แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เรามีการทำวัตรสวดมนต์ทุกเช้าและเย็น บทสวดที่เราสวด จะมีครึ่งแรกที่สาธยายถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นการเจริญพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ เป็นการทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า การสวดมนต์เป็นการทำกรรมฐานได้
หากว่าเราสวดเป็น สวดถูก ก็จะเกิดความระลึกถึงในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ เรียกว่าอนุสติศาสตร์ ซึ่งจะทำให้เกิดศรัทธาที่แน่นแฟ้นมากขึ้น ศรัทธาเป็นธรรมะข้อสำคัญในพุทธศาสนา ถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยทำให้เกิดพลัง พลังในการทำความดี พลังนี้ท่านเรียกว่าพละ ศรัทธาเป็นหนึ่งในพละ 5 โดยเฉพาะศรัทธาที่มีต่อสิ่งดีงาม อันได้แก่ พระรัตนตรัย เมื่อมีศรัทธาแล้ว มันก็จะทำให้เกิดใจที่น้อมไปในทางเดียวกับสิ่งที่เรานับถือสิ่งที่เราศรัทธา
พระรัตนตรัย เป็นตัวแทนแห่งความดีงามสูงสุด เมื่อมีศรัทธาในความเชื่อ ความมั่นใจในพระรัตนตรัย ใจก็น้อมไปในทางนั้น จากความเชื่อมั่นก็กลายเป็นความเชื่อฟัง แล้วก็ใจก็น้อมไปในทางที่ดีงาม โดยการนำเอาคำสอนหรือว่าแบบอย่างของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงเป็นพระธรรม หรือที่พระสงฆ์ได้นำมาปฏิบัติ มาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตของเรา
ที่จริงเพียงแค่น้อมนึกถึงสิ่งที่เราศรัทธา ถ้าเป็นศรัทธาในสิ่งที่ดีงาม เช่น ศรัทธาในพระรัตนตรัย ศรัทธาในคุณงามความดี มันก็ทำให้เกิดคุณธรรมอื่นๆตามมา เช่น เมื่อมีศรัทธา ก็ทำให้เกิดปราโมทย์ ปราโมทย์ก็คือความเบิกบานใจ ปราโมทย์ก็ทำให้เกิดปีติอิ่มเอิบใจ ปีติทำให้เกิดปัสสัทธิ ความผ่อนคลายกายและใจ แล้วก็เกิดสุข สุขก็นำไปสู่สมาธิ สมาธิก็สามารถทำให้เกิดปัญญาขึ้นมาได้
จะเห็นได้ว่า ศรัทธา เป็นธรรมะที่ช่วยชักนำคุณธรรมอื่นๆที่ดีงามให้เกิดขึ้นในจิตใจของเรา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องเป็นศรัทธาในสิ่งที่ดีงาม การที่เราจะมีศรัทธาในสิ่งที่ดีงามได้ มันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่าองค์ประกอบที่ช่วยทำให้ศรัทธานั้นเป็นไปในทางที่เชื่อมั่น หมายมุ่งโน้มน้อมไปยังสิ่งที่ดีงาม ถ้าศรัทธาผิด โดยเฉพาะศรัทธาที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา มันก็นำไปสู่ความงมงาย แล้วก็นำไปสู่ความหลงผิดได้
เราก็มีตัวอย่างมากมาย คนที่ศรัทธาในสิ่งที่ผิด โดยเฉพาะศรัทธาในตัวบุคคลที่ไม่ได้เป็นผู้ที่มีคุณธรรม พอศรัทธาผิดคน มันก็ทำให้ชีวิตก็ตกต่ำย่ำแย่ อาจจะตกเป็นเครื่องมือของเขา หรือว่าชักนำไปให้กระทำในสิ่งที่เกิดโทษ อันนี้เป็นศรัทธาที่งมงาย ไม่ประกอบด้วยปัญญา
ศรัทธาที่งมงาย มันไม่ได้หมายความเฉพาะว่าศรัทธาที่คนผิดเท่านั้น แม้กระทั่งศรัทธาในบุคคลที่ดีงามเป็นบัณฑิต เป็นผู้ที่มีคุณธรรม แต่ถ้าศรัทธานั้นเป็นศรัทธาที่งมงาย มันก็ทำให้เกิดปัญหาเหมือนกันเพราะมันทำให้เกิดความยึดติด ยึดติดในตัวบุคคลจนกระทั่งไม่มีวิจารณญาณ หรือว่าไม่รู้จักใช้ความคิดหรือคิดเป็น ไม่เป็นตัวของตัวเอง
อันนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกศิษย์ลูกหาของครูบาอาจารย์หลายท่าน ซึ่งแม้ว่าท่านจะเป็นผู้ที่มีคุณธรรมมีความดีงาม แต่พอลูกศิษย์ลูกหาเกิดความศรัทธาที่งมงายคือยึดติดในตัวบุคคล จนกระทั่งไม่มีการใช้เหตุใช้ผลด้วยตัวเอง พอครูบาอาจารย์ล้มหายตายจากไป ผู้ที่ศรัทธาในตัวบุคคล หรือยึดติดในตัวบุคคลก็จะเรียกว่าขาดหลักขาดที่พึ่งไปเลย
เพราะว่าไม่รู้จักพึ่งตนตั้งแต่แรก โดยอาศัยศรัทธาที่มีต่อครูบาอาจารย์เป็นเครื่องกระตุ้นให้เกิดการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง จนกระทั่งสามารถจะเกิดสติปัญญาหรือเกิดคุณธรรมขึ้นมาในตัวเอง จนเป็นที่พึ่งของตนได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่อาจจะต้องระมัดระวังเอาไว้ ศรัทธาในครูบาอาจารย์จนกระทั่งไม่มีสติปัญญาของตัวเองหรือไม่สามารถจะเป็นที่พึ่งของตนเองได้
หลวงพ่อชา ท่านเคยพูดกับลูกศิษย์ ท่านให้ข้อคิดที่น่าสนใจ ท่านบอกว่า ถ้ามองจากภายนอก ผมปฏิบัติดีพร้อมหมดทุกอย่าง ก็คงจะแย่ เพราะพวกคุณจะยึดติดผมยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น การที่ครูบาอาจารย์ปฏิบัติดีพร้อมหมดทุกอย่างนี่บางทีมันก็เกิดโทษต่อลูกศิษย์ เพราะทำให้ลูกศิษย์ยึดติดมากยิ่งขึ้น แล้วพอยึดติดมากยิ่งขึ้น ก็ไม่มีวิจารณญาณของตัวเอง
หลวงพ่อชาบอกว่า ถ้าเกิดยึดติดผมมาก ผมว่าแดงเป็นเขียว หรือผมว่าผู้ชายเป็นผู้หญิง พวกท่านก็จะว่าตามผมหมดซึ่งก็จะกลายเป็นเข้ารกเข้าพง เพราะฉะนั้น การยึดติดในครูบาอาจารย์เพราะมีศรัทธา ถ้าเกิดเป็นศรัทธาที่งมงาย มันก็จะเกิดความยึดติดในครูบาอาจารย์อย่างเหนียวแน่นซึ่งก็จะเกิดโทษแก่ตัวเอง อย่างที่หลวงพ่อชาท่านเปรียบไว้ว่า เชื่อตามครูบาอาจารย์ว่าทุกอย่างเลย โดยที่ไม่มีความเห็นของตัวเองหรือไม่รู้จักใช้วิจารณญาณของตัวเอง
หรือบางครั้งครูบาอาจารย์ปฏิบัติอะไรที่ไม่ถูกใจ ลูกศิษย์ก็อาจจะเกิดความเสียใจเพราะว่า ความยึดติดที่เหนียวแน่นมันย่อมทำให้เกิดความผิดหวังได้ง่าย เมื่อบุคคลที่ตัวเองศรัทธาไม่เป็นไปอย่างที่ตัวเองคิด ไม่เป็นไปอย่างที่ตัวเองคาดหวัง
อย่างมีครูบาอาจารย์บางท่าน วันดีคืนดีก็สึกหาลาเพศไป แล้วก็ไปมีครอบครัว ลูกศิษย์ตกตะลึง เสียใจ มีหลายคนก็เกิดความโกรธ เกิดความคับแค้นใจ จากเคยศรัทธาครูบาอาจารย์ก็กลายเป็นเกลียดครูบาอาจารย์ท่านนั้นไปเลย หรือบางคนก็บอกว่าไม่นับถือพระแล้ว หรือบางคนก็ถึงกลับบอกว่าไม่นับถือพุทธศาสนาแล้ว เพราะความผิดหวัง เกิดจากความยึดติดถือมั่นในครูบาอาจารย์อย่างเหนียวแน่น
หรือครูบาอาจารย์ วันดีคืนดีท่านรับสมณศักดิ์ ลูกศิษย์ลูกหาหลายคนก็ผิดหวังเสียใจ บอกว่าท่านอาจารย์สอนว่าไม่ให้ติดสมมุติ แล้วทำไมรับสมณศักดิ์ ก็เกิดความไม่พอใจ เกิดความโมโหโกรธา เกิดความผิดหวัง หรือเกิดความเสื่อมศรัทธาไปเลย เรียกว่าเป็นการสวิง เหวี่ยงกลับ จากศรัทธายึดติดเหนียวแน่นกลายเป็นหมดศรัทธา ซึ่งก็ทำให้ขาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้สิ่งดีๆจากครูบาอาจารย์
ลองสังเกตเวลามีศรัทธาในตัวบุคคล เนื่องจากว่าไม่ได้ใช้วิจารณญาณ เพราะเป็นศรัทธาที่งมงาย มักจะมองไปที่อากัปกิริยาภายนอกของครูบาอาจารย์ หลวงพ่อชาท่านเล่าว่าสมัยหนึ่ง ท่านเคยไปปฏิบัติกับหลวงพ่อท่านหนึ่ง หลวงพ่อท่านนี้เป็นอาจารย์กรรมฐานที่ท่านนับถือมาก แต่ท่านก็รู้สึกแปลกใจ รู้สึกขัดเคืองใจ เพราะว่าหลวงพ่อฉันเร็วและฉันเสียงดัง
แต่บอกให้ลูกศิษย์ว่าฉันช้าๆฉันอย่างมีสติ ท่านก็เฝ้ามองหลวงพ่อ แล้วก็เกิดความขัดเคืองใจว่า สอนอย่างทำอย่าง แต่ตอนหลัง ท่านจึงมาได้รู้ว่า ถึงแม้หลวงพ่อจะฉันเร็วฉันเสียงดัง แต่ว่าท่านฉันอย่างมีสติ เหมือนกับคนบางคนขับรถเร็ว แต่ว่าระมัดระวัง ขณะที่บางคนขับช้าแต่ว่าประมาทหรือว่าเลินเล่อ
ท่านก็ได้ข้อคิดว่า เวลาจะดูครูบาอาจารย์ อย่าไปดูแต่ภายนอก ให้รู้จักมองไปถึงภายในด้วย ซึ่งตรงนี้ต้องใช้ปัญญา มองจากภายนอกมันเห็นชัด แต่ว่ามันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่สะท้อนถึงตัวตนหรือคุณธรรมของครูบาอาจารย์ก็ได้
และเพราะคนเราชอบติดยึดแต่ภายนอก เราชอบมองแต่ภายนอก ก็เลยยึดติดอย่างผิวเผินอย่างฉาบฉวยได้ หลวงพ่อชา ท่านจึงไม่พยายามที่จะทำ ปฏิบัติให้ดีพร้อม เพราะว่าอย่างที่ท่านบอก ถ้าผมปฏิบัติดีพร้อมหมด ก็คงจะแย่ เพราะลูกศิษย์ลูกหาก็จะยึดติดผมยิ่งขึ้น ครูบาอาจารย์หลายท่านจะทำบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้ลูกศิษย์ตกตะลึงหรือไม่คาดคิด
อาจารย์พุทธทาส ท่านก็มีอุบายสอนลูกศิษย์แบบนี้เหมือนกัน ซึ่งอาจจะขัดกับความเข้าใจของคนทั่วไป ครูบาอาจารย์ต้องดีพร้อม แต่ครูบาอาจารย์ท่านกลับบอกว่า ดีพร้อมนั่นแหล่ะ โดยเฉพาะอากับกริยาจากภายนอก มันสามารถจะทำให้เกิดศรัทธาที่งมงายได้ คือเกิดความยึดติดในครูบาอาจารย์อย่างเหนียวแน่นซึ่งจะไม่เป็นผลดีกับลูกศิษย์
เพราะฉะนั้น ต้องหาทางทำให้ลูกศิษย์ไม่ยึดติดในครูบาอาจารย์ ให้รู้จักหันมาพึ่งตนเอง ท่านก็ทำอะไรบางอย่างที่ทำให้ลูกศิษย์ไม่เข้าใจ หรือว่าไม่เป็นไปดั่งใจ อันนี้ก็เพื่อทำให้ลูกศิษย์นี้ไม่เกิดศรัทธาที่งมงาย จนกระทั่งไม่รู้จักพึ่งตัวเอง แต่การที่จะไม่มีศรัทธาที่งมงายได้ มันต้องมีปัญญา ศรัทธาที่ดีที่ถูกคือศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญา เรียกว่าศรัทธาญาณสัมปยุต คือ ศรัทธาที่มีปัญญาเป็นตัวกำกับ
ถ้าศรัทธามีปัญญาเป็นตัวกำกับแล้ว มันก็ทำให้เป็นศรัทธาที่ถูกต้อง ไม่หวั่นไหว แล้วก็ไม่ผิดพลาด ในสมัยพุทธกาลมีอุบาสกท่านหนึ่งชื่อกุรพันทะ วันหนึ่งได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า เกิดดวงตาเห็นธรรม พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเรื่องขันธ์ 5 ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน กุรพันทะพิจารณาก็เกิดปัญญา เห็นธรรมขึ้นมา
พอพระองค์เสด็จกลับ มารก็เห็นว่ากุรพันทะถ้ามีดวงตาเห็นธรรมแล้ว ต่อไปก็จะพ้นจากอำนาจของมารหรือพ้นจากบ่วงแห่งมาร มารไม่ยอม ต้องหาทางพยายามที่จะสั่นคลอนความเชื่อของกุรพันทะ ก็เลยแปลงกายเป็นพระเจ้า แล้วก็เดินมาหาปุรพันธะอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็พูดกับปุรพันธะว่า เมื่อกี้ที่เราได้แสดงธรรมให้ท่าน ยังขาดไปอีกอย่างหนึ่ง
ที่บอกว่า ขันธ์ทั้ง 5 เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่จริงมันมีขันธ์บางอย่าง ที่เที่ยง ที่เป็นสุข แล้วก็เป็นตัวตน ปุรพันธะ พิจารณาดูแล้วก็แปลกใจ พระพุทธเจ้าสอนไม่เหมือนกัน ตอนแรกก็พูดอย่างหนึ่ง ตอนหลังพูดอีกอย่างหนึ่ง ขัดแย้งกัน สงสัยจะไม่ใช่พระพุทธเจ้าแล้ว ก็เลยพูดขึ้นมาว่าท่านคือมารใช่ไหม มารก็ตกใจว่าปุรพันธะรู้แล้ว ก็เลยยอมรับ แล้วก็หนีไปเลย
อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของผู้ที่มีศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญา ก็คือว่าไม่ได้เชื่อง่าย ไม่ใช่ว่าโอ๊ย เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้วตรัสอย่างไรก็ต้องเชื่อทุกอย่าง แต่ปุรพันธะพิจารณาแล้วการตรัสของพระพุทธเจ้าในหนที่ 2 มันไม่ใช่ มันไม่ถูก ก็เลยไม่ยอมเชื่อ แล้วก็พิจารณาต่อไป เชื่อว่า นี้ไม่ใช่พระพุทธเจ้า มันคือมาร ถ้าเป็นคนธรรมดาก็จะเชื่อ เชื่อง่าย พระพุทธเจ้าตรัสอย่างไรก็เชื่อ
อันนี้เป็นตัวอย่างของผู้ที่มีศรัทธามั่นคง ตอนหลังพระพุทธเจ้าก็เลยยกย่องให้ปุรพันธะ เป็นอุบาสิกาที่เป็นเอตทัคคะด้านศรัทธาที่ไม่หวั่นไหว
ศรัทธาที่ผิด นอกจากได้แก่ศรัทธาที่งมงายแล้ว มันยังมีศรัทธาอีกชนิดหนึ่งที่ผิดเหมือนกัน คือศรัทธาที่เจือด้วยกิเลส และกิเลสตัวนี้ที่สำคัญคือตัวมานะ หรือตัวอัตตา คือหลายคนศรัทธาครูบาอาจารย์ก็เพราะว่าต้องการตอบสนอง หรือพนออัตตาของตัว โดยเฉพาะอาจารย์ผู้ที่มีชื่อเสียง มีคนเคารพนับถือมาก ถ้าได้ชื่อว่าศรัทธาอาจารย์องค์นี้ หรือว่าได้ชื่อเป็นลูกศิษย์อาจารย์ท่านนี้แล้ว ตัวเองก็จะพลอยมีหน้ามีตา หรือว่าสามารถไปอวดใครได้
มีคนจำนวนไม่น้อยที่ศรัทธาครูบาอาจารย์แบบนี้ คือไม่ได้คิดที่จะฟังคำสอน หรือว่านำคำสอนไปปฏิบัติ อาจจะมีเหมือนกันที่นับถือเพราะว่าคำสอนถูกใจตัวเอง สอดคล้องกับคติความเชื่อของตัวเอง ก็เลยนับถือ แต่ถ้าเมื่อใดครูบาอาจารย์สอนหรือพูดไม่ตรงกับความเห็นของตัว แตกต่างความเห็นของตัวหรือความเชื่อของตัว ก็ไม่พอใจ แบบนี้ก็มี
เพราะไม่ได้เป็นศรัทธาที่น้อมไปในทางที่พร้อมจะเชื่อฟังและนำไปปฏิบัติ แต่ว่าศรัทธาตัวบุคคลเพื่อที่จะมาสนองตัวตนหรืออัตตาของตัว หรือว่าสนองมานะทิฐิของตัว ที่สนองมานะนี้มีเยอะทีเดียว เช่น ชอบไปพูดไปอวดว่าฉันเป็นลูกศิษย์อาจารย์ท่านนั้นท่านนี้ อันนี้ก็เพื่อตัวเองจะได้มีหน้ามีตา
เดี๋ยวนี้ที่ทำบ่อยคือว่าไปพบอาจารย์ท่านไหนก็อยากจะถ่ายรูปคู่กับท่าน ไม่ใช่เพื่อเป็นสิริมงคลเท่าไรแต่เพื่อจะได้อวดว่าฉันเป็นลูกศิษย์อาจารย์ท่านนั้นท่านนี้ เพื่อตนเองจะได้เป็น Somebody เพราะกลัวตัวเองเป็น Nobody แบบนี้ก็เป็นศรัทธาที่ผิดเหมือนกัน
เพราะว่ามันเป็นศรัทธาที่ไม่ได้มุ่งนำไปสู่การลดละกิเลส แต่ว่ามันทำให้กิเลสเพิ่มพูน เป็นการพนออัตตา เป็นการปรนเปรออัตตา ซึ่งมันก็เกิดโทษ วันดีคืนดี อาจารย์เกิดทำอะไรบางอย่างที่ไม่ไปพนออัตตาตัวเอง ก็จะเกิดความผิดหวัง เกิดความคับแค้น เกิดความไม่พอใจ
อย่างมีเรื่่องเล่าในสมัยพุทธกาล มีคราวหนึ่งพระสารีบุตรจะออกธุดงค์ ตอนนั้นพระสารีบุตรก็อยู่ที่เชตวัน วันที่จะออกจากเชตวันก็มีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมากมายืนต้อนรับ ยืนเป็นแถวเพื่อที่จะอำลาพระสารีบุตรท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่สุภาพเรียบร้อย ท่านก็ทักทายพระที่ยืนเรียงเป็นแถว ถามชื่อถามโคตร แต่มีพระรูปหนึ่งที่มายืนรอส่ง ปรากฏว่าพระสารีบุตรไม่ได้ทักทาย
โกรธมาก ความโกรธเกิดจากอะไร เกิดจากการที่พระสารีบุตรไม่เห็นท่านอยู่ในสายตา อยากจะเป็นคนสำคัญในสายตาของพระสารีบุตร ความอยากแบบนี้เกิดขึ้นได้ ในส่วนหนึ่งเพราะมีศรัทธา ศรัทธาในพระสารีบุตร คนเราพอศรัทธาในครูบาอาจารย์ ก็อยากให้ครูบาอาจารย์ให้ความสำคัญ อยากจะได้รับการทักทายจากครูบาอาจารย์ อยากจะเป็นคนสำคัญในสายตาครูบาอาจารย์ แต่พอครูบาอาจารย์ไม่เห็น ก็เลยรู้สึกว่าไม่มีความสำคัญ ก็เกิดความไม่พอใจ เกิดความโกรธถึงขั้นแค้นเลย
ก็เลยไปทูลพระพุทธเจ้าว่า พระสารีบุตรมาเดินกระทบถูกตัวเอง มาทำร้าย ทั้งที่จริง เพียงแค่ชายสังฆาฏิของพระสารีบุตรไปถูกตัวของพระรูปนั้นนิดหน่อย แต่ว่าพระรูปนั้นเนื่องจากความโกรธมาพร้อมกับความโกรธ โกรธเพราะผิดหวัง ผิดหวังเพราะอะไร ผิดหวังเพราะว่าไม่อยู่ในสายตาของพระสารีบุตร หรือว่าไม่ได้รับความสำคัญเพียงพอ
อันนี้เป็นศรัทธาที่มุ่งสนองกิเลส ก็เลยกลายเป็น จากศรัทธา ก็เลยกลายเป็นความโกรธ ก็เลยหาเรื่องแก้แค้น ไปทูลฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทราบดีว่า เรื่องจริงๆเป็นยังไง เพราะพระสารีบุตรไม่มีทางเลยที่จะทำร้ายใครได้ แต่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ก็เลยตอบเรียกพระสารีบุตรมา เพื่อพิจารณาอธิกรณ์ สุดท้ายก็เป็นที่ชัดเจนว่า เรื่องไม่ได้เป็นแบบที่พระรูปนั้นกล่าวหา พระรูปนั้นก็ดีตอนหลังยอมรับ
อันนี้เป็นตัวอย่างว่า พอศรัทธาในตัวบุคคล มันเป็นศรัทธาที่ผิด เป็นศรัทธาที่มุ่งสนองปรนเปรอกิเลส หรือพนออัตตาของตัว พออัตตาไม่ได้รับการเหลียวแล หรือว่าไม่ได้รับการพนอ พอครูบาอาจารย์มองไม่เห็น ก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ความสำคัญ มันก็เกิดความรู้สึกโกรธแค้นขึ้นมา มันก็เหวี่ยงกลับ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง
เวลาเรามีศรัทธาในตัวบุคคล ก็ต้องตรวจสอบให้ดีว่า ศรัทธาของเราเป็นศรัทธาที่ถูกหรือผิด เป็นศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญา หรือว่าเป็นศรัทธาที่งมงาย เป็นศรัทธาที่สนองปรนเปรออัตตากิเลส หรือว่าเป็นศรัทธาที่นำไปสู่การลดละกิเลส ลดละอัตตา ถ้าเป็นศรัทธาที่ถูก มันก็จะมีแต่ทำให้อัตตากิเลสเบาบางลง เพราะว่านำเอาคำสอนของครูบาอาจารย์มาปฏิบัติ มีความเชื่อฟัง มีความอ่อนน้อมถ่อมตน
เดี๋ยวนี้ศรัทธาของผู้คน แม้กระทั่งที่เรียกตัวเองเป็นชาวพุทธ ที่ผิดพลาดก็เยอะ ศรัทธาที่งมงาย ศรัทธาที่มุ่งปรนเปรอกิเลสอัตตา ซึ่งเราก็ต้องรู้จักหมั่นพิจารณา แม้กระทั่งเวลาครูบาอาจารย์พูดอะไรก็อย่าเพิ่งเชื่อง่ายๆ อันนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้เลยในกาลามสูตร อย่าเชื่อเพียงเพราะผู้พูดเป็นครูของเรา ต้องรู้จักใช้ปัญญาพิจารณา มีวิจารณญาณของตัวเอง มันก็จะทำให้ศรัทธานั้นมันไม่ใช่เป็นการยึดติดในตัวบุคคล
แต่ว่ามันเป็นศรัทธาที่จะช่วยน้อมให้เกิดความเชื่อมั่นในการที่จะปฏิบัติตาม จนกระทั่งสามารถพึ่งตัวเองได้ สามารถที่จะเข้าใจความจริงได้ด้วยตัวเอง ไม่ถูกใครหลอกให้หลงเชื่อง่ายๆ แม้ว่าเขาจะอ้างว่าเป็นคำสอนของครูบาอาจารย์ หรือแปลงกายมาเป็นพระพุทธเจ้าอย่างมารในเรื่องที่ว่า
พิจารณาว่าศรัทธาที่เรามีต่อครูบาอาจารย์ รวมทั้งศรัทธาในพระรัตนตรัยเป็นศรัทธาที่ถูกต้องไหม เป็นศรัทธาญาณสัมปยุตหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ มันก็จะนำพาไปสู่ความผิดพลาดหรือว่าทำให้กิเลสเพิ่มพูนขึ้นมาได้
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 24 สิงหาคม 2564