แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อถึงเดือนสิงหาคมของทุกปี นับตั้งแต่ปี 57 เป็นต้นมา เราก็มีงานที่วัดป่าสุคะโต เพื่อรำลึกถึงบุญคุณของหลวงพ่อคำเขียน เรามีการปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นอาจาริยบูชาแก่หลวงพ่อ นอกจากที่สุคโตแล้วยังมีจัดที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ ลูกศิษย์ลูกหาก็มาร่วมปฏิบัติธรรม ฟังธรรม ทั้งที่สวนโมกข์กรุงเทพฯแล้วก็ที่วัดป่าสุคะโต
แต่ว่าปีนี้ทำอย่างนั้นไม่ได้เพราะว่าโควิดกำลังแพร่ระบาด เพราะฉะนั้นการมารวมกันปฏิบัติธรรมเป็นอาจาริยบูชาของหลวงพ่อก็ทำไม่ได้ แต่ว่าเราก็ยังสามารถทำได้ที่บ้าน เพราะฉะนั้น ปีนี้จึงมีการถ่ายทอดสด มีทั้งการทำวัตรสวดมนต์ร่วมกันทั้งเช้าทั้งเย็น แล้วก็มีการแสดงธรรม มีครูบาอาจารย์หลายท่านจะมาแสดงธรรมให้ญาติโยมที่บ้านได้ฟัง และเป็นแนวทางในการปฏิบัติ
ถึงแม้ว่าเราจะจำเป็นต้องอยู่ห่างไกลวัด หรือว่าอยู่ห่างไกลครูบาอาจารย์เพราะว่าสถานการณ์ไม่อำนวย แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะอยู่ห่างจากการปฏิบัติธรรม หรืออยู่ห่างจากธรรมะ เพราะฉะนั้นช่วงวันที่ 19-23 นี้ ใครที่อยู่บ้านก็สามารถที่จะมาปฏิบัติธรรมร่วมกันได้ พร้อมใจกัน เริ่มตั้งแต่การมาทำวัตรเช้าตี 4 แล้วก็ฟังธรรม แล้วก็ทำวัตรเย็น 6 โมงเย็น ต่อด้วยการแสดงธรรมจากครูบาอาจารย์
เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีก็เอื้ออำนวย ครูบาอาจารย์อยู่กันคนละที่อยู่คนละวัดอยู่คนละจังหวัด ก็สามารถที่จะแสดงธรรมให้กับพวกเราได้ฟัง แล้วก็ได้ปฏิบัติไปพร้อมๆกัน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป็นการบำเพ็ญปฏิบัติบูชาแด่หลวงพ่อสมกับที่เราเป็นศิษย์มีครู
คำว่าศิษย์มีครู เป็นคำที่มีความหมายต่อจิตใจของผู้คนมาก โดยเฉพาะคนที่ได้มีชีวิตผูกพันกับครูบาอาจารย์ พวกเราหลายคนนับถือหลวงพ่อคำเขียนเป็นครู ก็สามารถที่จะอ้างตัวได้ว่าเราเป็นศิษย์มีครู คนโบราณเวลาพูดถึงศิษย์มีครู จะให้ความรู้สึกที่ดีมาก ให้ความรู้สึกอบอุ่นใจ เสมือนว่าบารมีของครูบาอาจารย์ได้มาช่วยปกป้องปกปักรักษาให้อยู่เย็นเป็นสุข
แต่ที่จริงแล้วจะเรียกตัวเองว่าเป็นศิษย์มีครูได้ มันก็เพราะว่ามีความสำนึกในบุญคุณของครูบาอาจารย์ เรียกว่ามีความกตัญญูรู้คุณ และตระหนักว่าครูบาอาจารย์ได้มีบุญคุณกับเรา บุญคุณที่ว่านี้ ไม่ใช่เพียงแค่ว่าท่านปกปักรักษาเราให้สุขสบาย หรือว่าเย็นกายเย็นใจ แต่บุญคุณที่ว่านี้เกิดจากการที่เรานำธรรมะของท่านที่บำเพ็ญเป็นแบบอย่าง เอามาประพฤติปฏิบัติ
ถ้าเราปฏิบัติตามครูบาอาจารย์ น้อมนำเอาคุณธรรมของท่านมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต รวมทั้งนำคำสอนของท่านมาประพฤติปฏิบัติ อันนี้ก็เชื่อแน่ว่า คุณธรรมของท่านก็ปกปักรักษาเราปกปักเพราะว่าเราได้ทำความดี ความดีที่ได้ทำก็ช่วยให้เราอยู่เย็นเป็นสุขไม่อยู่ร้อนนอนทุกข์ แต่นอกจากความดี เช่น การมีศีล ความเมตตากรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รวมทั้งการอยู่อย่างสมถะเรียบง่ายแล้ว ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าธรรมะที่ท่านสอนในระดับของการฝึกจิตฝึกใจ
อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านได้สอนเน้นย้ำมากเรื่องการมีสติเรื่องความรู้สึกตัว ถ้าเราเอาธรรมะส่วนนี้น้อมนำมาสู่ใจ ด้วยการบำเพ็ญสติปัฏฐานเจริญสติอยู่เสมอ มันก็เหมือนกับว่า คุณธรรมของครูบาอาจารย์ได้มาช่วยปกปักรักษาเรา เพราะว่าสติที่เกิดขึ้น ความรู้สึกตัวที่ปรากฏ เชื่อแน่ได้เลยว่า จะช่วยรักษาใจของเราให้มีความปลอดโปร่ง มีความสงบเย็นไม่ถูกเผาลนด้วยความทุกข์ ด้วยความคิดลบหรืออารมณ์ร้ายๆ
สิ่งที่จะทำได้ก็เพราะเราเห็นความสำคัญของการบำเพ็ญปฏิบัติบูชา ไม่ใช่แค่บำเพ็ญอามิสบูชาคือ การบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนเครื่องหอม แต่บูชาด้วยการลงทุนลงแรงปฏิบัติ ให้สติ ให้ความรู้สึกตัว คุณธรรมทั้งหลายให้ปรากฏขึ้นกับเนื้อกับตัวของเรา ถ้าเป็นอย่างนี้ถึงจะเรียกตัวเองว่าเป็นศิษย์มีครูได้อย่างสมที่อ้าง ไม่ใช่เพียงแค่ว่านับถือแค่ครูบาอาจารย์เท่านั้นแล้วจะเป็นศิษย์มีครูได้ มันต้องปฏิบัติตามหรือว่าเอาคำสอนมาน้อมนำปฏิบัติด้วย
ที่จริงพวกเราที่เป็นชาวพุทธ ครูสูงสุดของเราคือพระพุทธเจ้า แต่ว่าพระพุทธองค์ก็เรียกว่าอยู่ไกลจากตัวเรา มองไม่เห็น และก็สัมผัสไม่ได้ด้วยใจ เว้นแต่ว่าเราได้ปฏิบัติธรรมจนกระทั่งเข้าถึงธรรมะ เข้าถึงธรรมเมื่อไหร่ก็ถือว่าได้เห็นพระพุทธองค์ หรือว่าได้อยู่ใกล้พระพุทธองค์ แต่ตราบใดที่เรายังไม่เข้าถึงธรรมในระดับที่ช่วยให้พ้นทุกข์ได้ พระพุทธเจ้าก็ดูเหมือนว่าอยู่ไกล แต่ว่าหลวงพ่อคำเขียน ท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่เราหลายท่าน ได้เห็นด้วยตา และได้ยินเสียงของท่านด้วยหูของเราเองเรียกว่าโชคดีที่ได้อยู่ใกล้ครูบาอาจารย์อย่างนั้น
แต่ว่าเราก็ยังอยู่ห่างไกล หากว่าไม่ได้เอาธรรมะของท่านมาปฏิบัติ หรือว่าไม่ได้ดำเนินตามแบบอย่างทางด้านคุณธรรมของท่าน เพราะฉะนั้น ถ้าเราทำอย่างนั้นได้คือ ปฏิบัติธรรมอย่างที่ท่านสอน แล้วก็ได้ดำเนินชีวิตของตนตามแบบอย่างของท่าน เราก็เรียกว่าได้ใกล้หลวงพ่อ แม้ว่าท่านจะละสังขารไปแล้ว แต่ว่าก็เป็นการจากไปในทางกาย ส่วนทางจิตใจเราก็ยังรู้สึกว่าได้ใกล้ชิดกันอยู่เสมอ แล้วพอรู้สึกถึงใกล้ชิดเช่นนั้นแล้ว เราก็ยังอบอุ่นใจแล้วก็มีความภาคภูมิใจ และยิ่งมีความเชื่อมั่นในการดำเนินชีวิตมากขึ้น เพราะว่าสามารถที่จะเรียกว่าเป็นศิษย์มีครูได้อย่างเต็มปากเต็มคำ
เพราะฉะนั้น ในช่วง 4-5 วันนี้ ก็มาร่วมกันปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ทำวัตรสวดมนต์ แต่ว่าปฏิบัติธรรมในช่วงระหว่างนั้นด้วยทั้งในรูปแบบ และในชีวิตประจำวัน คือทำอะไรก็ตามทำด้วยสติ ทำด้วยความรู้สึกตัวเสมือนว่าหลวงพ่อได้มากำกับหรือว่าได้มายืนอยู่นั่งอยู่ข้างๆ เรา
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 19 สิงหาคม 2564