แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม ทำงานทำการ ทำมาหากิน หรือว่าทำบุญทำกุศล จะทำกิจหรือทำจิต หรือทำกรรมฐานก็ตาม ต้องอาศัยอะไรต่ออะไรหลายอย่าง เช่น ความตั้งใจ ความเพียรพยายาม แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ ความรู้สึกตัว
ถ้าไม่มีความรู้สึกตัวแล้วไม่ว่าทำอะไร ก็ไม่เกิดผลอย่างที่ตั้งใจเอาไว้ หรือบางทีก็เกิดผลเสียด้วย เพียงแค่ขับรถไปไหนมาไหน ถ้าไม่มีความรู้สึกตัวก็หลงทาง ทั้งๆที่แผนที่ก็มี หรือว่าเลยจุดหมายปลายทางไปทั้งๆที่ไปที่นั่นบ่อย หรือคุ้นกับเส้นทาง เพราะอะไร เพราะใจลอย อาจจะคุยโทรศัพท์ หรือว่ากำลังคิดฟุ้งปรุงแต่งสารพัด เผลอๆอาจจะเกิดอุบัติเหตุเสียอีก
แม้กระทั่งการทำความดี การทำบุญทำกุศล ถ้าไม่มีความรู้สึกตัวอาจจะไม่ได้บุญ จะได้บาปแทน เช่น ไปตั้งโรงทานเป็นงานบุญ แต่ลงท้ายไปทะเลาะกับคนนั้นคนนี้ มีเรื่องวิวาทกับโรงทานข้างเคียงเพราะความโมโหโกรธา เพราะว่าทนไม่ได้กับเสียงที่กระทบกระทั่ง อันนี้เรียกว่าเป็นเพราะความไม่รู้ตัวด้วยเหมือนกัน
การปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าสรุปเป็น 3 ประการในโอวาทปาติโมกข์ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ ทั้งหมดนี้ก็ต้องมีความรู้สึกตัวเป็นพื้นฐานเพราะว่าถ้าไม่มีความรู้สึกตัว ที่ตั้งใจไว้จะไม่ทำบาป มันก็เผลอทำ เพราะความโลภ ความโกรธ ความหลง ความดีที่อยากจะทำก็ทำไม่ได้ กุศลที่ตั้งใจไว้ก็ถูกกิเลสครอบงำ เพราะความไม่รู้ตัว
ปล่อยให้ความโกรธ ความเกลียด ความผลุนผลันวู่วามมาชักนำไป เลยกลายเป็นอกุศลแทน การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ เช่น การภาวนา ภาวนา ถ้าทิ้งทำความรู้สึกตัว หรือทำโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว ก็อาจจะได้บาปแทน
เช่น ภาวนาไปก็หงุดหงิดกับคนข้างๆที่เขาอาจจะหายใจเสียงดัง หรือบางคนกลืนน้ำลายเสียงดัง หรือบางคนอาจจะยกมือสร้างจังหวะเร็ว เสียงดังพรึบพรับ รู้สึกรำคาญขึ้นมา ตอนนั้นเราไม่รู้ตัวแล้ว ภาวนาไปก็บ่นไป อันนี้เรียกว่ามันเสียประโยชน์ มันไม่ใช่การภาวนาแล้ว เพราะตอนนั้นโดนความหลงคือ ความหงุดหงิด ความโกรธเข้าครอบงำแทน
ความรู้สึกตัวเป็นพื้นฐานของการทำอะไรก็ตาม ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม โดยเฉพาะถ้าเป็นการกระทำที่ดี มีประโยชน์ ถ้าจะหวังให้มันได้ผลตามจุดมุ่งหมาย จะละทิ้งความรู้สึกตัวไม่ได้เลย มันเหมือนกับว่าเป็นสิ่งจำเป็นกับการกระทำทุกอย่าง เหมือนกับการกินอาหาร การอาบน้ำ การถูฟัน การเข้าห้องน้ำ ถ้าไม่รู้สึกตัวก็อาจจะเกิดการผิดพลาด กินอาหารก็ติดคอ หรือว่าลื่นไถลในห้องน้ำ
แต่พอมีความรู้สึกตัวก็จะมีสติควบคู่กันมาเลย คือถ้ามีสติก็มีความรู้สึกตัว ก็จะทำให้ทำอะไรได้ถูกต้อง ไม่พลั้งเผลอ ไม่เผลอไผลหรือประมาท มันเหมือนกับเป็นอากาศ อากาศเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย สมอง หัวใจ ปอด ตับ ไต เพราะว่าทุกเซลล์ที่ประกอบกันเป็นอวัยวะ เป็นเนื้อเยื่อ เป็นส่วนต่างๆในร่างกายเรา ทุกเซลล์มันต้องการอากาศ ไม่มีอากาศมันก็ตาย หรือทำงานไม่ได้
และอากาศจะไปหล่อเลี้ยงเซลล์ได้ ก็ต้องอาศัยเลือด เลือดเป็นตัวลำเลียงอากาศ คือออกซิเจน ไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆในร่างกาย แต่ถ้าหากว่า เซลล์เหล่านี้ขาดอากาศ อาจจะเป็นเพราะว่าเส้นเลือดตีบตัน ปอดไม่ดี อวัยวะเหล่านั้นก็ค่อยๆตาย เรียกว่าวาย อย่างตอนนี้คนด้วยโรคโควิด ถ้าอาการหนัก ปัญหาคือออกซิเจนในร่างกายหรือในกระแสเลือดมันน้อย เพราะว่าปอดทำงานไม่ได้ดีเหมือนเมื่อก่อน
พอปอดไม่สามารถที่จะทำงานได้ อากาศที่่จะไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆในร่างกายก็มีปัญหา เซลล์ตาย เนื้้อเยื่อตาย และอวัยวะก็ตาย ดูเหมือนไม่สำคัญ แต่ที่สิ่งสำคัญมากทีเดียว เป็นสิ่งจําเป็นพื้นฐานของการทำงานต่างๆในร่างกายหรือว่าความคงอยู่ของอวัยวะในร่างกาย
เพราะฉะนั้นในการทำงานหรือกิจกรรมต่างๆในของคนเรารวมทั้งการปฏิบัติธรรม ไปจนถึงการทำมาหากิน มันต้องอาศัยความรู้สึกตัวเป็นพื้นฐาน ยิ่งความสุขหรือว่าความเบิกบานแจ่มใส ความสงบเย็น พวกนี้ต้องมีความรู้สึกตัวเป็นพื้นฐาน มันจึงจะเป็นความสุขที่บำรุงจิตใจอย่างแท้จริง
ที่จริงเพียงแค่เราไม่มีความรู้สึกตัว หรือลืมตัว อย่าว่าแต่ความสุขเลย กลับจะสร้างความทุกข์ให้กับตนเองสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์กับความรู้สึกตัวก็คือความหลง เริ่มตั้งแต่หลงเข้าไปในความคิด อันนี้เราเป็นบ่อย ทั้งวันเราหลงเข้าไปในความคิดบ่อย พอหลงเข้าไปในความคิด ก็ไม่รู้สึกตัวแล้ว อย่าไปเข้าใจว่าความไม่รู้สึกตัวหมายความว่า ต้องสลบหรือโคม่า ถึงจะไม่รู้สึกตัว
แม้ยามตื่น ทำอะไรต่ออะไรได้ ฟังรู้เรื่อง แต่ว่าอาจจะทำอะไรไม่ถูกต้องก็ได้ ผิดๆพลาดๆได้ เพราะความคิดทำให้ลืมตัว อย่างเวลาเราสวดมนต์ก็ลืมตัวบ่อย สวดไปด้วยความไม่รู้สึกตัว เป็นช่วงๆ ถึงแม้จะสวดถูก แต่ถูกตามความเคยชิน หรือเป็นเพราะสวดจนเคยชิน ปากก็ว่าไปแต่ใจไม่รู้อยู่ไหน อันนี้เรียกว่าใจลอย เพราะหลงเข้าไปในความคิด
หรือหนักกว่านั้นหลงเข้าไปในอารมณ์ พอหลงเข้าไปในอารมณ์ยิ่งถ้าเป็นอกุศลด้วยแล้ว นอกจากเป็นทุกข์แล้ว บางทีไปเพิ่มทุกข์ให้กับตัวเองด้วย โดยเฉพาะหลงเข้าไปในความโกรธ หลงเข้าไปในความผิดหวัง เข้าไปในความน้อยเนื้อต่ำใจ คนเราทำร้ายตัวเองก็เพราะความลืมตัวนี้แหละ เวลาโกรธมากๆ อย่างเด็กตัวเล็กๆโกรธพ่อโกรธแม่ ทำอย่างไร เอาหัวโขกพื้น อย่าว่าแต่เด็กเลย ผู้ใหญ่ก็เผลอทำอย่างนั้นได้เหมือนกัน
คนขับรถของท่านทะไลลามะ วันหนึ่งขณะที่กำลังซ่อมรถอยู่ที่ใต้ท้องรถ บังเอิญทาไลลามะเสด็จมา คนขับรถพอเห็นท่านก็ตกใจ เพราะว่านานๆท่านจะเสด็จมาที ปกติก็เรียกคนขับรถเข้าไปหา แต่ท่านเสด็จมาเอง เลยตกใจ แล้วรีบลุก หัวก็บังเอิญไปชนกับกันชนหน้ารถ ปวดขึ้นมาเลย พอปวดเป็นอย่างไร โกรธ โกรธแล้วลืมตัว เลยเอาหัวโขกกันชนอีก 2-3 ครั้ง เหมือนกับว่า อยากจะทำร้ายตัวเอง
ธรรมชาติคนเราก็รักตัวเอง อยากให้ตัวเองเป็นสุข แต่ว่าพอลืมตัวหรือว่าหลง ก็ทำร้ายตัวเองได้ง่ายๆ นี่ขนาดเป็นคนที่ปกติ ไม่ได้เป็นโรค เช่น โรคซึมเศร้าหรือว่าโรคทางจิต ยิ่งอย่างนั้นด้วยแล้ว ยิ่งไม่รู้เนื้อรู้ตัวแล้ว ก็สามารถทำร้ายตัวเองหนักเข้าไปอีก เพราะความหดหู่ห่อเหี่ยว เศร้าโศกเสียใจ คับแค้น ที่มันครอบงำใจได้เพราะความลืมตัว เรียกว่าไม่มีความรู้สึกตัวก็ได้
อย่าว่าแต่ความโกรธ แม้กระทั่งความดีใจถ้าดีใจลืมตัวก็เกิดโทษ เมื่อสัก 30 40 ปีก่อน มีอาแปะคนหนึ่งถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 ดีใจมากเพราะแกไม่ได้เป็นคนมีฐานะเท่าไหร่ พอถูกรางวัลที่ 1 ดีใจ ถือลอตเตอรี่ไปที่ตลาด แล้วกระโดดโลดเต้น ประกาศว่าตัวเองถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 ตอนนั้นในใจคิดว่ากูไม่จนแล้ว ลาก่อนความจน หนี้สินทั้งหลาย ต่อไปนี้ก็ไม่มารบกวนกูอีกแล้ว จบสิ้นกันสักทีความยากจน ความทุกข์ทั้งหลาย
แกคงคิดแบบนี้ อยู่ๆแกก็ฉีกลอตเตอรี่ขาดเป็นชิ้นๆ คงคิดว่าลาก่อนความยากจน สิ้นสุดกันที ปรากฏว่ารู้ตัวทันที ก้มลงหยิบเศษลอตเตอรี่มาจะปะติดปะต่อ แต่ก็ทำไม่ได้แล้วเพราะเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จากดีใจกลายเป็นเสียใจไปเลย นั่งทรุดเลย จมดิ่งเข้าไปในความเศร้า ความโศก ความเสียใจ สุดท้ายก็กลายเป็นคนวิกลจริตไปเลย
อันนี้เรียกว่าดีใจเพราะลืมตัว สุดท้ายก็จมดิ่งอยู่ในความเศร้าจนเสียผู้เสียคนไปเลยหรือวิกลจริต เพราะฉะนั้น ถ้าทำอะไรโดยไม่มีความรู้สึกตัว ปล่อยให้ความหลงเข้ามาครอบงำ หรือปล่อยใจให้หลงเข้าไปในความคิด เข้าไปในอารมณ์ มันเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก
แต่คนไม่ค่อยได้ตระหนักเท่าไหร่ หรือเห็นความสำคัญของความรู้สึกตัว เพราะดูเหมือนว่าเป็นเรื่่องธรรมดาๆ ที่่ใครๆก็มีอยู่ เพราะไปเข้าใจว่า ถ้าไม่สลบถ้าไม่โคมาแล้ว หรือไม่เมามาย ไม่เมายา มันก็รู้ตัวอยู่แล้ว แต่ที่จริง ไม่ใช่ เพราะว่า เพียงแค่หลงเข้าไปในความคิด หรือหลุดเข้าไปในอารมณ์ มันก็ลืมเนื้อลืมตัว
การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีความรู้สึกตัวมันก็ ไม่ก้าวหน้าเหมือนกันโดยเฉพาะเป็นกรรมฐาน อย่างเช่น เวลาปฏิบัติแล้วเกิดความสงบ จิตก็ดื่มด่ำกับความสงบ จนลืมเนื้อลืมตัว อันนี้ก็ยิ่งหลง ครูบาอาจารย์เรียกว่าเป็นความหลงสีขาว ไม่ใช่หลงสีดำ สีดำคือความเศร้าความเสียใจ แต่หลงอีกแบบหนึ่งคือหลงในความสงบ ติดสงบ ก็เลยทำให้การปฏิบัติเนิ่นช้า ไม่สามารถที่จะเห็นความจริงหรือว่ารู้แจ้งสัจธรรมได้
การตื่นรู้ เข้าถึงความจริงของสัจธรรม หรือพูดง่ายๆคือรู้ความจริง มันต้องเริ่มต้นจากการรู้ตัวก่อน ถ้าไม่รู้ตัว มันจะรู้ความจริงไม่ได้เลย เพราะแม้กระทั่งความจริงที่ปรากฏในรูปของอารมณ์ต่างๆ ก็ไม่เห็น ถูกมันครอบงำเหมือนกับอยู่ในความดำมืด อารมณ์ไม่ว่าดีใจเสียใจ เมื่อครอบเมื่อไรก็หลงทั้งนั้นแหละ ไม่รู้ตัวไม่เห็นอารมณ์นั้น และถ้าไม่เห็นอารมณ์แล้ว จะเห็นสัจธรรมหรือเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงได้อย่างไร
มีหลายคนพอมาปฏิบัติก็รู้ว่าความรู้สึกตัวนั้นสำคัญ แต่ว่าปฏิบัติไปๆ กลับมีความทุกข์ เพราะว่าควานหาความรู้สึกตัวไม่เจอ ที่จริงความรู้สึกตัวก็อยู่กับเราอยู่แล้ว ไม่ต้องไปควานหาที่ไหน เพียงแค่ใจอยู่กับเนื้อกับตัว มันก็รู้สึกตัวแล้ว หรือเพียงแค่เรามีสติ พอมีสติ ความรู้ตัวก็เกิดขึ้น ความรู้ตัวถ้าจะมีอีกชื่อหนึ่งคือ สัมปชัญญะ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมที่มีอุปการะมาก คือ สติและสัมปชัญญะ สติคือไม่ลืม สัมปชัญญะคือไม่หลง อันนี้คือความหมายง่ายๆ ไม่หลงคือรู้ตัว ความรู้ตัว อยู่กับเราอยู่แล้ว เรียกว่าทุกวัน แต่ว่ามันอาจจะบ่อยหรือไม่ต่อเนื่อง เพราะว่าใจไหลเข้าไปอยู่ในความคิดหรืออารมณ์บ่อยๆ
แต่ถ้าหากว่าเราฝึกสติ มีสติว่องไว สติก็จะพาใจกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว เมื่อรู้ทันความคิดรู้ทันอารมณ์ ซึ่งเป็นงานของสติ จิตก็หลุดจากความคิดจากอารมณ์ กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ก็เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา ความรู้สึกตัวเป็นของพื้นฐานจะเรียกว่าง่ายก็ได้ ที่มันอยู่กับเราอยู่แล้ว
หลวงพ่อคำเขียน ท่านแนะนำการปฏิบัติให้กับญาติโยมหรือพระก็ตาม บางครั้งท่านก็แนะให้ผู้ปฏิบัติเอามือไขว้หลัง หรือว่าวางไว้ข้างหลัง แล้วท่านจะถามว่าตอนนี้แขนอยู่ไหน ทุกคนก็ตอบได้ว่าแขนอยู่ข้างหลัง หลวงพ่อบอกว่า ถ้าหลวงพ่อบอกว่าแขนอยู่ข้างหน้า คุณจะว่ายังไง ผู้ปฏิบัติก็บอกว่า ไม่เชื่อครับ เพราะว่าแขนอยู่ข้างหลัง
แล้วรู้ได้อย่างไร คำตอบก็คือเพราะรู้ตัว ก็รู้ตัวจึงรู้ว่าแขนอยู่ข้างหลัง แม้ว่าจะปิดตาก็ตาม ไม่เห็นแขน ความรู้ตัวก็บอกเราว่าแขนอยู่ข้างหลัง อันนี้คือความรู้ตัวที่ไม่ต้องอธิบาย แต่ว่าบ่อยครั้งแขนอยู่ข้างหลังก็จริง แต่บางทีใจลอย มันก็เลยลืมไปเลยว่าแขนอยู่ข้างหลัง หรือว่า คุยกับหลวงพ่อหรือฟังหลวงพ่อจนเพลินในขณะนั้น ก็ลืมไปเลยว่า แขนอยู่ข้างหลัง อันนั้นเรียกว่าไม่รู้ตัวแล้ว
แต่ถามว่า รู้ได้อย่างไรว่า แขนอยู่ข้างหลัง อ้าวก็เพราะรู้ตัวนั่นแหล่ะ พอจิตกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ได้เพลินไปกับใจที่ลอย หรือไม่ได้เพลินไปกับความคิดที่ฟุ้ง มันก็รู้ตัวขึ้นมาเอง การปฏิบัติเพื่อเจริญสติหรือสร้างความรู้สึกตัว ที่จริงไม่ได้ยากอะไร มันก็เป็นการฝึกให้ใจเราอยู่กับเนื้อกับตัว
เริ่มต้นด้วยให้ใจมารู้เวลากายทำอะไร ก็เอาอิริยาบถหลักคือ เดินจงกรม สร้างจังหวะ เวลาเดินจงกรม สร้างจังหวะ ก็ให้รู้ตัว ท่านใช้คำว่ารู้สึก ๆ ถ้าใจอยู่กับเนื้อกับตัวหรือรู้ตัว เวลาเดิน เคลื่อน ขยับขา ก็จะรู้สึก ๆ รู้สึกในที่นี้ไม่ใช่เวทนา แต่รู้สึกว่า ตัวเคลื่อนไหว ขาเขยื้อนขยับ หรือเวลายกมือก็เหมือนกัน ถ้ารู้สึกตัว ก็จะรู้ว่ามือขยับ มันเป็นความรู้สึกรวมๆ ไม่ได้เจาะจงที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง
บางคนไม่เข้าใจ ก็เอาจิตไปเพ่งที่เท้า หรือเอาจิตไปเพ่งที่มือ เพื่อจะได้รู้สึกชัดๆ แต่อันนั้นไม่ใช่เป็นความรู้สึกตัว หรือความรู้ตัวทั่วพร้อม เพราะเป็นการรู้เฉพาะจุด การที่เอาจิตไปแนบแน่นอยู่กับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายก็ทำให้รู้เฉพาะจุด ไม่สามารถรู้ตัวทั่วพร้อมได้ แต่พอวางจิตไว้ห่างสักหน่อย ไม่ถึงกับแนบแน่น มันก็จะรู้ตัวทั่วพร้อมได้
เพราะฉะนั้น การไปบังคับจิตให้จดจ่อแนบแน่น มันจึงไม่ใช่วิธีที่จะทำให้รู้ตัว แต่ส่วนใหญ่ก็อยากจะให้จิตมันแนบแน่น เพื่อจะให้รู้สึกชัดๆ ตอนนั้นมีความอยากแล้ว ความอยากที่มันครอบงำใจ ถ้าปล่อยให้ความอยากครอบงำใจ มันก็ไม่รู้ตัวแล้ว
เพราะว่ารู้สึกตัวก็คือภาวะที่โปร่ง โล่ง อิสระ หรือปลอดจากความอยาก หรืออารมณ์ใดใดทั้งปวง มันแค่รู้เฉยๆ พอรู้สึกตัวแล้ว มันก็จะเห็น การเห็นไม่เข้าไปเป็น ก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะความรู้ตัว มันไม่มีการแบ่งแยกตัดสิน มันเป็นภาวะที่เปิดรับ รับรู้สิ่งต่างๆอย่างที่มันเป็น ไม่ว่าอารมณ์ภายใน หรือว่าวัตถุภายนอก แล้วพอเรารู้สึกตัว มันไม่ใช่แค่รู้ทัน หรือเห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่ไปข้องแวะกับมันเท่านั้น
คือ สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น แต่ว่ายังทำให้รับรู้โลกภายนอกได้อย่างแจ่มชัดด้วย เวลาใจไม่ลอย ไม่ฟุ้ง มีสติ มีความรู้สึกตัว จะรู้สึกเลยว่ามันรับรู้อะไรชัด แต่ถ้าใจลอยเมื่อไหร่ มันจะเหมือนกับว่าสิ่งรอบตัวมันเบลอๆ การรับรู้มันไม่ชัด มันเบลอ ๆ คนเราไม่ค่อยสังเกตหรอก คนที่ไม่เคยอยู่กับความรู้สึกตัวนานๆ จะไม่รู้สึกว่า มันเกิดความรู้สึกที่แจ่มชัด เพราะอยู่กับความเบลอมาตลอด เหมือนกับละเมอ
แต่พอได้สัมผัสกับความรู้สึกตัว และอยู่กับความรู้สึกตัวต่อเนื่อง ก็จะพบว่าการรับรู้โลกภายนอกมันชัด เหมือนกับตื่น ไม่ใช่หลับ บางทีเขาก็เรียกว่าตื่นรู้ ตื่นรู้คือภาวะที่เกิดจากความรู้สึกตัว ทีแรกตื่นรู้หรือรับรู้โลกภายนอกอย่างแจ่มชัด ต่อไปโลกภายในก็จะเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ แล้วการที่จะเห็นสัจธรรมความจริงก็เพราะความรู้สึกตัวซึ่งมาควบคู่กับสติ
เพราะฉะนั้น ทำความเข้าใจและสัมผัสความรู้สึกตัวให้เรื่อยๆ ซึ่งก็ไม่ได้ยากอะไร ทำอะไรก็ทำด้วยความรู้ตัว ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น ใจอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ใช่แค่เดินจงกรม สร้างจังหวะ อย่างที่เราสวดเมื่อวันก่อนเรื่องสติปัฏฐาน
พระพุทธเจ้าสอนให้ทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม เวลาเดินไปข้างหน้า ถอยไปข้างหลัง เวลามองไปข้างหน้า เหลียวซ้ายแลขวา เวลาคู้เหยียดอวัยวะ ทำความรู้สึกตัว เวลาทรงบาตร จีวร สังฆาฏิ ทำความรู้สึกตัว เวลากิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม อุจจาระ ปัสสาวะ แม้กระทั่งอุจจาระ ปัสสาวะ ทำความรู้สึกตัว เวลายืน เดิน นั่ง หลับ ลืมตา นิ่ง พูดคุย ก็เป็นอิริยาบถธรรมดา แท้ๆ ถ้าหากว่าเราทำอย่างถูกต้อง มันก็จะเกิดความรู้ตัวขึ้นมา
มันเป็นเรื่องพื้นฐานที่ดูไม่ได้หวือหวาอะไร ไม่เหมือนกับการนั่งหลับตา ดูมีภาพที่ดี แต่ว่าการกินดื่มเคี้ยว ลิ้ม ทำด้วยความรู้สึกตัว มันก็เป็นการภาวนาที่มีค่าได้ สิ่งที่เป็นพื้นๆ ถ้าเราทำด้วยความรู้สึก จะทำให้เป็นสิ่งที่มีค่ามากทีเดียว เพราะฉะนั้น อย่าลืม ความรู้สึกตัวพยายามรู้จัก สัมผัส และรักษาให้อยู่กับเนื้อกับตัวไปเรื่อยๆนานๆบ่อยๆ
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมวัตรเย็นวันที่ 2 สิงหาคม 2564