แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทุกเช้าเย็นเราก็พร้อมใจกันมาทำวัตรสวดมนต์ การทำวัตรส่วนหนึ่งก็เพื่อระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย อย่างที่เราได้สาธยายพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ เพื่อตอกย้ำศรัทธาให้มีในพระรัตนตรัยที่เราถือว่าเป็นสรณะ
นอกจากการระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยแล้ว ที่สำคัญประการหนึ่งก็คือระลึกถึงคำสอนของพระพุทธองค์ นั่นก็คือพระธรรมนั่นเอง ซึ่งเป็นแนวทางของอริยสงฆ์มาตั้งแต่สมัยพุทธกาล คำสอนหรือพระธรรมของพระพุทธองค์ที่เราสาธยายทุกเช้าทุกเย็น โดยเฉพาะตอนเช้าที่สำคัญคือสัจธรรมความจริง
แต่ความจริงอย่างหนึ่งที่เด่นชัดในบททำวัตรสวดมนต์ก็คือ ความจริงเรื่องทุกข์ เช้านี้เราก็สาธยายเกี่ยวกับทุกข์ไว้หลายประการ แล้วก็สมควรที่จะเราเข้าใจความหมายของทุกข์ เพราะเป็นความจริงที่เราทุกคนต้องประสบ ถ้าเราปรารถนาจะออกจากทุกข์ ก็ต้องรู้จักความจริงข้อนี้ให้ดี
และนี่คือเหตุผลที่พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงทุกข์อยู่บ่อยมาก จนบางคนเข้าใจไปว่าพระพุทธศาสนาเป็นลัทธิที่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องทุกข์ เป็นพวกทุกข์นิยมไป ซึ่งที่จริงพระพุทธเจ้าพูดถึงความสุขไว้เยอะทีเดียว แต่ว่าจะเข้าถึงสุขได้ก็ต้องรู้จักทุกข์ให้ดี รู้จักแบบกระจ่างชัดเลย
ทุกข์ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามีหลายความหมาย อย่างน้อยๆก็ 2 ความหมาย ความหมายหนึ่งเป็นทุกข์ในอริยสัจ อีกความหมายหนึ่งเป็นทุกข์ในไตรลักษณ์ ในอริยสัจ 4 ก็มีทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ซึ่งเราจำได้แม่น ส่วนไตรลักษณ์ก็มีทุกข์เหมือนกัน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันนี้เราพูดเป็นบาลี
ทุกข์ในอริยสัจกับทุกข์ในไตรลักษณ์ ไม่ได้เหมือนกันทีเดียว ทุกข์ในอริยสัจ อย่างที่เราสาธยาย เกิด แก่ เจ็บ ตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ เป็นต้น มันเป็นทุกข์ที่เกิดกับทุกชีวิตโดยเฉพาะกับมนุษย์ทุกคน
แต่ว่าทุกข์ในไตรลักษณ์ มีความหมายกว้าง มันหมายถึง สภาวะที่ทนได้ยาก หรือการมีสภาพที่ทนได้ยาก ไม่สามารถคงสภาพเดิมได้ หรือว่าหมายถึงความพร่อง ทุกข์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับชีวิตอย่างเดียว มันเกิดขึ้นกับสิ่งที่ไร้ชีวิต เกิดขึ้นกับทุกสิ่งทุกอย่างทั้งที่เป็นรูปธรรมนามธรรม เป็นสภาวะที่นำไปสู่ความเสื่อม ความดับสลาย
และความเป็นทุกข์ในไตรลักษณ์นี้ที่มันนำไปสู่ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ถ้ามันไม่มีภาวะที่ทุกข์หรือทุกขัง มันก็ไม่มีความเจ็บ ความป่วย ความตาย
เพราะฉะนั้น จะเรียกว่าทุกข์ที่เป็นทุกข์ในอริยสัจ มันก็เป็นผลมาจากทุกข์ในไตรลักษณ์ก็ได้ เพราะว่าในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งสังขารร่างกายของเรา มันมีความพร่อง มันทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เรียกว่าทนได้ยาก มันก็ต้องมีความแก่ก็นำไปสู่ความแก่ นำไปสู่ความเจ็บ ความป่วย และเช่นเดียวกันจิตใจที่มาเจอสภาวะเช่นนี้ ต้องเกิดความโศก ความร่ำไรรำพัน ความคับแค้นใจ
ถ้าเราพิจารณาดูดีๆ มันก็จะเห็นความเชื่อมโยงระหว่าง ทุกข์ในอริยสัจ 4 กับทุกข์ในไตรลักษณ์ จะเรียกว่าทุกข์ในอริยสัจ 4 เกิดขึ้นในไตรลักษณ์ก็ได้ แต่เราจะบอกไม่ได้เลยว่า ทุกข์ในไตรลักษณ์เป็นสมุทัยของความทุกข์ในอริยสัจ มันต่างกัน
สภาวะที่เรียกว่าทุกข์ขังไม่ใช่เป็นสมุทัยหรือสาเหตุแห่งความทุกข์โดยเฉพาะที่มันเป็นความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจหรือเรียกรวมๆว่าความทุกข์ใจ ความทุกข์ใจเป็นแกนของทุกข์ในอริยสัจ แต่ว่าทุกข์ใจไม่ได้มีสมุทัยหรือสาเหตุมาจากที่เรียกว่าภาวะทุกขังหรือทุกข์ในไตรลักษณ์
ที่จริงแล้ว ถ้าเราเข้าใจความจริงของทุกข์ในไตรลักษณ์ได้ชัดเจน ความทุกข์ในอริยสัจก็ดับไปได้ ที่เรียกว่าธรรมที่เป็นเครื่องออกจากทุกข์ ก็คือความจริงของคำสอนที่เกี่ยวกับเรื่องไตรลักษณ์ ซึ่งก็รวมถึงทุกขังด้วย
ความทุกข์ใจที่เรียกว่า ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ มันเกิดขึ้นเพราะความไม่เข้าใจ ไม่รู้จักทุกข์ในไตรลักษณ์ คือไม่เห็น ไม่ชัด หรือไม่ตระหนักว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง มันล้วนแล้วแต่อยู่ในภาวะที่เป็นทุกข์
ซึ่งถ้าโยงมาถึงคนเราโดยตรง มันก็คือขันธ์ 5 เป็นตัวทุกข์ ในประโยคนั้น คำว่าทุกข์ในประโยคมันก็คือทุกขัง หรือทุกข์ในไตรลักษณ์ คือขันธ์ทั้ง 5 เป็นสิ่งที่คงอยู่ในสภาพเดิมได้ยาก มันมีแต่วันเวลาที่จะเสื่อมสลายไป ขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์ ทุกข์ในตรงนี้แหละคือสภาวะที่ทนได้ยาก มีภาวะที่บีบคั้น เพราะว่าเหตุปัจจัยมันเกิดแล้วก็ดับไป เหตุปัจจัยมันไม่ได้คงที่คงตัว มันก็เลยต้องตกอยู่ในภาวะที่เสื่อมสลายไป
เพราะขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์ มันจึงมีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย แล้วก็ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ รวมทั้งการที่ต้องประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจ พลัดพรากจากสิ่งไม่รัก สิ่งที่ไม่พอใจ ไม่ได้อยาก ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากการที่ทำให้ขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์
แต่ก็พูดไม่ได้ว่า ขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์ ความจริงตรงนี้เป็นสมุทัยของความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเรา แล้วสมุทัยคืออะไร สมุทัยก็คือ การไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 ไปยึดมั่นว่ามันเที่ยง ว่ามันเป็นสุข หรือว่ามันเป็นเรามันเป็นของเรา ทั้งๆที่มันไม่ใช่เลย ตรงนี้ต่างหากคือสมุทัย
เพราะพอเราไปยึดมั่นในขันธ์ 5 พอมันไม่เที่ยง พอมันแปรปรวนไป ปรากฏเป็นความแก่ ความเจ็บ ความป่วย หรือความตาย หรือความเสื่อมสลายของทรัพย์สมบัติ คนรัก ก็เกิดความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจขึ้นมา
อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องเข้าใจให้ดี ภาวะที่คงสภาพเดิมไม่ได้ ทนได้ยากของขันธ์ 5 มันไม่ใช่เป็นเหตุแห่งทุกข์ หรือความทุกข์ใจ แต่เป็นเพราะไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 ต่างหาก มันก็เหมือนกับถ่านก้อนแดงๆมันก็เป็นของมันอย่างนั้นแหละ แต่เมื่อใดก็ตามที่เราไปจับไปถือมัน เราก็เป็นทุกข์ขึ้นมาทันทีเลย เจ็บปวดร้อน นี่เพราะไปยึดถือมัน ไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้น
ถ้าปล่อยมันไว้เฉยๆ แค่ดูมันเห็นมันเฉยๆ เราไม่เจ็บไม่ปวดหรอก แต่เพราะเราไปจับไปถือจึงเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากเจ็บไม่อยากปวดไม่อยากทุกข์ ก็อย่าไปถือมัน และที่ไม่ไปถือมันเพราะรู้ว่ามันเป็นถ่านก้อนแดงๆ มันไม่ใช่ทอง มันไม่ใช่ก้อนหินธรรมดาที่จะจับได้ แต่เป็นเพราะความหลง ความไม่รู้ ที่เรียกว่าอวิชชานั่นแหละ จึงไปจับไม่ฉวย เราก็เลยทุกข์
ตัวทุกข์คือขันธ์ 5 ถ้าไม่ไปยึดมั่นถือมั่นกับมัน ความทุกข์ของมัน มันก็ไม่ระบาด ลามมาสู่เรา จนกระทั่งเราเป็นทุกข์ อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องเข้าใจ เมื่อรู้และเมื่อเข้าใจแล้ว มันก็เกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆได้ถูกต้อง และเมื่อเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆอย่างถูกต้องโดยเฉพาะสิ่งที่เรียกรวมว่าขันธ์ 5 มันก็ไม่ทุกข์อีกต่อไป ก็ยังแก่ยังเจ็บยังป่วยตามสภาพของรูปขันธ์ แต่ว่าใจไม่ทุกข์แล้ว เกิดแก่เจ็บตายหนีไม่พ้น แต่ความทุกข์ใจมันหลุดออกมาได้
เพราะฉะนั้น เรื่องของทุกข์เป็นสิ่งที่เราต้องรู้จัก ต้องเข้าใจให้แจ่มแจ้ง เพราะเหตุนี้ในอริยสัจ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนเรื่องทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เฉพาะในส่วนที่ชื่อว่าทุกข์ หรือคำสอนที่เกี่ยวกับทุกข์ พระองค์ก็จะตรัสว่า ให้เกี่ยวข้องกับมันอย่างถูกต้องก็คือ ให้รู้ทุกข์ ทุกข์เป็นสิ่งที่ควรรู้ หรือบางทีท่านใช้คำว่ากำหนดรู้ รู้ในที่นี้คือ ความเข้าใจ การรู้ทั่ว ภาษาบาลีท่านใช้คำว่าปริญญา รู้ทั่ว
ทุกข์ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ต้องกำจัด แต่เป็นสิ่งที่ต้องรู้ และรู้ทุกข์หมายความว่าอย่างไร มันไม่ใช่เพียงแค่ว่ารู้ว่าทุกข์ได้แก่อะไรบ้าง อย่างที่เราสาธยายว่า ทุกข์ก็คือเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจความคับแค้นใจ เป็นต้น เพียงแค่แจกแจงว่าทุกข์ได้แก่อะไรบ้าง มันเป็นแค่การรู้ทุกข์ในขั้นต้นและมันเป็นเพียงแค่ความจำเป็นแค่สัญญา เอาไปช่วยแก้ทุกข์ไม่ได้
อย่างน้อยก็ต้องมีความรู้ทุกข์ในอีกระดับหนึ่งคือ รู้ตัวว่าเมื่อเกิดทุกข์ขึ้นมา หรือว่ารู้เมื่อทุกข์เกิดขึ้น ไม่ใช่เกิดขึ้นกับกายเท่านั้น เกิดขึ้นกับใจด้วย การรู้เมื่อทุกข์เกิดกับกาย อันนั้นอาจจะไม่ยากเท่าไร แต่การที่จะรู้ทุกข์เมื่อทุกข์เกิดขึ้นกับใจ นั้นยากกว่า คนทั้งๆที่ทุกข์กาย ทั้งๆที่เจ็บ ทั้งๆที่ปวด แต่ส่วนใหญ่ไม่รู้เลยว่า มันมีความทุกข์ใจเกิดขึ้นด้วย เช่น ความโกรธ ความหงุดหงิด ความกังวล ความหนักอกหนักใจ ความกลัว
คนป่วยจำนวนมากรู้ว่าป่วยกาย แต่ไม่รู้ว่าใจมันทุกข์ด้วย คนที่โกรธแล้วไม่รู้ตัวว่าโกรธ คนที่เกลียดไม่รู้ตัวว่าเกลียด คนที่เบื่อ เหงา ไม่รู้ตัวว่าในเวลานั้นเบื่อ เหงา มีเยอะเป็นธรรมดา ก็เพราะไม่รู้เมื่อทุกข์เกิดกับใจ มันจึงทุกข์ใจทั้งวันทั้งคืน หรือว่าถูกครอบงำด้วยความทุกข์ จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ แต่ทันทีที่รู้ทุกข์ว่าทุกข์เกิดขึ้นกับใจ ความทุกข์มันก็ชะงักไปเลย มันไม่สามารถที่จะเข้ามาครอบงำใจได้ หรือบีบคั้นใจได้
อันนี้แหละคือที่ครูบาอาจารย์บอกว่า เมื่อมีความโกรธก็เห็นความโกรธ เมื่อมีความปวดก็เห็นความปวด ถ้ารู้ทุกข์ในความหมายนี้ แม้กระทั่งเวลาเกิดความทุกข์กับกายมันก็บรรเทาเบาบางลง เพราะว่ามันเห็นความปวด เห็นเวทนา ไม่ใช่เข้าไปเป็นเวทนานั้น หรือว่าเป็นผู้ปวด
ถ้ารู้ทุกข์ด้วยการใคร่ครวญหรือที่จริงด้วยการเฝ้าดู ก็จะพบว่าทุกข์มันเกิดกับขันธ์ 5 มันเกิดกับรูปนามไม่ได้เกิดกับเรา เวลาทุกข์ หลายคนก็ไปสำคัญมั่นหมายว่าเราทุกข์ กูทุกข์ แต่ที่จริงแล้วถ้าพิจารณาหรือถ้าดูถ้าสังเกต ก็จะพบว่า ทุกข์ไม่ได้เกิดกับเรา ทุกข์เกิดกับขันธ์ 5 เกิดกับรูปนามต่างหาก
การรู้ทุกข์อย่างนี้ ทีแรกรู้ด้วยสติ เห็นทุกข์เกิดขึ้นกับกาย เห็นทุกข์เกิดขึ้นกับใจ มันไม่เข้าไปเป็น เมื่อไม่เข้าไปเป็น เมื่อไม่เข้าไปยึด มันก็จะเห็นชัดว่า มันไม่ใช่เราทุกข์ แต่ว่าทุกข์เกิดกับขันธ์ 5 เกิดกับรูปเกิดกับนาม ที่เจ็บที่ปวด มันไม่ใช่เรา แต่มันเป็นกายที่ปวด ที่โกรธไม่ใช่เราโกรธ แต่เป็นจิตที่ถูกปรุงด้วยความโกรธ หรือว่าเพราะมีความโกรธเกิดขึ้นกับใจ
มันจะเป็นการรู้ทุกข์ในระดับที่เรียกว่า ถอนตัวกูออกมาจากการเป็นเจ้าของความทุกข์ มันไม่ใช่เราทุกข์แต่เป็นขันธ์ 5 ที่ทุกข์ เป็นรูปนามที่ทุกข์ ถ้าเจริญสติ มันก็จะเกิดปัญญาเห็น ที่ท่านใช้คำว่ารูปทุกข์นามทุกข์ แต่ก่อนมันมีแต่กูทุกข์ กูร้อน กูเจ็บ กูเครียด แต่ว่าพอเจริญสติ แล้วสังเกตรูปนาม กายใจ ก็จะเห็นเลยว่า มันเป็นกายต่างหากที่ทุกข์ มันเป็นจิตต่างหากที่ทุกข์
หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ทุกข์มันเกิดกับกาย ทุกข์มันเกิดขึ้นกับใจ เวทนาเกิดกับกาย เวทนาเกิดกับใจ ความรู้สึกว่ากูทุกข์ พอมันเบาบางลงหรือหายไป ที่เรียกว่าความรู้สึกเร่าร้อน คับแค้น โศกร่ำไรรำพัน มันก็จะลดน้อยลงไป และยิ่งถ้าไปรู้ทุกข์ในระดับลึกลงไปว่าขันธ์ 5 นี้เป็นตัวทุกข์ล้วนๆ เลยนั้น ถึงตรงนี้ เรียกว่าจิตออกจากความทุกข์ได้เลย
มันเป็นการรู้ด้วยปัญญาแล้ว มันไม่ใช่แค่รู้ว่าทุกข์คืออะไร ทุกข์ได้แก่อะไร แต่มันรู้อย่างแจ่มแจ้งว่า ขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์ล้วนๆเลย ถึงตรงนี้ จิตก็ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 แล้ว หรือว่าในรูปในนาม ไม่ไปยึดมั่นถือมั่น ก็เหมือนกับว่า ไม่ไปจับ ไม่ไปถือถ่านก้อนแดงๆ หรือไม่ไปแบกหินก้อนหนักๆ มันก็เกิดความเบาสบาย แม้ว่ากายยังทุกข์อยู่ แต่ว่าใจไม่ทุกข์แล้ว
เพราะฉะนั้น การรู้ทุกข์จึงมีความสำคัญมากสำหรับการออกจากทุกข์ และด้วยเหตุนี้้พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องรู้ เพราะเมื่อรู้แล้วก็จะไม่ไปยึด ไม่ไปแบก ไม่ไปถือในขันธ์ 5 ในสิ่งทั้งปวงที่มันเป็นตัวทุกข์ มันทุกข์ก็ทุกข์ของมันไป แต่ว่าตอนนี้เราไม่ทุกข์แล้ว ไม่มีผู้ทุกข์แล้ว แม้จะยังครองรูปอยู่ มีรูปแต่ว่าก็ไม่ทุกข์เพราะรูปนั้น
แต่การที่คนเราจะรู้ทุกข์ในความหมายที่ว่านี้ได้ มันก็ต้องเปิดรับความทุกข์ เมื่อทุกข์เกิดขึ้นแล้ว ใจต้องเปิดรับ ไม่ปฏิเสธ ไม่ผลักไสมัน เพราะว่าถ้าใจมันปิดกั้น ไม่เปิดรับความทุกข์ หรือไม่เปิดรับทุกข์ที่เกิดขึ้นมันก็จะเห็นทุกข์ได้อย่างชัดเจนได้อย่างไร มันจะเห็นทุกข์ตามความเป็นจริงได้อย่างไร
เราจะเห็นอะไรชัด ก็ต่อเมื่อเปิดรับสิ่งนั้น อันนี้ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมก็ตาม อย่างเราจะรู้จักก้อนหินก้อนหนึ่ง มันก็ต้องมองมันอย่างรอบด้าน แล้วก็เปิดใจรับสภาวะทุกอย่างของมัน จึงจะเห็นตามความเป็นจริงได้
ทุกข์ก็เหมือนกัน เราจะเห็นอย่างที่มันเป็นตามสภาวะที่เป็นจริงได้ ใจก็ต้องเปิด เมื่อเปิดจึงรู้ตามความเป็นจริงได้ แต่ถ้า ทุกข์ก็เหมือนกัน เราจะเห็นมันอย่างที่มันเป็น หรือเห็นสภาวะที่เป็นจริงได้ ใจก็ต้องเปิด เมื่อเปิดจึงจะรู้ จึงจะเข้าใจได้แจ่มแจ้งแจ่มชัด แต่ถ้าหากว่าปิดกั้น ปฏิเสธมัน อันนั้นมันก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจ
อารมณ์ที่ทำให้เกิดเป็นทุกข์ก็เหมือนกัน ความโกรธ ความเกลียด ก็ต้องเปิดใจรับมัน เปิดใจรับได้อย่างไรก็คือมีสติ จะทำให้เห็นมันด้วยใจที่เป็นกลาง เห็นมันด้วยความรู้สึกที่ไม่ผลักไส ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง อันนี้ก็คือสิ่งที่ครูบาอาจารย์เรียกว่ารู้ซื่อๆ เพราะฉะนั้น มีอะไรเข้ามาสู่กายสู่ใจของเรา ก็ไม่ผลักไส เปิดใจรับ แล้วก็ดูมัน
และเมื่อดูมัน ก็จะเกิดความรู้ความเข้าใจ เป็นลำดับ จนกระทั่งสามารถที่จะถอนจิตออกจากสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะว่ามันไม่มีความหลง ไม่มีความเข้าใจผิด ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งเหล่านี้อีกต่อไป มันจะรู้ทุกข์ได้อย่างแจ่มแจ้งก็ต้องมีสติ แล้วการรู้ด้วยสตินี้แหละที่จะทำให้เกิดการรู้ด้วยปัญญา จนสามารถที่วางความทุกข์หรือถอนจิตออกจากความทุกข์ได้
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเช้าวันที่ 14 สิงหาคม 2564