แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีวัยรุ่นคนหนึ่งชื่อใหญ่ วันหนึ่งพบข่าวร้าย พ่อเสียชีวิตเพราะว่าถูกฆ่า เกิดเรื่องทะเลาะวิวาทกัน ถึงขั้นใช้กำลังกัน ก็เลยมีการใช้มีดต่อสู้กัน พ่อของใหญ่เสียชีวิต ส่วนฆาตกรถูกจับได้ แต่เนื่องจากฆตกรเป็นเยาวชน จึงไม่ได้ถูกขังในเรือนจำแต่ให้ไปอยู่ศูนย์ฝึกอบรมเยาวชน ซึ่งก็มีอยู่หลายแห่งหลายที่ เช่น บ้านกรุณา บ้านเมตตา ใหญ่โกรธแค้นมาก ตั้งใจว่าจะพยายามแก้แค้นแทนพ่อให้ได้
แกก็เลยทำคดีปล้นทรัพย์เพื่อจะได้เป็นเหตุให้ถูกจับแล้วจะได้เข้าไปอยู่ที่เดียวกับฆาตกรซึ่งชื่อเล็ก ใช้เวลานานกว่าจะได้ย้ายจากบ้านนั้นไปบ้านนี้ จนในที่สุดได้มาอยู่บ้านเดียวกับที่เล็กที่เป็นฆาตกรอยู่ ก็ใช้เวลานานจนได้มาอยู่ที่เดียวกัน สถานที่ที่ว่านี้คือบ้านกาญจนาภิเษก ชื่อเต็มว่า ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก โดยมีป้ามลหรือคุณทิชา ณ นคร เป็นผู้อำนวยการ
ใหญ่เตรียมวางแผนที่จะแก้แค้นเล็ก เล็กก็รู้ว่าใหญ่คิดอะไร พอเล็กรู้ว่าใหญ่มาอยู่บ้านกาญจนาภิเษก แกก็ไปหาใหญ่ เพื่อแสดงความสำนึกผิด ขอโทษ เพราะว่าไม่ได้ตั้งใจฆ่า แต่ว่ามันเป็นเหตุสุดวิสัย ต้องป้องกันตนเอง แต่ว่าใหญ่ไม่ยอมรับคำขอโทษ เพราะจิตใจยังเต็มไปด้วยความเครียดแค้น หาทางที่จะแก้แค้นให้ได้
ให้เพื่อนๆในบ้านกาญจนาภิเษกไปหาอาวุธมา หามีดหาเหล็กมา แต่ไม่มีใครให้ความร่วมมือ เล็กก็รู้ว่าใหญ่คิดจะทำร้ายตัวเอง ก็ระวังตัว กลัวก็กลัว ก็เลยพยายามอยู่ห่างๆ เรื่องนี้ก็เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปในบ้านกาญจนาภิเษกว่าใหญ่พยายามแก้แค้นเอาชีวิตของเล็กให้ได้ ก็เลยพยายามช่วยกันป้องกันเอาไว้ไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน หรือเปิดโอกาสให้มีการแก้แค้นกัน
ป้ามลก็พยายามจัดกิจกรรม เพื่อช่วยทำให้เกิดการคืนดีกัน ที่บ้านกาญจนาภิเษกมีกิจกรรมหลายกิจกรรมที่ช่วยฟื้นฟูจิตใจของเด็กและเยาวชนที่ต้องคดี กิจกรรมนี้เรียกว่ากิจกรรมวิชาชีวิตเพื่อโอกาสให้เยาวชนได้รู้จักตนเอง เห็นคุณค่าตนเอง ไม่ใช่คิดว่าตนเองเป็นเศษสวะสังคม
นอกจากเห็นคุณค่าของตัวเองแล้ว รู้จักจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ รู้จักใช้ความคิด จะทำอะไรก็คิดเสียก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไร เช่น คิดว่าทำแล้วจะเกิดผลอะไรขึ้นมา กิจกรรมเหล่านี้ก็ช่วยทำให้เยาวชนหลายคน ก็ได้คิดและสำนึกผิด แล้วก็เกิดแรงจูงใจที่จะทำความดี เพื่อทำให้ชีวิตตนเองมีคุณค่าขึ้นมา
แต่ว่าไม่ได้ช่วยทำให้ใหญ่คลายความเครียดแค้นพยาบาทเลย ก็ยังมีอยู่และก็หาทางแก้แค้นตลอดเวลา จนกระทั่งวันหนึ่ง บ้านกาญจนาภิเษกมีกิจกรรมประจำปี 16 สิงหาคมเรียกว่าวันสันติภาพ จะมีกิจกรรมที่ให้เยาวชนได้มาใคร่ครวญสำนึกผิด รวมทั้งได้มีการขอขมาคนที่ตัวเองเคยทำร้ายเพื่อจะได้สันติภาพในใจ วันนั้นป้ามลก็ทำเซอร์ไพร์ส นำคุณย่าของใหญ่มาร่วมงานด้วย ย่าของใหญ่ก็คือแม่ของพ่อ ซึ่งเสียชีวิตเพราะว่าถูกเล็กฆ่า
แล้วก็ทำพิธีขอขมา เล็กก็ไปขอขมาย่าของใหญ่ คนที่เขาไปฆ่าลูกของเธอ ย่าของใหญ่ก็ให้อภัย เพราะว่าเรื่องมันก็แล้วไปแล้ว อย่ามาเจ็บแค้นกันเลย ให้อภัยกันดีกว่า ภาพนี้สะดุดใจใหญ่มาก ใหญ่ก็มาได้คิดว่า ขนาดย่าเสียลูกไป ก็ยังให้อภัยคนที่ฆ่าลูกของตัวได้ แล้วเราซึ่งเป็นลูกของผู้ตาย เราก็น่าจะให้อภัยคนที่ฆ่าพ่อของเราได้เหมือนกัน มันเป็นภาพที่เปลี่ยนใจของใหญ่ได้ในที่สุด
ใหญ่ก็คลายความเจ็บแค้น แล้วก็ให้อภัยเล็ก ใหญ่บอกว่าวันที่สามารถให้อภัยเล็กได้ มันโล่งไปเลย เคยที่รุ่มร้อนมันหายไปเลย มันมีความเย็นใจเข้ามาแทนที่ เขาพูดถึงความรู้สึกตอนนั้นว่า รู้อย่างนี้ทำไปนานแล้ว ทำไปนานแล้วคืออะไร ก็คือให้อภัย ก่อนหน้านั้นไม่ยอมให้อภัย แต่ว่าพอผ่านกิจกรรมหลายๆอย่างโดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ย่าของใหญ่ให้อภัยคนที่ฆ่าลูกของตัวได้
ใหญ่ก็ได้คิดเลย แล้วพอให้อภัย ก็รู้สึกว่าการให้อภัยดีเหลือเกิน แต่ก่อนไม่ยอมให้อภัย ไม่ยอมๆ จะแก้แค้นให้ได้ แต่พอให้อภัยแล้วก็รู้สึก รู้อย่างนี้ให้อภัยไปนานแล้ว หลายคนที่เจ็บช้ำน้ำใจ มีความโกรธแค้นพยาบาท จะรู้สึกว่าการให้อภัยเป็นเรื่องยากมาก การให้อภัยเป็นความอ่อนแอ แต่ที่จริงที่ยากกว่าก็คือ การอยู่ด้วยความโกรธ หรือมีชีวิตอยู่ด้วยความอาฆาตพยาบาท อันนี้ยากกว่า
หลายคนคิดว่าการให้อภัยเป็นเรื่องยาก แต่ลืมนึกไปว่าชีวิตที่อยู่ด้วยความรุ่มร้อนด้วยความพยาบาทมันยากมากกว่าทีเดียว หลายคนชอบทำสิ่งที่ยาก แล้วก็มองข้ามสิ่งที่ง่าย ทั้งๆที่สิ่งที่ง่ายมีคุณค่ากว่ากันเยอะ หลายคนมีประสบการณ์คล้ายๆใหญ่ก็คือ พอให้อภัยแล้ว มันสบาย มันเย็น แล้วก็จะพูดคล้ายกันว่า รู้อย่างนี้ทำไปนานแล้ว ไม่น่าปล่อยให้ใจเผาลนด้วยความโกรธแค้น เพราะไปคิดว่าการให้อภัยมันเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์
คนเหล่านี้ก็รู้ว่าการให้อภัยมันเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ไม่ยอมทำเพราะคิดว่ามันยาก เพราะคิดว่ามันเป็นความพ่ายแพ้ แต่ที่จริงแล้ว พอได้ทำ จะรู้เลยว่า มันเป็นสิ่งที่นำความสุขมาให้ แล้วก็เป็นสิ่งที่ควรทำไปตั้งนานแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะทำจริงๆเป็นเรื่องง่าย แต่มักไปเลือกทำที่ยาก เพราะไม่เห็นคุณค่าของการให้อภัย แต่พอได้ทำแล้วจะรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและมีความหมายมาก มันทำให้เราเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ติดอยู่กับอดีต
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 28 สิงหาคม 2564