แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระพุทธเจ้าสมัยหนึ่ง พระองค์ได้ตรัสเล่าให้พระสาวกฟัง ชายคนหนึ่งมีอาชีพจับนกไปขาย แล้ววันหนึ่งมีนกตัวหนึ่งถูกจับได้ นกตัวนี้เป็นนกฉลาด มันสังเกตว่าชายคนนี้เวลาจับนกได้ ก็จะเอามาเลี้ยง ให้อาหารให้น้ำ ขุนจนอ้วนเลย พออ้วนแล้วก็ขาย
นกตัวนี้ก็เลยเวลาได้อาหารมา มันก็จะกินเพียงเล็กน้อย อดกลั้นต่อความอยาก กินนิดกินหน่อยจนผอมเลย ลูกค้ามาเห็นก็ไม่เอานกตัวนี้ ไม่ซื้อตัวนี้ คนเลี้ยงก็ไม่เอาไปขาย ยังไม่ได้ราคาดี ยังไม่อ้วน นกตัวอื่นที่อ้วนก็ถูกจับขายไป นกตัวนี้ก็ยังอยู่ในกรง
ตอนหลังผอมมากๆ คนเลี้ยงก็นึกว่านกตัวนี้ป่วย ก็เลยจับแยกออกมาจากกรง ให้มันอยู่นอกกรง นกตัวนี้พออยู่นอกกรง ก็ทำทีเหมือนป่วย จนกระทั่งคนเลี้ยงตายใจ พอคนเลี้ยงตายใจ ปล่อยให้นกตัวนี้ไปไหนมาไหนได้ นกตัวนี้ก็เลยค่อยๆกินอาหาร กินข้าว กินถั่ว จนกระทั่งมีเรี่ยวมีแรง เสร็จแล้วในที่สุดก็บินหนีไป
อันนี้เป็นนิทานในชาดก คนเราถ้าจะว่าไปแล้ว อยู่ในประเภทใดประเภทหนึ่งในนก 2 ประเภท คนส่วนใหญ่ก็คงไม่ต่างจากนกที่ถูกขุนให้อ้วน ถูกเลี้ยงให้อ้วน เพราะว่าเห็นแก่กิน พอมีสิ่งที่ถูกใจมาล่อก็กินใหญ่เลย เสร็จแล้วก็ตกอยู่อำนาจของมาร ถึงแม้เราจะไม่ได้มีใครมาจับเราให้อยู่ในกรง แต่ว่าก็สามารถที่จะตกอยู่ในอำนาจของมารได้
เวลาที่ถูกอกถูกใจ เกิดความอยาก แล้วก็ไม่รู้จักอดกลั้น ทำตามความอยาก เช่น เห็นแก่กิน พอเห็นแก่กินมากๆเข้า ก็ตกอยู่ในอำนาจของกิเลสไปเรื่อยๆ สุดท้ายกิเลสก็สามารถที่จะชักนำให้ไปเกิดความเดือดร้อนหรือว่าเกิดความวิบัติได้
ก็ไม่ต่างจากนกที่เห็นแก่กิน จนอ้วนเลย แล้วก็ถูกคนซื้อไป ซื้อไปเลี้ยงต่อ หรือจับไปฆ่าก็ได้ ถ้าเห็นแก่กินตามนิทานเรื่องนี้ ก็ไม่มีทางที่จะเป็นอิสระได้ แต่ถ้าไม่เห็นแก่กิน รู้จักอดกลั้นต่อความอยาก ก็สามารถจะเป็นอิสระ
อันนี้ก็เปรียบเหมือนคนทั่วไป ถ้าเห็นแก่ความอยาก ก็จะตกเป็นทาสของกิเลส แล้วกิเลสก็ชักนำให้ตกอยู่ในความเสื่อม ไม่มีวันที่จะได้พบอิสระ คนเราถ้าเห็นแก่กินหรือกินตามใจปาก มันก็เป็นการเพิ่มอำนาจให้กับกิเลส พอกิเลสมีอำนาจมากๆเข้า มันก็ชักชวนหรือล่อหลอกให้ไปหาสิ่งเสพอย่างอื่น
ทีแรกเห็นแก่กิน ต่อไปเห็นแก่ความสะดวกสบาย มีเงินแทนที่จะเก็บหอมรอมริบ เพื่อใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็เอาไปซื้อสิ่งเสพมาปรนเปรอ พอเสพไปมากๆเข้า ความอยากมันเพิ่มขึ้นทุกทีๆ กิเลสก็ล่อหลอกให้ถลำลงไปในทางความเสื่อมมากขึ้น อย่างเช่น พอใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย เพื่อความเอร็ดอร่อยเพื่อความสะดวกสบาย
เงินไม่พอ ก็ต้องไปหาเงินทางอื่น เช่น เล่นการพนัน หรือว่าไปเสี่ยงโชคก็ทำให้เป็นหนี้เป็นสินมากขึ้น เพราะว่าที่จะได้เงินมากกว่าเสียไปนั้นยาก เป็นหนี้เป็นสินเพราะการพนัน ในที่สุดก็หันเข้าหาการปล้นจี้ การคอรัปชั่น สมัยนี้ไปขายยาบ้า จะได้มีเงินมาปรนเปรอสนองความอยาก ชีวิตก็ตกต่ำไปเรื่อยๆ ไม่ต่างจากนกที่ถูกจับไปฆ่า หรือว่าถูกขังไม่มีวันสิ้นสุด
คนที่เห็นแก่กิน เห็นแก่ความสะดวกสบาย อาจจะไม่ถึงขนาดจะคอรัปชั่น ไปปล้นจี้ แต่ว่าก็ทำให้ไม่สามารถที่จะทำความดีได้อย่างที่ควรจะเป็น อย่างเช่น มาปฏิบัติธรรม แต่ว่ามันไม่สะดวกเลย ไม่สบายเลย หลายคนก็ต้องทิ้งการปฏิบัติ เพราะว่าเห็นแก่ความสะดวกสบาย หรือเห็นแม้กระทั่งการกิน มาบวชอาหารไม่ถูกปาก ก็ไม่ไหวแล้ว อย่ากระนั้นเลย เราสึกไปเลยดีกว่า อันนี้เรียกว่าทำความดีไม่ขึ้น หรือตายจากความดี เพราะว่าเห็นแก่กิน เห็นแก่ความสะดวกสบาย ซึ่งก็เป็นอุบายที่่มารต้องการอยู่แล้ว ให้เราไม่สามารถทำคุณงามความดีได้
อย่าว่าแต่การปฏิบัติธรรมเลย แม้กระทั่งการทำมาหากิน หรือการร่ำเรียนศึกษาหาความรู้ ถ้าเห็นแก่กิน เห็นความสะดวกสบาย มันก็จะไม่มีความอดทนอดกลั้น พ่ายแพ้ต่อความยากลำบาก ก็ไม่สามารถที่จะทำการงาน หรือการเรียนการศึกษาให้สำเร็จได้ ชีวิตก็ตกต่ำย่ำแย่เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น การอดกลั้นต่อความอยาก หรือการไม่เห็นแก่กิน มันเป็นพื้นฐานของการที่จะมีชีวิตที่ผาสุก เป็นอิสระ อิสระจากบ่วงของมาร หรืออำนาจของมาร เพราะฉะนั้น เวลากินอาหารหรือฉันอาหาร การที่เราไม่กินตามใจปาก หรือเห็นแก่กิน เป็นเรื่องสำคัญมาก มันเป็นการฝึกขั้นพื้นฐานขั้นต้นเลย เพื่อที่เราจะได้ไม่อยู่อำนาจของมาร เพราะฉะนั้น เวลาฉันก็จะมีการสวด ปฏิสังขาโย เพื่อพิจารณาว่า เราไม่ได้กินเพื่อความเอร็ดอร่อย เตือนใจว่า เราไม่ได้กินเพื่อประดับประดา หรือเพื่อความโก้เก๋ หรือเพื่อให้รูปร่างทรวดทรงงดงาม ล่ำสันแข็งแรง ไม่ใช่ ถ้าทำอย่างนั้น เป็นการกินตามใจกิเลส หรือกินตามอำนาจของกิเลส แต่ว่ากินเพื่ออะไร เพื่อคุณค่าแท้ นั่นก็คือเพื่อให้อยู่ได้
และไม่ใช่ให้อยู่รอดได้อย่างเดียวเท่านั้น แต่ให้ทุกขเวทนาเบาบางลง เช่น ความหิว ความเพลีย เรากินเราฉันเพื่อเหตุนี้ เพื่ออะไร เพื่อจะได้มีกำลัง มีสุขภาพดีในการประพฤติพรหมจรรย์หรือทำความดีเรียกว่าอนุเคราะห์แก่การประพฤติพรหมจรรย์
ถ้าเรารู้จักอดกลั้นต่อความอยาก ไม่เห็นแก่กิน ต่อไปก็จะไม่เห็นแก่ความสะดวกสบาย เจอความยากลำบากก็ไม่ท้อไม่ถอย ก็ทำให้สามารถที่จะบำเพ็ญทำคุณงามความดี สร้างบุญสร้างกุศล หรือว่าภาวนาจนเอาชนะกิเลสได้ เมื่อเอาชนะกิเลสได้ก็ดำรงเป็นอิสระ
พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพื่อสอนให้เรารู้จักอดกลั้นต่อความอยาก ไม่เห็นแก่กิน ไม่เห็นแก่ความสะดวกสบาย เพื่อจะได้ไม่ตกอยู่ในอำนาจของมาร เหมือนกับนกตัวนี้พอไม่เห็นแก่กินแล้ว สามารถจะเป็นอิสระได้ คนเลี้ยงก็เผลอหรือวางใจ มันก็เหมือนกันถ้าหากว่าเราไม่ทำตามอำนาจของมัน มันก็ไม่สามารถที่จะมีอำนาจเหนือเรา หรือชักนำให้เรา ตกอยู่ในวังวนแห่งความทุกข์ได้
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมก่อนฉันเช้า วัดป่าสุคะโต วันที่ 3 สิงหาคม 2564