แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันก่อนได้พูดถึงประเด็นหนึ่งที่ว่า คนเราแม้จะรู้ว่าอะไรดี เห็นประโยชน์ของมัน แต่ก็ไม่สามารถจะทำสิ่งนั้นได้สักที หรือว่าไม่สามารถที่จะทำได้ต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันแม้จะรู้จะเห็นว่า สิ่งนี้ไม่ดี เป็นโทษ แต่ก็ยังไปเกี่ยวข้องกับมัน หักห้ามใจไม่ได้ ซึ่งก็เป็นเพราะว่าใจไม่มีพลัง ไม่มีความเข้มแข็งเรียกว่าจิตใจอ่อนแอก็ได้ จึงให้พ่ายแพ้ต่อกิเลส ทำตามอำนาจของกิเลส
กิเลสมันสั่งให้ทำก็ทำตาม กิเลสสั่งว่าอย่าทำๆ ก็เชื่อมันไม่ทำ อย่างที่มันสั่ง อย่างนี้ถ้าเกิดว่าจิตใจมีความเข้มแข็ง มีพลัง มันก็จะสามารถต้านทานกับอำนาจของกิเลสได้ ความเข้มแข็งหรือพลังที่จะเกิดกับใจส่วนหนึ่งก็ต้องอาศัยความอดทน สิ่งที่เรียกว่าขันติ ยิ่งถ้ามีความอดทนอดกลั้นมากเท่าไหร่ มันก็จะสามารถต้านทานกิเลสได้ หรือสามารถจะข่มกิเลสไม่ให้มีอำนาจเหนือใจ รวมทั้งการกระทำและคำพูดของเรา
และนอกจากขันติ ความอดทน อีกอย่างหนึ่งก็คือสติ สติเป็นตัวกำราบก็ว่าได้ ตัวกำราบกิเลส หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นตัวรักษาใจไม่ให้กิเลสเข้ามาครอบงำ ถ้ามีสติ รู้ทันกิเลสเมื่อไหร่ กิเลสมันก็พ่ายแพ้หลีกหนีไป รวมทั้งอารมณ์อกุศลอย่างอื่นด้วย โดยที่ไม่ต้องไปสู้รบตบมือกับกิเลส หรืออารมณ์เหล่านั้นเลย เพียงแค่เห็นมัน
เหมือนกับเจ้าของบ้านเห็นโจรนักย่องเบาที่เข้ามาบ้าน แล้วกำลังจะลักขโมย เห็นแบบคาหนังคาเขา มันก็พ่ายแพ้ถอยร่นหนีไปเลย โดยที่ไม่ต้องไปสู้รบตบมือกับมัน อันนี้มันเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้เราสามารถจะทำสิ่งที่ดีมีประโยชน์อย่างที่เรารู้ว่ามันเป็นเหตุผลที่ดี พูดง่ายๆใจก็จะคล้อยตามความคิดที่ดีๆได้ คิดดี แล้วก็สามารถที่จะทำดีได้ เพราะใจมีพลังที่จะต่อสู้กับกิเลส หรือว่าไม่ปล่อยให้กิเลสมาครอบงำ มาบงการการกระทำ คำพูดและจิตใจของเรา
คราวนี้ ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้คนเราสามารถทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราเห็นว่าดี มีประโยชน์ สิ่งนั้นก็คือความสุข ธรรมชาติของคนเราถ้าทำอะไรแล้วมีความสุข และอยากจะทำสิ่งนั้น มันเป็นไปเองเลย ถ้าหากว่านักเรียนมีความสุขกับการเรียน เขาก็จะขยัน แล้วก็แทบจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปสู้รบตบมือกับกิเลส เช่น ความเกียจคร้าน ใจมันคล้อยตามไปเอง เพราะว่ามีความสุขเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง
ในทำนองเดียวกัน สิ่งที่ไม่ดี เราก็สามารถที่จะละมันได้โดยไม่ต้องไปฝืน โดยไม่ต้องใช้ความอดทน หรือกล้ำกลืนฝืนทนก็ได้ ถ้าเราพบว่ามันมีสิ่งที่ดีกว่า แล้วเราสามารถจะเข้าถึงความสุขจากสิ่งนั้นได้ ทุกวันนี้การที่คนเรายังข้องเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นโทษ ทั้งๆที่รู้ว่ามันไม่ดี ทั้งๆที่รู้ว่ามันไม่เป็นประโยชน์ เป็นอันตราย ก็เพราะว่ายังเพลินในความสุขที่ได้จากสิ่งนั้น ยังติดในความสุขจากสิ่งนั้น อย่างเช่น เหล้าหรือการพนัน
หลายคนรู้ว่าไม่ดี มันก่อความเดือดร้อน ก่อปัญหาต่างๆนานาสารพัด ทั้งเรื่องครอบครัว เรื่องเศรษฐกิจ แต่ก็เลิกไม่ได้ ใจมันก็ยังพัวพันข้องแวะ เพราะอะไร เพราะหลงติดในความสุขจากสิ่งนั้น ความสุขจากการที่ได้กินเหล้า ความสุขที่ได้จากการเล่นพนัน จะให้เลิกอบายมุขอย่างนี้ได้ไม่ใช่แค่อาศัยการกล้ำกลืนฝืนทน หรือขันติเพื่อที่จะเอาชนะมัน หรือไม่คล้อยตามมัน หรือว่าใช้สติเพื่อที่จะไม่ให้กิเลสมาบงการจิตใจเรา
ความสุขก็สำคัญ ถ้าเราสามารถจะพบความสุขจากสิ่งอื่นได้ที่ดีกว่าอบายมุข หรือแม้กระทั่งถึงเข้าถึงความสุขจากสภาวะที่ปลอดอบายมุข เราก็สามารถที่จะเลิกมันได้ในที่สุด เพราะว่า ได้พบความสุขที่ดีกว่า
ธรรมชาติคนเราต้องการความสุข ต้องการความสุขหล่อเลี้ยงกายหล่อเลี้ยงใจ สุขกายไม่พอต้องมีสุขใจด้วย บางคนไม่สามารถที่จะเข้าถึงความสุขที่ประณีตได้ ก็เลยไปจมอยู่กับความสุขที่หยาบ แต่ถ้าเกิดว่าได้พบความสุขที่ประณีตเมื่อไร การละความสุขที่หยาบก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย รวมทั้งการละการกระทำที่มันให้ความสุขแบบหยาบๆ เช่น การเสพอบายมุข
มีเรื่องเล่าว่าสมัยที่หลวงปู่ดูยังมีชีวิตอยู่ ก็มีลูกศิษย์คนหนึ่งมากราบท่านแล้วก็พาเพื่อนคนหนึ่งมา เพื่อนคนนี้ติดเหล้า ระหว่างที่สนทนากับหลวงปู่ดู่ ลูกศิษย์ก็ถือโอกาสชักชวน คะยั้นคะยอเพื่อนให้ถือศีล 5 แล้วก็เลิกเหล้า ถือศีล 5 คือเลิกเหล้า แล้วก็ให้ทำสมาธิภาวนาด้วย เขาก็เถียงเขาก็แย้งเขาก็ปฏิเสธ แล้วก็บอกว่า ผมจะถือศีล 5 แล้วก็ปฏิบัติได้อย่างไรเพราะยังติดเหล้าอยู่ เขาพูดต่อหน้าหลวงปู่ดู่
หลวงปู่ดู่ก็บอกว่า เอ็งจะกินเหล้าก็เป็นเรื่องของเอ็ง ข้าไม่ว่า แต่ข้าขอให้เอ็งปฏิบัติให้ข้าวันละ 5 นาทีก็พอ ได้ยินอย่างนั้น คนที่ติดเหล้าก็บอกว่าได้ครับหลวงปู่ แม้เขาเป็นคนติดเหล้าแต่เขาก็เป็นคนที่ทำอะไรทำจริง เขารับปากหลวงปู่ แล้วเขาก็ทำตามที่รับปากทุกวัน
ทุกวันนี้เขาก็ยังนั่งสมาธิ 5 นาที นั่งสมาธิเสร็จก็ไปกินเหล้า แต่บางวัน กำลังนั่งสมาธิอยู่ เพื่อนมาชวนกินเหล้า เขาก็ไม่ไป เพราะว่าเขายังนั่งไม่เสร็จ นั่งเสร็จค่อยไป ทำอย่างนี้ทุกวันๆ จนกระทั่งได้สัมผัสกับความสงบ ทีหลังเพื่อนมาชวนกินเหล้า เขาก็ไม่ไปแล้ว บอกว่าจะนั่งสมาธิ แล้วตอนหลังเขาก็เลิกเหล้าได้สำเร็จ แล้วก็ยิ่งกว่านั้น ก็มีศรัทธาแกร่งกล้าบวชพระ อุปสมบท เป็นลูกศิษย์หลวงปู่
จากเดิมที่แค่ศีล 5 ก็ยังไม่ยอมปฏิบัติ แต่ตอนหลังสมาทานศีลทั้ง 227 ข้อเลย แล้วเขาเลิกเหล้าได้อย่างไร เขาเลิกได้จากการที่เขาได้พบความสุขจากการทำสมาธิภาวนา แต่ก่อนติดเหล้าเพราะว่ามันให้ความสุขแก่เขา สุขจากเหล้า สุขจากการได้สนทนาสมาคมกับเพื่อนฝูง มันเป็นความสุขที่เย้ายวนใจที่ทำให้เขาเลิกเหล้าไม่ได้
แต่พอได้มาสัมผัสความสุขจากสมาธิภาวนาและความสงบ เขาก็พบว่า มันดีกว่ากันเยอะเลย ความสุขแบบนี้ดีกว่าสุขจากเหล้าหรือวงเหล้าเยอะเลย การเลิกเหล้าก็เลยไม่ยาก เป็นไปโดยอัตโนมัติโดยที่ไม่จำเป็นต้องกล้ำกลืนฝืนทน แต่ส่วนหนึ่งก็อาศัยสติด้วย เพราะพอได้ทำสมาธิภาวนาทุกวันๆ แม้จะวันละ 5 นาที แต่พอทำต่อเนื่องก็ได้สติด้วย สติทำให้ไม่ไปหลงเชื่อคล้อยผีสุรา
ยิ่งได้สมาธิ หรือความสุขจากสมาธิมาช่วย ก็ทำให้เลิกเหล้าได้ในที่สุด โดยไม่ต้องใช้ความเพียรพยายามมาก เพราะความเพียรพยายามได้ทำแล้วจากการทำสมาธิ อันนี้เป็นตัวอย่างสำหรับคนที่เขาสามารถที่จะทำสิ่งที่เห็นว่าดีได้ เพราะว่าใจคล้อยตาม ใจคล้อยตามเพราะส่วนหนึ่งได้สัมผัสกับความสุข
อย่าว่าแต่ความสุขอย่างหยาบ เช่น เหล้าบุหรี่ ความสุขที่หยาบน้อยหน่อย ซึ่งเรียกรวมๆว่ากามสุขก็เหมือนกัน การที่คนเราจะเลิกข้องแวะกับมัน ก็เพราะมีความสุขที่ประเสริฐกว่า ได้สัมผัสกับความสุขเหล่านั้น ลำพังเพียงแค่เห็นว่ามันเป็นโทษ มันให้สุขน้อยแต่ทุกข์มาก มันยังไม่พอ
อย่างพระพุทธเจ้าเคยตรัส สมัยที่พระองค์ออกบวช ทั้งๆที่พระองค์รู้ว่าเห็นว่ากามนั้นมีความยินดีน้อย หมายความว่าให้สุขได้น้อย และก็มีโทษมาก แต่พระองค์ตระหนักดีว่า ตราบใดที่พระองค์ยังไม่ได้เข้าถึงฌาน 1 ฌาน 2 หรือเข้าถึงธรรมที่สงบกว่าฌานทั้งสอง ก็อาจจะวกกลับเข้าไปหากามนั้นได้อีก เพราะว่าอะไร เพราะว่า กามมันให้ความสุข
แต่ถ้าหากว่าเข้าถึงความสุขที่ประณีตกว่า คือความสุขที่เกิดจากฌานหรือความสุขที่เกิดจากธรรมะขั้นสูง มันก็ทำให้การหันหลังกับกาม ก็เป็นไปได้ พูดอีกอย่างหนึ่งคนเราจะละทิ้งสิ่งหนึ่งได้ ก็เพราะว่ามันมีสิ่งอื่นที่ดีกว่า ประเสริฐกว่า
ก็เหมือนกับเด็ก เด็กแต่ก่อนก็หวงของเล่น ติดของเล่น ไม่ให้ใครมายุ่ง แต่พอเจอของเล่นที่ดีกว่า อาจจะเป็นโทรศัพท์มือถือ เพราะโทรศัพท์มือถือมีอะไรเยอะแยะ การ์ตูน ของเล่น พอเด็กได้โทรศัพท์มือถือ ก็ทิ้งของเล่น ตัวต่อ เลโก้ต่างๆไม่เอาแล้ว เพราะว่ามีความสุขที่น่าสนใจกว่า ดึงดูดใจกว่า
ผู้ใหญ่ก็เหมือนกัน คนเราก็เหมือนกัน คนเราจะละทิ้งสิ่งใดได้ก็เพราะพบสิ่งที่ดีกว่า ประณีตกว่า มิเช่นนั้น มันก็อดไม่ได้ที่จะวกกลับเข้าไปข้องแวะหรือข้องเกี่ยว ทั้งๆที่รู้ว่ามันมีโทษทั้งๆที่รู้ว่ามันไม่ดี แต่ก็ปฏิเสธมันไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นแหล่งความสุขอย่างเดียวที่รู้จัก
พระพุทธเจ้า เปรียบเทียบเหมือนกับกวาง มีกวางฝูงหนึ่งอยู่ในป่า แต่ว่าชายป่ามีทุ่งหญ้า กวางก็เลยไปกินหญ้าตรงนั้น พรานก็รู้ ก็คอยดักจับดักยิง กวางหลายตัวรู้ว่าตรงนี้อันตราย ก็เลยไม่ไปหากินตรงนั้น หลบเข้าไปในป่า แต่หลบไปได้ไม่กี่วันหิว หิวแล้วทำอย่างไร ก็ต้องกลับมาที่ทุ่งหญ้าตรงนั้น กวางบางตัวก็รู้ว่ามันอันตราย แต่ว่าทำไงได้ หิวเนี่ย ครั้นไปที่ทุ่งหญ้านั้น ก็เสร็จพราน พรานก็ยิงได้
มันก็มีกวางตัวหนึ่งที่ทนหิวไม่ได้ ทั้งที่รู้ว่ามันอันตราย ก็ต้องไปกินหญ้า เป็นกวางที่ฉลาด ก็พยายามดั้นด้นหา จนกระทั่งพบทุ่งหญ้าที่ใหญ่กว่า เขียวกว่า ริมป่าออกไป พอพบทุ่งหญ้าตรงนั้นแล้ว กวางตัวนั้นก็ไม่กลับไปที่ทุ่งหญ้าเดิมเลย เพราะมีทุ่งหญ้าที่ดีกว่า
พระพุทธเจ้าตรัสเป็นอุปมาเปรียบเทียบถึงคนเราถ้ายังไม่พบความสุขที่ประณีตแล้ว ก็ต้องกลับไปหาความสุขที่หยาบ ทั้งๆที่รู้ว่าความสุขนั้น มันมีโทษ เช่นกามสุข คือสุขจากอบายมุข เหล้าบุหรี่เป็นต้น ส่วนทุ่งหญ้าที่ดีกว่า ก็หมายถึงความสุขที่ประณีต ตั้งแต่สุขจากสมาธิภาวนา สุขจากการทำความดีรวมไปถึงสุขที่เป็นผลมาจากการเข้าถึงพระนิพพาน ซึ่งเป็นสุขที่ประเสริฐอย่างยิ่ง คือความสงบ สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัส นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
คนเราต้องการความสุข ถ้าหากว่า ไม่สามารถได้ความสุขที่ดีกว่า มันก็ต้องกลับไปหาความสุขที่หยาบ ทั้งๆที่รู้ว่ามันไม่ดี คนที่หิวน้ำเพราะว่าเดินทางดั้นด้นฝ่าแดดถูกเปลวแดดเผาเป็นวันๆ โดยที่ไม่มีน้ำสักหยดถึงท้องเลย หิวน้ำจะตายอยู่แล้ว หากเจอน้ำขุ่น น้ำในปลักทั้งๆที่รู้ว่ามันไม่สะอาด แต่ก็ห้ามใจไม่ได้อดใจไม่ได้ก็ต้องกินน้ำนั้น รู้ว่ามีเชื้อโรคแต่ก็ต้องกิน เพราะอะไร เพราะว่าหิว และไม่มีน้ำที่ดีกว่า น้ำที่ใสกว่า
ในทางตรงข้าม ถ้าหากว่ามีน้ำที่ใสกว่าอยู่ ให้เขาเลือก คนที่หิวยังไงและรู้ว่าน้ำขุ่นไม่ดี เขาก็ต้องเลือกกินน้ำใสสะอาดอยู่แล้วถ้ามีให้เลือก แม้กระทั่งคนเราก็ย่อมปรารถนาความสุขที่ประณีต ถ้าหากเขารู้ว่าความสุขนั้นมันดีกว่าความสุขที่หยาบ เขาก็เข้าหาความสุขที่ประณีต แต่ว่ามันไม่ใช่ว่าจะเข้าถึงได้ง่ายๆ มันต้องผ่านการปฏิบัติ ผ่านการฝึกจิตฝึกใจ
ความสุขจากความสงบ หรือความสุขที่เรียกว่าความสงบ มันไม่ได้อาศัยการเสพ ไม่เหมือนความสุขจากกาม ซึ่งอาศัยการเสพทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ความสุขที่เป็นความสงบมันต้องอาศัยการปฏิบัติ ใหม่ๆจะปฏิบัติได้ต้องอาศัยการเคี่ยวเข็ญตนเองเป็นเบื้องต้น ต้องมีขันติ ต้องมีวิริยะ แต่ต่อไปพอเข้าถึงความสุขแล้ว มันก็ไม่ต้องอาศัยการข่มใจแล้ว มันเกิดความยินดี เกิดความพอใจที่จะทำสิ่งนั้นเอง กลายเป็นเรื่องง่าย
การที่เรามาวัดเพื่อมาปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน เราก็รู้ว่าการทำสมาธิ การภาวนา การเจริญสติ เป็นสิ่งที่ดีแต่บางทีใจไม่คล้อยตาม มันยังหวง มันยังยึดติด หรือว่ายังหลงใหลในความสุขแบบหยาบๆ ความสุขจากการได้เสพจากสิ่งๆ จากตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่พอได้สัมผัสกับการปฏิบัติแล้วเริ่มเกิดความสงบขึ้นมา มันก็ช่วยหล่อเลี้ยงใจ ทำให้อยากจะปฏิบัติให้ต่อเนื่อง
เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถจะสัมผัสความสงบจากการปฏิบัติแม้เพียงเล็กน้อย มันก็ทำให้มีแรงจูงใจในการภาวนาในการเจริญสติจนถึงจุดที่ว่า ใครจะทำหรือไม่ทำฉันก็ไม่สนใจฉันจะทำของฉัน เพราะว่าฉันทำแล้วฉันได้สัมผัสกับความสงบ บางทีมันเป็นความสงบที่ไม่ได้เกิดจากการที่จิตไร้ความคิด ความคิดก็ยังมีอยู่แต่ว่าเกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา
พอได้ความรู้สึกต่อเนื่องก็ได้รู้สึกถึงความโปร่ง โล่ง เบา แม้จะมีความคิดผุดขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ว่าก็ไม่หลงคล้อยไปกับมัน เห็นไม่เข้าไปเป็น ความคิดนั้นเห็นเยอะ แต่ว่าใจไม่ทุกข์แล้ว เพราะว่าไม่พลัดไม่หลงเข้าไปในความคิด และไม่ปล่อยให้ลากลู่ถูกรังจิตใจไป มีความรู้สึกตัวมีสติอย่างต่อเนื่องหรือว่ายืดยาวกว่าเดิม มันก็ทำให้เกิดความสุขใจขึ้นมา และความสุขใจก็จะช่วยจูงใจ ให้หมั่นภาวนา มันจะกลายเป็นเรื่องง่ายมากขึ้น
เพราะฉะนั้น เวลาเราจะทำอะไรก็ตามที่เราเห็นว่าดี สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือการเข้าถึงความสุขจากสิ่งนั้นไม่ว่าการมีชีวิตที่เรียบง่าย หรือว่าการทำงานการเรียนหรือการภาวนาเราจะทำสิ่งนั้นอย่างต่อเนื่องจนเห็นผลเพราะว่ามีความสุขเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงทำให้เกิดความเพียรทำให้เกิดวิริยะ
และอันที่จริงก็ไม่ได้เป็นเรื่องยาก ถ้าหากว่าใจเรามีสติใจเรามีสมาธิใจเรามีความรู้สึกตัว ความสุขจากความสงบหรือความสุขที่ชื่อว่าความสงบจะค่อยๆเข้ามาให้ใจได้สัมผัส แล้วก็ทำให้เกิดแรงจูงใจในการที่จะทำสิ่งนั้นได้ต่อเนื่องจนเห็นผลได้ในที่สุด
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมวัดเช้าวันที่ 8 สิงหาคม 2564