แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อเช้าได้พูดถึงเรื่องการฝึกจิต ด้วยการยอมรับ หรือเปิดรับ สิ่งต่างๆที่เข้ามาสู่จิตใจของเรา หรือสู่การรับรู้ของใจเรา ไม่ว่าจะเป็นความคิดที่ไม่ได้เชื้อเชิญ ความคิดที่ไม่ได้ตั้งใจคิดหรือที่เรียกว่า ความฟุ้งซ่านตลอดทั้งอารมณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์กุศลหรืออกุศล บวกหรือลบ
และก็ให้เราลองขยายการยอมรับ ไปยังสิ่งต่างๆภายนอก เช่น รูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสที่มากระทบใจ หรือว่าเหตุการณ์ต่างๆทั้งที่เกิดรอบตัวหรือกับตัวเรา อาจจะเป็นเสียงดัง อากาศร้อน หรือว่ารถติด สารพัด
ทั้งหมดนี้ ในด้านหนึ่งเป็นการฝึกจิตให้รู้จักปล่อยรู้จักวาง รวมทั้งฝึกจิตให้เห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงเป็นพื้นฐานของการเข้าใจสัจธรรม แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นไปเพื่อการบรรเทาความทุกข์ใจ เพราะว่าความทุกข์ใจ เวลามีอารมณ์เกิดขึ้น หรือมีสิ่งภายนอกมากระทบ จริงๆแล้วมันเป็นเพราะว่า เราไปเกี่ยวข้องกับมันไม่ถูก โดยเฉพาะการไปผลักไสกดข่มมัน หรือไปต่อสู้โรมรันพันตูกับมัน
หรือพูดง่ายๆคือการที่เราไม่ยอมรับมันอย่างที่มันเป็น ยิ่งผลักไส ยิ่งไม่ยอมรับ มันก็ยิ่งเป็นทุกข์ เป็นทุกข์ที่เกิดจากเสียงบ่นโวยวายตีโพยตีพายโอดครวญ ซึ่งก็เป็นอาการของการไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือที่ปรากฏแก่เรา
ถ้าเรายอมรับได้ เปิดรับได้ หรือว่ารับรู้มันด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่ไปทำอะไรกับมัน แล้วก็ไม่ยอมให้มันทำอะไรกับเราหรือกับจิตใจของเรา มันก็จะช่วยลดทอนความทุกข์ไปได้เยอะ
อย่างไรก็ตาม คนเราไม่ได้มีแต่แค่ความทุกข์กาย มีทุกข์ใจด้วย ทุกข์กายมีหลายสาเหตุและเราก็มีหน้าที่ที่จะบรรเทาความทุกข์เวลามันเกิดขึ้นกับกายด้วย ตรงนี้ การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น มันไม่พอ การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นมันก็มีประโยชน์อยู่ มันช่วยลดความทุกข์ใจ
แต่ว่ามันยังไม่ช่วยลดความทุกข์กาย อย่างเช่น เวลาเราไปเหยียบเศษแก้ว แล้วมีแผล มีความปวด ถ้าเรายอมรับความปวด วางใจเป็นกลางกับมัน ไม่ผลักไส ไม่กดข่มความปวด รวมทั้งไม่โวยวายตีโพยตีพาย มันก็ช่วยลดความทุกข์ใจไปได้มากทีเดียว แต่ความทุกข์กาย ความปวด ก็ยังมีอยู่ อันนี้เราก็ต้องทำอะไรบางอย่าง เช่น หายามาทา
การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยใจที่เป็นกลาง เราจะเรียกว่าเป็นการทำจิตหรือทำใจก็ได้ ส่วนการหายามาทาหรือว่าหาพลาสเตอร์มาปิดเรียกว่าเป็นการทำกิจ เวลาเจ็บป่วยก็เหมือนกัน เจ็บป่วยด้วยโรคใดก็ตาม มันก็มีทั้งความทุกข์กาย และทุกข์ใจ
ทุกข์ใจเกิดจากการที่ไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เกิดจากความพยายามที่จะผลักไสทุกขเวทนาที่ปรากฏ หรือว่าไปยึดมั่นถือมั่น ไปแบก ไปจดจ่อกับทุกขเวทนานั้น มันก็ทำให้เกิดความทุกข์ใจขึ้น ถ้าเรารู้จักทำใจหรือทำจิตให้รู้ทันเห็นความหงุดหงิดที่เกิดขึ้น เห็นโทสะที่ปรากฏ
แล้วก็วางมันลง หรือว่ารู้ทัน เห็นเวทนา ความปวดที่เกิดขึ้น แล้วก็ไม่จดจ่อมัน ไม่ผลักไสมัน แค่รู้เฉยๆ หรือว่าทำใจเป็นอุเบกขา ไม่ไปจดจ่อผลักไสมัน ความทุกข์ใจก็จะลดลง แต่ว่าทุกข์กายก็ยังต้องทำ ทำอะไร ก็ไปหาหมอ กินยา หรือว่าดูแลสุขภาพให้มันถูกกับกรณี เช่น กินอาหารให้ถูกสุขลักษณะ พักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น อันนี้เรียกว่าทำกิจ
ต้องเข้าใจว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนแต่เฉพาะเรื่องทำจิต แต่ว่าท่านสอนเรื่องทำกิจ หรือการทำอะไรก็ตามที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์ ความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย หรือว่าปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น มีธรรมะหมวดหนึ่ง พูดถึงเรื่องการละอาสวะ อาสวะ ความหมายหนึ่งคือกิเลส แต่ในที่นี้ท่านหมายถึงความทุกข์ หรือว่าความทุกข์ที่ี่เป็นเหตุให้กิเลสมันเกิดขึ้นหรืองอกงาม
ในอีกส่วนหนึ่ง ท่านสอนให้รู้จักสำรวมอินทรีย์ หรือสังวร ก็คือการรักษาใจไม่ให้กิเลสหรืออกุศลเกิดขึ้นจากรูปรสกลิ่นเสียงที่มาสัมผัสตาหูจมูกลิ้นกาย คือ อินทรีย์ทั้ง 5 ที่จริงอินทรีย์ทั้ง 6 ด้วย นอกจากการละอาสวะด้วยการสำรวมแล้ว ก็ยังละอาสวะด้วยทรรศนะ ด้วยการมีมุมมองที่ถูกต้องคือ โยนิโสมนสิการ รวมทั้งละด้วยการทำให้มาก
การทำให้มากคือโพชฌงค์คือ สมาธิ สติ วิริยะ ธรรมวิจยะ หรือปัญญา รวมทั้งละด้วยความอดกลั้น อดทน แต่ว่าไม่ได้มีเท่านั้น ท่านยังสอนให้ละด้วยการใช้สอยด้วย เช่น ปัจจัย 4 จีวร เครื่องนุ่งห่ม เราใช่้เพื่อการบรรเทาทุกข์จากแดด ลม ฝน แมลง ถ้ามันร้อน ก็ต้องหลบไปอยู่ในอาคารในเสนาสนะ หรือถ้าป่วยก็กินยา
นอกจากนั้นท่านก็ให้ละด้วยการบรรเทา รวมทั้งละ ด้วยการละเว้น ตรงไหนที่มันอันตราย มีงูเงี้ยวเขี้ยวขอก็ให้อยู่ห่างๆ อันนี้พูดรวมๆก็เรียกว่าทำกิจ ไม่ใช่แค่ทำจิตอย่างเดียว
ทำจิตก็มีประโยชน์ ความอดทนก็ดี ความสำรวม รักษาใจ เวลามีการกระทบเกิดขึ้นก็ดีอยู่ แต่ว่ามันไม่พอ มันต้องมีการทำกิจ เช่น การใช้สอย การหาสิ่งต่างๆมาช่วยบรรเทาความทุกข์ ไม่ใช่ว่าพอร้อนก็ให้ทนอย่างเดียว หรือว่าให้ทำใจอย่างเดียว ไม่ใช่ หรือว่าพอมีแมลงมากัดก็ทำใจอย่างเดียว หรือว่ายอมรับมันอย่างเดียว ไม่ใช่ เราก็ต้องหาวิธีที่จะช่วยบรรเทาปวดจากแมลงที่มากัดต่อย หรือว่าป้องกันไม่ให้มันมาทำร้ายเรา อันนี้เรียกว่าการทำกิจ
หลายคนไม่เข้าใจ ศึกษาพระพุทธศาสนา บางทีไปได้ยินว่าพระพุทธศาสนาสอนสอนให้ปล่อยวางหรือว่าไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็ทำแต่ตรงนั้นหรือแค่นั้น หลวงพ่อชาท่านเล่าว่า เคยมีสมัยหนึ่ง ลูกศิษย์ของท่านเป็นพระรูปหนึ่งอยู่ในกุฏิมุงแฝก วันหนึ่งมีพายุฝนฟ้าคะนองลมแรง ก็พัดเอาหลังคาโหว่ไปครึ่งหนึ่ง ฝนเลยรั่วไหล ฝนหยุดแล้ว พระรูปนั่นก็ไม่ทำอะไร ไม่ไปมุงไปซ่อมหลังคา ยังปล่อยอยู่อย่างนั้น ฝนตกมันก็รั่ว
วันหนึ่ง หลวงพ่อก็ถามพระรูปนี้ถึงเรื่องหลังคา พระรูปนั้นก็ตอบว่า ผมกำลังฝึกไม่ยึดมั่นถือมั่นครับ หลวงพ่อก็เลยตอบว่าการไม่ยึดมั่นถือมั่น มันต้องใช้สมองนะ อันนี้เป็นการยึดมั่นถือมั่นแบบไม่ใช้สมองเลย มันเหมือนกับการวางเฉยแบบควาย คือ ปล่อยวางเวลาฝนรั่วเพราะหลังคามันรั่ว ฝนไหลลงมา ใจไม่ทุกข์ดีแล้ว ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยใจที่เป็นกลาง ก็คือว่าฝนรั่ว แต่พอฝนหยุดแล้ว ก็ควรจะซ่อมหลังคา
ทีแรกก็ทำจิตก่อน เพราะว่ากลางค่ำกลางคืนจะทำอะไรกับหลังคาก็ไม่ได้ สิ่งเดียวที่ทำได้ คือทำใจหรือทำจิต ไม่ทุกข์ ยอมรับ เปิดใจรับฝน หรือความไม่สะดวก ความชื้นแฉะ แต่เมื่อถึงเวลาที่เหมาะ ก็ควรจะทำกิจก็คือไปมุงหลังคานั้นใหม่ หรือซ่อมหลังคา
ก็เหมือนกับสมมุติว่าเรากำลังฟังคำบรรยายอยู่ ก็มีเสียงเครื่องสูบน้ำดังผิดปกติ ในตอนนั้นสมควรที่เราจะทำจิตก็คือ ยอมรับเสียงที่มากระทบ ไม่บ่นไม่โวยวายตีโพยตีพาย เพื่อที่เราจะได้มีสมาธิกับการฟังคำบรรยาย เพื่อที่ใจจะได้ไม่หงุดหงิด แต่ว่าพอบรรยายเสร็จลงจากศาลาแล้วก็ควรจะไปดูว่าเครื่องบกพร่องที่ตรงไหน มีปัญหาอะไรที่ต้องแก้ไข ต้องไปซ่อม ไม่ให้มันส่งเสียง
หรือว่าขณะที่เรากำลังเจริญสติ ทำสมาธิ เผอิญประตูปิดไว้ไม่แน่น ตึงตึงตึง เสียงดังมันก็มากระทบหูตอนนั้นเรากำลังเจริญสติทำสมาธิอยู่ ก็สมควรที่เราจะทำจิตด้วยการทำใจเป็นกลางกับเสียงที่มากระทบ มันดังก็ดังไป ฉันก็จะอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับความรู้สึกตัว แล้วก็ดูใจไปด้วยว่า มันกระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลงมากน้อยแค่ไหน ยอมรับอาการของใจที่มันกระเพื่อม หรือว่าความหงุดหงิดที่เกิดขึ้น
รวมทั้งยอมรับเสียงที่ดัง แต่ไม่ให้มันมารบกวนจิตใจ ดังก็ดังไป แต่ว่าใจไม่รู้สึกถูกรบกวน แต่พอเราเสร็จจากการภาวนา เราก็ต้องไปปิดประตูให้แน่น ไม่ใช่ปล่อยให้มันดังไปเรื่อยๆ อันนี้เรียกว่าทำจิตแต่ไม่ทำกิจ ไม่ถูก บางครั้งเราก็ต้องทำจิตด้วยเพื่อเป็นการฝึก ฝึกให้รู้จักอดทน หรือรู้จักปล่อยวาง ฝึกเพื่อที่จะได้ดูเวทนา
ธรรมยาตรา เป็นการเดิน เดินกันทั้งวัน กลางแดด บางคนก็ไม่กางร่ม ไม่สวมหมวกหรือว่าไม่มีอะไรมาปิดศีรษะ ก็ให้แดดมันเผานั่นแหละ อันนี้ไม่ได้เรียกว่าทรมานตน แต่เป็นการฝึกจิต ฝึกว่า มันมีเวทนาเกิดขึ้น มันมีความร้อนเกิดขึ้น ก็ฝึกใจดูมัน ดูแล้วก็วาง เห็นแล้วก็ไม่ยึด ยอมรับความร้อนที่เกิดขึ้นด้วยใจที่เป็นกลาง ฝึกดูเวทนาไปด้วย อันนี้เป็นการฝึกจิตแล้ว
แล้วก็ฝึกดูอารมณ์ที่เกิดขึ้น เวลามันบ่นโวยวายตีโพยตีพาย วิตกกังวลว่า เดี๋ยวจะเป็นไข้หรือเปล่า คือรู้เท่าทันมัน แต่ว่าพอเสร็จธรรมยาตรา เวลาเจอแดดก็อาจจะกางร่ม เพราะว่าตอนเดินธรรมยาตรา ที่ไม่กางร่มหรือว่าไม่ได้เอาอะไรมาคลุมหัว ก็เพื่อฝึกจิต แล้วที่จริงมันก็เป็นการช่วยลดความทุกข์ไปพร้อมๆกันด้วย ความทุกข์กายอาจจะไม่ได้ลด แต่ว่ามันลดความทุกข์ใจ
เวลาเรามาฟังคำบรรยายหรือว่ามาทำวัตร บางทีมียุงมากัด เราก็ฝึกใจฝึกจิตด้วยการยอมให้มันกัด แล้วก็ดูเวทนา ความคัน ความปวดที่เกิดขึ้น ฝึกให้ใจรู้จักปล่อยรู้จักวาง ยอมรับทุกขเวทนา ความเจ็บ ความปวดด้วยการที่ไม่ผลักไส ไม่โวยวาย แต่ว่าพอฝึกเสร็จแล้ว เราก็อาจจะหายามาทาเพื่อที่จะไม่ให้มันมากัดอีก เวลาจะเข้านอนก็กางมุ้ง ไม่ใช่ปล่อยให้มันกัด
อันนี้ให้เข้าใจว่า เวลาพูดถึงเรื่องการทำใจยอมรับ ไม่ว่าเพื่อฝึกความอดทน เพื่อฝึกสติ หรือเพื่อฝึกปล่อยวาง เราก็ไม่ลืมการทำกิจ พุทธศาสนาสอนเรื่องทำกิจและทำจิต ควบคู่กันไปตลอดเวลา ไม่ได้ทิ้งหรือว่าเหวี่ยงไปทางใดทางหนึ่ง
อย่างเช่นเวลาพระพุทธเจ้าตรัสสอนเรื่องความไม่เที่ยงของสังขาร ท่านจะสอน 2 แบบ ในด้านหนึ่งก็พูดถึงความไม่เที่ยงของสังขาร เพื่อที่จะได้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท อย่างในปัจฉิมโอวาท สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม หรือทำประโยชน์ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท นี้คือการทำกิจ
แต่ในอีกที่หนึ่ง เวลาท่านสอน ท่านพูดถึงเรื่องความไม่เที่ยงของสังขาร ท่านก็สอนให้รู้จักปล่อยวาง เช่นในภาษิตที่ว่า อนิจจา วตะ สังขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วดับไป ความสงบระงับแห่งสังขารเป็นสุขอย่างยิ่ง ความสงบระงับแห่งสังขาร ความหมายคือการปล่อยวาง ไม่ยึดติด ไม่ยึดมั่นถือมั่น
ท่านสอนทั้ง 2 แบบ สอนทั้งทำจิตให้ปล่อยวาง สอนทำกิจให้มีความขยันหมั่นเพียร ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ในธรรมะที่เราคุ้นเคยกันดี พรหมวิหาร 4 เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อันนี้ทำจิตทั้งนั้น แต่ไม่พอ นอกจากมีจิตเมตตากรุณา แล้วก็ต้องทำกิจ ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อ
ก็มีธรรมะอีกบทหนึ่งตามมา สังคหวัตถุ 4 ทาน- การสละช่วยเหลือด้วยการสละสิ่งของ ปิยวาจา-การช่วยเหลือด้วยคำพูด ให้กำลังใจ คำแนะนำ อัตถจริยา-การช่วยเหลือด้วยการลงมือทำ เช่น เป็นจิตอาสา สมานัตตตา-ร่วมทุกข์ร่วมสุข
อันนี้เรียกว่าทำกิจแล้วก็ทำจิตควบคู่กันไป หรือว่าทำจิตแล้วก็ต้องทำกิจ เจ็บป่วยก็ทำใจ ไม่หงุดหงิด ไม่วิตกกังวล แต่ขณะเดียวกันก็หายามารักษา หิวก็ต้องทำจิตแล้ว อาจจะเป็นเพราะว่ายังไม่ถึงเวลา ทำจิตก็เห็นทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น เห็นความหิว เห็นความวิตกที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ผลักไส ยอมรับมัน ยอมรับความหิว อันนี้เรียกทำจิต แต่ว่าเมื่อถึงเวลา ก็ต้องฉันหรือต้องกินอาหาร ไม่ใช่ว่าทำแต่จิต กิจไม่ทำ
การกินอาหารเพื่อดูแลรักษาสุขภาพก็ถือว่าเป็นการทำกิจอย่างหนึ่ง แต่บางคนก็อดอาหารหลายวัน ก็เพื่อฝึกจิต มันไม่ใช่เป็นการทรมานตน แต่เป็นการฝึกจิตในหลายด้านหลายอย่าง เช่น ฝึกให้มีสติ ฝึกให้มีสมาธิ เพราะบางคนอดอาหารแล้ว จิตเป็นสมาธิได้เร็ว ส่วนฝึกสติก็คือฝึกให้ดูทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นกับกายและใจ แต่ว่าถึงเวลาอาหารแล้ว ก็ต้องกิน ต้องฉัน ต้องบริโภค
บางครั้ง การทำจิตกับการทำกิจ มันทำควบคู่กันไปเลย ไม่ใช่ว่าทำทีละตอน อย่างเช่น เราทำงาน มันก็เป็นการทำกิจอยู่แล้ว แต่ว่าเราก็ทำจิตไปด้วย ก็คือทำงานอย่างมีสติ จิตอยู่กับปัจจุบัน ไม่ไปพะวงถึงอนาคต เช่น เป้าหมายหรือว่ายอดที่จะไปให้ถึง มันมีอุปสรรคก็ไม่เอามารบกวนจิตใจ รู้จักวาง คนจะวิจารณ์งานของเรา เราก็ไม่เอามาเป็นอารมณ์ รู้จักปล่อยรู้จักวาง หรือเอามาพิจารณาใคร่ครวญ อันนี้เรียกว่า ทำจิตคู่กับทำกิจ
ที่จริงอย่าว่าแต่ทำงานเลย แม้กระทั่งการทำกิจวัตรประจำวัน เราก็ทำจิตควบคู่กันไปด้วย เช่น อาบน้ำ ถูฟัน กินข้าว อันนี้้เรียกว่าทำกิจ เราก็ทำจิตไปด้วยคือ มีสติ มีความรู้สึกตัว ไม่ใช่ว่าอาบน้ำไปแต่ใจลอยไม่รู้ไปอยู่ไหน หรือไปหมกมุ่นครุ่นคิดกับอะไรต่ออะไรให้กังวล
เพราะฉะนั้น เวลาพูดถึงเรื่องการทำจิต ก็ให้เราตระหนักว่า มีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร มีขอบเขตแค่ไหน เพื่อที่เราจะไม่ละทิ้งไม่ทำกิจ หรือว่าทำกิจ เราทำก็จริง ทำด้วยความขยันหมั่นเพียรก็จริง ก็ไม่ลืมการทำจิต ให้มันคู่กันไป อันนี้แหล่ะคือการปฏิบัติธรรม มันก็เป็นส่วนหนึ่งของการภาวนาด้วย
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมวัตรเย็น วัดป่าสุคะโต วันที่ 1 สิงหาคม 2564