แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การเจริญสติก็คือ การกลับมารู้กายรู้ใจ ที่เรียกว่ากลับมา ก็เพราะว่า ส่วนใหญ่เราไปรับรู้สิ่งภายนอก จนบางทีหลุดออกไปเลย ลืมกายลืมใจ
ไปจดจ่อสิ่งภายนอก ไม่ว่าจะเป็น รูปรสกลิ่นเสียง ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ไหลหลั่งพรั่งพรูมากมายเหลือเกิน ทั้งผู้คน ทั้งสิ่งแวดล้อม และทั้งจากโทรศัพท์มือถือจากเทคโนโลยี รวมทั้งไปจดจ่ออยู่กับเหตุการณ์ต่างๆ เรียกว่าส่งจิตออกนอกจนไม่รู้ว่า ตัวกำลังทำอะไรอยู่ กายทำอะไร ยืนหรือนั่ง หรือว่ากำลังเคี้ยวอาหาร
ส่วนใจ คิดอะไร หรือมีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร ทั้งที่ครอบงำหรือเผารนจิตใจแท้ๆ ก็ไม่รู้ ที่เรามาเจริญสติเพื่อกลับมารู้กายรู้ใจ รู้กายไม่ได้รู้แบบหมอ แบบนักวิทยาศาสตร์ที่รู้กายวิภาค การทำงานของร่างกายไม่ใช่ แต่รู้ว่าทำอะไรอยู่ในเวลานั้น ในขณะนั้นที่เป็นปัจจุบัน
รู้ใจ ก็รู้ว่ากำลังคิดอะไรอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นการเผลอคิดหรือไม่ได้ตั้งใจคิด เขาเรียกว่ารู้ทันความคิด รวมทั้งรู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจากความคิดนั้น หรือว่าจากสิ่งที่มากระทบจากภายนอก อารมณ์นี้บางครั้งก็เกิดจากความคิด คิดเรื่องใดก็ปรุงให้เกิดอารมณ์ที่สอดคล้องกัน คิดถึงคนที่เราไม่ชอบก็เกิดความโกรธ คิดถึงคนที่เรารักก็เกิดความอาลัยหรือเกิดความสุขที่ได้นึกถึงเขา
คิดถึงเหตุการณ์บ้านเมือง covid ที่แพร่ระบาด ก็เกิดความรู้สึกหนักอกหนักใจ เกิดความกังวล หรือไม่ก็มีสิ่งภายนอกมากระทบเช่น เสียงดังมากระทบหูก็เกิดความหงุดหงิด กลิ่นหอมของดอกไม้ก็ทำให้เกิดความรู้สึกยินดี หรือว่าได้อ่านข้อความความเห็นหรือข่าวสารทางโทรศัพท์มือถือก็เกิดความขุ่นมัว เกิดความกังวล
แม้ว่ามันจะมาจากไหน การรู้ทันเป็นสิ่งสำคัญ เราจะรู้ใจของเราได้ ก็เริ่มต้นจากการที่เรารู้ทันหรือเห็นความคิด อย่างที่ได้พูดไว้มา 2-3 ครั้งแล้วว่า ความคิดถ้าเราไม่รู้ทันมัน มันก็สามารถจะมาเป็นนาย หรือบงการการกระทำ คำพูด หรือแม้กระทั่งชีวิตของเราได้ หรือว่าเปิดช่องให้กิเลสเข้ามาหลอกล่อชักนำเราไปในทางที่เป็นโทษหรือไม่ถูกต้อง
การรู้ทันความคิด มันไม่ได้หมายความว่าต้องไปดักจ้อง หลายคนเห็นความสำคัญของการรู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ แล้วก็รู้ด้วยว่าเป็นทุกข์เพราะความคิดและอารมณ์ที่มันจู่โจมจู่จับจิตใจโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว ก็อยากรู้ทันมัน แต่ว่าพอทำไม่ถูก มันก็เกิดปัญหา เช่น ไปดักจ้องว่า มันโผล่เมื่อไหร่จะตะปบมัน จะเล่นงานมัน
อันนี้มันผิดตั้งแต่ความคิดหรือทัศนคติแล้ว ว่ามันเป็นสิ่งเลวร้ายที่ต้องจัดการกับมันความคิดไม่ว่าจะเป็นความคิดใด จะเป็นสิ่งเลวร้ายในตัวมันเองอย่างนั้น แม้จะเป็นความคิดที่ไม่ดี แต่มันก็ไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้ายชนิดที่ต้องไปตะปบหรือจัดการกับมัน
และยิ่งไปใช้วิธีดักจ้องความคิดด้วยแล้ว มันก็ยิ่งไม่ถูกเข้าไปใหญ่ เพราะว่าตอนที่ความคิดยังไม่เกิดนั้น ตอนนั้นกายกำลังทำอะไรอยู่ ก็ให้รู้กาย เช่น กำลังเดินจงกรม กำลังสร้างจังหวะ หรือว่ากำลังนั่ง กำลังหั่นผัก กายทำอะไรอยู่ตอนนั้น นั่นคือปัจจุบันที่ควรจะรับรู้ คือมีสติรู้ รู้กาย
ต่อเมื่อความคิดมันเกิดขึ้น จึงค่อยไปรู้ทันมัน หรือค่อยไปเห็นมัน แต่แน่นอน ใหม่ๆกว่าจะรู้ว่าเผลอคิดไป มันก็คิดไปไกลแล้วหลายเรื่องหลายราว ก็ไม่เป็นไร หลายคนอยากจะรู้ทันไวๆ ก็เลยที่ใช้วิธีดักจ้องมันเลย ทั้งที่ยังไม่โผล่ ก็ดักคอยเล่นงานมัน ถ้ามันโผล่มา วิธีนี้มันทำให้ลืมกายไปได้ง่ายเลย กายทำอะไรก็ไม่รู้ เพราะว่าตอนนั้นไปดักจ้องความคิดอยู่ มันก็ผิดแล้ว กายทำอะไร ใจไม่รู้ เพราะมัวไปดักจ้องความคิด
มิหนำซ้ำ มันก็ไม่สำเร็จด้วย ทำไปทำมาก็เครียด แล้วความคิดมันก็ฉลาด เราดักจ้องมัน บางทีมันคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งซ้ำๆกัน เราก็คอยจะตะปบมัน เพราะเหมือนว่าเราจับทางมันได้
เช่น มันชอบคิดเรื่องอดีตที่ได้ไปเที่ยวนั่นเที่ยวนี่ มันคิดถึงเรื่องนั้นเพราะว่ามันเบื่อที่ต้องมาอยู่วัด ต้องปฏิบัติหรือต้องเก็บตัวอยู่บ้าน มันคิดเรื่องนั้นอยู่เรื่อยๆเราก็จับทางได้ พอมันมีความคิดเรื่องนี้โผล่มา เราก็ตะปบมันเลย หรือเบรคมัน ทำอย่างนี้หลายๆครั้ง มันก็เปลี่ยนไปคิดเรื่องอื่น
ไปคิดว่าออกพรรษาจะไปเที่ยวไหนดี หรือทำอะไรดี แล้วก็คิดอย่างนี้ มีความคิดเรื่องนี้ออกมาอยู่เรื่อยๆ ใจเราก็เผลอเพลินไปกับความคิดเหล่านั้น กว่าจะรู้ตัวว่าหลงคิดไป ก็คิดไปแล้วไม่รู้กี่เรื่อง คราวนี้ตั้งใจว่า ถ้ามันโผล่มาเมื่อไหร่ คิดเรื่องงานเรื่องการนี่เราก็จะตะปบมันทันที จะเบรคมันทันที
ทำไปทำมาก็ทำได้ มันโผล่มาปุ้บตะปบมันปั๊บเลย คือห้ามมันเบรคมัน ถามว่ามันหยุดไหม มันไม่หยุด พอมันรู้ว่าเราจับทางได้ มันก็ไปคิดเรื่องอื่นแทน จากเดิมที่คิดว่าจะทำอะไรหลังสิกขาลาเพศหรือว่าออกพรรษา ก็ไปคิดเรื่องอื่นแทน
พอไปคิดเรื่องอื่นแทนเราก็เผลอ เช่น ไปคิดเรื่องอาหาร วิพากษ์วิจารณ์อาหารในวัด คิดเป็นตุเป็นตะ เป็นคุ้งเป็นแคว ในใจก็เผลอไม่รู้ตัว มารู้ตัวก็คิดไปไกลแล้ว ตอนนี้ต้องตั้งท่า ถ้ามันโผล่คิดเรื่องนี้อีกก็จะตะปบมัน เบรคมัน ทำไปได้สักพักหนึ่ง สำเร็จ มันโผล่มา มันคิดเรื่องอาหาร ตะปบมันเลย
ถามว่ามันหยุดคิดไหม ไม่ มันไปคิดเรื่องอื่นแทน มันฉลาดมาก มันหาทางเลี้ยวรถไปเรื่อยๆ คราวนี้ไม่คิดเรื่องอาหารแล้ว แต่ไปวิพากษ์วิจารณ์คนในวัด หรือไปวิพากษ์วิจารณ์วิถีชีวิตในวัด อย่างนี้ควรทำ อย่างนี้น่าจะซ่อม น่าจะมีอย่างนั้นอย่างนี้ ใจก็เผลอคิดไป เป็นตุเป็นตะ
มารู้ตัวอีกทีก็คิดไปไกลแล้ว ไม่ได้ ถ้ามันคิดเรื่องนี้อีกก็จะเบรคมัน ก็ทำได้ แต่ว่ามันไม่หยุด มันก็ไปคิดเรื่องอื่นอีกแทนไม่คิดเรื่องอาหารแล้ว คราวนี้ไปคิดวิพากษ์วิจารณ์ธรรมะ ขบคิดธรรมะที่ฟังทำวัตรเช้าวัตรเย็น หรือจากที่อ่านหนังสือทำวัตรสวดมนต์ ใจก็เผลอหลงไปกับความคิดนั้น คือดักจ้องอย่างไร ก็ไม่มีทางสำเร็จ แม้ว่าเราจับทางมันได้ว่ามันชอบคิดเรื่องนี้ พอมันรู้ว่าจับทางได้ มันก็เปลี่ยนไปคิดเรื่องอื่น
ดักจ้องก็ไม่ช่วยทำให้รู้ทัน หรือว่าไปข่มมัน ไปบังคับมัน ไปผลักไสมัน มันก็ไม่ช่วยทำให้รู้ทัน เพราะว่ามันก็หลบ พอเราเผลอ มันก็โผล่มาใหม่ จับไม่ได้ ไล่ไม่ทันสักที เพราะว่ามันฉลาด ดักจ้องก็ไม่ได้ ไปกดข่มไปผลักไส มันก็ไม่ถูก
หรือบางคนก็ใช้วิธีจัดการกับความคิด มันคิดมากเหลือเกิน ก็พยายามสรรหาเหตุผลมาบอกว่า คิดมากทำไม คิดแล้วมีประโยชน์อะไร อย่าไปคิดมากเลย ใช้ความคิดเพื่อที่จะละความคิด หรือเพื่อที่จะได้ไม่ให้ความคิดออกมาเยอะ ก็ไม่สำเร็จ และที่จริงทำแบบนี้ก็คือ เป็นความไม่รู้ตัวอีกเหมือนกัน เพราะว่าตั้งใจจะละจะวางความคิดนั้น แต่ว่ากลับมีความคิดเพิ่มเข้ามาอีก
บางทีปฏิบัติไปๆ มันเกิดคำถามขึ้นมาว่า นี่เรากำลังคิดอยู่หรือเปล่า อันนี้เรียกว่าคิดซ้อนคิด แทนที่จะรู้ทันความคิด แต่ว่ากลายเป็นคิดซ้อนคิด แทนที่จะคิดแค่ 1 กลายเป็น 2 เลย อันนี้เป็นเพราะว่ามีความตั้งใจที่จะลดจะกดจะข่ม หรือจัดการความคิดให้มันฟุ้ง
ไม่ต้องไปจัดการไล่ล่ามัน หรือไม่ต้องไปพยายามทำให้คิดน้อยลง มันจะคิดมากหรือคิดน้อยก็แล้วแต่ ข้อสำคัญอยู่ที่การรู้ทัน อย่าไปคิดพยายามทำให้ความคิดน้อยลง แต่ว่าให้รู้ทันมัน แล้วการรู้ทันความคิด เราไม่ต้องไปทำอะไรกับความคิดเลย มันจะคิดมากคิดน้อยก็ช่างมัน เราไม่ทำอะไรกับมัน และไม่ตั้งข้อสงสัยด้วยว่าทำไมมันคิดเยอะเหลือเกิน ทำไมถึงคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้
เราไม่ทำอะไรกับความคิด แต่สิ่งที่เราทำคือฝึกสติให้ทำงานฉับไว ไม่มีอะไรที่จะต้องทำกับความคิดนั้นเลย แค่รู้ทันเฉยๆ แล้วก็อะไรที่รู้ทัน หรือทำให้รู้ทันก็คือ สติ เราจะไม่ลดทอนหรือกดข่มความคิด หรือทำอะไรกับมันเลย แต่เราจะกระทำกับสิ่งหนึ่งก็คือ สติ ก็คือ ทำให้สติเติบโต ทำงานได้ว่องไว
สติจะทำงานได้หรือเติบโตได้ เพราะได้ใช้งานบ่อยๆ เหมือนกับกล้ามเนื้อของเรา แขนขาของเรา ถ้าเราได้ใช้บ่อยๆเป็นอาจิณ มันก็แข็งแรง เราใช้สตินี้แหล่ะทำงานบ่อยๆ ทำงานอะไร ก็คือให้มาเห็นความคิด มันจะคิดอะไรก็แล้วแต่ จะคิดดีหรือไม่ดีก็แล้วแต่ จะคิดน้อยคิดมากก็แล้วแต่ ขอให้เห็นมัน จะคิดไปกี่เรื่องกี่ราวก็ช่างมัน แต่ว่าเราจะฝึกสติให้เห็น
เพราะฉะนั้นมันคิดไปๆ สักพักเราระลึกได้หรือรู้ตัวว่าเผลอคิดไปแล้ว ตรงนี้แหละคือการได้ฝึกสติ ให้มันทำงานเอง เพียงแต่ว่าเราเปิดโอกาสให้สติทำงานก็คือ เดินจงกรม สร้างจังหวะ หรือว่าปฏิบัติในรูปแบบ เป็นจุดเริ่มต้น ไม่ควบคุมความคิด ไม่ควบคุมจิต
แต่ว่าใหม่ๆก็ให้มารู้ที่กาย รู้กายเคลื่อนไหว ให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ได้อยู่ด้วยการบังคับ ให้อิสระ หมายความว่าใจอยู่กับเนื้อกับตัวสักพัก เดี๋ยวก็ไปแล้ว ไหลไปตามความคิด เราก็ไม่ห้าม ไม่ไปบังคับว่า จิตจะต้องแนบแน่นอยู่กับกาย จะไปก็ไป จะไหลไปกับความคิด ก็ไม่เป็นไร แต่ว่าจะให้สติไปตามรู้ รู้ทัน
การที่มันไหล มันก็เป็นโอกาสให้สติทำงาน ไม่ใช่เป็นของเสีย ไม่ใช่สิ่งเสียหาย ที่มันไหลไป เผลอไป มันก็เป็นโอกาสให้สติได้ทำงาน เพราะว่า จะรู้ว่าเผลอก็ต้องมีการเผลอก่อน จะระลึกได้ก็ต้องมีการลืมก่อน ถ้าไม่มีการลืม แล้วจะระลึกได้อย่างไร ถ้าไม่เผลอจะรู้ได้ไงว่าเผลอ ถ้าไม่หลงจะรู้ได้ไงว่าหลง ถ้ารู้ว่าหลง รู้ว่าเผลอบ่อยๆก็คือ การที่ทำให้สติได้ทำงาน
แล้วสติก็ไปจัดการ หรือไปทำงานกับความคิดที่ผุดขึ้นมาด้วยความไม่รู้เนื้อรู้ตัวเอง ก็คือว่า พอมีสติรู้ทันความคิดเหล่านั้น มันก็เหมือนกับโจรที่ถูกจับได้คาหนังคาเขา มันก็ยอมแพ้ มันก็พ่ายหนีไป เราไม่ต้องทำอะไร แต่ให้สติทำงาน สติจะทำงานได้ดี ก็ให้โอกาสสติได้ฝึกระลึกรู้อยู่บ่อยๆ ทีแรกให้ระลึกรู้กาย ตอนหลังก็ระลึกรู้ความคิด แล้วต่อไปก็ระลึกรู้อารมณ์
รู้ทันความคิดมันง่ายกว่ารู้ทันอารมณ์ เพราะว่าความคิด ลองสังเกตดูส่วนใหญ่เราคิดเป็นภาพ คิดเป็นคำ เป็นประโยคหรือคิดเป็นภาพ แต่อารมณ์นั้นมันเหมือนกับอะไรที่คลุมๆเอาไว้ มันไม่ได้เป็นภาพ ไม่ได้เป็นคำ แต่มันคลุมจิตเอาไว้ หรือเหมือนกับเมฆหมอกอะไรสักอย่าง ถ้าสติไม่ไวก็ไม่เห็นมัน ไม่รู้ทันมัน
การที่สติจะรู้ทันความคิดและรู้ทันอารมณ์ได้ มันก็ต้องรู้ทันสิ่งที่หยาบๆก่อน ก็คือ รู้กาย กายทำอะไรก็รู้ เพราะว่ามันมีความรู้สึกที่ชัดเจน เวลากายขยับก็มีความรู้สึก เวลาเท้าเดินก็มีความรู้สึก มันก็ช่วยทำให้เกิดสติมารู้กายได้ พอรู้กายแล้ว ต่อไปก็จะรู้ทันความคิดได้ไว รู้ทันอารมณ์ได้เร็ว และต่อไปก็จะรู้เวทนาได้ง่ายขึ้น
รู้เวทนา เช่น รู้ความปวด ความเมื่อย แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ มักจะเข้าไปเป็นเลย มีความปวดเมื่อไหร่ก็เข้าไปเป็นผู้ปวดเมื่อนั้น มันไม่ได้รู้ไม่ได้เห็น แต่เข้าไปเป็นเลย ยิ่งปวดเท่าไหร่ มันก็เข้าไปเป็นมากเท่านั้น หรือเข้าไปจมอยู่กับความปวดมากเท่านั้น จะให้วางความปวดนั้นยาก
แต่ว่าถ้ารู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ สามารถปล่อยวางความคิดและอารมณ์ได้เร็วขึ้น มันก็จะช่วยทำให้ปล่อยวางความเจ็บความปวดได้เร็วขึ้นเหมือนกัน แล้วต่อไปการรู้ธรรมะก็จะเกิดขึ้น
สติปัฏฐานก็มี 4 อย่าง รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม รู้จิตก็คือรู้ความคิดและอารมณ์ เพราะจิตมันปรุง หรือว่าถูกกำหนด ถูกปรุงด้วยความคิดและอารมณ์ แล้วพอรู้ธรรม มันก็เกิดพัฒนาการแล้ว จะพูดได้ว่า ปัญจวัคคีย์บรรลุธรรมก็เพราะว่า ได้เห็นธรรมอย่างแจ่มแจ้ง ธรรมในสติปัฏฐาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับขันธ์ 5
ถ้าเราเจริญสติอยู่บ่อยๆ เราก็จะรู้กาย รู้ใจได้ไว มีความคิดมันก็ไม่ไหลไปตามความคิดนาน มันก็กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา ความรู้สึกตัวนั้นสำคัญ เพราะว่าอย่างที่พูดไปสองสามวันก่อน สติก็ดี ความรู้สึกตัวก็ดี มันเป็นพื้นฐานของการทำความดีทั้งปวงเลย ไม่ว่าจะเป็นการละชั่ว ทำดี การทำจิตให้ผ่องใส ต้องอาศัยความรู้สึกตัวเป็นพื้นฐาน
เหมือนกับอากาศเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกเซลล์ในร่างกาย อวัยวะต่างๆ เนื้อเยื่อต่างๆในร่างกายเรา ถ้าไม่มีอากาศไปหล่อเลี้ยง มันก็ตาย มันก็วาย ถึงแม้ว่าจะมีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน แร่ธาตุต่างๆ บริบูรณ์ก็ตาม เพียงแต่ขาดอากาศเท่านั้น มันก็ทำงานไม่ได้ เรียกว่าวายหรือตาย หัวใจวาย สมองตายเพราะขาดอากาศ ฉันใดฉันนั้น ความรู้สึกตัวก็เป็นพื้นฐาน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีสติ
หลวงพ่อชาท่านพูดไว้น่าคิดว่า เมื่อมีสติและสัมปชัญญะคือความรู้ตัว ธรรมะก็ไม่ไปไหนหรอก ธรรมะก็จะมาตรงนี้แหละ ธรรมะที่ควรรู้ควรเห็น ก็จะเกิดขึ้นที่ตรงนี้แหละ ก็คือว่า เป็นพื้นฐานของการเกิดธรรมะหรือเห็นธรรมะ ธรรมะทั้งปวง แต่ว่าเราไม่ค่อยได้เห็นคุณค่าของความรู้สึกตัว ครั้นมาศึกษาธรรม เห็นคุณค่าของความรู้สึกตัวแล้ว บางทีก็รู้สึกว่าเป็นของยาก ต้องหา
บางคนปฏิบัติไปก็เครียด เพราะว่าคลำหาความรู้สึกตัวไม่เจอ ที่จริงมันอยู่กับตัวเราอยู่แล้ว เอาง่ายๆ เราหลับตาดูแล้วเราลองจับติ่งหูเรา ลองจับจมูกเรา ลองจับหน้าผากเรา ถามว่ายากไหม จับถูกได้ไม่ยากเลย หลับตาแล้วจับหรือแตะได้ถูกหมด ที่แตะถูกหมดเพราะอะไร เพราะเรารู้สึกตัว ทั้งที่ตาเราไม่เห็น หรือปิดตาอยู่
เราแตะได้ถูกเพราะเรารู้สึกตัว มันเป็นเรื่องไม่ยากเลย เพียงแต่ว่าความรู้สึกตัวไม่ต่อเนื่อง ถ้าเรามีความรู้สึกตัวต่อเนื่องเพราะมีสติ มันเป็นเครื่องช่วยให้ใจไม่ไหลไปตามความคิดและอารมณ์ แต่ว่า กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ความรู้สึกตัวก็จะเกิดขึ้น
และในขณะเดียวกัน พอเรามีสติ เราก็เห็นความคิดและอารมณ์ ความคิดและอารมณ์ก็แสดงตัวให้เราได้เห็นว่า ในใจเรานั้นมีอะไรบ้าง ใจเราบางครั้งก็เหมือนกับห้องมืด ซึ่งเราปล่อยมันไปโดยที่ไม่ดูแลมาช้านานทีเดียว แล้ววันหนึ่งเราเอาไฟสาดส่องเห็นหยักไย่ เห็นขยะ เห็นอะไรมากมาย
สติก็ทำหน้าที่อย่างนั้นก็คือมันช่วยส่องใจ ส่องใจให้เห็นความจริงของใจ รวมทั้งความจริงของกาย บ่อยครั้งความจริงที่ปรากฏแก่ สติ ดูไม่น่าอภิรมย์ มันมีความเห็นแก่ตัว มีความโกรธ มีความเกลียด มีความพยาบาท มีความเครียด มีความน้อยเนื้อต่ำใจ
หลายคนเคยคิดว่าฉันเป็นคนดี เป็นคนน่ารัก เป็นคนเสียสละ แต่พอมาเจริญสติมาดูกายดูใจ เห็นอารมณ์พวกนี้เกิดขึ้น วางใจไม่เป็นก็เสียใจ ทำไมฉันเป็นคนชั่วร้ายแบบนั้น บางทีเห็นความรู้สึกที่ไม่ดีต่อแม่ ต่อบุพการี ผุดขึ้นก็รู้สึกว่าแย่
ที่จริงความคิดทั้งหลายทั้งปวง มันไม่มีดีไม่มีชั่ว ถ้าเราเห็นมัน และสติก็ทำหน้าที่อย่างนี้แหละคือส่องใจ ให้เห็นความจริงของใจ แล้วถ้าเราเห็นอย่างถูกต้อง เห็นโดยความรู้สึกที่เป็นกลาง ไม่เอาผิดไม่เอาถูก ไม่มีดีไม่มีชั่วก็คือธรรมะ คือความจริง มันเป็นของมันอย่างนั้นเอง อย่าไปถามอย่าไปสงสัยว่าทำไมมีความคิดแบบนั้นเกิดขึ้น ทำไมมีความคิดชั่วร้ายเกิดขึ้น หรือ ทำไมถึงมีอารมณ์ชั่วร้ายแบบนั้น
อย่าไปสงสัย อย่าไปตั้งคำถาม เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้น มันคือความจริง ถ้าเรายอมรับ มันก็ทำให้เราเกิดปัญญา รู้จักตัวเองมากขึ้น ความสงสัย การตั้งคำถาม แบบนั้นคือ ความรู้สึกว่า สิ่งที่เห็นมันไม่ดี อารมณ์ความคิดเหล่านั้นมันไม่ถูก ถ้าคิดแบบนั้น จะทำให้เราไม่สามารถเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงได้
ถ้าเราเริ่มที่จะมองด้วยใจที่เป็นกลาง และยอมรับว่านี่คือความจริง เราก็จะเห็นว่า มันเป็นอย่างนั้นเอง และถ้าเราเห็นอยู่เรื่อยๆ มันก็จะเห็นความจริงของใจ เห็นสัจธรรม มันมาแล้วก็ไป มันเป็นของชั่วคราว พูดง่ายๆคือ เห็นไตรลักษณ์ ที่มันปรากฏกับใจ หรือปรากฏความคิดและอารมณ์ หรือแสดงผ่านความคิดและอารมณ์ ที่เห็นด้วยสติ
เห็นว่าไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา แม้กระทั่งนิสัยที่ไม่ดี มันก็ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ไม่ต้องไปเสียใจว่า ทำไมถึงมีความคิดความรู้สึกที่ไม่ดีกับพ่อแม่ มันก็เป็นของมันอย่างนั้นเอง ไม่ใช่ว่า จู่ๆมันเกิดขึ้น มันก็มีเหตุมีปัจจัย แต่ว่าตราบใดที่เรายังเห็นมัน ไม่เข้าไปเป็นมัน ไม่เข้าไปผลักไส กดข่มมัน ก็ทำให้เราเห็นความจริงหรือสัจธรรมที่แสดงออกมา
ถ้าเราใช้สติ ดูกายดูใจ ไม่ใช่แค่ไตรลักษณ์จะแสดงให้เราเห็น เราได้เรียนรู้การปล่อยการวาง เรื่องสุขเรื่องทุกข์ก็เห็น จากการที่มีสติเข้าไปดูใจ เพราะฉะนั้น สติจะว่าไปก็เป็นเหมือนเครื่องส่องใจให้เห็นธรรมะ ซึ่งมันไม่มีผิดไม่มีถูก แต่มันเป็นสัจธรรมความจริง ถ้าเห็นไม่เป็นดูไม่เป็น เราก็จะเกิดความรู้สึกแย่ว่าทำไมเราคิดแบบนี้ ทำไมเรามีความรู้สึกแบบนี้
อันนี้เป็นเพราะว่าเรายังวางใจไม่ถูก ไม่มีสติที่เรียกว่าเป็นสัมมาสติ ถ้าเป็นสัมมาสติ จะเห็นด้วยใจที่เป็นกลางรู้ ซื่อๆไม่เลือกที่รักมักที่ชัง สิ่งที่ปรากฏไม่มีผิดไม่มีถูก และที่จริงก็เป็นธรรมะที่แสดงให้เราเห็น ถ้าวางใจแบบนี้ได้ มันก็จะเห็นธรรมะทั้งที่เป็นเบื้องต้น จนถึงธรรมะที่ลึกซึ้ง
อย่างที่หลวงพ่อชาบอกว่า ธรรมะทั้งหลายที่ควรเห็นควรรู้ ก็เกิดขึ้นตรงนี้แหละ ธรรมะไม่ได้ไปไหนหรอก มันก็มาตรงนี้แหล่ะ
เพราะฉะนั้น การเจริญสติเป็นการเปิดใจให้เห็นสัจธรรม หลายคนไปคาดหวังเพียงแค่ความสงบ แต่ที่จริงมันมีอานิสงส์มากกว่านั้น ใช้สติความรู้สึกตัวเปิดใจให้เราเห็นธรรมะ เหมือนกับว่ามันเป็นเครื่องส่องใจ ก็จะเกิดความเข้าใจในสัจธรรม แล้วก็จะรู้ว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 5 สิงหาคม 2564