แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พูดถึงการปฏิบัติธรรมหรือการภาวนา คนจำนวนน้อยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องยุ่งยาก ซับซ้อน ลำบาก ที่จริงแล้วการปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะการเจริญสติ ไม่ได้เป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจเลย มันไม่ได้เรียกร้องอะไรมากด้วย
ไม่เหมือนการออกกำลังกายอย่างเช่น วิ่ง จะทำอย่างนั้นได้ ต้องมีสถานที่ มีรองเท้าที่เหมาะสำหรับการวิ่งรวมทั้งมีเวลาด้วย หลายคนพอต้องเก็บตัวอยู่ในบ้านที่เคยวิ่งก็วิ่งไม่ได้แล้ว เพราะมันไม่มีที่ไม่มีทางให้วิ่ง การออกกำลังกายอย่างอื่นเช่น ขี่จักรยาน ยิ่งต้องอาศัยสถานที่ ต้องมีรถจักรยานแล้ว ยังต้องมีอุปกรณ์หลายอย่าง มีเสื้อ หมวก
และเดี๋ยวนี้จะวิ่งหรือขี่จักรยานก็ตาม ก็ต้องมีนาฬิกาสุขภาพ เพื่อใช้วัดระยะทางและการเต้นของหัวใจ มันต้องอาศัยอุปกรณ์หลายอย่างรวมทั้งต้องมีเวลาด้วย แต่การภาวนาหรือการเจริญสติ มันไม่ได้เรียกร้องสถานที่พิเศษอะไรเลย อยู่ที่ไหนก็ทำได้ อยู่ที่บ้าน ที่ทำงานหรืออยู่บนรถก็ทำได้ และไม่ได้ใช้เวลามากเพราะว่าถ้ามีเวลาอาบน้ำ ถูฟัน กินข้าว เก็บที่นอน หรือทำครัว มันก็แสดงว่ามีเวลาสำหรับการเจริญสติ
ไม่มีเวลามาวัดก็ไม่เป็นไร อยู่ที่บ้านก็เจริญสติได้ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรมากเลย ไม่จำเป็นต้องมีชุดขาวห่มขาว ไม่จำเป็นต้องมีเบาะนั่งอย่างดี ไม่มีนาฬิกาก็เจริญสติได้ มันเป็นการกระทำที่ไม่ได้เรียกร้องอะไรมากจากผู้ปฏิบัติเลย ขอให้มีเพียงแต่ความตั้งใจและรู้วิธีการปฏิบัติ เข้าใจจุดมุ่งหมาย และเมื่อลงมือปฏิบัติแล้วมันก็ไม่จำเป็นต้องเคี่ยวเข็ญตัวเอง ไม่จำเป็นต้องผลักดันตัวเองด้วยอาการหน้าดำคร่ำเคร่ง
ไม่เหมือนเรียนหนังสือ บางทีบางช่วงต้องเคี่ยวเข็ญตัวเองมากโดยเฉพาะเวลาทำการบ้าน ทำโครงงาน หรือเตรียมสอบ แม้กระทั่งการวิ่ง การขี่จักรยาน บางช่วงก็ต้องกัดฟันเพราะเรี่ยวแรงใกล้จะหมด ต้องรวบรวมกำลังทั้งหมดเพื่อที่จะไปถึงจุดหมายหรือระยะทางที่ต้องการ
แต่การเจริญสติไม่ได้ต้องการอย่างนั้นเลย แม้จะเป็นการเจริญสติแบบที่เรียกว่าตลอดทั้งวัน อย่างการเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม อันนี้จริงอยู่ต้องมีเวลา แต่ว่าจะเป็นการเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมหรือการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน มันก็ใช้การวางใจคล้ายๆกันคือ ทำสบายๆ อย่างที่หลวงพ่อเทียนท่านใช้คำว่า ทำเล่นๆ คือทำแบบไม่ได้หวังผลอะไร
แน่นอนมันต้องมีความมุ่งหวังจึงพาคนให้ปฏิบัติ ต้องมีความมุ่งหวังบางอย่างที่คนยอมมา 3 วัน 5 วันมาปฏิบัติ ทันทีที่ลงมือปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นการเดินจงกรม ยกมือสร้างจังหวะ ดูลมหายใจ หรือการมีดูอิริยาบถในชีวิตประจำวัน มันไม่ต้องเรียกร้อง ต้องเคี่ยวเข็ญตนเองอย่างที่คนเข้าใจ แต่ทำเล่นๆมันจะฟุ้งมันจะเผลอ ก็ไม่เป็นไร
มันไม่มีการให้คะแนนหรือว่าการทำแต้มแข่งกับคนอื่น แล้วมันก็ไม่มีการวัดว่าเท่าไรจึงจะเรียกว่าทำได้ดีทำได้สำเร็จ ไม่เหมือนกับการวิ่ง การขี่จักรยาน การว่ายน้ำ มันมีการตั้งเป้าว่าวันนี้จะทำให้ได้เท่าไร ได้ระยะทางเท่าไร ถ้าได้ตามที่กำหนดถือว่าวันนี้ทำสำเร็จ แต่ว่าการเจริญสติมันไม่ได้ต้องการการวัดค่าหรือว่าวัดความสำเร็จอย่างนั้น
และมันก็ไม่มีวิธีด้วย ไม่ใช่ว่าเดินไป 1 ชั่วโมง ถ้าฟุ้ง 90% ถือว่าแย่ หรือฟุ้งแค่ 10% ถือว่าดี มันก็ไม่ใช่เพราะว่าความคิดมาก หรือที่เรียกว่าฟุ้งมาก อาจจะดีก็ได้ ถ้าหากว่ารู้ทันความคิดที่เผลอคิดทุกครั้งดีกว่าฟุ้งครั้งเดียวแต่ฟุ้งไปยาวกว่าจะรู้ทันก็ฟุ้งไปแล้วครึ่งชั่วโมง มันไม่มีเกณฑ์วัดที่จะมาชี้ชัดว่าทำได้ดีหรือก้าวหน้าแค่ไหน ที่สำคัญก็คือว่า มันเป็นการปฏิบัติที่ไม่ได้เอาความสำเร็จหรือว่าตัวเลขใดๆมาเป็นเครื่องชี้ความก้าวหน้า
ทำเล่นๆโดยไม่หวังผล มันจะฟุ้งบ้างก็ไม่เป็นไร มันจะเผลอบ้างก็กลับมาเริ่มต้นใหม่ คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ พอคิดว่าลงมือปฏิบัติแล้วจะเอาให้ได้ๆ มีการบังคับจิต มีการเพ่งเพื่อไม่ให้ใจมันฟุ้ง ไม่ให้มีความคิดเยอะ ถ้าทำแบบนั้นการปฏิบัติโดยเฉพาะการเจริญสติกลายเป็นเรื่องยาก แล้วก็กลายเป็นตัวถ่วงให้การปฏิบัติช้าไปด้วย
หลายคนเอาวิธีที่ใช้ในทางโลก ในการทำงานมาใช้กับการปฏิบัติ มาเคี่ยวเข็ญตนเอง ทำด้วยการกล้ำกลืนฝืนทน หรือว่ามีรางวัลเป็นตัวล่อ เหมือนกับคนที่ทำงาน พยายามอดหลับอดนอนแต่ก็ยอมทนเพราะว่า อาจจะมีความสำเร็จหรือรายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นตัวล่อเป็นตัวดึงให้ยอมกล้ำกลืนฝืนทนทำจนสำเร็จเสร็จสิ้น แต่วิธีนั้นนำมาใช้กับการปฏิบัติไม่ได้
เพราะขืนทำอย่างนั้นก็ยิ่งเข้ารกเข้าพง ไปคอยบังคับจิต ไปเพ่งอยู่กับกาย อยู่กับลมหายใจ อยู่กับมือเคลื่อนไหว อยู่กับเท้าที่เดิน ไปดักจ้องความคิด เพื่อที่จะได้ไปจัดการความคิด ขืนทำอย่างนั้นยิ่งเกิดอาการเพี้ยนหรือเกิดอุปสรรค บางทีก็มึนหัวแน่นหน้าอก บางทีก็ตัวแข็งไปเลย คิดว่าถ้าตั้งใจมากๆจะได้ผลดี มันกลับตรงข้าม ตั้งใจมากๆหรือพยายามมากๆ มันกลับเกิดผลเสีย
แต่ว่าถ้าตั้งใจน้อยๆ พยายามน้อยๆ หรือว่าทำเล่นๆ มันกลับเกิดผลดี การเจริญสติเพียงแต่ปล่อยให้สติทำงาน เปิดโอกาสให้สติทำงาน ทำงานในที่นี้ก็คือว่า ให้ระลึกรู้ว่า กำลังทำอะไรอยู่ในปัจจุบัน โดยทั้งรู้ทันความคิดและอารมณ์ สติมันจะรู้เองได้ ระลึกได้เอง เราเพียงแต่ปล่อยให้สติระลึกได้เองอยู่บ่อยๆ อยู่บ่อยๆ สติก็จะไวขึ้น
คำว่าระลึกได้เองบอกชัดเจนอยู่แล้วว่า ไม่ต้องไปทำอะไรกับสติ ให้สติทำงาน เวลาฟุ้ง มันก็ฟุ้งเอง เราไม่ได้ตั้งใจฟุ้ง มันฟุ้งเอง ในทำนองเดียวกัน เวลาระลึกขึ้นมาได้ มันก็ระลึกขึ้นมาเอง มันบอกไม่ได้ว่ามันจะระลึกได้เมื่อไหร่ มันไม่ได้เป็นเรื่องของความตั้งใจหรือเจตนาที่จะทำให้สติระลึกได้ แต่สติทำงานของเขาเอง ถ้าเป็นการระลึกได้ในปัจจุบัน หรือระลึกได้ว่าทำอะไรอยู่ในปัจจุบัน
ไม่เหมือนการระลึกถึงสิ่งที่เป็นเรื่องราวในอดีต อันนี้ต้องอาศัยความตั้งใจ ต้องอาศัยเจตนา อย่างเช่น ถามว่าเช้านี้เราทำอะไรบ้าง เจอใครบ้าง จะนึกได้ ต้องตั้งใจคิด ตั้งใจลำดับ จึงจะนึกได้ว่า อ๋อทำอะไรบ้าง เจอใครบ้าง แต่การระลึกได้ในปัจจุบัน หรือว่าทำอะไรในปัจจุบัน ทำอย่างนั้นไม่ได้ มันเป็นเรื่องของสติที่ทำงานเอง
คล้ายๆกับว่า เวลาเราทำอะไรจนเพลิน อยู่ดีๆเราก็ระลึกได้ขึ้นมาว่า นี่มันได้เวลาทำวัตรแล้ว หรืออีก 5 นาทีกำลังจะได้เวลาทำวัตรแล้ว หรือนึกขึ้นมาได้ว่าตั้งน้ำต้มครึ่งชั่วโมงแล้ว ป่านนี้น้ำคงแห้งไปแล้ว อันนี้นึกขึ้นมาได้เอง ถามว่าเจตนาหรือเปล่า เปล่าเลย มันนึกขึ้นมาได้เอง
การเจริญสติของเราก็คือ เปิดโอกาสให้สติมันทำงานของมันเอง คือรู้ทันความคิดเอง หรือว่าระลึกว่ากำลังทำอะไรอยู่ในปัจจุบันเอง ซึ่งจะทำอย่างนั้นได้ก็ด้วยการไม่ไปบังคับจิต แต่ว่าให้โอกาสสติเขาทำงาน
นอกจากทำเล่นๆ หรือทำสบายๆแล้ว การเจริญสติมันยังง่ายกว่าที่เราคิด มันไม่ต้องใช้ความพยายามมาก การรู้ซื่อๆ รู้ซื่อๆแปลว่าไม่ต้องไปกดข่มความคิดหรืออารมณ์ใดๆ การดูเฉยๆ มันไม่เหนื่อยเลยเหมือนกับการดูรถแล่นบนถนน หรือดูเรือที่ล่องตามแม่น้ำ ถ้าดูเฉยๆมันจะเหนื่อยอะไร แต่คนส่วนใหญ่คิดว่าต้องไปทำอะไรกับเรือที่กำลังแล่นผ่านหน้า หรือว่ารถที่กำลังวิ่งอยู่บนถนน
ต้องไปห้ามเรือ ต้องไปห้ามรถ หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องไปไล่ตามเรือ ไล่ตามรถ อันนี้เรียกว่า ถ้าไม่ผลักไสก็ไหลตาม แต่การเจริญสติไม่ใช่อย่างนั้นเลย แค่ดูเฉยๆ ระหว่างการดูเฉยๆกับการไปทำอะไรกับความคิดกดข่มมันหรือไปแทรกแซงจิตไปบังคับจิต อันไหนมันง่ายกว่ากัน ดูเฉยๆมันง่ายกว่าอยู่แล้ว
แต่ว่าหลายคนมักชอบทำอะไรที่มันยาก ไปทำอะไรมากมายกับความคิด ไปทำอะไรมากมายกับอารมณ์ โดยเฉพาะไปบังคับจิต เรามักจะชอบทำอะไรที่ยากมากกว่าง่าย ทำด้วยความหน้าดำคร่ำเคร่ง แทนที่จะดูซื่อๆหรือดูเฉยๆ ก็ไปวุ่นวาย ไปแทรกแซง ไปบังคับ ไปบงการจิต ความคิด และอารมณ์
ทำนองเดียวกันในการเจริญสติ การปฏิบัติธรรม ก็พื่อวาง วางความคิด วางอารมณ์ ไม่ใช่ไปยึดไปเกาะไปเกี่ยว ระหว่างการวาง กับการยึดการแบก อะไรที่ง่ายกว่ากัน การวางมันง่ายกว่าอยู่แล้ว การแบกนั้นแหล่ะที่มันยาก
ถ้ามาดูความทุกข์ของคนเรา ส่วนใหญ่โดยเฉพาะความทุกข์ใจ ก็เป็นเพราะว่าไปแบกเอาไว้ แบกเรื่องราวในอดีต หรือว่าไปแบกอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการครุ่นคิดคำนึงถึงเรื่องราวในอดีต เช่น ความโกรธ ความเศร้าโศกเสียใจ ความรู้สึกผิด บางทีก็ไปแบกภาพที่มโนเกี่ยวกับอนาคต ปรุงแต่งขึ้นมาเอง แล้วก็ไปยึดมั่นถือมั่นกับภาพที่ปรุงแต่งขึ้นมา ซึ่งมักจะเป็นภาพในทางลบทางร้าย ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
พอเกิดความวิตกกังวล เกิดความหนักอกหนักใจ ก็ไปแบกความรู้สึกอันนั้นไว้อีก เป็นเพราะแบกอดีตแบกอนาคตจึงทุกข์ และบางครั้งก็แบกสิ่งที่เป็นปัจจุบันด้วย เช่น ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ แบกเอาไว้ ที่จริงปัญหาไม่ได้ทำให้เราทุกข์ แต่ที่เราทุกข์ เพราะว่าเราไปแบกปัญหาเอาไว้ อันนี้คนไม่ค่อยมองให้ทะลุเท่าไร
ผู้คนทุกวันนี้คล้ายกับชายคนหนึ่ง กำลังเดินผ่านหินก้อนหนึ่ง เสร็จแล้วก็เดินกลับมาแบกหินก้อนนั้น แล้วก็บอกว่าหินมันหนัก หินมันเห็นหนัก เหนื่อยเหลือเกินๆ เหนื่อยจนทนไม่ไหวอยู่แล้ว ถามว่าความทุกข์ของคนนั้นเกิดจากหินหรือเกิดจากการแบกหิน คนส่วนใหญ่ไปคิดว่าทุกข์เพราะหิน แต่ที่จริงแล้วทุกข์เพราะแบก ถ้าวางหินลง มันก็ไม่เหนื่อย มันก็ไม่ทุกข์
ความทุกข์ของคนทุกวันนี้เกิดจากการไปแบก แบกปัญหา แบกอารมณ์ แบกเรื่องราวในอดีต ไปยึดติดกับการกระทำ คำพูดของผู้คนมากมาย แล้วก็บ่นว่าทุกข์ๆ ไม่ไหวแล้วๆ ที่จริงเพียงแค่วางแค่ปล่อย มันก็หายทุกข์ แต่พอพูดอย่างนี้ คนก็จะพูดว่า พูดง่ายมันทำยากหมายความว่า พูดให้วางมันง่าย แต่จริงๆวางมันยาก ก็ต้องถามต่อไปว่า ระหว่างวางกับแบก อันไหนมันยากกว่ากัน การแบกเช่นแบกหิน มันยากอยู่แล้ว ยากกว่าการวาง
วางหรือปล่อยหิน มันไม่ยากอะไรเลย แต่ทำไมคนมักจะบอกว่าพูดนั่นมันง่ายแต่ทำยาก วางนี่ยาก อ้าวแล้วแบก มันง่ายนักหรือ มันยากกว่าการวางเสียอีก แต่ทำไมถึงพูดแบบนั้น หรือทำไมถึงคิดแบบนั้น ก็เพราะว่าแบกจนชินไง ของง่ายๆถ้าไม่เคยทำก็กลายเป็นเรื่องยาก ของยากๆถ้าทำบ่อยๆมันก็กลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาได้
ที่จริงหลายสิ่งหลายอย่าง ที่เราพบว่ามันง่าย รู้สึกมันง่าย ใหม่ๆมันก็เป็นเรื่องยากเสมอ อะไรที่ไม่เคยทำก็เป็นเรื่องยากเสมอ เช่น การเขียน ก ไก่ ขไข่ ทุกวันนี้เราเขียน ก ไก่ ข ไข่ มันง่ายมาก บางทีเราเขียนจนหวัดลื่นไหล แต่สมัยที่เราเริ่มเขียนใหม่ๆ ตอนอนุบาล มันยากเหลือเกิน กว่าจะเขียน ก ไก่ ข ไข่ กว่าจะเขียนทีละตัวๆ มันยาก เขียนแล้วไม่เป็นตัว บางที ข ไข่ กับ บ ใบไม้ ยังแยกไม่ถูกเลย
สมัยที่อาตมาเป็นเด็ก แยกไม่ออก ระหว่าง ข ไข่ กับ บ ใบไม้ ว แหวน กับ อ อ่าง มันต่างกันอย่างไร แต่พอเขียนบ่อยๆ ก็รู้ แยกแยะได้ แล้วก็เขียนเป็นตัวได้ง่ายขึ้น มันก็สวยขึ้นๆ เรื่อยๆ กลายเป็นเรื่องง่าย แต่ถ้าให้ฝรั่ง ศาสตราจารย์มาเขียน ก ไก่ ข ไข่ เขาไม่เคย มันก็ยากมาก ไม่ใช่ว่าการเขียน ก ไก่ ข ไข่ เป็นเรื่องยาก แต่ที่เรารู้สึกว่ายากเพราะว่ามันไม่เคย เพราะมันเป็นของใหม่
เรื่องการวางก็เหมือนกัน การปล่อยการวาง ที่จริงมันง่าย แต่ที่คนบอกว่ายาก ก็เพราะว่ามันไม่เคย ไม่เคยทำ เช่นเดียวกับการรู้ซื่อๆ ดูเฉยๆ มันไม่ได้ยากอะไรเลยเมื่อเทียบกับการไปวุ่นวายอะไรกับความคิด กับอารมณ์ ไปบังคับ ไปแทรกแซง ไปกดข่มความคิด แต่เป็นเพราะว่าไม่ค่อยได้ทำ หรือว่าไม่เคยทำ เรื่องง่ายก็เลยกลายเป็นเรื่องยาก
ส่วนเรื่องยาก พอทำบ่อยๆมันดูเหมือนง่าย แต่มันกลับสร้างปัญหา คือ การแบก แบกจนเคยชิน เราก็เลยรู้สึกว่าแบกมันง่ายกว่าการวาง แต่หารู้ไม่ว่า เพราะพอแบกนี่แหล่ะ ทำให้ทุกข์
ซึ่งการเจริญสติ คือการบำเพ็ญทางจิตนี้ ท้ายที่สุดคือการปล่อยวาง และอย่างที่บอก ระหว่างการวางกับการแบก วางนั้นมันง่ายอยู่แล้ว แต่เป็นเพราะว่าเราไม่เคยทำก็เลยกลายเป็นเรื่องยาก ถ้าพิจารณาดูการภาวนาหรือที่เรียกว่าการเจริญสติ ถ้าทำให้ถูกแล้ว มันไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย มันเป็นเรื่องที่ง่าย แต่เป็นเพราะว่าเราไปสร้างภาพว่า ภาวนาเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ไปนึกว่ามันต้องอาศัยรูปแบบ
และบางทีก็ไปติดที่ถ้อยคำ ศัพท์แสงภาษาบาลี ทำให้เกิดความเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรม มันกลายเป็นเรื่องยาก พอพูดคำว่าภาวนาหรือกรรมฐานซึ่งเป็นภาษาบาลีเข้าใจยาก ก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อน แต่ที่จริงแล้วเป็นเรื่องง่าย ง่ายกว่าที่เราคาดคิด แต่เพราะว่ามันไม่คิดว่าจะง่ายขนาดนั้น จึงทำให้เรื่องง่ายกลายเป็นเรื่องยาก
แทนที่จะทำเล่นๆ ก็กลายเป็นการทำด้วยอาการหน้าดำคร่ำเคร่ง พยายามไปเพ่ง พยายามไปจับจ้องความคิด แทนที่จะรู้ซื่อๆ ก็ไปกดข่มผลักไสอารมณ์ต่างๆ พยายามที่จะเอาชนะความฟุ้งให้ได้ เห็นความฟุ้งเกิดขึ้น เป็นอันทนไม่ได้ ต้องไปจัดการไล่บี้ ทั้งที่จริงแล้ว เพียงแค่ดูเฉยๆ รู้ซื่อๆ มันเกิดขึ้นก็แค่ปล่อยมัน ให้มันมาแล้วมันก็ไป หรือว่าถ้าเผลอไปแบกมัน เผลอไปยึดมันเอาไว้ ก็แค่วางมันลง ซึ่งมันง่ายกว่าการไปแบก ไปยึดสิ่งเหล่านี้เสียอีก
เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจหลักของการปฏิบัติ แล้วก็สามารถที่จะทำให้มันสม่ำเสมอ สิ่งที่ไม่เคยก็กลายเป็นเรื่องที่คุ้นเคยขึ้นมา ที่มันเคยรู้สึกว่ายาก ๆ มันก็จะกลายเป็นเรื่องง่าย ที่มันยากเพราะไม่เคย เพราะไม่คุ้นต่างหาก ไม่ใช่เพราะว่ามันยากในตัวมันเอง ให้ลองปรับความเข้าใจ แล้วก็หมั่นทำบ่อยๆทำซ้ำๆทำเรื่อยๆ จนกระทั่งมันกลายเป็นความจัดเจน กลายเป็นทักษะ แล้วก็จะพบว่ามันไม่ใช่เรื่องยากเลย
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 26 สิงหาคม 2564