แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทุกเช้าเราก็สาธยายประโยคหนึ่ง เราทั้งหลายเป็นผู้ที่ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว ความทุกข์มันหยั่งเข้าไปในกายของเรา แล้วก็แสดงอาการอยู่ตลอดเวลาเลยก็ว่าได้ เช่น ความเจ็บความป่วย คือ ถึงไม่เจ็บไม่ป่วยก็มีความเจ็บความปวดมารบกวนอยู่ตลอดเวลา หรือว่าอยู่บ่อยๆ
ไม่มีวันไหนที่จะไม่มีเวทนา อย่างน้อยๆก็ปวดเมื่อย นั่งนานๆ หรือเมื่อเดินไกลๆ เจอแดดแรงๆแล้วก็ร้อน มียุงมากัดก็รู้สึกเจ็บ ยิ่งถ้าเกิดล้มป่วยขึ้นมา ทุกขเวทนาจะแรงมาก ความใฝ่ฝันหรือความปรารถนาของผู้คน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ ไม่มีความเจ็บไม่มีความปวด ถ้าชีวิตนี้ไม่มีความเจ็บความปวดเลยจะเป็นอย่างไร มันจะวิเศษแค่ไหน
แต่ที่จริงมีคนจำนวนไม่น้อยที่เขาไม่รู้สึกเจ็บไม่รู้สึกปวดเลย เพราะว่าเขามีความผิดปกติบางอย่างในยีนของเขา ทำให้ระบบประสาทการรับรู้ความปวดไม่ทำงาน คนเหล่านี้จะไม่รู้สึกเจ็บไม่รู้สึกปวดเลย ที่ประเทศปากีสถานเมื่อ 10-20 ปีก่อน เขาพบเด็กประมาณ 10 คนที่ไม่มีความรู้สึกเจ็บไม่มีความรู้สึกปวดเลย
เอาเข็มทิ่มเขาก็เฉย เอาไฟลนเขาก็เฉย สำหรับหลายคนหรือว่าคนทั้งโลกเลยก็ว่าได้ บอกว่าถ้าเป็นแบบนี้ก็ดี ไม่เจ็บไม่ปวดเลย เพราะหลายคนต้องกินยาระงับปวด ปวดหลัง ปวดท้อง ปวดข้อ จนบางทีติดยาไปเลย เพราะฉะนั้นถ้าเป็นอย่างเด็กเหล่านี้ มันก็วิเศษเลย แต่ความจริงมันไม่ได้ดูง่ายแบบนั้น
เพราะเด็กเหล่านี้ทุกคนเลย ร่างกายก็จะไม่ค่อยปกติเท่าไหร่คือ นิ้วกุดบ้างหรือว่าลิ้นกุดบ้าง หรือว่ามีแผลใหญ่ตามตัว ไม่ใช่เพราะป่วย แต่เป็นเพราะว่าพอไม่รู้สึกเจ็บ เวลาร่างกายมีบาดแผลเล็กๆน้อยๆเขาก็ไม่สนใจที่จะดูแลรักษา เช่น นิ้วมีแผลก็ยังใช้นิ้วใช้มือข้างนั้น จนกระทั่งแผลมันลามเพราะเขาไม่รู้สึกเจ็บ เขาก็เลยใช้มันอย่างไม่บันยะบัน
หนูมากินมาแทะแผลก็ไม่รู้สึก แผลก็เลยลุกลาม นิ้วก็เลยกุดไปทีละนิดๆ ลิ้นก็เหมือนกัน พอกัดถูกลิ้นก็ไม่รู้สึกเจ็บ ถ้าเป็นคนธรรมดา ถ้ากัดลิ้นซึ่งมันเกิดขึ้นบ่อยๆ เขาถึงบอกว่าลิ้นกับฟันมันกระทบกันเป็นเรื่องธรรมดา เวลากินข้าว บางทีเผลอก็กัดลิ้น คนธรรมดาพอฟันกระทบกับลิ้น แค่นิดเดียวก็รู้สึกเจ็บแล้ว พอรู้สึกเจ็บแล้วก็ยั้งเอาไว้ แผลก็เลยไม่ลึกไม่ใหญ่
แต่เด็กเหล่านี้ไม่รู้สึกเจ็บ ลิ้นเป็นแผลก็ยังไม่รู้ แล้วก็กัดลิ้นโดยเฉพาะบริเวณที่เป็นแผล คนธรรมดาทำไม่ได้ มันเจ็บ แต่เด็กเหล่านี้ไม่รู้สึกอะไร พอฟันกัดลิ้นที่เป็นแผลบ่อยๆก็เลยกุด มันกุดไปทีละนิดๆ จนบางคนหายไปถึง 1 ใน 3
บางคนไฟไหม้ตรงหน้าแข้ง เพราะว่าเวลาขี่มอเตอร์ไซค์ ตรงหน้าแข้ง ตรงขาอ่อนไปถูกกับท่อไอเสีย ซึ่งมันร้อน ไม่รู้ตัว จนกระทั่งได้กลิ่นไหม้ ถึงตอนนั้นถึงได้รู้ว่าขากำลังจะไหม้แล้ว ถึงตอนนั้น แผลก็ใหญ่แล้ว ใหญ่แล้ว แม้จะเป็นหนอง ก็ไม่รู้สึกเจ็บ ไม่มีอาการ แม้อักเสบอย่างไรก็ไม่รู้สึกทุกข์หรือว่าปวดอะไรเลย มันก็เลยลามไปเรื่อยๆ สุดท้ายเด็กเหล่านี้ก็มีอายุไม่นาน อายุสั้น ที่อายุสั้นเพราะว่าไม่มีความเจ็บไม่มีความปวด ก็เลยไม่มีความระมัดระวังตัว ไม่มีการดูแลรักษาร่างกายให้ดี
เขาเลยพบว่า ความเจ็บความปวดมีประโยชน์ เพราะว่าถ้าคนเราไม่มีความเจ็บไม่มีความปวด ชีวิตก็ไม่ยืนยาว มันจะเจอบาดแผลต่างๆเล่นงาน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการกระทำของตัวเองด้วย เพราะฉะนั้น การที่มนุษย์เรามีความเจ็บความปวด ก็ถือว่าธรรมชาติให้มาเพื่อที่จะช่วยทำให้เราห่างไกลจากอันตราย แล้วก็ไม่ทำร้ายตัวเอง
มองในแง่นี้สิ่งที่ผู้คนมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาคือความเจ็บปวด ความทุกข์ มันมีประโยชน์เลยทีเดียว แม้เราจะไม่ชอบ และที่จริง เป็นเพราะความเจ็บความปวดหรือความทุกข์ มันก็ทำให้คนเรามีความเปลี่ยนแปลง คนเราจะเรียกว่ามีชีวิตที่เจริญงอกงามได้ ก็เพราะว่าเจอความทุกข์ ความยากลำบากที่ทำให้ต้องอดทนดิ้นรน ต่อสู้เพียรพยายาม สร้างเนื้อสร้างตัว ขยันหมั่นเรียน จนกระทั่งประสบความก้าวหน้าในอาชีพการงาน
มีคนจำนวนไม่น้อยพบว่าชีวิตเขาประสบความสำเร็จเพราะมีความทุกข์ มีชายคนหนึ่งพอเกษียณได้ไม่นาน ก็เลิกกับภรรยา หลังจากนั้นไม่กี่ปีพบว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจ รุนแรงด้วย ด้วยด้วยความกลัวตาย ก็เลยพยายามควบคุมอาหาร กินประเภทที่มีไขมันน้อย งดการกินเนื้อ มากินผักเยอะๆ แต่ปรากฏว่าอาการดีขึ้นไม่เท่าไหร่ เขาก็แปลกใจว่าเป็นเพราะอะไร
เขาก็ค้นคว้าทางอินเทอร์เน็ตก็พบว่า มีสาเหตุแห่งการเป็นโรคหัวใจอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นมาก ก็คือความว้าเหว่ ความโดดเดี่ยว ความรู้สึกนี้มันเป็นสาเหตุที่ทำให้คนป่วยด้วยโรคหัวใจ แล้วก็ตายไม่น้อย เขามาพิจารณาดูตัวเองก็ว่าใช่ เราอยู่ในข่ายนี้แหล่ะ เราอยู่บ้านคนเดียว ลูกก็ไม่มี เมียก็เลิกรากันไป วันๆอยู่แต่ในบ้าน เพราะไม่ต้องทำงาน เกษียณแล้ว
เขาพบว่าสาเหตุการที่เป็นโรคหัวใจเพราะว่าการปลีกตัวมาอยู่คนเดียว เขาก็เลยปรับเปลี่ยนชีวิต ไปพบปะผู้คนมากขึ้น รวมทั้งไปเป็นจิตอาสา ไปทำงานบำเพ็ญประโยชน์ เพราะเป็นโอกาสได้พบปะผู้คน เขาเปลี่ยนชีวิตได้หลายอย่าง รวมทั้งการที่ยังรักษาชีวิตหรือการกินที่มีถูกสุขลักษณะมากขึ้น แล้วเขาก็พบว่าในที่สุด อาการเขาก็ดีขึ้น โรคหัวใจก็ค่อยๆหายไป จนกระทั่งกลับมามีชีวิตปกติ
เขาพบว่าชีวิตเขาเปลี่ยนไปเลย จากการที่เขาได้ออกไปพบปะผู้คน ไปช่วยเหลือเกื้อกูลสังคม มันไม่เพียงแต่ทำให้เขามีสุขภาพดีขึ้นจนหายจากโรคหัวใจ แต่ว่ายังทำให้มีความสุขมากขึ้นด้วย เขาก็เลยรู้สึกว่าการที่เป็นโรคหัวใจ มันมีประโยชน์ ถึงกับพูดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งของเขา เพราะว่าทำให้เขาปรับเปลี่ยนชีวิต ทั้งการกินรวมทั้งการเกี่ยวข้องกับผู้คนต่างๆ ซึ่งมันไม่เพียงแต่ทำให้สุขภาพดีขึ้น แต่ว่าสุขภาพจิตหรือว่าความสุข มันก็มีมากขึ้นด้วย
มีหลายคน ชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงไปเพราะความเจ็บป่วย พวกเราคงเคยได้ยินชื่ออาจารย์โกเอ็นก้า ซึ่งเป็นวิปัสนาจารย์ที่มีชื่อเสียงมาก ทำให้คำว่าวิปัสสนาแพร่หลายไปทั่วโลก โดยที่ไม่ต้องมีคำแปลว่าวิปัสนาคืออะไรก็เพราะอาจารย์โกเอนก้า เพราะว่านอกจากท่านเป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงแล้ว ท่านก็ยังส่งเสริมให้มีศูนย์ปฏิบัติธรรมวิปัสนากระจายไปทั่วโลก
เดิมท่านก็ไม่ได้สนใจวิปัสสนา สมาธิ หรือแม้กระทั่งพุทธศาสนา เพราะท่านเป็นคนฮินดู มีเชื้อสายอินเดีย แล้วก็เป็นพ่อค้าที่ประสบความสำเร็จมาก อายุแค่ 30 ต้นๆ ร่ำรวย มีหน้ามีตา ได้รับการยกย่องให้เป็นนายกสมาคมหอการค้านักธุรกิจชาวอินเดียในพม่า ชีวิตเขาน่าจะไปโลดในทางธุรกิจ
แต่ปรากฏว่ามีปัญหาอย่างหนึ่งก็คือ ท่านเป็นโรคไมเกรนที่แรงมาก พยายามรักษาอย่างไรก็ไม่หาย มีเงินมากมายก็ไม่ช่วยให้หาย เคยไปบำบัดที่ยุโรป เขาก็ให้มอร์ฟีน เพื่อบำบัดความปวด แต่ว่ามันก็ช่วยได้แค่ชั่วคราว แถมติดมอร์ฟีนเข้าไปอีก โรคเก่าก็ไม่หายแถมได้โรคใหม่มาอีก ไม่รู้จะทำอย่างไร
วันหนึ่งได้ข่าวว่ามีการสอนกรรมฐานโดยอาจารย์กรรมฐานที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งคือ อาจารย์อูบาขิ่น เดิมท่านโกเอ็นก้าก็ไม่สนใจหรอก แปลว่าเพราะความเจ็บความปวดมันหนักหนาจนทนไม่ไหว จึงไปลองฝึกกรรมฐานกับท่านอาจารย์อูบาขิ่น 10 วัน ก็ปรากฏว่าได้ผลเลย ใจสงบ ความปวดยังมีอยู่ แต่ว่าบรรเทาเบาบางลง เพราะว่าจิตใจสงบลง สมาธิก็ช่วยบรรเทาความปวดได้
ก็เลยติดใจ ไปเข้าคอร์สกรรมฐานอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งมีความเข้าใจในพระพุทธศาสนา แล้วก็ไมเกรนก็เบาลง ไม่ใช่แค่ไมเกรน ความทุกข์ในจิตใจก็ลดน้อยลงด้วย เพราะว่าได้ฝึกกรรมฐานมา ตอนหลังก็เลยมาเป็นผู้ช่วยสอนกรรมฐาน ตอนหลังก็ได้เป็นอาจารย์กรรมฐานเต็มตัวเลย กลายเป็นว่า จากวิถีชีวิตแบบนักธุรกิจ เปลี่ยนไปเป็นอาจารย์สอนกรรมฐาน ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปเลย
แล้วก็ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงไปในทางอาชีพการงาน แต่รวมถึงจิตใจด้วย อันนี้เพราะอะไร เพราะความเจ็บป่วย ความเจ็บป่วยมันสามารถผลักให้คนเราได้ค้นพบชีวิตใหม่ ไม่ว่าชีวิตในทางโลกหรือในทางธรรมก็แล้วแต่ ทุกข์สามารถจะผลักให้คนเข้าหาธรรมหรือพบธรรมได้
ในสมัยพุทธกาลมีคนแบบนี้เยอะเลย อย่างที่เคยเล่า ยสกุลบุตรมีชีวิตที่พรั่งพร้อมด้วยวัตถุ ปรนเปรอตนด้วยกามอย่างเต็มที่ แต่ว่าวันหนึ่ง เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย เป็นความเบื่อหน่ายที่สะสมมานาน ทั้งๆที่ได้เสพสิ่งเอร็ดอร่อยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ก็ไม่รู้สึกว่ามีความสุขเลย รู้สึกว่าชีวิตว่างเปล่า เกิดความสับสน
จนกระทั่งคืนหนึ่ง ต้องเดินออกมาจากปราสาทคฤหาสน์ เดินไปอย่างไร้จุดหมาย ด้วยความสับสน แล้วก็อุทานขึ้นว่า ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ ที่นี่ไม่ใช่หมายถึงบ้าน หมายถึงคือจิตใจ จิตใจที่ร้อนรุ่มเต็มไปด้วยความทุกข์มาก เพราะว่าไม่ได้พบในสิ่งที่จิตใจต้องการ ความสับสน ความว้าวุ่น มันผลักดันให้ยสกุลบุตรได้มาพบพระพุทธเจ้าในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
ถ้าไม่มีความสับสน ไม่มีความว้าวุ่น ไม่มีความเบื่อหน่าย ก็คงจะไม่ได้มาพบพระพุทธเจ้า แล้วก็คงไม่ได้บรรลุธรรมจนเป็นพระอรหันต์ ความว้าเหว่ ความเบื่อหน่าย ความสับสนก็เป็นทุกข์ที่กัดกินใจผู้คน แต่ว่าถ้าไม่มีสิ่งนี้ ยสกุลบุตรก็ไม่มีทางได้พบพระพุทธเจ้า หรือว่าได้เข้าถึงพระธรรม จนกระทั่งตนเองได้กลายเป็นพระสงฆ์
นางกีสาโคตมี และนางปฏาจารา ก็เช่นเดียวกันที่เจอความทุกข์ แต่คนละแบบกับยสกุลบุตร นางกีสาโคตมีเสียลูกที่ยังเล็ก นางปฏาจาราเสียลูกถึง 2 คน เสียสามี เสียพ่อ เสียแม่ ในเวลาเดียวกันห่างกันแค่ 1 วันหรือ 24 ชั่วโมง ทุกข์แสนสาหัส แต่เพราะความทุกข์ที่สูญเสียลูก หรือสูญเสียคนรัก ก็ทำให้ได้มาพบกับพระพุทธเจ้าโดยไม่ได้ตั้งใจ
อย่างนางกีสาโคตมีนั้น มีคนมาบอกว่า มีคนช่วยลูกเธอให้ฟื้นขึ้นมาได้อย่างที่เธอต้องการ มีพระพุทธเจ้าที่ช่วยได้ เธอจึงไปหาพระพุทธเจ้าที่เชตวัน ส่วนนางปฏาจาราเรียกว่าเศร้าโศกเสียใจจนกระทั่งขาดสติ วิ่งไปอย่างไร้จุดหมายจนกระทั่งได้พบพระพุทธเจ้า และสุดท้ายทั้งสองท่านก็ได้เห็นธรรม แล้วก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน แล้วตอนหลังก็ออกบวช จนได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ อันนี้เรียกว่าถ้าไม่สูญเสียลูกไม่สูญเสียคนรัก อาจจะไม่มีโอกาสได้พบพระพุทธเจ้าเลยก็ได้
เพราะว่าถ้าชีวิตราบรื่นก็คงจะเพลิดเพลินไปกับความสุขทางโลก การที่จะหันมาสนใจธรรมะ ก็คงยาก เพราะฉะนั้น ถ้าเราดูให้ดี ความทุกข์มีประโยชน์ มันช่วยทำให้คนเราหลุดออกจากความเคยชินเดิมๆ ซึ่งบางครั้งความเคยชินเหล่านั้นมีแต่จะทำให้ชีวิตย่ำแย่ลงไปเรื่อยๆ หรือว่าวนอยู่กับความทุกข์ มีสุขก็มีทุกข์ มีขึ้นมีลง แล้วหลงวนอยู่อย่างนั้นแหล่ะ
แต่เพราะทุกข์ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยน ปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต หรือว่าปรับเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิด รวมทั้งการปรับเปลี่ยนจิตใจด้วย ไม่ใช่แค่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างเดียว การปรับเปลี่ยนจิตใจ ที่สำคัญก็คือการคลายความยึดติด แต่เดิมเป็นเพราะว่าความยึดติดถือมั่น มันจึงทำให้เกิดทุกข์ เมื่อสิ่งที่ยึดติดถือมั่นมันแปรปรวนไป
คนมักเข้าใจว่าความแปรปรวนเพราะสูญเสียคนรักคือเหตุแห่งทุกข์ ที่จริงไม่ใช่ แต่เป็นเพราะความยึดติดในคนเหล่านั้น ในสิ่งเหล่านั้นต่างหาก แต่พอคลายความยึดติด ความทุกข์ก็หลุดไปเลย อย่างนางกีสาโคตมีและนางปฏาจารา พอพระพุทธเจ้าแสดงธรรมสั้นๆให้เห็นว่า ที่ทุกข์เพราะว่าความยึดติด อย่างที่ตรัสกับนางกีสาโคตมีว่า น้ำป่าย่อมพัดพาผู้ที่หลับไหลไปฉันใด มฤตยูก็ย่อมพัดพาผู้ที่หลงใหลในรูป ในทรัพย์ไปฉันนั้น
นางกีสาโคตมีซึ่งมีความทุกข์อยู่แล้ว พอได้ฟังเช่นนี้ก็หันมาพิจารณา แล้วก็ได้พบเลยว่าเป็นเพราะความยึดติดทำให้เราทุกข์ พอได้เห็นเช่นนี้ ท่านปล่อยวางเลย เกิดปัญญา เป็นพระโสดาบัน หรือนางปฏาจารา พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า น้ำตาที่ร้องไห้เพราะสูญเสียคนรักในชาติแล้วชาติเล่า ภพแล้วภพเล่า ไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ มันมากกว่าน้ำในมหาสมุทรเสียอีก
น้ำตาที่เกิดจากความสูญเสียคนรัก รวมแล้วในวัฏสงสารอันไม่มีประมาณ มากกว่าน้ำในมหาสมุทรเสียอีก นางปฏาจาราพิจารณาแล้วก็เลยเห็นโทษของวัฏสงสาร เห็นโทษของการยึดติดในรูปในคนรัก จิตวางเลย พอวางก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันเหมือนกัน นี่ถ้าไม่มีความทุกข์ ก็ไม่เห็นความยึดติด และทันทีที่ปล่อยวาง จิตก็หลุดพ้นจากความทุกข์เลย
มีบางท่านอาการป่วยหนักถึงขั้นใกล้จะตาย อย่างพระติสสะ ป่วยด้วยโรคที่สังคมรังเกียจ เนื้อตัวเต็มไปด้วยแผลพุพอง ฝีหนอง ส่งกลิ่นเหม็น จนกระทั่งเพื่อนพยาบาลไม่ไหว ถึงกับทิ้งไปเลย ปล่อยให้ท่านนอนจมกองอยู่กับอุจจาระปัสสาวะแล้วก็หนอง
พระพุทธเจ้าเมื่อทราบก็เสด็จมา แล้วมาช่วยพยาบาลช่วยเช็ดเนื้อเช็ดตัว เอาจีวรไปซักแล้วก็เปลี่ยนจีวรใหม่ ก็รู้สึกสบายเนื้อสบายตัวมากขึ้น แต่อาการก็ลุกลามไปมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนที่ใกล้จะตาย พระพุทธเจ้าก็ตรัสเป็นธรรมะสั้นๆให้ท่านพิจารณาในขณะที่กำลังป่วยอยู่ว่า
ร่างกายตั้งอยู่ไม่ได้นาน เมื่อวิญญาณออกจากร่าง คนก็ละทิ้ง ร่างนั้นก็ต้องนอนทับแผ่นดิน เหมือนท่อนไม้หาประโยชน์มิได้ พระติสสะพิจารณาก็เห็นเลยว่าสังขารเป็นทุกข์ ไม่น่ายึดถือเลย พอเห็นเช่นนั้นจิตก็ปล่อยเลย ความทุกข์ที่บีบคั้น มันทำให้ตระหนักชัดว่า สังขารไม่น่ายึดถือจริงๆ ร่างกายนี้มันยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ พอปล่อยวางร่างกาย ความปวดก็ทุเลา ที่สำคัญคือ จิตก็เกิดปัญญา หลุดพ้นเลย ในขณะที่สิ้นลม
อันนี้เรียกว่า ทุกข์มาสอนให้ปล่อยวาง ถ้าไม่มีทุกข์ ไม่มีความเจ็บความปวด ไม่มีความเศร้าโศกเพราะสูญเสียคนรัก จิตก็ยังยึดติดถือมั่น แต่เพราะความทุกข์ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยน ทำให้จิตนิสัยหรือนิสัยความเคยชินเดิมๆที่มันเต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นมันคลายลง พอคลายจากความยึดมั่น หรือปล่อยวางได้ ก็หลุดพ้นจากความทุกข์ อันนี้เรียกว่าทุกข์มันมาบีบ มันมาผลักให้ต้องปล่อยต้องวาง พอปล่อยวางได้ จิตก็เป็นอิสระเลย
เพราะฉะนั้นถ้าเราพิจารณาดีๆ เราก็จะเห็นทุกข์ว่ามีประโยชน์ อยู่ที่ว่าเราจะใช้ให้เป็นไหม เพราะธรรมดาคนเราไม่ค่อยอยากจะปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลงอะไรเลย ถ้าไม่มีความทุกข์มากระตุ้นมาผลักดัน ก็จะอยู่กับร่องเดิมๆ ซึ่งนำพาไปสู่ความทุกข์ หรือว่าทำให้หลงวนอยู่กับความทุกข์
แต่พอมีความทุกข์มากระตุ้นมาผลักดัน ความจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองก็เกิดขึ้น แล้วการปรับเปลี่ยนถ้าทำถูก มันก็พาให้เกิดสุข มันทำให้เกิดความเจริญหรือทำให้ได้เข้าถึงธรรมก็ได้
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเช้าวันที่ 15 สิงหาคม 2564