แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ ท่านเป็นครูบาอาจารย์ชื่อดัง สมัยเดียวกับหลวงปู่มั่นแต่ว่าอยู่คนละภาค หลวงพ่อปานมีชื่อเสียงในแถบภาคกลาง แล้วตอนหลังก็มีคนเคารพนับถือทั่วประเทศ
ท่านเล่าว่าตอนที่ท่านยังหนุ่ม บวชใหม่ๆ ท่านก็ไปแสวงหาครูบาอาจารย์ ช่วงแรกก็ไปเรียนวิชากรรมฐานรวมทั้งคาถาอาคม สมัยก่อนกรรมฐานกับคาถาอาคมไปด้วยกันเลย จนกระทั่งคนไปเข้าใจว่ากรรมฐานเป็นเรื่องของวิชาคาถาอาคม ที่จริงเป็นคนละส่วนกัน ท่านเรียนกรรมฐานได้สักระยะหนึ่ง พอมีความเชี่ยวชาญท่านก็ไปเรียนด้านปริยัติ ก็ต้องไปแสวงหาครูบาอาจารย์
ท่านได้ทราบว่า ที่อยุธยามีอาจารย์ด้านปริยัติธรรมชื่อดังท่านหนึ่งชื่อพระอาจารย์จีน วัดเจ้าเจ็ด ก็เลยไปเรียนกับอาจารย์จีน ท่านเล่าว่าอาจารย์จีนเป็นพระอาจารย์ที่เก่งด้านปริยัติ แต่ว่าท่านเป็นคนที่มีอารมณ์ร้าย โทสะแรง เวลาโกรธท่านยั้งไม่อยู่ห้ามใจไม่ไหว ต้องลงมือลงไม้
เวลาสอนหนังสือ ก่อนจะสอนท่านจะเข้าไปในกรง ท่านให้ลูกศิษย์สร้างกรงขนาดใหญ่ เวลาท่านจะสอนหนังสือ ท่านจะขังตัวเองอยู่ในกรงนั้น แล้วก็ให้ลูกศิษย์เก็บกุญแจเอาไว้ เพราะอะไร เพราะว่าเวลาท่านสอน เกิดลูกศิษย์ไม่สนใจเรียน ตอบไม่ถูก ท่านจะโกรธมาก ถ้าไม่มีกรง ท่านก็จะตรงปราดเข้าไปตบลูกศิษย์เลย ซึ่งเป็นทั้งพระทั้งเณร
แต่ว่าพอถูกขังอยู่ในกรง ท่านก็ทำได้เพียงแค่เขย่ากรงด้วยความโกรธ ออกมาไม่ได้เพราะว่าถูกขังไว้ ต่อเมื่อความโกรธทุเลาลง ท่านก็กลับมาเป็นพระอาจารย์จีนคนเดิม สอนเสร็จก็ออกจากกรง ให้ลูกศิษย์ไขกุญแจกรงออกมา อันนี้ก็เป็นเรื่องแปลก ที่น่าคิดก็คือว่า พระอาจารย์จีนมีความรู้ด้านปริยัติธรรมมาก ย่อมรู้ว่าความโกรธไม่ดี โทสะเป็นกิเลสตัวใหญ่ แต่รู้ทั้งรู้ ท่านก็ห้ามความโกรธไม่ได้ พอโกรธแล้ว ก็คุมไม่อยู่
คนจำนวนไม่น้อย แม้โกรธก็ยังคุมกายวาจาได้ ไม่ผลีผลามลงไม้ลงมือ แต่ท่านอาจารย์จีนทำไม่ได้ เวลาโกรธห้ามกายไม่ได้ คุมมือคุมไม้ไม่ได้เลย ท่านก็รู้ตัวด้วยว่ามันไม่ถูก ท่านจึงให้สร้างกรงขังเวลาสอนหนังสือ คือห้ามตัวเองไม่ได้ ก็มีกรงมากำกับไม่ให้ทำร้ายผู้อื่น เวลาท่านสอนหนังสือ ท่านคงสอนว่าความโกรธไม่ดี ความโกรธเป็นกิเลสที่ขัดขวางการทำความดี แต่ว่าตัวท่านเองทำไม่ได้ หักห้ามความโกรธไม่ได้
อันที่จริงก็เป็นธรรมดาของมนุษย์เรา คนส่วนใหญ่ก็รู้ว่าอะไรดีไม่ดี แต่บ่อยครั้งก็ไม่สามารถยับยั้งใจไม่ให้ทำชั่ว หรือว่าไม่สามารถที่จะเคี่ยวเข็ญตัวเองให้ทำความดีอย่างที่ตัวเองรู้ว่าดี มันมีคำพูดที่เขาเขียนไว้ติดท้ายรถสิบล้อ ดีชั่วรู้หมด แต่อดใจไม่ได้ คือ ผิดชอบชั่วดี เป็นเรื่องของความคิดหรือสมองก็ได้ แต่มันคนละส่วนกับจิตใจ หรือคนละส่วนของหัวใจ สมองบอกว่าดี แต่ว่าใจไม่คล้อยตาม
ทำไมใจไม่คล้อยตาม ก็เพราะว่า กิเลสครอบงำ หรือว่าไม่มีแรงที่จะต้านทานอำนาจของกิเลส ก็รู้อยู่ว่ามันไม่ดี แต่หักห้ามใจไม่ได้ ใจก็เรียกว่าเผลอไผลไปตามอำนาจกิเลส เพราะอะไร เพราะว่าจิตใจอ่อนแอ จิตใจพ่ายแพ้ต่อกิเลส ไม่ว่ากิเลสจะเป็นโลภะ ราคะ หรือโทสะก็ตาม
อันนี้่เป็นปัญหาของมนุษย์ทุกคนก็ว่าได้ หลายคนก็รู้ว่าเหล้าบุหรี่ไม่ดี แต่ว่าหักห้ามใจไม่ได้ ถึงแม้ว่าไม่สูบบุหรี่ไม่กินเหล้า แต่ก็รู้ว่า อาหารบางอย่างกินมากไม่ดี เช่น น้ำตาล ไขมัน หมูพะโล้ ขาหมู แฮมเบอร์เกอร์ ไอศครีม ช็อคโกแลต หลายคนรู้ว่าเป็นอันตราย เป็นโทษสุขภาพ เพราะว่ากินเย่อะ รู้ทั้งรู้แต่ห้ามใจไม่ได้
ยังไม่ต้องพูดถึงขั้นว่า หลายคนก็รู้ว่า การภาวนา การทำสมาธินี่ดี แต่ว่าใจก็บ่ายเบี่ยง หลีกเลี่ยง การออกกำลังกายเป็นของดีมีประโยชน์ แต่ก็ไม่ยอมทำ เอาแต่นั่งๆนอนๆ อันนี้เป็นเพราะว่ามีช่องว่างหรือความขัดแย้งระหว่างความคิดกับอารมณ์ หรือสมองกับหัวใจก็ได้
และเดี๋ยวนี้ คนสมัยนี้คิดเก่ง เราถูกฝึกมาให้คิดได้สารพัด แล้วก็รู้อะไรต่างๆมากมาย แต่ว่าจิตใจอ่อนแอ ไม่สามารถที่จะคล้อยตามสิ่งที่เราเห็นว่าดี หรือสิ่งที่มีเหตุมีผลได้ ถ้าเปรียบเป็นภาพ สมองมันใหญ่แต่หัวใจเล็ก เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะต้องมาเสริมก็คือ การฝึกจิตให้มีความเข้มแข็ง สามารถที่จะต้านทานอำนาจของกิเลสได้ ไม่ว่าจะเป็นโทสะ หรือว่าโลภะก็ตาม ถือว่าเป็นการบ้านชิ้นใหญ่ของคนเราเลย โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน
เพราะว่าคนส่วนใหญ่ไม่สามารถที่จะทำสิ่งที่เห็นว่าดีหรือว่ามีประโยชน์ได้ กลับทำสิ่งตรงข้ามโดยที่หักห้ามใจไม่อยู่ ทำอย่างไรถึงจะทำให้ใจเรามีความเข้มแข็ง ในด้านหนึ่งต้องฝึกใจให้มีความอดทน ความอดทนเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่ใช่อดทนต่อความยากลำบากอย่างเดียว ยังอดทนต่อสิ่งล่อเร้าเย้ายวน อดทนต่ออำนาจของกิเลส เพราะฉะนั้นขันติจึงเป็นธรรมข้อสำคัญ
อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสใน โอวาทปาติโมกข์ ว่า ขันติคือความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง คือถึงแม้ยังไม่เผากิเลส แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยต้านทานกิเลสได้ อย่างท่านพระอาจารย์จีน ถ้าท่านมีขันติ มีความอดทน ก็คงจะสามารถยับยั้งมือไม้ไม่ให้ทำร้ายลูกศิษย์ได้ แต่จิตใจท่านไม่เข้มแข็งพอที่จะต้านทานความโกรธ โกรธขึ้นมาทีไร หมดเนื้อหมดตัวไปเลย คุมอารมณ์ไม่ได้ อย่างน้อยก็คุมกายวาจาไว้
การที่จะคุมอารมณ์ก็ดี คุมวาจาก็ดี ก็ต้องอาศัยความอดทนเป็นเบื้องต้น นั่นคือขันติ รวมทั้งไม่ใช่อดทนเฉพาะต่อสิ่งที่ยั่วยุอย่างเดียว สิ่งที่เย้ายวนมันก็ต้องใช้ขันติหรือความอดทน ซึ่งถ้าพูดแบบสมัยนี้มันก็รวมไปถึงการมีพลังใจที่เข้มแข็งด้วย
พลังใจเกิดจากอะไร เกิดจากการที่เราพยายามเคี่ยวเข็ญตนเอง หรือฝืนให้ทำในสิ่งที่เรารู้ว่าดี แต่ว่ามันทำไม่ค่อยได้ เราก็พยายามเคี่ยวเข็ญ พยายามฝืนทำ การฝืนทำหรือการเคี่ยวเข็ญตนเอง มันทำให้ใจมีพลัง มีความอดทนที่จะต้านทานกิเลส ไม่ว่าจะเคี่ยวเข็ญเรื่องอะไรก็ตาม มันก็สามารถที่จะส่งผลไปเรื่องอื่นได้ ถ้าหากว่ามันทำให้จิตใจมีความอดทน
อย่างเช่น คนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย เอาแต่นั่งๆนอนๆ พอมาเข้าคอร์สออกกำลังกาย ประมาณสัก 2 เดือน 3 เดือน ทั้งวิ่งทั้งยกน้ำหนักเต้นแอโรบิค เขาพบว่านอกจากร่างกายจะแข็งแรง ปรากฏว่า การสูบบุหรี่ การกินเหล้า กินชากาแฟ หรืออาหารขยะลดน้อยลงไปด้วย ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวกันเลย ออกกำลังกายทำให้ร่างกายแข็งแรง แต่ทำไมมีผลต่อพฤติกรรมส่วนอื่นด้วย
สูบบุหรี่น้อยลง กินเหล้าน้อยลง ชากาแฟก็ดื่มน้อยลง รวมทั้งเสียเวลากับดูทีวีน้อยลงในสมัยก่อนที่ยังไม่มี Social Media เพราะอะไร เพราะว่าการออกกำลังกายต้องเคี่ยวเข็ญตนเอง มันทำให้มีความอดทน มันทำให้มีความอดกลั้น จิตใจมีพลัง พอจิตใจมีพลังเพราะการออกกำลังกาย ก็ทำให้มีพลังในการต้านทานสิ่งเย้ายวน ไม่ว่าจะมาในรูปของบุหรี่เหล้า ชากาแฟหรือว่าอาหารขยะ ซึ่งอร่อยแต่ว่าไม่มีคุณภาพ อันนี้เพราะว่าจิตใจได้รับการฝึกฝนให้เข้มแข็ง
เพราะฉะนั้น การที่เรามาอยู่วัด แล้วมันมีแบบแผนวิถีชีวิตหลายอย่างที่เราไม่คุ้น แต่ถ้าเราพยายามทำ เช่น เราตื่นนอน แต่เช้าก่อนสว่าง แล้วก็ทำกิจวัตรเป็นประจำ แม้ว่าจะต้องฝืนเพราะความไม่คุ้น หรือเพราะความขี้เกียจก็ตาม แต่พอทำไปๆ จิตใจจะเข้มแข็ง มีความอดทน พอมีความอดทนแล้วจะทำสิ่งอื่นที่ดี แต่สวนทางกับกิเลส มันก็ทำได้ง่ายขึ้น สามารถที่จะต้านทานอำนาจกิเลสได้ กิเลสบอกว่าไม่เอาๆ แต่ว่าเราก็จะทำ เพราะว่าจิตใจมีพลัง มีความเข้มแข็ง มีความอดทน
นอกจากความอดทน หรือขันติ หรือความเข้มแข็งของใจแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือ สติ สติเป็นการเพิ่มคุณภาพของจิต ให้สามารถรับมือกับอารมณ์ต่างๆที่เป็นโทษได้ หรือทำให้เรามีความสามารถในการรับมือกับกิเลสได้ดีขึ้น อย่างเช่นความโกรธ ใหม่ๆต้องใช้ความอดกลั้น พยายามฝืนใจ ทั้งๆที่มันโกรธ แต่ก็พยายามหักห้ามใจ ไม่พูด ไม่ทำอะไรที่เป็นโทษก่อความเสียหาย แต่ว่าความโกรธก็ยังมีอยู่ มันก็ยังเผาลนจิตใจ
แต่ถ้าเกิดว่าเรามีสติ ชนิดที่ว่ารู้ทันความโกรธ เห็นความโกรธ ความโกรธก็ละลายหายไปโดยที่ไม่ต้องไปอดทนสู้รบกับมันเลย คนที่พยายามอดกลั้นต่อความโกรธ มันต้องใช้พลังเยอะ ต้องพยายามควบคุมอารมณ์ พยายามควบคุมกายวาจา แต่ว่าทันทีที่มีสติเห็นมัน อารมณ์โกรธก็แผ่วเบาลงไปเลย มันไม่จำเป็นต้องใช้ความอดกลั้นอย่างเดียว
อย่างที่เคยได้เล่าถึงนักโทษสองคนที่มีเรื่องทะเลาะวิวาทบาดหมางกัน เรื่องก็ไม่เป็นเรื่อง เรื่องของการเปิดดนตรีดังในตอนกลางคืน จนกระทั่งอีกคนหนึ่งนอนไม่หลับ คนที่นอนไม่หลับก็ไปเตือนไปขอร้องให้เปิดเพลงเบาๆ อีกคนหนึ่งไม่ยอมตะโกนด่า ก็ทะเลาะเบาะแว้งกัน ยังไม่ถึงขั้นชกต่อยกัน เพราะว่าอีกคนหนึ่งก็รีบกลับเข้าห้องของตัวก่อน เพราะกลัวว่าจะมีเรื่อง แต่ในใจยังมีความโกรธอยู่ คิดหาทางแก้แค้นหาทางชกต่อย
แต่จู่ๆเขาก็เห็นความโกรธของตัวซึ่งไม่ใช่เป็นความบังเอิญ แต่ว่าเกิดจากการฝึก เขาได้ฝึกการเจริญสติมาเป็นระยะๆ ในคุก อาจารย์สอนให้เขาเห็นความโกรธ เห็นทุกอารมณ์ที่มันเกิดขึ้น โดยที่ไม่ต้องทำอะไรกับมัน พอนึกถึงคำสอนของอาจารย์ เขาก็ได้สติ มีความโกรธขึ้นมาเขาก็เห็นความโกรธ เขาบอกว่าเป็นการเห็นความโกรธครั้งแรกในชีวิตของเขาเลย พอเห็นแล้วมันสงบเลย มันไม่มีความคิดที่จะไปต่อยจะไปชกเขา และมันไม่จำเป็นต้องใช้ความอดกลั้นข่มใจ
แถมวันรุ่งขึ้น ยังกลับไปหาเพื่อนที่เพิ่งวิวาทกันแล้วก็ยื่นมือ พร้อมกล่าวคำขอโทษ ยื่นมือแบบเขย่ามือตามภาษาฝรั่ง ถ้าใช้ความอดทนอดกลั้น มันก็ยังโกรธอยู่ แต่ว่ามันยังยับยั้งไม่ให้มือไม้ออกไปสร้างปัญหา แต่พอเห็นความโกรธคือสติ ความโกรธหายไปเลย แถมยังมีความรู้สึกที่เป็นกุศลคืออยากจะขอโทษ เพราะพอมีสติ นอกจากความโกรธหายไปแล้ว คุณธรรมอย่างอื่นก็เกิดขึ้นได้ง่าย เช่น ความเมตตาความกรุณา รวมทั้งความรู้สึกความลดน้อยถอยลงของอัตตา อัตตามันเบาบางลง
อย่างที่พูดเมื่อวาน หลวงพ่อชาพูดไว้ ถ้ามีสติสัมปชัญญะเมื่อไหร่ ธรรมะไม่ไปไหนหรอก มันก็จะมาอยู่ตรงนี้แหละ อยู่ที่ใจเรา รวมทั้งธรรมะที่ควรรู้ควรเห็นก็จะมาเกิดที่ตรงนี้ ถ้าเรามีสติหรือว่าจิตเรามีความระลึกรู้ มีความรู้ตัว มันก็ช่วยทำให้เราสามารถที่จะทำสิ่งที่เราเห็นว่าดี ถูกต้องได้ เพราะว่าจิตมันคล้อยตามได้ง่าย มันไม่ใช่สวนทางกันระหว่างเหตุผลกับอารมณ์
ความคิดสามารถจะสรรหาเหตุผลที่ดีๆและมันก็รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดี อะไรเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ว่าพอมีอารมณ์เกิดขึ้น เช่น โลภะ โทสะ เกิดขึ้น ความคิดดีๆมันต้านทานไม่ไหว คิดดีแค่ไหน แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำสิ่งที่ดีได้ เพราะว่าความโกรธ ความโลภ มันครองใจ และอารมณ์เหล่านี้ไม่สามารถระงับได้ด้วยความคิด เวลาเราโกรธ จะบอกว่าโกรธไม่ดี ๆ มันก็ยังไม่มีผล มันก็ยังโกรธอยู่ หลายคนรู้ตัวว่าโกรธ แต่ว่าเวลาบอกกับตัวเองว่าโกรธไม่ดี อย่าโกรธนะ มันก็ยังโกรธอยู่
เห็นสิ่งที่เย้ายวน เหล้าบุหรี่ยา หรือแม้กระทั่งอาหารที่ถูกปาก แต่ว่ามันเป็นโทษเพราะว่าเป็นเบาหวานอยู่ กินน้ำตาลไม่ได้ มันก็มีความคิด บอกอยู่ในหัวว่า มันไม่ดี อย่ากินๆ แต่ความอยากมันมี ถ้ามันมีแล้ว จะมีความคิดดีอย่างไรมันก็เอาชนะความอยากไม่ได้ ความคิดมันจะดีเลิศวิเศษอย่างไร ก็ไม่มีพลังพอที่จะรับมือกับกิเลสหรืออารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นโทสะหรือราคะ หรือว่าตัณหา โลภะ
แต่ว่าถ้าเราฝึกจิตให้มีขันติก็ดี โดยเฉพาะมีสติ จิตที่มีคุณภาพแบบนั้น มันจะรับมือ ต้านทาน หรือจัดการกับอารมณ์เหล่านี้ได้ ไม่ได้จัดการด้วยการไปสู้รบตบมือกับอารมณ์เหล่านั้น มันเหมือนกับความอดทน หรือขันติ มันต้องไปสู้กับความโลภ ความอยากหรือโลภะ รวมทั้งความโกรธ โทสะ มันต้องสู้กันพันตูเลย ระหว่างขันติกับกิเลส
แต่ว่าสติ มันไม่ต้องสู้เลย มันไม่มีการสู้รบตบมือกันระหว่างสติกับอารมณ์เหล่านี้ เพราะว่าสติ มันเพียงแค่เห็นเฉยๆ เห็นหรือว่ารู้ซื่อๆ อารมณ์พวกนี้ก็ซาไป อย่างพอมีความโกรธเกิดขึ้น เห็นความโกรธ มันสงบเลย ความอยากก็เหมือนกัน หรือตัณหา ราคะ โลภะ จะใช้ขันติรับมือกับมันก็ได้ แต่ว่าบางทีก็เหนื่อยและบางทีก็แพ้ แต่ถ้ามีสติรับมือ ก็เอาอยู่ได้ ถ้าสติมีกำลัง โดยที่ไม่ต้องสู้กับความอยากหรืออารมณ์นั้นเลย
มีเพื่อนเล่าว่า ลูกสาวอายุ 12 อยากได้ของเล่น แม่ก็ถามว่ามันคืออะไร เด็กก็บอกว่าคือไมโครโฟนที่กดแล้วมีเสียงเพลงเหมือนกับเจ้าตัวกำลังร้องเพลง อันนี้เมื่อสิบกว่าปีก่อนสมัยที่ยังไม่มีสมาร์ทโฟนโทรศัพท์มือถือ เด็กอยากได้มาก เห็นที่ร้านตอนเดินกลับจากโรงเรียน แม่ถามว่าเท่าไหร่ เด็กบอกว่า 400 สำหรับครอบครัวนั้นถือว่าแพง โดยเฉพาะกับเด็กอายุ 12 แม่ก็มีทางเลือกอยู่ 2 อย่าง คือ อนุญาตให้เงินลูก หรือว่าไม่ให้
แต่ว่า ถ้าไม่ให้หรือไม่ยอม เด็กก็คงจะไม่พอใจ แต่ถ้าให้ไปเลยก็คงไม่ดี ก็เลยมีเงื่อนไขกับลูกว่า แม่จะซื้อของเล่นให้ลูกแต่มีเงื่อนไข 2 ข้อกับลูกคือ จะหักค่าขนม วันละครึ่งหนึ่งประมาณ 1 อาทิตย์ และข้อที่ 2 ทุกวันก่อนที่ลูกจะกลับบ้าน ก็แวะที่ร้านของเล่น แล้วก็ดูของเล่นนั้น แล้วก็คอยสังเกตดูความอยากด้วย ความอยากจะได้ ลูกก็ตกลงเลย ทำอย่างนี้ทุกวัน
แต่ทำไปได้ 3 วัน พอมาวันที่ 4 ก็เดินมาบอกแม่ว่าไม่เอาของเล่นแล้ว แม่ถามว่าทำไม ลูกบอกว่าเบื่อแล้ว เสียดายเงิน ทำไมความอยากหายไป ก็เพราะว่าเด็กมาดูความอยาก เด็กไม่รู้ว่าอันนั้นคือการที่มีสติเห็นความอยาก แต่เพราะความอยากได้ก็เลยทำตามที่แม่บอก พอมาดูความอยาก เห็นความอยาก ความอยากก็หายไปเลย
ทีแรก เด็กต้านทานความอยากไม่ได้ อยากได้เหลือเกิน แต่พอมีสติเห็นความอยาก ความอยากมันหายไปเลย เพราะฉะนั้น การที่มีสติ เห็นอารมณ์ที่เป็นอกุศล ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ มันเป็นวิธีที่ช่วยให้เราสามารถจะรับมือกับอารมณ์เหล่านั้น และสามารถที่จะทำในสิ่งที่เห็นว่าถูก เรารู้ว่าอะไรดีอะไรถูก
แต่เราจะทำสิ่งนั้นได้เพราะว่ามีสติ เพราะไม่งั้นกิเลส มันจะคอยชักนำให้ทำในสิ่งตรงข้าม รู้ว่าดีแต่ทำไม่ได้ เพราะว่าโกรธบ้าง โลภบ้าง อยากบ้าง แต่ว่าพอมีสติ ใจมันก็คล้อยไปในทางเดียวกับเหตุผลหรือความคิดดีๆ มันก็ไปทางเดียวกัน แล้วก็ทำให้เราสามารถที่จะทำสิ่งที่ดีได้ หรือละเว้นสิ่งที่ไม่ดีได้ อันนี้แหละคือการเพิ่มพลังให้กับจิต เพื่อให้ไปด้วยกันได้กับเหตุผลที่ดีที่มีอยู่ในหัวของเรา
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 6 สิงหาคม 2564