แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ชีวิตของชาวพุทธเป็นชีวิตที่มีจุดมุ่งหมาย จุดมุ่งหมายนี่ไม่ใช่เพียงแค่ว่า มีสุขภาพดี มีกินมีใช้ มีครอบครัวที่อบอุ่น มีการงานที่มั่นคง หรือมีความสำเร็จความก้าวหน้าในอาชีพการงาน
จุดมุ่งหมายของชาวพุทธสูงไปกว่านั้นนั่นก็คือ ความพ้นทุกข์หรือว่าการได้เข้าถึงพระนิพพาน จุดหมายที่ว่านี้มันเป็นสิ่งที่สูงส่งมาก จะเรียกว่าอุดมคติก็ได้ อุดมคติของชาวพุทธก็คือความพ้นทุกข์ คือนิพพาน ชาวบ้านสมัยก่อนหรือแม้กระทั่งคนทุกวันนี้เวลาทำบุญถวายสังฆทานใส่บาตรก็จะอธิษฐานว่า นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ขอให้เป็นปัจจัยไปสู่พระนิพพาน
เวลาเราพูดถึงอุดมคติ เราก็นึกถึงสิ่งที่สูงส่งห่างไกลจากความเป็นจริง แต่ว่านั่นก็ถือว่าเป็นจุดหมายของชาวพุทธถ้าหากว่าเป็นชาวพุทธที่ตั้งใจ หรือจริงจังกับคำสอนของพระพุทธเจ้า และในการที่จะบรรลุถึงอุดมคติที่ว่า สิ่งสำคัญมันไม่ใช่แค่ทำความดีเท่านั้น แต่มันคือการเห็นความเป็นจริง
การเห็นความเป็นจริงคือ เห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง ยอมรับความเป็นจริงที่ปรากฏ รวมทั้งเห็นถึงสิ่งที่เป็นความจริงขั้นสูงสุดที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือว่าสิ่งที่เรียกว่าปรมัตถสัจจะ
ดูเผินๆเหมือนกับขัดแย้งกัน เพื่อที่จะบรรลุถึงอุดมคติซึ่งดูเหมือนจะห่างไกลจากความเป็นจริง วิธีการสำคัญก็คือ อยู่กับความเป็นจริง เห็นความเป็นจริง เพราะว่าอุดมคติเป็นเรื่องของสิ่งที่สูงส่งเหนือเกินจากความเป็นจริง หรือว่าสิ่งที่ควรจะเข้าถึง แต่ว่าจะเข้าถึงภาวะเช่นนั้นได้ มันต้องอยู่กับความเป็นจริง ไม่ใช่อยู่กับสิ่งที่ควรจะเป็น หรืออยากให้เป็น
ถ้าหากว่าไม่เห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงได้ หรือไม่สามารถที่จะเห็นว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง การที่จะเข้าถึงอุดมคติของพระพุทธศาสนาก็เป็นไปไม่ได้ จะเข้าถึงสิ่งที่ควรจะเป็น แต่ว่ายังติดอยู่กับสิ่งที่ควรจะเป็น มันก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงสิ่งนั้นได้
การเจริญภาวนาโดยเฉพาะวิปัสสนากรรมฐาน มันก็คือการที่ฝึกใจให้เห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นอะไรก็ตาม ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่าคนเราเวลามองอะไร เราก็อดไม่ได้ที่จะมองสิ่งต่างๆตามที่อยากจะเห็น หรือตามที่ควรจะเป็น
เวลามีความโกรธเกิดขึ้น เวลามีความอิจฉาเกิดขึ้นในใจ เราไม่สามารถที่จะเห็นสิ่งเหล่านั้นตามที่เป็นจริงได้ เพราะว่ามันมีความรู้สึกว่า สิ่งเหล่านี้มันไม่ควรจะเกิดขึ้น ไม่ควรจะมีอยู่ มันมีอาการที่ผลักไส เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ควรมี ถ้าเรามองสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง เราก็จะเห็นว่า ความโกรธก็ดี ความเกลียดก็ดี มันก็เป็นสภาวะหนึ่งซึ่งก็ไม่ต่างจากความเมตตากรุณา ความเบิกบาน ความแจ่มใส
ถ้าเรามองเห็นสิ่งต่างๆว่า เป็นแค่สภาวะ เปิดรับทุกสิ่งทุกอย่างที่มันเข้ามาสู่จิตใจของเรา อันนั้นคือจุดเริ่มต้นของการที่เราเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง แต่เรามักจะลืมไปว่า เวลามีความคิด อารมณ์ใดๆเกิดขึ้นในใจ เราไม่ได้เห็นมันอย่างที่มันเป็น ไม่ได้เห็นมันว่ามันเป็นตัวสภาวะ เพราะว่ามันมีการปรุงแต่ง มีการตค่าหรือให้ค่าหรือติดฉลากให้มัน ความคิดอย่างนั้นดี ความคิดอย่างนี้ไม่ดี อารมณ์แบบนั้นดี อารมณ์แบบนี้ไม่ดี
แล้วเราก็ปฏิบัติกับสิ่งเหล่านี้อย่างไม่เท่าเทียมกัน มันเกิดสิ่งที่เรียกว่าอคติ เพราะฉะนั้น ถ้าเรายังมีการให้ค่า หรือมีการติดฉลากแบบนี้ การที่จะเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงก็จะเกิดขึ้นได้ยาก ยังไม่ต้องพูดถึงว่าสิ่งภายนอก ต้นไม้ ภูเขา บ้านเรือน ผู้คน รถยนต์ ก็ดูเหมือนว่าสิ่งต่างๆมันเป็นอย่างนั้น
แต่จริงๆแล้ว ถ้าตราบใดที่เรายังมองว่าอันนี้คือบ้าน อันนี้คือรถยนต์ อันนี้คือถนน อันนี้คือภูเขา อันนี้คือคน อันนี้คือสัตว์ มันก็ยังไม่เรียกว่าเห็นสิ่งเหล่านั้นตามความเป็นจริง เพราะว่ามันยังเป็นการเห็นที่ยังติดอยู่กับสมมติอยู่ มีการสมมติว่าอันนี้คือบ้าน นี้คือรถ นี้คือต้นไม้ ยากที่คนจะมองทะลุพ้นสมมุติ จนกระทั่งเห็นความจริงถึงขั้นปรมัตถ์ซึ่งเป็นความจริงแท้
มองต้นไม้ก็ยังเห็นเป็นต้นไม้อยู่ มองรถก็ยังเห็นเป็นรถอยู่ แล้วพอเห็นอย่างนี้ก็อดไม่ได้ที่จะไปยึดว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นตัวเป็นตน มีตัวตนที่เป็นต้นไม้ มีตัวตนที่เป็นรถ มีตัวตนที่เป็นบ้าน ทั้งๆที่มันว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน แต่เป็นเพราะเราติดสมมุติ หรือติดป้ายให้กับสิ่งเหล่านี้ จึงมองไม่เห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง
มันมีสำนวนหนึ่งที่เขาพูดว่า มองเสื้อไม่เห็นผ้า มองตุ๊กตาไม่เห็นยาง ความเป็นสิ่งที่สมมุติว่าเป็นเสื้อมันบังจิตใจเราไม่เห็นผ้าที่ทำเสื้อ สมมุติว่าตุ๊กตา มันห็บังใจเราแท้จริงก็คือยาง แล้วพอเราติดสมมุติอย่างนี้ เสื้อกับกางเกงก็ต่างกันแล้ว ทั้งๆที่มันก็มาจากผ้าเหมือนกัน
ถ้ามองสิ่งต่างๆให้เห็นตามความเป็นจริง มันก็จะทะลุสมมุติ จนกระทั่งไปเห็นว่า มันไม่มีต้นไม้ มันไม่ใช่ต้นไม้ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ หรือที่เขาเรียกว่า ไม่ใช่สัตว์ ตัวตน บุคคล เราเขา มันเป็นสักว่าธาตุ เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่เห็นระดับนี้ ก็ยังเรียกว่าไม่เห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง ซึ่งก็ดูเหมือนว่ายาก
แต่ว่าถ้าเราเริ่มต้นจากการที่เรามองเห็นความคิดและอารมณ์ต่างๆที่ผ่านเข้ามาในจิตใจ ที่เรียกว่าธรรมารมณ์ ว่ามันเป็นสักแต่ว่าเป็นแค่ความคิดและอารมณ์ หรือสักแต่ว่าเป็นแค่สภาวะ ไม่มีดีไม่มีชั่ว ไม่เอาฉลากไปผูกติดกับมันว่า อย่างนี้ดีอย่างนี้ชั่ว อันนี้ควรอันนี้ไม่ควร อันนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงแล้ว
แล้วพอเราเห็นแบบนี้ มันก็จะไม่มีอาการไปชื่นชมกับความคิดอารมณ์แบบหนึ่ง หรือว่าไปผลักไสไล่ส่งความคิดอารมณ์อีกแบบหนึ่ง มันจะเห็นสิ่งต่างๆด้วยใจที่เป็นกลาง อันนี้ที่ครูบาอาจารย์เรียกว่ารู้ซื่อ ๆ ก็แค่เห็นเฉยๆ เมื่อไม่ให้ค่ากับมันว่าดีหรือชั่ว ก็แค่ดูมันโดยที่ไม่ได้ไปทำอะไรกับมัน
การเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงอย่างนี้แหละ ที่มันจะเป็นวิถีสู่อุดมคติของชาวพุทธ ซึ่งเวลาเราพูดถึงอุดมคติ เราก็นึกว่ามันเป็นสิ่งที่สวนทางหรือว่าคนละระดับกับความเป็นจริง แต่การอยู่กับความเป็นจริง ยอมรับความเป็นจริง เปิดรับความเป็นจริง มันจะทำให้บรรลุถึงอุดมคติได้
การภาวนาก็คือ การฝึกใจให้เปิดรับธรรมารมณ์ต่างๆอย่างที่มันเป็น ความคิดและอารมณ์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม โดยที่ไม่ให้ค่ากับมัน แม้กระทั่งเพียงแค่ไปตีค่า หรือไปติดป้ายว่า ความคิดนี้คือความฟุ้งซ่าน มันก็ทำให้เราไม่เห็นสิ่งเหล่านั้นตามความเป็นจริงแล้ว เราเห็นมันว่าเป็นความฟุ้งซ่าน เราไม่ได้เห็นมันเป็นแค่สภาวะที่ปรากฏของมันอย่างนั้นเอง พอเราเห็นว่ามันเป็นความฟุ้งซ่าน เราก็ขจัดแล้ว
อันนี้ก็คืออุปสรรคที่ทำให้เราเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง หรือเห็นว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง อันนี้มันต่างจากการทำความดี การทำความดีมีการแยกแยะว่าอันนี้ดีอันนี้ไม่ดี อันนี้ถูกอันนี้ผิด อันนี้ควรอันนี้ไม่ควร แล้วเราก็เลือกทำสิ่งที่ดี ทำสิ่งที่ควร ส่วนสิ่งที่ไม่ดีไม่ควรเราก็ละเว้นหรือหลีกเลี่ยง หรือว่าขจัดออกไป
แต่ว่าการภาวนาโดยเฉพาะในการเจริญสติหรือวิปัสสนากรรมฐาน มันไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชังแบบนั้น มันเปิดกว้าง มันไม่มีการปิดกั้น อย่างนี้เอา อย่างนี้ไม่เอา อย่างนี้ดี เอา อย่างนี้ไม่ดี ไม่เอา แม้กระทั่งการทำสมถกรรมฐานมันก็ยังมีท่าทีแบบนี้อยู่ ถ้ามีอารมณ์ที่สงบผ่อนคลาย ถ้ามีอารมณ์ที่จรเข้ามา ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ได้ตั้งใจคิด ซึ่งเรียกว่าความฟุ้งซ่านหรือความหงุดหงิด ความร้อนใจ อย่างนี้ไม่เอา ตัดทิ้งไป
ถ้ามีเสียงลม เอา แต่ถ้าเป็นเสียงโทรศัพท์มือถือ เสียงหมาเห่า เสียงมอเตอร์ไซค์ ไม่เอา เพราะฉะนั้นต้องปิดประตูหน้าต่างเพื่อไม่ให้เสียงเหล่านั้นเข้ามา มันยังมีการเปิดรับบางอย่าง ปิดกั้นบางอย่าง
แต่ว่าการเจริญสติเปิดรับทุกอย่าง ยอมรับทุกสิ่ง แต่ว่าก็ไม่ได้ไปทำอะไรกับมัน เพียงแค่ดูมัน แล้วเพียงแค่ดูมันก็จะเห็นอย่างที่มันเป็น ก็คือมันมาแล้วก็ไป เกิดแล้วก็ดับ แล้วถ้าดูมันเฉยๆ มันก็จะรู้ว่ามันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ความคิดที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรา ความโกรธที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรา แม้กระทั่งเวทนาที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่เรา มันก็เป็นแค่สภาวะ
จะเข้าถึงอุดมคติของชีวิตได้ ก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเป็นจริง เปิดรับความเป็นจริง จนกระทั่งเข้าถึงความเป็นจริงระดับสูงสุด อันนี้มันก็อาจจะขัดกับเรื่องของการทำความดี อย่างที่พูด ทำความดี มันมีการเลือกบางอย่าง ปิดบางอย่าง แต่ว่าในการภาวนา การเจริญกรรมฐาน มันจะเปิดรับทุกอย่าง ไม่มีการปิดกั้น ไม่มีการเอาผิดเอาถูก
ไม่เอาแม้กระทั่งเหตุหรือผล ว่าทำไมมันเกิดขึ้น ทำไมถึงมีความคิดชั่วร้ายแบบนั้น ทำไมถึงมีความคิดสกปรกแบบนั้น ไม่มีการถามแบบนั้น ก็เพียงแค่เห็นมันผ่านเข้ามา แล้วก็ดูมันเฉยๆ ไม่ไปทำอะไรกับมันด้วยซ้ำ และนั่นแหล่ะเป็นวิถีของการทำให้จิตเป็นอิสระ
การกระทำความดี มันมักจะทำให้เกิดความยึดติด ยึดติดในสิ่งที่ถูก ยึดติดในการกระทำที่ควร หรือว่ายึดติดในผลของความดี ในขณะที่การเห็นความจริง มันนำไปสู่การปล่อยวาง ความเป็นอิสระ หรือพูดให้สั้นๆคือว่า ทำดีมักทำให้ยึดติด แต่ว่าความจริงมันทำให้ใจเป็นอิสระ ถ้าทำความดีแล้วยังไม่รู้จักเปิดใจรับความจริง มันก็จะมีความทุกข์รบกวนอยู่นั่นแหละ เพราะว่ามันก็จะมีท่าทีของการผลักไสกดข่มบีบคั้นโดยไม่รู้ตัว แล้วยิ่งทำก็ยิ่งทุกข์
มีหลายคนมาปรึกษากับอาตมา ไม่รู้จักตัวเพราะว่าเขาติดต่อทาง Email บ้าง ทาง Social Media บ้าง มีปัญหาร้อนใจ ปัญหาที่ว่าก็คือ มันมักจะมีเสียงในหัวหรือความคิดที่จ้วงจาบพระรัตนตรัยบ้าง ด่าบุพการีบ้าง ด่าครูบาอาจารย์บ้าง มันเป็นเสียงในหัว หรือความคิดที่มันเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ และจะทำอย่างไรก็ขจัดไม่สำเร็จ มันยิ่งรบกวนจิตใจมากขึ้น
แม้กระทั่งตอนสวดมนต์ ก็มีเสียงด่า กล่าวหาจ้วงจาบพระรัตนตรัย บางทีเห็นพ่อเห็นแม่ก็มีเสียงค่อนแคะ เสียงด่าบุพการี เขารู้สึกแย่มาก ทำยังไงมันก็ไม่หายไป แถมเสียงดังขึ้น รบกวนบ่อยขึ้น ถี่ขึ้น หลายคนรู้สึกแย่กับตัวเองมาก เกลียดตัวเองมาก ว่าทำไมถึงมีความคิดชั่วร้ายแบบนั้น ทำไมถึงมีความคิดสกปรกแบบนั้น บางคนถึงกับคิดอยากฆ่าตัวตาย เพราะว่ามีความคิดสกปรก มีความคิดชั่วร้ายมากเหลือเกิน
สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่ชอบทำความดี หรือเป็นคนดีก็ได้ เป็นคนที่สุภาพเรียบร้อย เป็นคนที่เอื้อเฟื้อผู้อื่น แต่ว่าถูกรบกวนด้วยความคิดแบบนี้มาก อาตมาก็แนะนำเขาไปว่า ยิ่งไปสู้รบตบมือกับความคิดแบบนี้ มันก็ยิ่งรบกวนจิตใจเรามากขึ้น ยิ่งกดข่มมันก็ยิ่งเป็นการต่ออายุหรือให้พลังให้มัน เหมือนกับว่ายิ่งห้ามเท่ากับยิ่งยุ
จริงๆแล้ว ความคิดเหล่านี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่คุณ มันไม่ใช่ตัวคุณ มันเป็นแค่สภาวะที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่ตัวคุณ แต่พอคุณไปเข้าใจไปหลงผิดคิดว่ามันเป็นตัวคุณ คุณจะรู้สึกแย่มาก เกลียดตัวเอง แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ตัวคุณ มันเป็นแค่สิ่งที่เกิดขึ้นมาในใจ แล้วที่มารบกวนบ่อยๆ เพราะไปกดข่มมัน สิ่งที่ควรทำก็คือว่าแค่ดูมันเฉยๆ มันจะยั่วยุให้เราไปสู้รบตบมือกับมันยังไง ก็อย่าไปทำอย่างนั้น ตั้งสติให้ดี วางใจเป็นกลาง ดูมันเฉยๆ
ใหม่ๆทำยาก เพราะว่าความรู้สึกติดดี ความคิดที่ติดดี มันจะทนไม่ได้กับความคิดสกปรกแบบนี้ ที่จริงมันผิดตั้งแต่ไปคิดว่ามันคือความคิดสกปรกแล้ว เพราะพอไปมองมันว่าเป็นความคิดสกปรก มันก็อดไม่ได้ที่จะต้องไปจัดการความคิดแบบนี้ เพราะว่าความคิดสกปรกแบบนี้มันจะเกิดกับคนดีอย่างเราได้อย่างไร ความติดดีมันก็ยิ่งทำให้ความคิดแบบนี้มารบกวนมากขึ้น เพราะมันทนไม่ได้ที่คนดีๆอย่างเราจะมีความคิดแบบนี้
แต่ว่าพอเริ่มที่จะมองมันอย่างที่มันเป็น มันไม่ใช่เรา แล้วก็ไม่ต้องไปพิพากษาไปตัดสิน ว่ามันเป็นความคิดชั่วร้าย มันก็เป็นแค่สภาวะหนึ่งที่ผ่านเข้ามา ดูมันเฉยๆ ใหม่ๆก็ทำไม่ค่อยได้ แต่ว่าหลายคนพอเริ่มทำ มันก็รู้สึกเบาบางลง พอทำไปเรื่อยๆมันก็จะค่อยๆหายไป
แต่มันจะไม่หายไปง่ายๆ มันจะคอยยั่วยุ เหมือนกับอันธพาลที่คอยตะโกนด่าเรา เพื่อที่จะให้เราตอบโต้มัน ถ้าเราไปตอบโต้มัน ก็เรียกว่าเข้าทางมัน แต่พอเราเฉยเมยไม่สนใจ มันก็ตะโกนด่าเราสักพัก มันก็เบื่อ แล้วก็ไป ความคิดทำนองนี้ ประเภทนี้ก็เหมือนกัน ยิ่งผลักไสก็ยิ่งทำให้มันได้ใจ แต่ว่าพอดูมันเฉยๆ มันก็คล้ายๆว่าแพ้ทาง ที่จริงมันไม่ได้แพ้ทาง แต่เป็นเพราะเราไม่ได้ให้กำลังกับมัน ไม่ให้อาหารกับมัน
การไปขับไสไล่ส่งต่างหาก ที่เป็นการให้อาหารกับมัน เป็นการเติมเชื้อเติมฟืนให้มัน ทำให้มันอาละวาดหนักขึ้น แต่พอเราแค่ดูมันเฉยๆ เห็นมันว่าเป็นแค่สภาวะหนึ่งที่เข้ามา ไม่ต้องไปพิพากษาว่าเป็นความคิดชั่วร้าย แล้วที่สำคัญอย่างหนึ่ง มันไม่ใช่เรา ไม่ต้องรู้สึกแย่ว่าทำไมเราคิดชั่วแบบนั้น เพราะนั่นไม่ใช่เรา
การเห็นสิ่งต่างๆ ความคิดแบบนี้ ตามความเป็นจริง มันก็ทำให้เกิดความสงบเย็นในจิตใจได้ และยิ่งถ้าหากว่าทำด้วยความต่อเนื่อง และก็เห็นความจริง หรือเห็นมันตามที่เป็นจริงอย่างลึกซึ้งมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งทะลุสิ่งที่เป็นสมมติ เข้าถึงความจริงขั้นปรมัตถ์ ความจริงนั้นแหละที่มันจะพาเราเข้าสู่อุดมคติสูงสุดของความเป็นชาวพุทธ
เพราะฉะนั้นเรื่องการทำความดีเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ว่าทำแล้วอย่าไปติดดี ขณะเดียวกัน ก็ไม่ลืมที่จะมาภาวนาเพื่อฝึกจิตให้เห็นความจริงด้วย อย่างที่เคยพูดไว้ว่า ธรรมะนั้นมี 2 ระดับคือ จริยธรรมและสัจธรรม จริยธรรมคือการทำความดี ความดีเป็นสิ่งที่ควรทำ ส่วนสัจธรรมคือความจริง เป็นสิ่งที่ควรเห็น หรือควรเข้าถึง
ปฏิบัติธรรมต้องทำให้ครบถ้วน คือทั้งทำดี แล้วก็เห็นความจริง ทำดีก็ไม่ทิ้ง ความดีก็ไม่ทิ้ง ส่วนความจริงก็ต้องใส่ใจ ถ้าทำแต่ความดี แต่ว่ามองข้ามการฝึกจิตที่ให้เห็นความจริง ก็ยังต้องเจอกับทุกข์เพราะว่าความยึดติดอยู่ สำหรับชาวพุทธเรา ความดีต้องไม่ทิ้ง แต่ความจริงก็ต้องใส่ใจด้วย
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 9 สิงหาคม 2564