แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในสมัยพุทธกาลมีหญิงผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้ใฝ่ธรรมคือ พระนางเถริกาเป็นธิดาของพระราชาเมืองเวสาลี ทีแรกไม่ได้สนใจธรรมะ ตอนหลังได้มีโอกาสฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จไปเมืองเวสาลี ก็เกิดศรัทธาในพระรัตนตรัย มีศรัทธามากถึงขนาดจะมาบวชเป็นภิกษุณี
แต่ว่าพระสวามีไม่ยอม ไม่ยอมแล้วทำอย่างไร ก็ปฏิบัติธรรมในฐานะคฤหัสถ์ก็แล้วกัน ก็บำเพ็ญทานศีลภาวนาโดยเฉพาะการเจริญกรรมฐาน พระนางเถริกาทำอยู่เป็นประจำ วันหนึ่งขณะที่ทำครัวอยู่ ไฟแรงมาก จนกระทั่งน้ำในหม้อแกงแห้งเหือดเลย แล้วเปลวไฟก็ลุกไหม้หม้อแกง จนกระทั่งมีเสียงดังเปี๊ยะๆ
พระนางเถริกาได้ยินก็พิจารณาว่า หม้อแกงนี่มันไม่เที่ยงเลย มันไม่คงทนถาวร มันรอแต่จะเสื่อมดับไปเพราะตอนนั้นเสียงเปรี๊ยะๆแสดงว่าหม้อแกงกำลังจะแตกร้าวแล้ว คนธรรมดาก็ไม่ได้สนใจอะไร อาจจะรีบหาน้ามาเติม
แต่ว่าพระนางเถริกากลับพิจารณา จนกระทั่งเห็นแจ้งในไตรลักษณ์เลย อนิจจังทุกขังอนัตตา หม้อที่กำลังจะแตกร้าว กลับเปิดใจให้เห็นถึงสัจธรรมของสังขาร พอเห็นแจ้งในไตรลักษณ์ จิตก็หลุดพ้นเลย บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามีทั้งที่ยังเป็นคฤหัสถ์ แต่ว่าก็ได้บรรลุเป็นอนาคามี ตอนหลังก็ได้มีโอกาสบวชได้สมใจแล้วก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
การบรรลุธรรมขั้นสูงไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในวัด หรือว่าในขณะที่นั่งทำกรรมฐานในความสงบ แต่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ในโรงครัว ในขณะที่กำลังทำกิจก็ได้ ครัวหรือโรงครัวเป็นสถานที่ที่สามารถที่จะบรรลุธรรมได้ ไม่ใช่แค่ที่เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมอย่างเดียว
มีอีกท่านหนึ่งที่บรรลุธรรมในโรงครัว แต่ท่านนี้เป็นภิกษุณี เป็นพระเถรีชื่อพระโสณะ ท่านมาบวชเมื่อแก่พอบวชเมื่อแก่ พรรษายังน้อยก็ต้องทำตามคำสั่งของภิกษุณีที่มีพรรษามากกว่าแม้อายุจะคราวลูกคราวหลาน แต่ว่าพระโสณะอ่อนน้อม เชื่อฟังปฏิบัติตาม พันเตสั่งให้ทำอะไร ก็ทำ
มีข่าวหนึ่งภันเตสั่งให้ไปต้มน้ำร้อน จะสรงน้ำ อินเดียหน้าหนาวจะหนาวมาก พระโสณะก็ทำตาม ต้มน้ำ ระหว่างที่รอน้ำเดือด ท่านก็เดินจงกรมในครัว แล้วก็เจริญสติปัฏฐาน4 โดยเฉพาะกายคตาสติ คือการเจริญสติไปไหนกาย จิตตอนนั้นสงบมาก และในที่สุดก็เห็นธรรม คือพอมาพิจารณากาย ก็เห็นสัจธรรมที่กายแสดงออกมา ท่านก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์เลย ในโรงครัวนี้แหละ
เพราะฉะนั้นเรื่องการปฏิบัติธรรมก็ดี บรรลุธรรมก็ดี มันไม่จำกัดที่สถานที่ แม้จะทำครัวอยู่ หรือแม้แต่ทำกิจใดก็ตาม ก็สามารถที่จะปฏิบัติธรรมได้ หรือพิจารณาธรรมก็ได้จนกระทั่งเห็นแจ้งในธรรม พูดถึงพระโสณาเถรีก็น่าสนใจ เดิมก่อนบวชท่านเป็นเศรษฐีนี ชีวิตท่านก็ราบรื่นมาเป็นลำดับ มีลูก 14 คน ชาย 7 หญิง 7 ลูกก็ประพฤติตัวเป็นคนดี ไม่มีเกกมะเหรกเกเร ทำมาหากิน ตอนหลังลูกทั้ง 14 คน แต่งงานมีครอบครัว
เมื่อนางโสณาแก่ชรา ลูกๆก็ขอให้แม่แบ่งสมบัติให้กับลูก เผื่อแม่เป็นอะไรไป ก็จะได้ไม่มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างลูก อันนี้ก็เป็นปัญหาของหลายครอบครัว ทะเลาะกันเรื่องมรดก เพราะพ่อแม่ไม่ได้แบ่งสมบัติหรือทำพินัยกรรมให้เรียบร้อย นางโสภนาก็เลยแบ่งสมบัติให้ลูกทุกคนเท่ากัน หญิงหรือชายก็ได้เท่ากัน อันนี้ก็ถือว่าเป็นความคิดที่อาจจะไม่เหมือนคนสมัยนั้น
แบ่งจนหมดไม่เหลือให้กับตัวเองเลยเพราะคิดว่าจะฝากฝังชีวิตตัวเองไว้กับลูกพ่อ พอแบ่งสมบัติหมด ก็ไปอยู่กับลูกคนชายคนโต อยู่ไปสักพัก ลูกสะใภ้ก็ไม่พอใจพูดกับสามีว่า ทำไมแม่ไม่ไปอยู่บ้านลูกคนอื่นบ้าง ตอนหลังสามีคล้อยตาม ลูกสะใภ้ก็ไปพูดกับแม่ผัวว่า ทำไมแม่ไม่รู้จักไปอยู่บ้านอื่นหรืองัย ทำไมถึงมาอยู่แต่บ้านฉันบ้านเดียว ในเมื่อบ้านฉันก็ได้สมบัติเท่ากับบ้านอื่น ไม่ใช่ว่าได้มากกว่า นางได้ฟังอย่างนี้ก็รู้แล้ว และไม่อยากต่อล้อต่อเถียง เขาไม่อยากต้อนรับ ก็ไม่เป็นไร
ก็ไปอยู่กับลูกชายคนที่ 2 อยู่ไม่นานก็เกิดปัญหาเดียวกัน นางก็ไม่ต่อล้อต่อเถียง ก็ย้ายไปอยู่กับลูกชายคนที่ 3 แล้วก็เกิดเรื่องเดิมซ้ำ จนกระทั่งไปอยู่กับลูกสาวคนสุดท้องก็เจอปัญหาเดียวกัน นางก็คงจะช้ำใจว่าลูก ทำไมทำกับนางแบบนี้ แต่นางก็ไม่คับแค้นใจ ไม่ไปต่อล้อต่อเถียงกับลูก ก็เลยออกจากบ้านลูกทั้ง 14 คน คราวนี้ไม่มีทางไปแล้ว ทำอย่างไร สมบัติก็ไม่มี ที่ดิน วัวควายก็ให้ลูกไปหมดแล้ว
ก็มีทางออกทางหนึ่ง ถ้าไม่ใช่ขอทานก็ไปบวช นางก็เลยตัดสินใจไปบวชเป็นภิกษุณี ไม่ได้บวชเพราะศรัทธา แต่บวชเพราะว่าไม่มีทางไป หรือจะพูดว่า ถูกลูกขับไล่ไสส่งก็ได้ แต่บวชแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติ ในที่สุดก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ นี่ถ้าลูกไม่ขับไสไล่ส่ง ถ้าลูกเลี้ยงดูอย่างดี นางก็คงจะไม่มีโอกาสบรรลุธรรม จะเรียกว่าเป็นเพราะว่าลูกขับไล่ไสส่ง หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นเพราะเจอทุกข์ จึงได้มาพบธรรม
คงไม่มีทุกข์อะไรที่หนักหนาสำหรับแม่ เท่ากับการถูกลูกขับไสไล่ส่ง ลูกตายยังดีซะกว่า เพราะอย่างน้อยยังดีที่มีความรู้สึกดีๆกับลูก แต่การถูกลูกขับไส ก็ทำให้เจ็บแค้น แต่นางก็ไม่เอามาเป็นอารมณ์ แต่การที่ถูกลูกไม่ต้อนรับกลับผลักไส แทนที่จะเป็นของเลว กลายเป็นของดี ทำให้นางบรรลุธรรม ถ้าไม่เจอทุกข์ก็ไม่พบธรรม
ทุกข์ก็มีประโยชน์ เหตุการณ์เลวร้ายต่างๆที่เราไม่คาดฝัน วันนี้อาจจะแย่ แต่วันหน้าอาจจะกลายเป็นดีก็ได้ เพราะถ้าไม่มีเหตุการณ์ในวันนั้น ก็คงไม่มีโอกาสได้มาพบธรรมในวันนี้ หรือได้พบสิ่งดีๆ เพราะฉะนั้น
พอเราเจอทุกข์ อย่าเพิ่งไปตีอกชกหัว เพราะว่ามันอาจจะกลายเป็นสิ่งดีๆ หรือเป็นสิ่งที่ผลักดันให้เราปรับเปลี่ยนชีวิตจนกระทั่งได้พบสิ่งที่ดีคือธรรมะก็ได้
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 16 สิงหาคม 2564