แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พวกเราชาวพุทธย่อมรู้ดีว่า ทางสายกลางเป็นทางที่เราควรเดิน และควรตั้งมั่น คำว่าเดินหมายถึงว่าปฏิบัติ ปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8 แต่ว่าจะปฏิบัติได้ถูก หรือเดินได้อย่างตั้งมั่น ก็ต้องรู้จักสิ่งที่เรียกว่าทางสุดโต่ง
ทางสุดโต่ง 2 ประการที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ อันที่หนึ่งคือ กามสุขัลลิกานุโยค หรือว่าความหมกมุ่นในกาม ปรนเปรอตนด้วยกาม ทางสุดโต่งอีกอันหนึ่งก็คือ อัตตกิลมถานุโยค คือการทรมานตนให้ลำบาก ทางสุดโต่ง 2 ประการนี้เราต้องรู้จักแล้วก็พยายามหลีกเลี่ยงไม่ยุ่งเกี่ยว แต่ว่าทางสุดโต่งมันไม่ได้มีเพียงเท่านี้ บางคนคิดว่าฉันไม่ได้หมกมุ่นปรนเปรอด้วยกามอยู่แล้ว แล้วก็ใช้ชีวิตไม่ต่างจากคนทั่วไป แล้วฉันก็ไม่ได้ทรมานตนอย่างฤาษีชีไพร หรือพวกโยคี
ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ไปข้องแวะกับทางสุดโต่ง 2 ประการที่ว่า แต่ก็อาจจะถลำไปในทางสุดโต่งอื่นๆได้ กามสุขัลลิกานุโยค หรือ อัตตกิลมถานุโยค ก็เป็นทางสุดโต่งที่ชัดเจน เรียกว่าเป็นตัวพ่อตัวแม่ แต่ว่าก็ยังมีทางสุดโต่ง ในระดับที่รองลงมาอีกมากมายที่หลายคนอาจจะเผลอเข้าไปข้องแวะ หรือถลำเข้าไปในทางนั้นก็ได้เช่น การตามใจกิเลส อันนี้ก็เป็นการสุดโต่ง ประการหนึ่ง และทางสุดโต่งที่เป็นคู่ตรงข้ามกัน คือการเก็บกดอารมณ์ความรู้สึก
การตามใจกิเลสไม่ว่ากิเลสจะเป็น ตัณหา ราคะ โทสะ ก็เป็นน้องๆ การปรนเปรอด้วยกาม มีกิเลสเกิดขึ้น ก็ตามใจตะพึดตะพือ แต่ว่าในทางตรงข้าม เก็บกดอารมณ์ความรู้สึกไม่ได้หมายถึงเฉพาะว่า เก็บกด ตัณหา ราคะ หรือว่าความโกรธ หรือว่าพยายามหักห้ามใจไม่ให้อารมณ์หรือกิเลสเหล่านั้นมาครอบงำจิตใจ มันมากกว่านั้น
มันรวมไปถึงว่า เวลามีความยินดีพอใจในเรื่องอะไร เช่นได้กินอาหารอร่อย เกิดความพอใจ ก็พยายามเก็บกด ปฏิเสธความพอใจนั้น เห็นว่าเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง อยู่ในที่ที่สบายแล้วเกิดความยินดีก็ไม่ได้ ต้องเก็บกด ปฏิเสธมัน เพราะเห็นว่ามันจะทำให้กิเลสงอกงาม อันนี้ก็เป็นสุดโต่งอีกทางหนึ่ง
ไม่ตามใจกิเลสก็ดีแล้ว แต่ว่าการที่ไปเก็บกด ไม่ใช่เฉพาะกิเลสอย่างเดียว แต่รวมถึงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆที่เกิดจากการได้สัมผัสกับอารมณ์ที่น่าพอใจ ไม่ว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย สัมผัส ยินดีก็ไม่ได้ ก็ไปปฏิเสธมัน การทำอย่างนั้นก็ทำให้เกิดความรุ่มร้อน เกิดความเครียด ซึ่งบางทีก็ทำให้เกิดการเหวี่ยงกลับไปสู่ตามใจกิเลส
อย่างคนบางคนตอนบวชพระ เข้มงวดกับตัวเองมาก เคร่งครัดจนกระทั่งเคร่งเครียดกับวินัย มีความยินดี มีความพอใจอะไรก็ไม่ได้ กดกิเลสไว้ แต่ตอนหลังทนไม่ไหว สึกหาลาเพศไป เพราะว่ามันรุ่มร้อนเหลือเกิน พอสึกไปกลายเป็นคนที่ติดเหล้าเมายา เหวี่ยงสวิงไปอีกทางหนึ่ง ห้ามใจไม่อยู่ สู้กิเลสไม่ไหว อันนี้เพราะความสุดโต่ง
สุดโต่งประการต่อมาก็คือ อันนี้เห็นชัดแล้วว่าคือสิ่งที่ไม่ดีคือหลงชั่ว ก็คือตามใจกิเลสในระดับที่เรียกว่าหมดเนื้อหมดตัวตรงข้ามกับความหลงชั่ว แต่ว่าเป็นทางสุดโต่งก็คือการติดดี ติดดี ประเภทว่าคนอื่นหรือใครก็ตาม จะต้องดีแบบฉัน หรือว่า ดีในแบบของฉัน ดีทางความคิดของฉัน แม้ผิดเพี้ยนเล็กน้อยก็ไม่ได้ เรียกว่าหยุมหยิมไปหมดเลย แล้วใครที่ไม่ดีเหมือนตนหรือในแบบของตัว ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของศีล แต่รวมถึงการใช้ชีวิต การแต่งตัว เรื่องของมารยาท
ถ้าใครไม่ดีแบบฉันก็จะมีความเกลียดชัง รู้สึกเป็นปฏิปักษ์ ติดดีแบบนี้ก็จะคอยเพ่งโทษคนรอบข้างคนรอบตัว ใครอยู่ใกล้ก็รุ่มร้อน เจ้าตัวก็รุ่มร้อน เพราะว่าพอติดดีมากๆ มันมีความคิดหรืออารมณ์ไม่ดีเกิดขึ้นในใจ ก็พยายามปฏิเสธพยายามกำจัดมัน แต่ว่าปุถุชน ตราบใดที่ยังไม่หลุดพ้นก็มีกิเลสประทุขึ้นมาเป็นระยะๆ คนที่ติดดีก็จะยอมรับไม่ได้ แล้วพอเกิดขึ้นบ่อยๆห้ามไม่ได้ กดข่มไม่ไหว ก็จะรู้สึกเกลียดชังตัวเองว่า ทำไมเราถึงเป็นคนไม่ดีอย่างนี้ ทำไมถึงมีความคิดชั่วร้ายแบบนี้ โบยตีตัวเอง บางทีเผลอทำอะไรตามใจกิเลส ก็ลงโทษตัวเอง
กรณีที่สุดโต่ง อย่างที่เคยเล่าถึงคนที่มีเสียงต่อว่าจ้วงจาบพ่อแม่ พระรัตนตรัย ทีแรกอาจจะเป็นเสียงเบาๆ แต่พอไปกดข่มมันทนไม่ไหว ปฏิเสธมัน มันก็ยิ่งลุกลามเข้าไปใหญ่ จนกระทั่งไม่มีความสุขเลย เกลียดตัวเองมากจนบางทีอยากจะฆ่าตัวตายเลยว่า คนชั่วแบบเราไม่ควรจะอยู่ในโลกนี้ต่อไป การติดดีแบบนี้ก็เป็นอุปสรรคต่อการทำความดี การใช้ชีวิต ไม่ตั้งมั่นอยู่บนทางสายกลาง
ทางสุดโต่งประการต่อมา อันนี้ลดระดับลงมาหน่อย เป็นกันเยอะด้วย ก็คือเพลินในสุข เวลาได้โชคได้ลาภ ได้รับคำชมเกิดความดีใจก็เพลิดเพลิน เวลากินอาหารอร่อยก็เพลินจมไหลลอยไปกับความสุขนั้น ได้สัมผัสอะไรที่น่าพอใจเกิดความยินดีขึ้นมาก็เพลินจนลืมเนื้อลืมตัว แต่ว่าสุดโต่งอีกทางหนึ่งที่ตรงข้ามก็คือจมในทุกข์ ฟากหนึ่งจมในสุข
อีกฟากหนึ่งจมในทุกข์ พอเจออะไรที่ไม่พอใจ ผิดหวังขึ้นมาก็ดิ่งจมลงไปในความเศร้าความโศกความคับแค้น รวมทั้งความโกรธด้วย อันนี้เป็นกันเยอะถึงแม้ว่าจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปรนเปรอด้วยกาม หรือว่าการทรมานตน ซึ่งปกติแล้ว ก็เป็นคน 2 ประเภท อาจจะมีบางคนที่ข้องแวะทั้ง 2 ทาง อย่างเช่น เจ้าชายสิทธัตถะ แต่ก็เป็นคนละช่วง ช่วงแรกปรนเปรอด้วยกาม ช่วงที่ 2 ก็ทรมานตน
แต่ว่าการเพลินในสุขแล้วจมในทุกข์ มันเกิดขึ้นเร็วมาก ตอนเช้าจะเพลินในสุข มีคนชมหรือว่าได้เจอเพื่อนฝูงเกิดความดีใจ แต่พอเจอความผิดหวังได้ข่าวร้าย คนรักเกิดล้มหายตายจากไปจมดิ่งเลยในทุกข์ หรือเหมือนที่เคยเล่า อาแปะที่ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 ดีใจ กระโดดโลดเต้นในตลาด ว่ากูถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 แต่พอเผลอฉีกลอตเตอรี่เป็นชิ้นๆด้วยความลืมตัว พอมารู้ว่าเกิดอะไรขึ้นก็ฟุบเลย เพราะว่าเงินล้านลอยไปแล้ว สุดท้ายก็วิกลจริตเป็นบ้าไปเลย อันนี้เรียกว่าเพลินในสุขแต่แล้วก็จมในทุกข์
คนไม่ค่อยตระหนักว่านี่ก็คือทางสุดโต่งเหมือนกัน มันก็กระเดียดไปทาง กามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค เพราะว่าคนที่จมในทุกข์ จมแล้วบางทีไม่อยากออก จมอยู่ในความเศร้าก็อยากจะถลำเข้าไปอยู่ในความเศร้าไปนานๆ คิดถึงแต่เรื่องตอกย้ำซ้ำเติมให้มันเศร้า พยายามทำอะไรก็ตามที่ทำให้มันเศร้าหนักขึ้น หรือคนที่ถูกความโกรธเผาลนใจ แทนที่จะออกจากความโกรธด้วยการแผ่เมตตาด้วยการให้อภัย ก็พยายามขุดคุ้ยเรื่องอะไรต่ออะไรมากมาย ที่ทำให้โกรธหนักขึ้น โกรธรุนแรงขึ้น อันนี้ก็เหมือนกับว่า ติดในรสชาติในความทุกข์จนไม่อยากถอนตัวออกมา
และที่ลดระดับลงมาหน่อย ซึ่งได้พูดไปเมื่อสองสามวันมาแล้ว อันนั้นก็คือ การส่งจิตออกนอก ซึ่งตรงข้ามกับทางสุดโต่งอีกอันหนึ่งก็คือ การเพ่งเข้าใน คนทั่วไปขยันส่งจิตออกนอกเหลือเกิน แต่บางคนพอรู้ว่าส่งจิตออกนอกไม่ดี มันก็เหวี่ยงไปอีกทางหนึ่งคือเพ่งเข้าใน
จิตออกไปข้างนอกไม่ดี ก็ไปบังคับมัน เพ่งให้มันอยู่กับเท้า อยู่กับท้องที่พองยุบ อยู่กับคำบริกรรม บังคับไม่ให้ไปไหน เพราะว่าไม่อยากให้มันออกไปข้างนอก อันนี้ก็เป็นสุดโต่งอีกประการหนึ่ง เพราะว่าพอทำมากๆเข้าก็เกิดความเพี้ยน เกิดความทุกข์ บางคนก็หน้ามืด บางคนก็ตัวแข็งไปเลย
ซึ่งถ้าพูดง่ายๆ ก็คือว่า ส่วนหนึ่งปล่อยใจลอย อีกส่วนหนึ่งก็ไปบังคับจิตไม่ให้คิด สุดโต่งส่วนหลังพบในนักปฏิบัติเยอะ เป็นกันเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการเพ่งจิตเข้าใน หรือว่าการบังคับจิตไม่ให้คิด ห้ามคิด ซึ่งถ้าสรุปง่ายๆก็คือว่าถ้าไม่เผลอก็เพ่ง อันนี้เป็นทางสุดโต่งในระดับย่อมๆที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ตระหนักเท่าไหร่
ไปให้ความสำคัญ การหมกมุ่นในกามและการทรมานตน แล้วก็คิดว่าทางสุดโต่งมี 2 อันนี้ แต่ที่จริงมันมีทางสุดโต่งในระดับที่ย่อมๆอีกมากมาย ซึ่งเป็นตัวขัดขวางไม่ให้เดินอยู่บนทางสายกลางได้ ทางสายกลาง ทางสายใหญ่คือ อริยมรรคมีองค์ 8 อย่างที่เราทราบดี เริ่มต้นที่สัมมาทิฏฐิ ไปจนถึงสัมมาสมาธิ แต่ที่จริงมีทางสายกลางเล็กๆอีกมากมาย เช่นทางสายกลางระหว่าง การไม่ตามใจกิเลสกับการไม่กดข่มอารมณ์ความรู้สึก ทางสายกลางที่อยู่ระหว่างการไม่หลงชั่วและก็ไม่ติดดี ทางสายกลางที่อยู่ระหว่างไม่เพลินในสุขและไม่จมในทุกข์ ไม่ส่งจิตออกนอกแต่ก็ไม่เพ่งเข้าใน ไม่เผลอและก็ไม่เพ่ง ซึ่งถ้าเรารู้จักทางสายกลางเล็กๆ แล้วเราปฏิบัติได้ดี ก็จะช่วยทำให้การปฏิบัติบนทางสายกลางสายใหญ่ อริยมรรคมีองค์ 8 มันเป็นไปได้ดีถูกต้อง
การที่จะอยู่บนทางสายกลางในระดับที่ว่ามานี้ สิ่งสำคัญเลยคือสติ เพราะว่าถ้าไม่มีสติมันก็เผลอตะพึดตะพือ หรือไม่เช่นนั้นก็เพ่ง ถ้าไม่มีสติมันก็ส่งจิตออกนอกไปจนหมดเนื้อหมดตัวหรือไม่ก็เอาแต่เพ่งเข้าใน และสติในระดับที่สูงขึ้นไป ก็ช่วยทำให้ไม่หลงชั่วไม่ติดดี ไม่ตามใจกิเลสแล้วก็ไม่กดข่มอารมณ์ความรู้สึก
สติที่ว่านี้คือ สัมมาสติ ในการเจริญสติเราจะพบว่า การตามใจกิเลสก็ไม่ดี การจะไปกดข่มอารมณ์ความรู้สึก ก็ไม่ใช่ เพียงแค่เห็นมัน เพียงแค่รู้เท่าทันมัน กิเลสก็ดี อารมณ์ความรู้สึกต่างๆก็ดี มันก็ไม่สามารถจะครอบงำจิตใจเราได้ แล้วก็ถ้ามีสติ จะทำให้ใจยอมรับอารมณ์ความคิดต่างๆได้ แม้อารมณ์ที่เป็นอกุศล ไม่ใช่แค่ความโกรธ ความเกลียด แต่ว่าอารมณ์บางอย่างที่เจ้าตัวอาจจะไม่เคยคิดว่าตัวเองมีหรือความคิดบางอย่างไม่เคยคิดว่ามันจะมีอยู่ในหัว แต่พอเห็นมัน ก็ยอมรับมันได้ ไม่ลงโทษตัวเอง ว่าทำไมถึงมีความคิดชั่วร้ายแบบนี้
ในทางตรงข้ามพอเห็นมันแล้ว เกิดความคลายหลงตน แต่ก่อนเราคิดว่าเราเป็นคนดี เป็นคนที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อมีเมตตาแต่พอเห็นความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้นในใจ เห็นความอิจฉาที่เกิดขึ้นแทนที่จะปฏิเสธมัน หรือแทนที่จะลงโทษตัวเองว่าทำไมมีความคิดชั่วร้ายแบบนั้น ก็ยอมรับมันได้ แล้วก็รู้ว่าเออเรามีตรงนี้อยู่ ก็ทำให้ความหลงตัวลืมตน ว่าฉันเป็นคนดีเป็นคนวิเศษ คนอื่นรอบข้างฉันมันแย่ มันก็จะหมดไป
ซึ่งต่างจากคนติดดี คนติดดีจำนวนไม่น้อยจะดูถูกคนอื่นว่า ไม่ได้เรื่อง ฉันเป็นคนดี หรือมิเช่นนั้นก็สวิงกลับมาเกลียดชังตัวเองว่าทำไมคิดชั่วร้ายแบบนี้ ยอมรับตัวเองไม่ได้ แต่สติไม่ใช่อย่างนั้น มันทำให้จิตใจยอมรับสิ่งเหล่านี้ได้ว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง
เริ่มต้นจากการที่วางใจเป็นกลาง หรือว่ารู้มันแบบรู้ซื่อๆ ไม่เอาผิดเอาถูก ไม่ตัดสินดีชั่ว แค่รู้ว่ามันปรากฏและเห็นมันอย่างที่มันเป็น สติทำให้เราตั้งมั่นอยู่บนสายกลาง ไม่เหวี่ยงไปทางสุดโต่ง 2 ทางอย่างที่ได้พูดมาในหลายระดับ แต่ในขณะเดียวกัน การที่จะเจริญสติ มันก็ต้องอาศัยการรู้จักประคองให้อยู่บนทางสายกลางด้วย ถ้าเราฝึกใจไม่เผลอและก็ไม่เพ่ง เวลาเจริญสติ มันก็ทำให้สติเราเจริญได้ไว ถ้าเราไม่ไปบังคับความคิด ไม่กดข่มความรู้สึก
เปิดโอกาสให้สติได้ทำงาน ได้รู้เท่าทัน ให้อิสระกับสติในการทำงาน มีความไว้ใจว่า สติทำให้ใจรู้ทันความคิดได้ แม้ว่าใหม่ๆมันจะช้า ไม่รวดเร็วทันใจ ก็ให้โอกาสกับสติ ไม่พยายามบังคับจิตให้หยุดคิด แต่เปิดโอกาสให้สติได้ทำงาน อันนี้ก็จะทำให้สติสามารถจะเติบโต แล้วก็สามารถจะช่วยน้อมใจให้อยู่บนทางสายกลาง
อย่างไรก็ตาม คำว่าทางสายกลาง เราต้องเข้าใจว่ามันไม่ใช่คำว่าพอดีพอดี บ่อยครั้งคนเราไปเข้าใจว่าทางสายกลาง คือความพอดี แต่ที่จริงแล้ว ความพอดีมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย ถึงแม้ว่ามันจะอยู่ใกล้กัน เวลาเราพูดถึงความพอดี หมายถึงว่าไม่มากไม่น้อย เช่น ตอนนี้น้ำหนักพอดี สูงพอดี ก็หมายความว่าน้ำหนักเขาไม่มากไปไม่น้อยไป ความสูงก็ไม่สูงเกินไปไม่เตี้ยเกินไป มันเป็นภาวะที่ไม่มากไม่น้อยมันเป็นเรื่องของปริมาณ ส่วนทางสายกลางเป็นเรื่องของคุณภาพ
เปรียบเหมือนกับว่า ระหว่างส้มกับแอปเปิ้ล มันต่างกันเชิงคุณภาพ แต่ว่าส้มใหญ่กับส้มเล็กมันเป็นเรื่องความแตกต่างเชิงปริมาณ ส้มขนาด พอดีๆเราก็รู้ว่ามันไม่ใหญ่ไม่เล็ก ทางสายกลางมันเป็นเรื่องของความแตกต่างทางคุณภาพ แต่คนเราบางทีก็ไปเข้าใจว่าทางสายกลางคือความพอดี อันนั้นไม่ใช่ ส่วนหนึ่งก็อาจจะไปคิด ในเรื่องของพิณสามสายก็ได้
พระพุทธเจ้าเคยตรัสถึงเรื่องพิณสามสาย แล้วก็พูดถึงสายที่อยู่ตรงกลาง เปรียบเหมือนกับการปฏิบัติที่ควรกระทำ แต่ที่จริงท่านพูดถึงพิณสามสายในแง่ของความเพียร เป็นเรื่องที่เกิดในสมัยพุทธกาล พระโสณโกฬิวิสะเป็นพระที่มีความเพียร มากในการปฏิบัติ เดินจงกรมทั้งวัน แต่ว่าเท้าท่านอ่อนนุ่ม พอเดินจงกรมไปได้สักระยะหนึ่ง เท้าก็แตก ท่านเดินไม่ได้แล้ว ก็ใช้วิธีคลานจงกรม ปรากฏว่าเท้าก็แตกมือก็แตก ทางจงกรมมีเลือดเป็นทางเลย ทำขนาดนี้ท่านก็ยังไม่บรรลุมรรคผล เกิดความท้อแท้
พระพุทธเจ้าได้แนะนำท่านด้วยการอุปมา พระโสณะเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องดีดพิณ รู้จักพิณสามสาย พระพุทธเจ้าตรัวว่าถ้าขึงสายพิณให้ตึง ดีดจะเพราะไหม พระโสณะบอกว่าไม่เพราะ ถ้าหย่อนไปล่ะ จะเพราะไหม แล้วถ้าดีดพอดีๆคือพิณเส้นที่ 3 จึงจะเพราะใช่ไหม พระโสณะก็บอกว่าใช่
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ความเพียรก็เหมือนกัน ถ้าทำความเพียรมากไปจิตก็ฟุ้งซ่าน ถ้าความเพียรน้อยไปก็เกียจคร้าน ก็ให้ทำความเพียรแต่พอดี พระโสณะเข้าใจเลย จากเดิมที่ทำความเพียรแบบเอาจริงเอาจัง เอาเป็นเอาตาย คงจะมีความอยากจะได้มรรคผลนิพพานด้วย ก็เลยทำให้ทำความเพียรเกินไป พระพุทธเจ้าแนะนำอย่างนี้ ท่านก็หย่อนความเพียรลงให้พอดีๆ ในที่สุดท่านก็บรรลุพระนิพพาน
การที่ท่านทำความเพียรแต่พอดี มันไม่ใช่ทางสายกลาง เพราะว่าท่านมีสัมมาวายามะหมดแล้ว สัมมาวายามะของท่านท่านมีอยู่แล้ว แต่ว่าความเพียรของท่านไม่พอดี คือมันมากไปหรือที่เรียกว่าตึงเกินไป พอลดความเพียรลงมาหน่อย ก็พอดี บรรลุมรรคผลเลย ความพอดีแบบนี้เรียกว่าวิริยะสมตา คือความเพียรแต่พอดี ซึ่งมันคนละทางกับทางสายกลาง
แต่ว่าในเรื่องนี้พระพุทธเจ้าเปรียบกับพิณเส้นที่ 3 คือ พิณเส้นกลาง คนก็เลยคิดว่า ความเพียรแต่พอดีคือทางสายกลาง ที่จริงไม่ใช่ ความพอดีก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ว่ามันเป็นคนละอันกับทางสายกลาง ซึ่งก็ต้องทำควบคู่กันไป
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 13 สิงหาคม 2564