แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีคำแนะนำข้อหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะผู้ที่สนใจการภาวนา จะได้ยินอยู่บ่อยๆ นั่นก็คือ อย่าส่งจิตออกนอก คำแนะนำนี้หมายความว่าอย่างไร นอกนั้น นอกอะไร
อย่าส่งจิตออกนอกความหมายหนึ่งก็คือว่า อย่าส่งจิตออกนอกตัว อันนี้ไม่ได้หมายความว่าอย่าไปรับรู้สิ่งนอกตัว ไม่ใช่ เพราะว่าเราจะต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งภายนอกอยู่ตลอดเวลา ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ตาก็ต้องมองเห็นรูป ใช้หูได้ยินเสียง จะเดินก็ต้องมองทาง จะกินก็ต้องเห็นอาหาร
แต่ว่าที่ท่านว่าอย่าส่งจิตออกนอก คือว่าอย่าปล่อยใจให้ลอยไหลไปกับสิ่งนอกตัวจนลืมตัว ลืมกาย ลืมใจ รับรู้สิ่งภายนอกได้ ผู้คน สิ่งของ สถานที่ อาหาร แต่ว่าอย่าลืมตัว ลืมกาย ลืมใจ ลืมไปว่ากำลังทำอะไรอยู่ หรือว่าไม่รับรู้ถึงอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ ขณะที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จะเป็นความยินดี เป็นความยินร้าย ความไม่พอใจ ความโกรธ ความหงุดหงิดอะไรก็แล้วแต่
พอส่งจิตออกนอกตัวแล้ว ถ้าลืมตัว ลืมกาย ลืมใจ ก็อาจจะเกิดความผิดพลาดขึ้น อย่างเช่น กำลังเดินลงบันได ได้ยินเสียงหมาเห่า จิตก็พุ่งไปที่เสียงหมาเห่า อาจจะเกิดความไม่พอใจ หรือว่ามีเสียงคนคุยกัน ได้ยิน จิตก็ส่งไปที่ตรงนั้นว่า เขาคุยอะไรกัน ทำไมคุยเสียงดัง ตอนนั้นถ้าเกิดว่าส่งจิตออกไปแล้วลืมตัว ก็ไม่มีสติกับการเดินลงบันได ก็อาจจะตกบันไดได้ อันนี้มันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในยามที่ส่งจิตออกนอก
นอกจากนอกตัวแล้ว ยังรวมไปถึงปัจจุบันด้วย ส่งจิตออกนอกปัจจุบันก็คือ ปล่อยใจให้ไหลไปอดีตไปกับอนาคต ซึ่งที่จริงก็คือการปล่อยใจให้ไหลเข้าไปในความคิด เพราะอดีตก็คือความคิดที่เกี่ยวกับอดีต แม้มันจะเป็นความทรงจำ แต่เป็นความทรงจำที่มีการปรุงแต่งด้วยความคิด สิ่งที่จิตไหลไปยังเรื่องราวในอดีต มันอาจจะไม่ใช่เป็นอดีตล้วนๆแต่เป็นความคิดที่เกี่ยวกับอดีต
อนาคตก็เหมือนกัน มันไม่ใช่อนาคตจริงๆ แต่มันเป็นเพราะการปรุงแต่งเกี่ยวกับอนาคต เพราะฉะนั้นจะว่าไป การส่งจิตออกนอกปัจจุบันคือการไหลไปสู่อดีตลอยไปอนาคต มันก็คือ การไหลเข้าไปในความคิด ไหลเข้าไปจมอยู่กับความคิดเกี่ยวกับอดีตก็ตาม เกี่ยวกับอนาคตก็ตาม ก็ลืมตัว ลืมกาย ลืมใจ ลืมปัจจุบันลืมว่ากำลังทำอะไรอยู่ กำลังฟังธรรม กำลังกินอาหาร กำลังสวดมนต์ กำลังขับรถก็ได้
แล้วพอลืมปัจจุบันก็อาจจะทำอะไรโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว หรือผิดพลาดขึ้นมาได้ ยังไม่ต้องพูดถึงว่ามันมีความทุกข์เกิดขึ้นจากอารมณ์ ที่เกิดจากการที่ใจไหลลอยไปในอดีตหรือลอยไปอนาคต นึกถึงเรื่องราวในอดีตก็เกิดความโศกความเศร้า เกิดความรู้สึกผิด เกิดความคับแค้น
นึกถึงอนาคตก็เกิดความวิตกกังวล สวดมนต์แทนที่จิตใจจะผ่องใสเป็นกุศล กลับเกิดความหนักอกหนักใจ เกิดความเครียด เกิดความกังวล เกิดความคับแค้นขึ้นมา กินข้าวแทนที่จะกินอย่างมีความรู้สึกตัว ก็กลับเต็มไปด้วยความเครียด ปากก็เคี้ยวอาหาร แต่ว่าใจเสพอารมณ์ที่เป็นอกุศลมากมาย
คราวนี้ถ้าจะพูดรวมๆหรือสรุป ที่ท่านว่า อย่าส่งจิตออกนอก ถ้าจะหมายถึงการไม่ส่งจิตออกนอกจากสติและความรู้สึกตัว ก็สามารถจะพูดได้อย่างนั้น ออกนอกตัวก็ดี ออกนอกปัจจุบันก็ดี ถ้ามันทำให้ลืมเนื้อลืมตัวก็เรียกว่าไม่ถูกแล้ว
เพราะฉะนั้น ถ้าพูดรวมๆความหมายของการส่งจิตออกนอก คือการส่งจิตออกจากการมีสติ ออกจากความรู้สึกตัว ซึ่งมันไม่เพียงแต่เป็นอุปสรรคต่อการภาวนา ซึ่งเป็นงานของจิตที่ละเอียด แม้กระทั่งการดำเนินในชีวิตประจำวัน ขืนทำอย่างนั้นก็จะเกิดปัญหาได้ อาจจะเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันขึ้น เพราะว่าไม่รู้ทันอารมณ์ที่มันเกิดขึ้นในจิตใจ เพราะว่าจิตพุ่งออกไปข้างนอก จนลืมตัว
ไม่ว่าเราจะทำอะไร จะเกี่ยวข้องกับอะไร ใช้ตามองเห็น ใช้หูได้ยินเสียง ก็อย่าลืมการรู้ตัว รู้กาย รู้ใจ ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่ทำได้ ถ้าไม่ทำ มันก็จะเกิดปัญหาขึ้นมา เพราะว่าคนเราพอลืมตัวแล้ว มันก็ลืมอะไรต่ออะไรมากมาย อาจจะลืมความถูกต้อง ความผิดชอบชั่วดีก็ได้
ที่คนเราทำร้ายคนที่เรารักก็เพราะความลืมตัว และที่ลืมตัวก็เพราะว่าส่งจิตออกนอกนั่นแหละ ไปหมกมุ่นอยู่กับเรื่องราวบางสิ่ง อาจจะเป็นเรื่องการโต้เถียง อาจจะเป็นความเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ที่อยู่นอกตัว แล้วพอไปสนใจกับสิ่งภายนอกโดยเฉพาะเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นมา มันก็ลืมตัวได้ง่าย
อย่างเรื่องเล่า อันนี้เป็นเกร็ดตอนหนึ่งในชีวิตท่านเว่ยหล่าง ท่านเป็นสังฆปรินายกองค์ที่ 6 ของลัทธิฉานก็คือเซ็นในญี่ปุ่น ท่านเป็นคนเมื่อ 1300 ปีที่แล้ว มีเรื่องเล่าว่า ตอนที่ท่านยังไม่ได้บวช ท่านได้ไปวัดๆหนึ่งในเมืองกวางตุ้งชื่อวัดกวงเซี่ยว อาตมาก็ได้มีโอกาสไปวัดนี้เมื่อหลายปีก่อน ขนาดวัดเก่าแก่ตั้งมาเมื่อ 1300 ปี ก็ยังคงอยู่ในสภาพดี มีการอนุรักษ์ มีการอนุรักษ์ มีการต่อเติมอะไรต่างๆมากมาย
มีเรื่องเล่าว่า ตอนที่ท่านไปที่วัดนี้ กำลังมีการบรรยายธรรมโดยอาจารย์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง คนก็เข้าไปฟังธรรมะจนล้นศาลา ส่วนหนึ่งก็ล้นออกมาถึงข้างนอกเลย ท่านเว่ยหล่างก็อยู่ข้างนอกเหมือนกัน สนใจฟังธรรม ก็มีคน 2 คน ซึ่งขณะที่กำลังฟังธรรมอยู่ สังเกตเห็นธง ธงปลิวไสว ธงก็คงมีหลายธง คนหนึ่งก็บอกว่าธงไหวนะ อีกคนหนึ่งบอกว่าไม่ใช่ ลมมันไหวต่างหาก
ความเห็นไม่ตรงกันแล้ว ก็เลยเถียงกัน ตาก็จ้องจับไปที่ธง ขณะเดียวกันก็เถียงกันว่า ธงไหวหรือลมไหว ทีแรกก็เถียงกัน 2 คน ตอนหลังก็มีหลายคนมาร่วมเถียงด้วย กลุ่มที่เถียงกันก็ใหญ่ขึ้นๆ ไม่สนใจแล้วกับการแสดงธรรมของอาจารย์ในศาลาทั้งๆที่อุตส่าห์มาเพื่อฟังธรรม แต่ตอนนี้สนใจแต่ธงว่า ตกลงมันไหวหรือลมมันไหวกันแน่ ยิ่งเถียงกัน อารมณ์ก็ยิ่งร้อนแรง
จู่ๆก็มีเสียงดังของคนๆหนึ่งดังขึ้นมา คือเสียงของท่านเว่ยหล่าง บอกว่าใจไหวต่างหาก ใจไหวก็หมายถึงใจของพวกท่านนั่นแหละ ปรากฏว่าคนที่เถียงกันว่าลมไหวหรือธงไหว ได้สติเลย เพราะว่าตอนนั้นไปจดจ่ออยู่กับธงและการโต้เถียงกัน จนลืมใจของตัวว่ากำลังโกรธ กำลังโมโห กำลังส่งเสียงดัง กำลังมีโทสะ อันนี้ก็เป็นเกร็ดที่ชี้ให้เห็นว่า อย่าไปมัวถกเถียงหรือไปจดจ่ออยู่กับธงหรือลม จนลืมดูใจของตัวเอง
คนที่เถียง เรียกว่า ส่งจิตออกนอก พอส่งจิตออกนอกก็ลืมตัว ลืมว่ามันมีความโกรธ มีโทสะอยู่ข้างใน แล้วพอลืมตัวแบบนั้น ก็ทำท่าจะทะเลาะวิวาทกัน ถ้าท่านเว่ยหล่างไม่พูด ทักท้วง ก็อาจจะถึงขั้นวิวาทกันหรือวางมวยกันเลยก็ได้ เพราะอะไร เพราะลืมตัว แล้วที่ลืมตัวเพราะอะไร เพราะว่าส่งจิตออกนอก
ส่งจิตออกนอกไม่ใช่หมายความว่าไม่ไปรับรู้สิ่งภายนอก เรารับรู้ได้ ภาพที่ปรากฏแก่สายตา เสียงที่ได้ยิน แต่ว่าก็อย่าไปจดจ่อกับมันจนลืมตัว ในขณะที่ตาเห็นรูป หรือหูได้ยินเสียง ก็ควรจะมีสติเห็นความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้น แต่ธรรมดาของคนเราพอเห็นรูปด้วยตา หรือได้ยินเสียงด้วยหู ถ้ามันเป็นรูปหรือเสียงที่น่าพอใจ มันก็อดจดจ่อไม่ได้ ถ้าเป็นรูปหรือเสียงที่ไม่น่าพอใจ ไม่ถูกใจ มันก็พุ่งไปที่เสียงหรือรูปนั้นเหมือนกัน
ตรงนั้นแหละเป็นโอกาสที่อารมณ์ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบวกฝ่ายลบ สามารถเข้ามาครอบงำจิตใจจนลืมเนื้อลืมตัวได้ ลืมตัวเพราะดีใจก็มี ลืมตัวเพราะเสียใจก็มี ลืมตัวเพราะชอบใจก็มี ลืมตัวเพราะไม่ชอบใจก็มี อย่างที่ว่า พอลืมตัวแล้วมันก็อาจจะเกิดปัญหาตามมาก็ได้
คนที่ดีใจเพราะถูกลอตเตอรี่ ขณะที่ขับรถใจลอยวาดอนาคตว่าสวยสดงดงาม ว่าจะเอาเงินนับล้านไปซื้ออะไรบ้าง เพราะอาจจะเกิดอุบัติเหตุกลางทางก็ได้ เพราะไม่มีสติขณะขับรถใจลอยไม่เห็นรถที่อยู่ข้างหน้า
ในเมื่อเรามีความจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งภายนอกในชีวิตประจำวัน เราต้องใช้ตาในการมอง รับรู้สิ่งภายนอกใช้หู แต่ว่าก็อย่าลืมกายและใจของเรา การที่คนเราจะรักษาใจไม่ให้มันส่งออกไปข้างนอกตะพึดตะพือได้ มันต้องอาศัยการฝึก ฝึกให้สติรู้กายรู้ใจ อย่างที่เรามาฝึกกันที่นี่ ฝึกให้มีสติรู้กายเคลื่อนไหว รู้ใจคิดนึก ถ้าเราทำสม่ำเสมอ สติเราจะไว แล้วเราจะมีความรู้สึกตัวอย่างต่อเนื่อง
ในยามที่เกิดหลง เพราะว่าใจส่งออกไปข้างนอก ไปหลงอยู่กับเสียงที่ได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นเสียงนกร้องเสียงหมาเห่าหรือว่าไปหลงอยู่กับการถกเถียงขัดแย้งกันในทางความคิด ตอนนั้นมันลืมตัว แต่ถ้าหากว่าเราได้สัมผัสได้รู้จักกับความรู้สึกตัวอยู่เรื่อยๆ สติมันจะบอกเลยว่านี่หลงแล้ว มันจะช่วยทำให้กลับมารู้สึกตัวได้ อีกอย่างหนึ่งพอเราได้สัมผัสกับความรู้สึกตัวบ่อยๆ เราจะเห็นความแตกต่างระหว่างความหลงกับความรู้สึกตัว
แต่ก่อนเวลาหลง เราไม่รู้ตัว เพราะว่ามันไม่รู้จักความรู้สึกตัว มันไม่เกิดการเปรียบเทียบกัน ระหว่างความหลงกับความรู้สึกตัว เพราะว่าไม่เคยเจอความรู้สึกตัวมาก่อน หรือว่าไม่ได้สัมผัสกับมันอย่างต่อเนื่อง แต่พอเรามาเจริญสติ แล้วก็ได้สัมผัสกับความรู้สึกอยู่ต่อเนื่อง มันจำได้ความรู้สึกตัวมีอาการเป็นอย่างไร แล้วพอความรู้สึกตัวหายไปเพราะจมอยู่ในความหลง มันจะเกิดการระลึกได้ขึ้นมา ว่านี่กำลังหลงแล้ว ความรู้สึกตัวจะมาเลย
มันก็คงคล้ายๆกับคนที่กินแต่ของเปรี้ยว ไม่รู้จักของหวาน พอได้สัมผัสกับรสชาติความหวาน ก็จะรู้ว่าอันนี้มันเปรี้ยว แต่ก่อนไม่รู้เพราะว่าไม่เคยรู้จักความหวานเลย แต่หลังจากที่ได้สัมผัสความหวาน มันเกิดการเปรียบเทียบ กินของเปรี้ยว มันก็รู้แล้วว่านี่ไม่หวาน
คนเราเวลาหลงเพราะส่งจิตออกนอก สำหรับคนที่ไม่เคยสัมผัสกับความรู้สึกตัวอย่างต่อเนื่อง มันก็ไม่ได้รู้สึกเอะใจอะไร มันก็หลงไปเรื่อยๆ แต่คนที่ได้รู้จักกับความรู้สึกตัว ได้สัมผัสกับมันบ่อยๆ พอหลงไป สักพักก็จะระลึกขึ้นมาได้ ตัวที่ระลึกขึ้นมาได้ก็คือสติ
สติทำหน้าที่ระลึกได้ ไม่ใช่ระลึกได้แต่เรื่องที่เป็นอดีตอย่างเดียว เรื่องที่เป็นปัจจุบันก็ได้ พอหลงไปก็เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา หรือเกิดความระลึกได้ในความรู้สึกตัว ก็จะกลับมารู้สึกตัว มันก็ถอนจิตออกมาจากสิ่งที่หมกมุ่นไม่ว่าจะเป็นรูปรสกลิ่นเสียง
และขณะเดียวกัน สติที่ทำงานได้ไว มันไม่เพียงแต่ดึงให้ความรู้สึกตัว ดึงกลับมารู้สึกตัวได้อย่างรวดเร็วเท่านั้น ทำให้รู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น ในขณะที่จิตส่งออกนอกด้วย แล้วพอจิตส่งออกนอกมันการกระทบเกิดผัสสะขึ้นมา จะเป็นความดีใจ หรือเสียใจ จะเป็นความพอใจหรือความโกรธ ความเกลียดก็แล้วแต่ ถ้าส่งจิตออกนอกจนลืมตัว มันก็เปิดช่องให้อารมณ์เหล่านี้เข้ามาครอบงำได้
แต่พอมีสติรู้ทัน มันก็ไม่ปล่อยให้อารมณ์เหล่านี้เข้ามาย่ำยีบีฑาจิตใจ การที่จะปล่อยใจให้ไหลลอยไปตามเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น จนกระทั่งเกิดการต่อว่าด่าทอ เกิดการทะเลาะกันก็ไม่มี หรือเกิดขึ้นได้ยากเพราะว่ามีสติรู้ทัน พอรู้ทันว่าใจกำลังโกรธ ใจกำลังไหว ที่ทะเลาะกันเรื่องธงไหวหรือลมไหว มันก็จะหยุดเลย
เพราะฉะนั้น ปัจจัยที่จะทำให้ไม่ส่งจิตออกนอก ไม่เผลอไปกับสิ่งนอกตัวก็คือ การที่เรามีสติ มีความรู้สึกตัวอย่างต่อเนื่อง ปฏิบัติบ่อยๆ ถ้ามีสติมีความรู้สึกตัวได้ดี เวลาที่จะไปรับรู้สิ่งใดที่เป็นเรื่องภายนอก มันก็จะไม่ไหลลอยไปกับสิ่งเหล่านั้น แม้ว่ามันจะมีอำนาจในทางยั่วยุเย้ายวนก็ตาม จิตก็จะไม่ไหลลอยไป ในลักษณะนั้น แต่มันยังมีการใคร่ครวญ รับรู้ด้วยใจที่เป็นปกติ แม้ว่ามีความชอบความชังเกิดขึ้น ก็รู้
หรือดีกว่านั้น รับรู้ด้วยใจที่ใคร่ครวญ อย่างเช่น ได้ยินเสียงเพลง แทนที่ใจจะไหลคล้อยเคลิ้มไปกับเสียงเพลง ก็กลับมาพิจารณา อย่างพระติสสะที่ได้ยินเสียงเพลงของนางทาสีคนหนึ่ง ที่กำลังร้องเพลงอยู่ ท่านเดินผ่านบ้านเศรษฐีนี ท่านได้ยินเสียงเพลงของนางทาสีร้องเพลงเกี่ยวกับความรักที่ผันแปร ความไม่เที่ยงของความสัมพันธ์
ท่านได้ยินแทนที่จะปล่อยใจลอยไปกับเสียงเพลง แต่ท่านมาพิจารณาเสียงเพลงนั้น เห็นอนิจจังของสังขาร จากเสียงเพลง จิตก็หลุดพ้นเลย ท่านได้ยินเสียงเพลง แต่ท่านไม่ได้ส่งจิตออกนอก แต่ว่าใคร่ครวญพิจารณา แทนที่จะเกิดราคะหรือเกิดกิเลสครอบงำ กลับเกิดปัญญา เห็นอะไรถ้าหากว่ามีสติมีความรู้สึกตัว มันจะไม่หลง อาจจะเกิดปัญญาได้ด้วยซ้ำ
มีพระเถรีท่านหนึ่ง พระทันติกาเถรี วันหนึ่งลงมาจากเขาคิชฌกูฏ ก็เห็นช้าง มีควาญช้างสอนช้างตัวนี้ ให้ก้มลงแล้วเหยียดขา ควาญช้างก็ขึ้นไปบนตัวช้าง แล้วสั่งให้ช้างลุกขึ้น ช้างก็ทำตามคำสั่งอย่างว่าง่าย แทนที่ท่านจะเห็นแล้วเพลิน อย่างคนทั่วไปดูแล้วเพลิน ส่งจิตออกนอก หรือเกิดความทึ่งในช้างตัวนั้น แต่ท่านพิจารณาว่าช้างเป็นเดรัจฉานยังฝึกทำตามคำสั่งของมนุษย์ได้ แล้วจิตเราจะฝึกไม่ได้หรือ ท่านเห็นแล้วก็เกิดโยนิโสมนสิการ ไปทำความเพียรฝึกจิตจนกระทั่งได้บรรลุธรรม
ทั้งสองท่าน ก็รับรู้สิ่งภายนอก แต่ว่าไม่ใช่เป็นการรับรู้แบบส่งจิตออกนอก แต่ว่ามีสติ แล้วก็ใช้ปัญญาใคร่ครวญ ก็ทำให้เกิดความเห็นแจ้งขึ้นมา หรือว่าเกิดข้อคิด เกิดกุศลธรรมที่ทำให้เร่งทำความเพียร
เราต้องเข้าใจว่าส่งจิตออกนอกไม่ใช่หมายความว่าไม่ไปรับรู้อะไรเลย รับรู้ได้ แต่ไม่ใช่ปล่อยให้ใจลอย หรือหลง แต่รับรู้อย่างมีสติ มีอารมณ์ใดเกิดขึ้นจากการรับรู้หรือสัมผัสนั้นก็รู้ จะเป็นความยินดียินร้ายก็รู้ จะเป็นความชอบความชังก็รู้ ไม่ปล่อยให้มันมาครอบงำบงการจิต หรือดียิ่งกว่านั้นรู้จักใคร่ครวญจนเกิดปัญญา จนเกิดกุศลธรรมที่ส่งเสริมความเพียร
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 11 สิงหาคม 2564