แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อวานได้พูดถึงเรื่องทางสายกลาง แล้วก็โยงไปถึงเรื่องของทางสุดโต่ง 2 ทางที่อยู่ขนาบข้างทางสายกลาง ทางสุดโต่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรข้องแวะ แล้วก็มีหลายระดับ
ตั้งแต่ระดับใหญ่ๆ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในปฐมเทศนา การหมกมุ่นในกามหรือกามสุขัลลิกานุโยค และการทรมานตนหรืออัตตกิลมถานุโยค อันนี้เป็นทางสุดโต่งตัวพ่อตัวแม่เลย แต่ก็ยังมีทางสุดโต่งระดับย่อยๆหรือว่ารองลงมาอีกมากมายซึ่งก็ได้จำแนกไปบ้างแล้วเมื่อวาน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราต้องรู้จักเพราะไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถที่จะปฏิบัติบนทางสายกลางหรือปฏิบัติตามทางสายกลางได้
และเมื่อโยงไปถึงเรื่องของความพอดี คนส่วนใหญ่ก็มักจะเข้าใจว่าทางสายกลางคือความพอดี ซึ่งที่จริงแล้วมันก็ไม่ใช่เป็นเช่นนั้น ความพอดีเป็นเรื่องของจุดตรงกลางระหว่างมากเกินไปกับน้อยเกินไป เช่น เขามีรูปร่างพอดีๆหรือว่าเขามีน้ำหนักพอดี หมายถึงว่าเขาไม่มีน้ำหนักที่มากไปหรือน้อยไป พูดง่ายๆคือไม่อ้วนและก็ไม่ผอม ร่างกายก็พอดี หรือว่าสูงพอดี ก็หมายความว่าเขาไม่ใช่คนสูงหรือว่าไม่ใช่เป็นคนเตี้ย อยู่ระหว่างความสูงกับความเตี้ย
สูงกับเตี้ย เป็นเรื่องของความแตกต่างทางปริมาณ แม้ว่าชื่อจะแตกต่างกัน หรือแม้ว่าจะดูเหมือนว่าตรงข้ามกัน แต่ที่จริงเป็นเรื่องของความแตกต่างทางปริมาณ คือ สูงเตี้ยเป็นความแตกต่างที่วัดเป็นตัวเลขได้ เช่น สูง 200 เซ็นติเมตรหรือ 2 เมตร ส่วนเตี้ย 100 cm หรือว่า 1 เมตร มันเป็นความแตกต่างทางด้านปริมาณ อ้วนกับผอมก็เหมือนกัน อ้วนอาจจะ 100 กิโลกรัมถือว่าอ้วน ผอมอาจจะ 30 กิโลกรัมถือว่าผอม ก็เป็นความแตกต่างทางด้านปริมาณ ถ้าไม่อ้วนมากไป ไม่ผอมมากไป ก็ถือว่าน้ำหนักพอดี ไม่สูงมากไป ไม่เตี้ยมากไป ก็ถือว่ารูปร่างสันทัด พอดีๆ
ซึ่งมันต่างจากทางสุดโต่ง ทางสุดโต่ง 2 ขั้ว เป็นความแตกต่างในเชิงคุณภาพ อย่างเช่น การหมกมุ่นในกามกับการทรมานตนนี้ มันไม่ได้แตกต่างทางปริมาณ หรือว่าตามใจกิเลสกับการบังคับกดข่มความรู้สึก อันนี้มันไม่ใช่ความแตกต่างทางด้านปริมาณ หลงชั่วกับติดดีก็เหมือนกัน มันมีคุณสมบัติที่ไปคนละทาง ไม่ใช่เป็นความแตกต่างทางด้านปริมาณซึ่งแตกต่างจากความพอดี ความพอดีเป็นเรื่องของไม่น้อยและไม่มากเกินไป
ความเพียรที่ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป เราก็เรียกว่าความเพียรแต่พอดี ความพอดีแบบนี้เราไม่เรียกว่าทางสายกลาง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องรู้จักด้วย ทางสายกลางเราต้องรู้จัก ทางพอดีก็ต้องรู้จัก เพราะถ้าเรารู้จักความพอดีแล้วเราปฏิบัติด้วยความพอดี มันก็เกิดความเจริญงอกงามในชีวิตรวมทั้งในการปฏิบัติด้วย เช่นกินกินแต่พอดี หรือว่ารู้ประมาณในการบริโภค อันนี้ก็เป็นสิ่งจำเป็น มันก็เป็นธรรมะประการหนึ่ง
ความเพียรก็ต้องเพียรแต่พอดี ทั้งที่ความเพียรเป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าถ้าไม่พอดี มันก็จะเกิดปัญหาขึ้นมาได้ อย่างที่เคยเล่าถึงพระโสณโกฬิวิสะ ซึ่งเพียรมากไป จนพระพุทธเจ้ามาแนะนำให้ทำความเพียรแต่พอดี และในเรื่องของความพอดี มันจะโยงไปถึงเรื่องหนึ่งคือ เรื่องของความสมดุล
การที่เราจะทำอะไรแต่พอดีได้ ส่วนหนึ่งก็ต้องอาศัยความสมดุล ความสมดุลเป็นเรื่องของสิ่ง 2 สิ่ง ซึ่งถ้าหากว่ามีพอดีๆ มันก็ทำให้เกิดประโยชน์ หรือจะว่าไปสิ่ง 2 สิ่งก็ช่วยกำกับ ช่วยถ่วง ให้เกิดความพอดีใน 2 ด้าน อย่างเช่น ศรัทธา ศรัทธาเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าศรัทธามากไป มันก็เกิดความงมงายได้ ทำอย่างไรถึงจะมีศรัทธาแต่พอดี ก็ต้องมีปัญญาเข้ามาถ่วง มาช่วยกำกับ
เพราะฉะนั้น ในอินทรีย์ 5 หรือพละ 5 ซึ่งเป็นธรรมะที่สำคัญบทหนึ่งเลย ศรัทธากับปัญญาจึงมาคู่กัน ถ้าหากว่าศรัทธามีปัญญากำกับ ศรัทธานั้นก็พอดีๆ ไม่มากเกินไปจนกระทั่งเกิดความงมงาย ขณะเดียวกันปัญญาถ้ามีมากไปอันนี้ หมายถึงปัญญาในการคิด ไม่ใช่ปัญญาในระดับวิปัสสนาญาณ ปัญญาคือคิดในเชิงเหตุเชิงผล ถ้ามันมากไปมันก็เกิดความดื้อ ไม่ค่อยฟังใครเท่าไหร่
เพราะฉะนั้น ถ้ามีศรัทธามาช่วยดึงเอาไว้ ปัญญาก็จะเกิดความพอดีขึ้น มีความอ่อนน้อมถ่อมตัว รู้จักฟังคนอื่น ไม่ดึงดันเอาแต่ความเห็นของตัวหรือว่าหลงตัวว่าฉันเป็นคนเก่ง ความพอดีจะเกิดขึ้นได้มันก็ต้องอาศัยความสมดุลด้วย สมดุลระหว่างศรัทธากับปัญญา ก็ทำให้ศรัทธานั้นมีความพอดีและปัญญาก็มีความพอดีด้วย
และมันไม่ใช่มีแค่นี้ การที่คนเราจะมีความเพียรแต่พอดีได้ มันต้องอาศัยธรรมะอีกตัวหนึ่งมาช่วยกำกับช่วยดึงเอาไว้ อันนั้นคืออะไร คือสมาธิ เพราะฉะนั้น ในอินทรีย์ 5 จะมีวิริยะและสมาธิคู่กัน สมาธิถ้ามากเกินไปก็มีปัญหา เฉื่อยเนือย หรือว่าติดสงบ กลายเป็นว่าไม่ค่อยอยากทำอะไรหรือมีความกระตือรือร้นเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีวิริยะมากำกับ หรือมาคอยถ่วงทำให้สมาธินั้นเป็นสมาธิแต่พอดี
ขณะเดียวกันวิริยะ ถ้าไม่มีสมาธิมากำกับมันก็อาจจะมากไปเกิดความฟุ้งซ่าน วิริยะมากไปก็ไม่ดีทำให้ฟุ้งซ่านหรือว่าทำให้เกิดความขึ้งเครียด แต่ถ้ามีสมาธิมาช่วย ก็ทำให้รู้จักพักบ้าง โดยเฉพาะการพับใจ แต่น่าสังเกตธรรมะหมวดนี้ในอินทรีย์ 5 สติจะอยู่เดี่ยวๆ ในขณะที่ศรัทธาต้องมีปัญญามาช่วยกำกับ และปัญญาก็ต้องมีศรัทธามากำกับ จึงจะเกิดความพอดีของศรัทธาและปัญญา วิริยะกับสมาธิก็เหมือนกัน จะมีความพอดีได้ก็ต้องมีกำกับซึ่งกันและกัน
แต่ว่าสตินั้นอยู่โดดๆ แปลว่าอะไร แปลว่ายิ่งมีมากยิ่งดี มีสติมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น จะว่าไปสติเป็นตัวช่วยทำให้เกิดความพอดีหรือความสมดุลระหว่างศรัทธากับปัญญาและก็ระหว่างวิริยะกับสมาธิ ที่จริงนอกจากความสมดุลธรรมะที่ว่านี้ ยังมีความสมดุลอีกหลายคู่ แต่ให้เราสังเกตขณะที่ทางสายกลางมันคือ การไม่ข้องแวะกับสิ่งที่ไม่ดี 2 ประการซึ่งอยู่คนละขั้ว
แต่ความสมดุลนั้น เป็นการที่ต้องอาศัยสิ่งดีๆที่อยู่คนละขั้วให้มาร่วมมือกัน เพราะศรัทธาก็ดี ปัญญาก็เป็นสิ่งที่ดี วิริยะก็เป็นสิ่งที่ดี สมาธิก็เป็นสิ่งที่ดี จะขาดอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่ได้ แต่ถ้าหากว่าจะมีทั้งสองสิ่ง มันก็ต้องมีแบบสมดุล และที่จริงมี 2 สิ่งมันก็ช่วยทำให้เกิดความสมดุลช่วยกันกำกับอยู่แล้ว
ชีวิตคนเราก็ต้องการความสมดุลเช่น สมดุลระหว่างกายกับใจ กายก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ใจก็มีประโยชน์ จะเอาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่ได้ และการที่จะให้ 2 อย่างนี้เป็นไปเกื้อกูลกันก็ต้องมีความสมดุล เราดูแลกาย แต่ก็ไม่ได้เน้นแต่เรื่องกาย เราก็ให้ความสำคัญกับเรื่องใจด้วย เติมอาหารกายแล้ว ไม่พอ มันต้องมีอาหารใจ ทำความสะอาดกายแล้ว มันไม่พอมันต้องทำความสะอาดใจ ถึงแม้จะเป็นวิธีการคนละแบบ
ชีวิตของคนเรา เป็นชีวิตของการต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น นอกจากการเดินหรือปฏิบัติบนทางสายกลาง หรือว่ามีความพอดีแล้ว มันก็ต้องมีความสมดุลด้วย และความพอดีก็ขึ้นอยู่กับความสมดุล มันไม่ใช่แค่ความสมดุลระหว่างกายกับใจเท่านั้น มันยังมีความสมดุลอีกหลายคู่เลย ที่เรามองข้ามไม่ได้ สมดุลระหว่างเหตุผลกับอารมณ์ ที่จริงศรัทธาก็เป็นอารมณ์อย่างหนึ่ง ส่วนเหตุผลก็เป็นเรื่องของปัญญา แต่ว่าสมดุลระหว่างเหตุผลกับอารมณ์ มันมากกว่าเรื่องของปัญญากับศรัทธา
คนเราถ้าหากว่าใช้แต่เหตุผลล้วนๆเราละเลยความรู้สึก มันก็เกิดปัญหาขึ้นมาได้ อันนี้ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของการปฏิบัติส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ลูกถูกจับได้ว่าไปขโมยของเพื่อน หรือไปขโมยของคนอื่น ครูจับได้หรือว่าตำรวจจับได้ พ่อหรือแม่รู้เข้า ถ้าพูดถึงเหตุผล สิ่งที่ลูกทำไม่ถูก ลูกสมควรที่จะถูกตำหนิ หรือต่อว่า ว่าไปขโมยของเขาได้อย่างไร มันผิดศีล
แต่ว่าอารมณ์โดยเฉพาะส่วนที่เป็นความรักความเมตตามันก็บอกว่าเด็กเขาบอบช้ำ และรู้สึกแย่เต็มทีแล้วกับการที่นอกจากเผลอไปลักขโมยของเขาแล้ว ยังถูกจับได้ ถ้าไปต่อว่า มันก็เหมือนกับว่าเป็นการซ้ำเติมเขา สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือการให้อภัย และการทำให้เขารู้ว่า ไม่ว่าเขาทำผิดอย่างไร พ่อแม่ก็ยังรักเขา และให้โอกาสแก่เขา
เพราะฉะนั้น แทนที่จะต่อว่า ทำให้เขารู้สึกว่าพ่อแม่ให้อภัยเขา และยังให้โอกาสเขาอยู่ อันนี้เป็นเรื่องของเหตุผลและอารมณ์ ถ้าใช้เหตุผลล้วนๆก็สมควรที่จะต้องตำหนิต่อว่าลูก แต่ความรู้สึกหรืออารมณ์ของพ่อแม่ก็ทำให้รู้ว่าสิ่งที่ลูกต้องการในยามนี้ ได้แก่ ความรู้สึกว่าได้รับการให้อภัย หรือว่ายังรู้ว่าตัวเองเป็นที่รักของพ่อแม่อยู่ ไม่ได้เป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์
อย่างไรก็ตาม ถ้าอารมณ์มากไป หรือว่าหนักไปทางอารมณ์ โดยที่ไม่ใช้เหตุผลมันก็แย่เหมือนกัน เช่น พ่อแม่ที่รักลูก ถ้ารักมากไป ลูกถูกครูจับได้ว่าหนีเรียน แม่ก็แก้แทนลูกกลัวลูกลำบาก บอกว่าลูกป่วยลูกไม่ได้หนีเรียน ลูกไม่สบาย อันนี้เป็นการทำด้วยความรักความเมตตา ไม่อยากจะให้ลูกลำบาก แต่ว่ามันก็จะเป็นการทำแบบให้ท้ายลูก เหตุผลเมื่อไตร่ตรองดูแล้ว ก็รู้ว่าทำอย่างนั้นมันไม่ถูก จะเป็นการทำให้ลูกเสียผู้เสียคนได้ง่าย เพราะฉะนั้น ก็ต้องระงับการกระทำเช่นนั้น ไม่ใช่ เมตตาจนเกินเลย ต้องรู้จักความถูกต้องด้วย
อันนี้เป็นเรื่องของความสมดุลระหว่างเหตุผลกับอารมณ์ซึ่งคนเราก็ต้องมี ถ้าใช้เหตุผลมากไปความรู้สึกน้อยไป มันก็เกิดปัญหา หรือใช้ความรู้สึกมากไปไม่ใช่เหตุผล มาใคร่ครวญ มันก็อาจจะเกิดผลเสีย ถ้าถามว่าทำอย่างไรให้เกิดความสมดุล ระหว่างเหตุผลกับอารมณ์ สตินั่นแหละเป็นตัวสำคัญที่จะช่วยทำให้รู้ว่าแค่ไหนถึงจะพอดี อันนี้รวมถึงความรู้สึกตัวด้วย
สิ่งที่เราพูดกันเมื่อหลายวันก่อน เรื่องของการทำกิจและทำจิตก็เหมือนกัน มันต้องมีความสมดุลหรือความพอดีระหว่างการทำกิจและทำจิต ทำกิจมากไป แล้วไม่ทำจิต มันก็แย่ อาจจะเหนื่อยล้าหรือว่าอาจจะพลั้งเผลอ แทนที่จะทำประโยชน์ให้กับผู้คน ก็กลับกลายเป็นว่าทำเพื่อสนองส่วนตัวเพราะว่าไม่มีสติดูแลรักษาใจ ไม่ให้ความเห็นแก่ตัวมาครอบงำ
ในขณะเดียวกันถ้าทำจิตอย่างเดียวแต่ไม่ทำกิจ มันก็เกิดปัญหาเจ็บป่วยแล้วก็ได้แต่ทำใจ แต่ว่าไม่ดูแลรักษาตัวเองไม่เยียวยาสุขภาพ อันนี้ก็ไม่ถูก มันต้องมีความพอดีระหว่างทำกิจกับทำจิต และจะทำแค่ไหนก็ต้องอาศัยสติและปัญญาเข้ามาประกอบด้วย
เช่นเดียวกันการทำประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน มันก็ต้องมีความพอดี ต้องมีความสมดุล ถ้าเราทำแต่ประโยชน์ตน ไม่สนใจรับผิดชอบต่อส่วนรวม หรือว่าทำประโยชน์เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น อันนี้ก็สามารถจะทำให้เกิดความเห็นแก่ตัวโดยไม่รู้ตัว ทำไปทำมาเกิดความเห็นแก่ตัวขึ้นมา แต่ว่าทำประโยชน์ทำไปๆบางทีเหนื่อยล้า สุขภาพย่ำแย่ จิตใจรุ่มร้อนเกิดความท้อแท้ อุปสรรคมากมาย อันนี้ก็เกิดปัญหาเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ต้องมีความสมดุล หรือความพอดี ระหว่างการทำประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ซึ่งในบางครั้งสามารถจะทำคู่กันไปเลย การทำประโยชน์ท่านก็เป็นการทำประโยชน์ตนไปด้วย หรือว่าการทำประโยชน์ตนก็เป็นการบำเพ็ญประโยชน์ท่านไปด้วย
และก็โยงไปถึงความสมดุลอีกคู่หนึ่ง คือ สงบเย็นและเป็นประโยชน์ อันนี้ท่านอาจารย์พุทธทาสพูดไว้เลยว่า ชีวิตที่ดี คือชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์ สงบเย็นกับเป็นประโยชน์ มันมีคุณสมบัติไปกันคนละด้านเลย แต่ว่าเป็นสิ่งจำเป็นทั้งคู่สำหรับทุกชีวิตที่มุ่งหวังความเจริญงอกงาม ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม สงบเย็นมันเป็นประโยชน์ตน ส่วนการทำประโยชน์ที่ว่าหมายถึงการบำเพ็ญประโยชน์ท่าน ถ้าเรารู้จักเข้าถึงความสงบเย็น การที่เราจะทำประโยชน์ท่านได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงักเพราะว่าท้อแท้หรือว่าเหนื่อยล้าหรือจิตสลาย มันก็เป็นไปได้
เวลาที่คนเราทำประโยชน์โดยเฉพาะในยามนี้ ที่มีคนจำนวนมากกำลังทุ่มเทเสียสละมากเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย covid ซึ่งมันก็ล้นโรงพยาบาล โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลสนาม หลายคนทำงานหนัก อันนี้เรียกว่าประโยชน์ท่าน แต่ว่าถ้าไม่มีการรักษาใจให้สงบเย็น มันก็จะเกิดอาการที่เรียกว่าเสียศูนย์ได้ง่าย ถึงเวลาพัก ใจไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง หรือว่าเวลาพักก็ยังรู้สึกผิดว่า เราจะมาพักผ่อนได้อย่างไร ยังมีคนป่วยอีกตั้งเยอะแยะ
หรือว่าบางทีปล่อยวางไม่ได้เพราะว่ายังมีคนไข้อีกหลายคนที่เสียชีวิต หรือบางทีก็เกิดความคับแค้น เพราะว่าอุปกรณ์ขาดแคลน เพราะเหตุต่างๆมากมาย จิตใจรุ่มร้อน จิตใจว้าวุ่น กายก็เหนื่อยแล้วใจยังเหนื่อยล้าตามไปด้วย มันก็ยิ่งซ้ำเติม ทำให้สุดท้ายหมดพลัง ทำต่อไม่ได้ เสียศูนย์ไปเลย ภาษาฝรั่งเรียกว่า burn Out บางคนแปลว่า จิตสลายไปเลย
เพราะฉะนั้น จะบำเพ็ญประโยชน์ได้ ก็ต้องอาศัยการรักษาจิตให้มีความสงบ ซึ่งหมายถึงการมีสมาธิ การรู้จักปล่อยวางหรือว่า การที่สามารถเข้าถึงความเย็นในจิตใจ มีน้ำมาช่วยชโลมใจให้ต่อเนื่อง แต่ถ้าสงบเย็นแล้วไม่บำเพ็ญประโยชน์ อันนี้มันก็ไม่ถูกเหมือนกัน มันก็อาจจะกลายเป็นความเห็นแก่ตัวแฝงเร้นโดยไม่รู้ตัวก็ได้ จะสงบเย็นอย่างแท้จริงโดยปราศจากซึ่งความเห็นแก่ตัว หรือว่ามีความเห็นแก่ตัวเบาบาง หรือกิเลสเบาบาง ถึงจะเป็นความสงบเย็นที่แท้
ซึ่งจะทำอย่างได้นั้น ต้องอาศัยการขัดเกลา วิธีขัดเกลาก็คือการทำประโยชน์เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น มันก็ช่วยขัดเกลาความเห็นแก่ตัว และมันก็ช่วยเพิ่มพูนกรุณา ช่วยขยายใจให้เปิดกว้าง พอมีกรุณามีเมตตา ก็เกิดความสงบเย็นได้ง่าย อันนี้เป็นเรื่องของความสมดุลที่เราต้องมี และประคองรักษาเอาไว้
เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะรักษาความสมดุลให้เกิดขึ้นได้ ไม่ว่ากับการปฏิบัติธรรม หรือว่าการทำงาน หรือว่าการดำเนินชีวิต การที่เราจะเกิดความสุขและสามารถจะตั้งมั่นบนทางสายกลาง มันก็จะเป็นไปได้ง่าย ถ้าชีวิตไม่มีความสมดุลแล้ว มันเป๋ไป มันขาดความพอดีไป การที่จะก้าวอย่างมั่นคงบนทางสายกลาง มันก็เป็นไปได้ยาก เรียกว่าสะดุด หรือว่าลุ่มๆดอนๆ หรือว่าเพี้ยนไปทางสุดโต่งไม่ขั้วใดก็ขั้วหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ทางสายกลางก็ดี ความพอดีก็ดี ความสมดุลก็ดี มันเป็นสิ่งที่เราต้องรู้จัก ทำความเข้าใจ และปฏิบัติให้เกิดผล มันถึงจะเกื้อกูลกัน
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 14 สิงหาคม 2564