แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ค่ำคืนที่่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ หลายคนหลายท่านได้ทำความเพียรมาปฏิบัติธรรมด้วยความตั้งใจจนกระทั่งสามารถที่จะเอาชนะความง่วง เอาชนะอุปสรรคหลายอย่างตลอดค่ำคืน หลายท่านได้มาปฏิบัติทำความเพียรตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 แล้วต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้
จำนวนไม่น้อยก็ปฏิบัติตามลำพังที่บ้าน ซึ่งก็ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายเลย จึงทำความเพียรเช่นนี้ได้จนมาถึงเวลานี้ เชื่อว่าส่วนใหญ่เป็นเพราะมีความศรัทธาในหลวงพ่อคำเขียน และจากศรัทธาที่ว่านี้เกิดจากที่ได้พบได้รู้จักได้สัมผัสกับหลวงพ่อ ขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่จากหนังสือของท่าน หรือจากเทปหรือซีดีที่ได้ฟังได้ดู
ผู้ที่ได้รู้จักกับหลวงพ่อ ไม่ว่ามากหรือน้อย ไม่ว่าในฐานะพระ แม่ชีหรือโยม ต่างก็มีความประทับใจหลวงพ่อในลักษณะที่ต่างกัน เพราะหลวงพ่อมีหลายแง่หลายด้านที่น่าศรัทธา น่าชื่นชม บางคนก็ศรัทธาเพราะหลวงพ่อเป็นผู้ที่ห่วงใยรักษาป่า ทุ่มเทเพื่อการรักษาธรรมชาติ บ้างก็ประทับใจที่หลวงพ่อได้สอนธรรมให้เข้าใจหรือว่าสามารถที่จะชี้นำให้เกิดความกระจ่างในธรรมะได้
จำนวนไม่น้อยก็ประทับใจในความเมตตาของหลวงพ่อ กับความสงบ เย็น สุภาพ อ่อนโยน นุ่มนวล หลายท่านประทับใจในความตั้งมั่น มั่นคง ไม่หวั่นไหวในโลกธรรมของหลวงพ่อไม่ว่าฝ่ายลบหรือฝ่ายบวก ขึ้นหรือลง ท่านก็สงบนิ่ง ไม่ยินดีไม่ยินร้าย แต่ไม่ว่าเราจะประทับใจในคุณธรรมด้านใดของหลวงพ่อโดยเฉพาะที่หลายคนพูดถึงคือความสงบเย็นมีเมตตาได้สัมผัส อยู่ใกล้เมื่อไหร่ก็พลอยสงบเย็นพลอยนิ่งไปด้วย
อันนั้นเป็นประสบการณ์ที่ดีที่ยากจะลืมเลือน แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่า คุณธรรมเหล่านั้นเป็นของหลวงพ่อไม่ใช่ของเรา ความเมตตา ความสงบเย็น ความตั้งมั่นของหลวงพ่อ จะว่าไปแล้วก็ได้จากไปพร้อมกับสังขารของหลวงพ่อ คงเหลือไว้แต่ความทรงจำ ความประทับใจ แต่มันก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวเราในตัวเราด้วย
แต่แม้กระนั้นก็ควรทำให้สิ่งนั้นให้มีในตัวเราด้วย ราประทับใจในความเมตตา ความสงบเย็น ความตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวของหลวงพ่อ ก็ควรจะทำให้สิ่งนั้นมันเกิดขึ้นในใจเรา ในตัวเราด้วย แต่จะทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพียงความอยาก ความปรารถนา หรือว่าความชื่นชมอยากให้มีขึ้นในตัวเราเท่านั้นมันไม่เพียงพอที่จะทำให้คุณธรรมหรือสภาวธรรมเป็นเนื้อเป็นตัวเราได้
จะทำอย่างนั้นได้ต้องอาศัยการปฏิบัติ เพราะถ้าไม่ปฏิบัติแล้วแม้เราจะอยากเพียงใดก็เกิดขึ้นไม่ได้ หลวงพ่อคำเขียนเอง ก่อนหน้าที่เราจะเห็นท่านอย่างที่เราประทับใจ ท่านก็ไม่ได้มีลักษณะอาการอย่างนั้นไม่ได้มีอุปนิสัยอย่างนั้น หลวงพ่อบอกว่าก่อนหน้านั้นท่านก็ไม่ได้เป็นคนรักธรรมชาติ เจอต้นไม้ก็ตัด ก็ไม่ได้มีความห่วงใยในต้นไม้เลย อีกทั้งอุปนิสัยหลายอย่างก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เราเห็น
หลวงพ่อเคยกล่าวว่าถ้าหลวงพ่อไม่ได้มาทางนี้คือมาทางธรรม ไม่รู้ธรรม หลวงพ่อตายไปแล้ว เพราะว่าตอนเป็นโยมเป็นคนที่อยากมั่งมีมากกว่าใคร เวลาเกี่ยวข้าว คนอื่นเกี่ยวได้ 50 กอง หลวงพ่อต้องเกี่ยวให้ได้ 100 กอง มันไม่นึกแข่งอยู่ในใจ อยากทำอะไรให้เกินกว่าคนอื่นอยู่เสมอ อาจจะเรียกว่าเป็นความอยากเอาชนะหรือความอยากให้มีมากกว่าคนอื่นก็ได้ อุปนิสัยอย่างนี้ก็ทำให้ท่านล้มป่วยเสมอ
ถ้าไม่มีธรรมะหรือไม่มาทางนี้ ก็คงจะตายไปแล้ว แต่ว่าธรรมะทำให้ท่านเปลี่ยน จากคนที่ไม่เคยรักธรรมชาติก็เกิดความหวงแหนห่วงใยธรรมชาติ อุทิศตนเพื่อการฟื้นฟูป่า ถึงจะบอกว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตที่เหลืออุทิศตนให้กับป่าให้กับธรรมชาติ อีกครึ่งหนึ่งก็ให้กับการสอนกรรมฐาน ธรรมะทำให้หลวงพ่อท่านกลายเป็นคนที่สงบเยือกเย็นมีเมตตา เอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้อื่น
ถ้าเราอยากจะได้สัมผัสกับความสงบเย็น อยากให้มันเกิดขึ้นในตัวเรา เราก็ต้องปฏิบัติ แล้วเราจะปฏิบัติอย่างไร ตรงนี้หลวงพ่อมีคุณูปการมาก เพราะว่าท่านไม่เพียงแต่มีความเย็นให้เราสัมผัสได้ แต่ท่านยังบอกวิธีการที่จะช่วยให้เราได้พบกับความสงบเย็น หายรุ่มร้อน แล้วก็มีจิตใจที่ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรมไม่ว่าฝ่ายบวกหรือฝ่ายลบ ท่านสอนหลายแง่หลายด้าน
แต่คำสอนที่สำคัญมาก ซึ่งนำไปปฏิบัติได้เลย เป็นคำสอนที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ซึ่งพวกเราได้ยินได้ฟังบ่อยๆ คือ เห็น อย่าเข้าไปเป็น หรือว่ารู้ซื่อๆ อันนี้เป็นวิธีการที่กระชับมากเลยแล้ว เราอาจจะไม่มีความรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับเรื่องปฏิจจสมุปบาท อิทัปปัจจยตาหรือว่าแม้แต่อริยสัจ 4 แต่เพียงแค่เราแค่เห็นไม่เข้าไปเป็น มันก็ช่วยทำให้จิตใจเราหายรุ่มร้อน แล้วก็สงบเย็นอย่างผู้รู้ ผู้ตื่น ด้วย
ไม่ใช่สงบเย็นด้วยความหลง เห็น ไม่เข้าไปเป็น หรือรู้ซื่อๆ จะเรียกว่าเป็นวิธีการที่อเนกประสงค์และสารพัดประโยชน์มาก สามารถจะใช้ได้ในทุกเหตุการณ์ทุกสถานการณ์ไม่ว่ายามสุขยามทุกข์ ยามปกติหรือยามป่วย มันเป็นวิธีการที่ใช้ได้ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติ จนกระทั่งถึงความสิ้นทุกข์เลยก็ว่าได้
มันเปรียบเหมือนกับแม่ไม้เลย ท่ามวยไทยก็มีแม่ไม้ มันเป็นวิธีการที่ไม่ว่าจะเจออะไรมา อยู่ในสถานการณ์ใด ขอให้เห็นอย่าเข้าไปเป็น แล้วก็ทำให้ความทุกข์ซึ่งเป็นธรรมดาของปุถุชน ไม่สามารถมีอิทธิพลเหนือชีวิตจิตใจเราได้ ไม่ใช่ว่ามันไม่เกิดขึ้น มันอาจจะเกิด แต่ว่ามันไม่สามารถจะครองจิตครองใจของเราได้ ก็ทำให้เราได้สัมผัสความอิสระ อิสระจากความคิดและอารมณ์อกุศลซึ่งยังเป็นธรรมดาของปุถุชน
รู้ซื่อๆก็เหมือนกันมันคู่กันเลย เพราะว่า จะเห็น ไม่เข้าไปเป็นได้ ก็เพราะการรู้จักดู ดูเฉยๆ ดูเฉยๆก็ทำให้เกิดอาการรู้สึกซื่อๆ ไม่ผลักไสและก็ไม่ไหลตามไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันจะเป็นความเจ็บ ความปวด เป็นความโกรธ เป็นความเกลียด เป็นความดีใจ เป็นความปลาบปลื้ม เป็นความสงบก็แล้วแต่ สิ่งเหล่านี้มันเป็นวิธีการขั้นพื้นฐานเลย เราสามารถจะมีขึ้นได้ในตัวเรา ในจิตใจของเรา
และวิธีการเหล่านี้ มันจะทำให้เราเห็นเลยว่า จริงๆแล้ว แม้จะมีความทุกข์ แต่เราไม่เป็นทุกข์ก็ได้ ทุกข์จะไม่เป็นสิ่งที่น่ากลัวหรือเลวร้าย จนกระทั่งทำให้เราหมดเนื้อหมดตัว หรือว่าตกต่ำย่ำแย่จนเสียศูนย์ หรือเสียผู้เสียคน ที่จริงนอกจากคำสอนเกี่ยวกับวิธีการที่หลวงพ่อมอบเป็นมรดกธรรมให้กับเราแล้ว ยังมีอีกอย่างหนึ่งที่มีคุณค่ามากเลย เป็นคำสอนเกี่ยวกับท่าที ท่าที่เกี่ยวกับความทุกข์หรือต่ออารมณ์อกุศล เช่นความโกรธความหลง
ในระยะหลัง หลวงพ่อจะมีคำพูดที่บ่อย ประโยคอย่างนี้ว่า ในทุกข์มีความไม่ทุกข์ ในโกรธมีความไม่โกรธ ในหลงมีความไม่หลง หรือบางทีก็พูดว่าเปลี่ยนความทุกข์ให้กลายเป็นความไม่ทุกข์ เปลี่ยนความหลงให้กลายเป็นความไม่หลง บางทีฉันก็พูดว่า ทุกข์ทำให้ไม่ทุกข์ โกรธทำให้ไม่โกรธ หลงทำให้ไม่หลง เป็นคำพูดเป็นคำสอนสำนวนที่เป็นเอกลักษณ์ของหลวงพ่อเลยก็ว่าได้
ซึ่งฟังดูอาจจะเข้าใจได้ยากหน่อย เพราะสวนทางกับความเข้าใจของพวกเรา โดยเฉพาะคนที่มาสนใจการปฏิบัติธรรม รวมทั้งคนทั่วไปด้วย เพราะคนทั่วไปมองว่าทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำจัดหรือว่าต้องผลักไส ความโกรธเป็นสิ่งที่ต้องกดข่ม ความหลงเป็นสิ่งที่ต้องเอาชนะ หลายคนก็มีความรู้สึกทางลบต่อสิ่งเหล่านี้
แต่คำสอนของหลวงพ่ออย่างที่ว่ามานี้ มันทำให้เรามองความทุกข์ ความโกรธ ความหลงในอีกมุมหนึ่ง ว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย มันก็มีประโยชน์ มันก็มีสิ่งดีๆที่ซ่อนอยู่ ในทุกข์มีความไม่ทุกข์ ในโกรธมีความไม่โกรธ ในหลงมีความไม่หลง ท่าทีแบบนี้เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยให้เราสามารถที่จะรู้ซื่อๆ เมื่อมีความทุกข์ มีความโกรธ มีความหลงขึ้นมา
หรือว่ารู้จักเห็นไม่เข้าไปเป็น เพราะว่าทุกข์ก็ดี โกรธก็ดี หลงก็ดี มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่เลวร้ายถ้าเราเกี่ยวข้องกับมันให้ถูก ถ้าเกี่ยวข้องกับมันได้ถูกมันกลับจะมีประโยชน์ด้วย เพราะทุกข์สามารถทำให้ไม่ทุกข์ได้ โกรธทำให้ไม่โกรธได้ หลงทำให้ไม่หลงได้
ทุกข์ในแง่หนึ่งอาจจะเปรียบเหมือนกับทุเรียน เปลือกทุเรียนหนา ถ้าไปแตะเมื่อไหร่ก็เจ็บ ไปกอดเมื่อไหร่ก็ปวด แต่ถ้าเราทิ้งทุเรียนไปเลย ไม่สนใจใยดี ก็เท่ากับว่าเราได้ละทิ้งสิ่งที่มีค่า เพราะภายใต้เปลือกทุเรียนมันมีเนื้อที่หอมหวาน แทนที่เราจะกอดมันหรือแทนที่เราจะทิ้งมัน ก็เฉาะเปลือกมันออก ก็จะมีของดีอยู่ในนั้น เนื้อที่หอมหวานอร่อย
ทุกข์ก็เหมือนกัน ในทุกข์ก็มีสิ่งดีๆอยู่ เช่น วิถีสู่ความไม่ทุกข์ หนทางสู่ความไม่ทุกข์ มันก็อยู่ในทุกข์นั่นแหละ เพราะฉะนั้นถ้าเราเพียงแต่พิจารณาทุกข์ในยามที่มันเกิดขึ้นกับเราโดยเฉพาะทุกข์ใจ ถ้าพิจารณามันด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่รังเกียจไม่ผลักไสมัน เราก็จะเห็นว่าในทุกข์มันมีหนทางแห่งความไม่ทุกข์ เริ่มตั้งแต่การที่เราได้เห็นเหตุแห่งทุกข์
เวลาจิตใจรุ่มร้อนเพราะความโกรธหรือเพราะความอยาก ถ้าเราไม่มัวส่งจิตออกนอกไปยังวัตถุที่เราโกรธ หรือว่าวัตถุสิ่งของที่เราอยาก เราก็จะเห็นว่ามันมีความยึดมั่นถือมั่นที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ ยึดมั่นถือมั่นในหน้าตา หรือในอัตตา หรือในสิ่งของสิ่งใดก็แล้วแต่ที่เมื่อถูกกระทบก็ทำให้โกรธ ยึดมั่นในสิ่งใดอยากให้มันมาปรนเปรอ มันก็ทำให้เกิดความอยากก็ตัณหาแล้วนำมาสู่ความรุ่มร้อน
ไม่ว่ายึดอะไร ยึดในสิ่งที่ให้ความสุขกับเราเช่น ทรัพย์สินเงินทอง คนรัก ชื่อเสียง งานการ มันก็ทำให้ทุกข์ ยึดมั่นในสิ่งที่ไม่รักเช่น ความโกรธ ความเกลียด ความเครียด ไปยึดไปหมายมั่น ไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง ก็ทำให้ทุกข์
เพราะฉะนั้นถ้าเราพิจารณาดู มันจะเห็นเหตุแห่งทุกข์ที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวทุกข์หรือในความทุกข์ และตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ เหตุแห่งทุกข์ตัวมันเองก็เฉยเหตุแห่งความไม่ทุกข์ ถ้าทุกข์เพราะยึดติด ทุกข์เพราะยึดมั่นถือมั่น ความไม่ทุกข์คืออะไรก็คือเกิดขึ้นได้จากการปล่อย และวาง มันก็ไม่ทุกข์ ความรุ่มร้อนเพราะโกรธหรือเพราะตัณหาก็แล้วแต่ มันก็จะบรรเทาเบาบางไป
ถ้าพิจารณาดู ในทุกข์มันจะมีกุญแจที่นำไปสู่ความไม่ทุกข์อยู่ เมื่อเราได้เห็นเหตุแห่งทุกข์ที่มันเกิดขึ้นในใจ เหตุแห่งความโกรธ เหตุแห่งความหลง แล้วมันก็จะเฉลย เหตุแห่งความไม่ทุกข์ เหตุแห่งความไม่โกรธ เหตุแห่งความไม่หลง อันนี้ในแง่หนึ่งก็คือ ความหมายของในทุกข์มีความไม่ทุกข์ ในโกรธมีความไม่โกรธ ในหลงมีความไม่หลง
และถ้าเราพิจารณาต่อไปแล้วก็จะเห็น ในทุกข์มีธรรม ธรรมในที่นี้คือสัจธรรม นอกจากเห็นเหตุแห่งทุกข์แล้วยังเห็นสัจธรรมที่ทุกข์มันแสดงออก หรือมันสื่อให้เราเห็น เพราะทุกข์มันเองก็ไม่เที่ยง หรือเป็นอนิจจัง มันก็ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ มันก็เป็นทุกขัง และมันก็ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา อันนี้คืออนัตตา
ถ้าเรารู้จักเห็นไม่เข้าไปเป็น มันก็สามารถจะเห็นทุกข์ เห็นโกรธเห็นหลงอย่างที่มันเป็น และก็จะได้เห็นสัจธรรมที่มันแสดง ซึ่งถ้าเข้าใจสัจธรรมที่ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็นำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ นำไปสู่ความไม่โกรธได้ นำไปสู่ความไม่หลงได้ แต่เราจะเห็นอย่างนั้นได้ก็เพราะสภาวะที่เรียกว่ารู้ซื่อๆนี่แหละ เพราะมันจะทำให้เราเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากเห็นหรือ สิ่งที่เคลือบแฝงด้วยอคติ ซึ่งทำให้เกิดความลำเอียง ทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง
แต่ใหม่ๆอาจจะยากที่เราจะเข้าใจประโยคนี้ หรือสามารถที่จะเห็นได้ว่า ในทุกข์มีความไม่ทุกข์ ในหลงมีความไม่หลง ในโกรธมีความไม่โกรธ แต่อย่างน้อยถ้าเราเริ่มปากการู้จักเปลี่ยนทุกข์ให้เป็นความไม่ทุกข์ เปลี่ยนหลงให้เป็นความไม่หลง เปลี่ยนโกรธให้เป็นความไม่โกรธได้ อันนี้ก็จะนำให้เราไปสู่ความเข้าใจ ในคำสอนเรื่อง ในทุกข์มีความไม่ทุกข์
เปลี่ยนความโกรธให้เป็นความไม่โกรธ เปลี่ยนทุกข์ให้เป็นความไม่ทุกข์ เปลี่ยนหลงให้เป็นความไม่หลง ได้อย่างไร ก็เปลี่ยนด้วยสติ เมื่อเราได้เจริญสติ ได้สัมผัสกับสติ โดยเฉพาะสติที่ชื่อว่าสัมมาสติ เราก็จะประจักษ์แก่ใจว่า ความทุกข์ไม่ต้องไปขับไสไล่ส่ง ความโกรธไม่จำเป็นต้องไปกดข่ม ความหลงไม่จำเป็นต้องไปเอาชนะมัน
เพียงแค่มีสติ มีสติเห็นความโกรธ ความไม่โกรธก็เกิดขึ้น มีสติเห็นทุกข์ ความไม่ทุกข์ก็เกิดขึ้น เมื่อมีสติรู้ทันความหลง ความหลงก็หายไป จริงๆแล้วความทุกข์กับความไม่ทุกข์ โกรธกับความไม่โกรธ หลงกับความไม่หลง มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกัน มันอยู่ด้วยกัน หรือมันก็เกื้อกูลกัน หรือมันก็เกี่ยวเนื่องกัน บางครั้งเรามองสิ่งต่างๆเป็นขั้วแล้วเรามองเห็นว่ามันอยู่คนละข้างกัน แต่ที่จริงไม่ใช่
ก็เหมือนกับ ขยะกับดอกไม้ ทุกข์กับความไม่ทุกข์ โกรธกับความไม่โกรธ หลงกับความไม่หลง มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกัน มันอยู่ด้วยกันหรือมันก็เกื้อกูลกัน หรือมันก็เกี่ยวเนื่องกัน บางครั้งเรามองสิ่งต่างๆเป็นขั้วและเรามองเห็นว่ามันอยู่คนละข้างกัน แต่ที่จริงไม่ใช่
ก็เหมือนกับ ขยะกับดอกไม้ เราเปลี่ยนขยะให้เป็นดอกไม้ได้ และดอกไม้ก็กลายเป็นขยะได้ ดอกไม้กับขยะไม่ใช่เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกันเลย มันอยู่ด้วยกันหรือมันก็เกี่ยวเนื่องกัน ดอกไม้เมื่อเวลาผ่านไปก็กลายเป็นขยะ แต่ในขณะเดียวกันขยะก็ทำให้เกิดดอกไม้เพราะเมื่อมีปุ๋ย ต้นไม้ก็เจริญงอกงาม ดอกไม้ก็งอกงามขึ้นมา
เช่นเดียวกับทุกข์กับธรรม ไม่ได้แยกจากกัน ในทุกข์ก็มีธรรม และทุกข์ก็สามารถจะเป็นปัจจัยให้เกิดการตรัสรู้ขึ้นมาได้ ท่านติชนัทฮันห์ พูดสรุปไว้ได้อย่างงดงามมากเป็นภาษาอังกฤษ 4 คำว่า No Mud, No Lotus ไม่มีโคลนตมก็ไม่มีดอกบัว ดอกบัวที่สวยงาม แต่มันเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะมีโคลนตม อันนี้เป็นอุปมาอุปไมย การตรัสรู้เปรียบได้กับดอกบัว ก็เพราะความทุกข์ ก็คือโคลนตม
ที่หลวงพ่อพูดว่าทุกข์ทำให้ไม่ทุกข์ โกรธทำให้ไม่โกรธ หลงทำให้ไม่หลง มันไม่ใช่เป็นแค่สำนวน หรือเป็นคำพูดที่ชวนให้เข้าใจในแง่ปรัชญาแต่มันเป็นสัจธรรมและก็มีคุณค่าในเชิงปฏิบัติด้วย เพราะมันทำให้อย่างน้อยๆเรามีท่าทีต่อทุกข์ได้อย่างถูกต้องมากขึ้น คือทุกข์ไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ทุกข์เป็นสิ่งที่เราควรจะเกี่ยวข้องให้ถูกต้องต่างหาก รวมทั้งรู้จักหาประโยชน์จากมันให้ได้
เพราะทุกข์เองก็ดี โกรธก็ดี หลงก็ดี ล้วนมีประโยชน์ นอกจากการที่รู้จักเปลี่ยนทุกข์เป็นความไม่ทุกข์ โกรธให้เป็นความไม่โกรธ หลงให้เป็นความไม่หลง ด้วยสติ ต่อไปมันก็จะเกิดปัญญาขึ้น และที่จริงการที่สติจะงดงามหรือเจริญงอกงามขึ้นก็เพราะทุกข์ ก็เพราะโกรธ ก็เพราะหลง เพราะว่าเราจะรู้ทันความทุกข์ เราจะรู้ทันความโกรธ เราจะรู้ทันความหลงได้ จนกระทั่งเกิดสติที่เจริญงอกงามแล้วพาเราไปสู่อิสระได้ก็เพราะว่ามันเจอทุกข์ เจอโกรธ เจอหลงอยู่บ่อยๆ
หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่ามันมีทุกข์ มันมีโกรธ มันมีหลง เกิดขึ้นในใจเราบ่อยๆ การเกิดขึ้นแต่ละครั้ง ถ้าเราหมั่นดู หมั่นรู้ หมั่นเห็น ก็จะรู้จักทุกข์มากขึ้น จะรู้จักอาการของมันมากขึ้น จะรู้จักอาการของความโกรธมากขึ้น จะรู้จักอาการของความหลงมากขึ้น แต่ก่อนเกิดทุกข์ทีไร ไม่รู้หรอกเพราะเข้าไปเป็นเสียแล้ว โกรธทีไรก็ไม่รู้จักหรอกเพราะเผลอโกรธไปแล้ว เช่นเดียวกับหลง ไม่รู้จักมัน เพราะเผลอหลงเข้าไปแล้ว
แต่พอเรามารู้จักดูมันก็จะเห็นอาการของสิ่งเหล่านี้มากขึ้น รู้ว่ามันมีอาการอย่างไรเช่น โกรธ มันมีอาการเผาทำให้รุ่มร้อน ความเกลียดมีลักษณะอาการคล้ายกับสิ่งที่กรีดใจให้เป็นแผล ความวิตกมันก็มีอาการคล้ายๆกับสิ่งที่มากดถ่วงหน่วงทับใจ ทำให้หนักอกหนักใจ ความเหงาทำให้มีความรู้สึกคล้ายๆความว่างเปล่า ความเคว้งคว้าง โหวงเหวง
พอเราเจอมันบ่อยๆสติก็จำได้ ว่า โกรธเป็นนะ ทุกข์เป็นอย่างนี้นะ หลงเป็นอย่างนี้นะ เศร้าเป็นอย่างนี้นะ แล้วพอมันเกิดขึ้นมาอีก สติก็จะรู้ทันมันเร็วหรือรู้จักมันได้ไว เมื่อรู้จักมันได้ไวมันก็สามารถจะถอนจิตออกมาจากสิ่งนั้นได้ จากอารมณ์เหล่านั้นได้ สติจะรู้จักทุกข์ โกรธและหลง ได้อย่างแม่นยำก็เพราะเจอทุกข์บ่อยๆ เจอโกรธบ่อยๆ เจอหลงบ่อยๆ
หลวงพ่อคำเขียนถึงบอกว่า ทุกข์ก็ดี โกรธก็ดี หลงก็ดี มันเหมือนกับปุ๋ยที่มันช่วยส่งเสริมความรู้สึกตัว เพราะฉะนั้น เมื่อมันเกิดขึ้น อย่าไปรู้สึกเสียใจว่าทำไมกูโกรธ ทำไมฉันถึงมีความโกรธขนาดนี้ คนดีอย่างฉัน โกรธอย่างนี้ได้อย่างไร หรือว่าเกิดความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับความโกรธ เป็นปฏิปักษ์กับความทุกข์ เป็นปฏิปักษ์กับความหลง จนกระทั่งหาทางไล่บี้มัน แทนที่จะหันกลับมามองมัน ดูมัน สังเกตมัน หันมาเรียนรู้จากมัน
ถ้าเกิดว่าเรามีท่าทีที่ถูกต้อง ต่อทุกข์ ต่อโกรธ ต่อหลง สติเราจะเจริญงอกงามมากขึ้น และสตินี่เองจะทำให้เราได้เห็นว่าในทุกข์มีสัจธรรม ในโกรธก็มีสัจธรรม ในหลงก็มีสัจธรรมที่ซ่อนอยู่ และเป็นสัจธรรมที่เข้าใจแจ่มแจ้งก็จะนำไปสู่ความไม่ทุกข์ ความไม่โกรธ ความไม่หลง สัจธรรมที่ว่านี้คือไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
หรือถึงแม้ยังไม่เห็นมัน แต่อย่างน้อยการที่รู้อาการของมันว่ามันเป็นอย่างไร อันนี้มันก็ช่วยทำให้เรามีสติที่ว่างไวปราดเปรียว และเมื่อทุกข์เกิดขึ้นก็สามารถเปลี่ยนทุกข์ให้เป็นความไม่ทุกข์ได้ เมื่อโกรธเกิดขึ้นก็เปลี่ยนเป็นความไม่โกรธได้ เมื่อหลงเกิดขึ้นก็เปลี่ยนเป็นความไม่หลงได้
และถ้าสติได้เติบโตมากขึ้นๆ ต่อไปจะพาให้เห็นสัจธรรมในทุกข์ ในโกรธ ในหลง ซึ่งช่วยทำให้ ทุกข์ก็ดี โกรธก็ดี หลงก็ดี มันไม่มีช่องโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับจิตใจได้ ไม่ว่าเมื่อเกิดมีผัสสะมากระทบ เมื่อเกิดอนิฏฐารมณ์ หรืออิฏฐารมณ์เกิดขึ้น เมื่อมีรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส มากระทบ หรือธรรมารมณ์เกิดขึ้นในใจก็แล้วแต่
ทั้งหมดนี้เพื่อที่จะชี้ว่า คำสอนที่สำคัญของหลวงพ่อประการหนึ่งก็คือเรื่องของท่าที ท่าทีต่อทุกข์ ต่อความโกรธ ต่อความเกลียด ต่อความโศก ต่อความเศร้า ซึ่งเรียกรวมว่าความหลง และท่าทีเหล่านี้มันจะเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้เราสามารถที่จะเห็น เข้าถึงสัจธรรมที่มาพร้อมกับสิ่งเหล่านี้ได้
ด้วยเหตุนี้เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสสอนเรื่องอริยสัจ 4 โดยเฉพาะอริยสัจข้อแรกคือทุกข์ พระองค์สอนให้รู้ทุกข์ ทุกข์เป็นสิ่งที่ควรรู้ สิ่งที่ควรกำหนดรู้ ก็คือรู้ทุกข์ มีทุกข์ก็ให้รู้มัน รู้เมื่อมันเกิดขึ้น และให้รู้ว่า มันมีอาการอย่างไร มีลักษณะอย่างไร รู้จนถึงขั้นว่า เมื่อมันเกิดทุกข์ขึ้น มันไม่ใช่เราทุกข์ มันเป็นทุกข์ที่เกิดขึ้นกับขันธ์ 5 มันเป็นทุกข์ที่เกิดขึ้นกับรูปและนาม กับกายและใจ มันไม่ใช่เรา จะเห็นอย่างนี้ไม่ได้เลยถ้าหากว่าไม่มีสติเห็นมันอย่างที่มันเป็น
เพราะฉะนั้น ถ้าเราจับหลักที่หลวงพ่อสอนได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิธีการ คือเห็น ไม่เข้าไปเป็น รู้ซื่อๆ รวมทั้งท่าทีต่อทุกข์ ต่ออารมณ์อกุศล มันก็จะเป็นบันไดที่นำไปสู่ความอิสระ อิสระจากทุกข์ อิสระจากความโกรธ อิสระจากความหลง
แล้วถึงตอนนั้น สิ่งที่เราเคยประทับใจในหลวงพ่อ อันได้แก่ ความเมตตา ความสงบเย็น ความแน่วแน่มั่นคง มันก็จะไม่ใช่ของหลวงพ่ออีกต่อไปหรือเท่านั้น แต่มันจะเป็นของเราด้วย แต่จะถึงตอนนั้น มันก็ไม่มีสำนึกหรือความมั่นหมายว่าตัวเราแล้ว มันก็มีแต่สภาวะที่สมมุติว่าเป็นเราเท่านั้น
อันนี้คือสิ่งที่อยากจะฝากไว้ สำหรับผู้ที่มาร่วมปฏิบัติธรรมบูชาคุณหลวงพ่อมาตั้งแต่วันที่ 19 มาจนกระทั่งถึงเวลานี้ ก็ขอให้ความตั้งมั่นของพวกเราที่นำพาเรามาสู่การปฏิบัติธรรมด้วยความเพียร จงอำนวยให้เราทุกท่าน เจริญในพละ 5 ขอให้อยู่ในอารักขาแห่งธรรม นำพาให้มีความสงบเย็น เป็นสุข เข้าถึงความไม่ทุกข์ เข้าถึงความไม่โกรธ เข้าถึงความไม่หลง สามารถก้าวข้ามผ่านทุกข์ไปด้วยดี จนกระทั่งเข้าถึงความสิ้นทุกข์อิสระแห่งความทุกข์อันได้แก่พระนิพพาน ด้วยกันทุกคนเทอญ
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเช้าวันที่ 23 สิงหาคม 2564