แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
งูเป็นสัตว์ที่หลายคนกลัว แต่ในขณะเดียวกันก็มีสัตว์หลายอย่างที่งูกลัว สัตว์เหล่านั้นก็เป็นอันตรายต่องู แต่ก็ไม่มีอะไรที่น่ากลัวต่องูเท่ากับแมลงชนิดหนึ่ง นั่นคือเห็บ เห็บเป็นศัตรูที่น่ากลัวมากสำหรับงู ทั้งนี้เพราะว่าแม้กระทั่งงูพิษ งูเห่า งูจงอาง พิษของมันร้ายแรงแค่ไหนก็ช่วยป้องกันอะไรจากเห็บได้
งูอาจจะโค่นช้าง ล้มควายหรือฆ่าคนให้ตายได้ แต่ทำอะไรไม่ได้กับเห็บ เห็บฝังตัวอยู่ใต้เกร็ดแล้วก็ดูดเลือดงูทีละนิดๆ งูจำนวนไม่ใช่โดนเห็บตัวหรือสองตัว แต่เป็นร้อยเลย แม้กระทั่งูจงอางหรือว่างูเหลือมถึงกับตายได้ เพราะธรรมชาติของงูไม่ได้มีไว้เพื่อป้องกันเห็บเลย อาจจะมีไว้ป้องกันช้าง เสือ กระทิง แต่ว่าเห็บตัวเล็กๆ งูทำอะไรไม่ได้ อันนี้ก็เป็นความรู้ที่หลายคนอาจจะไม่เคยได้ยิน
มีนิทานเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับงูและเห็บ งูเห่าตัวหนึ่งโดนเห็บก็ไม่ตัวกี่เล่นงาน มันมาเกาะดูดเลือดลำตัวงู งูก็ปวดมาก มันทำอย่างไรก็ไม่สามารถจะกำจัดเห็บได้ มันเคยลงน้ำ แช่อยู่ในน้ำเป็นวันเลยกะจะให้เห็บตาย มันก็ไม่ตาย แล้วยิ่งนานวันก็ยิ่งทั้งเจ็บทั้งปวดทั้งแค้น มันไม่รู้จะทำอย่างไร มันยิ่งอยากจะกำจัดเห็บเหลือเกิน ยิ่งปวดก็ยิ่งแค้น ยิ่งโกรธ แล้ววันหนึ่งมันเห็นเกวียนผ่านมา มันก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า ล้อเกวียนนี่แหล่ะที่จะสามารถกำจัดเห็บได้
มันจะใช้ล้อเกวียนบดขยี้เห็บให้ตาย มันก็เลยเลื้อยเข้าไปอยู่ใต้ล้อเกวียน ล้อเกวียนก็บดขยี้เห็บตาย แต่เราก็นึกภาพออกว่าเกิดอะไรขึ้นกับงู ก็คืองูก็ตายด้วย แต่ตอนนั้นมันไม่ใช่สิ่งที่งูคาดคิด ตอนนั้นงูมันคิดแต่จะกำจัดเห็บให้หมดไปได้อย่างไร มันคิดแค่นั้นเพราะความโกรธ ความแค้น ทำให้มันคิดแต่ว่าจะกำจัดเห็บไม่ว่าจะโดยวิธีใดก็ตาม แต่มันก็ลืมไปว่าการที่ให้ล้อเกวียนบดขยี้เห็บ ตัวมันเองก็ถูกทับไปด้วย
นิทานเรื่องนี้สอนใจดีว่า งูมันคิดแต่จะหาวิธีกำจัดเห็บ แต่ว่าด้วยความแค้น ด้วยความโกรธ มันจึงลืมตัวโดยไม่เฉลียวใจว่า มันไม่ได้แค่บดขยี้เห็บอย่างเดียว แต่ก็ทับตัวมันตายด้วย อันนี้เป็นนิทานที่สอนใจได้ดีถ้าหากรู้จักพิจารณาสักหน่อย เพราะว่าคนจำนวนไม่น้อย อาจจะมีพฤติกรรมไม่ต่างจากงูตัวนี้ก็ได้ คือ พอถูกความโกรธท่วมทับแล้ว มันก็พร้อมที่จะทำอะไรก็ได้โดยที่ไม่ได้เฉลียวใจว่า มันจะเกิดผลอะไรกับตัวเองตามมา
มีถนนเส้นหนึ่งในกรุงเทพฯเป็นทางผ่านของนักเรียนอาชีวะ 2 โรงเรียน ก็เป็นธรรมดา นักเรียนอาชีวะก็ย่อมไม่ถูกกัน ถ้าต่างโรงเรียนก็จะไม่ถูกกัน แล้วก็การแสดงความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างกันก็แสดงออกหลายวิธี แล้วก็มีบ้านหลังหนึ่งอยู่บนถนนเส้นนั้น มีกำแพงสีขาวยาวเลย บ้านนี้มีเนื้อที่กว้าง กำแพงนั้นก็เลยกลายเป็นเวทีของนักเรียนอาชีวะ 2 โรงเรียนในการโจมตีหรือว่าเยาะเย้ยท้าทายซึ่งกันและกัน มีการฉีดสีสเปรย์ซึ่งกันและกันหรือเยาะเย้ยถากถางซึ่งกันและกัน
จนกระทั่งกำแพงสีขาวเต็มไปด้วยข้อความ เต็มไปด้วยสีหรือว่าภาพ เจ้าของบ้านก็พยายามเอาสีมาทา เพราะว่ากำแพงบ้านเล่อะเท่อะ แต่ว่าพอทาสีเสร็จก็เล่อะเหมือนเดิมในเวลาไม่นาน เจ้าของบ้านก็ไม่พอใจเคยติดประกาศไว้ว่าขอร้องกรุณาอย่าขีดเขียนบนกำแพง ปรากฏว่านักเรียนกลุ่มนี้ก็ไม่ฟัง เอาสีมาพ่นทับ แล้วก็มีการเขียนข้อความเยาะเย้ยเจ้าของบ้าน เจ้าของบ้านก็โกรธ ตอนหลังก็ติดประกาศว่าจะดำเนินคดีกับคนที่มาขีดเขียนบนกำแพง จะดำเนินคดีด้วยโทษที่หนัก
ปรากฏว่าข้อความหรือประกาศก็ถูกสีพ่นทับอีก แล้วก็มีข้อความต่อ ถากถางเจ้าของบ้านหนักกว่าเดิม เจ้าของบ้านโกรธมากจนนอนไม่หลับเลย แล้ววันหนึ่งเจ้าของบ้านก็ถือกระป๋องสีพร้อมกับแปรง มาอยู่ที่กำแพงซึ่งทำความสะอาดเรียบร้อยแล้วเขียนข้อความตัวใหญ่ๆเลย ใครขีดเขียนกำแพงนี้ เป็นหมา ปรากฏว่าคนที่เป็นหมาคนแรกคือใคร คือเจ้าของบ้าน แต่แกไม่รู้ตัวเพราะตอนนั้นคิดแต่ว่าจะต่อว่าวัยรุ่นที่มาพ่นสีขีดเขียนบนกำแพง
ด้วยความโกรธอยากจะต่อว่าคนเหล่านั้นว่าเป็นหมา แต่สุดท้ายกลายเป็นว่ามันเข้าตัว อันนี้เพราะอะไร เพราะว่าลืมตัว ทำไมถึงไม่ลืมตัวเพราะความโกรธ ความโกรธทำให้ใจของเราพุ่งออกไปข้างนอก พุ่งออกไปยังคนที่เราโกรธ แล้วพอพุ่งออกไปแล้วยิ่งนึกถึงการตอบโต้หรือว่าการทำร้าย ปรากฏว่าสิ่งที่ทำไป มันกลับวกเข้ามาหาตัวเองเพราะความลืมตัว
นี้เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดาเวลาส่งจิตออกนอก ยิ่งส่งไปจดจ่อปักตึงข้างนอกหนาแน่นเท่าไหร่ มันก็ยิ่งลืมตัวมากเท่านั้นและสิ่งที่ทำไปหมายมุ่งเล่นงานอีกฝ่ายหนึ่ง แต่สุดท้ายก็กลับมาทำร้ายตัวเอง อาจจะไม่ถึงขั้นทำร้ายตัวเองแบบงูเห่าตัวนั้น แต่ว่าก็อาจจะกลายเป็นว่าเป็นการประจานตัวเอง หรือว่าทำให้ตัวเองเสียชื่อเสียง แต่บางทีมันก็หนักกว่านั้นเพราะว่าพอเผลอตัวแล้วด้วยความโกรธแค้นก็สามารถที่จะทำอะไรก็ได้
อย่างที่เราเคยได้ยินข่าว เพื่อนบ้านทะเลาะกัน แล้วก็ฆ่ากันตายเพราะว่าเถียงกันเรื่องหมาที่ส่งเห่าส่งเสียงดัง บ้านอีกหลังหนึ่งก็ไม่พอใจ ก็ไปว่าเจ้าของหมา ทีแรกตะโกนด่าหมา แล้วก็ตีหมา เจ้าของบ้านหมาก็ไม่พอใจ โต้เถียงตอบโต้ พอทะเลาะกันแล้วก็เกิดความโกรธ ความโกรธมันก็ชักนำใจให้พุ่งออกไปเพื่อที่จะมุ่งทำร้าย เบียดเบียน หรือผลักไสคนที่ทำให้โกรธ แล้วตรงนั้น มันเปิดช่องให้จิตใจถูกความโกรธครอบงำจนกระทั่งลืมตัว
คนส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้ทำถึงขนาดนั้น แต่ว่ามันก็อาจจะเผลอลืมตัวทำในสิ่งหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่สมควรได้ อย่างมีคนหนึ่งกำลังฟังการบรรยายอยู่ การบรรยายนั้นก็น่าสนใจมาก แต่ว่า 2 คนที่นั่งอยู่ข้างหลังไม่สนใจ เอาแต่คุยกัน หัวเราะคิกคัก คนที่อยู่ข้างหน้าก็ชำเลืองมอง ส่งสายตาเพื่อจะบอกว่า หยุดคุยกันได้แล้ว สองคนนั้นก็ไม่สนใจ ยังคุยกันต่อ คนที่อยู่ข้างหน้าก็เริ่มโกรธ เริ่มโมโห
พอโมโหหนักเข้า ห้ามใจไม่อยู่ ก็ลุกขึ้นแล้วหันไปที่สองคนนั้น พร้อมตะโกนเสียงดังว่าหยุดคุยกันได้แล้ว ไม่รู้หรือว่ารบกวนคนอื่น ปรากฏว่าคนในห้องประชุมตะลึงเลย หันมามองที่คนๆนั้นเป็นจุดเดียวกัน คนๆนั้นไปว่า 2 คนข้างหลังว่าส่งเสียงดังรบกวนแต่สุดท้ายตัวเองกลับส่งเสียงดังมากกว่าใครในห้อง
อันนี้เรียกว่าไปว่าเขา แต่สุดท้ายก็มาเข้าตัว เพราะอะไรเพราะความลืมตัว ลืมตัวเพราะความโกรธมาครอบงำ พอความโกรธครอบงำแล้ว ก็ดึงจิตออกไปจดจ่ออยู่กับสิ่งนอกตัว แล้วก็คิดแต่ว่าจะจัดการสิ่งนอกตัวนั้นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นคนหรืออะไรก็ตาม ตรงนั้นแหละที่ทำให้ลืมตัว แล้วก็ตกเป็นเหยื่อของความโกรธ ไม่มีอารมณ์ไหนที่จะทำให้คนส่งจิตออกนอกจะลืมตัวมากเท่ากับความโกรธ อันนี้สำหรับคนทั่วไป
แต่สำหรับคนบางคนอาจจะมีอารมณ์อีกชนิดหนึ่งคือ ตัณหาราคะที่ทำให้ส่งจิตออกนอกจนลืมตัว แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วเป็นเพราะความโกรธ พอจิตพุ่งออกไปข้างนอก มันก็เปิดช่องให้ทำหลายสิ่งหลายอย่างที่กลับเกิดผลเสียให้กับตัวเราเอง คิดแต่จะไปทำร้ายเล่นงานเขา แต่สุดท้ายคนที่เสียหาย อาจจะมากกว่าใครก็คือตัวเอง เพราะว่าความลืมตัว และที่ลืมตัว ก็เพราะว่าการส่งจิตออกนอก
ความโกรธ มันก็ฉลาดเพราะว่ามันก็จะพยายามหาอุบายในการที่จะบงการเราให้ทำในหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อที่จะพุ่งออกไปข้างนอก คนเราพอถูกครอบงำด้วยความลืมตัว แม้ว่าจะรู้ว่าเอาอะไรดีไม่ดี อะไรถูกอะไรไม่ถูก อะไรควรไม่ควร แต่พอเวลาโกรธแล้วลืมหมดเลย แม้ว่าจะมีความพยายามยับยั้งอยู่บ้าง แต่ว่าความโกรธมันก็สามารถที่จะสรรหาเหตุผลสั่งให้เราพูดหรือทำในสิ่งที่สนองอารมณ์ของมัน
อย่างเช่น บางทีมีความคิดขึ้นมาว่าพูดอย่างนี้ไม่ดี ทำอย่างนี้ไม่ดี เสียหาย แต่ความโกรธก็จะบอกมาว่าฉิบหายก็ไม่เป็นไรขอให้ได้ด่ามัน ขอให้ได้ตบมัน มันก็เป็นเหตุผลที่ทำให้คนหลงเชื่อแล้ว ก็ทำตาม บางทีก็สรรหาเหตุผลว่าต้องจัดการกับมันต้องด่ามัน ต้องตบมันเพื่อเป็นการสั่งสอนมัน มันจะได้เลิก ก็ดูเหตุผลสวยหรู แต่พอเราเชื่อมัน เราก็เดือดร้อนเลย
มีคนหนึ่งเวลาโกรธใครขึ้นมา จะด่าทันที เรียกว่าโกรธปุ๊บก็ด่าปั๊บเลย มีคนสงสัยว่าทำไมถึงทำอย่างนั้น ไม่รู้หรือว่าการด่ามันเสียหายกับตัวเอง แล้วก็เดือดร้อนคนอื่นด้วย เขาให้เหตุผลว่า ต้องด่ามันก่อนที่ความโกรธจะหาย เพราะถ้าหายโกรธแล้วจะด่าไม่ออก ต้องรีบด่า อันนี้ก็เป็นเหตุผลของความโกรธ ต้องรีบทำตอนที่มีความโกรธอยู่ เพราะว่าหายโกรธแล้วจะด่าไม่ออก ก็เป็นผลจากความลืมตัว เวลาเราพูดถึงความลืมตัว มันก็มีเหตุมีผล แต่เป็นเหตุผลที่ความโกรธเสกสรรขึ้นมา
และยิ่งที่ส่งจิตออกนอก การที่จะมีสติยับยั้งชั่งใจมันก็จะอ่อนแรง เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่อยากให้ความโกรธมากระทุ้งจิตให้ส่งออกไปข้างนอก จนเกิดความลืมตัว แล้วก็ก่อความเสียหายตามมา ก็ต้องหมั่นกลับมามองตนอยู่เสมอ มันเป็นวิธีเดียวที่จะไม่ทำให้เราเผลอส่งจิตออกนอกจนลืมเนื้อลืมตัว โดยเฉพาะเมื่อใดก็ตามที่มีความโกรธ ยิ่งต้องเตือนตนเองให้กลับมามองตน
การที่กลับมามองตนจะทำให้เราเห็นความโกรธที่กำลังพลุ่งพล่านอยู่ในใจ เพียงแค่เห็น ความโกรธก็บรรเทาเบาบางลงทันทีเลย มันไม่มีวิธีใดที่จะทำให้ความโกรธมันฝ่อเท่ากับการเห็นการรู้ทันมัน วิธีอื่นไม่ช่วยเท่าไหร่แม้กระทั่งการกดข่มหรือว่าการผลักไส มีคนหนึ่งเคยถามหลวงปู่ดูลย์ อตุโลว่า ทำอย่างไรจึงจะตัดความโกรธให้ขาดได้ หลวงปู่ตอบว่าไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอก มีแต่รู้ทันมัน เมื่อรู้ทันมัน มันก็ดับไปเอง
ความโกรธก็เช่นเดียวกับอารมณ์ต่างๆมากมาย มันกลัวการถูกรู้ทัน กลัวการถูกเห็น ทันทีที่เราหันมามองตน หันมาดูใจก็จะเห็นความโกรธได้ไม่มากก็น้อย และความโกรธมันก็ยอมไม่ได้ถ้าหากว่ามันจะสูญสลายหายไป วิธีหนึ่งที่มันใช้อยู่เป็นประจำก็คือ ดึงจิตให้พุ่งออกไปข้างนอกเพื่อที่จะได้ไม่หันกลับมามองตน
ยิ่งโกรธใครก็ยิ่งไปจดจ่ออยู่กับคนนั้น โกรธเรื่องใดก็คิดแต่เรื่องนั้น เท่านั้นไม่พอ ก็ขุดคุ้ยเรื่องอื่นซึ่งเกี่ยวกันบ้างไม่เกี่ยวกันบ้างขึ้นมา หรือว่าขุดคุ้ยความไม่ดีของคนๆนั้นขึ้นมา อาจจะไม่ใช่ความไม่ดีของเขาคนเดียว อาจจะความไม่ดีของเพื่อน ของพ่อแม่ ของโคตรตระกูล เพื่อจิตจะได้พุ่งออกไปข้างนอก ไม่มีโอกาสที่จะหันกลับมามองตน เพื่อจะเห็นว่าความโกรธกำลังครอบงำจิต
แต่ถ้าหากว่าเราฝึกหันมามองตนอยู่บ่อยๆ หันมาสังเกตอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองอยู่เนืองๆ ไม่ใช่เฉพาะเวลาที่มีความโกรธ ตอนโกรธถ้าหากไม่ค่อยได้ฝึกจิต ก็ไม่ค่อยหันมามองตนหรอก แต่ว่าตอนนี้ยังมีอารมณ์ไม่หนักหนา ไม่รุนแรง เช่น แค่หงุดหงิด ไม่พอใจ หรือว่าอารมณ์อื่นด้วย เช่น ความโศก ความเศร้า ความเบื่อ หันกลับมามอง หันกลับมาสังเกต แต่ไม่ใช่ว่าไปดักจ้องมัน ถ้ามันยังไม่เกิดขึ้นก็ปล่อยมันไป
ถ้ามันยังไม่เกิดขึ้นก็ใช้ชีวิตตามปกติ ทำการทำงานไป แต่พอมันเกิดขึ้นมาก็ให้กลับมาสังเกตดูอารมณ์ อารมณ์บางอย่างเรียกชื่อไม่ถูก บอกไม่ถูก เรียกไม่ถูกว่ามันเป็นอารมณ์ใด ใหม่ๆจะไม่รู้ว่า ที่กำลังอยู่ในใจมันคืออะไร มันคือความไม่พอใจ มันคือความหงุดหงิด มันคือความหนักอกหนักใจ มันคือความวิตกกังวล หรืออะไร แต่พอหันมาดู พิจารณาบ่อยๆว่า ก็จะแยกออกว่านี้คืออารมณ์ใด แล้วถ้าหันมามองตนอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ มันก็จะยิ่งเห็นอารมณ์เหล่านั้นชัด
โดยเฉพาะยิ่งหมั่นเจริญสติเป็นประจำ ปฏิบัติถูก เวลากายเคลื่อนไหวก็รู้ เวลาใจคิดนึกก็เห็น อารมณ์ที่เกิดขึ้นเล็กๆน้อยๆในระหว่างที่กำลังปฏิบัติ มันจะช่วยทำให้เรามีความสามารถในการแยกแยะและก็รู้ทันอารมณ์ได้ไวขึ้น โดยเฉพาะเมื่ออารมณ์มันรุนแรง ก็จะรู้ทันได้ไว ไม่ปล่อยให้มันโหมไหม้จิตใจ หรือชักนำให้เราทำอะไรต่างๆที่ด้วยความลืมตัว หลุดปากด่าไปแล้ว ทำร้ายข้าวของไปแล้ว จึงค่อยมารู้ตัวว่าทำอะไรไปในขณะที่ความโกรธมันหายไปแล้ว
คนส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น พอระบายอารมณ์ได้เต็มที่ สุดอารมณ์แล้ว มันจึงค่อยมารู้ตัว ตอนที่อารมณ์มันจางแล้ว แต่เกิดความเสียหายไปแล้วเรียบร้อย แต่เราสามารถจะทำได้เร็วกว่านั้น ดีกว่านั้น ตอนที่มันเริ่มก่อตัวขึ้นมา ก็เห็นมันหรือแม้กระทั่งตอนที่มันพลุ่งพล่าน ถ้ามีสติไว้พอ มันจะเห็น ก็จะรู้ทัน
ทั้งหมดนี้ก็จะเกิดจากการที่เราหมั่นสังเกตอารมณ์ของตัว หมั่นสังเกตจิตใจ หรือว่าชีวิตด้านในของตนอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะสังเกตจากการปฏิบัติหรือว่าในระหว่างการปฏิบัติ จนกระทั่งเรารู้จักว่า เวลามีอารมณ์ต่างๆเกิดขึ้น จิตมันกระเพื่อมอย่างไรบ้าง จิตเกิดความไม่ปกติอย่างไรบ้าง
การที่เราจะรู้ความไม่ปกติของจิตเวลามีอารมณ์เข้ามาครอบงำ ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่เรารู้ว่า ความปกติของจิตในยามที่โปร่งโล่ง ในยามที่มันมีรู้สึกตัวมันเป็นอย่างไร มันเกิดการเปรียบเทียบ คนที่อยู่กับความไม่ปกติ อยู่กับอารมณ์ อยู่กับการกระเพื่อมของจิตตลอดเวลา จะไม่รู้จักอารมณ์เหล่านั้น เหมือนกับว่านกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ
คนที่อยู่กับอารมณ์ อยู่กับความหลงมาตลอด มันไม่รู้จักความหลง มันไม่รู้จักอารมณ์ จนกว่ามันจะได้สัมผัสกับสภาวะที่เป็นความรู้สึกตัว หรือว่าสภาวะที่ปลอดจากอารมณ์ และพอมีอารมณ์ขึ้น เช่นความโกรธเกิดขึ้น หรือว่ามีความผิดปกติอยู่ในใจ มันก็จะรู้ รู้เพราะว่ามีสติมาบอก สติมันจำได้ว่าอาการแบบนี้เกิดจากอารมณ์ชนิดนี้ หรือเป็นอาการของอารมณ์ชนิดนี้
ความโกรธมันมีอาการที่รุ่มร้อน ความอกหนักใจมีอาการของความรู้สึกหนักอึ้ง หรือว่าความเหงา ความว้าเหว่มันมีความรู้สึกโหวงๆ สติมันจำได้ มันจำภาวะอารมณ์เหล่านั้นได้ จากการที่เราเฝ้าดูบ่อยๆ แล้วพอมันเกิดขึ้นมา สติก็ทำงานทันที เตือนให้เรารู้ว่า ตอนนี้กำลังโกรธ ตอนนี้กำลังอกหนักใจ ตอนนี้กำลังเหงา สติซึ่งพุ่งออกไปข้างนอก พอกลับมาเห็น อารมณ์เหล่านั้น มันก็จะฝ่อไปเลย
เพราะฉะนั้น วิธีเดียวที่จะทำให้จิตไม่พุ่งออกไปข้างนอก จนกระทั่งก่อความเสียหายเพราะความลืมตัวก็คือ การที่เราหมั่นมามองดูตนอยู่เสมอ โดยมีสติเป็นเครื่องเตือนให้กลับมาตามรู้ ให้กลับมาดู ให้กลับมาเห็น ไม่ใช่ว่าจะคอยดักดูมันตลอดเวลา เราทำงาน เรากินข้าว เราก็อยู่กับการงาน อยู่กับการกินข้าว
แต่พอจิตกระเพื่อมขึ้นมาเพราะความคิดหรืออารมณ์ใดก็ตาม เรารู้ตัวเลยเพราะสติมาบอก สติเป็นเซ็นเซอร์ที่ดีมาก ถ้าฝึกบ่อยๆ สติจะเป็นเซ็นเซอร์ที่ไว เป็นเซ็นเซอร์ของจิตที่ทำให้อารมณ์และความคิดต่างๆโดยเฉพาะอารมณ์อกุศล และความคิดเป็นอกุศล มันไม่สามารถที่จะมาครอบงำกำกับจิตใจ หรือบงการให้เราพูด ทำในสิ่งที่ไม่สมควรได้
เพราะฉะนั้น ให้เรากลับมามองตน กลับมาดูจิตดูใจในยามที่มันเผลอไป ถ้ามันไม่มีความคิดใด ไม่มีอารมณ์ใดเกิดขึ้นก็กลับมาดูกาย อยู่กับปัจจุบัน พอมีความคิดใดอารมณ์ใดเกิดขึ้นก็รู้ แค่รู้เท่านั้น แล้วก็วางได้เลย แล้วก็ทำให้การที่จะเผลอส่งจิตออกไปข้างนอก ลืมเนื้อลืมตัว เกิดปัญหาตามมา ก็จะน้อยลง
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 17 สิงหาคม 2564