แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การทำความถูกต้องดีงามหรือทำให้เกิด หรือว่าการทำให้เกิดความเจริญงอกงาม นอกจากความตั้งใจดี ความเพียรพยายามแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ การเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง เพราะถ้าเห็นผิดพลาดคลาดเคลื่อนแล้วก็สิ่งที่ทำไป มันก็อาจจะผิดพลาดตามไปด้วย แทนที่มันจะเป็นความถูกต้องดีงามก็กลายเป็นสิ่งที่ตรงข้าม
ซึ่งสิ่งที่ขัดขวางไม่ให้เราเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงที่สำคัญอันหนึ่งคือ อคติ อคติ 4 คือ ลำเอียงเพราะชอบ ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะโกรธ โทสะคติ ลำเอียงเพราะกลัว ภยาคติ ลำเอียงเพราะหลงโมหะคติ คติทั้ง 4 หรืออันใดอันหนึ่งมาครอบงำจิต เราก็ไม่สามารถที่จะเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงได้ การกระทำก็ย่อมจะเกิดความผิดพลาดได้
แต่นอกจากอคติ 4 แล้วยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญมากที่ขัดขวางไม่ให้เราเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง สิ่งนั้นภาษาบาลีเรียกว่าวิปลาส คนไทยคุ้นกับคำนี้ดี แต่ความหมายทางภาษาบาลีแตกต่างจากความหมายในภาษาไทยบ้าง วิปลาสหมายถึงความรู้ความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ซึ่งมันมีหลายระดับ
ระดับพื้นฐานก็คือที่เรียกว่าสัญญา คือความหมายรู้ สัญญาวิปลาสก็อย่างเช่นว่า คนเห็นเชือกก็คิดว่าเป็นงู ไปสำคัญมั่นหมายว่าเชือกนั้นเป็นงู หรือว่าได้ยินเสียงกิ่งไม้ตกมากระทบหลังคาสังกะสี ก็สำคัญมั่นหมายว่าเป็นเสียงประทัด อันนี้เป็นความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในระดับสัญญาคือการหมายรู้
หรือบางทีได้ยินเสียงหนูก็นึกว่าเป็นเสียงหมี มันเคยมี เมื่อสมัยก่อนสุคะโต ยังไม่มีการแบ่งเป็นเขตอุบาสิกาเขตพระ ที่เขตอุบาสิกาไม่มีใครอยู่ มีหลวงพ่อรูปหนึ่งอยู่ เขตนั้นมันก็ปลาก็นึกเกือบ 40 ปีที่แล้วบางทียังมีกวางมากินน้ำเลย หมูป่าด้วย ตอนกลางคืนขณะที่ท่านเตรียมจะจำวัด ได้ยินเสียงบนขั้นบันได มันเป็นเสียงที่ผิดปกติ เสียงมันชัดมาก
ท่านก็เลยคิดว่า สงสัยจะเป็นเสียงหมี มันเดินขึ้นมาตามขั้นบันได ตกใจ รีบปิดประตูแน่นเลย แล้วก็หาอะไรมาใกล้ๆ เผื่อว่าถ้าหมีบุกเข้ามาก็ต้องต่อสู้กันสักหน่อย คืนนั้นแทบนอนไม่หลับเลย แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น รุ่งเช้าเตรียมไปเดินบิณฑบาต ก็มาเห็นสบู่มีรอยหนูแทะเป็นสบู่ที่วางไว้บนระเบียงกุฏิ มันถูกคาบลงมาตรงชายป่า มีรอยกัดแทะ ท่านก็เลยรู้ว่าไม่ใช่หมีหรอกมันเป็นหนู
เสียงหมีไปคิดว่าเป็นเสียงหนู อันนี้เรียกว่าสัญญาวิปลาส วิปลาสในระดับที่ 2 คือจิตวิปลาส อันนี้เราอาจจะคุ้น เช่น คนบ้า นึกว่าหญ้าคืออาหาร อันนี้มากกว่าสัญญาวิปลาสคือ มีการปรุงแต่ง หรือว่าคนที่จิตฟั่นเฟือน เห็นคนเดินมา ก็นึกว่าเขากำลังทำร้าย อันนี้คือมีการปรุงแต่งคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
มันไม่ใช่เฉพาะคนบ้าหรือคนจิตฟั่นเฟือน บางทีนักปฏิบัติ ปฏิบัติมากๆเกิดอาการวิปลาส คือเกิดวิปัสสนูขึ้นมา คิดว่าตัวเองบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว อันนี้เรียกว่าจิตวิปลาส แต่ว่าวิปลาสแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคนที่อยู่ในภาวะผิดปกติ คนธรรมดาก็มีอาการจิตวิปลาสได้ เช่น เห็นเงามันวิบวูบไหวในที่มืด สลัวๆก็คิดว่าเป็นผี วาดภาพว่าเป็นผีมาหลอก อันนี้เรียกว่าจิตวิปลาส ซึ่งคนธรรมดาก็เป็นกันได้
หรือว่ามีมะม่วงตกลงมากระทบหลังคาสังกะสีหลายลูกทั้งคืนเลย ก็ไปคิดว่าเพื่อนบ้านโยนก้อนหินมาแกล้งเรา อันนี้เรียกว่าจิตวิปลาสก็ได้ ไม่ใช่เฉพาะคนบ้า หรือว่าหญิงสาววัยรุ่นมีสิว รู้สึกแย่กับสิว พยายามขจัดสิวยังไงก็ไม่หาย เวลาไปไหนขึ้นรถก็รู้สึกว่าอับอาย คนมองมาที่ตัวเองก็คิดว่าเขากำลังจ้องดูสิวของตัว หรือว่าเห็นคนอื่นกำลังพูดคุยกัน
ก็นึกว่าเขากำลังวิจารณ์หน้าตาของตัวที่มีสิวบนถนน หรือว่าบนรถไฟฟ้า ทั้งๆที่ไม่ใช่เลย อย่างนี้เรียกว่าจิตวิปลาสได้เหมือนกัน คือ มันมีความระแวง มันก็เห็นคนรอบข้างจ้องมองหน้าตาของตัวด้วยความรู้สึกดูถูกรังเกียจ อันนี้เรียกว่าคิดไปเอง ก็เรียกว่าจิตวิปลาสได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นคนธรรมดาไม่ได้บ้าไม่ได้วิปัสสนูก็มีสิทธิ์วิปลาสได้แบบนี้
วิปลาสระดับที่ 3 ทิฏฐิวิปลาส คือความเห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อย่างที่เราเคยได้ยินคำว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นผิดเป็นถูก ก็เป็นทิฏฐิวิปลาสได้ แต่บางทีก็ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องความดีความชั่ว มันอาจจะเกิดจากสัญญาวิปลาส เช่น เห็นเชือก เห็นรากไม้เป็นงู อันนี้สัญญาวิปลาสก็เลยเกิดทิฏฐิวิปลาส เกิดความเข้าใจว่า แถวนี้มีงูชุกชุม อันนี้ก็เรียกว่าเป็นทิฏฐิวิปลาสได้ หรือว่าคนบางคนพอเห็นเงาวูบไหว แล้ววาดภาพว่าเป็นผีหลอก ก็ไปลงความเห็นว่าแถวนี้มีผีชุมผีดุ อันนี้เรียกว่าเป็นทิฏฐิวิปลาสที่เกิดจากจิตวิปลาส
แต่บางครั้งทิฏฐิวิปลาสส่งผลไปสู่จิตวิปลาส ไปสู่สัญญาวิปลาสได้เหมือนกัน มันไปได้ 2 ทาง สัญญาวิปลาส จิตวิปลาสก็ทำให้เกิดทิฏฐิวิปลาสได้ อย่างที่พูดไว้เมื่อสักครู่ ส่วนทิฏฐิวิปลาสทำให้เกิดสัญญาวิปลาส จิตวิปลาสได้เหมือนกัน
เช่น คนที่เข้าใจว่าตัวเองเก่ง โดดเด่น เป็นที่อิจฉาของเพื่อนร่วมงาน ทั้งๆที่ความจริงเพื่อนร่วมงานไม่ได้คิดแบบนั้น แต่เจ้าตัวคิด ลงความเห็นไปแล้วว่าคนรอบข้างนั้นอิจฉา แล้วพอเห็นเพื่อนพูดคุยซุบซิบกัน ก็คิดว่าเขากำลังนินทาตัว หรือว่าเขากำลังหาทางเลื่อยขาเก้าอี้ตัวเองมันเป็นเหตุเป็นปัจจัยกัน
ซึ่งถ้าเกิดว่า มีความคิดความเห็นหรือการหมายรู้ที่คลาดเคลื่อนแบบนี้ มันก็อยู่ไม่สุข แล้วก็ทำให้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คนก็ผิดพลาด ไปคิดว่าผลไม้ที่ตกกระทบบนหลังคาตลอดคืน เป็นเพราะว่าเพื่อนบ้านโยนก้อนหินมาแกล้งตัวเอง ก็ไปคิดไปสรุปความเห็นว่า คนแถวนี้ไว้ใจไม่ได้ เป็นอันตราย เพราะฉะนั้น ก็เกิดความรู้สึกหวาดระแวงมากขึ้น
ถ้าเราสังเกตสัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส มันก็มักจะเกิดจากความกลัว ความตื่นตกใจ ความระแวง มันทำให้เกิดการหมายรู้ที่ผิดพลาด มันทำให้เกิดการวาดภาพที่เลวร้าย หรือลงความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ซึ่งก็ทำให้เกิดปัญหาตามมา จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดวิปลาสแบบนี้ ก็ต้องมีสติที่คอยช่วยทักท้วงความคิด ทักท้วงสิ่งที่เห็นสิ่งที่ได้ยิน
ได้ยินเสียงเหมือนหมีกำลังขึ้นบันไดมา ที่จริงอาจจะเกิดจากความกลัวเป็นเบื้องต้นแล้ว ก็อย่าเพิ่งไปเชื่อว่ามันเป็นเสียงหมี อย่าไปเชื่อหูตัวเอง เห็นเงาวูบไหวนึกว่าเป็นผี ก็อย่าไปเชื่อว่าเป็นผี คือรู้จักทักท้วงความคิด อย่าเพิ่งด่วนสรุป อย่าเพิ่งด่วนเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เห็นด้วยตา สิ่งที่ได้ยินด้วยหู อาจจะผิดได้ หรือสิ่งที่สรุปไปแล้วว่า มีเพื่อนบ้านโยนก้อนหินมาแกล้งเรา ก็ทักท้วงไว้ก่อนก็ได้ว่า อาจจะไม่ใช่ก็ได้ สำรวจดีๆ มันก็พบว่าไม่ใช่ก้อนหิน มันเป็นมะม่วงตกลงมา ถ้าเป็นอย่างนี้มันก็จะเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตามในทางพระพุทธศาสนา มีวิปลาสขั้นพื้นฐานเลยว่าที่เรียกว่าทุกคนเป็นกันหมดเลย วิปลาสขั้นพื้นฐานเรียกว่ามี 4 ด้านเลยคือ วิปลาสในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง วิปลาสในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าสุข วิปลาสในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน วิปลาสในสิ่งที่ไม่งามว่างาม วิปลาที่ว่านี้คลุมไปหมดเลย ทั้งสัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส มันเป็นทั้งชุด ซึ่งอันนี้เรียกว่าทุกคนเป็นกันหมดทั้งนั้น
บางคนจะบอกว่าฉันก็รู้ว่าอะไรๆก็ไม่เที่ยง แล้วฉันจะวิปลาสหรือ อันนั้นมันเป็นแค่ความคิด เป็นความคิดในระดับที่ผิวเผิน แต่ในความเป็นจริง การรับรู้ การหมายรู้ หรือความคิด รวมทั้งความเห็น มันก็ยังปักตึงอยู่กับความคิดว่า สิ่งทั้งปวงเที่ยง เพราะถ้าไม่มีวิปลาสแบบนี้ เวลาของหาย เวลาโทรศัพท์เสีย หรือว่าเวลาเจ็บป่วย มันก็ไม่ทุกข์หรอก แต่ทำไมทั้งๆที่ก็รู้มาว่าสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
แต่ว่าพอเงินหาย โทรศัพท์เสีย เสียใจ ไม่ต้องพูดถึงคนรักเกิดล้มป่วยตายจาก จะยิ่งเศร้าโศกเข้าไปใหญ่อันนี้แสดงว่าสัญญาก็ดี จิตก็ดี ทิฐิก็ดี ยังยึดมั่นว่าสิ่งทั้งปวงเที่ยง อันนี้ก็ถือว่าก็ยังมีความวิปลาสอยู่เป็นพื้นฐานในจิตใจของตัว เพราะฉะนั้น ถ้าเราตระหนักว่า เราทุกคน ตราบใดที่ยังมีความวิปลาสแบบนี้อยู่ มันก็ทำให้เห็นความจำเป็นในการที่จะต้องฝึกตน เพื่อให้เกิดทั้งสัญญา ความคิด และก็ทิฐิ ที่ตรงตามความเป็นจริง
เห็นสิ่งไม่เที่ยงว่าเที่ยง สิ่งที่เป็นทุกข์ว่าทุกข์ สิ่งที่เป็นอนัตตาว่าอนัตตา ไม่ใช่เห็นว่าเที่ยง เห็นว่าสุข เห็นว่าทุกข์ หรือเห็นว่าเป็นตัวตน แล้วจะทำอย่างไร จะเปลี่ยนหรือขจัดวิปลาสที่ว่านี้ มันก็ต้องเริ่มต้นจากการเจริญสัญญาในทางที่ถูกคือ อนิจจสัญญา อนัตตสัญญา และอสุภสัญญา
อนิจจสัญญา หมายความว่า การกำหนดหมายในความไม่เที่ยงของสังขาร อนัตตสัญญาหมายความว่ากำหนดหมายในความไม่ใช่ตัวตนของสิ่งทั้งหลายหรือธรรมทั้งปวง อสุภสัญญาคือการกำหนดหมาย ในความไม่งามของร่างกาย กำหนดหมายหมายความว่าอย่างไร ถ้าพูดภาษาในสมัยใหม่ก็คือการ input ข้อมูลลงไป
อย่างเช่น คนที่ไม่เคยรู้จัก iPad พอมาเจอ iPad ก็มีกำหนดหมายอย่างเป็นอัตโนมัติ กำหนดหมายว่า iPad เป็นแผ่นสี่เหลี่ยม แล้วก็มันเป็นเหมือนกับคอมพิวเตอร์ มันใช้ติดต่อสื่อสารรับสัญญาณได้ พอกำหนดหมายแบบนี้อยู่เรื่อยๆ พอเจอ iPad ก็บอกได้ว่านี่คือ iPad แต่นั่นเป็นเรื่องของรูปธรรม
สิ่งที่เป็นนามธรรมคือ ความไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน อันนี้ก็เป็นเรื่องที่กำหนดหมายได้เหมือนกัน หมายความว่า เราคอยพิจารณาคอยสังเกต ความไม่เที่ยงของสังขารของสิ่งทั้งปวงมันก็แสดงตนให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ใบไม้ที่ร่วง ต้นไม้ที่โค่นล้ม หรือว่าดอกไม้ที่เหี่ยวเฉา สิ่งเหล่านี้แสดงตัวให้เราเห็นอยู่เรื่อยๆรวมทั้งร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป ข้าวของเครื่องใช้ที่มันมีความเสื่อมมีความทรุดตามวันเวลา
ถ้าเรากำหนดหมายความไม่เที่ยงของสิ่งเหล่านี้อยู่เรื่อยๆ มันก็จะทำให้อนิจจสัญญาเจริญงอกงาม มันก็จะไปช่วยกำจัดสัญญาวิปลาสที่ว่า สิ่งทั้งปวงนั้นนี่เที่ยงออกไปทีละนิดๆ รวมทั้งกำหนดหมายความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของสิ่งทั้งปวง ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน หมายความว่าอย่างไร
อนัตตาหมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่า ประการแรก หมายความว่า มันไม่สามารถที่จะควบคุมบังคับบัญชาตามใจเราได้ อันนี้คือความหมายหนึ่งของอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เราก็พิจารณาดูสิว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมนามธรรม ข้าวของเครื่องใช้ แม้แต่ร่างกายของเรา มันก็ไม่สามารถที่จะบังคับให้มันเป็นไปดั่งใจเราได้ เราคุมมันได้ใช้มันได้ในระดับหนึ่ง แต่บางทีหรือบ่อยครั้งมันก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราปรารถนา มันเกิดเสีย มันเกิดเดี้ยงขึ้นมา
บางทีไฟก็ดับ บางทีสัญญาก็ติดขัด ร่างกายเราก็เหมือนกัน ไม่อยากให้ปวดให้เมื่อย มันก็ดันปวดดันเมื่อย เราไม่อยากให้หิวมันก็หิว อันนี้คือความจริงที่ถ้าหากเรากำหนดหมายอยู่เรื่อยๆ มันก็จะช่วยเสริมสร้างอนัตตสัญญาขึ้นมาได้ รวมทั้งการพิจารณาว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมันล้วนแล้วแต่เกิดจากเหตุจากปัจจัย ต้นไม้ไม่มีดินไม่มีน้ำหรือไม่มีแดดมันก็ตาย ต้นไม้มันอยู่ได้ ไม่ใช่เพราะว่ามันมีตัวตนของมันเอง แต่ว่ามีเหตุปัจจัยอื่นที่เข้ามาปรุงแต่ง
อารมณ์โกรธก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่ามันจะเกิดขึ้นมาได้เอง ให้เราโกรธตอนนี้ เราโกรธไม่ได้หรอก จนกว่าจะนึกถึงใครบางคน หรือการกระทำบางอย่าง เหตุการณ์บางเรื่องจึงโกรธ เพราะความโกรธไม่ใช่ตัวตน มันไม่มีตัวตนของมันเอง แล้วมันก็ไม่ใช่เป็นไปดั่งใจเราได้ จะให้ดีใจตอนนี้มันก็ไม่ดีใจ จนกว่าจะมีโชคมีลาภหรือมีคนมาชมหรือมีคนมาหา จึงจะดีใจ อันนี้ก็แสดงว่าความดีใจเป็นอนัตตา มันขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย
เพราะฉะนั้น ถ้าเราพิจารณาดูแบบนี้เราก็จะเห็นว่าสิ่งทั้งปวงก็ล้วนแต่เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตนของมันเอง ต้องอาศัยองค์ประกอบ หมู่บ้านถ้าไม่มีบ้านแต่ละหลังมารวมกัน มันก็ไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่าหมู่บ้าน จริงๆแล้วตัวตนของหมู่บ้าน มันไม่มี หมู่บ้านจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะว่ามีบ้านแต่ละหลังๆมารวมกัน เพราะฉะนั้นถ้ามองอย่างนี้ หมู่บ้านก็เป็นคำสมมติที่เรียกว่าบ้านหลายๆหลังมารวมกัน หมู่บ้านจึงไม่มีตัวตนเป็นแค่คำสมมติ
ถ้าเราพิจารณาแบบนี้ก็จะเกิดอนัตตสัญญาขึ้นมาทีละนิดๆ มันก็ช่วยลดสัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาสในเรื่องของอนัตตาได้ ที่เห็นว่าเป็นตัวเป็นตนได้ ร่างกายของเราก็เหมือนกัน พิจารณาดู แทนที่จะเห็นแต่ความสวยความงาม ลองเห็นว่ามันเต็มไปด้วยสิ่งสกปรกตามทวารต่างๆ ถ้าไม่อาบน้ำก็เน้าเหม็นส่งกลิ่น มองลึกลงไป เครื่องในตัวเราก็เต็มไปด้วยของที่ไม่สะอาด
อวัยวะต่างๆก็ไม่สวยงามเพียงแต่ว่ามีหนังคลุมไว้อยู่ กรีดหนังออก ก็จะเห็นแต่ความไม่สวยงามของอวัยวะต่างๆ พิจารณาอย่างนี้ก็เกิดอสุภสัญญาขึ้นมา ไม่ต้องรอให้ตาย ไม่ต้องดูซากศพก็ได้ แต่ถ้าพิจารณาดูให้ดี ก็เห็นว่าศพของเรา พอถึงเวลาตายก็ยิ่งส่งกลิ่นเหม็นเข้าไปใหญ่ ไม่มีใครอยากจะเข้าใกล้อย่างที่เราสวดมนต์ไปเมื่อสักครู่
เพราะฉะนั้น การเจริญอนิจจสัญญา อนัตตสัญญา และอสุภสัญญา มันก็จะช่วยให้ลดวิปลาสขั้นพื้นฐานออกไปจากใจของเราได้ แต่ทำเท่านั้นไม่พอ ต้องมีการภาวนาด้วย การภาวนาในที่นี้หมายถึงการดูจิตการดูกายก็คือการเจริญสติ เมื่อดูกายบ่อยๆอยู่เรื่อยๆมันจะเกิดความเข้าใจว่าร่างกายนี้มันไม่คงที่เลย มันไม่สามารถที่จะอยู่ในอิริยาบถบทใดบทหนึ่งนานๆได้
อย่าว่าแต่อิริยาบถ แม้กระทั่งการกระพริบตา เรายังต้องกระพริบตาอยู่บ่อยๆเพราะอะไร เพราะมันทุกข์ ถ้าไม่กระพริบตามันก็ปวดมันก็เมื่อย ถ้าไม่เปลี่ยนอิริยาบถมันก็ยิ่งปวดเข้าไปใหญ่ ก็ต้องขยับเนื้อขยับตัว ก็เพราะมันเมื่อยมันปวด มันก็เห็นเลยว่าความเป็นอนิจจัง ความเป็นทุกขังของร่างกาย มันไม่ต้องรอให้แก่หนังเหี่ยว ฟันหัก ถึงจะเห็นว่าเป็นอนิจจังหรือทุกขัง เพราะในแต่ละขณะๆก็แสดงให้เห็นความเป็นอนิจจังให้เห็นของรูปของกาย
ยิ่งมาดูใจ ก็ยิ่งเห็นใจแปรเปลี่ยน อารมณ์ขึ้นลงอยู่เป็นนิจ และไม่ว่าอารมณ์ใดไม่ว่าดีใจ เสียใจ มันก็มาแล้วก็ไป เกิดแล้วก็ดับ มันก็เห็นเลยว่าความเป็นอนิจจังของอารมณ์ของนาม แล้วการที่มันแปรเปลี่ยนไปก็เพราะตั้งอยู่ไม่ได้ มันเป็นทุกข์ ทุกขัง ตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่สามารถคงสภาพเดิมได้ ก็ต้องไป ถ้าพิจารณาดูไปเรื่อยๆ มันก็จะเห็นว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ความโกรธก็ไม่ใช่เรา ความดีใจก็ไม่ใช่เรา
แต่ก่อนนั้นมีความคิดที่คลาดเคลื่อนเรียกว่าว่าจิตวิปลาสก็ได้ ก็ไปสำคัญมั่นหมายว่า ความคิดเป็นเราเป็นของเรา ความดีใจเป็นของเราเป็นเรา พอดีใจก็ฉันดีใจ พอมีความโกรธก็ฉันโกรธ ก็เกิดทิฏฐิวิปลาสขึ้นมาว่า มีเรามีตัวกูขึ้นมา แต่พอพิจารณาดูกายดูใจ ก็จะเห็นว่า มันมีก็แต่รูปกับนาม มีกายกับใจ มันไม่มีตัวกูเลย ถ้าไม่ดูกายดูใจ มันก็จะเห็นแต่ตัวกู กูทำนู่นทำนี่ กูคิดโน่นคิดนี่
แต่พอมาดูกายดูใจ ก็จะเห็นว่ามันไม่ใช่กูทำ แต่มันเป็นรูปที่เดิน มันเป็นนามที่คิดหรือนามที่รู้สึก อันนี้มันก็ทำให้ได้เห็นได้เข้าใจว่า จริงๆมันไม่มีตัวกู นอกจากสิ่งทั้งปวงไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแล้ว แม้กระทั่งสิ่งที่เป็นตัวกูก็ไม่มี มันก็จะช่วยทำให้วิปลาสไม่ว่าจะเป็นสัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาสค่อยๆเลือนหายไป จนสามารถที่จะเห็นความเป็นจริงว่า สิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
ถ้าเราไม่มีการเจริญอนิจจสัญญา อนัตตสัญญา อสุภสัญญาอยู่เนืองๆด้วยการหมั่นพิจารณา สภาวะความจริงที่ปรากฏ รวมทั้งไม่ได้ดูจิตดูใจดูใจ ไม่ได้ดูกายดูใจ ให้เห็นกายใจตามความเป็นจริง มันก็ยังมีความหลง มีความวิปลาสคลาดเคลื่อนอยู่ ซึ่งก็จะมีแต่นำความทุกข์มาให้ เพราะว่าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่มันยึดมั่นไม่ได้ เพราะมันล้วนแต่ไม่เที่ยง เพราะมันล้วนแต่เป็นทุกข์ เพราะมันล้วนแต่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
เพราะฉะนั้น ถ้าเราทำความเข้าใจในเรื่องวิปลาส เราก็จะรู้ว่า เรามีการบ้านที่ต้องทำ เรามีงานที่ต้องฝึกเพื่อทำให้เห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง ทั้งรูปธรรมนามธรรม ทั้งภายนอกภายใน
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 25 สิงหาคม 2564