แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เราฟังธรรมกันทุกวันทั้งเช้าทั้งเย็น แต่อย่าลืมว่าธรรมะไม่ใช่มีไว้เพื่อฟังเท่านั้น ธรรมะก็ดีอยู่ แต่ว่าธรรมะหรือธรรม มันจะมีคุณค่าได้ก็เพราะลงมือทำลงมือปฏิบัติ เริ่มต้นด้วยการทำหรือปฏิบัติที่กายที่วาจาอันนี้เรียกว่าศีล
คนเราก็ไม่ได้มีแค่กายวาจา มีใจด้วย ก็ต้องทำที่ใจด้วย หรือทำกับใจด้วย การเอาธรรมะหรือธรรมมาปฏิบัติกับใจ เราก็เรียกโดยสามัญว่าภาวนา หรือบางทีก็ขยายความว่าสมาธิภาวนา คราวนี้เมื่อเราเห็นว่าภาวนาเป็นสิ่งสำคัญ การเอาธรรมะมาปฏิบัติกับใจ เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ จะต้องทำสม่ำเสมอ แล้วก็ต้องรู้ว่าภาวนานั้นคืออะไร มีจุดมุ่งหมายอะไร และทำอย่างไรด้วย
ภาวนาในพระพุทธศาสนา จุดหมายสุดท้ายคือ การปล่อยวาง ปล่อยวางเพราะเห็น เพราะรู้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นได้ โดยเฉพาะการยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นเราเป็นของเรา หรือยึดมั่นถือมั่นว่า มันเที่ยง มันเป็นสุข หรือให้ความสุขกับเราได้ตลอดไป หรือยึดมั่นว่า มันจะต้องอยู่ในอำนาจของเรา
ยึดมั่นไม่ได้ เพราะว่า สิ่งทั้งปวงมันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา และยึดมาเป็นเราเป็นของเราไม่ได้ เมื่อเห็นความจริงแบบนี้แล้ว ก็รู้ว่าต้องปล่อยวาง ที่จริงพอเห็นความจริงอย่างนั้น มันปล่อยวางเอง ก็เหมือนกับเราพบว่า สิ่งที่ถืออยู่ในมือ มันไม่ใช่ทองไม่ใช่เพชร แต่ว่ามันคือขยะ มันคือสิ่งสกปรก หรือเป็นถ่านก้อนแดงๆ พอรู้เท่านั้น วางเลย ปล่อยเลย ไม่ต้องสั่ง
หรือพบว่า หีบสมบัติที่บรรจุเงินอัดแน่นที่กำลังแบกอยู่ ที่จริงคือแบ้งค์กงเต๊ก พอรู้ว่าไม่มีค่าเท่านั้น มันวางเลย แต่ก่อนหลงคิด หลงเข้าใจผิดว่าคือธนบัตรคือเงินมีค่ามหาศาล ต้องทะนุถนอมต้องแบกไว้ หีบเงินนั้น แต่พอรู้ว่าไม่มีค่า แบกไปก็หนักเปล่าๆ วางเลย
ภาวนา จุดมุ่งหมายคือการปล่อยวาง ในความหมายนี้แหล่ะ เราต้องรู้ชัดถึงจุดมุ่งหมาย และที่จริง ไม่ใช่แค่จุดมุ่งหมายของการภาวนาที่เป็นเรื่องของการปล่อยวาง ขณะที่ลงมือปฏิบัติ ขณะที่ทำสมาธิภาวนา มันก็ต้องปล่อยวางไปด้วย ไม่ใช่ไปรอปล่อยวางเอาตอนสุดท้าย ในขณะที่ปฏิบัติในขณะที่ทำนั่นแหละก็ต้องมีการปล่อยวางด้วย
เพราะถ้าไม่ปล่อยไม่วาง มันก็เกิดปัญหา เกิดความทุกข์ตามมา หรือเกิดความทุกข์ขณะที่ปฏิบัติด้วยซ้ำ ปล่อยวางเลยขณะภาวนาไม่ว่าจะเป็นเดินจงกรม สร้างจังหวะหรือการทำภาวนาในรูปแบบอื่นก็ตาม
อย่างแรกคือ ปล่อยวางอนาคตและอดีต ทันทีที่ลงมือเจริญสติ ทำกรรมฐาน มีงานการอะไรรออยู่ข้างหน้า มีปัญหาอะไรที่ต้องแก้ไขข้างหน้า ก็ต้องวางเอาไว้ก่อน ไม่ว่างานนั้นจะสำคัญอย่างไร ไม่ว่าปัญหานั้นจะเร่งด่วนอย่างไร รวมทั้งมีภารกิจมากมายเพียงใดค้างคาอยู่ ทันทีที่ลงมือเดินจงกรม สร้างจังหวะ ลงมือภาวนา ก็วาง
อดีตก็เหมือนกัน เมื่อวานนี้เราทำอะไรไป เกิดอะไรขึ้น ก็ต้องวางเช่นกัน ไม่เก็บเอามาคิด ไม่เก็บเอามาแบกเอาไว้ แม้กระทั่งความสำเร็จหรือความสงบเย็นที่ได้จากการภาวนาเมื่อวาน รู้สึกภาวนาดีมากเลยเมื่อวาน สงบเย็นจิตใจเบิกบาน ไม่มีความคิดรบกวนเลย ก็ต้องวางเหมือนกัน เพราะมันเป็นอดีตไปแล้ว ถ้าไม่วาง มันจะมารบกวน มาขัดขวางการปฏิบัติ
หลายคนพอไม่วางแล้ว เอาความรู้สึกดีๆที่ได้จากการปฏิบัติเมื่อวาน มาครุ่นคิด หรือเอามาเปรียบเทียบกับการปฏิบัติขณะนี้ เกิดความรู้สึกเครียด เกิดความรู้สึกหงุดหงิดขึ้นมาทันที เพราะว่าไม่ได้อย่างเมื่อวานทำไมไม่ได้ เกิดอะไรขึ้น แล้วยิ่งพยายามทำให้ได้อย่างเมื่อวาน จิตก็ยิ่งแปรปรวน หรือว่ากระสับกระส่าย เกิดความหงุดหงิด เกิดความผิดหวังขึ้นมา ทั้งๆที่การปฏิบัติในเวลานี้ก็ไม่ได้แย่อะไรเท่าไหร่ แต่กลับรู้สึกผิดหวัง
อันนี้เพราะว่า ไม่รู้จักวาง วางอดีตวางอนาคตยังไม่พอ วางคนอื่นๆที่อยู่รอบข้างด้วย ไม่ต้องไปสนใจว่าเขาภาวนาหรือเปล่า บางคนปฏิบัติไปก็หงุดหงิดคนข้างๆ หรือคนที่อยู่ใกล้ๆว่า ทำไมเขาไม่เดินเลย ทำไมเขาไม่ยกมือเลย ทำไมเขาเอาแต่นั่งเหม่อลอย อันนี้ก็เรียกว่าคลาดเคลื่อนจากภาวนา หรือไปสนใจสิ่งรอบตัว ไปห่วงกังวลว่าเดี๋ยว ทำไมมันแดดร้อน ฝนตกแล้วจะไปเก็บผ้าทันหรือเปล่า ร้อนมากๆแบบนี้เราจะเป็นไข้ไหม เรียกว่าไปพะวงกับสิ่งต่างๆรอบตัว ก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องวาง
วาง แม้กระทั่งเวลา บางคนตั้งใจว่าจะปฏิบัติ 1 ชั่วโมง หรือแม้แต่ครึ่งชั่วโมงก็ตาม ภาวนาไป เดินจงกรมไป ประเดี๋ยวเดียวดูนาฬิกาแล้ว สมัยก่อนใช้วิธีจุดธูป ธูปหนึ่งกว่าจะหมดก็ประมาณสัก 30 นาทีหรือ 40 นาที ก็กะว่าจะเดินหรือปฏิบัติจนธูปดับ ปฏิบัติไปๆก็มองธูปแล้วว่าไปถึงไหนแล้ว เดินแบบนี้หรือภาวนาแบบนี้ก็เครียดเพราะว่าคอยลุ้นว่าเมื่อใดธูปจะดับสักที ก็ต้องวาง วางเวลา ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม
พูดง่ายๆคือวางโลกรอบตัวให้หมดเลย ยังไม่ต้องเอามาเป็นสิ่งพะวงจดจ่อ ไม่เอามาเป็นอารมณ์ รวมทั้งคนที่เรารักคนที่เราห่วง งานการที่ยังต้องทำ ก็ต้องวางเหมือนกัน ให้มันรู้ ให้มาอยู่กับปัจจุบัน เพียงแค่รู้กายรู้ใจว่า มีอะไรเกิดขึ้นกับใจในขณะนี้ หรือว่ากายกำลังทำอะไรอยู่ในปัจจุบัน ถ้ากายกำลังเดินอยู่ก็รู้แค่ว่าเดิน ถ้ากายนั่งก็รู้ว่านั่ง ถ้ากายกำลังมีลมหายใจก็รู้ลมหายใจเข้าออก
แม้กระทั่งกลืนน้ำลาย กระพริบตาก็รู้ ถ้าหากว่าปฏิบัติไปนานๆมันจะรู้ละเอียดขึ้น ไม่ใช่แค่ตัวเขยื้อนเท้าขยับ จะกลืนน้ำลาย กระพริบตาก็รู้
สิ่งที่เกิดขึ้นกับใจก็เหมือนกัน ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นก็รู้ เป็นการรู้ที่ปล่อยวางไปพร้อมๆกัน มันจะมีความคิดมากแค่ไหนก็ปล่อย มันจะมีอารมณ์อะไรที่ไม่ค่อยชอบ ไม่อยากให้มันเกิด ก็ปล่อยเหมือนกัน ปล่อยวางในสิ่งที่เกิดขึ้นกับใจ ไม่ว่ามันจะเป็นอะไรก็ตาม คิดดีคิดไม่ดี หรือรู้สึกดีหรือไม่ดีก็แล้วแต่
ตรงนี้เป็นสิ่งที่ยาก เพราะว่าหลายคนพอภาวนาแล้ว จะไม่ชอบความคิด ความฟุ้งซ่าน ยิ่งมามากเท่าไร ก็ยิ่งหงุดหงิดรำคาญ แล้วอดไม่ได้ที่จะเข้าไปจัดการ ไปกดข่มไปสู้รบตบมือกับอารมณ์ต่างๆที่ไม่ชอบ ที่เรารู้สึกว่ามันไม่ดี
ความโกรธ ความหงุดหงิด ความท้อแท้ ความผิดหวัง ความเบื่อ ที่จริง นี่ก็คือช่วงเวลาของการปล่อยวางด้วยเหมือนกัน ไม่ต้องทำอะไรกับมันแค่รู้ เพียงแค่รู้ รู้ซื่อๆหรือรู้เฉยๆ ก็เป็นการปล่อยวางแล้ว ปล่อยวางมีแค่คำสองคำคือ ปล่อยกับวาง ปล่อยไม่ใช่แค่หมายความว่า จับอะไรแล้วก็ปล่อย แต่รวมถึงการที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งนั้นด้วย
อย่างเช่นเวลาหมาเห่า เออ เราปล่อยมันไป ปล่อยให้มันเห่าไป บางทีแม่ลูกอ่อนเห็นลูกร้องไห้ ก็ปล่อยให้เขาร้องไป คำว่าปล่อยวางมีความหมายตรงนี้ด้วยคือ ไม่ไปยุ่งเกี่ยว ความคิดมันเกิดขึ้นมาโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ คิดโน่นคิดนี่ บางทีไหลไปเก็บเรื่องราวในอดีต หรือมโนปรุงแต่งเรื่องราวในอนาคต อันนี้คือความคิดที่มันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็ต้องรู้จักปล่อยวางด้วยคือ ปล่อยให้มันคิดไป
อารมณ์ที่ผ่านเข้ามาในใจก็ปล่อยมัน ไม่ไปทำอะไรกับมัน ไม่ไปสู้รบตบมือ ไม่ไปกดข่มขับไสมัน หรือว่าถ้าเผลอไปสู้รบกับมัน ไปแบกมันเอาไว้ ก็ต้องรู้จักวาง คำว่าวาง มันเล็งไปถึงว่า เคยแบกอะไรไว้ เคยถืออะไรไว้ ก็วาง เพราะว่าบ่อยครั้ง เวลามีความคิดอะไรเกิดขึ้น ด้วยความไม่รู้ ด้วยความหลง ด้วยความลืมตัว ใจก็เข้าไปแบก หรือไล่ตามความคิดนั้น ปล่อยให้ความคิดนั้นลากลู่ถูกังไป พอรู้ตัวเข้าก็วางมันลงเลย หรือปล่อยเลย
คำว่าปล่อยวาง มีความหมายถึง ในแง่ที่ว่าไม่ต้องไปยุ่งกับมันเลยตั้งแต่แรก หรือว่าเผลอไปยุ่งกับมัน เผลอไปแบกมัน เผลอไปสู้รบตบมือกับมันแล้ว เราก็วางมือ ไม่ไปยุ่ง ส่วนใหญ่ๆใหม่ๆ ก็แบกเข้าไปแล้ว ถึงค่อยวางทีหลัง แต่ตอนหลัง ก็ไม่ไปทำอะไรกับมันตั้งแต่แรก
การภาวนาหรือการเจริญสติ การปล่อยวางตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นหัวใจของการภาวนา เป็นหัวใจของการเจริญสติเลย
แต่ว่าผู้ปฏิบัติใหม่ๆหรือแม้กระทั่งคนที่ปฏิบัติมานาน บางทีก็เข้าใจผิดว่า ถ้าภาวนาแล้ว มันต้องไม่คิด ถ้ามันคิดแล้วต้องไปจัดการกับมัน อย่าให้มีความคิดเกิดขึ้น อย่าให้มีความฟุ้งเกิดขึ้น พยายามบังคับจิตไม่ให้คิด พยายามกดข่มความคิดถ้ามันเกิดขึ้นแล้ว อันนี้เป็นเพราะว่าไม่เข้าใจว่า จริงๆการภาวนา มันคือการปล่อยจริงๆ
มีสมัยหนึ่งมีพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ระดับสมเด็จ คือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ท่านเป็นถึงสังฆนายก สมัยก่อนมีตำแหน่งสังฆนายกไม่ใช่มีแค่สังฆราช และท่านเป็นผู้ที่ขยันขันแข็งในการทำงานมาก เป็นผู้ที่ผลักดันส่งเสริมการศึกษาของคณะสงฆ์ตั้งแต่สมัยที่อยู่ภาคอีสาน จนกระทั่งได้รับการสนับสนุนให้มาเป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ เป็นถึงสังฆนายก
วันหนึ่งหลวงปู่มั่น ไปเยี่ยมท่าน ไปกราบคารวะท่าน ท่านก็ปรึกษาทำนองบ่นก็ได้ ว่าช่วงนี้เราทำงานบริหารคณะสงฆ์ งานเยอะมาก เวลาภาวนาทีไรมันหวนคิดแต่เรื่องงานตลอด หยุดคิดไม่ได้เลย การทำให้หยุดคิดเป็นเรื่องยากมาก อยากจะขอคำแนะนำจากญาคูหน่อย
ท่านก็ตอบได้อย่างชัดเจนมากเลยว่า ท่านบอกว่าการทำสมาธิภาวนานี่ ท่านให้คิดได้ แต่ให้มีสติ ตามรู้ พิจารณาถึงสภาพความเป็นจริง คือ ความไม่เที่ยง อนิจลักษณะอยู่เสมอ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ได้ฟัง ก็ได้หลัก แล้วนำไปปฏิบัติ คือ พอใจไปคิดถึงเรื่องงาน ก็ช่างมัน
หลวงปู่มั่นบอกว่าคิดได้ แต่ให้มีสติตามรู้ ความคิดมามากมาย มันก็ไม่ได้เป็นอุปสรรค การปฏิบัติก็ราบรื่น ความคิดยังเยอะเหมือนเดิม คิดเรื่องงานอยู่แต่ว่าไม่มีความทุกข์ ไม่มีความหงุดหงิดเลย และแถมการปฏิบัติเจริญก้าวหน้าด้วย เพราะเพียงแค่เห็นมัน มีสติ รู้ทันมัน
คำแนะนำของหลวงปู่มั่นสำคัญมาก การทำสมาธิภาวนานั้น คิดได้ คือปล่อยให้มันคิดไป อันนี้ก็เป็นการปล่อยวางอย่างหนึ่ง แต่ว่าไม่ใช่ปล่อยให้มันคิดแล้วเตลิดไปกับมัน หรือคิดไปกับมัน ใจก็แค่รู้ทัน
แต่ว่านักปฏิบัติส่วนใหญ่ไม่ค่อยปล่อยไม่ค่อยวาง เวลามีความคิดมีอารมณ์เกิดขึ้น พยายามไปกดข่มมันให้ได้ จะพยายามห้ามจิตไม่ให้คิด เพราะลึกๆมีความอยากอยู่ อยากจะให้จิตสงบ รวมทั้งคาดหวังให้จิตไม่ฟุ้ง อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องปล่อยเหมือนกัน ปล่อยวางความอยาก
เวลาเราลงมือภาวนา ลองสังเกตดูว่าเรามีความอยากจะให้จิตสงบไหม หรือขณะที่กำลังปฏิบัติอยู่ มันมีความอยาก ตอนเริ่มมันไม่มีความอยาก แต่พอปฏิบัติไปมันมีความอยาก พออยากให้จิตสงบมันก็เริ่มเข้าไปควบคุมจิตแล้ว มันก็เริ่มเข้าไปควบคุมความคิดแล้ว ถึงตอนนี้ก็จะไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวางแล้ว จะไล่บี้ความคิดให้ได้ จัดการกับอารมณ์ แทนที่จะปล่อยให้มันเกิดขึ้น
หน้าที่ของเราคือ ดูมัน แล้วก็เห็นมันอย่างที่มันเป็น เห็นอาการของมันว่า เป็นเช่นนั้นเอง ยอมรับความเป็นจริงของมัน ยอมรับว่ามันเกิดขึ้นที่ใจ ไม่ใช่แค่ยอมรับอย่างเดียว เห็นมันด้วย เห็นมันอย่างที่มันเป็น เห็นมันตามความเป็นจริง ตรงนี้แหละที่จะทำให้ได้เห็นถึงธรรมชาติหรือว่าสัจธรรมที่มันแสดงออก คือ ไม่เที่ยง แล้วก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เสื่อมดับไป แล้วก็ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ความคิดนั้นก็ไม่ใช่เรา ถ้ามีสติเห็น
ความโกรธก็ไม่ใช่เรา แต่ถ้าไม่มีสติก็ไปคิดว่าเป็นเรา ความโกรธเป็นของเรา ก็หลงเชื่อมัน หลงประคบประหงมมัน หลงหวงแหนมัน ไม่ปล่อยไม่วางสักที แต่ถ้าเห็นแบบด้วยใจที่เป็นกลาง มันก็จะเห็นอย่างที่มันเป็น การเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงนี่แหละ มันจะนำไปสู่การปล่อยวางในที่สุด ซึ่งเป็นจุดหมายสุดท้ายของการภาวนา
เพราะฉะนั้นเตือนตนอยู่เสมอว่า ภาวนานั้นเพื่อปล่อยเพื่อวาง ไม่ใช่เพื่อเอา ไม่ใช่เพื่อได้ ถ้าไม่เข้าใจ มันก็จะผิดทิศผิดทาง แล้วก็เกิดความเครียดด้วย เกิดความทุกข์ด้วย
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเช้าวันที่ 7 สิงหาคม 2564