แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หลวงปู่ขาว อนาลโย ท่านเป็นศิษย์อาวุโสของหลวงปู่มั่น ท่านเป็นพระที่ชอบธุดงค์มาก ธุดงค์ในป่าลึกและสมัยก่อนเวลาพระป่าธุดงค์ มักจะธุดงค์ไปรูปเดียว หลวงปู่ขาวก็เช่นเดียวกัน
มีคราวหนึ่งท่านไปธุดงค์ที่จังหวัดลำปาง สมัยนั้นลำปางมีป่าที่หนาแน่น คืนหนึ่งขณะที่ท่านเดินจงกรมอยู่ ก็ดึกแล้ว จู่ๆก็ได้ยินเสียงช้างร้องดังสนั่นป่า แล้วก็หักกิ่งไม้มาตลอดทาง ฟังจากเสียงดังนั้นมุ่งหน้ามาทางท่าน มันคงจะได้กลิ่นท่าน ท่านอยู่เหนือลม ฟังจากเสียงช้างมันร้องแสดงว่ามันคงจะไม่ได้มาดีแน่
พอรู้เช่นนั้น ท่านก็รีบเลยออกจากทางจงกรม แล้วก็หาเทียนมาจุด ปักรอบๆทางจงกรม เผื่อว่าจะคุ้มครองอะไรได้บ้าง ขณะเดียวกันท่านก็ตั้งจิตอธิษฐาน ขออำนาจของพระศรีพระรัตนตรัยคุ้มครองท่านให้ปลอดภัย เสร็จแล้วท่านก็มาที่ทางจงกรมแล้วก็เดินจงกรม ตอนนั้นท่านก็น้อมจิตถึงพุทโธตลอดที่จงกรม ขณะที่ช้างมาถึงที่ท่านจงกรม มันก็หยุด
แต่ว่าท่านไม่ได้สนใจช้างเลยตอนนั้น ท่านบอกว่าตอนนั้นจิตท่านเป็นหนึ่งเดียวกับพุทโธ ในใจก็คิดว่าขอเพียงอยู่กับพุทโธก็พอแล้ว หากว่าจิตจะดับเพราะถูกช้างกระทืบ ก็คงจะได้ไปสุคติหรือมิเช่นนั้นก็บรรลุนิพพานไปเลย ในใจนึกท่านก็ว่าพร้อมตายแล้ว เพราะช้างมีทีท่าดุมาก แต่ว่าถ้าจะตายก็ขอให้ไปดีก็แล้วกันด้วยการที่จิตน้อมอยู่กับพุทโธ
จิตท่านเป็นสมาธิมาก ไม่มีความกลัว ไม่มีความหวาดหวั่นไหวอะไรเลย ท่านก็จงกรมอยู่นาน ช้างนี่พอเห็นท่านจงกรมอยู่อย่างนั้น สักพักก็ถอยไป แล้วมันก็หายไปเลย ส่วนหลวงปู่ขาวก็ยังเดินจงกรมอยู่ด้วยจิตที่เป็นหนึ่งเดียวกับพุทโธ จนกระทั่งค่อยๆออกมาจากสมาธิ ก็เป็นอันว่าท่านปลอดภัย และเป็นความปลอดภัยที่ใจไม่ได้ทุกข์อะไรกับภัยที่มาถึงตัว ใจสงบเป็นสมาธิ
แล้วท่านก็พูดถึงเหตุการณ์นั้นว่า ได้ประจักษ์แก่ใจเลย ถ้าจิตเป็นหนึ่งเดียวกับพุทโธ ก็จะแคล้วคลาดอันตรายก็ไม่ได้มาแผ้วพานได้ ที่ท่านว่าอันตราย คงไม่ใช่อันตรายทางใจด้วย เช่น ความกลัว ความตื่นตระหนก ซึ่งถ้าหากว่ามันครอบงำใจได้ อาจจะขาดสติ หรือทำอะไรที่เป็นการกระตุ้นยั่วยุให้เกิดอันตรายตามมาก็ได้
อย่างเช่น หลวงปู่ขาวท่านไม่ได้จงกรมด้วยจิตที่เป็นสมาธิสงบนิ่ง ช้างก็อาจจะคิดเป็นอย่างอื่นก็ได้ มันอาจจะทำร้ายท่านเลยก็ได้ หากว่าท่านมีอาการลนลานขึ้นมา แต่ว่าพอมันเห็นหลวงปู่ขาวเดินจงกรมอย่างมีสติอย่างมีสมาธิสงบนิ่ง มันก็เลยหนีจากไป
ที่หลวงปู่ขาวพูดนี้น่าสนใจ ถ้าจิตเป็นหนึ่งเดียวกับพุทโธ นอกจากจิตจะสงบแล้วก็อาจจะแคล้วคลาดจากอันตรายได้ คนเราเวลาเกิดอันตรายมาประชิดตัว เราจะเกิดความตื่นกลัว เกิดความตระหนก ซึ่งอาจจะทำให้ทำอะไรที่เลวร้าย หรือว่าก่อปัญหามากขึ้นก็ได้ แต่ถ้าหากว่ามีสติ มันก็ช่วยทำให้ร้ายกลายเป็นดี
เราจะลองทำดูบ้างก็ได้ เวลามีภัยมีอันตรายมาประชิดตัว ใกล้ตัวให้นึกถึงพุทโธไว้ แต่ว่าอย่าเพียงแค่นึกถึงเปล่าๆหรือแค่บริกรรมด้วยปากเปล่าๆ แต่ว่าใจก็ต้องน้อมเป็นหนึ่งเดียวกับพุทโธด้วย เพราะว่าถ้าใจน้อมเป็นหนึ่งเดียวกับพุทโธ มันก็จะช่วยเตือนให้ระลึกถึงพระรัตนตรัยในยามที่ภัยมาใกล้ตัว หรือว่ากำลังเกิดขึ้นแล้วก็ตาม
พอเรานึกถึงคุณพระรัตนตรัย มันก็เกิดความอบอุ่น จิตใจมั่นคง ไม่เปิดช่องให้ความกลัวความตระหนกมาครอบงำจนทำอะไรที่เป็นการลืมตัว
คราวนี้พุทโธก็ยังมีอานิสงส์มากกว่านั้้น เพราะว่าถ้าหากเราระลึกถึงพุทโธไม่ใช่ว่าแต่ปาก ก็อาจจะทำให้ใจระลึกถึงธรรมะของพระพุทธเจ้า และเมื่อเราน้อมนำเอาธรรมะนั้นมาสถิตไว้ในใจ มันก็จะช่วยรักษาใจได้ก็คือ พอนึกถึงพุทโธ ก็นึกถึงสติ นึกถึงความรู้สึกตัว แล้วสติและความรู้สึกตัวนั้นก็จะช่วยรักษาใจให้ปลอดภัย รวมทั้งช่วยทำให้หาทางแก้ไขอย่างถูกต้อง
เช่น ไฟไหม้ห้องประชุม ไฟไหม้ตึก ถ้าตื่นตระหนกตกใจก็อาจจะแตกตื่น เหยียบกันตาย แต่ถ้ามีสติ โดยเฉพาะนึกถึงพุทโธไว้ เรียกสติกลับมา ก็จะทำให้ไม่ผลีผลาม ไม่รีบวิ่งออกไป จนกระทั่งเหยียบกันตาย ถ้าไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ สงบนิ่ง แล้วก็หาทางออกทางแก้
คราวนี้พอเรานึกถึงพุทโธแล้ว สติกลับมา ความรู้สึกตัวกลับมา จนกระทั่งตั้งมั่นไว้ในใจ แม้เราจะวางพุทโธลงไป แต่มันก็ยังช่วยรักษาใจให้ปลอดภัยได้ ดีกว่าว่าพุทโธไป ว่าไปๆ แต่ใจไม่รู้อยู่ไหน แต่ถ้าเรานึกถึงพุทโธแล้ว นอกจากระลึกถึงพระรัตนตรัย เกิดความอบอุ่น มั่นคงแล้ว เรียกสติกลับมา เรียกความรู้สึกตัวกลับมา แม้ตอนนั้นปากจะไม่ได้ว่าพุทโธแล้ว แต่ว่าตัวพุทโธก็อยู่ในใจแล้ว
ความรู้สึกตัวก็คือความตื่นรู้ ก็เป็นพุทโธนั่นแหละ พุทโธหมายถึงตัวรู้ ตื่นรู้ ถ้าตื่นรู้ ความรู้สึกตัวอยู่ในใจ ก็ถือว่าใจนี้มีเครื่องคุ้มครองให้ปลอดภัยได้ แม้ว่ากายจะเป็นอะไรก็ตาม แต่ว่าอย่างน้อยใจก็เป็นปกติตั้งมั่นเป็นกุศล แล้วพอมีสติ ปัญญาก็เกิด การแก้ปัญหาให้ออกจากทุกข์ ออกจากอันตรายก็เกิดขึ้นได้ อันนี้เรียกว่าพุทโธช่วยทำให้แคล้วคลาดจากอันตรายได้
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 8 สิงหาคม 2564