แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีโยมหลายคนมาบอกอาตมาว่าชอบฟังธรรมะของอาตมาก่อนนอน เดี๋ยวนี้ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นสื่อในการฟังธรรมะได้สะดวก และหลายคนก็บอกว่า พอได้ฟังธรรมะของอาตมาก่อนนอนแล้ว ก็ทำให้หลับดี หลายคนพูดทำนองนี้ แล้วหลายคนก็เล่าว่า ก็เลยทำเป็นอาจิณเลย ก่อนนอนก็เปิดเทปธรรมะของอาตมาแล้วก็หลับได้ง่าย หลายคนเปิดให้แม่ซึ่งเป็นอัลไซเมอร์ฟังด้วย แล้วเธอก็เล่าว่าแม่ก็หลับดีเหมือนกัน
มีคนถามว่าที่ทำอย่างนี้ดีไหม เปิดเทปธรรมะแล้วก็ทำให้หลับดี มันจะเป็นการกล่อมใจไปหรือเปล่า อาตมาตอบว่าไม่เสียหายอะไร เป็นเรื่องดีเสียอีก ที่ฟังแล้วหลับได้ดีกว่านอนไม่หลับ ดีกว่าการที่ใจฟุ้งซ่าน มีความเครียดคิดวกวนไปมาจนตาค้างทั้งคืน นอนไม่หลับ หรือว่าจะหลับได้ต้องกินยา พอฟังธรรมะแล้วใจสบายจนกระทั่งหลับไปได้ อันนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยก็ดีกว่านอนไม่หลับ
ที่จริงมีหลายคนมีประสบการณ์คล้ายๆกัน แต่ไม่ใช่นอนเปิดเทปหรือเปิดธรรมะบรรยายก่อนนอน หลายคนเปิดธรรมะบรรยายตอนกลางวัน เขาก็รู้สึกว่าสบายใจ แต่บางคนก็มีคำถามขึ้นมาว่า ทำไมตอนฟังธรรมบรรยาย ใจก็สบายสงบ แต่ว่าก็ยังมีความเครียด ยังมีความหงุดหงิด ยังขี้โกรธอยู่ ข้อสังเกตนี้มาจากคนเป็นลูกว่าแม่ ซึ่งคนที่ฟังนั้นส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและฟังวันๆหนึ่งเป็นชั่วโมง แต่ทำไมก็ยังโกรธอยู่ ขี้หงุดหงิดอยู่
อันนี้เป็นคำถามที่ได้ยินมาจากหลายคน เพราะเขามีความเข้าใจว่า ถ้าฟังธรรมะมากๆก็น่าจะเป็นคนสงบเย็น ไม่ฉุนเฉียวไม่เจ้าอารมณ์ ก็คงเป็นเพราะว่าเวลาฟังธรรม ฟังเอาเพลิน ฟังเอาความสบายใจ ช่วงที่ฟังมันเป็นช่วงที่เขาได้ปล่อยวางปัญหาต่างๆที่ทำให้หงุดหงิด ทำให้กลัดกลุ้ม คนที่เป็นพ่อเป็นแม่เป็นตาเป็นยายคงมีปัญหาหลายอย่างที่รับรู้แล้วก็มีความรุ่มร้อน มีความหงุดหงิด มีความหนักอกหนักใจ แต่พอได้ฟังธรรมบรรยายหรือเทปธรรมบรรยายแล้วจิตใจสงบ ที่สงบเป็นเพราะว่าใจปล่อยวางเรื่องราวปัญหาต่างๆที่รับรู้หรือว่าที่ไปหมกมุ่นกับมัน
ธรรมดาของคนเรา ใจของคนเราจะรับรู้อะไรเป็นอย่างๆ เป็นเรื่องๆ ทีละครั้งคราวละเรื่อง พอมาฟังธรรมะก็ลืมปัญหาต่างๆไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องครอบครัว คนในบ้าน ลูกหลาน เกี่ยวกับอาชีพการงาน ทรัพย์สินเงินทอง มีปัญหาอะไรก็ตามพอมาฟังธรรมบรรยาย และถ้าหากว่าใจจดจ่ออยู่กับการฟัง มันก็เป็นธรรมดาที่จะวางปัญหาต่างๆลง พอวางปัญหาเหล่านั้นลง เกิดอะไรขึ้น ใจก็สบาย เกิดความเบาใจ
ส่วนสาระจากธรรมบรรยาย บางทีเขาไม่ได้สนใจมากเท่าไหร่ หรือติดตามฟังแบบผ่านๆ เพราะว่าก็เป็นเรื่องราวที่ทำให้ใจสงบอยู่แล้ว เป็นเรื่องบุญกุศล เป็นเรื่องที่ทำให้ใจไม่รุ่มร้อน เพราะฉะนั้นเมื่อได้ฟังสักครึ่งชั่วโมงชั่วโมงหนึ่ง ใจก็สบาย วางปัญหาต่างๆลง แต่ก็ชั่วคราว การฟังแบบนี้เป็นการฟังแบบกล่อมใจ ให้ใจสงบ ที่จริงแล้ว ธรรมบรรยายหรือการฟังธรรมมันให้อะไรมากกว่านั้น โดยเฉพาะถ้าเกิดฟังแล้วไม่ใช่แค่กล่อมใจให้สบาย แต่ว่าอาศัยธรรมะเหล่านั้นเป็นเครื่องเตือนใจด้วย
ถ้าใช้ธรรมะเป็นเครื่องเตือนใจ มันก็จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรม หรือว่าในจิตใจของผู้ฟังได้ในระดับหนึ่ง เพราะว่าเมื่อใคร่ครวญเนื้อหาของธรรมะแล้ว ก็เอามาเตือนใจตัวเอง เวลามีความโกรธ มีความหงุดหงิด ก็เตือนใจตัวเองว่าโกรธแล้วนะ โกรธอีกแล้วนะ หรือว่ามาใช้ธรรมะเป็นเครื่องเตือนใจให้รู้จักปล่อยรู้จักวาง ถ้าทำอย่างนี้ล้วก็จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้ ไม่ใช่เพียงแค่ว่าใจสงบ แล้วกลับมาวุ่นวายใหม่ กลับมาหงุดหงิดใหม่
คนจำนวนมากทีเดียว หรือส่วนใหญ่ทีเดียว ไม่ได้ฟังธรรมะในลักษณะนั้น แต่ฟังธรรมเพื่อกล่อมใจ อันนี้คือเหตุผลว่าทำไมถึงฟังธรรมะไม่ว่าจะของใครก็ตาม ก่อนนอนแล้วหลับสบาย ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่เสียหายอะไร อาจจะมีส่วนในการทำให้ธรรมะต่างๆซึมซับเข้าไปในจิตใจ แต่ว่าสิ่งที่ต้องระวังก็คือว่ามันจะเกิดการติดธรรมะ วันไหนไม่ได้ฟังก็นอนไม่หลับ อย่างนี้ไม่ดีแล้ว จนกระทั่งต้องเปิดธรรมะกล่อมใจอยู่เรื่อยๆทุกวันๆ
แต่ถึงแม้ว่าไม่ติด คือสามารถหลับได้แม้ไม่ได้ฟังธรรมะ แต่ก็ควรจะตระหนักว่าธรรมบรรยายให้อะไรมากกว่านั้น มันสามารถที่จะให้อะไรๆมากกว่าทำให้หลับสบาย เพราะที่จริงแล้ว ธรรมะทำให้เราตื่น ไม่ใช่ทำให้หลับง่ายหรือหลับสบาย สิ่งสำคัญคือทำให้เราตื่น จุดมุ่งหมายสำคัญของธรรม พระพุทธเจ้าจึงได้ชื่อว่าผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน เพราะว่าพระองค์ตื่น ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถตื่นอย่างพระพุทธเจ้าได้ แต่ว่าเราก็ควรจะมีใจที่ตื่นในทางที่รู้จักปรับเปลี่ยนความคิด จิตใจและการกระทำของตัว โดยอาศัยธรรมะเป็นเครื่องเตือนใจ
เราฟังธรรม ไม่ใช่เพียงแค่ฟังแล้วสบายใจ แต่เอาสาระของธรรมะนำมาใช้เตือนจิตเตือนใจให้กับตัวเอง โดยเฉพาะเวลาทุกข์ เอาธรรมะแก้ทุกข์ได้ แต่จะเอามาแก้ทุกข์ของตัวเองได้ต้องเกิดจากการนำมาปฏิบัติ และการปฏิบัตินั้นจะต้องเป็นการปฏิบัติในระดับจิตใจด้วย โดยเฉพาะการมีสติ มีความรู้สึกตัวด้วย ฟังธรรมะแล้วขยันทำบุญ ให้ทานก็ดีอยู่ แต่ยังไม่พอ ต้องพยายามรักษาศีลให้ดี เข้มงวดในการไม่ผิดศีลให้ดี แต่ที่สำคัญไม่น้อยกว่านั้นคือฝึกใจด้วย โดยเฉพาะการมีสติ
ถ้าฝึกใจให้มีสติให้มีความรู้สึกตัว เวลาใจเผลอไปคิดเรื่องลูกเรื่องหลาน เรื่องการเรียน เรื่องงาน เรื่องทรัพย์สินแล้วเกิดความรู้สึกหนักอกหนักใจเกิดความเครียด มันก็ทำให้รู้ทันอารมณ์เหล่านั้น แล้วพอรู้ทันก็จะเกิดการปล่อยการวางได้ มีความหงุดหงิดเกิดขึ้นก็รู้ หรือว่ารู้ตั้งแต่ตอนที่ใจไปคิดถึงปัญหาต่างๆ ซึ่งหลายเรื่องก็เป็นเรื่องราวในอดีต ปัญหาบางอย่างก็เป็นสิ่งที่มโน หรือว่าหวั่นวิตกว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ปัญหาบางอย่างอาจจะขึ้นในปัจจุบัน เช่น หนี้สิน เศรษฐกิจ โควิด แต่ถ้าเอาใจไปจดจ่อกับมันมากไป มันก็จะเกิดความเครียดความวิตกกังวล ซึ่งก็ไม่ได้เป็นผลดีอะไรเลย
หลายคนพอฟังธรรมะเสร็จ พอใจไม่ได้ไปรับรู้เรื่องธรรมะ มันว่าง มันก็แล่นไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ซึ่งล้วนแต่เป็นปัญหาอย่างที่พูดมา แต่คราวนี้ถ้าเกิดว่าฟังธรรมะแล้ว รู้จักฝึกจิตฝึกใจให้มีสติ พอใจไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็มีสติรู้ทันถอนใจออกมา หรือว่าเผลอไปแล้วคิดไปแล้ว จนเกิดอารมณ์เกิดความหนักอกหนักใจขึ้นมาก็มีสติ เห็นมัน แล้วก็วางอารมณ์เหล่านั้น ถ้าทำอย่างนี้ได้ ก็จะไม่มีความหงุดหงิดไม่มีความกลุ้มอกกลุ้มใจ ไม่มีอาการที่เรียกว่าหัวเสียเจ้าอารมณ์อยู่บ่อยๆ
อย่างคนที่เป็นลูกหรือคนในบ้านตั้งข้อสังเกตแม่หรือว่าผู้ใหญ่ในบ้านว่า ทำไมฟังธรรมะแล้วปรากฏว่ายังเจ้าอารมณ์อยู่ เป็นเพราะว่าเขายังไม่ได้ฝึกสติให้รู้ทันความคิดและอารมณ์ ถ้าทำอย่างนั้นได้ ก็จะเกิดความปล่อยการวาง ไม่ใช่วางเฉพาะตอนฟังธรรมะ แต่ว่าในชีวิตประจำก็สามารถที่จะวางได้
ถ้าเกิดว่า เอาธรรมะไปปฏิบัติ มันไม่เพียงแต่ว่ารู้จักปล่อยวางความคิดและอารมณ์ที่ทำให้ทุกข์ ที่ทำให้กลัดกลุ้ม ที่ทำให้หงุดหงิด เราสามารถที่จะก้าวข้ามไปอีกขั้นหนึ่งคือ คลายความยึดติดในสิ่งที่เรารัก ถามว่าทำไมถึงหงุดหงิดทำไมถึงโกรธทำไมถึงกังวล ก็เพราะว่ายังมีความยึดติดในทรัพย์สมบัติ ในการงาน ในลูกหลาน หรืออาจจะรวมถึงสุขภาพร่างกาย ความความยึดติดในสิ่งเหล่านี้ เป็นความยึดติดในสิ่งที่เรารัก
พอมีอะไรมากระทบเขาเรียกว่ามีอนิฏฐารมณ์เกิดขึ้น คือมีเหตุการณ์ในทางลบที่มากระทบกับสิ่งที่เรารัก มากระทบกับงานการ มากระทบในทรัพย์สิน มากระทบกับร่างกาย สุขภาพของตัว หรือมากระทบกับคนที่เรารัก ลูกหลาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวในอดีต หรือว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน หรือกลัวว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต พอมีเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น มันก็ย่อมเกิดความรู้สึกวิตกกังวล เกิดความหงุดหงิด เกิดความไม่พอใจ
การที่เราจะรู้จักปล่อยรู้จักวางความคิดและอารมณ์ที่ทำให้หงุดหงิด กลุ้มอกกลุ้มใจ มันต้องถามไปว่าความหงุดหงิด อารมณ์ความเศร้าโศก ความเสียใจ ความโกรธเกิดจากอะไร มันก็เกิดจากความยึดติด
ยึดในสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราห่วงแหน ยึดในสิ่งที่เราคิดว่าเป็นเราเป็นของเรา พอมีอะไรมากระทบสิ่งนั้น ก็ทำให้เกิดอารมณ์ที่เป็นอกุศล แล้วพอไม่รู้ทันอารมณ์เหล่านั้น ก็ไปยึดอารมณ์เหล่านั้นเข้าไปอีก คนเราเวลาทุกข์เพราะมีเหตุร้ายมากระทบหรือว่าเหตุร้ายเกิดขึ้น กับตัวเราก็ดี กับสิ่งที่เรารักก็ดี ความทุกข์ใจที่ว่านี้ มันจะเกิดจากความยึดติดใน 2 ระดับคือ ยึดติดในสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราหวงแหนว่า เป็นเราเป็นของเรา ทรัพย์ของเรา เงินของเรา รถของเรา ลูกหลานของเรา รวมทั้งหน้าตาของเรา
เมื่อเรายึดติดสิ่งเหล่านี้ พอมีอะไรมากระทบกับสิ่งเหล่านี้ มันก็ย่อมเกิดความไม่พอใจ เกิดความทุกข์ เกิดความโกรธ เกิดความหงุดหงิด เกิดความเศร้า หรือบางทีไม่ได้เกิดขึ้นแต่คิดไปแล้วมโนไปล่วงหน้าก็เกิดความวิตกกังวลเกิดความห่วงใย
อารมณ์เหล่านี้ถ้ามันเกิดขึ้นเฉยๆมันก็ไม่ทุกข์ แต่เพราะเราไปยึดติดมันด้วย ไปยึดมันว่าอารมณ์เหล่านี้เป็นเราเป็นของเรามันจึงเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา
มันเป็นการยึดติด 2 ระดับ หนึ่ง ยึดติดในสิ่งที่เรารัก สิ่งที่ให้ความสุขกับเรา แล้วพอมีอะไรมากระทบ เกิดอารมณ์ที่เราไม่ชอบ แต่ทั้งที่ไม่ชอบ ก็ยังไปยึดอารมณ์นั้นเพราะความไม่รู้ตัว เพราะความไม่มีสติ แต่ถ้าเกิดว่าอย่างน้อยเรามีสติรู้ทัน มีสติรู้อารมณ์เหล่านั้น ความเศร้าโศก ความเสียใจ ความโกรธ ความวิตกกังวลก็ช่วยทำให้จิตใจเบาได้ จิตใจสงบลงได้
แต่ว่าตราบใดที่ยังมีความยึดติดในสิ่งที่ให้ความสุขกับเรา ในสิ่งที่เรารักเราหวงแหน มันก็จะต้องมีความโศกความโกรธความวิตกกังวลเกิดขึ้นอยู่ร่ำไป เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นมันล้วนแต่ไม่เที่ยง แล้วมันก็มักจะมีอะไรมากระทบอยู่เรื่อยๆ ทรัพย์สินเงินทอง การงาน คนรัก ร่างกาย หน้าตาซื่อชื่อเสียง เพราะฉะนั้นการที่ใจเราจะสงบไม่ใช่เพียงแค่ว่ามีความมีความโกรธขึ้นแล้วรู้ทันแล้วก็วาง แต่เราควรที่จะไปถึงขั้นว่าไม่เปิดช่องให้อารมณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นไม่ใช่ว่ารอให้มันเกิดขึ้นแล้วค่อยปล่อยค่อยวาง หรือว่าค่อยมารู้ทัน
แต่เราทำได้มากกว่านั้นก็คือ แม้มีอะไรมากระทบกับทรัพย์สมบัติการงานกับคนในครอบครัว แต่ว่าไม่เกิดความโกรธไม่เกิดความหงุดหงิดไม่เกิดความวิตกกังวล จะทำอย่างนั้นได้ต้องรู้จักคลายความยึดติดถือมั่นในสิ่งนั้น ก็คือปล่อยวางนั่นเองเป็นการปล่อยวางที่ยังดูแลรักษา มีลูกก็ยังดูแลลูก มีร่างกายก็ยังดูแลร่างกาย แต่ว่าไม่ได้ยึดติดถือมั่น การปล่อยวางอารมณ์ความคิดความเศร้าความโศกความหงุดหงิดเราปล่อยวางด้วยสติ
ซึ่งถ้าเรามีสติที่ไวรวดเร็ว มันก็ปล่อยวางได้เร็ว แต่การปล่อยวางสิ่งที่เรารักสิ่งที่ยึดติดหวงแหน มันต้องอาศัยการมีปัญญา มีปัญญาเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นไม่สามารถที่จะยึดมั่นถือมั่นได้ มันแปรเปลี่ยนเป็นนิจ และมันก็ไม่อยู่ในอำนาจที่เราจะบงการได้ ปล่อยวางในระดับหนึ่งต้องอาศัยปัญญา แต่ว่าการที่จะมีปัญญาในระดับนี้ มันต้องฝึกฝนพอสมควร จนเกิดรู้แจ้งในสัจธรรมว่า ไม่มีอะไรยึดมั่นถือมั่นได้เลย
แต่ในขณะที่ยังไม่มีปัญญาในระดับนั้น อย่างน้อยเราก็รู้จักปล่อยวางอารมณ์ที่ทำให้ทุกข์เสียก่อนนั่นคือมีสติ ปล่อยวางด้วยสติก็จะทำให้ใจหลุดจากอารมณ์ที่เศร้าหมองรุ่มร้อน แต่ถ้ายังมีความยึดติดในทรัพย์ในการงานในครอบครัวในคนรักมันก็ยังต้องมีความโกรธความเศร้าความเสียใจเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ เพราะว่ามีเหตุการณ์มากระทบกับสิ่งเหล่านั้นอยู่เนืองๆ เมื่อเกิดขึ้นแล้วปล่อยวาง เมื่อเกิดอารมณ์เศร้าโศกแล้วปล่อยวาง อันนี้ดี
แต่เราสามารถจะทำได้มากกว่านั้น ไม่ปล่อยให้มันเกิดขึ้นเพราะว่าเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นมันไม่เที่ยง จึงไม่ยึดมั่นถือมั่นกับมัน การที่เราจะเห็นอย่างนั้นได้ต้องมีปัญญา แต่ก็อย่างที่บอกปัญญายังไม่ถึงขั้นนั้น อย่างน้อยต้องมีสติรู้เท่าทันอารมณ์แล้วก็ปล่อยวาง
การฟังธรรมะ ควรจะทำให้เราเห็นความสำคัญของการฝึกจิต อย่างน้อยปล่อยวางด้วยสติ และถ้าฟังธรรมแล้วมาใคร่ครวญจนกระทั่งเกิดปัญญา การที่จะปล่อยวางด้วยปัญญากับสิ่งที่เคยให้ความสุข สิ่งที่เคยคิดว่าเป็นเราเป็นของเรา มันก็จะเกิดขึ้นได้มาก เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราฟังธรรมะแล้วเพียงแค่กล่อมใจเฉยๆไม่เอาธรรมะไปปฏิบัติ มันก็จะเป็นอย่างที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ฟังแล้วก็สบายใจ แต่พอไม่ได้ฟังเมื่อไรก็เครียดหงุดหงิดมีความกลัดกลุ้มมีความเศร้าโศก ซึ่งก็ยังดี อย่างน้อยก็มีบางช่วงที่จิตใจสงบด้วยการฟังธรรม ดีกว่าไปดูหนังฟังเพลงหรือว่าไปกินเหล้าหรือเที่ยวห้าง
แต่ว่าธรรมะให้อะไรเรามากกว่านั้น ไม่ใช่เพียงแค่เป็นเครื่องกล่อมใจให้เราสบายหรือว่าทำให้เรานอนหลับได้ดี แต่มันช่วยทำให้เราตื่น ตื่นในแง่นี้คือมีปัญญา เริ่มต้นด้วยความรู้สึกตัว ไม่ถูกอารมณ์ต่างๆมาครอบงำจนหลง จนเมาในอารมณ์ ต่อไปตื่นเพราะเห็นสัจธรรมความจริง จนกระทั่งปล่อยวาง ไม่ยึดติดในสิ่งต่างๆว่าเป็นเราเป็นของเราได้ มันก็จะเกิดความสงบเย็นอย่างแท้จริง
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 15 สิงหาคม 2564