แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คนไทยที่นับถือพุทธนิยมทำบุญอุทิศให้กับผู้ล่วงลับ เวลาถวายสังฆทานหรือว่าใส่บาตรเสร็จ ก็จะมีการอุทิศส่วนบุญกุศลให้กับผู้ล่วงลับ ตามประเพณีก็จะมีการหยาดน้ำหรือกรวดน้ำ มีคนสงสัยว่า ถ้าไม่มีน้ำจะกรวด จะทำอย่างไร
อันนั้นไม่มีปัญหาเลย เพราะว่าน้ำที่หยาดนั้นก็เป็นแค่พิธีกรรม หรือว่าเป็นสื่อที่ช่วยน้อมนำใจให้มีสมาธิกำหนดจิตแน่วแน่อยู่กับการอุทิศให้กับผู้ล่วงลับ ถึงแม้จะไม่มีน้ำกรวดหรือหยาดก็เพียงแค่น้อมใจถึงผู้ที่ล่วงลับ แล้วก็แผ่อุทิศส่วนบุญกุศลไปให้ อันนี้ก็สำเร็จประโยชน์แล้ว
บางคนก็มีคำถามอยู่ว่า ตอนที่จะกรวดน้ำหรืออุทิศส่วนบุญกุศลให้กับผู้ล่วงลับตอนไหนดี ช่วงที่พระสวดบทไหน บางคนก็เข้าใจว่า จะกรวดน้ำก็ต่อเมื่อพระสวดบทที่ว่ายะถาวาริวะหา ถ้าพระไม่ขึ้นบทสวดแบบนี้ก็ยังไม่กรวด อาจจะเข้าใจว่าจะได้บุญน้อย ที่จริงไม่เกี่ยว
เคยเจอตอนที่ไปบิณฑบาต โยมที่ใส่บาตร เตรียมกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญให้กับผู้ล่วงลับ ใส่บาตรเสร็จ พระก็ให้พรเริ่มต้นว่า อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง หรือไม่ก็เริ่มต้นว่า อะภิวาทะนะสี โยมยังนิ่งอยู่ จนพระให้พรเสร็จ โยมก็ยังไม่กรวดน้ำ พระก็ถามว่าทำไมยังไม่กรวด เหตุผลก็คือ พระยังไม่ได้สวดยะถา ต้องให้พระสวดก่อนถึงจะกรวดน้ำได้
ที่จริง อิจฉิตัง ปัตถิตัง หรือว่า อะภิวาทะนะสี มันก็เป็นส่วนหนึ่งของบทอนุโมทนาที่ขึ้นต้นด้วยว่ายะถาวาริวะหา แต่ท่านสวดย่อ แต่โยมไม่เข้าใจ นอกจากไม่เข้าใจแล้ว ยังไปคิดว่าต้องยะถา..เท่านั้นจึงจะกรวดน้ำได้
และที่จริงไม่มีพระสวดเลย หรือจะสวดบทไหนก็แล้วแต่ โยมพร้อมเมื่อไหร่ก็กรวดน้ำได้เลย หรือถ้าไม่มีน้ำก็น้อมใจระลึกนึกถึงผู้ที่ล่วงลับ ชาวพุทธเชื่อว่าเพียงแค่น้อมใจนึก บุญที่ได้บำเพ็ญไปสักครู่ อุทิศไปถึงผู้ที่ล่วงลับได้ เพราะว่าเรื่องการทำบุญ
สิ่งสำคัญอยู่ที่ใจ พิธีกรรมเป็นส่วนประกอบ ที่ช่วยทำให้ใจสงบ ทำให้ใจมีสมาธิ ทำให้ใจจดจ่ออยู่กับการทำคุณงามความดี รวมทั้งถ้าใจมีสมาธิแน่วแน่ การน้อมถึงผู้ที่ล่วงลับและแผ่อุทิศบุญกุศลก็จะมีพลัง อันนี้เป็นเรื่องที่ชาวพุทธเราจำนวนไม่น้อยยังไม่เข้าใจ พอไปติดที่พิธีกรรมเข้า สิ่งที่เป็นเนื้อหาสาระก็ลืมไปเลย แล้วพอไม่มีพิธีกรรมอย่างที่ตัวเองคาดหวัง เลยทำอะไรไม่ถูก ไปไม่เป็น
เรื่องบุญมันสำคัญอยู่ที่ใจ ใจที่เป็นกุศล ใจที่เบิกบานผ่องใส อันนี้จะทำให้การที่เราจะบำเพ็ญคุณงามความดีอย่างอื่นรวมทั้งอุทิศส่วนบุญกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับ มันก็จะเป็นไปด้วยดี ชาวพุทธเราเดี๋ยวนี้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับเรื่องบุญหลายอย่าง เช่น ไปเข้าใจว่าเวลาพระให้พร หรือว่าทำบุญถวายสังฆทานเสร็จ บุญก็ดี พรก็ดี มันจะไหลไปตามสายสิญจน์
เพราะฉะนั้น โยมก็จะแตะสายสิญจน์บ้างล่ะ หรือไม่ก็แตะตัวผู้ที่เป็นผู้ถวาย เพราะคิดว่าบุญหรือพร จะแพร่หรือกระจายไปตามตัว ไหลไปตามตัวบุคคล ก็เลยแตะติดๆกัน บางทีเป็นพรวนเลย หรือมิฉะนั้นก็แตะสายสิญจน์ โดยที่คิดว่า ถ้าไม่ได้แตะตัวคนที่ถวาย ไม่ได้แตะสายสิญจน์ บุญจะพร่อง พรที่ได้รับจะไม่ได้รับเต็มๆ
มันไม่เกี่ยวกับสายสิญจ์ มันเกี่ยวกับใจ ถ้าใจลอย ใจกำลังเครียด วิตกกังวลขณะที่พระให้พร หรือว่าขณะที่กำลังกรวดน้ำ บุญที่เกิดขึ้นหรือบุญที่แผ่ออกไปก็จะน้อยลงแผ่วลงไปด้วย แต่ว่าถ้าใจเป็นกุศล เบิกบาน แม้ไม่แตะสายสิญจน์ แม้ไม่แตะบุคคลที่ถวาย บุญก็เกิดขึ้นแล้วที่ใจเต็มๆ แล้วพอจะแผ่อุทิศให้กับผู้ที่ล่วงลับ มันก็แผ่ไปได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
แต่ที่หนักกว่านั้น ไปเข้าใจว่าบุญเป็นเรื่องที่จะสงวนไว้เฉพาะตัว มีโยมคนหนึ่งพาลูกพาเมียมาถวายสังฆทาน แต่ก็ยังไม่ถวายสักที จนกระทั่งเมียกับลูกออกจากห้องไป จึงจะถวายสังฆทานให้กับหลวงพ่อ หลวงพ่อให้พรเสร็จก็ถามว่า ทำไมไม่รอให้ลูกเมียมาอยู่ด้วยมาถวายสังฆทานพร้อมกัน แกตอบว่าอย่างไร แกกลัวว่าบุญที่แกจะได้ถูกหาร แทนที่จะได้เต็มๆ ต้องถูกหาร 3 คือกลายเป็น 33% ถ้าลูกเมียอยู่ด้วย
เพราะฉะนั้น ต้องให้เมียและลูกออกจากห้องไปก่อน จึงจะทำบุญถวายสังฆทาน เพื่อว่าตัวเองจะได้รับบุญได้พรเต็มๆ 100% อันนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด แถมยังเจือไปด้วยความเห็นแก่ตัวด้วย เพราะว่า เวลาตัวเองจะได้บุญหรือไม่ มากน้อยเพียงใดมันอยู่ที่ใจของตัว ไม่ได้อยู่ที่ว่าในห้องมีคนมากน้อยแค่ไหน คนอื่นรับพรด้วย ตัวเองก็ได้รับพรได้บุญเต็มๆเหมือนกันถ้าหากว่าใจเป็นกุศล ถ้าใจไม่ฟุ้งซ่าน
ไม่ใช่ว่าถ้าคนเยอะ ตัวเองจะได้บุญน้อย เพราะว่าบุญถูกหารไปตามจำนวนคนที่อยู่ในห้อง อันนี้เป็นความเข้าใจที่ผิดแล้วก็เป็นความเห็นแก่ตัว เพราะว่าหวงบุญ ขนาดลูกเมียเป็นคนใกล้ ยังหวงเลย ไม่อยากให้เขาได้รับบุญอย่างที่เราได้รับ เพราะกลัวเขาแย่งบุญของเราไป คิดแบบนี้บุญที่ได้ยิ่งน้อยลง เพราะว่ามีความเห็นแก่ตัว ที่จริงแล้ว มันไม่เกี่ยวกันเลย
แล้วประเภทหวงบุญอีกชนิดหนึ่ง ก็คือพอทำบุญเสร็จ ก็ไม่ยอมแผ่อุทิศส่วนบุญกุศลให้กับใครเลย ถามว่าทำไม เขาก็ตอบว่า เพราะกลัวว่า ขืนทำเช่นนั้น บุญของตัวเองจะน้อยลง ถ้าแผ่ไปให้คนอื่นเยอะๆแล้วที่เหลือกับตัวเองจะน้อยลง อันนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะว่ามันไม่เหมือนกับเงิน เงินให้คนอื่นไปมากเท่าไหร่ ที่เหลือของตัวเองก็จะน้อยลง แต่เงินกับบุญมันต่างกัน บุญยิ่งให้ก็ยิ่งได้
มีบุญชนิดหนึ่งที่เรียกว่าปัตติทานมัย คือบุญที่อุทิศให้กับผู้ที่ล่วงลับ ยิ่งอุทิศให้กับผู้ล่วงลับ บุญที่เกิดขึ้นกับตัวเองก็ยิ่งเพิ่มพูน เรียกว่ายิ่งให้ยิ่งได้ แต่นี่ไปเข้าใจว่า ยิ่งให้ยิ่งหมด ยิ่งให้ยิ่งหาย เข้าใจแบบนี้ก็เป็นความเข้าใจผิด แล้วถ้าทำตามก็กลายเป็นคนเห็นแก่ตัวไป เพราะว่ากลายเป็นพวกหวงบุญ หวงเงินยังไงก็แล้วแต่ แต่อย่าหวงบุญ เพราะว่ายิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งให้จิตใจก็ยิ่งผ่องใส ความเห็นแก่ตัวก็ยิ่งน้อยลง ต่อไปนอกจากไม่หวงบุญแล้ว ก็ยังไม่หวงเงินไม่หวงทรัพย์ด้วย รู้จักให้จิตใจก็ยิ่งเป็นบุญมากเข้าไปใหญ่ อันนี้ต้องเข้าใจ
เดี๋ยวนี้เราทำบุญกันเยอะ แต่ว่าพอเข้าใจผิดพลาด ก็เลยแทนที่จะได้บุญ เผลอๆได้บาปไปด้วยซ้ำ หรือได้ความเห็นแก่ตัวได้กิเลสพ่วงติดกลับมา แต่ถ้าเข้าใจถูก ความเห็นแก่ตัวก็จะน้อยลง จิตใจก็จะผ่องใสเบิกบาน
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 18 สิงหาคม 2564