แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อเช้าได้พูดว่า การภาวนาก็คือการปล่อยวาง บางคนที่ได้ยินแบบนี้ ก็เลยคิดว่าควรปล่อยวางการภาวนาด้วย ถึงจะถูกต้อง และการปล่อยวางภาวนาก็คือว่าไม่ภาวนา เลิกภาวนา อันนี้เข้าใจเรื่องการภาวนาไม่ถูกต้อง การปล่อยวางไม่ใช่การปล่อยปละละเลย คนมักจะเข้าใจไปว่าการปล่อยวางคือการปล่อยปละละเลย คือไม่รับผิดชอบ ไม่ทำอะไรทั้งๆที่มันเป็นสิ่งที่ควรทำ
ปล่อยวาง เป็นเรื่องการทำจิต ข้างในนี่ปล่อยวาง แต่ข้างนอกยังทำกิจอยู่ อันนี้ได้พูดไปแล้วเมื่อหลายวันก่อน เวลาเจ็บเวลาป่วยก็ปล่อยวาง ไม่โวยวาย ไม่ตีโพยตีพาย ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นว่า ร่างกายไม่ใช่ของเรา ควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้ แต่ก็ต้องรักษา ต้องเยียวยา ไปหาหมอหรือกินยา อันนี้แล้วแต่กรณี
หลังคาบ้านเสียหายขึ้นมา ก็ปล่อยวางคือทำใจ ใจปล่อยวาง ใจไม่วิตกกังวลอะไร เพราะรู้ว่ามันเป็นธรรมดาของสิ่งทั้งปวง มีแล้วก็ย่อมแตกหัก แต่ว่าก็ยังทำกิจ ก็คือว่าซ่อมหลังคา ถ้าซ่อมไม่ได้ก็จ้างคนมาซ่อม ท่อน้ำแตกก็ไม่โวยวาย ไม่ตีโพยตีพาย ใจปล่อยวาง เห็นว่าเป็นธรรมดา แล้วก็รู้เท่าทันความวิตกกังวล ความหงุดหงิดที่เกิดขึ้นในใจ รู้แล้วก็วาง ใจจึงไม่ทุกข์ แต่ก็ต้องซ่อมท่อน้ำ
เพราะฉะนั้น แยกแยะให้ถูก เวลาพูดถึงปล่อยวาง มันเป็นเรื่องของการทำจิต เป็นเรื่องของด้านในที่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งภายนอก และอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายใน แต่ว่าไม่ปล่อยให้มันครอบงำจิตจนทำให้เกิดทุกข์
เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึง การภาวนา การปล่อยวาง แม้จะเข้าใจต่อไปว่า ก็ต้องปล่อยวางการภาวนาด้วย ก็ไม่ได้หมายความว่าจะละทิ้งการภาวนา หรือปล่อยปละละเลย ปล่อยวางการภาวนาที่จริงก็เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ว่าทำให้ถูกก็คือว่า ไม่ยึดติดในรูปแบบของการภาวนาว่า มันต้องนั่งหลับตา มันต้องเดินจงกรมนะ มันต้องยกมือสร้างจังหวะ ไม่ยึดติดในรูปแบบ
เพราะว่าการภาวนาเป็นเรื่องของใจ ไม่ได้เป็นเรื่องของท่าทางอากัปกริยาภายนอก รูปแบบเป็นแค่ตัวช่วยให้การฝึกหรือการภาวนาด้านใน มันเป็นไปด้วยดี แต่แม้จะไม่มีรูปแบบเลย คือการใช้ชีวิตประจำวัน ก็ภาวนาได้
หรือแม้จะจำกัดว่าการภาวนาเป็นเรื่องของรูปแบบ ตั้งใจว่าจะภาวนาในรูปแบบก่อนนอนและตื่นเช้า แต่บางวันมีเหตุให้ต้องทำอย่างอื่น มีเรื่องปัจจุบันทันด่วน ไม่สามารถทำในรูปแบบได้ก็ไม่รู้สึกเสียใจ ไม่รู้สึกหงุดหงิด ที่ไม่ได้ภาวนาอย่างที่ตั้งใจไว้ อันนี้แหละคือความหมายของการปล่อยวางภาวนา มันไม่ได้แปลว่าทิ้ง อันนั้นเป็นเรื่องของการปล่อยปละละเลย ซึ่งมันไม่ใช่ความหมายของการปล่อยวาง ปล่อยวางข้างในก็ยังทำกิจภายนอกอยู่อย่างถูกต้องควรแก่กรณี
ขณะเดียวกัน ปล่อยวางก็ไม่ได้แปลว่าปฏิเสธ ไม่เกี่ยวข้อง เช่น ข้าวของเครื่องใช้ หรือที่เรียกรวมว่าทรัพย์ ก็ควรปล่อยวางในทรัพย์ ไม่ยึดติดถือมั่นในทรัพย์ แต่ว่าไม่ได้แปลว่าปฏิเสธละทิ้งมันไปเลย เพราะว่าถ้ามันยังมีประโยชน์อยู่ ก็ต้องใช้
พระพุทธเจ้าทรงปล่อยวางทุกสิ่งในสิ่งที่เป็นทรัพย์รวมทั้งสิ่งอื่นด้วย แต่พระองค์ก็ยังทรงจีวรสะพายบาตร แล้วก็ยังทรงใช้สอยเสนาสนะ เพราะอะไร เพราะว่ายังมีประโยชน์ช่วยกันร้อนกันหนาว กันลมกันฝนได้ ทำให้ไม่เจ็บไม่ป่วยได้ ทำให้ทำกิจการงานต่างๆได้ บางคนไปเข้าใจว่า ปล่อยวางคือ ปฏิเสธ ละทิ้ง ถ้าปล่อยวางทุกสิ่งก็คือละทิ้งทุกสิ่งแม้กระทั่งเสื้อผ้าอาภรณ์
มีนักบวชบางนิกาย เน้นเรื่องของการปล่อยวางว่า จะนำไปสู่โมกษะหรือการหลุดพ้นได้ และเมื่อจะปล่อยวางก็ต้องปล่อยวางให้หมด รวมทั้งเสื้อผ้า คือไม่สวมเสื้อไม่สวมผ้า อย่างที่เรียกว่าทิคัมพร นุ่งลมห่มฟ้าเป็นเครื่องหมายแสดงปล่อยวาง ปล่อยวางโลกแล้ว อันนั้นไม่ถูกต้อง
ปล่อยวางไม่ใช่ปฏิเสธหรือละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง อะไรที่มีประโยชน์อยู่ก็ใช้ แต่ใช้โดยไม่ยึดติด ใช้โดยรู้เท่าทันธรรมดาว่า สิ่งเหล่านั้น มันไม่เที่ยง ไม่สามารถจะยึดมั่นถือมั่นได้ เสื้อผ้าอาภรณ์มีประโยชน์ก็ใช้อันนี้รวมถึงปัจจัย 3 ที่เหลือด้วย ปัจจัย 4 เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ แม้กระทั่งพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ก็ยังต้องอาศัยปัจจัย 4 ซึ่งก็รวมบริขาร 8 ด้วย เพราะว่ามันยังมีประโยชน์ แต่ไม่ยึดติด
หมายความว่าถ้ามันจะเสียหาย หรือถูกใครลักขโมยไปก็ไม่ได้เสียใจ ไม่ได้ฟูมฟาย ไม่ได้โกรธแค้นเพราะไม่ได้ยึดติด รวมถึงอุปกรณ์ สิ่งใช้สอยต่างๆด้วย ปล่อยวางไม่ได้หมายความว่า เราจะใช้ไฟฉายไม่ได้ มันมืด ก็ต้องใช้ไฟฉาย จับไฟฉาย ถือไฟฉายให้แน่น เพื่อไม่ให้มันตก พอถึงกุฏิแล้ว สว่างแล้วมีไฟฟ้า ปลอดภัยแล้ว ก็วางไฟฉาย อันนี้เป็นอุปมาของการปล่อยวาง
หมายความว่าในบางขณะ เราจำเป็นต้องใช้ ใช้เสร็จหมดประโยชน์หรือว่าสำเร็จประโยชน์แล้วเราก็วาง เวลาเราจะขึ้นบันได บันไดชันเราก็ต้องจับราวบันได ต้องจับให้แน่นโดยเฉพาะคนที่มีอายุ พอจับราวบันไดเสร็จ เราก้าวขึ้นไปบันไดอีกขั้นหนึ่ง พอก้าวเสร็จ เราก็ต้องปล่อยต้องวางราวบันได ถ้าไปยึดราวบันไดไว้ เราก็ขึ้นบันไดไม่ได้ แต่การจับราวบันไดก็ช่วยทำให้เราขึ้นบันไดได้
ขึ้นบันได อุปมาการพัฒนาตน ไปสู่ขั้นตอนที่สูงขึ้น หรือสู่ระดับที่สูงขึ้น เราก็ต้องยึดอะไรบางอย่าง ยึดธรรมะเพื่อฝึกฝนตน พอพัฒนามาขั้นหนึ่งแล้ว เราก็วางเราก็ปล่อยธรรมะส่วนหนึ่ง แล้วก็ไปจับฉวยธรรมะอีกส่วนหนึ่ง เช่น ทีแรกอาจจะยึดศีล 5 พอมั่นคงในศีล 5 แล้ว ก็ไปจับเรื่องการภาวนา สมาธิ วิปัสสนาก็ยังต้องยึดรูปแบบบางอย่างเพื่อใช้ในการพัฒนาตน แต่พอพัฒนาไปแล้วก็วาง ปล่อย
อันนี้ก็ไม่ได้ขัดกับการปล่อยวาง เราต้องจับต้องฉวยต้องใช้บางสิ่งบางอย่าง แต่ว่าใช้โดยที่รู้จักปล่อย ไม่ยึด ในบางกรณีก็ต้องแบก แต่พอใช้สอยเสร็จก็วาง อย่างที่หลวงพ่อชา ท่านเปรียบให้เห็นจากเรื่องของ ชายคนหนึ่งไปซื้อมะพร้าวมาจากตลาด ระหว่างทาง คนก็ถามว่าซื้อมะพร้าวไปทำอะไร เขาตอบว่าเอาไปกินเนื้อมัน ก็ถามต่อไปว่าอ้าวแล้วเปลือกนี่กินด้วยเหรอ
เขาตอบว่าเปล่า เปลือกไม่ได้กิน อ้าวแล้วแบกเปลือกไว้ทำไม เราจะตอบว่ายังไง ก็เปลือกมันยังมีประโยชน์อยู่ ยังคลุมเนื้อไว้ แต่พอถึงบ้าน เราก็เฉาะเปลือกออก เอาแต่เนื้อ ขณะที่เปลือกมันยังมีประโยชน์เราก็ต้องถือ เพราะต้องแบกไปเอากลับบ้าน แต่พอปอกเปลือกเอาเนื้อไว้แล้วทิ้งเปลือกไป
อันนี้ ท่านก็หมายถึงว่า สมมุติ พิธีการหรือรูปแบบบางอย่าง มันเป็นแค่สมมุติ มันเป็นรูปแบบ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นกับมัน แต่ว่าถ้ามันยังมีประโยชน์อยู่ก็ใช้มัน พอสำเร็จประโยชน์แล้ว ก็ไม่ต้องสนใจ มันก็เหมือนกับการจับราวบันไดเพื่อที่เราจะได้ขึ้นบันไดขั้นสูงขึ้น พอขึ้นไปแล้วก็ปล่อยราวบันได
อันนี้คือความหมายของปล่อยวาง ซึ่งพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ไม่ว่ามีอะไรก็มีโดยที่ไม่ยึดติด ใช้อะไรก็ใช้อย่างรู้เท่าทัน แล้วถ้าปล่อยวางอะไรก็ตาม หรือปล่อยวางสิ่งใดก็ตาม เมื่อใช้สิ่งนั้นแล้วหรือเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้น มันจะเป็นการเกี่ยวข้องในฐานะที่เป็นผู้ใช้ แต่ถ้าหากว่าไปยึดติดถือมั่น เราไม่ได้ใช้มัน มันใช้เรา
เวลาไปยึดว่าเงินเป็นของเรา เราเป็นของมันทันทีเลย เราจะคอยหวงแหนปกป้อง บางทียอมทะเลาะกับพี่น้อง ยอมตัดญาติขาดมิตร ตัดพ่อตัดลูก ก็เพื่อเงิน บางทียอมตายก็เพื่อเงิน อันนี้แสดงว่าอะไร แสดงว่าเราเป็นของมัน ไม่ใช่มันเป็นของเรา เราไม่ได้ใช้มัน แต่มันใช้เรา มันใช้เราเพื่อปกป้องตัวมัน อันนี้รวมถึงความคิดด้วย ความคิด ถ้าคิดว่าความคิดของเรา เราเป็นของมันทันทีเลย
คนจำนวนมากยอมตายเพื่อปกป้องความคิดใดความคิดหนึ่งที่มีอยู่ในหัว หรือบางทีไปทำร้ายคนอื่นเพราะว่าความคิดของเขามันคุกคามความคิดในหัวของเรา ความคิดในหัวของเราก็ไปสั่งให้จัดการกับคนกลุ่มนั้น สงครามเกิดขึ้นก็เพราะเหตุนี้ไม่ใช่น้อย สงครามทางอุดมการณ์ ก็เป็นการทำตามอำนาจของความคิด หรืออุดมการณ์ ยิ่งยึดว่าเป็นของเรามากเท่าไหร่ เราก็เป็นของมันมากเท่านั้น แล้วเราพร้อมที่จะตายหรือไปทำร้ายผู้อื่นเพื่อมันก็ได้
ถ้าสังเกตดีๆ มีอะไรก็ตาม ถ้าเราปล่อยวางสิ่งนั้น เราใช้มัน แต่ถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นกับมัน มันใช้เรา มันเป็นนายเรา ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นเงินทอง ชื่อเสียง หรือความคิดอุดมการณ์ เพราะฉะนั้น การปล่อยวาง มันไม่ได้ขัดแย้งกับการที่เรามีสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ว่าเป็นการมีแบบไม่ยึดติด จะใช้ก็ใช้อย่างรู้เท่าทัน รู้เท่าทันธรรมดาหรือว่ามันมีข้อจำกัดอย่างไรบ้าง หรือว่ามันเป็นของชั่วคราว ถึงเวลาที่มันเสียหายไปเสื่อมไปก็ไม่ทุกข์ไม่เศร้าโศกเสียใจ
ถ้าเศร้าโศกเสียใจ คับแค้น โกรธ โมโห อันนี้แสดงว่าเราเป็นของมัน และการที่เราเป็นของมัน เป็นเพราะว่าเราไปยึดว่ามันเป็นของเรา มีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้น มันกลับกัน ยึดมั่นว่ามันเป็นของเราเมื่อไหร่ เราเป็นของมันทันทีเลย และแทนที่เราจะใช้มัน มันใช้เรา พาเราเข้ารกเข้าพง หรือว่าไปทำร้ายคนอื่น อันนี้ก็เป็นเรื่องของทรัพย์หรือว่าปัจจัยต่างๆที่เราต้องเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมนามธรรม
แต่การที่เราจะปล่อยวางสิ่งเหล่านั้นได้ มันก็ต้องเริ่มต้นจากการที่เรารู้จักปล่อยวางความคิดและอารมณ์ที่มันผ่านเข้ามาในใจของเรา และตรงนี้แหละการเจริญสติเป็นสิ่งที่ฝึกเราสอนเราให้รู้จักปล่อยวาง เขาเรียกว่าอารมณ์ภายในหรือธรรมารมณ์ ก่อนที่เราจะไปวางสิ่งภายนอกได้ ข้าวของ เครื่องใช้ แม้กระทั่ง ผู้คน สัตว์ สิ่งของ เราก็ต้องฝึก หรือรู้จักปล่อยวาง อารมณ์ ความคิดที่มันเกิดขึ้นมา ผ่านเข้ามาในใจของเรา
ก็อย่างที่พูดไปแล้ว ว่าเราจะทำอย่างนั้นได้ก็เพราะมีสติ รู้ทัน พอรู้แล้ว มันจะวาง รู้แล้ววาง เป็นการรู้แบบรู้ซื่อๆ เป็นการเห็นโดยไม่เข้าไปเป็น ถ้ารู้ซื่อๆคือ รู้ด้วยใจที่เป็นกลาง การปล่อยวางก็จะเกิดขึ้น คือไม่ไปยึดในอารมณ์นั้น ในความคิดนั้น หรือเผลอยึดเข้าไปแล้ว ก็ปล่อยก็วาง
ซึ่งก็ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆถ้าไม่ได้ฝึกมา มันก็อดไม่ได้ถ้าเป็นความคิดดี ก็อยากจะไปตะครุบ แต่ถ้าเป็นความคิด อารมณ์ที่ไม่ดีก็อยากจะผลักไส มันจะมีนิสัยความเคยชินแบบนี้อยู่ แต่ถ้าเราฝึกบ่อยๆฝึกเรื่อยๆ เราจะเริ่มรู้จักปล่อย ปล่อยก็คือว่า มันจะคิดอย่างไรก็เป็นเรื่องของมัน จะคิดดีหรือไม่ดีก็เป็นเรื่องของมัน นี้คือคำว่าปล่อย ปล่อยให้มันคิดไป แต่ไม่ไปคิดกับมัน ไม่ไปหลงกับมัน มันจะมีอารมณ์ ความรู้สึกใดเกิดขึ้น ก็ปล่อยมัน
แล้วเราก็จะรู้ว่า แท้จริงแล้ว มันก็เป็นของชั่วคราว มันมาแล้วก็ไป มันเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน บางครั้งเราอาจจะรู้สึกเป็นทุกข์กับอารมณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในใจ หรือความคิดบางอย่างที่มันผุดขึ้นมา โอ คิดได้อย่างไร ทำไมเราคิดอย่างนี้กับพ่อแม่ ทำไมคิดอย่างนี้กับครูบาอาจารย์ ทำไมคิดได้แบบนี้กับเพื่อน มันรู้สึกผิดหวังในตัวเอง หรือบางทีเกลียดตัวเองเลย
แต่ถ้าหากว่าเราตั้งสติให้ดี แล้วก็ดูมันเฉยๆ เราก็จะเห็นว่า มันมาแล้วก็ไป อย่าไปสงสัย อย่าไปเศร้าโศกเสียใจ อย่าไปคาดคั้นความคิดและอารมณ์เหล่านั้นว่า ทำไมเกิดขึ้น ๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร เราเป็นคนดีทำไมถึงเกิดความคิดแบบนี้ ทำไมมีความคิดสกปรกแบบนั้น อย่าไปคาดคั้น อย่าไปสงสัย เพียงแค่เห็นว่าเป็นสภาวะที่เกิดขึ้น มองว่ามันก็เป็นของมันอย่างนั้นแหละ
อย่าไปสงสัย อย่าไปคาดคั้นเอาคำตอบจากมัน เพราะว่าถ้าเราเผลอไปคาดคั้นหาคำตอบจากมันว่าทำไมถึงเกิดขึ้นมา เราก็จะพลัด เราก็จะถลำเข้าไปในความคิดนั้นหนักขึ้น ยิ่งผลักไสก็ยิ่งยึดติด ไม่ต้องตั้งคำถาม ไม่ต้องคาดคั้น เห็นมันอย่างที่มันเป็นว่า มันเป็นของมันอย่างนั้นแหล่ะ แล้วเดี๋ยวมันก็ดับไปหายไป ถ้าเรามีสติรู้ทัน มันก็ปล่อยวางได้ มันเป็นการรู้แล้วก็วาง รู้แล้วก็ละ
หรือที่หลวงพ่อคำเขียนว่า รู้แล้วก็ผ่าน ท่านเปรียบเหมือนกับนั่งรถทัวร์ มันผ่านตลอด ไม่ว่าสองข้างทางจะเป็นสถานที่อะไร เป็นตลาด หรือเป็นชายทะเล สถานที่จะสวยงามแค่ไหนก็ผ่านตลอด จนกว่าจะถึงสถานีข้างหน้า ไม่เหมือนขับรถส่วนตัว แวะตลอด
ถ้าไม่ปฏิบัติ ไม่เจริญสติ มันก็จะแวะตลอด มันจะข้องแวะทุกความคิด ไม่ว่าจะผลักไสหรือไหลตาม แต่ถ้าหากว่าเจริญสติ มันผ่านตลอด เห็นแล้วก็ผ่าน ๆ เห็นแล้วก็วาง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เห็นรถที่มันแล่นผ่านบนถนนข้างหน้า คันแล้วคันเล่า โดยที่ไม่ได้ทำอะไรกับรถเหล่านั้น ไม่ไปห้ามมัน แล้วก็ไม่ไปโจนขึ้นรถคันไหนที่น่าสนใจ ไม่ทำทั้งสองอย่าง คือไม่ผลักไสและก็ไม่ใฝ่หา
อันนี้ก็จะช่วยทำให้การปล่อยวางในใจหรือด้านในเกิดขึ้นได้ และมันก็ช่วยทำให้เมื่อเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆภายนอก จะเป็นทรัพย์ จะเป็นคน จะเป็นงานการ ก็ปล่อยวางได้ง่ายขึ้น ยังทำงานอยู่ยังเกี่ยวข้องยังทำกิจอยู่ แต่ว่าข้างในใจนั้นโปร่งเบา มีทรัพย์แต่ว่าก็ใช้มันในฐานะที่เป็นนาย ไม่ใช่ปล่อยให้มันใช้เรา เพราะว่าไปยึดติดถือมั่นว่ามันเป็นเราหรือของเรา
ต้องเข้าใจการปล่อยวางให้ดี เราก็จะเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆได้อย่างถูกต้อง อย่างรู้เท่าทันธรรมดา ไม่ว่าสิ่งนั้นจะอยู่ภายนอกหรือว่าเกิดขึ้นในใจของเราก็ตาม
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 7 สิงหาคม 2564