แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การเจริญสติ มันไม่มีพิธีรีตองอะไรมาก และก็ไม่ขึ้นอยู่กับรูปแบบว่า จะต้องนั่งหลับตา ต้องเดินจงกรม ยกมือสร้างจังหวะอย่างเดียว และไม่จำเป็นต้องมาทำที่วัดก็ได้ หรือว่าไปเข้าคอร์สใดๆ ถ้าให้มีสติอยู่กับสิ่งที่ทำไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไร เมื่อมีสติ เมื่อใช้สติ สติก็จะเจริญ
การมีสติอยู่กับการทำอะไรก็ตาม มันก็มีหลักง่ายๆว่า ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น ตัวอยู่นี่ใจก็อยู่นี่ ไม่ได้ไปไหน ตัวอยู่ห้องน้ำ ใจก็อยู่ที่ห้องน้ำ อาบน้ำอย่างมีสติ ตัวอยู่บนรถ ก็มีสติกับการขับรถ ตัวก็อยู่ที่รถนั่นแหละ ใจก็อยู่ที่รถด้วย มองไปข้างหน้าก็รู้ทาง แต่อย่างน้อยไม่ลืมกาย
หรือให้ลองทำอะไรทีละอย่าง ตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น มันจะทำได้ง่ายขึ้นเมื่อเราทำอะไรก็ทำทีละอย่าง เวลากินข้าว ก็ไม่ต้องคิดอะไร วางเรื่องงานเรื่องการเอาไว้ก่อน เวลาขับรถใจก็อยู่กับการขับรถ ใจไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม ถ้าทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน นอกจากสติไม่ได้ก้าวหน้าขึ้นแล้ว บางทีก็อาจจะเกิดปัญหาหรือเกิดอันตรายขึ้นมาก็ได้ ทั้งที่สิ่งที่ทำก็ไม่ได้มีพิษมีภัยหรือบางครั้งเป็นสิ่งที่ดีด้วยซ้ำ
มีผู้หญิงคนหนึ่ง อายุเธอก็ยังไม่มาก แกไปหาหมอกายภาพบำบัด เพราะว่าหกล้มอยู่เป็นประจำ แกก็เล่าว่าในรอบปีที่ผ่านมา หกล้มไปแล้ว 6 ครั้ง และ 3 ใน 6 หกล้มที่จุดเดิมตรงตำแหน่งเดิมที่บ้าน ระหว่างที่เล่าอาการ หมอก็สังเกตมือของผู้หญิงคนนี้กำอะไรบางอย่างเอาไว้ ถามว่ามันคืออะไร เธอตอบว่าคือเครื่องกดจำนวนครั้ง แกกดทีละ 1 ทีละ 1
แล้วแกก็อธิบายว่า แกเคยคิดไม่ดีกับพ่อ แล้วก็ทำให้เกิดเรื่องไม่ดีกับพ่อขึ้นมา ก็เลยคิดว่าเป็นเพราะการคิดไม่ดีกับพ่อ ก็เลยพยายามห้ามใจไม่ให้คิดถึงสิ่งไม่ดีที่เกี่ยวกับพ่อ วิธีก็คือสวดมนต์ สวดมนต์เป็นประจำ และไม่ใช่แค่นั้น พยายามสวดให้ได้เป้า ไม่รู้ว่า 108 จบ หรือว่า 84000 จบ สวดมนต์เสร็จจบหนึ่งก็กดทีหนึ่ง แกก็เล่าว่าแกสวดมนต์อยู่เป็นประจำ เพื่อให้จิตไม่คิดไปในทางอกุศลเกี่ยวกับพ่อ
แกก็เล่าต่อไปว่า ที่มาหาหมอครั้งนี้เพราะว่าหกล้มซ้ำซาก ครั้งล่าสุดเป็นเพราะว่า ขณะที่กำลังเปิดประตูลงจากรถ พอก้าวลงออกจากรถเท่านั้นก็ล้มลงไปเลย หมอก็เลยถามว่า ตอนนั้นคุณสวดมนต์อยู่ใช่ไหม คนไข้ประหลาดใจมากบอกว่าหมอรู้ได้อย่างไร หมอรู้สิเพราะว่าฟังจากที่เธอเล่าว่าลงจากรถ ใจเธอก็อยู่ที่การสวดมนต์ แล้วก็ลืมไปว่ากำลังลงจากรถหรือว่าไม่มีสติกับการก้าวเท้าลงจากรถ เรียกว่าตอนนั้นก็ไม่รู้ตัว ลืมกายลืมว่ากำลังลงจากรถ พอไม่มีสติกับการลงจากรถมันก็ล้มสิ
หมอก็เลยแนะว่า ทีหลังเวลาลงจากรถ ให้มีสติกับการก้าวเท้าออกจากรถ ยังไม่ต้องสวดมนต์ นี่ยังดีที่เธอแค่ล้มลงขณะที่ก้าวเท้าลงจากรถ ไม่เกิดอุบัติเหตุ เพราะว่าขณะที่เธอขับรถก็คงจะสวดมนต์ไปด้วย ทำ 2 อย่างพร้อมกัน สวดมนต์เป็นสิ่งที่ดี เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง แต่ว่าธรรมะต้องทำให้ถูกที่ถูกเวลาด้วย ไม่ใช่สวดมนต์ขณะขับรถหรือว่าขณะที่กำลังลงบันไดหรือขณะที่ก้าวเท้าลงจากรถ อันนี้เรียกว่าทำสองอย่างพร้อมกัน
แม้สิ่งที่ทำ มันจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าถ้าหากว่ามันทำให้ขาดสติกับการทำอีกอย่างหนึ่ง มันก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่ดีไปได้ เพราะว่าทำให้เกิดโทษ เพราะฉะนั้นคำว่าทำทีละอย่างมีความหมายอย่างนั้นจริงๆ เวลาลงจากรถก็แค่ลงจากรถ ใจอยู่กับการก้าวเท้าออกจากรถ ไม่ต้องทำอย่างอื่นไปด้วย เช่น สวดมนต์หรือว่าขบคิดธรรมะ หรือว่าคิดเรื่องงานเรื่องการ อันนี้ไม่ใช่เป็นแค่วิธีการเจริญสติที่ดีที่ทำได้ในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่เป็นการช่วยทำให้ชีวิตปลอดภัยด้วย เพราะว่าถ้าทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน
อันตรายก็เกิดขึ้นได้เพราะการขาดสติ กินข้าว ใจก็คิดนึกไปเรื่องโน้นเรื่องนี้ บางทีคิดบางเรื่องแล้วเกิดความเศร้า หรือเกิดความแค้นขึ้นมา หรือเกิดความโมโหโกรธาขึ้นในเรื่องที่ผ่านมาแล้ว บางทีสำลักข้าวเลย ข้าวติดคอเลยแล้วถ้าเป็นขนมหวาน อาจจะหายใจไม่ออกเลยก็ได้ ตาย
บางคนทำความสะอาดเป็นพนักงานทำความสะอาดโต๊ะเก้าอี้ ฟังเพลงไปด้วยแล้วก็เคี้ยวหมากฝรั่งไปด้วย ปรากฏว่าเผลอ หมากฝรั่งติดคอ ทำอย่างไรก็เอาไม่ออก ตาย ก็มี หรือว่ากลายเป็นเจ้าชายนิทราก็มี แต่บางคนยังดีรู้วิชาที่จะเอาหมากฝรั่งออกจากคอได้ ด้วยการกระแทกกระบังลมให้มันอาเจียนออกมา อันนี้เพราะเขารู้วิธี แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้วิธี ก็มีอันเป็นไปถึงตาย หรือว่ากลายเป็นเจ้าชายนิทราเจ้าหญิงนิทราก็มี อันนี้เพราะว่าทำหลายๆอย่างพร้อมกัน
เพราะฉะนั้น ถ้าอยากจะให้ร่างกายปลอดภัย และใจผ่องใสเพราะมีสติ ก็ลองฝึกทำทีละอย่าง ถ้าทำทีละอย่างไปจนกระทั่งมีสติจะทำอะไรก็ตาม ถึงเวลาจะต้องทำพร้อมกัน 2 อย่าง 3 อย่าง ก็ทำได้อย่างมีสติ อย่างระมัดระวังและก็ปลอดภัย
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 14 สิงหาคม 2564