แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
สมัยที่อาตมาไปปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียนที่วัดสนามใน จำได้ว่าวันแรกๆที่หลวงพ่อเทียนให้ทำกรรมฐาน ประโยคหนึ่งที่ท่านแนะนำก็คือ ให้ทำเล่นๆ แต่ว่าทำจริงๆ ทีแรกก็ไม่เข้าใจความหมายของท่านหมายถึงอะไร แล้วก็ไม่ได้สนใจคำแนะนำที่ว่าด้วย สนใจแต่ที่ท่านให้ทำความเพียรทำจริงๆ ส่วนที่ท่านว่าให้ทำเล่นๆนั้นก็ไม่เข้าใจ แต่เมื่อมาทำกรรมฐานเราก็ต้องทุ่มเทให้เต็มที่
แต่ว่าแค่ไหนที่ว่าเต็มที่ ได้ถามท่านว่าเจริญสติวันหนึ่งนานเท่าไหร่ ตอนนั้นเข้าใจเองว่าเริ่ม 9:00 น แล้วก็เลิก 16:00 น คิดแบบคนที่อยู่กับชีวิตทางโลก ที่เวลาอย่างนั้นเป็นเวลาราชการหรือเวลาทำงาน ก็คิดว่าปฏิบัติธรรมก็เป็นแบบนั้น ท่านตอบว่าตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอนเลย พอฟังอย่างนั้นก็รู้สึกหนักใจว่าจะไหวหรือ
เพราะว่าแค่ทำ 2-3 ชั่วโมงก็รู้สึกว่าไม่ไหว แทบจะต้องกล้ำกลืนฝืนทนมากสำหรับคนที่ไม่เคยปฏิบัติอย่างจริงจัง ทั้งๆที่รู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ดี แล้วก็มีศรัทธาถึงมาบวชมาปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียน แล้วก็หลวงพ่อคำเขียน แต่ว่าพอทำไปๆ เราก็ทำได้มากกว่า 2-3 ชั่วโมง สามารถทำได้วันละหลายชั่วโมง อันนี้หมายถึงการปฏิบัติในรูปแบบเดินจงกรม สร้างจังหวะ ตอนหลัง ตื่นนอนขึ้นมาก็ทำเลย แล้วก็ทำยาวด้วย ตื่นนอนจนถึงก่อนนอน
แล้วก็ทำด้วยความตั้งอกตั้งใจ พยายามที่จะรู้สึกตัวให้ได้ พยายามที่จะรู้ทันความคิดได้ไวๆ แต่ก็ลืมที่หลวงพ่อเทียนท่านบอกไว้ว่าทำเล่นๆ ตอนนั้นในใจก็คิดแต่จะเอาชนะความฟุ้งความหลง เวลาเผลอคิดไปก็จะรู้สึกหงุดหงิดว่า พลาดไปแล้ว ก็ตั้งใจใหม่ พยายามที่จะจ้องความคิด ดักดูความคิดไม่ให้มาหลอกล่อจิตใจเราให้ฟุ้งยาว
แต่ความคิดก็ฉลาด เราดักจ้องเรื่องนี้มันก็ไปโผล่เรื่องนั้น พอโผล่เรื่องนั้นบ่อยๆ เราก็รู้ทางมัน เราก็คอยดักจ้องว่ามันจะคิดเรื่องนี้ พอมันรู้ว่าเราดักจ้องจะคิดเรื่องนี้ มันก็ไปคิดเรื่องอื่นแทน มันก็หลบไปเรื่อยๆแบบนี้ เราก็ไม่ยอมแพ้จะเอาชนะมัน ก็กลายเป็นว่าทำด้วยความคิดที่จะเอาชนะ แต่ว่ามันไม่เคยชนะได้เลย เพราะความคิดมันฉลาดกว่าเรา
บางทีพอเราดักจ้องมันมากๆ มันก็หาทางหลบใน มันซ่อนตัวอยู่ บางทีบางวันความคิดไม่ออกมาเลย แต่ทำไมมันหนักหัวยังไงก็ไม่รู้ มันเป็นภาวะที่แปลก คิดแต่ว่าทำไมมันไม่คิด แล้วก็หนักหัวด้วย แต่พอใกล้จะหลับ ความคิดมันออกมาพรั่งพรูจนนอนไม่หลับ ก็เลยรู้ว่าไม่ชนะ แต่ก็ไม่ยอมแพ้ พยายามดักจ้องมัน เพ่งจิตไม่ให้มันคิด แต่ตอนหลังก็เกิดอาการปวดนั่นปวดนี่
แล้วก็เครียดถึงขั้นที่เรียกว่า แค่ยกมือสร้างจังหวะ 1 ถึง 2 จังหวะก็ปวดจี๊ดขึ้นมาเลย เหมือนกับว่าเครียดหนักหรือว่ามีรอยช้ำที่ไปย้ำมัน มันก็ปวด สุดท้ายก็ยกมือสร้างจังหวะไม่ได้ ต้องเดินจงกรม เดินจนปวดขา ตอนหลังก็ทำท่าจะเดินไม่ไหว ก็เลยรู้สึกท้อ สงสัยว่าวิธีนี้ไม่เหมาะกับเราแล้ว จนกระทั่งพอไม่มีความคิดหรือไม่รู้สึกอยากจะเอาชนะ ยอมแล้ว ที่จะให้รู้ทันความคิด ก็ไม่หวังแล้ว
แต่ก็ยังคงทำไปเรื่อยๆ เดินไม่ถนัดก็นั่งคลึงนิ้ว ตอนนั้นมีสวนมะพร้าว ก็นั่งพิงต้นมะพร้าวแล้วก็คลึงนิ้วไปเรื่อยๆ มันจะลอยไปก็ช่างมัน เดี๋ยวมันพอรู้สึกตัว นึกถึงการขัดสีหรือขัดถูของนิ้ว มันก็กลับมา รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น มันเป็นการผ่อนคลายที่รู้สึกไม่คิดจะเอาชนะมันแล้ว ก็ทำเพื่อให้รอให้ครบ 1 เดือนหรือ 30 วันตามที่อธิษฐานไว้ หลังจากนั้นก็จะได้ไปอยู่อีกสำนักหนึ่งแทนอาจจะเป็นที่สวนโมกข์ก็ได้
แต่พอทำอย่างนี้เข้า นอกจากจะผ่อนคลายแล้ว ปรากฏว่ามันรู้ทันความคิดได้ไวขึ้นๆ สติมันทำงานได้ไวอย่างที่นึกไม่ถึงเลย เป็นครั้งแรกที่เห็นความคิด มันมีอย่างนี้ด้วยที่เห็นความคิด ไม่เคยรู้เลยว่าเห็นความคิดได้ อัศจรรย์มาก ถึงตอนนั้นก็เริ่มจะเข้าใจที่หลวงพ่อเทียนสอนแนะนำว่า ให้ทำเล่นๆ เราทำผิดมาตลอดคือ ไม่ได้ทำเล่นๆ คิดจะเอาชนะ แล้วก็คิดที่จะให้จิตมันสงบ ให้มันหยุดฟุ้งซ่าน
ที่หลวงพ่อเทียนท่านสอนให้ทำเล่นๆก็คือ ทำสบายๆ อย่าไปหวังผล อย่าไปตั้งใจที่จะเห็นความคิด หรือว่าถ้ามันเผลอไป หลุดไป ก็ช่างมัน คำว่าช่างมันหรือไม่เป็นไร เป็นคำที่มีความหมายมากสำหรับการปฏิบัติ เพราะแต่ก่อนไม่ยอมช่างมัน เผลอเมื่อไหร่ก็รู้สึกไม่พอใจตัวเอง แล้วก็อยากจะแก้คืน อยากจะเอาชนะมันให้ได้ ไม่เข้าใจคำว่าช่างมัน ไม่เข้าใจคำว่าไม่เป็นไร ไม่เข้าใจคำว่าทำเล่นๆ
แต่ว่าพอเริ่มที่จะประสบกับความคลี่คลาย เพราะว่าไม่ได้คิดแต่จะเอา ไม่ได้ตั้งใจมากก็เลยเข้าใจเลยว่า ทำเล่นๆที่หลวงพ่อเทียนพูดถึง ทำอย่างนี้เอง และสิ่งที่ท่านพูดไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ ทำเล่นๆแต่ทำจริงๆ ดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่ไปคนละทางหรือตรงข้ามกัน แล้วมันจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไร แต่ที่จริงมันอยู่ด้วยกันได้ การเจริญสติทำให้ได้เห็นว่า สิ่งที่ดูเหมือนไปคนละทาง หรือว่ามันเหมือนตรงข้ามกัน แต่ที่จริงไปด้วยกันได้
ทำเล่นๆกับทำจริงๆ ซึ่งความหมายหนึ่งก็คือว่า ทำจริงจัง ทำเต็มที่ แต่ว่าไม่คาดหวังผล สำหรับคนทั่วไป สองอย่างนี้ มันอยู่ด้วยกันได้ยาก ถ้าจะทำเต็มที่ ก็เพราะว่ามีความคาดหวังในผล ยิ่งอยากจะเห็นผลไวๆก็ยิ่งจะทุ่มเทอย่างหนัก ทำเต็มที่ ถ้าไม่หวังผลอะไร ก็ไม่อยากขยับเขยื้อนอไร แต่ก็ไม่ใช่อย่างนั้นหรอก
คนเราเวลาเล่นหมากฮอสเล่นหมากรุกหรือว่าเล่นบอล เวลาเราไม่หวังผล แพ้ชนะ เล่นกันสนุกๆ มันก็ทำเต็มที่ได้ แล้วเวลาเราเล่นสนุกๆแบบนั้น ชนะเราก็หัวเราะได้ แพ้เราก็ยิ้มได้ เพราะว่าไม่ได้หวังผล แต่ว่าตอนที่เล่น ก็ทุ่มเทได้เหมือนกัน
กับการปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน มันก็เป็นไปได้ที่เราจะทำจริงจัง แต่ว่าทำด้วยท่าทีหรือความรู้สึกแบบทำเล่นๆไม่หวังผลไม่คาดหวังผล
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือปล่อยวางในผล มันทำไปด้วยกันได้สองอย่างนี้ ทำเต็มที่ ระดมความเพียรแต่ว่าไม่หวังผล พอเราไม่หวังผล มันจะรู้สึกผ่อนคลาย ไม่เคร่งเครียด ที่คนเราเวลาทำงานแล้วมันเคร่งเครียด มันไม่ใช่ว่าเป็นเพราะว่าทำงานเต็มที่ แต่เป็นเพราะว่าคาดหวังในผล อยากจะให้ผลหรือบรรลุเป้าหมายนั้นบรรลุไวๆ พอใจไปอยู่ที่ผล ไปอยู่ที่เป้าหมายแล้ว แล้วมันไม่ถึงสักทีก็เลยเกิดความเครียด
แต่ว่าพอเราวางผล วางเป้าหมาย หรือว่าไม่สนใจมัน แล้วเอาใจมากับจดจ่ออยู่ที่การกระทำในปัจจุบัน มันก็สามารถที่จะทำเต็มที่ได้ แล้วก็ไม่เครียดด้วย เพราะฉะนั้น คำว่าทำเล่นๆแต่ทำจริงๆของหลวงพ่อเทียน ถ้าจะมาแปลความให้ง่ายก็คือ ทำเต็มที่ แต่ไม่ซีเรียส
มันเป็นความสมดุลที่สำคัญมาก จะว่าไปแล้ว ศิลปะของชีวิต ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม มันก็คือการพยายามที่สร้างสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างสิ่งที่ดูเหมือนไปคนละทาง แต่ว่าเสริมกัน เช่น ทำเล่นๆกับทำจริงๆของหลวงพ่อเทียน หรือว่าทำเต็มที่แต่ไม่ซีเรียส
จริงๆศิลปะของชีวิตก็คือ เรื่องของการสร้างสมดุล ไม่ว่าจะเป็นความสมดุลในเรื่องใดๆก็ตาม อย่างเช่นความสมดุลระหว่างการตื่นกับการนอน คนเราถ้าตื่นตลอดเวลา ไม่รู้จะหลับ มันก็แย่ แต่ถ้าหลับ เอาแต่หลับไม่ค่อยตื่นเลย มันก็แย่เหมือนกัน ทำอย่างไรถึงตื่นแล้วก็หลับแต่พอดี หรือว่าทำงานกับการพักผ่อน มันก็เป็นเรื่องของความสมดุลที่เราจะต้องรู้จักจัดวางให้ดีให้พอดี ทำแต่งานแต่ไม่รู้จักพักผ่อน มันก็ล้าในที่สุด แต่ถ้าพักผ่อนอย่างเดียว ไม่ทำงานมันก็เป็นไปไม่ได้
ทำอย่างไรจึงจะมีความสมดุล ความพอดี ระหว่างการทำงานกับการพักผ่อน อันนี้เป็นเรื่องศิลปะเลย เป็นศิลปะของชีวิต เช่นเดียวกับระเบียบวินัยกับเสรีภาพ ชีวิตของคนเราก็มีทั้ง 2 อย่าง การเลี้ยงดูลูกกับการปกครอง มันก็ต้องมี 2 อย่างนี้ควบคู่กัน แต่จะทำอย่างไรให้เกิดความพอดีความสมดุลระหว่างสองสิ่งนี้ อันนี้เป็นเรื่องของศาสตร์และศิลป์ก็ได้
ระเบียบวินัยมันดูเป็นกรอบที่จำเป็นของทุกชีวิต ของทุกคน ของทุกชุมชน แต่ว่าเสรีภาพก็มีความจำเป็นเหมือนกัน มันทำให้เกิดการสร้างสรรค์ อย่างน้อยๆ ก็ทำให้เกิดการผ่อนคลายความเครียดด้วย คนไทยสมัยก่อน ถึงแม้จะมีระเบียบวินัยกฎเกณฑ์กำกับการดำเนินชีวิตมากมาย แต่อย่างน้อยพอถึงวันสงกรานต์ก็เป็นวันแห่งเสรีภาพแล้ว ซึ่งสมัยนี้เรียกว่าเป็นวันปล่อยผี กฎเกณฑ์อะไรต่างๆก็วางไว้ชั่วคราว
ทุกวันนี้ในต่างจังหวัด สงกรานต์ก็คือช่วงที่มีอิสระเสรีที่จะทำอะไรก็ได้ในขอบเขตหนึ่ง เป็นวันที่ระเบียบวินัยหย่อนยาน แต่คนเราก็ต้องมีความสมดุลระหว่างสองสิ่งนี้ให้ได้ ไม่ใช่ว่าตลอดปี แต่ว่าในวันหนึ่งๆก็ต้องมี ซึ่งจะมีแค่ไหนก็เป็นเรื่องของสติและปัญญา
เรื่องการภาวนา มันต้องอาศัยความสมดุลระหว่างการทำเต็มที่กับการปล่อยวาง ปล่อยวางในผล ปล่อยวางในสิ่งที่ต้องการบรรลุ ซึ่งก็คือการปล่อยวางอนาคตนั่นเอง แต่ให้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน ถ้าเรารู้จักประสานระหว่างทำเต็มที่และไม่ซีเรียสได้ มันไม่เพียงแต่จะเอื้อต่อการปฏิบัติเท่านั้น เวลาทำงานในทางโลก มันก็จะช่วยได้เหมือนกัน
ที่คนเราทุกวันนี้ทำงานแล้วเครียด อย่างที่บอกไม่ใช่ว่าเพราะทำงานเยอะหรือทำเต็มที่ แต่วางใจไม่ถูก ไปคาดหวังผล คอยแต่นึกว่าเมื่อไรจะสำเร็จเมื่อไรจะเห็นผลสักที พอยังไม่เห็นผลก็เกิดความเครียด หงุดหงิดสุดท้ายก็ทำให้ท้อ ทำให้หยุด ทำให้เลิกกลางคัน ในทางตรงข้ามถ้าเกิดว่าไม่หงุดหงิด ไม่เครียด มันก็สามารถที่จะทำความเพียรได้ต่อเนื่อง อันนี้เป็นศิลปะของการดำเนินชีวิตทีเดียว ทำเต็มที่แต่ไม่ซีเรียส หรือใส่ใจอย่างจริงจังแต่รู้จักปล่อยรู้จักวาง
มีเรื่องเล่าว่าสมัยสมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงชินวรศิริวัฒน์ เมื่อยังทรงมีพระชนม์อยู่ ท่านมีถ้วยชามลายครามที่โปรดปรานมาก ท่านทรงใช้อย่างระมัดระวังมากเพราะว่าเป็นของเก่าโบราณ ท่านเอาใส่ใจดูแลเป็นเวลานานทีเดียว วันหนึ่งประทับอยู่ที่ตำหนัก ปรากฏว่าได้ยินเสียงคนทำถ้วยแตก ก็เลยรับสั่งถามว่าเสียงอะไร มหาดเล็กก็ตอบเสียงอ่อยๆว่า ทำถ้วยชามแตก พระองค์ก็ถามว่าถ้วยชามใบไหน หมาดเล็กทูลตอบว่าถ้วยชามที่พระองค์ทรงโปรดปราน
ปรากฏว่าแทนที่จะทรงกริ้ว กลับตรัสด้วยความโล่งอกว่าสิ้นเคราะห์ไปที จะได้หมดห่วงสักที คือไม่มีความโกรธ ไม่มีความโมโห ไม่มีความเสียใจที่ถ้วยชามโปรดปรานและก็ดูแลเอาใจใส่อย่างดีแตก คือว่าแม้จะดูแลเอาใส่ใจอย่างดี แต่พระองค์ก็ปล่อยวางไปพร้อมๆกันด้วย เพราะฉะนั้นพอมันแตกก็เลยไม่ได้โกรธ ไม่ได้กริ้ว ไม่ได้เสียใจ
เวลาเราภาวนา เวลาปฏิบัติโดยเฉพาะการเจริญสติ ใหม่ๆก็ถูลู่ถูกังไปข้างใดข้างหนึ่ง บางทีเหวี่ยงไปแบบทำเต็มที่แต่ว่าทำแล้วเครียด หรือมิเช่นนั้นก็ ทำแบบไม่ซีเรียสแต่ว่าก็ไม่ได้จริงจัง แต่พอเวลาเราภาวนาถึงจุดหนึ่ง มีสติดี มันช่วยทำให้เกิดการประสานสิ่งสองสิ่งนี้เข้าด้วยกันได้ ระหว่างการทำเล่นๆ กับทำจริงๆ หรือว่าทำเต็มที่แต่ไม่ซีเรียส อย่างที่บอกว่าเป็นศิลปะของชีวิตเลยทีเดียว ทั้งทางโลกและทางธรรม
อันนี้มันต่างจากทางสุดโต่ง เวลาเราพูดถึงทางสุดโต่งหมายถึง สิ่งไม่ดีที่อยู่ตรงข้ามกัน หรือว่าอยู่คนละขั้ว แต่สมดุลมันเป็นเรื่องของสิ่งดีๆ 2 สิ่งที่เน้นกันคนละด้าน และเป็นสิ่งที่เราควรจะเชื่อมโยง ประสานกันให้ได้ อย่างที่พูดไว้วันก่อนว่าระหว่างศรัทธากับปัญญา มันดีทั้งคู่ แต่ว่าเน้นไปคนละทาง เราต้องเชื่อมมันให้ได้ ให้มีทั้งศรัทธาและปัญญา วิริยะกับสมาธิก็เหมือนกัน และสิ่งที่จะเชื่อมได้ ให้เกิดความพอดีระหว่างสิ่งดีๆ 2 สิ่งนี้ได้ ก็คือสติ
แต่การที่เราจะเจริญสติได้ มันก็ต้องอาศัยสิ่งที่หลวงพ่อเทียนแนะนำ ก็คือ ทำเล่นๆแต่ทำจริงๆ หรือว่า ทำเต็มที่แต่ไม่ซีเรียส ใหม่ๆก็เหวี่ยงไปเหวี่ยงมา แต่พอทำไปถึงจุดหนึ่ง ก็จะเริ่มค่อยๆเข้าที่ เกิดความสมดุล ก็เหมือนกับจักรยาน ขี่ใหม่ๆมันก็มีแต่ล้มท่าเดียว ไม่ล้มไปทางซ้ายก็ล้มไปทางขวา แต่พอเราเริ่มรู้จักการทรงตัว เพราะว่ามีประสบการณ์การขี่จักรยานมานาน ผิดพลาดอยู่บ่อยๆ
เราก็เอาผิดมาเป็นครู เราก็เริ่มรู้วิธีการที่จะทรงตัวให้พอดี พอเราทรงตัวได้ถูก การขี่จักรยานก็เป็นเรื่องง่าย การเจริญสติก็เหมือนกัน หลงบ้างรู้บ้าง ส่วนใหญ่หลงมากกว่ารู้ หรือว่าเหวี่ยงไปทางซ้ายเหวี่ยงไปทางขวา ไม่เผลอก็เพ่ง ไม่ส่งจิตออกนอกก็เพ่งเข้าใน แต่ว่าทำไปทำมาก็เริ่มรู้ว่าแค่ไหนจึงจะพอดี แล้วก็สามารถที่จะประคองใจให้มันสามารถที่จะทำได้ทั้งทำเต็มที่คือมีความเพียร แล้วก็ไม่ซีเรียส คือผ่อนคลาย รู้จักวาง วางเป้าหมายหรือวางความอยากที่จะบรรลุผลไวๆ
แล้วพอมีสติ ความสมดุลอีกหลายคู่ก็จะตามมา เช่น การคิดเก่ง คิดไว กับการรู้จักวางความคิด คิดเก่งก็มีประโยชน์ แต่ถ้าคิดเก่งแล้ววางไม่ได้ มันก็แย่ การปล่อยวางความคิดก็ดี แต่ว่าถึงเวลามันต้องคิดก็คิดได้เหมือนกัน ใช้ความคิดให้เกิดผล คนส่วนใหญ่คิดเก่ง แต่ว่าวางความคิดไม่ได้ แต่สติช่วยทำให้การรู้จักวางความคิดเข้ามาเสริม แล้วทำให้ถึงเวลาคิด มันก็คิดได้อย่างมีทิศทาง พอถึงเวลาที่จะเลิกคิด หรือถึงเวลาวางความคิด มันก็วางได้ ไม่ปล่อยให้ความคิดมันชักนำจิตใจจนเข้ารกเข้าพงไป หรือว่าคิดจนกระทั่งนอนไม่หลับ หรือว่าคิดวกคิดวนจนเหนื่อยล้า
สตินี่แหละ จะช่วยทำให้การทำกิจและทำจิต อย่างที่พูดไปแล้วหลายวันก่อนมันเกิดขึ้นได้อย่างสมดุล และมันจะช่วยทำให้เกิดความสมดุลในหลายคู่ตามมา รวมทั้งที่พูดไปวันก่อนระหว่างศรัทธากับปัญญา ระหว่างวิริยะกับสมาธิ แต่ว่าอย่างที่บอก เรามีสติที่จะช่วยประสานสิ่งที่ดูเหมือนสิ่งดีๆที่อยู่ตรงข้ามประสานกันได้ เราก็ต้องรู้จักการทำเล่นๆควบคู่ไปกับการทำจริงๆด้วย
ความเข้าใจตรงนี้ไม่ใช่ด้วยความคิด แต่ว่าสามารถที่จะนำมาปฏิบัติ จนเกิดทักษะ จนเกิดความเชี่ยวชาญชำนาญ การที่จะทำให้เกิดสมดุลต่างๆในชีวิต มันก็จะเป็นไปได้ อย่าลืมว่าคนเรา เราจะเดินได้ไม่ใช่เพราะขาข้างเดียว เราจะเดินได้เพราะมีขา 2 ขาที่จะช่วยประคองกันไป ถ้าขา 2 ขาทำงานได้ดี สมดุลกัน อย่าว่าแต่เดินเลย วิ่งก็ยังได้ แต่เดี๋ยวนี้เราใช้รถจนกระทั่งลืมไปว่า ความสมดุลก็เป็นสิ่งจำเป็นของชีวิตเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นชีวิตทางโลกหรือชีวิตทางธรรม
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 16 สิงหาคม 2564