แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง มีนักศึกษา 2 คนกำลังโต้เถียงกัน แล้วเสียงก็เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจะรบกวนนักศึกษาคนอื่นๆในห้องสมุด บรรณารักษ์จึงเดินไปสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้น คนแรกบอกว่าต้องการให้เปิดหน้าต่าง ส่วนคนที่สองบอกว่า อยากให้ปิด ก็เลยโต้เถียงกัน
คนหนึ่งเรียกร้องจะให้เปิดหน้าต่าง อีกคนไม่ยอม จะให้ปิดท่าเดียว ถ้าเราเป็นบรรณารักษ์เจอเหตุการณ์แบบนี้เราจะทำอย่างไร บรรณารักษ์คนนี้ถามนักศึกษาคนแรกว่าที่อยากให้เปิดหน้าต่างเพราะอะไร นักศึกษาตอบว่าต้องการให้อากาศถ่ายเท เพราะว่าในห้องสมุดอากาศมันอับ พอถามคนที่สองบอกว่า ที่อยากให้ปิดก็เพราะว่าพอเปิดแล้ว ลมจะพัดเข้ามากระดาษหรือเอกสารมันก็จะปลิว ถ้าเราเป็นบรรณารักษ์เราจะทำอย่างไร จะจับฉลากหรือไม่ จะเปิดหรือปิดหน้าต่างดี
พอบรรณารักษ์ได้ฟังเหตุผลของนักศึกษาทั้ง 2 คน แกก็เลยแนะว่า ลองเปิดหน้าต่างที่อยู่เยื้องไปดีไหม ซึ่งมันเยื้องไปสัก 2-3 เมตร มีหน้าต่างอีกบานหนึ่ง แล้วที่จริงมีถึง 2-3 บานเลย มีความเห็นกันอย่างไร คนแรกบอกว่าโอเค เพราะได้อากาศถ่ายเทตามที่ต้องการ ส่วนอีกคนบอกว่าก็ได้ เพราะว่าถ้าไปเปิดตรงนั้น ลมพัดเข้ามาอย่างไรก็ไม่พัดเอกสารกระดาษที่โต๊ะเขาให้ปลิว เพราะมันอยู่เยื้องถัดไป เป็นอันว่าตกลงเป็นที่พอใจทั้งสองฝ่าย คนหนึ่งได้อากาศถ่ายเท อีกคนหนึ่งไม่ต้องห่วงว่าลมพัดกระดาษให้ปลิว
มีอีกกรณีหนึ่ง พี่น้องสองคนทะเลาะกันเรื่องส้มที่บ้านเหลืออยู่ลูกเดียว คนพี่อยากได้ คนน้องก็อยากได้ พี่บอกว่าน้องต้องยอมพี่ ส่วนน้องก็บอกว่าพี่ต้องเสียสละให้น้อง แม่ได้ยินแล้วจะทำอย่างไร เพราะลูก 2 คนอยากจะได้ส้ม ผ่าครึ่งไหม แม่คนนี้ไม่ทำอย่างนั้น
แม่ถามลูกทั้งสองคน ถามคนน้องก่อนว่าทำไมถึงอยากได้ส้ม น้องบอกว่าส้มมันอร่อย อยากกิน มันหวาน แล้วคนพี่ล่ะทำไมถึงอยากได้ส้ม พี่บอกว่าครูวิชาวิทยาศาสตร์ให้นักเรียนทดลองการเอาเปลือกส้มมาเป็นยากันยุง ไล่ยุง ก็เลยอยากได้เปลือกส้มเอาไปตากแห้ง ทำการทดลองตามที่ครูสั่ง
พอรู้เหตุผลของทั้งสองฝ่ายที่ต้องการส้มคืออะไร มันก็ง่ายนิดเดียว ก็ให้น้องกินส้ม เอาแต่เนื้อไป ส่วนพี่เอาเปลือกส้มไป ก็เป็นที่พอใจทั้งสองฝ่าย น้องพอใจที่ได้กินส้ม พี่ก็พอใจที่ได้เปลือกส้ม ถ้าจะเรียกตามภาษาสมัยใหม่เรียกว่า win win คือได้ทั้งคู่ ไม่ต้องผ่าครึ่ง ผ่าครึ่งก็ได้เหมือนกัน แต่ไม่ได้ไม่เต็มที่ ถ้าใช้วิธีการของแม่ มันดีกว่า เพราะว่า ได้อย่างที่ต้องการทั้งสองฝ่าย
ทั้งสองกรณีที่เล่ามานี้ มันเป็นเรื่องของความขัดแย้ง แต่มันก็คลี่คลายไปได้โดยที่ทั้งสองฝ่ายพอใจ วิน-วินทั้งคู่ เพราะอะไร เพราะว่าตัวกลางเขาสอบถามถึงเหตุผลว่า ทำไมถึงเรียกร้องอย่างนั้น ทำไมถึงอยากให้เปิดหน้าตา ทำไมถึงอยากให้ปิดหน้าต่าง ดูมันขัดแย้งกัน แต่พอถามเหตุผลหรือความต้องการที่แท้จริง มันก็จัดการได้ไม่ยาก เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย
เพราะฉะนั้น เวลามีความขัดแย้งกัน ไม่ว่าจะเป็นเพราะเรียกร้องสิ่งที่ขัดแย้งกัน เช่น เปิดหน้าต่างกับปิดหน้าต่าง หรือว่าเรียกร้องสิ่งเดียวกัน แต่มีน้อย เช่น อยากได้ส้มทั้งคู่ แต่มีส้มอยู่ลูกเดียว ถ้าเราลองถามเหตุผลว่า ทำไมถึงเรียกร้องอย่างนั้น เราก็จะพบว่าปัญหาจัดการได้ไม่ยาก เพราะว่าเหตุผลที่เรียกร้องให้เปิดหน้าต่างก็ดี ปิดหน้าต่างก็ดี สามารถที่จะจัดการได้โดยไปเปิดหน้าต่างบานอื่นแทน อากาศก็ถ่ายเทและไม่มีลมพัดให้กระดาษปลิว พอใจทั้งสองฝ่าย ส้มก็เหมือนกัน
คนเราเวลามีเรื่องขัดแย้ง ถ้าเราไม่ลองถามเหตุผลว่าทำไม บางทีมันก็อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งลุกลามมากขึ้น หรือแก้ปัญหาไม่ตก ไม่เป็นที่พอใจทั้งสองฝ่าย จนกระทั่งต้องจับฉลาก หรือหาร 2 แต่ถ้าลองถามสักหน่อย มันก็จะค่อยๆคลี่คลาย เกิดความเข้าใจได้ไม่ยาก
มีกรณีหนึ่ง นักเรียนเตรียมตัวสอบ พ่อแม่ก็ให้ลูกอ่านหนังสือเต็มที่เลย เก็บตัวอยู่ในห้องเตรียมสอบ ปรากฏว่าสักพักได้ยินเสียงเพลงจากห้องของลูก พ่อก็เกิดความไม่พอใจว่าลูก ทำไมได้เวลาสอบจึงมาเปิดเพลงฟัง อย่างนี้จะถูกหรือ ก็เลยเดินไปหาลูก ทีแรกจะต่อว่าลูกแล้ว แต่ได้คิดสักหน่อย ก็เลยถามลูกว่า ทำไมถึงเปิดเพลงดัง นี่เป็นเวลาที่จะต้องเตรียมสอบอ่านหนังสือไม่ใช่หรือ
ลูกก็บอกว่า บ้านข้างๆ ตรงด้านที่ติดกับห้องนอนของลูก กำลังมีการฉลอง พูดคุยเสียงดังเอะอะโหวกเหวก ลูกเลยไม่มีสมาธิอ่านหนังสือ ก็เลยใช้วิธีเปิดเพลงดังๆให้มันกลบเสียงดังของเพื่อนบ้าน โดยใช้เสียงเพลงกลบเสียงดัง ลูกจะได้มีสมาธิอ่านหนังสือ เพราะว่าฟังเสียงแพง มันยังดีกว่าเสียงดังเอ็ดตะโร พอพ่อได้ยินเช่นนี้ก็อ๋อ แล้วเข้าใจเหตุผลของลูก แทนที่จะต่อว่าลูก ก็เลยเห็นใจและเข้าใจ นี่ถ้าพ่อไม่ถามเหตุผลของลูก ก็คงจะว่าลูกไปแล้ว ว่าลูกขี้เกียจ ใกล้จะสอบแล้วยังไม่สนใจเรียนหนังสือ เอาแต่ฟังเพลง อันนั้นก็จะเกิดความขัดแย้งกัน พ่อก็ทุกข์ ลูกก็ทุกข์
เพราะฉะนั้น เวลามีเรื่องที่ขัดแย้งกันก็ดี หรือมีเรื่องที่ไม่ถูกใจกันก็ดี บางทีถ้าเราถามกันสักหน่อย ทำไมถึงทำอย่างนั้น ทำไมถึงเรียกร้องอย่างนั้น เราก็จะพบว่าปัญหาหรือความขัดแย้ง มันแก้ได้ไม่ยาก แทนที่จะด่วนต่อว่า มันก็จะเข้าใจเหตุผล มันก็ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ราบรื่น ไม่ขัดแย้งกัน
คนเราเวลาเจออะไร เรามักจะไม่ถามเหตุผล เรามักจะด่วนสรุปกับสิ่งที่อยู่ต่อหน้าเรา มีความขัดแย้งก็ไม่ได้ถามว่า ทำไมถึงเรียกร้องต้องการอย่างนั้น ด่วนสรุปด่วนตัดสินให้ แม่ถ้าไม่สอบถามลูก ก็ใช้อำนาจแบ่งครึ่งส้มให้ลูกเสียเลย แต่ว่ามันไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 26 สิงหาคม 2564