แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คนทุกคนก็ว่าได้ ย่อมมีความรู้สึก หรือความปรารถนาว่า ฉันไม่อยากเป็นทุกข์เลย แต่สิ่งที่มันย้อนแย้งในขณะที่มีความคิดว่าฉันไม่อยากเป็นทุกข์ ตัวฉันนี่แหละที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ หรือว่าเพราะว่ามีตัวฉัน ความรู้สึกเป็นทุกข์จึงเกิดขึ้น ทุกข์ที่ว่านี้หมายถึงทุกข์ใจ
ความทุกข์ใจ อย่างที่เราได้เรียนรู้มา มันก็มีสาเหตุหรือสมุทัยอยู่ที่ตัณหา ความอยาก มีความอยากที่อยากมีอยากเป็น มันก็วนอยู่รอบสิ่งที่เรียกว่าตัวกู หรือว่าอัตตา กูอยากมีเยอะๆ หรือว่ากูอยากเป็นใหญ่ อยากเป็นที่นับหน้าถือตา อยากมีชื่อเสียง มันมีตัวกู เป็นกูอยากมีอยากเป็น แล้วมันไม่ใช่แค่ตัณหา ยังมีตัวมานะมาผสมโรงด้วย
มานะไม่ใช่ความขยัน มานะหมายถึงความหลงตัว คือ นอกจากอยากมีแล้ว อยากรวยแล้ว มันยังอยากมีมากกว่าคนอื่น อยากรวยกว่าคนอื่น อยากเป็นใหญ่ไม่พอต้องเป็นใหญ่เหนือคนอื่นด้วย อยากเป็นคนดังเท่านั้นไม่พอต้องดังกว่าคนอื่นด้วย อันนี้เรียกว่ามานะ เพราะว่ามานะทำให้เกิดความรู้สึกอยากเด่นอยากดังอยากมีมากกว่าคนอื่น อยากรวยมากกว่าคนอื่น ซึ่งเราจะเรียกว่าอัตตาก็ได้ มันเป็นตัวที่ทำให้เกิดอัตตา เกิดความอยากใหญ่ขึ้นมา
ลองสังเกตดู คนเราแค่รวยอย่างเดียวไม่พอ มันต้องรวยกว่าคนอื่น แม้จะรวยเป็นร้อยล้านก็ไม่มีความสุขถ้าหากว่ามีคนอื่นที่รวยกว่า หลายร้อยล้านหรือพันล้าน ต่อเมื่อรวยกว่าคนอื่น จึงจะรู้สึกว่าสมอยาก เป็นใหญ่ก็เหมือนกัน เป็นใหญ่ไม่พอ ต้องใหญ่กว่าคนอื่น ถ้ามีคนอื่นใหญ่กว่า ยังไม่มีความสุข แม้แต่เป็นคนดี ต้องดีกว่าคนอื่น ถ้าคนอื่นดีกว่า ก็เกิดความไม่พอใจ เกิดความอิจฉา อันนี้ไม่ใช่เพราะตัณหาอย่างเดียว เพราะมีมานะด้วย
มันทำให้ตัวกูหรืออัตตาปรารถนาที่จะมีมากๆแล้วก็มีมากกว่าคนอื่น โดดเด่นเหนือกว่าคนอื่น และเพราะตัวกูหรืออัตตาแบบนี้จึงทำให้เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา เพราะว่ามันเป็นที่ตั้งแห่งความอยาก อยากมีอยากเป็น แล้วก็หนุนเสริมความอยากมีอยากเป็นให้มันสุดๆ ซึ่งมันก็ไม่เคยสุดสักที พอไม่ได้สมอยากก็ทุกข์ แม้สมอยากสักพักก็เบื่อ ไม่พอใจอยากได้อีก ไม่มีวันสิ้นสุด อันนี้เป็นเพราะว่าอำนาจของตัวกูหรืออัตตาที่เป็นเหตุแห่งความทุกข์
ความทุกข์ประจําสังขารนี้ก็เป็นเรื่องที่หนีไม่พ้นอยู่แล้ว ความเจ็บความป่วย ความปวดความเมื่อย ความหิว ความแก่ แต่ถ้าไม่มีตัวอัตตาหรือตัวกูมาครองใจ มันก็ไม่ทุกข์ใจเท่าไร เพราะมันไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่า กูเจ็บ กูปวด กูเมื่อย กูแก่ ความแก่ความปวดก็เป็นเรื่องของรูปไป แต่พอมีตัวกูขึ้นมา มันก็ไม่ได้มีแต่ความทุกข์ มันมีผู้ทุกข์เกิดขึ้นด้วย
เพราะฉะนั้น ตัวกู จะว่าไปเป็นรากเหง้าแห่งความทุกข์ใจทั้งมวลเลย และยิ่งปล่อยให้ตัวกูเรียกว่ากำเริบเสิบสานหรือว่าพองโตมากเท่าไหร่ ทุกข์ก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่ถ้าหากว่าตัวกูเล็กลง อัตตาเบาบางลง ความทุกข์ก็พลอยลดลงไปด้วย อันนี้คือสิ่งที่เราควรจะมองให้เห็น แล้วก็ตามให้ทัน
มีผู้ชายคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า คราวหนึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้วได้ไปเที่ยวประเทศจีน ตอนนั้นไปแถวมณฑลกุ้ยโจวมีทัศนียภาพสวยงามมาก แต่เขาไม่ได้มีความสุขในการไปเที่ยวครั้งนั้นเลย เหมือนซังกะตายเพราะในใจมีแต่เรื่องกลุ้มอกกลุ้มใจ มีความขุ่นเคืองหลายอย่างติดค้างมาจากเมืองไทย ก็คงเกี่ยวกับเรื่องงานการ ครอบครัว ความสัมพันธ์ ไปที่สวยๆงามๆ แต่ใจไม่ได้ซึมซับรับรู้ถึงความสวยงามของวิวทิวทัศน์เลย
เย็นวันหนึ่งได้ไปแถวเขาหมื่นลี้ซึ่งสวยมาก แต่เขาไม่มีอารมณ์เที่ยว ครุ่นคิดหลายสิ่งหลายอย่าง เขาปล่อยให้เพื่อนร่วมทริปเดินไปไกล ส่วนตัวเขาเดินรั้งท้าย ไม่ได้มองภูเขาหรือทิวทัศน์เลย เอาแต่ก้มหน้า จนมีช่วงหนึ่ง เขาหยุด แล้วก็เงยหน้าดูไปที่ภูเขาหมื่่นลูกปรากฏอยู่เบื้องหน้า ในช่วงเวลานั้นโจเขาเหมือนหยุดนิ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเงียบสงบ แล้วก็ไม่รับรู้อะไรเลยว่ามีใครอยู่รอบข้าง
ตอนนั้นมันสงบมาก แล้วก็คงจะนิ่งอยู่ตรงนั้นนาน สักพักไกด์ก็มาตบไหล่ ถามเขาว่าเป็นอะไรเพราะเห็นยืนนิ่งอยู่นาน เขาเล่าว่าตอนที่ขึ้นรถบัสจะกลับที่พัก จิตใจไม่เหมือนเดิมเลย มันสงบ มันเย็น มันเบา รู้สึกว่าไม่ใช่เป็นคนเดิมอีกต่อไป แล้วจู่ๆก็มีคำตอบขึ้นมาในใจว่าที่เราทุกข์มากเพราะไปคิดว่าเรายิ่งใหญ่ แต่เมื่อได้อยู่เบื้องหน้าขุนเขา จึงได้รู้ว่าตัวเราเล็กมาก ยิ่งรู้สึกว่าตัวเราเล็กมากเท่าไหร่ ความทุกข์ก็เล็กลงตามไปด้วย
แล้วถ้าหากว่ามันไม่มีความรู้สึกตัวเราอยู่เลย ความทุกข์ก็คงจะหมดไป เพราะตอนนั้นความทุกข์ทั้งมวลหายไปจากใจ ก็คงพบคำตอบว่าที่จริงตัวเรามันเล็ก หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ตัวกูมันเบาบาง ธรรมชาติเบื้องหน้ามันทำให้เขาได้เห็นว่าจริงๆแล้วตัวเรามันก็เล็กนิดเดียว แต่ไปหลงว่าตัวเรามันใหญ่ มันก็เลยทุกข์มากเหลือเกิน คล้ายกับธรรมชาติหรือขุนเขา สอนให้เขาให้เห็นว่า แท้จริงตัวกูนั้นมันเล็กนิดเดียว
พอเห็นความจริงตรงนี้เข้า ความทุกข์ก็ลดลงไปเยอะเลย เขาบอกว่านับตั้งแต่นั้นมาเขาก็กลายเป็นคนที่อารมณ์เย็น แต่ก่อนเป็นคนอารมณ์ร้าย ตอนหลังอารมณ์เย็นแล้วก็หันมาสนใจธรรมะ สนใจการฝึกจิตมากขึ้น เพราะได้เห็นได้รู้ว่า ที่ทุกข์มากเป็นเพราะการปล่อยให้ตัวกูเติบใหญ่ หรือสำคัญมั่นหมายว่าตัวกูใหญ่เหลือเกิน ถ้าทำให้ตัวกูเล็กลงมากเท่าไหร่ ความทุกข์ก็ลดลงตามไปด้วย
อันนี้ก็เป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจ ที่ทำให้คนๆหนึ่งได้ประจักษ์ว่า ความทุกข์ของคนเรามันจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของอัตตา หรือความยึดมั่นถือมั่นในตัวกู ถ้ายึดมั่นถือมั่นในตัวกูหรือปล่อยให้อัตตาเติบใหญ่ มันก็ทุกข์มากเท่านั้น ถ้าอยากให้ทุกข์น้อยลงก็ต้องหาทางทำให้ตัวกูมันเบาบาง หรืออัตตามันเล็กลง มันก็มีวิธีการต่างๆมากมายที่จะช่วยทำให้ตัวกูมันเล็กลง หรืออัตตาเบาบางลงได้
นอกจากการลดละความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวให้น้อยลง หรือไม่เอาตัวเองเป็นใหญ่ ไม่เอาความต้องการของตัวเองเป็นใหญ่ รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ด้วยการให้ทาน แล้วก็ต้องรู้จักยับยั้งชั่งใจไม่ทำตามอำนาจกิเลสซึ่งจริงๆก็คือแรงผลักดันตัวกูที่สำคัญ เพราะถ้าเราปล่อยใจไปตามอำนาจกิเลสหรือปล่อยใจไปตามอำนาจของตัวกู ไม่ว่าจะเป็นโลภ โกรธ หลง มันก็จะกำเริบเสิบสานมากขึ้น หรือมีอำนาจเหนือจิตเหนือใจของเรามากขึ้น สามารถครองจิตครองใจ
แล้วก็ปั่นให้เกิดความอยากสารพัด จนเกิดความทุกข์ตามมา การทำอะไรก็ตามที่สวนทางกับความปรารถนาตัวกู มันก็ช่วยทำให้ตัวกูเบาบางลงได้ ถือเป็นการช่วยทำให้ตัวกูมันเซื่องลง ตัวกู มันอยากอวดว่าฉันเก่ง อยากอวดมั่งอวดมี อยากอวดความดี อันนี้เป็นนิสัยของมัน ถ้าปล่อยใจทำตามมัน มันก็จะมีอิทธิพลเหนือจิตใจเรามากขึ้น
มีอาจารย์คนหนึ่งเดินธุดงค์กับลูกศิษย์ อาจารย์คนนี้ลูกศิษย์นับถือมาก มีช่วงหนึ่งขณะที่เดินเข้าไปในป่าลึก ปรากฏว่ามีช้างตกมันวิ่งเข้าหา ทั้งอาจารย์และลูกศิษย์วิ่งหนีกันไปคนละทิศคนละทาง ทุกคนรอดปลอดภัย ลูกศิษย์คนหนึ่งมีความสงสัยค้างคาใจว่า ทำไมอาจารย์ถึงหนีช้างอย่างนั้น ก็เก็บความสงสัยนี้ไว้หลายปี
จนกระทั่งวันหนึ่ง อาจารย์ป่วยหนัก ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่อีกนานเท่าไหร่ ลูกศิษย์คนนี้ถือโอกาสขณะมาเยี่ยม ได้สอบถามเรื่องที่ติดค้างใจมานานว่า วันนั้นอาจารย์ตกใจช้างป่าหรือ อาจารย์บอกว่าเปล่า ฉันไม่ได้ตกใจ แล้วทำไมอาจารย์ถึงวิ่งหนีช้างล่ะ อาจารย์ตอบก็เพราะว่าการวิ่งหนีช้างป่ายังดีกว่าอยู่กับความลำพองใจเป็นไหนๆ
อาจารย์ไม่กลัวช้างและไม่ได้ตกใจถึงขนาดจะต้องวิ่งหนีหัวซุกหัวซุน แต่รู้ว่าถ้าหากว่าอยู่ตรงนั้น ก็จะเปิดช่องให้ตัวกูขึ้นมาครอบงำใจว่า กูเก่ง กูแน่ กูตั้งมั่นไม่หวั่นเกรงช้างป่า อาจารย์รู้เลยว่าถ้าขืนแสดงความกล้า ไม่กลัวช้าง ตัวอัตตาจะได้ช่องมาครองใจเลยว่า กูเก่ง กูแน่ หรือเกิดความลำพองใจขึ้นมา ซึ่งตรงนี้สำหรับอาจารย์มองว่านี่เป็นอันตราย น่ากลัวกว่า อาจารย์ไม่อยากให้ตัวอัตตายกหูชูหาง ก็เลยวิ่งหนีช้างดีกว่า
อาจารย์ก็รู้ว่าการวิ่งหนีแบบนี้แล้วจะทำให้ภาพลักษณ์ของอาจารย์ในสายตาของลูกศิษย์ไม่ดี เพราะรู้สึกสงสัยว่าอาจารย์สอนให้มีสติตั้งมั่น สอนให้คนมีสติแต่ทำไมวิ่งหนีช้างอย่างนั้น แต่การที่ภาพลักษณ์ของอาจารย์ไม่ดีในสายตาของลูกศิษย์ ก็เป็นสิ่งที่อัตตาไม่ชอบ อาจารย์ก็เลยทำ อะไรที่ทรมานอัตตาอาจารย์ทำทันที
เพราะถ้าหากลูกศิษย์ชื่นชมอาจารย์ มันจะเกิดความลำพองใจมากขึ้น ฉะนั้น การที่ลูกศิษย์ไม่ชื่นชมเพราะอาจารย์วิ่งหนี ก็ดีแล้ว อัตตาจะได้ไม่มีโอกาสมาครอบงำจิตหรือว่ายกหูชูหางว่า กูแน่ กูเก่ง อันนี้เป็นวิธีการของอาจารย์ในการจัดการหรือรับมือกับอัตตา ตัวกู คือไม่เปิดช่องให้มันเข้ามายกหูชูหางได้ คนธรรมดาก็มักอยากจะอวดว่า ตัวเองเก่ง แน่ ฉลาด ดี อันนี้เป็นอุบาย เป็นช่องให้กิเลส อัตตาเข้ามาครอบงำได้
ลองสังเกตดู เวลาเราทำอะไรดีๆขึ้นมาหรือประสบความสำเร็จ มันก็อยากจะอวด อวดให้คนรู้ เพื่อจะได้ชมเพื่อจะได้สรรเสริญ อันนี้คือสิ่งที่อัตตาปรารถนา และถ้าเกิดว่าทำตามมัน มันก็เข้ามาครองจิตครองใจเราได้มากขึ้น เมื่อเรารู้ว่าอัตตาเป็นโทษ ถ้าปรารถนาจะลดละอัตตา ก็ไม่พยายามที่จะอวด มีดีก็ไม่อวดประสบความสำเร็จก็ไม่แสดงตัว เพราะนั่นคือการเปิดช่องให้เกิดความลำพองใจเกิดขึ้น
อาจารย์รู้ดีว่า หนีช้างง่ายกว่าการลำพองใจ เพราะถ้าลำพองใจแล้ว มันยาก มันทุกข์ สู้หนีดีกว่า มันจะได้ไม่มีกูเก่ง กูแน่ ลูกศิษย์จะมองอย่างไรก็เป็นเรื่องของลูกศิษย์ และถ้ายิ่งมองไปในทางลบ ก็เท่ากับเป็นการทรมานอัตตาภายในตัว ซึ่งก็เป็นปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ที่ช่วยทำให้อัตตาเบาบางลง
สำหรับพวกเราที่เป็นนักปฏิบัติธรรมใส่ใจที่จะใช้ชีวิตให้เจริญงอกงามพบกับความสงบ มันก็ต้องรู้ต้องตระหนักว่านี้คือการบ้านชิ้นใหญ่ชิ้นหนึ่ง ในการที่จะทำให้อัตตา ตัวตนมันเบาบาง แม้จะยังไม่สามารถลดจนหมดอัตตา หรือหมดความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาได้ แต่ในขณะที่มันยังอยู่ ก็อย่าปล่อยให้มันมาครองใจ
มันมีวิธีการอย่างโลกๆหรืออย่างธรรมดาๆ ที่จะช่วยทำให้อัตตาเบาบางลงได้ เช่น เวลาเราทำอะไรก็ตามถ้าเราเอางานเป็นใหญ่ อัตตาก็จะเป็นรอง บางทีเขาเอางานเป็นใหญ่ นอกจากเขายอมเหนื่อยยอมลำบากเพื่อให้งานดี เวลามีใครวิจารณ์หรือมีใครมาแนะนำ เขาจะไม่โกรธเพราะเขาเห็นว่ามันช่วยทำให้งานดีขึ้นแต่ถ้าเอาอัตตาเป็นใหญ่ จะรู้สึกโกรธ จะรู้สึกเสียหน้า
ยิ่งมีความหวงมีความคิดว่า นี่งานของกู ๆ ใครมาแนะนำอะไร แม้จะดีอย่างไรก็ไม่สนใจ ปฏิเสธ เพราะว่าเอาอัตตาเป็นใหญ่ แต่พอเอางานการเป็นใหญ่ มันจะน้อมรับหรือรับฟังคำแนะนำ ถ้าเห็นว่ามันช่วยทำให้ทำงานได้ดีขึ้น แม้แต่จะเป็นคำวิจารณ์ จะไม่โกรธ เพราะว่าที่เขาวิจารณ์นั้นมันถูกมันดี มันช่วยให้งานเราดีขึ้น คนที่เอางานเป็นใหญ่ อย่างเช่น พวกนักวิชาการเอาความรู้เป็นใหญ่ อัตตาก็จะเบาบาง
มีศาสตราจารย์คนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษมีชื่อมากในเรื่องของชีววิทยา เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ 60 ปีที่แล้วตอนนั้นมีคนเสนอว่าในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตมีส่วนประกอบชนิดหนึ่งเรียกว่า โกลไกแอพพาราตัสหรือ GI แต่อาจารย์ท่านนี้ ทั้งสอน ทั้งยืนกรานว่าไม่มี เป็นแค่ทฤษฎี มันไม่ใช่ความจริง ก็พูดอย่างนี้มาเป็นสิบปี
แล้ววันหนึ่งมีนักวิชาการหนุ่มจากอเมริกา มาบรรยาย อาจารย์ท่านนี้ก็ไปนั่งฟังด้วย เพราะการบรรยายนั้นเกิดขึ้นในคณะของตัว อาจารย์หนุ่มก็เอาข้อมูลและภาพจากกล้องจุลทรรศน์ที่เขาพัฒนาขึ้นจนให้รายละเอียด เขาก็พบว่าเซลล์นี้มี GI จริง เป็นการนำเสนอที่หนักแน่นมาก เป็นการหักล้างทฤษฎีของศาสตราจารย์อังกฤษ แทนที่ท่านนั้นจะโกรธ กลับไม่รู้สึกเลย
พอนักวิชาการชาวอเมริกันบรรยายเสร็จ อาจารย์ชาวอังกฤษไปที่เวทีเลย ไม่ได้ไปซักค้าน แต่ว่าไปจับมือ แล้วก็บอกว่า ขอบคุณมากเลยที่ทำให้ผมเห็นพบความผิดพลาดมา 15 ปี ธรรมดาของคนเราถ้ามีใครมาหักล้างทฤษฎีที่ตัวเองเชื่อหรือสอนมาเป็นสิบปีย่อมรู้สึกเสียหน้า แถมเกิดขึ้นในคณะหรือมหาวิทยาลัยของตัว ลูกศิษย์ลูกหาเยอะแยะ
ศาสตราจารย์ท่านนี้ไม่มีความโกรธ กลับมีความชื่นชมเพราะอะไร เพราะเอาความรู้เป็นใหญ่ เกิดความดีใจที่ได้ความรู้เพิ่มเติม ถึงแม้ว่ามันจะสวนทางกับความเชื่อที่ตัวเองมี หรือถึงแม้จะชี้ว่า ที่ฉันสอนมาผิด ก็ไม่รู้สึกเสียหน้า เพราะเอาความรู้เป็นใหญ่ไม่ใช่เอาอัตตาเป็นใหญ่
คนเราพอเอาความรู้เป็นใหญ่ อัตตาหรือหน้าตาก็เป็นรอง อาจารย์ท่านนั้นไม่ได้เป็นนักปฏิบัติธรรม ก็เป็นคนโลกๆ แต่ว่าเนื่องจากเห็นความรู้ทางวิชาการเป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้น เมื่อได้ความรู้ใหม่ แม้มันจะหักล้างความคิดของตัวที่มีมาแต่ดั้งเดิม ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี คนเราถ้าเอางานเป็นใหญ่ มันจะลดอัตตาไปได้เยอะ
เวลามีเพื่อนร่วมงานที่เก่งกว่ามาร่วมงานด้วย ก็ไม่รู้สึกอิจฉา กลับรู้สึกยินดี เพราะว่าเขามาช่วยทำให้งานดีขึ้น หรือถือเอาส่วนรวมเป็นที่ตั้ง มีคนเก่งกว่ามาร่วมงานก็ถือว่าเป็นเรื่องดี ไม่ได้รู้สึกอิจฉาเลย เพราะว่ามาช่วยกันทำให้งานของส่วนรวมดี เวลามีเรื่องกระทบกระทั่งกัน ก็ไม่ปล่อยให้ลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งหรือการทะเลาะวิวาท เพราะกลัวว่างานจะเสียหรือส่วนรวมได้รับผลกระทบ
อันนี้ก็เป็นวิธีการที่ช่วยลดอัตตา ถ้าคนเราเอาส่วนรวมเป็นใหญ่ หรือทางพระเอาสงฆ์เป็นใหญ่ ก็คือเอางานเป็นใหญ่ อัตตาเป็นรอง มันก็ช่วยทำให้อัตตาไม่สามารถที่จะมาครองใจได้มาก มันมีแต่จะทำให้เราควบคุมความรู้สึกส่วนตัวเอาไว้ถ้าเห็นว่ามันเป็นผลเสียต่องานหรือผลเสียต่อส่วนรวม นี้ก็เป็นวิธีการที่ลดละหรือบรรเทาอัตตาอย่างโลกๆซึ่งก็เป็นธรรมะอย่างหนึ่ง
แต่ที่จริงก็เป็นธรรมะอย่างหนึ่ง เพียงแต่ว่ามันไม่ใช่เป็นการปฏิบัติธรรมในรูปแบบเท่านั้น แต่แน่นอนว่า ถ้าหากเรารู้จักเจริญสติสติ สติที่เราเจริญนี่แหละจะช่วยทำให้เราได้เห็นรู้ทันกิเลสของตัว แล้วก็รู้ทันอุบายของอัตตา มานะได้ ยิ่งมีสติมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งปิดโอกาสที่อัตตาจะมาครองใจเรา อัตตายังมีอยู่ แต่ว่ามันจะมีอิทธิพลเหนือจิตใจเราน้อยลง แล้วตัวมันก็จะลีบเล็กลงไปเรื่อยๆ
เวลาจะทำอะไร ถ้ามีความรู้สึกอยากจะอวด ก็มีสติเห็นความรู้สึกนั้น ที่อยากจะโชว์อยากจะอวด ก็เห็นกิเลสอัตตาที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลัง ก็ไม่ปล่อยให้ทำตามอำนาจของมัน และแน่นอนถ้าหากว่าเราเจริญสติปัฏฐานจนกระทั่งเห็นว่าจริงๆแล้วมันไม่มีตัวกูเลย ทั้งเนื้อทั้งตัวมันก็มีแต่รูปกับนาม
ที่เคยคิดว่ามันมีกูทำโน่นคิดนี่ แต่ที่จริงแล้ว ที่เดินมันเป็นรูป ที่เห็นมันเป็นนาม ไม่มีตัวกูอยู่เลยแม้แต่น้อย มันก็ช่วยถอนใจออกจากความยึดมั่นในตัวกูได้ทีละนิดๆ ยิ่งถ้าปฏิบัติธรรมจนกระทั่งเห็นเลยว่า กายและใจ รูปและนาม มันไม่มีเราไม่มีของเราเลย คือเห็นถึงความเป็นอนัตตาของรูปและนาม มันก็จะถอนออกมาจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูได้ ตัวกูก็จะไม่มีที่ตั้ง
แต่ในขณะที่ยังทำไปไม่ถึงตรงนั้นได้ อย่างน้อยถ้าเราพยายามปิดช่องไม่ให้ตัวกู อัตตาเข้ามาครองใจเอางานเป็นใหญ่ เอาส่วนรวมเป็นใหญ่ หรือว่าเอาความถูกต้องเป็นใหญ่ ไม่ได้เอาความถูกใจเป็นใหญ่ ถ้าเอาความถูกต้องเป็นใหญ่เมื่อไหร่ มันก็จะปิดโอกาสที่จะเอาความถูกใจมาเป็นใหญ่ ความถูกใจก็กลายเป็นรอง
ความถูกใจส่วนใหญ่ก็เป็นการสนองอัตตาตัวตนนั้นแหล่ะ แต่พอเราเอาความถูกต้องเป็นใหญ่ มันก็จะปิดช่องตัวกูไม่ให้ตัวกูมาผลักดันให้สนองความถูกใจ อันนี้เป็นการบ้านที่ต้องทำไปเรื่อยๆ แล้วถ้าความยึดมั่นในตัวกูน้อยลง ความทุกข์ก็จะเบาบางลงไปด้วย อันนี้เป็นสิ่งที่ประจักษ์ได้ด้วยการกระทำของตัวเอง
- พระไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 27 สิงหาคม 2564