แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การภาวนา ถ้ามองในแง่หนึ่งเป็นเรื่องง่าย ไม่ได้ยุ่งยากอะไร มันไม่เรียกร้องอะไรต่างๆมากมาย ไม่มีเงื่อนไขมาก จะเป็นคนปกติธรรมดา เป็นคนพิการ เป็นคนเจ็บคนป่วยคนแก่ก็ภาวนาได้ จะว่าไปง่ายกว่าการทำครัวเสียอีก ทำครัวยังต้องอาศัยเขียง มีด ช้อนส้อม อุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งเครื่องปรุง แถมยังต้องเป็นคนที่ไม่เจ็บป่วยอะไร เป็นคนปกติจึงมีเรี่ยวมีแรงทำครัวได้
ส่วนการภาวนานั้นง่ายกว่าการดูหนังฟังเพลง ไม่ต้องมีอุปกรณ์อะไรมาก จะดูหนังฟังเพลงต้องมีโทรทัศน์ โทรศัพท์ ลำโพง สัญญาณหรือว่ามีแบตด้วย แต่ภาวนาทำได้ทุกที่ ไม่มีอะไรเลย มีแต่เนื้อตัวก็ภาวนาได้แม้กระทั่งไม่รู้จุดมุ่งหมายของการภาวนาก็ยังทำได้เลย
การภาวนาเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่รู้จุดมุ่งหมายว่าทำไปเพื่ออะไร แต่ขอให้ทำถูก โดยเฉพาะการวางใจให้ถูกมันก็เกิดผลได้ พวกเราคงรู้จักหรือได้ยินชื่อ อาจารย์โกเอ็นก้า อาจารย์ของท่านคืออูบาขิ่น ซึ่งก็เป็นข้าราชการระดับสูงของพม่า อาจารย์ของอูบาขิ่นก็เป็นฆราวาสชื่อ ไซยาเท็ตจี พื้นเพเป็นชาวนา แต่ว่าใฝ่ธรรม
แล้วก็ได้ไปศึกษาปฏิบัติธรรมกับพระสงฆ์รูปหนึ่ง เป็นวิปัสนาจารย์ชื่อดังของพม่า คือท่านเลดิ ซายาดอร์ จนกระทั่งได้บรรลุธรรมแล้วก็กลับบ้าน ตั้งใจว่าจะไปสอนกรรมฐานให้กับคนในหมู่บ้าน แต่ว่าไม่มีใครสนใจเลย เพราะเขาไม่คิดว่าฆราวาสอย่างท่านจะมีธรรมอะไร ไม่ใช่พระ ท่านเปิดสอนกรรมฐาน ก็ไม่มีใครสมัคร
ตอนหลังก็เลยใช้วิธีคือ ท่านจ้างคนงานที่ทำงานในไร่นาของท่านอยู่หลายคน ก็คิดว่าชวนคนเหล่านี้มาทำกรรมฐานมาภาวนาดีกว่า ไม่ใช่ชวน เรียกว่าจ้างมากกว่า บอกกับคนงานเหล่านี้ว่าต่อไปนี้ไม่ต้องไปทำในไร่นา แล้วมาทำงานที่บ้านของฉัน คนงานเหล่านี้พอมาที่บ้านก็แปลกใจเพราะว่าท่านไม่ให้ทำอะไรเลย บอกให้นั่งหลับตาแล้วก็ให้ตามลมหายใจ คนเหล่านั้นก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่ว่าเจ้านายสั่งก็ต้องทำ
ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอันนั้นคือการภาวนา แต่พอทำตามคำแนะนำแล้ว ใจอยู่กับลมหายใจก็เป็นสมาธิ ทำได้ไม่กี่วัน จิตก็สงบ พอครบคอร์ส อย่างที่สมัยนี้เรียกว่าคอร์ส มีความรู้สึกเป็นสุขมากเลย แล้วตอนหลังพฤติกรรมก็เปลี่ยน จากคนที่หยาบเมายากินเหล้าหรือบางทีก็ชอบทะเลาะกับผู้คน ก็กลายเป็นคนสุภาพอ่อนโยน ที่น่าสนใจก็คือว่าคนเหล่านี้ก็ไม่รู้ว่าทำไปทำไม ไม่รู้ว่าเป็นการภาวนา
พวกเราส่วนใหญ่เวลามาภาวนากรรมฐาน เราก็มีจุดมุ่งหมายว่า ต้องการความสงบบ้าง ต้องการให้เกิดปัญญาบ้าง แต่คนเหล่านี้ไม่มีความคิดเหล่านั้นอยู่ในหัวเลย แต่ว่าเนื่องจากวางใจถูก ก็คือว่าเจ้านายสั่งให้หลับตา ตามลมหายใจ ใจก็จดจ่ออยู่กับลมหายใจ ซึ่งแน่นอนก็ไม่ได้จดจ่อตลอด เดี๋ยวก็แวะไปนู่นไปนี่ ก็ได้คำแนะนำใหม่ให้กลับมาที่ลมหายใจ
สุดท้ายก็ได้พบกับความสงบ ทั้งๆที่ไม่ได้ต้องการความสงบเลย เพราะว่าไม่รู้ว่านั่นคือวิธีสู่ความสงบ แต่คิดว่าเป็นงาน แม้จะไม่ได้ปรารถนาความสงบ แล้วก็ได้ความสงบ แล้วก็ได้เข้าใจตัวเองมากขึ้นเกิดปัญญา
เรื่องนี้ก็คล้ายๆกับเกร็ดตอนหนึ่งของหลวงปู่มั่น คราวหนึ่งหลวงปู่มั่นธุดงค์ไปทางดอยภาคเหนือ แล้วก็เห็นที่ๆหนึ่งสงบสงัดอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านชาวเขา ท่านก็เลยตัดสินใจพักที่นั่น ทุกเช้าก็เดินเข้าหมู่บ้านชาวเขา ซึ่งก็ไม่ค่อยได้อะไร เพราะชาวบ้านไม่รู้จักพระไม่รู้จักการบิณฑบาต
ชาวเขาถามว่ามาทำอะไร ท่านก็บอกว่ามาบิณฑบาต ต้องใส่อะไรบ้าง ท่านก็บอกว่าข้าวสุก ชาวบ้านก็ให้แต่ข้าวสุก ท่านก็ฉันแต่ข้าวสุกเปล่าๆ ไม่มีกับข้าวอะไรเลย แต่ท่านก็อยู่ได้ วันหนึ่งก็มีข่าวลือ ชาวบ้านลือกันว่าท่านเป็นเสือเย็น เสือเย็นคือเสือที่แปลงกายมาเป็นคน เพื่อที่จะมากินลูกเล็กเด็กแดง ชาวบ้านก็เชื่อเพราะว่าชาวบ้านไม่เคยเห็นพระ ไม่รู้จักพระพุทธศาสนา
ก็เลยมีคำสั่งไม่ให้เด็กหรือผู้หญิงเข้าใกล้บริเวณที่ท่านกับลูกศิษย์หนึ่งท่านคือพระอาจารย์เทสก์ ปรากฏอยู่ ส่วนผู้ชายที่ฉกรรจ์หน่อยก็แอบเฝ้าดูเสือเย็นที่ว่านี้ทำอะไร คอยระแวดระวังเอาไว้ จับจ้องดูพฤติกรรม ก็ไปด้ำๆมองๆดู ไม่เห็นอะไร ก็เห็นแต่ท่านนั่งหลับตา บางทีก็เดินไปเดินมา ชาวบ้านไม่รู้หรอกว่านั่นคือเดินจงกรม
หลังจากที่เห็นท่านทำอย่างนี้อยู่หลายวัน ดูไม่มีพิษมีภัย ชาวเขาก็เริ่มไว้วางใจเริ่มคลายความกลัว คนที่เป็นหัวหน้าหรือผู้ใหญ่บ้านซึ่งมาเฝ้าดูท่านอยู่ต่อเนื่องกันหลายวัน พอหายกลัวแล้วก็เกิดความสงสัยขึ้นมาว่าตุ๊เจ้ารูปนี้เดินกลับไปกลับมาทำไม ก็เลยรวบรวมความกล้าเข้าไปถาม ก็ได้คำตอบจากหลวงปู่มั่นว่ากำลังตามหาพุทโธ
พุทโธคืออะไร ผู้ใหญ่บ้านถาม หลวงปู่มั่นบอกว่าก็คือดวงแก้วนั่นแหละ ที่ประเสริฐมากเลย แล้วมันดีอย่างไร เห็นนรกสวรรค์ไหม เห็น พุทโธ ถ้าหาเจอ มันได้ดีๆเยอะเลย ผู้ใหญ่บ้านก็เลยสนใจ แล้วถามว่าทำอย่างไรถึงจะหาเจอ หลวงปู่มั่นก็แนะนำว่าก็ให้นึกถึงคำว่า พุทโธ เอาไว้ แล้วก็เดินกลับไปกลับมา เดินนานเท่าไร ก็ 15-20 นาทีก็พอ
ผู้ใหญ่บ้านก็เชื่อ อยากจะช่วยตุ๊เจ้าเพื่อตามหาพุทโธ ก็เลยเดินกลับไปกลับมา โดยไม่รู้ว่านั่นคือเดินจงกรม แล้วก็ทำอย่างที่หลวงปู่มั่นแนะนำ ก็คือว่านึกถึงคำว่าพุทโธๆๆ ไว้ในใจ ท่องเอาไว้ ก็คือบริกรรมนั่นแหล่ะ พอทำแล้วจิตใจก็สงบ ตอนหลังก็เลยขยันทำ จนกระทั่งปรากฏว่าเกิดความสามารถพิเศษทางจิต สามารถที่จะรู้วาระจิตของคนได้
ก็เป็นเรื่องที่ชาวบ้านแปลกใจว่า มันดีอย่างนี้เชียวหรือ ก็เลยเดินจงกรมกันใหญ่ แล้วก็นั่งภาวนาไปด้วยโดยไม่รู้ว่านั่นคือภาวนา สุดท้ายก็พบความสงบแล้วก็พบหลายๆอย่างที่เป็นคุณวิเศษทางจิต ตอนหลังก็เกิดความศรัทธาในหลวงปู่มั่น และศรัทธาในพระพุทธศาสนา ตอนหลังก็สมาทานพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
เรื่องนี้เป็นเรื่องของคนที่ได้ประโยชน์ของการภาวนา โดยที่ไม่รู้ว่านั่นคือการภาวนา และพบความสงบโดยที่ไม่ได้อยากสงบเลย ไม่มีความอยากเพราะว่าไม่รู้นั่นคือการภาวนา แต่ด้วยความซื่อ ตุ๊เจ้าให้ทำอะไรก็ทำ พอวางจิตวางใจถูก มันก็เกิดผลขึ้นมา อันนี้เป็นกฎธรรมชาติ
เหมือนกับเราเจอเมล็ดมะม่วง แล้วเอาเมล็ดมะม่วงไปปลูก โดยที่เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร คือไม่รู้ว่าคือเมล็ดอะไร แต่ถ้าเอาเมล็ดมะม่วง มาปลูกก็ต้องได้ต้นมะม่วง แล้วก็ได้ผลมะม่วงตามมา มันไม่ได้อยู่ที่ความอยากด้วยซ้ำ ตราบใดที่รดน้ำพรวนดิน ดูแลแม้ไม่อยากจะให้ออกลูก มันก็ออกลูก มันไม่ได้อยู่ที่ความอยากของเรา แต่อยู่ที่ว่าทำให้ถูกต้องตามเหตุตามปัจจัยธรรมชาติหรือเปล่า
ต้นไม้ฉันใด การภาวนาก็ฉันนั้น มันก็เป็นไปตามกฏธรรมชาติ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย และเหตุปัจจัยที่ว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความอยาก ถึงไม่อยากเพราะไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่ถ้าทำถูก มันก็เกิดผล อย่างกรณีของชาวนาซึ่งเป็นลูกจ้างของไซยาเท็ตจี หรือว่าชาวเขา คนเหล่านี้ไม่รู้ด้วยซ้ำว่านั่นคือการภาวนา และก็ไม่ได้มีความอยากจะให้จิตสงบ แต่พอทำถูกวางใจได้ถูกต้อง มันก็เกิดผลคือความสงบ แล้วก็เกิดสิ่งที่ดีๆตามมาอีกหลายอย่าง
การภาวนามันไม่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจมากว่า ทำไปเพื่ออะไร หรือมีจุดมุ่งหมายอะไร แต่ถ้าหากว่าวางใจถูกแล้ว ก็เกิดผลดีขึ้นมาเอง พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบเหมือนกับไก่ ไก่ฟักไข่ ถ้ามันฟักไข่ได้ถูกต้อง แล้วก็ในเวลาที่เหมาะสม ไข่ก็ฟักเป็นตัว แม้ว่าแม่ไก่ไม่อยากให้มันฟักออกมาเป็นตัว แต่มันก็ออกมาจนได้
และที่จริงแล้วการมีความอยากต่างหากที่กลับมาเป็นอุปสรรค ไม่อยากสงบแต่ก็ได้รับความสงบเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ในขณะที่หลายคนอยากพบความสงบแต่ยิ่งทำยิ่งฟุ้ง ยังไม่พอหงุดหงิดด้วย และยิ่งพยายามให้หยุดฟุ้ง ก็ยิ่งผิดหวัง เกิดความเครียด เครียดมากๆไม่สมหวัง
บางทีก็โกรธตัวเองด้วยว่าทำไมมันคิดมากเหลือเกิน เอาหัวโขกพื้น เอารองเท้าแตะฟาดหัวก็มี อยากได้ความสงบแต่กลับลืมตัวทำร้ายตัวเอง เพราะว่าไม่ได้อย่างที่หวัง แล้วก็เป็นธรรมชาติหรือกฎของจิตเลยก็ว่าได้ ยิ่งอยากได้ก็ยิ่งไม่ได้ เพราะว่าพอยิ่งอยากได้ มันก็มีการไปบังคับจิต ทำให้จิตมันผิดธรรมชาติ จิตไม่ชอบถูกบังคับ พอไปบังคับมัน มันยิ่งต่อสู้ ยิ่งขัดขืน ยิ่งห้ามคิดมันก็ยิ่งคิด เหมือนกับว่ายิ่งห้ามเท่ากับยิ่งยุ
เพราะฉะนั้น ภาวนานอกจากการปล่อยวางอดีต อนาคต ไม่สนใจเวล่ำเวลาว่าเมื่อไหร่จะครบกำหนดการจงกรมหรือการภาวนา สิ่งหนึ่งที่ควรจะวางด้วยคือความอยาก อยากให้จิตสงบ อยากได้รูปนาม อยากได้อะไรก็ตาม เพราะภาวนาจริงๆคือการละ หลวงปู่สิม ท่านพูดไว้ การภาวนานั้นไม่ใช่เอา แต่เพื่อละ เจออะไรที่จิตชอบหรือไม่ชอบก็ตาม ก็อย่าไปเอามัน ไม่เอาแม้กระทั่งมรรคผลนิพพาน ท่านพูดขนาดนี้เลย
ถ้าทำด้วยความอยาก อยากสงบหรือแม้กระทั่งมรรคผลนิพพาน มันก็ผิดทางแล้ว มันอาจจะไม่ใช่ภาวนาด้วยซ้ำ เพราะว่าเป็นการกระทำที่คิดจะเอา ไม่ใช่เพื่อจะละ
จริงอยู่ ความอยากพาเรามาที่นี่ หรือพาเราไปสถานที่ปฏิบัติธรรม หรือพาเรามานั่งหลับตามาเดินจงกรมสร้างจังหวะ ถ้าไม่มีความอยากแบบนี้ก็คงไปทำอย่างอื่น ดูหนังฟังเพลงหรือว่าไปเที่ยว แต่เพราะเห็นว่าความสงบเป็นสิ่งที่ประเสริฐ มรรคผลนิพพานเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าก็เลยเกิดสิ่งเหล่านั้น มาภาวนาแทน แต่ทันทีที่เริ่มเดินจงกรม เริ่มสร้างจังหวะ ก็ต้องวางให้หมด รวมทั้งความอยาก อยากสงบด้วย
นอกจากความอยากสิ่งดีๆเช่น ความสงบ มรรคผลนิพพานแล้ว การอยากจะละสิ่งที่ไม่ดี อันนี้ก็เป็นอุปสรรคเหมือนกัน ก็เป็นสิ่งที่ต้องวางเหมือนกัน ไม่ว่าอยากได้หรืออยากจะละ อยากจะกำจัด อยากจะได้ความสงบก็อยากจะกำจัดความฟุ้งซ่าน อยากจะกำจัดความโกรธ เพราะมันเป็นตัวเผาลนจิตใจ
พออยากจะกำจัดก็อดไม่ได้ที่จะไปเล่นงาน สู้รบตบมือกับอารมณ์เหล่านั้น มันคิดมากเหลือเกิน ต้องไปจัดการกับความคิด มันมีความหงุดหงิดก็ไปกำจัดมัน อันนี้กลับทำให้เครียดหนักขึ้น ทำให้จิตใจร้อนรุ่มขึ้นยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำ
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่ายังมีความอยากอย่างนั้นอยู่ ไม่ว่าอยากได้ หรือว่าอยากผลัก อยากจะกำจัดออกไป มันก็ทำให้การภาวนาขลุกขลักไม่ราบรื่น และเมื่อมันขลุกขลักไม่ราบรื่นแล้ว แทนที่จะเอามาเป็นบทเรียนสอนใจว่า เราทำผิดอะไรสักอย่างแล้วน่ะ ต้องปรับจิตวางใจเสียใหม่ กลับดันทุรังทำต่อไป มันก็ยิ่งเกิดความเสียหายมากขึ้น
ที่จริงความเครียดมันก็มีประโยชน์ มันสอนเราว่า เราวางใจผิดแล้ว เจริญสติแล้วเครียด บางทีแน่นหน้าอกปวดหัวตัวเกร็ง อันนี้แสดงว่าวางใจผิดแล้ว เขาส่งสัญญาณมาเพื่อบอกให้เราปรับจิตวางใจให้ถูก เช่น ทำสบายๆ ลดความอยากลง หรือว่าลดความคาดหวัง เลิกไปควบคุมจิตบังคับใจห้ามคิด นี่ก็เป็นสัญญาณเตือน
แต่ว่าหลายคนก็ไม่เชื่อ คิดที่จะเอาชนะ ดันทุรังกล้ำกลืนฝืนทนต่อไป เพราะว่าวิธีนี้มันเคยใช้ได้ผลกับการทำอย่างอื่น เช่น เรียนหนังสือ มันขี้เกียจ บางทีมันง่วงก็ฝืนใจ แต่ว่าการภาวนาเป็นงานละเอียดอ่อน ยิ่งไปพยายามไปฝืนใจแบบนั้นพยายามที่จะเอาชนะ จิตใจแบบนั้นมันกลับยิ่งเกิดผลเสียมากขึ้น เพราะฉะนั้น ต้องรู้จักปล่อยวางความอยาก แต่ไม่ใช่ว่าจะปล่อยได้ง่าย มันเป็นธรรมดาที่มันจะผุดขึ้นมาเรื่อยๆ
ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายที่มันจะมีความอยาก แต่ว่าให้รู้ทันก็แล้วกัน รู้ทันอย่างเดียวกับที่เราเพิ่งรู้ทัน ความฟุ้งซ่านความโกรธ ความหงุดหงิด มันมีความอยากขึ้นมา ก็เห็นมัน แล้วก็ไม่ต้องกดข่มมันด้วย ปล่อยวางความอยากก็ไม่ใช่ว่าต้องไปกดข่มมัน มันก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่เลวร้าย ตราบใดที่เราเห็นมัน รู้ทันมัน เพราะว่าที่จริง มันก็เป็นความจริงอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับใจของเรา
การภาวนาก็คือการที่เราเปิดใจให้เห็นความจริงที่เกิดขึ้นในใจ และความจริงก็มีทั้งอะไรต่ออะไรสารพัดเหมือนกับในสวน สวนก็มีทั้งดอกไม้ มีทั้งผลไม้ มีทั้งต้นไม้ยืนต้น แล้วก็หญ้าวัชพืช ความจริงของสวนเป็นฉันใด ความจริงในใจก็เป็นอย่างนั้นแหละ ก็แค่รับรู้มัน มีความอยากก็เห็นมัน ไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน
เพราะมันเป็นธรรมดาของปุถุชน แค่เห็นมัน มันก็วาง มันก็ดับไปได้แล้ว แต่เผลอเมื่อไหร่ มันก็มาใหม่ ก็เปิดรับมัน ยอมรับมัน แล้วก็รู้ว่ามันเป็นอย่างนี้แหละ ปุถุชนมันก็ต้องมีอย่างนี้แหละ มันไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย ถ้าเราวางใจแบบนี้มันก็จะค่อยๆวางความอยากลง ความอยากก็จะมารบกวนจิตใจน้อยลง
คนสงสัย ถ้าไม่มีความอยาก แล้วมันจะทำได้หรือ คนเรามีเหตุผลทำอะไรต่ออะไรหรือมีเหตุปัจจัยทำอะไรต่ออะไรได้มากมายนอกจากความอยาก ความอยากในที่นี้หมายถึงอยากจะได้โน่นได้นี่
มีความอยากชนิดหนึ่ง คือความอยากทำเรียกว่าฉันทะ อันนี้ดีมากเลย ถ้าเรามีความอยากทำเพราะว่าเราเห็นว่ามันมีคุณค่า เราก็ทำมันได้ต่อเนื่อง มันจะได้ผลอย่างไรก็ไม่เป็นไร อยากทำมันต่างจากอยากได้ อยากได้เป็นปัญหา แต่อยากทำเป็นฉันทะ และยิ่งถ้าเกิดเราได้รับความสุขจากการปฏิบัติ มันก็ช่วยหล่อเลี้ยงการปฏิบัติไปได้ต่อเนื่องไปได้เรื่อยๆ
อย่างที่พูดเมื่อเช้า ความสุขเป็นตัวหล่อเลี้ยงความดี ความสุขก็เป็นตัวหล่อเลี้ยงการปฏิบัติ ทำให้เกิดความอยากทำ แล้วพอทำไปเรื่อยๆมันกลายเป็นความคุ้นเคย กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและกลายเป็นเรื่องง่าย เหมือนกับที่ทุกวันเราต้องตื่นเช้ามาแปรงฟัน อาบน้ำ แต่ก่อนนั้นพ่อแม่ต้องเคี่ยวเข็ญให้ทำ แต่ตอนหลังเรายินดีทำ เพราะเห็นคุณค่า มันเกิดฉันทะขึ้นมา และทำจนกระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
การภาวนาก็เป็นอย่างนั้น ไม่จำเป็นต้องทำด้วยความอยากได้ มันมีความอยากอย่างอื่นที่สามารถจะเกื้อหนุนการปฏิบัติ รวมทั้งเหตุปัจจัยอย่างอื่นด้วย เพราะฉะนั้นให้รู้เท่าทันเวลามีความอยากเกิดขึ้น โดยเฉพาะอยากได้ความสงบ อยากบรรลุมรรคผลนิพพาน ก็รู้ทันมัน แต่ว่าอย่าปล่อยให้มันเข้ามาครอบงำใจเพราะมันจะทำให้เคลื่อนออกจากการภวานาที่ถูกต้องได้
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 8 สิงหาคม 2564