แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้เป็นวันที่ 4 ของงานบูชาคุณหลวงพ่อคำเขียน วันนี้กลางคืนจะมีไฮไลท์ของงานอยู่ที่ตอนกลางคืน เวลาเราพูดถึงไฮไลท์ เราก็นึกถึงกิจกรรมหรือรายการที่มันน่าตื่นตาตื่นใจ เช่น Highlight บางงานก็มีการจุดพลุดอกไม้ไฟ หรือว่าอาจจะมีคนดังมาปรากฏตัว อันนี้เป็นงานที่เรียกว่า Event ทั่วๆไป หรือว่าเป็นการกินอาหาร มันก็จะเป็นอาหารมื้อเด็ด หรือว่าเมนูเด็ดที่มักจะมาตอนท้ายๆ
แต่ว่าไฮไลท์ของงานวันนี้ ไม่ใช่อย่างนั้น เวลาพูดถึงไฮไลท์ของงานทั่วไปก็หมายถึงมีสิ่งแปลกๆให้ชม อาหารเอร็ดอร่อยให้ชิม หรือว่าเป็นเรื่องของการเสพ แต่ว่าHighlight ของงานในตอนค่ำคือการทำ ก็คือการฟังธรรม หรือการปฏิบัติธรรม ทำความเพียรตลอดทั้งคืนเลย เริ่มตั้งแต่สองทุ่มจนถึงตีสามครึ่งของวันรุ่งขึ้น อันนี้ถือว่าเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดของงาน
เพราะว่าเป็นการระดมความเพียร เป็นการระดมคุณธรรมหลายอย่างในใจของเราเพื่อทำให้เราสามารถที่จะทำความเพียรได้ต่อเนื่อง บางคนก็ตั้งใจว่าจะทำความเพียรตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า แต่บางคนตั้งใจว่าอดนอนให้มากที่สุดเพื่อที่จะได้เจริญสติ ปฏิบัติธรรมเป็นการบูชาคุณหลวงพ่อ
หลายคนไม่เคยที่จะอดนอนเพื่อปฏิบัติธรรม อดนอนอย่างอื่นเคยทำมาแล้วเช่น โต้รุ่งฉลองปีใหม่ สังสรรค์กับเพื่อน หรือว่าสวดมนต์ข้ามปี อันนี้ก็อดนอน เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ใช่เรื่องใหม่ของการอดนอนในคืนนี้ เพียงแต่ว่าครั้งนี้เราไม่ได้อดนอนเพื่อเฉลิมฉลองหรือว่าอดนอนเพื่อสนุกสนานหรือว่าอดนอนเพื่อปรนเปรอความอยากเสพรสอร่อย ความสนุกสนานตื่นเต้น
แต่เป็นการอดนอนเพื่อปลุกความรู้สึกตัวขึ้นมาในยามที่ผู้คนหลับไหล เราก็ตั้งใจว่าไม่ใช่แค่กายตื่นเท่านั้น แต่ใจก็ตื่นด้วย ตื่นรู้หรือรู้สึกตัว ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่าความง่วงเหงาหาวนอนมันก็จะมารบกวน อาจจะไม่ถึงกับรู้สึกตัวเต็มร้อย แต่ว่าให้กายได้ตื่นเพื่อทำความเพียร
เรื่องการอดนอนเราเคยทำมาแล้ว เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับการที่เราจะนอนให้น้อยลงในคืนนี้ เราสามารถทำได้อยู่แล้วเพียงแต่ว่ามันอาจจะไม่มีสิ่งกระตุ้นเร้าใจให้ตื่นเต้นจนกระทั่งเกิดความตื่นตัวไม่หลับไม่นอน อันนั้นเป็นเรื่องของกระตุ้นเร้าจากสิ่งภายนอก แต่ว่าคืนนี้เราจะใช้คุณธรรมภายในมาปลุกให้ตื่น หรือว่าให้ปฏิบัติได้ต่อเนื่อง
คุณธรรมที่ว่านี้ เช่น ขันติ ความอดทน วิริยะ ความเพียร สติ สมาธิ ปัญญา พวกนี้พวกเราทุกคนมีอยู่แล้วแต่อาจจะยังใช้ไม่มากพอในการทำความเพียร
แต่ถ้าเราระดมความเพียรที่มีอยู่แล้วในใจเรา มันก็จะสามารถทำให้เราทำสิ่งที่คิดว่ายากให้สำเร็จได้ โดยเฉพาะถ้าเรามีคุณธรรมอีกอย่างหนึ่งคือ ศรัทธา ศรัทธาที่ว่านี้ ก็คือศรัทธาในครูบาอาจารย์ ตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมาจนถึงหลวงพ่อคำเขียน
โดยเฉพาะในงานนี้เราเน้นการบูชาคุณหลวงพ่อ ศรัทธาที่เรามีต่อหลวงพ่อ ถ้าเราสามารถระดมเอามาให้ปรากฏเกิดขึ้นในใจ ก็จะสามารถทำให้เรามีพลังขับเคลื่อน ตัวศรทัธานี้แหละที่จะเป็นตัวดึงเอา ขันติ วิริยะ สมาธิ สติ ปัญญาออกมาเต็มที่ เพื่อทำให้เราสามารถที่จะทำสิ่งที่ยากหรือสิ่งที่ไม่เคยทำ คือการปฏิบัติข้ามคืนให้สำเร็จได้
คนทั่วไปสามารถอยู่ตลอดทั้งคืนโดยไม่หลับไม่นอนได้โดยอาศัยตัณหาคือความอยาก มันมีรสชาติ มีความเอร็ดอร่อย มีการเฉลิมฉลอง กินเลี้ยง ดื่มหรือว่ามีสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจ เช่น เสียงเพลง การละเล่น การแสดง อย่างเช่นวันปีใหม่ มันกระตุ้นให้เกิดตัณหาคือ ความอยากเสพรสชาติ รสอร่อยไปเรื่อยๆจนตลอดทั้งคืน อันนี้หลายคนทำได้เพราะว่า มีตัณหาเป็นแรงผลัก ได้ประสบ สัมผัส เสพสิ่งเอร็ดอร่อยเพลิดเพลินแล้วเกิดตัณหาขึ้นมา ทำให้อยากเสพไปเรื่อยๆไม่ยอมหลับไม่ยอมนอน
แต่ว่าคนเราจะทำอะไรไม่ใช่เพราะแรงผลักของตัณหาอย่างเดียว ศรัทธาก็สามารถที่จะทำให้เราขับเคลื่อนทำสิ่งที่ยากได้ สามารถทำให้เราสู้กับความง่วงได้ หรือว่าสู้กับความอ่อนเพลียได้ หรือว่าสู้กับความเกียจคร้านก็ได้ ศรัทธาอย่างที่บอกว่าว่าสามารถที่จะระดมเอาธรรมะอย่างอื่นๆขึ้นมา เช่น สติ สมาธิ วิริยะ ขันติ ปัญญา
ยิ่งเรามีศรัทธาในหลวงพ่อคำเขียนแล้ว ถ้ามีมากพอหรือระดมมามากพอ ก็จะสามารถทำให้เราทำสิ่งที่ยากให้สำเร็จได้ ไม่ว่าจะเป็นการนอนให้น้อยลง ปฏิบัติให้มากขึ้น หรือว่าอาจจะถึงกับอดนอนทั้งคืนเลย ก็ยิ่งดี ก็ให้ลองทดลองทำดู โดยเฉพาะ เรามีการตั้งจิตอธิษฐานด้วยว่า คืนนี้เราจะปฏิบัติไปถึงแค่ไหน หรือไปเพียงใด หรืออย่างน้อยๆก็ให้ถึงเที่ยงคืน เป็นต้น
ถ้าทำอย่างนี้ได้ เราก็จะเกิดความเพียร เกิดแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เราสามารถจะทำสิ่งดีๆให้สำเร็จได้แม้มันจะยากเพียงใด อันนี้เป็นการทำให้การจากไปของหลวงพ่อมีความหมาย การที่ครูบาอาจารย์ได้ล่วงลับดับขันธ์ไป ถือว่าเป็นความสูญเสียที่สำคัญของลูกศิษย์ แต่ว่าความสูญเสียนั้นเราก็สามารถที่จะทำให้เกิดประโยชน์ได้
คนส่วนใหญ่เมื่อมีความสูญเสียแล้วแทนที่จะทำให้เกิดประโยชน์ กลับทำให้เกิดโทษหนักขึ้นก็คือจมอยู่ในความเศร้าโศกเสียใจ อาลัยอาวรณ์ อันนี้เป็นการซ้ำเติมตัวเอง เสียครูบาอาจารย์ เสียคนรัก หรือเสียบุพการี แล้วก็ยังเสียอกเสียใจจนไม่เป็นอันทำงาน จนกระทั่งร่างกายผ่ายผอม อันนี้เรียกว่าเป็นการซ้ำเติมตัวเอง และเป็นการไม่ทำให้การจากไปของคนที่เรารักคนที่เราเคารพนับถือมาเกิดประโยชน์เลย กลับจะเกิดโทษ
แต่ถ้าเราใช้การจากไปของครูบาอาจารย์ เป็นต้น รวมทั้งบุพการี เป็นการกระตุ้นให้เกิดการทำความดี เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการทำสิ่งดีๆ ก็ถือว่าทำให้การจากไปของคนที่เรารักมีคุณค่าขึ้นมา แทนที่จะเป็นเรื่องที่เลวร้ายอย่างเดียว เราต้องช่วยกันทำให้การจากไปของคนที่เรารักตั้งแต่บุพการี ครูบาอาจารย์ มันมีคุณค่าขึ้นมา ด้วยการใช้เป็นแรงกระตุ้นทำความดี
อย่างเช่น หลวงพ่อคำเขียน เราก็อาศัยศรัทธาที่มีต่อท่าน เมื่อท่านจากไปเราก็นึกถึงท่าน ทำความดีเช่น ไปปลูกป่า เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดของท่าน ซึ่งปีนี้เรางดเพราะว่าโควิคระบาดอยู่ หรือมิเช่นนั้น นึกถึงท่านแล้วเกิดความเพียรในการเดินธรรมยาตรา หรือซึ่งเราก็ทำทุกปี แต่เราก็ต้องงดไปปีนี้แล้วก็ปีที่แล้ว แต่ว่าที่ยังทำได้อยู่ตลอดเวลาคือ การปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรมคืนนี้ ก็อาศัยศรัทธาที่มีต่อท่าน อาศัยการจากไปของท่าน กระตุ้นให้เราทำความดีมาทำความเพียรกัน ตอนที่ท่านอยู่ไม่มีกิจกรรมนี้ แต่พอท่านจากไปก็มีกิจกรรมนี้ขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการทำความเพียร กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตัว
แล้วก็ทำให้เกิดความมั่นใจว่า สิ่งยากๆเราก็สามารถทำได้ เป็นความดี เป็นคุณค่า โดยเฉพาะการเจริญสติ การทำความรู้สึกตัว และการนำธรรมะมาสถิตในใจเรา เพื่อที่เราจะได้บำเพ็ญทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านได้อย่างกว้างขวางและถึงพร้อม
เพราะฉะนั้น มาช่วยกัน ทำให้การจากไปของคนที่เรารัก ไม่ใช่เฉพาะครูบาอาจารย์ บุพการี มันเกิดประโยชน์ขึ้นมา เกิดคุณค่าขึ้นมา อันนี้ก็ถือว่ารู้จักใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์ที่ธรรมดา ธรรมชาติให้มีคุณค่าขึ้นมา
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 22 สิงหาคม 2564