แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีผู้ชายคนหนึ่งเขาเล่าว่า ช่วงที่มีการล็อคดาวน์ที่กรุงเทพฯเมื่อปีที่แล้ว ตอนนั้นล็อคดาวน์แบบเข้มมากวันหนึ่งเขามองเห็นผู้ชายคนหนึ่งยืนอยู่บนถนนฝั่งตรงข้าม แล้วก็โบกมือเรียกแท็กซี่ แท็กซี่ก็จอด แต่ว่าสักพักแท็กซี่ก็ไปต่อ โดยที่ผู้ชายคนนั้นก็ไม่ได้ขึ้นรถ
แล้วผู้ชายคนนั้นก็โบกเรียกแท็กซี่อีกคันหนึ่ง แท็กซี่คันที่ 2 ก็หยุด คุยกันสักพัก แล้วก็ไปต่อ โดยที่ผู้ชายคนนั้นไม่ได้ขึ้นรถเลย
และชายคนนั้นก็โบกแท็กซี่อีกคันหนึ่งต่อ เป็นคันที่ 3 ก็เหมือนกันคือ หยุดสักพัก แล้วก็ไปต่อ โดยที่ไม่ได้รับผู้โดยสารขึ้นนั่งเลย เป็นอย่างนี้คันแล้วคันเล่า เขาก็รู้สึกตำหนิในใจว่า แท็กซี่เดี๋ยวนี้ไม่มีน้ำใจเลย เป็นเพราะว่าผู้ชายคนนั้นคงจะมีจุดหมายปลายทางที่ไม่ไกล แท็กซี่ก็จะได้เงินน้อยก็เลยไม่อยากรับผู้โดยสาร แต่เขาก็อยากจะรู้ให้แน่ชัดว่าอะไรกันแน่ ทำไมแท็กซี่คันแล้วคันเล่าไม่รับผู้โดยสาร
เขาก็เลยข้ามถนนไปฝั่งตรงข้าม แล้วก็ไปสังเกตก็พบว่า พอผู้ชายคนนั้นโบกให้แท็กซี่หยุด แกก็ไปเอาถุงข้าวในร้านมาให้แท็กซี่ ถุงข้าวประมาณ 1-2 โล เขาก็เลยพูดว่า อ๋อ ผู้ชายคนนั้นไม่ได้โบกแท็กซี่เพื่อจะขึ้นรถแต่โบกเพื่อที่จะเอาข้าวสารมาแจก
แล้วเขาก็ไปดูใกล้ๆก็พบว่าร้านที่เขายืนอยู่ใกล้ๆข้างในมีคนช่วยกันตวงข้าวประมาณ 2-3 คนใส่ถุงเล็กๆเพื่อเอาไปแจกให้กับแท็กซี่
พอเห็นอย่างนี้ ความคิดของเขาเปลี่ยนไปเลย จากที่ตอนแรกเห็นว่าแท็กซี่นี่แย่เห็นแก่ตัว ทำไมคนเราเดี๋ยวนี้ไม่มีน้ำใจ ความรู้สึกเปลี่ยนไปเป็นความรู้สึกยินดี ซาบซึ้งประทับใจว่า ผู้ชายคนนี้รวมทั้งคนในร้านนั้นด้วย มีความเอื้อเฟื้อ เขาคงเห็นว่าแท็กซี่ช่วงนั้นลำบาก หาลูกค้าไม่ได้ ก็อยากจะอนุเคราะห์ด้วยการเอาข้าวสารมาแจก อย่างน้อยก็ช่วยลดรายจ่าย
ความรู้สึกเปลี่ยนไปเพราะว่าเขาได้เห็นความจริงว่ามันเกิดอะไรขึ้นตรงนั้น ถ้าหากว่าเขายืนอยู่ตรงที่เดิมบนถนนตรงฝั่งตรงข้าม เห็นแล้วก็นึกตำหนิแท็กซี่ในใจ แล้วก็เขาเดินจากไป เขาคงจะเก็บความรู้สึกที่ไม่ดีเอาไว้ แต่ว่ายังดีที่เขาอยากจะรู้ว่ามันเกิดอะไรกันแน่ พอเดินไปถนนฝั่งตรงข้ามถึงได้เห็นภาพเหตุการณ์ที่ใกล้ชิด ก็เลยรู้ว่า นี่เป็นเรื่องดีๆ เป็นเรื่องที่น่าประทับใจ ไม่ใช่เรื่องที่แย่
เผลอตำหนิแท็กซี่ว่าไม่มีน้ำใจ แต่ที่แท้สิ่งที่เขาเห็นเป็นเรื่องที่น่าประทับใจที่หาได้ยาก อันนี้ถ้าหากว่าเขาไม่เปลี่ยนมุมมอง ยังมองจุดเดิม เขาก็คงจะไม่เห็นความจริงซึ่งเป็นเรื่องที่ดี
เหตุการณ์นี้ชี้ให้เห็นเลยว่า คนเราถ้าหากว่าเราลองเปลี่ยนมุมมองสักหน่อย สิ่งที่เราคิดว่าใช่ มันอาจจะไม่ใช่ก็ได้ และสิ่งที่เราคิดว่ามันแย่ คนเห็นแก่ตัว คนไม่มีน้ำใจ มันพลิกกลับเป็นตรงกันข้ามเลย บางทีจุดที่เรายืนอยู่ หรือจุดที่เรามองอยู่ มันทำให้ไม่เห็นสิ่งที่ถูกต้องก็ได้ แต่คนส่วนใหญ่ยืนตรงไหนก็เชื่อสิ่งที่ตนเห็นตรงนั้นและก็คิดว่ามันเป็นความจริง
มีผู้ชาย 2 คนยืนประจันหน้ากัน แล้วก็ก้มมองไปที่ตัวเลขบนพื้น เป็นตัวเลขตัวใหญ่ๆตัวเดียว คนหนึ่งบอกว่านั่นเลข 9 อีกคนหนึ่งบอกว่าเลข 6 ต่างหาก คนที่บอกว่าเลข 9 ก็ยืนกรานว่ามันเลข 9 แท้ๆ อีกคนหนึ่งบอกว่าเลข 6
ต่างคนต่างยืนยันในสิ่งที่ตัวเองเห็น พอเห็นแตกต่างกัน เกิดอะไรขึ้น ทะเลาะกัน แต่ถ้าแต่ละคน ลองไปยืนตรงจุดที่อีกฝ่ายหนึ่งยืนอยู่ เขาจะเห็นแตกต่างไป คนที่บอกว่าเป็นเลข 9 ถ้าหากว่าไปยืนตรงจุดที่อีกคนหนึ่งที่ยืนอยู่ ก็จะพบว่าเป็นเลข 6
ส่วนคนที่ยืนยันเป็นเลข 6 ถ้าไปยืนอยู่บนจุดของอีกคนหนึ่ง เขาจะพบว่ามันคือเลข 9 ถ้าเห็นแบบนี้ มันก็เลิกทะเลาะกัน เออใช่ ตรงนี้คือเลข 6 ตรงนั้นคือเลข 9 ถ้าไม่เปลี่ยนมุมมอง หรือไม่เปลี่ยนจุดที่ยืนอยู่ บางทีมันก็ไม่เห็นความจริงอย่างรอบด้าน และก็บางทีสิ่งที่เห็นจากจุดที่ตัวเองยืนอยู่ มันก็ทำให้เกิดความรู้สึกแย่ๆก็ได้ ถ้าหากว่าไม่ลองเปลี่ยนจุดยืนหรือมุมมอง
คราวนี้เรื่องราวของชายคนนี้ ยังชี้ให้เห็นว่าคนเราพอได้เห็นความเอื้อเฟื้อความมีน้ำใจ แล้วทำให้เกิดความสุขขึ้นมา จากเดิมที่รู้สึกว่าแย่ ความรู้สึกเปลี่ยนไปเป็นความยินดี ความประทับใจ และทำให้เกิดแรงจูงใจที่จะทำความดีต่อๆไป เห็นชายคนนี้มีน้ำใจเอาข้าวในร้านมาแจก ก็อยากจะทำความดีแบบนี้บ้างกับคนอื่น มันเกิดความใฝ่ดี เกิดความเมตตากรุณาขึ้นมา และเกิดความสุขด้วย
ตอนนี้เวลาเราอ่านฟังข่าว ก็มีแต่เรื่องแย่ๆ ความทุกข์ของผู้คน ความเจ็บปวด และมีเรื่องของความเห็นแก่ตัวของคนจำนวนไม่น้อย ที่ฉวยประโยชน์จากความทุกข์ของผู้คน หรือว่าใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์จนกระทั่งสร้างความทุกข์ให้แก่คนจำนวนมาก พอเห็นแล้ว รู้สึกแย่ห่อเหี่ยว คับแค้น
แต่ในเวลาเดียวกัน มันก็มีสิ่งดีๆเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะความมีน้ำใจของผู้คน ความเสียสละ ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ในด่านหน้า หรือคนที่อยู่ในแนวหลัง ถ้าเราได้เปิดใจหรือเปิดตารับรู้เรื่องราวของคนเหล่านี้บ้าง มันก็ทำให้เกิดความชุ่มชื้นใจ มันเหมือนน้ำชโลมใจที่ทำให้หายห่อเหี่ยว
คราวนี้ถ้าเราเลือกรับแต่ข้อมูลข่าวสารแต่ด้านเดียวซึ่งมีทั้งจริงและไม่จริง แม้จะเป็นความจริงก็ตาม มันก็ทำให้ห่อเหี่ยวได้ ถ้าหากว่าเราไม่ลองหรือเลือกไปมองเรื่องราวอื่นดูบ้าง โดยเฉพาะเรื่องของความเสียสละ ความเอื้อเฟื้อ ความกล้าหาญ ความมีน้ำใจ มันจะทำให้เรามีกำลังใจ และมีความหวัง แล้วก็มีจิตใจที่ชุ่มชื่นเบิกบานได้ แล้วก็อยากทำความดี อยากช่วยเหลือผู้อื่นต่อๆ กันไป
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 11 สิงหาคม 2564