แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ก่อนฉันทุกวัน เราก็มีสวดบทสวดมนต์สั้นๆ บทนี้ก็เริ่มต้นคำว่า อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ประโยคนี้เรียกว่าเราได้ยินได้ฟังไม่ใช่เฉพาะเวลาสวดมนต์ เวลามีงานบุญงานกุศล มีพิธีกรรมทางศาสนา พระก็จะว่า อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ จะเป็นงานมงคลงานอวมงคลก็จะได้ยินประโยคนี้ ซึ่งเป็นประโยคที่มีความหมาย
แต่ว่าบ่อยครั้ง พอเราว่าประโยคนี้บ่อยๆในหลายโอกาส คนก็ไม่เข้าใจ บางทีเข้าใจผิดเข้าใจไปในทางลบเลยก็มี หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ซึ่งเป็นพระรุ่นเดียวกับหลวงปู่มั่น ท่านเล่าว่าตอนเป็นเด็กอายุ 3-4 ขวบ ย่ากำลังป่วยหนักใกล้ตาย พอใกล้สิ้นลม ลูกๆก็ขึ้นไปที่เรือน แล้วก็พูดกรอกหูคนป่วยผู้เป็นแม่ว่า แม่ๆอรหังนะ อรหังนะ ภาวนาไว้ พระอรหังจะช่วยแม่ แต่ละคนพูดเสียงดังเลย
เด็กชายปานอยู่ข้างล่าง ได้ยินก็เลยขึ้นมาดูว่ามีอะไร ก็ถูกผู้ใหญ่ไล่ลงไป ผู้ใหญ่สมัยก่อนไม่อยากให้เด็กมาเห็นคนป่วยใกล้ตาย พอตกเย็น เด็กชายปานกินอาหาร มีแกงฉู่ฉี่ด้วย กินอย่างอร่อย จนเกิดความครึ้มอกครึ้มใจ แล้วพูดเสียงดังขึ้นมาว่า อรหังๆๆ
แม่ได้ยินก็โกรธเลย อุ้มลูกไปไว้ที่นอกชาน แล้วก็ตะโกนเสียงดังเลยว่า มึงจะตายโหงตายห่าก็ตายคนเดียว อย่ามาว่าอรหังที่นี่ ไม่รู้หรือว่าที่นี่คำว่าอรหัง เฉพาะกับคนใกล้ตายเท่านั้นเขาจะว่ากัน มาว่าอรหังที่นี่ได้อย่างไร เป็นลางร้ายพลอยให้คนอื่นเดือดร้อนหรือตายไปด้วย
นับตั้งแต่นั้นมา ท่านก็ไม่กล้าเอ่ยคำนี้อีกเลย เพราะไปเข้าใจว่า เป็นคำที่เอ่ยเมื่อไหร่ ก็คือลางร้าย เพราะว่าคนสมัยก่อนว่าอรหัง บ่อยครั้งก็ตอนคนใกล้ตาย เขาเชื่อกันอย่างนั้น โยมแม่ท่านก็เชื่อ ท่านเองก็เชื่อ จนกระทั่งท่านได้มาบวชพระ พอบวชพระแล้วท่านจึงเข้าใจว่า คำนี้เป็นคำดี เป็นคำประเสริฐ
อรหัง หมายถึงอรหันต์ เป็นคุณสมบัติของพระพุทธเจ้าประการหนึ่ง อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง คำว่าอะระหัง เป็นองค์คุณ หรือพุทธคุณ เพราะฉะนั้น คำดีหรือคำประเสริฐ เป็นจุดมุ่งหมายของชาวพุทธที่ควรจะบรรลุให้ถึง คำว่า อรหัง เพิ่งมารู้ตอนมาบวชพระว่า คำนี้ไม่ใช่เป็นคำที่มีความหมายไปในทางลางร้าย
ตอนหลังก็มาอธิบายให้โยมแม่ฟัง โยมแม่ก็เลยเข้าใจ หลงเข้าใจผิดไปนานว่า คำนี้เป็นคำที่ไม่ดี เป็นลางร้าย แล้วหลวงพ่อปานก็แนะนำให้โยมแม่ระลึกถึงคำนี้อยู่เสมอ ควบคู่ไปกับคำว่าพุทโธ อรหังแล้วก็พุทโธ ให้ระลึกหรือบริกรรมเอาไว้อยู่เสมอ โยมแม่ก็ทำตาม ตอนหลังตอนที่โยมแม่ใกล้จะหมดลม ท่านก็เอา อรหัง และพุทโธ เป็นอารมณ์ภาวนา จนกระทั่งจากไปอย่างสงบ
เรื่องนี้น่าคิด คำดีๆคำประเสริฐ ซึ่งเป็นคุณสมบัติสูงสุดของพระพุทธเจ้า คนเราก็เข้าใจผิดเข้าใจเพี้ยนไปได้ แม้ว่าจะนับถือพระพุทธศาสนา หรือว่าจะเป็นถึงเมืองพุทธ อย่างคนโบราณหรือคนไทยในสมัยก่อน แต่ก็ไม่เข้าใจ ที่จริงคำว่า อรหัง ผู้คนนิยมว่าให้คนที่ใกล้ตายได้ยิน เพื่อให้ใจนึกถึงพระพุทธเจ้า ใจนึกถึงพระพุทธเจ้า ใจก็เกิดความอิ่มเอิบ เกิดความเบิกบาน
ธรรมดาคนใกล้ตาย นอกจากจะมีทุกขเวทนาบีบคั้นแล้ว บางทีก็มีความห่วง วิตก ความกลัว กลัวว่าจะไปไม่ดีหรือเปล่า ไปอบายไหม แต่พอมีคนมาเตือนให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า จิตใจก็รู้สึกมั่นคง อบอุ่น หรือยิ่งถ้าน้อมเอาความเป็นอรหันต์ เป็นอารมณ์ภาวนา ก็อาจจะไปได้ไกลถึงขั้นหลุดพ้นจากความทุกข์เลยก็ได้ ไม่ต้องไปเวียนเกิดเวียนตายอีก
อันนี้คือเหตุผลที่คนโบราณว่า อรหังกับคนใกล้ตาย เพื่อให้ใจเป็นกุศลเพื่อที่จะได้ไปดีไปสู่สุคติ เพราะว่าคนเราเมื่อใกล้ตายหรือกำลังจะตาย มันไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าใจที่สงบและก็ไปดี ไปสุคติ เพราะว่าในทางพุทธศาสนาถือว่า จิตสุดท้ายสำคัญมาก ถ้าจิตน้อมนำไปในทางที่เป็นกุศลก็ไปดี มีสุคติเป็นที่หมายทันที
แต่ถ้าจิตเศร้าหมองก็ไปทุคติ และอะไรที่ทำให้จิตเป็นกุศลในวาระสุดท้าย ในทางธรรมเนียม ไม่มีอะไรประเสริฐกว่าคำว่า อรหัง แต่คราวนี้ถ้าพอว่าไปบ่อยๆ ทำไปโดยไม่เข้าใจความหมาย คำดีๆก็เลยกลายเป็นคำที่ไม่ดีไป แทนที่จะน้อมใจให้เป็นกุศล ก็กลายเป็นลางร้าย จิตใจเศร้าหมองหวาดกลัว
อย่างโยมแม่พอได้ยินคำว่าว่า อรหัง จากเด็กชายปาน จิตใจไม่เป็นกุศลเลย เกิดความกลัว เหมือนกับว่าลูกมาแช่งหรือมาพูดเป็นลางร้าย เรียกว่าปฏิบัติโดยที่ไม่เข้าใจความหมาย เพราะพอไม่เข้าใจความหมาย ก็เพี้ยน สิ่งดีก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่ดีไปเลย จะมาว่ากันในวงข้าวไม่ได้
ทั้งที่อรหัง เป็นคำที่เราควรระลึกถึงเสมอ เช่นเดียวกับคำว่า พุทโธ ยิ่งในยามที่เจอความทุกข์ ในยามที่เกิดความกลัดกลุ้ม ในยามที่เกิดความวิตก ในยามที่เกิดความกลัว หรือแม้เกิดความโกรธ ระลึกเอาไว้ อรหัง ใจจะได้น้อมถึงพระรัตนตรัย อย่างน้อยก็นึกถึงพระพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มันช่วยทำให้ใจสงบ เย็น อบอุ่น หรือว่าช่วยเตือนสติให้ปล่อยวาง
เพราะฉะนั้น ให้เราระลึกถึงอรหังหรือพุทโธไว้อยู่เนืองๆ อย่าปล่อยให้พระว่าอย่างเดียวหรือฝ่ายเดียว แล้วก็ไม่ใช่ว่าเฉพาะในงานบุญหรืองานพิธีกรรมต่างๆ เท่านั้น ในยามปกติ หรือยามสุขและยามทุกข์ ขึ้นหรือลง ก็ให้ระลึกเอาไว้ เพื่อใจจะได้สงบ เยือกเย็นและก็มีสติ
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมก่อนฉันเช้า วัดป่าสุคะโต วันที่ 1 สิงหาคม 2564