แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คุณสมบัติและคุณธรรมประการหนึ่งของชาวพุทธ หรือผู้ที่หวังชีวิตที่ดีงาม ก็คือ การมีความคิดชอบ หรือดำริชอบเรียกว่า สัมมาสังกัปปะ
ซึ่งก็หมายถึงการคิดที่ หนึ่ง ปลอดจากกาม หรือมุ่งเสียสละ ไม่คิดปรนเปรอตนด้วยสิ่งเสพหรือกามสุข หรือว่า สอง ความคิดที่ประกอบด้วยเมตตา ไม่ขัดเคือง หรือว่าเพ่งโทษมุ่งร้าย และประการที่สาม เป็นความคิดที่ประกอบด้วยกรุณา ปรารถนาดี ไม่ทำลายหรือว่ามุ่งร้ายหมายเบียดเบียน
เมื่อเรามีความคิดชอบหรือดำริชอบแล้ว การกระทำ คำพูด ก็จะเป็นไปในทางที่ชอบ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และรวมทั้งไม่เบียดเบียนตนด้วย แต่ว่าอันที่จริงแล้ว นอกจากมีความคิดชอบแล้ว สิ่งหนึ่งที่ควรจะมีควบคู่กันไปก็คือ การรู้ทันความคิดด้วย
เพราะว่าคนเราไม่ใช่ว่า จะมีความคิดชอบไปได้ตลอดหรือได้ทุกเรื่อง เพราะเราเป็นปุถุชน ก็อาจจะมีความคิดที่ไม่ดี ความคิดที่มุ่งร้าย ความคิดที่เต็มไปด้วยตัณหา โลภะ มันก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีความคิดแบบนี้ผุดขึ้นมาในใจ แต่ถ้าเกิดว่าเรารู้ทันความคิดเหล่านั้น มันก็ไม่สามารถจะครองจิตครองใจเรา หรือว่าชักนำให้การกระทำ คำพูดเป็นไปในทางที่เกิดโทษได้
อันที่จริงแม้กระทั่งความคิดที่ดีๆ ถ้ามันมาผิดเวลาและไม่รู้ทัน มันก็สร้างปัญหาเหมือนกัน เช่น ขับรถบนทางด่วนหรือถนนหลวงแต่ใจไปคิดถึงงานทอดกฐินผ้าป่า เป็นเจ้าภาพงานบุญ อันนี้เป็นความคิดที่ดีแต่ว่ามันผิดเวลาก็อาจจะเกิดปัญหาได้เช่น เกิดอุบัติเหตุ เพราะว่าไม่มีสติอยู่กับการขับรถด้วยความระมัดระวัง เดินลงบันได ใจก็ไปนึกถึงการเป็นเจ้าภาพโรงทานในงานทอดกฐิน ก็อาจจเผลอพลัดตกบันไดได้
แต่ถ้าหากว่าเรารู้ทันความคิดเหล่านี้ แม้จะเป็นความคิดที่ดี แต่รู้ทันแล้วก็ไม่ปล่อยใจให้จมอยู่กับความคิดเหล่านั้น กลับมามีสติอยู่กับการขับรถ กลับมามีสติอยู่กับการลงบันได มันก็ปลอดภัย ไร้อันตราย อันนี้ยังไม่ต้องพูดถึงความคิดที่ชักนำจิตใจให้ไปสู่ความทุกข์ซึ่งแต่ละวันๆก็มีไม่น้อย
เดี๋ยวนี้พูดได้ว่า ผู้คนส่วนใหญ่ทุกข์เพราะความคิด แม้ว่ามีชีวิตที่สะดวกสบาย แต่ว่าจิตใจเป็นทุกข์ เพราะอะไร เพราะความคิดที่ไหลลอยไปไร้การควบคุม เดี๋ยวไปนึกถึงเหตุการณ์ที่ไม่ดีในอดีต เช่น ความสูญเสียพลัดพราก ก็ทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจ เหตุการณ์ผ่านไป 10 ปีแล้วก็ยังเศร้าโศก หรือบางทีก็คับแค้นเพราะว่าไปนึกถึงคนที่เขาทำให้ดีกับเรา นึกถึงความผิดพลาดบางอย่างที่ทำกับผู้มีพระคุณ ก็ทำให้รู้สึกผิด เสียใจไม่สร่างซา
ไม่ใช่คิดถึงในอดีตที่มีเรื่องไม่ดีชวนให้ทุกข์เท่านั้น แม้คิดถึงเรื่องในอดีตที่ดีๆก็ทำให้เป็นทุกข์ได้เหมือนกัน เช่น นึกถึงวันคืนที่ได้อยู่กันพร้อมหน้า พ่อแม่ลูก แต่ตอนนี้ลูกก็จากไปแล้ว พอคิดแบบนี้เข้าก็ทำให้รู้สึกทำใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่ได้
หรือว่าคนที่นึกถึงความสุขก่อนช่วงโควิดไปต่างประเทศ ไปเที่ยว ไปกิน ไปสังสรรค์ สะดวกสบายชีวิตมันอิสระ แต่วันนี้ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง มันก็เลยเกิดรู้สึกความคับแค้นหรือเกิดความห่อเหี่ยวขึ้นมา หรือบางคนนึกไปถึงว่าเมื่่อวานภาวนาดีเหลือเกิน จิตใจสงบเบิกบาน แต่วันนี้มันฟุ้งเหลือเกิน ที่จริงก็ไม่ได้ฟุ้งมากแต่ว่าไม่ได้สงบอย่างเมื่อวาน แค่นี้ก็ทำให้ทุกข์แล้ว เพราะว่าไปนึกเปรียบเทียบกับความสงบเย็นของเมื่อวาน
ยังไม่ต้องพูดถึงการไปคิดนึกถึงเรื่องราวในอนาคตซึ่งยังไม่รู้ว่า มันจะออกหัวออกก้อย แต่ว่า ก็คิดไปในทางลบทางร้าย บางคนก็เครียดมากเพราะว่า covid ไม่รู้จะลงเอยอย่างไร แล้วก็ไปนึกภาพว่าเจอกับเรื่องเลวร้ายมากมาย วันแล้ววันเล่า ในวันข้างหน้า นึกถึงภาระการงานต่างๆ ที่โถมทับเข้ามา นึกถึงหนี้สินที่บานแบะ ก็เกิดความเครียดเกิดความวิตกกังวล มันยังไม่เกิดขึ้นเลยแต่ว่าก็ทุกข์ไปเรียบร้อยแล้ว อันนี้เรียกว่าทุกข์เพราะความคิด
แต่ที่จริงแล้วพูดอย่างนี้ก็ไม่ถูก เพราะไม่ว่าจะคิดเรื่องใดก็ตาม ถ้าเรารู้ทันความคิด มันก็ไม่ทุกข์ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่ามันคิดอะไร หรือว่ามีความคิดอะไรเกิดขึ้น แต่มันอยู่ที่ว่าเราเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร ถ้าไม่รู้ทันความคิด แม้จะเป็นความคิดที่ดีก็เกิดโทษ นับประสาอะไรกับความคิดที่ไม่ดี
ที่ทุกข์ๆอยู่นี้ไม่ใช่เพราะมีความคิดที่แย่ๆในหัว แต่เป็นเพราะไม่รู้ทันมันต่างหาก ถ้ารู้ทันมัน มันก็ทำอะไรจิตใจเราไม่ได้ มันเกิดขึ้น เราเห็นมัน ผิดก็ไม่ไปจม หลงเข้าไปอยู่ในความคิดนั้น หรือว่าเผลอคิดไปแล้วมีอารมณ์ปรุงแต่งเกิดขึ้นตามมา เช่น เศร้า ท้อ โกรธ เสียใจ ก็เห็นอารมณ์เหล่านั้น ไม่ปล่อยใจให้หลงเข้าไปอยู่ในอารมณ์เหล่านั้น มันก็ไม่ทุกข์
ที่จริงความคิดก็มีประโยชน์ เวลาเราจะทำกับข้าว หรือปรุงอาหารให้ลูก หรือว่าทำอาหารถวายพระ เราก็ต้องใช้ความคิดว่าจะปรุง จะเติม จะใส่อะไร เวลาทำงานทำการ เราก็ต้องใช้ความคิด เราจะต่อเติมบ้านก็ต้องใช้ความคิด เจ็บป่วยจะเยียวยารักษาอย่างไร ก็ต้องใช้ความคิด ความคิดมีประโยชน์
รวมทั้งการศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมก็ต้องอาศัยความคิดพินิจพิจารณา จนเกิดความเห็นชอบ เกิดความคิดหรือดำริชอบ เป็นเครื่องชี้นำให้ชีวิตเราเป็นไปในทางที่ดีงาม แต่ว่ามันมีประโยชน์ตราบใดที่เราเป็นนายมัน ความคิดเป็นบ่าวที่ดี แต่เป็นนายที่เลว ถ้าเรารู้จักใช้ความคิด มันก็จะเกิดประโยชน์มากมายทั้งในทางโลกทางธรรม
แต่ปัญหาคือว่า เรามักจะเผลอปล่อยให้ความคิดเป็นนายเรา พอความคิดเป็นนาย มันก็ใช้เราอย่างเดียว พอความคิดเกิดขึ้นแล้ว มันก็มีวิธีของมัน มันก็อยากจะอยู่ไปยาวๆ มันไม่อยากจะสลายหายไปอย่างรวดเร็ว เหมือนกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลายรวมทั้งไวรัสด้วย พวกนี้ก็พยายามที่จะอยู่ให้ได้นานที่สุด
ความคิดจะอยู่ได้นานๆก็ต้องอาศัยใจของเราปรุง อาศัยหัวสมองของเราคิดโน่นคิดนี่เสกสรรค์ต่างๆ มันก็ใช้เรา ให้คิดโน่นคิดนี่ แม้กระทั่งเวลาจะหลับจะนอน ความคิดใช้เราไม่หยุดเลย คิดนู่นคิดนี่สารพัดจนนอนไม่หลับ หรือบางทีจนกลุ้มอกกลุ้มใจเพราะว่ามันคิดเรื่องร้ายๆไม่หยุด อันนี้เรียกว่าความคิดเป็นนายเราแล้ว
ตราบใดที่เรารู้ทันความคิด ความคิดก็ยังคงเป็นบ่าวของเรา ไม่สามารถเป็นนายของเราได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่เราไม่รู้ทันความคิด พูดง่ายๆคือว่าเราไม่รู้สึกตัว เราคิดด้วยความหลงหรือคิดในขณะที่ไม่รู้เนื้อรู้ตัว อันนั้นแหละคือ โอกาสที่ความคิดเป็นนายเรา
และบ่อยครั้ง วันๆหนึ่งเราคิดด้วยความหลงมากคือคิดด้วยความไม่รู้ตัว พอคิดด้วยความไม่รู้ตัว แม้จะคิดได้เป็นวรรคเป็นเวร แต่ว่าพอเราไม่รู้ตัวแล้ว ความคิดนั้นแหละจะเข้ามาเป็นนายเรา บงการจิตใจของเรา แล้วไม่ใช่แค่บงการจิตใจ ยังรวมถึงการกระทำและคำพูดด้วย พูดไปด้วยความหลง และกระทำไปด้วยความไม่รู้ตัว ซึ่งก็มักจะทำให้เกิดโทษเกิดปัญหาตามมา
ยังไม่นับพอคิดถึงด้วยความหลงแล้ว พอมีอารมณ์ปรุงตามมา ก็หลงเข้าไปในอารมณ์นั้นอีก โศกเศร้าเสียใจกลุ้มอกกลุ้มใจหรือว่าแค้นเดือดดาล จนกระทั่งบางทีเส้นเลือดในสมองแตก ความคิดถ้าเราไม่รู้ทันมันเราแย่เลย ทั้งที่ความคิดจริงๆมันก็ออกมาจากหัวของเรา หรือออกมาจากใจของเรา ใจของเราก็เป็นผู้ปรุงความคิด แต่พอความคิดออกมาแล้ว มันก็มีวิธีของมันเอง ซึ่งเราคุมไม่ได้
จะไปคิดว่า ใจเราคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ขึ้นมา ความคิดนั้นจะเป็นของเรา อันนี้ไม่ใช่ มันไม่ใช่ของเราแล้วพอมันออกมา ก็เหมือนกับแม่ที่คลอดลูก ลูกนั้นไม่ใช่ของแม่แล้ว เพราะว่าเขามีวิธีของเขา บางทีนิสัยใจคอพฤติกรรมก็แตกต่างจากแม่ หรือว่ามีการกระทำที่ไม่ถูกใจแม่ ไม่เป็นไปดั่งใจแม่ ถึงแม้จะเรียกว่าลูกของเรา แต่มันไม่ใช่ลูกของเราเลย เพราะว่าเราควบคุมไม่ได้
ความคิดก็เหมือนกัน มันไม่ได้ออกมาลอยๆ มันออกมาจากการที่จิตของเราปรุงขึ้นมา รู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง แล้วพอออกมาแล้ว มันไม่ได้อยู่ในอำนาจของเราแล้ว บางทีมันไปใหญ่เลย เล่นงานเราจนแย่ไปเลย
เหมือนกับเราจุดไฟในเตา หรือว่าจุดฟืน หรือแค่จุดเพื่อที่จะเผาอะไรบางอย่างในกอหญ้า ไฟที่จุดขึ้นมาเราจุดแท้ๆ แต่ว่าพอจุดไปแล้ว เปลวไฟเหล่านั้นมันไม่ได้อยู่ในอำนาจของเราแล้ว เพราะมันสามารถที่จะลุกลาม จนไหม้ทั้งป่าเลย หรือว่าจนไหม้บ้านเราเลยก็ได้ อย่าไปคิดว่าเราจุดกับมือ เปลวไฟหรือกองไฟเป็นของเรา อยู่ในอำนาจของเรา อันนั้นไม่ใช่ ถึงตอนนั้นมันก็ไม่ได้อยู่อำนาจของเราแล้ว แล้วมันพร้อมที่จะลุกลามบานปลายจนกระทั่งเราเอาไม่อยู่ หรือกระทั่งกลับมาทำร้ายเรา
ความคิดเป็นอย่างนั้นแหละ อย่าไปคิดว่าเราคิดมันขึ้นมาแล้ว มันจะอยู่ในอำนาจของเรา แต่ว่าตราบใดที่เรามีสติรู้ทัน ก็สามารถที่จะกำกับความคิดนั้นไม่ให้มาทำร้ายจิตใจเราได้ เพราะว่าเวลาคิดเรื่องหนึ่งไป มันบาน ทีแรกคิดเรื่องนี้แล้วก็บานไปเรื่องนู้นเรื่องนี้ กลายเป็นเรื่องลบเรื่องร้าย ถ้าเราไม่รู้เท่าทัน เราก็เศร้าแล้วก็แค้น เราก็โกรธ หรือไม่เช่นนั้นก็คิดไปจนกระทั่งเรานอนไม่หลับ คือมันคิดไม่หยุด
คนสมัยนี้ไปให้ความสำคัญกับการฝึกความคิดมาก เราถูกฝึกมาให้คิดเร็ว คิดไว คิดเก่ง คิดอึดคิดได้นานคิดได้เป็นชั่วโมงๆเป็นวันๆ ชาวบ้านจะคิดไม่เก่งไม่อึดเหมือนอย่างเรา ให้เขาไปทำไร่ขุดดินเขาทำได้นาน ก็แต่จะให้เขาคิดเหมือนกับเรา ที่เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก นานๆ เขาอาจจะคิดไม่ไหวเพราะว่าไม่ได้ฝึกมา
แต่พวกเราคนเมือง เราถูกฝึกให้คิด คิดได้เก่ง คิดด้ไว คิดได้นาน คิดได้อึด แต่ว่าเราไม่ได้ฝึกให้รู้จักวางความคิด หรือหยุดความคิดเลย เราถูกฝึกมาให้ผลิตความคิดเย่อะ ออกมามากมาย แต่ว่าไม่รู้จักเท่าทันความคิด หรือว่ากำกับความคิด รวมทั้งรู้จักวาง มันก็กลายเป็นว่า เรียนผูกแต่ว่าไม่ได้เรียนแก้
ปีนต้นไม้เก่งแต่ลงไม่ได้ เพราะเราถูกฝึกมาให้ปีนต้นไม้ แต่ไม่ได้ฝึกให้รู้จักลงจากต้นไม้ เช่น ต้นมะพร้าว หรือว่าฝึกให้ขับเครื่องบินให้ทะยานขึ้นฟ้า แต่ไม่ได้ฝึกวิธีการเอาเครื่องบินลง ร่อนสู่พื้น ฉันใดฉันนั้น กับความคิด เราถูกฝึกให้ผลิตความคิดได้เก่งได้เยอะ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นทาสของความคิด ถูกความคิดเล่นงาน จนกระทั่งกินไม่ได้นอนไม่หลับ
เพราะฉะนั้น การฝึกใจให้รู้ทันความคิด มันสำคัญมาก ความคิดแม้จะคิดแย่ คิดลบคิดร้าย แต่ถ้าเรารู้ทันมัน อันนี้ยังดีเสียกว่าคิดเรื่องดีๆแล้วไม่รู้ทัน หลงเข้าไปในความคิดนั้น เพราะว่าพอหลงเข้าไปในความคิดแล้ว แม้จะเป็นความคิดดีๆก็เกิดโทษได้อย่างที่ยกตัวอย่างมา ตรงข้ามกับพอมีความคิดร้ายแล้วเรารู้ทันมัน รู้จักวางมันลงได้ อันนั้นยังจะดีกว่า
ที่เรามาเจริญสติ ก็เพื่อฝึกให้มีความสามารถในการรู้ทันความคิด เราไม่ได้ห้ามความคิดในการภาวนา บางคนไปเข้าใจว่าการฝึกจิต การเจริญสติ คือการห้ามความคิด อันนั้นไม่ใช่ อนุญาตให้ใจคิดอะไรก็ได้ ไม่ได้ห้าม แต่ว่าไม่ได้หนุนมัน ไม่ได้ปล่อยให้ใจคิดโน่นคิดนี่หรือคิดเรื่อยเปื่อย แต่ให้ใจมาอยู่กับกายเป็นเบื้องต้น ให้ใจมาอยู่กับการรู้เนื้อรู้ตัว มีความรู้สึกตัวกับการเคลื่อนไหวของกาย แต่ว่าไม่ไปบังคับมัน
เพราะฉะนั้นบ่อยครั้งมันไหลออกไป ไปปรุงความคิดหรือปล่อยให้ความคิดมาดึงจิตออกไปจากกาย ทำให้ไม่รู้เนื้อรู้ตัว แล้วใจก็ไหลไปตามความคิด คิดโน่นคิดนี่ 7-8 เรื่อง แต่พอถึงจุดหนึ่ง พอคิดไป จิตมันจะเกิดความรู้ตัวขึ้นมาหรือรู้ทันความคิด ใหม่ๆกว่าจะรู้ว่าเผลอคิดไป ก็คิดไปแล้ว 8-9 เรื่องถึง 10 เรื่อง จนบางทีเหนื่อยบางทีล้าถึงค่อยมารู้ว่าเผลอคิดไปแล้ว
แต่ว่าถ้าทำบ่อยๆ ขณะที่ใจไม่ได้คิดอะไร ก็มาอยู่กับเนื้อกับตัว กับกาย เสร็จแล้วก็เผลอถูกความคิดหลอกไป หลงเข้าไปในความคิด มันก็เป็นอย่างนี้ กลับไปกลับมา พอถึงจุดหนึ่ง ทำไปเรื่อยๆจะรู้ทันความคิดได้ไวขึ้นๆ แต่ก่อนคิดไป 10 เรื่องถึงรู้ว่าเผลอไปแล้ว แต่ตอนหลังคิดไป 5 เรื่องถึงรู้ ต่อไปคิดได้ไม่ทันจบเรื่องเลย ก็รู้แล้ว
มันเป็นประสบการณ์ที่อาจจะประหลาดก็ได้ เพราะว่าพอเรามาเห็นความคิด มันจะเห็นแบบคาหนังคาเขาเลย ยังคิดไม่ทันจบเรื่องเลย ก็เห็นมันแล้ว มันเหมือนกับเจ้าของบ้านเห็นนักย่องเบาคาหนังคาเขาเลย กำลังมาขโมยของ การเห็นคาหนังคาเขา มันทำให้ความคิดมันยอมแพ้ไปเลย หลวงพ่อคำเขียนใช้คำว่าจ๊ะเอ๋กับความคิด พอจ๊ะเอ๋ มันก็ถอยไปเลย
แต่ถ้าเราไปห้ามความคิด มันจะมีประสบการณ์อีกแบบหนึ่ง มันจะไม่ใช่เห็นความคิดแบบคาหนังคาเขาจนกระทั่งมันล่าถอยไปเอง หลายคนพยายามใช้วิธีควบคุมความคิด ความคิดก็เหมือนกับถูกตัดฉับ แต่จะรู้สึกเหนื่อยรู้สึกเมื่อยเมื่อทำไปนานๆ แต่ถ้าเห็นความคิด มันจะไม่เหนื่อยเลย แล้วมันจะรู้สึกว่าประหลาด มีด้วยหรือ ทำได้ด้วยหรือ ที่เห็นความคิด
ตอนหลังคิดไม่ทันจบเรื่อง ก็เห็นมันเสียแล้ว เห็นมัน มันก็ยอม ยอมถอยหนีออกไป ก็เหมือนกับนักย่องเบาที่พอเจ้าของบ้านเห็นมันกำลังประกอบมิจฉาชีพคาหนังคาเขา หรือต่อหน้าต่อตา มันก็ล่าถอยหนีไป แต่ว่าการที่เราจะรู้ทันความคิดได้ มันก็ต้องอาศัยการปฏิบัติ ทำบ่อยๆทำซ้ำๆ ก็ต้องมีตัวช่วยด้วย
การที่เรามาอยู่ในที่ที่สงบ ไม่มีเสียงอึกทึกครึกโครมมาก ไม่มีสิ่งล่อเร้าเย้ายวนมาก ไม่มีกิจมาก มันก็เป็นตัวช่วยเพราะว่า ถ้ามีสิ่งเร้ามาก มันก็จะมีความคิดออกมาอยู่เรื่อยๆ แล้วความคิดก็จะเร็วและแรง แต่พออยู่ในที่ที่ไม่มีสิ่งเร้ามาก พูดคุยแต่น้อย ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีอินเตอร์เน็ตให้เสพ หรือว่ามากระตุ้นเร้า ความคิดก็จะค่อยๆช้าลงๆ แล้วความคิดก็จะออกมาน้อย
ตรงนี้ก็เปิดโอกาสให้สติที่ยังไม่ค่อยแข็งแรง ยังไม่ค่อยฉับไว ได้มีโอกาสรู้ทัน เพราะถ้าความคิดเร็ว แรง สติเราเอาไม่อยู่ แต่ถ้าความคิดมันเฉื่อย มันช้าน้อยลง สติเราก็พอจะรู้ทันมันได้ อันนี้คือตัวช่วย บรรยากาศ สิ่งแวดล้อมรวมทั้งวิถีชีวิตของการอยู่วัด อย่างที่ครูบาอาจารย์ให้กินแต่น้อย ให้ห่างไกลจากโทรศัพท์มือถือ หรือว่าข้อมูลข่าวสาร มันก็ช่วยจะทำให้ความคิดออกมาน้อยลง แล้วก็ช้า
ถ้าเปรียบเหมือนกับนักมวย ถ้าหากว่านักมวยฝึกใหม่เจอคู่ชกที่เก่ง มันก็จะไม่มีทางที่จะชนะได้ แต่ถ้าเจอคู่ชกที่พอฟัดพอเหวี่ยง ก็มีโอกาสพอที่จะชนะ แล้วก็มีประสบการณ์มากขึ้น ที่เรามาอยู่ในสภาพนี้ก็เพื่อมีตัวช่วยให้สติทำงานได้ดีขึ้นได้ไวขึ้น รวมทั้งการที่มีการทำความรู้สึกตัว รู้กายเคลื่อนไหว รู้สึกเมื่อเท้าขยับตัวเขยื้อน รู้สึกเมื่อมือขยับไปขยับมา
ความรู้สึกของกายนี้มีส่วนช่วยสะกิดใจให้กลับมามีสติไวๆ แทนที่จะเผลอ ใจลอยไปตามความคิด ความรู้สึกตัว หรือความรู้สึกว่ากายเคลื่อนไหว มันก็จะช่วยสะกิดให้ใจกลับมามีสติ แล้วก็เห็นความคิด หรือไม่ไหลไปตามความคิด ก็เหมือนกับว่าเวลาเราใจลอยฝันกลางวัน แล้วมีคนมาแตะมือเราแตะไหล่เรา ทันทีที่เรารู้สึกว่ามีอะไรมีใครมาแตะตัวเรา เราจะได้สติเลย ความคิดที่ไหลไปในอดีต ลอยไปในอนาคตก็จะกลับมาอยู่ปัจจุบัน
แต่ว่าการเจริญสติ เราไม่ได้รอให้ใครมาสะกิด แต่ใช้ความรู้สึกทางกายจากการเดินจากการสร้างจังหวะนี้แหล่ะ เหมือนกับมีสิ่งที่มาสะกิดใจให้กลับมามีสติ ที่หลงคิด หลงเข้าไปในอารมณ์ ก็กลับมารู้เนื้อรู้ตัว หรือกลับมาเห็นความคิดหรือรู้ทันความคิด อันนี้เราต้องอาศัยตัวช่วยแบบนี้ สติจึงจะพัฒนาได้ไว
ถ้าไม่มีตัวช่วย มันก็เติบโตอย่างเชื่องช้า แต่ถ้ามีความเพียร ทำอยู่เรื่อยๆ มันก็จะไวได้เหมือนกัน ถ้าเรารู้ มีวิชารู้ทันความคิด แล้วก็สามารถที่จะเป็นนายความคิด หรือกำกับความคิดให้มันอยู่ในรูปในรอย ไม่ไปสร้างความทุกข์หรือเอาความทุกข์มาเติมใส่ใจเราจนกระทั่งกินไม่ได้นอนไม่หลับจนกระทั่งเครียด
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 3 สิงหาคม 2564