แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทักษะหรือความสามารถเกิดขึ้นได้ต้องการฝึกฝน ต้องอาศัยการทำบ่อยๆ และก็ต้องผ่านการลองผิดลองถูก หรือว่าผ่านการล้มลุกคลุกคลาน ถึงจะพัฒนาจนมีความคล่องแคล่วว่องไว
อย่างเด็กทารกจะให้เขาเดินเป็น เขาก็ต้องฝึกเดิน แต่ก่อนเดินไม่เป็น คลานอย่างเดียว ระหว่างที่ฝึกเดินก็อาจจะล้มเป็นส่วนใหญ่ แต่ว่าพอล้มแล้วก็ลุกขึ้นมา พยายามเดินต่อ ถ้าทำอย่างนี้บ่อยๆ ก็จะล้มน้อยลง แล้วก็เดินได้มั่นคงต่อเนื่อง จนกระทั่งในที่สุดก็เดิน มันเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา แล้วก็เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้เด็กเดินเป็นได้
อย่าว่าแต่คนเลย สัตว์อย่างเช่นหนู สมมุติเราปล่อยให้มันเข้าไปในเขาวงกต แล้วในนั้นมีเนยมีถั่วเป็นอาหารที่หนูชอบอยู่อีกมุม ปลายเขาวงกต ทีแรกหนูใช้เวลานานกว่าจะหาเจอ ใหม่ๆก็ไปผิดทาง หลงทางบ้าง แต่ถ้าหากว่าเปิดโอกาสให้หนูทำอย่างนี้บ่อยๆ
เช่น พอมันหาเจอแล้ว แรกๆมันใช้เวลานานหน่อย ครั้งต่อมาก็ปล่อยเข้าไปในเขาวงกตอีก มันจะมีความชำนิชำนาญมากขึ้น แล้วมันจะหาเนยหาอาหารได้ไวขึ้น เจอได้เร็วขึ้นๆเรื่อยๆจนกระทั่งถึงจุดหนึ่ง พอปล่อยเข้าไปในเขาวงกต มันสามารถจะวิ่งตรงเข้าไปจนพบของกินได้โดยที่ไม่มีการหลงหรือว่าวิ่งผิดทางเลย
การเจริญสติมันก็แบบนั้นเหมือนกัน การที่สติของเราจะว่องไว เห็นความคิดได้เร็ว หรือว่ารู้ทันอารมณ์ได้ฉับไว มันก็ต้องผ่านการฝึกฝน ผ่านการปฏิบัติ ผ่านการทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า และที่จริงเราไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแต่ปล่อยให้สติทำงาน ใหม่ๆกว่าจะรู้ทันความคิดหรือเห็นอารมณ์ มันก็ต้องใช้เวลา คิดไป 7-8 เรื่องแล้ว เผลอไปเป็นวรรคเป็นเวร ถึงค่อยเห็นความคิดหรือค่อยรู้ตัวว่า หลงไป
แต่ถ้าเราเปิดโอกาสให้สติทำงานอย่างนี้ไปเรื่อยๆบ่อยๆก็จะไวขึ้น ก็จะเห็นอารมณ์เห็นความคิดได้ไวจากเดิมคิดไป 7-8 เรื่องถึงค่อยรู้ตัว ตอนหลังแค่คิดเรื่องแรกเรื่องเดียว ยังไม่ทันจบรู้เสียแล้ว เราไม่ต้องทำอะไรมากเพียงแต่ให้โอกาสสติทำงาน
เหมือนกับเราปล่อยหนูให้ไปหาอาหารในเขาวงกต เราไม่ต้องทำอะไรเพียงแต่ให้โอกาสกับหนู ถ้ามันได้ทำบ่อยๆมันก็จะหาอาหารได้เร็วได้ไว และตอนหลังแม้จะย้ายอาหารไปไว้อีกที่หนึ่ง มันก็จะสามารถหาได้เร็วเหมือนกัน เหมือนกับว่ามันรู้ทาง เราไม่ได้ไปทำอะไรกับหนูตัวนั้นเลย เพียงแต่ให้โอกาสแก่มันทำบ่อยๆหาบ่อยๆ
สติก็เหมือนกัน การเจริญสติ ก็คือการให้โอกาสแก่สติในการทำงาน ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยเปิดโอกาสให้สติทำงานเท่าไร เพราะว่าเราทำอะไรก็ไม่รู้ มัวแต่ไปสาละวนอยู่กับเรื่องนั้นเรื่องนี้ หรือว่าปล่อยใจให้อยู่กับความหลง ไม่เคยที่จะเปิดโอกาสให้สติทำงานอย่างจริงจัง การเดินจงกรม การสร้างจังหวะ หรือการทำสมาธิภาวนาด้วยรูปแบบใดก็ตาม มันคือการให้โอกาสแก่สติ เราไม่ต้องไปทำอะไรกับสติ เพียงแค่ให้โอกาสแก่เขา จริงอยู่ใหม่ๆกว่าจะรู้ทันความคิด มันต้องใช้เวลา เราก็ต้องอดทน รู้จักอดทนรอคอย อย่าใจร้อน ต้องวางใจในสติว่า ถ้าเขาได้มีโอกาสทำงานบ่อยๆบ่อยๆเขาจะทำงานได้เร็วขึ้น รวดเร็วปราดเปรียว
แต่บางคน ที่จริงส่วนใหญ่ที่เป็นนักปฏิบัติก็มักจะไม่ค่อยมีความไว้วางใจสติ แล้วก็ทนไม่ได้ที่ว่าสติทำงานช้าเหลือเกิน กว่าจะรู้ตัว หลงคิดไป จมเข้าไปบางที 10-20 นาทีหรือเข้าไปใน 7-8 เรื่องแล้ว ทนไม่ได้ว่าทำไมมันทำงานช้าอย่างนี้ ปล่อยให้ความคิดมันรกหัว ในหัวมีแต่ความคิด โดยที่สติไม่ทำอะไรเลย อย่ากระนั้นเลยคอยดักจ้องความคิดดีกว่า ถ้ามันโผล่เข้ามาเมื่อไหร่ จัดการมันเลย
หลายคนใช้วิธีนี้คอยดักจ้องความคิด ไม่ไว้ใจสติว่า ถ้าเปิดโอกาสให้เขาทำงาน เขาจะทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ใช้ทางลัดคอยดักจ้องดูความคิด หรือมิฉะนั้นก็บังคับให้มันจดจ่ออยู่กับอะไรบางสิ่งบาง อย่างเช่นเพ่งที่มือที่เท้า บังคับมัน มันจะได้ไม่คิด เพราะว่าถ้ามันคิดทีไรฟุ้งกระเจิงเลย จะหวังพึ่งสติให้ทำงานก็หวังไม่ได้ อันนี้เรียกว่าไม่ไว้ใจสติ แล้วก็กลายเป็นว่าไม่เปิดโอกาสให้สติทำงาน
เราต้องมีความไว้ใจ แล้วก็ปล่อยให้เขาทำงานของเขา เหมือนอย่างที่นักวิทยาศาสตร์ปล่อยหนูให้ไปหาเนย แล้วก็ดูมัน ด้วยความเชื่อว่าถ้ามันทำบ่อยๆมีชั่วโมงบินเยอะๆ มันก็จะทำงานได้ดีขึ้น ไวขึ้น ฉลาดขึ้น สติเราก็เหมือนกับหนู ต้องการโอกาส ต้องการชั่วโมงบิน ถ้าเราปล่อยสติทำงานโดยที่ไม่ใจร้อน
ใหม่ๆสติแม้จะงุ่มง่าม เชื่องช้าอย่างไร ปล่อยให้หลงเข้าไปในความคิดเป็นวรรคเป็นเวร ไม่เป็นไร ทำใหม่ กลับมาเริ่มต้นใหม่ระหว่างที่เดินจงกรมสร้างจังหวะนี้แหละ แล้วเดี๋ยวมันก็ทำงานได้ไวขึ้น จ๊ะเอ๋ความคิดหรือจ๊ะเอ๋อารมณ์ได้เร็วขึ้น เพราะว่าได้ฝึกได้ทำบ่อยๆ ก็เหมือนกับเด็กกว่าจะเดินเป็นต้องล้มลุกคลุกคลานครั้งแล้วครั้งเล่า
สติก็เหมือนกันใหม่ๆก็ทำงานช้า ผิดพลาด แต่นั่นเพราะว่าเขาไม่ค่อยได้ฝึก เนื่องจากเราไม่ได้ให้โอกาสเขา เราลองมองดูว่าการเจริญสติก็คือ การเปิดโอกาสให้สติทำงาน ไม่ต้องไปบังคับจิต ไม่ต้องไปทำอะไรกับความคิด มันจะคิดก็คิดไป แล้วให้สติทำงาน ให้สติไปตามหาความคิดเอาเอง แต่ว่าก็อย่างที่บอก คนเราชอบควบคุมบงการ เรามักจะไม่ค่อยปล่อยให้อะไรต่ออะไรทำงานของมันเอง
ถ้าหากว่าสติทำงานไม่ทันใจก็พยายามไปกดข่มความคิด พยายามไปดักจ้องความคิด หรือพยายามห้ามคิด ด้วยการให้จิตไปเพ่งอยู่กับอะไรสักอย่าง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีความเข้าใจว่า การมีความคิดมากๆเป็นสิ่งที่ไม่ดี มันทำให้จิตไม่สงบ มาปฏิบัติก็เพราะอยากให้จิตสงบไม่ใช่หรือ เพราะฉะนั้นถ้าจิตไม่สงบเพราะมีความคิดเยอะ ทนไม่ได้ ต้องจัดการกับมัน
ความคิดที่ว่า ความคิดถ้ามีเยอะๆไม่ดี อันนี้ก็เป็นความคิดที่ผิด เพราะว่าที่จริงแล้ว มันก็มีประโยชน์อยู่ หลวงพ่อพุธเล่าว่า เคยไปอุปัฏฐากหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลวงปู่เสาร์ท่านเป็นอาจารย์ของหลวงปู่มั่นเลยทีเดียว พระอาจารย์มหาบัวยกย่องหลวงปู่เสาร์ว่าเป็นพ่อพระกรรมฐานอีสาน หลวงปู่มั่นเป็นอาจารย์ของพระกรรมฐานมากมาย แต่ว่าคนไม่ค่อยรู้ว่าหลวงปู่มั่นมีอาจารย์คือหลวงปู่เสาร์
หลวงพ่อพุธเล่าว่า ขณะที่อุปัฏฐากหลวงปู่เสาร์ ท่านก็เปรยขึ้นมาว่า วันนี้จิตข้าไม่สงบเลย มีแต่ความคิด หลวงพ่อพุธแปลกใจว่า ขนาดหลวงปู่เสาร์นี่ จิตยังไม่สงบอีกเหรอ ก็เลยพูดขึ้นมาว่า จิตฟุ้งซ่านหรือไงครับอาจารย์ หลวงปู่เสาร์ไม่ตอบ แต่ท่านบอกว่า ถ้าให้จิตมันนิ่งสงบ มันไม่ก้าวหน้า
หลวงพ่อพุธฟังแล้ว ก็ไม่เข้าใจ อ้าว ในความเข้าใจของคนทั่วไป จิตสงบถึงจะก้าวหน้า ปฏิบัติแล้วไม่สงบ จะก้าวหน้าได้อย่างไร ที่จริงหลวงปู่เสาร์ท่านตั้งใจที่จะบอกว่า การที่มีความคิดผุดขึ้นมาในจิต มันก็เป็นเครื่องฝึกของสติ ถ้ามีความคิดอยู่เรื่อยๆ สติก็เติบโตเพราะว่ามันได้ทำงาน หรือยิ่งกว่านั้นก็คือว่า การที่มีความคิดเยอะๆมันก็ทำให้เกิดการเรียนรู้
เพราะว่าความคิดเหล่านี้มาเพื่อให้เราเรียนรู้ มาเพื่อแสดงสัจธรรมให้เห็นในเรื่อง อนิจจังทุกขังอนัตตา มันแสดงให้เห็นถึงว่า สภาวธรรมมันก็เป็นอย่างนี้แหละ มันมาเพื่อให้เห็นว่านี่แหละสภาวะธรรมที่เป็นของมันเอง มันมาเพื่อให้จิตได้เรียนรู้ เพราะถ้าไม่มีความคิดเลย หรือเพราะทำให้จิตมันนิ่งสงบ ก็ไม่ก้าวหน้า ไม่เกิดการเรียนรู้
คนหลายคนคงจะแปลกใจเหมือนกับหลวงพ่อพุธว่า ขนาดหลวงปู่เสาร์ จิตท่านยังมีความคิดเยอะเลย ทั้งที่เป็นอาจารย์ระดับปรมาจารย์ มีด้วยหรือ จิตไม่สงบ อันนี้เป็นธรรมดาของสังขารที่มันปรุงแต่งความคิด การที่มีความคิดมา ไม่ใช่ปัญหา อยู่ที่ว่าจะมีท่าทีอย่างไรต่อความคิดนั้น แค่เห็นว่ามันเป็นสภาวะที่ปรากฏให้เห็นว่า สิ่งต่างๆเป็นเช่นนั้นเอง
มองความคิดเหล่านั้น แล้วก็เออ มันเป็นของมันอย่างนั้นแหละ เรียกว่า เป็นเช่นนั้นเอง หรือว่าได้เห็นไตรลักษณ์ที่ได้แสดงออกมา อย่างนี้ก็ทำให้จิตก้าวหน้า เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจแบบนี้ว่า การมีความคิดเกิดขึ้นมาในจิตมากๆมันไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งที่เสียหาย
ตรงข้ามทำให้มันหยุดนิ่ง สงบ บางทีอาจจะทำให้กลายเป็นการหน่วงจิตไม่ให้มีความก้าวหน้าก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะมีความคิดผุดขึ้นมา ก็ไม่เป็นไร ดีเสียอีก ให้สติได้ทำงาน หน้าที่ของเราคือเปิดโอกาสให้สติได้ทำงาน โดยที่ไม่ไปทำอะไรกับสติเลย แค่ให้โอกาสแก่เขา อาจจะมีตัวช่วยบ้าง ตัวช่วยก็เช่นว่า ปฏิบัติในที่ๆไม่มีเสียงอึกทึกครึกโครมมาก ไม่มีภารกิจการงานมาก ไม่มีสิ่งล่อเร้าเย้ายวน หรือว่าสิ่งกระตุ้นมากมาย
อันนี้มันจะช่วยให้ความคิดไม่ออกมาเร็ว ไม่ออกมาแรง มันก็เป็นโอกาสให้สติได้รู้ทันไวขึ้น เร็วขึ้น หรือว่าการที่เรามีอิริยาบถ มีรูปแบบบางอย่าง เช่น สร้างจังหวะหรือเดินจงกรมก็เพื่อให้จิตมาฝึก ฝึกรู้กายก่อน การเดินเคลื่อนไหวไปมา หรือยกมือสร้างจังหวะ ในแง่หนึ่งก็เป็นการเช็คในตัวว่า เรามีความรู้สึกตัวไหมในขณะที่เดิน ในขณะที่ยกมือ
เพราะถ้าเรามีความรู้สึกตัว มันจะรับรู้ถึงการเคลื่อนของร่างกาย ไม่ว่าแขน ขา หรือลำตัว ถ้าไม่รู้สึกเมื่อไรว่ากายเคลื่อนไหว แสดงว่าลืมตัวแล้ว ถ้ารู้สึกเมื่อไรว่ากายเคลื่อนไหว แสดงว่าใจอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว มีความรู้สึกตัว แล้วก็มีสติอยู่กับตัว มันเป็นเครื่องเช็คได้ แล้วมันก็เป็นจุดพักพิงให้กับจิตด้วย เพราะว่าถ้าไม่มีกายเป็นจุดพักพิง มันก็จะเที่ยวเรื่อยเปื่อย มันก็จะระเหเร่ร่อน ฟุ้งหนักเข้าไปอีก ซึ่งก็ทำให้สติทำงานลำบาก
แต่ถ้าหากว่ามีจุดพักพิงให้จิตบ้าง มันก็จะแว่บไปเป็นครั้งเป็นคราว และพอแว่บไปเมื่อไหร่ สติก็ทำงาน ออกไปทำงานทันที อีกอย่างหนึ่งคือว่า ความรู้สึกตัวหรือความรู้สึกว่ากายเคลื่อนไหว เป็นเครื่องช่วยทำให้สติทำงานได้ดี เพราะว่าเวลาใจลอยถ้าเกิดว่ามันมีความรู้สึกว่า ตัวขยับเท้าเขยื้อน มันก็จะรู้สึกตัวได้เร็ว สติก็จะมาเห็นความคิดหรือว่ารู้ทันอารมณ์ได้ไว เหมือนกับว่าความรู้สึกตัว หรือความรู้สึกกายเคลื่อนไหว ไปสะกิดให้จิตกลับมามีสติ
ก็เหมือนกับเวลาเราใจลอย แล้วมีคนมาแตะไหล่มาแตะแขน ทันทีที่รู้สึกว่ามีคนมาแตะไหล่แตะแขน มันจะรู้สึกตัวขึ้นมาเลย ใจที่ไหลลอยไป มันจะเกิดมีสติเรียกกลับมา ให้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับเนื้อกับตัว อันนี้เรียกว่าเป็นตัวช่วยให้สติได้ทำงานได้ดี แต่หลักๆคือเราให้โอกาสเขา โดยที่ไม่ต้องวิตกกังวลว่ามันทำงานเชื่องช้าเหลือเกิน รู้ทันได้ช้าเหลือเกิน อย่ากระนั้นเลย สติไม่ต้องทำอะไรแล้ว ฉันจะทำเองแล้ว ฉันจะดักจ้องความคิด ฉันจะบังคับจิตไม่ให้คิด
ต้องไว้ใจสติ ไว้ใจว่าให้โอกาสเขา ทำงานอย่างอิสระ เขาก็จะพัฒนาได้ไวขึ้นได้เร็วขึ้น เราเป็นเพียงแค่ผู้สนับสนุนส่งเสริมให้สติทำงาน เราทำมากกว่านี้ไม่ได้ เพราะว่าสติไม่ได้อยู่ในอำนาจของเราเสียทีเดียวเวลาเราระลึกได้ว่า กำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งเป็นงานของสติ
ถ้าเราสังเกตว่ามันระลึกได้เอง อย่างเช่น กำลังทำอะไรอยู่เพลินๆก็นึกขึ้นมาได้ว่าอีก 15 นาที ได้เวลาสวดปาฏิโมกข์แล้ว ลืมไปเลยว่าวันนี้มีสวดปาฏิโมกข์ แต่จู่ๆ มันนึกขึ้นมาได้เอง ถามว่ามันนึกขึ้นมาเองได้ยังไง ไม่รู้ แต่สติทำงานเอง นี่เป็นงานของสัมมาสติเลย คือระลึกได้เอง กำลังสวดมนต์ ทำวัตรอยู่ แล้วใจลอย แล้วก็นึกขึ้นมาได้ว่านี่เรากำลังสวดมนต์ ใจที่นึกถึงบ้าน นึกถึงงานการต่างๆ กลับมาเลย
ถามว่ามันระลึกได้อย่างไร ไม่รู้ แต่มันนึกขึ้นมาได้เอง การระลึกนึกได้ว่า กำลังทำอะไรอยู่ในปัจจุบัน มันเกิดขึ้นเอง ก็เหมือนกับสติที่จะมาเห็นความคิด มันก็เห็นเอง เราไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชามันได้ ไม่สามารถอาศัยเจตนาได้
มันไม่เหมือนกับการระลึกเรื่องราวในอดีต เราสามารถใช้เจตนาได้ ความตั้งใจเจตนานึก เช่น ถามว่าอาจารย์สมใจเมื่อเช้าพูดเรื่องอะไร หรือว่าเมื่อเช้าเรากินอะไร ถ้าเราตั้งใจนึกสักหน่อย มันก็จะนึกออกมาได้ อันนี้เป็นเรื่องของการระลึกได้ และนึกได้ในเรื่องที่เป็นอดีตอาศัยเจตนาได้ ความรู้ที่เราเรียนมาบางทีก็ลืมไป แต่พอตั้งใจนึกเสียหน่อย มันก็ออกมาได้
แต่ว่าความระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ในปัจจุบัน มันออกมาเอง มันนึกขึ้นมาได้เอง มันไม่ได้อยู่ที่เจตนารวมทั้งการรู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ มันรู้ทันของมันเอง มันไม่ใช่ว่าอาศัยเจตนา หรือความอยาก มันเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมบังคับของเรา แต่ว่าเราก็สามารถที่จะพัฒนาได้ สนับสนุนได้ ด้วยการเปิดโอกาสให้สติทำงาน
ระหว่างที่ภาวนา ระหว่างที่เดินจงกรม ใจมันลอย โดยที่เราไม่ไปบังคับจิตไม่ให้คิดอะไร ให้อิสระกับจิตที่มันจะคิดหรือไม่คิดก็ได้ แต่ถ้ามันคิดเมื่อไหร่ สติออกมาทำงานทันที แน่นอนใหม่ๆก็ช้ากว่าจะรู้ทันความคิด แต่ว่าถ้าให้โอกาสเขาบ่อยๆ เขาก็จะทำงานได้ไวขึ้นๆ ก็เหมือนกับเราให้โอกาสนักกีฬาหน้าใหม่ลงสนามบ่อยๆ พอเขาลงสนามบ่อยๆ เขาก็จะมีทักษะมากขึ้น
สติก็เหมือนกัน แม้กระทั่งหนูสามารถที่จะเรียนรู้ของมันเองได้ในการหาอาหารที่ถูกซ่อนไว้ ให้เวลามันให้มันได้ทำบ่อยๆทำบ่อยๆมันก็จะทำได้ไวได้เร็ว คือเราต้องไว้ใจสติ พอเราไว้ใจสติเราก็จะไม่ไปบังคับจิต ไม่ไปดักจ้อง ไม่ไปเพ่ง ไม่ไปห้ามคิด ให้อิสระกับจิตที่มันจะไหลลอยไปคิดนั่นคิดนี่ หรือไหลลอยไปตามความคิด และเมื่อมีความคิดเกิดขึ้น สติก็จะได้ทำงาน อย่าไปรู้สึกแย่ที่มีความคิดเยอะ
บางคนภาวนาไปไม่นาน ประสบการณ์ก็ไม่มาก พอภาวนาไปมีความคิดเยอะก็บ่นว่า ทำไมฉันมีความคิดเยอะแบบนี้ทั้งๆที่ปฏิบัติไม่กี่วันไม่กี่อาทิตย์ อย่าไปคาดหวังว่าจิตต้องสงบ ลืมไปว่าจิตก็เป็นอนัตตา มันไม่ได้อยู่ในอำนาจการควบคุมของเรา มันจะมีความคิดเกิดขึ้นก็เป็นธรรมดา อันที่จริงมันก็ไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย มันก็เป็นของดีถ้าใช้มันให้เป็น หรือมีท่าทีที่ถูกต้องกับมัน อย่างที่หลวงปู่เสาร์ว่าถ้าจิตนิ่งสงบ มันก็ไม่ก้าวหน้า ลองพิจารณาดู
- พระไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 10 สิงหาคม 2564