรทำ ควรแก้ไข ก็ไม่ทำ เพราะอุเบกขา แล้วเข้าใจว่าการวางเฉย เข้าใจว่าอุเบกขาคือการนิ่งดูดาย นิ่งดูดายกับวางเฉย บางทีมันก็ไม่ใช่อันเดียวกัน
ที่พระพุทธเจ้าสอนอุเบกขาหมายความว่า วางเฉยหรือว่าสงบนิ่ง อันนั้นหมายความว่า เวลาเห็นอะไรหรือเจออะไรก็ตาม ให้รู้จักสงบนิ่งเสียก่อน อย่าเพิ่งกระโตกกระตาก อย่าเพิ่งโวยวาย อย่าเพิ่งโอดครวญ สงบนิ่งเพื่ออะไร เพื่อพิจารณาว่าควรจะทำอะไร ไม่ว่าสิ่งนั้นหรือสิ่งที่อยู่ข้างหน้าจะเป็นความเดือดร้อนของผู้คน หรือว่าปัญหา ก่อนจะทำอะไรต้องสงบ เพื่อพิจารณาว่าควรทำอย่างไร
และประการต่อมาคือว่า ถ้ายังไม่ถึงเวลา ก็ให้นิ่งเฉยก่อน อย่างเช่นสอนลูกให้รู้จักเดิน ลูกก็พยายามเดินแต่บางครั้งลูกเดินแล้วก็ล้ม พ่อแม่รักลูกแต่ว่าอย่าเพิ่งไปช่วยลูก ต้องอยู่นิ่งก่อน ให้ลูกลองผิดลองถูกก่อน ขี่จักรยานก็เหมือนกัน ตอนขี่ใหม่ๆก็ล้ม พ่อแม่ก็ต้องปล่อยให้ลูกล้ม เพราะว่าเขาจะได้เรียนรู้จากการล้มนั้น ล้มบ่อยๆไม่นาน ก็จะรู้จักวิธีทรงตัว ขี่จักรยานได้ หรือสามารถเดินได้ ถ้าพ่อแม่ไปโอบอุ้มลูกทุกครั้งที่ล้ม ลูกก็ไม่มีทางที่จะเดินได้หรือขี่จักรยานได้
และประการที่สามก็คือว่า หากช่วยมากๆแล้วไม่เกิดผล หรือจะว่าไปแล้วจะเกิดผลเสีย ก็หยุดช่วย อันนี้ก็เป็นอุเบกขาเหมือนกัน ไม่ใช่แปลว่า ไม่ได้ช่วยอะไรเลย ไม่ได้ลงมืออะไรเลย ช่วย แต่พอช่วยถึงที่สุดแล้วไม่เกิดประโยชน์ เกิดผลเสีย ก็หยุดซะ อันนี้คือความหมายของอุเบกขา แต่พอปฏิบัติไม่ถูกก็เลยเกิดความเสียหายขึ้นมาได้
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเช้าวันที่ 28 สิงหาคม 2564