แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อวานได้เล่าถึงพี่น้อง 2 คนที่แย่งจะเอาส้มซึ่งมีอยู่ลูกเดียว แม่ก็ต้องเป็นผู้ไกล่เกลี่ย แต่แทนที่แม่จะใช้วิธีแบ่งครึ่งหาร 2 แม่ก็ถามลูกก่อน ว่าอยากได้ส้มเพราะอะไร ทำไมถึงอยากได้ ก็ได้คำตอบ ว่าคนหนึ่งอยากกินเนื้อบอกว่าก็อร่อย ส่วนอีกคนหนึ่งบอกว่าอยากได้เปลือกส้มเอาไปทำโครงงานวิทยาศาสตร์ พอรู้เช่นนี้มันก็ง่าย
ส่วนอีกกรณีหนึ่ง พ่อให้ลูกกลับไปที่ห้องของลูกอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบ แต่มาได้ยินเสียงเพลงเสียงดนตรีจากห้องลูก พ่อแปลกใจว่าทำไมลูกมัวแต่ฟังเพลง แต่ก่อนที่จะว่าลูก ก็ถามลูกก่อนว่า เปิดเพลงทำไม ก็เลยได้คำตอบว่า ข้างบ้านส่งเสียงดังโหวกเหวกเอ็ดตะโร อ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง ก็เลยต้องเปิดเพลงกลบเสียงเหล่านั้น เปิดเพลงแล้ว พอจะอ่านหนังสือได้รู้เรื่อง พ่อเข้าใจ พ่อก็เลยไม่ดุว่าลูก
ทั้งสองกรณีที่เหมือนกันก็คือว่า ผู้เป็นพ่อ ผู้เป็นแม่ ก่อนที่จะทำอะไรหรือพูดอะไรลงไป ถามเสียก่อน ถามว่าลูกทำไมถึงอยากได้ส้ม หรือว่าทำไมลูกถึงเปิดเพลงเสียงดัง เพราะถามแล้วก็ได้คำตอบ พอได้คำตอบก็รู้ว่าควรจะทำอย่างไร ปัญหาก็ไม่เกิด
ที่จริงนอกจากการถามผู้อื่นแล้ว สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ ถามตัวเองด้วย ถามตัวเองว่าทำไมทำอย่างนั้นเพราะถ้าเราไม่ถามตัวเอง บางครั้งเราก็ทำตามความเคยชิน แล้วก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้นมาเมื่อมันไม่เป็นไปตามอย่างที่เราคุ้นเคย
อย่างเช่น ครอบครัวหนึ่ง พ่อแม่ลูกนัดกันไปเขาใหญ่ พ่อก็บอกลูกว่าให้ตื่นแต่เช้ารถจะออกโมง 6.00 น. แต่ถึงเวลาลูกก็ยังงัวเงีย เพราะว่านอนดึก ตื่นสาย ทำให้ไม่สามารถที่จะออกตามเวลาที่กำหนดได้ กว่ารถจะออกได้ก็ 06.10 น. 6.15 น. เสียเวลาไป 10 นาที 15 นาที พ่อโมโหมากเพราะพ่อเป็นคนตรงเวลา เวลาไปทำงานไม่เคยไปสาย เวลานัดกับใคร ไม่เคยผิดนัด แต่พอลูกเป็นเหตุให้เดินทางล่าช้ากว่ากำหนด พ่อก็เลยเกิดความไม่พอใจ
แต่ก่อนที่พ่อจะต่อว่าลูก น่าจะถามตัวเองสักหน่อยว่า ทำไมต้องตรงเวลาด้วย กับการไปเที่ยว เราไปเที่ยว ไปเพื่อพักผ่อนเพื่อผ่อนคลาย ไปแบบสบายๆ เพราะฉะนั้นถ้าจะไปช้าสักหน่อย 10-15 นาที หรือครึ่งชั่วโมงหรือ 1 ชั่วโมงก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะไปเที่ยว ไม่เหมือนกับตรงต่อเวลากับการทำงาน เพราะว่าถ้าไม่ตรงต่อเวลา จะเสียหายกับการกับงาน การทำงานมันต้องเกี่ยวข้องกับผู้อื่น คนอื่นเขาตรงเวลา เราไม่ตรงเวลา มันก็เดือดร้อนคนอื่นเขา
เพราะฉะนั้น การตรงเวลา ในขณะที่ทำงานก็เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ว่าการไปเที่ยว ไม่จำเป็นต้องตรงเป๊ะขนาดนั้น เพราะว่าไปพักผ่อน ถ้าพ่อถามตัวเองสักหน่อยว่า ทำไมเราต้องตรงเวลาขนาดนั้นด้วย ในเมื่อเรากับครอบครัวกำลังจะไปเที่ยว ถ้าถามแบบนี้ก็ไม่เป็นเหตุให้ฉุนเฉียว ไม่มีความจำเป็น แต่ว่าส่วนใหญ่ไม่ค่อยถามตัวเอง พอตนเองตรงแล้ว คนอื่นก็ต้องตรงด้วย แม้ว่าสิ่งที่จะทำต่อไปคือการนั่งรถไปเที่ยว
มีผู้ชายคนหนึ่ง เมื่อสัก 20-30 ปีก่อน ทุกค่ำเวลาสองทุ่มหรือ 20.00 น. แกต้องฟังวิทยุคลื่นสั้น BBC สมัยนั้นมีคลื่นสั้น เวลาของรายการวิทยุ BBC จะตรงเวลามาก เวลากินข้าว ก็จะกินก่อนเวลาสองทุ่ม ก็จะกำหนดตัวเองว่ากินเวลาก่อนทุ่มครึ่ง กินเสร็จก็จะได้ฟังวิทยุ ตอนหลังมีครอบครัว ภรรยามาช่วยทำอาหารให้ ก็ให้ภรรยาทำอาหารก่อนทุ่มครึ่ง เพื่อตัวเองได้ฟังทันรายการวิทยุ BBC
บางวันถ้าทำอาหารเลยทุ่มครึ่ง สามีก็โกรธ โกรธเพราะไม่ทันฟังข่าววิทยุได้ทันเวลา แต่ส่วนใหญ่ได้กินอาหารตรงเวลาเสมอ พอลูกสาวโตขึ้นก็ช่วยทำอาหารให้ เวลาผ่านไป ปรากฏว่าสถานีวิทยุ BBC ปิดสถานี เพราะผู้คนไม่ฟังคลื่นสั้นแล้ว เปลี่ยนไปดูข่าวทางอินเทอร์เน็ต ทางเวปไซด์แล้ว แต่ผู้ชายคนนี้ก็ยังคงกินอาหารก่อนทุ่มครึ่งเสมอ
มีวันหนึ่งลูกสาวทำอาหารช้า ต้องกินหลังทุ่มครึ่งคือ 19.45 น. ผู้เป็นพ่อโกรธ โกรธเพราะว่าทำให้เสียเวลาในการกินอาหาร กว่าจะกินเสร็จก็เลยสองทุ่มไปแล้ว ก็ผิดเวลา จึงโมโหลูกสาว แต่ถ้าลองถามตัวเองว่าโมโหทำไม ที่ให้ทำอาหารก่อนทุ่มครึ่ง จะได้ฟังข่าวจากสถานีวิทยุคลื่นสั้น แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้น กว่าจะกินอาหารเสร็จเลยเวลาสองทุ่มไปแล้ว ก็ไม่ได้เสียหายอะไร
แต่เนื่องจากทำจนเป็นนิสัยจนเคยชิน พอวันไหนได้กินอาหารเลยเวลาหลังทุ่มครึ่งก็จะไม่พอใจ เพราะไม่ได้ถามตัวเองว่าที่ให้ทำอาหารให้กินทุ่มครึ่งเพราะอะไร แต่ถ้าถามตัวเองแล้วก็จะรู้ว่า มันจะกินอาหารเสร็จเลยสองทุ่ม เช่น 20.15 น มันก็ไม่ได้เสียหายอะไรเพราะว่าไม่มีสถานีวิทยุให้เปิดรับฟังได้แล้ว
คนเรา บางครั้งพอทำตามความเคยชินแล้ว ก็จะไปยึดติดถือมั่น จนลืมวัตถุประสงค์หรือเหตุผลของการทำอย่างนั้น ยิ่งไม่ได้ถามตัวเองด้วยแล้ว ก็ยิ่งเพลินไปกับการยึดติดกับแบบแผน
มีสำนักงานสวัสดิการผู้สูงอายุแห่งหนึ่ง ผู้สูงอายุหรือผู้เกษียณ จะต้องมายื่นเรื่องขอรับเงินบำนาญทุกเดือน ยื่นเรื่องเสร็จ พอถึงเวลาเขาก็เรียกมารับเงิน คนที่มารับเงินก็ต้องมีหลักฐานที่แสดงตัวตน เช่น บัตรประชาชน มีเอกสาร มีบัตรที่แสดงตนว่าเป็นคนเดียวกับที่ยื่นเรื่อง แล้วก็มีหญิงชราคนหนึ่งมาทำเรื่องเป็นปกติ ถึงเวลา เจ้าหน้าที่ก็เรียกชื่อมารับเงิน พอมาถึงเคาน์เตอร์ เจ้าหน้าที่ก็บอกให้หญิงชราคนนี้ยื่นบัตรประชาชน และแสดงตนตามระเบียบ
หญิงชราก็เลยพูดว่า นี่ฉัน เป็นแม่เธอนะ ทำไมฉันต้องยื่นบัตรประชาชนให้เธอด้วย เจ้าหน้าที่คนนั้นก็รู้ว่าเป็นแม่ แต่ว่าก็ยังยืนกรานจะให้หญิงชราผู้เป็นแม่ยื่นบัตรประชาชนให้ เพราะเป็นระเบียบ แต่ลืมถามไปว่าระเบียบมีไว้เพื่ออะไร มีไว้เพื่อยืนยันว่าผู้รับเงินกับผู้ยื่นเรื่องเป็นคนเดียวกัน เมื่อรู้จักว่าเป็นแม่ของตัวแล้ว ก็รู้แน่แล้วว่า เป็นคนเดียวกับคนที่ยื่นเรื่องแน่ ไม่มีทางผิดตัวไปได้ แต่ก็ยังคงยืนกราน
อันนี้เรียกว่าเป็นสีลัพพตปรามาสอย่างหนึ่ง ยึดติดในกฎระเบียบหรือยึดในแบบแผนในกิจวัตร จนลืมว่าทำไปเพื่ออะไร บางทีก็ทำให้เกิดปัญหาเหมือนกัน บางทีเราก็ต้องถามตัวเองอยู่เสมอ ว่าทำไปทำไม ถ้าเราถาม ปัญหามันก็จะไม่เกิดกับคนอื่น หรือไม่สร้างความทุกข์ให้กับเขาได้
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 27 สิงหาคม 2564