แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
จากที่พูดมา 2-3 วันที่แล้ว มีสิ่งหนึ่งที่น่าจะสรุปได้คือว่า อะไรเกิดขึ้นกับเราก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร หรือว่าปฏิบัติต่อมันอย่างไร ความโกรธเกิดขึ้น อันนี้ไม่สำคัญเท่ากับว่าเรารู้ทันความโกรธไหม หรือว่าเห็นความโกรธหรือเปล่า
มีทุกข์เกิดขึ้นอันนั้นก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าเรารู้ทันความทุกข์นั้นไหม หรือว่าเห็นทุกข์นั้นหรือเปล่า ถ้าไม่รู้ทันหรือไม่เห็น โกรธนั้นก็กลายเป็นสิ่งที่เผาลนจิตใจเรา ทุกข์นั้นก็ท่วมทับใจเรา แต่ถ้าเราเกี่ยวข้องกับมันอย่างถูกต้อง เห็นมัน รู้ทันมัน มันก็เป็นสักแต่ว่าอารมณ์ หรือธรรมชาติที่เกิดขึ้น
ในตรงข้าม แม้มีความดีใจ ความปลาบปลื้มเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่รู้ทัน ไม่เห็นมัน มันครอบงำใจ ก็อาจจะกลายเป็นหลง อาจจะกลายเป็นลืมตัวได้ ความพลั้งพลาดจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเพราะความหลงใหลในความสุข ความเพลิดเพลิน ยินดี อันนี้มันก็มีอยู่เรื่อยๆ
ไม่ใช่แต่เฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจ สิ่งภายนอกที่เกิดขึ้นกับเรา หรือว่ากระทบสู่การรับรู้ของเราก็เหมือนกัน มันจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร รวมทั้งรู้สึกกับมันอย่างไรด้วย
เคยไปสังเวชนียสถานหลายแห่งในอินเดีย โดยเฉพาะที่พุทธคยา เดี๋ยวนี้คนไปกันเยอะมาก อันนี้พูดถึงช่วงก่อน covid วันหนึ่งๆ คนไปสักการะสังเวชนียสถานเป็นหมื่นได้ คนที่ไปที่นั่นหาความสงบ อาจจะผิดหวัง ถ้าไปตอนกลางวัน หรือจริงๆทั้งวันเลยก็ว่าได้ ยกเว้นตอนค่ำที่เดี๋ยวนี้เขาก็ไม่ได้ให้ค้างแล้ว
ผู้คนจากนานาชาติก็ไปกันมากมาย แต่ละประเทศแต่ละกลุ่มเวลาไปเดินประทักษิณ และสวดมนต์ตามแบบของตัวหรือนิกายตัว แต่ละกลุ่มจะสวดเสียงดัง เพราะมีเครื่องขยายเสียงด้วย เพราะมากันเป็นร้อย นอกจากจะจอแจ เสียงก็ดัง ตลอดวัน แต่ก็คนกลุ่มหนึ่งไม่ได้ไปเดิน นั่งทำสมาธิ หลับตากริ้ม มีอาการที่สงบ นั่งอยู่รายรอบเจดีย์พุทธคยา ทั้งที่เสียงดังตลอด แต่ว่าคนเหล่านั้น นั่งสงบ เหมือนกับว่าไม่มีเสียงอะไรเลยอยู่รอบตัวเลย
ทำไมเสียงดังอย่างนั้น แต่ว่าใจสงบได้ ไม่ใช่ว่าไม่ได้ยิน หลายคนก็ได้ยิน เพราะว่าไม่ได้เป็นนักทำสมาธิที่เชี่ยวชาญ แต่ว่าในใจก็ไม่ได้รู้สึกรำคาญหงุดหงิด จึงนั่งสงบอย่างนั้นได้ ทำไมเสียงดังกระทบหูแต่ว่าสามารถนั่งสงบ ไม่รู้สึกหงุดหงิด อันนั้นเพราะว่าใจยอมรับเสียงที่มากระทบ เพราะเห็นว่า เป็นเสียงสวดมนต์ที่ประเสริฐ เป็นเสียงสรรเสริญพระรัตนตรัย ล้วนแต่เป็นการเปล่งเสียงด้วยจิตที่เป็นกุศล
ทั้งที่เสียงดัง แต่ว่าพอจิตรับรู้ว่า เป็นเสียงที่งดงาม เป็นเสียงที่ประเสริฐ ก็ยอมรับได้ ไม่มีอาการต่อต้านผลักไส ใจก็เลยสงบ แต่ถ้าเสียงในระดับเดียวกัน เป็นเสียงอื่น เช่น เป็นเสียงในตลาดสด รถขวักไขว่ คนพลุกพล่าน หรือสมมติว่าไปนั่งอยู่ริมถนน แล้วเจอเสียงดังแบบเดียวกันถามว่าใจจะสงบไหม ก็คงไม่เพราะว่าใจไม่ยอมรับเสียงเหล่านั้น ใจผลักไส ต่อต้านเสียงเหล่านั้น หรือว่าไม่รู้สึกดีกับเสียงเหล่านั้น
อย่าว่าแต่เสียงรถยนต์ เสียงจอแจอย่างเสียงในตลาดสด แม้แต่เสียงที่น่ารื่นรมย์ เช่น เสียงริงโทน เสียงโทรศัพท์ เสียงเพลงบางทีไม่ได้ดังอะไร แต่บังเอิญมากระทบหูเราในขณะที่เรากำลังนั่งสมาธิ กำลังฟังคำบรรยาย เราจะรู้สึกหงุดหงิด ไม่พอใจ เกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที เสียงไพเราะเสียงเพลงแต่ว่าทำไมเราเกิดความทุกข์ เกิดความหงุดหงิดขึ้นมา เพราะว่าใจไม่ชอบเสียงที่ว่า เพราะว่ามันดังผิดเวลา
พอรู้สึกว่า มันเป็นเสียงที่ไม่สมควรดังในเวลานี้ ในสถานที่นี้ ก็เกิดการผลักไส ใจไม่ยอมรับ ก็เลยเกิดความทุกข์ เกิดความหงุดหงิดขึ้นมา เสียงดังแต่ว่าใจไม่ยอมรับ ใจผลักไสต่อต้าน แม้จะเป็นเสียงเพลง เสียงไพเราะ ก็เกิดความทุกข์ ในทางตรงข้าม แม้เป็นเสียงที่ระคายหู แต่ว่าใจยอมรับได้ มันก็ไม่ทุกข์
มีฝรั่งคนหนึ่ง แกนั่งสมาธิทุกเช้าเลย แล้วนั่งแต่ละครั้งก็นานครึ่งชั่วโมง 40 นาที และทุกครั้งก็ได้พบกับความสงบในจิตใจ แต่ว่าเช้าวันหนึ่ง นั่งไปได้สักพักหนึ่ง มันก็มีเสียงจากตึกข้างเคียง เพราะมีการก่อสร้าง ทีแรกก็มีเสียงค้อน เสียงค้อนไม่เท่าไร ต่อมาเป็นเสียงเลื่อยยนต์ มันดัง พอมากระทบหูเขา ใจเขากระเพื่อมเลย มันมีอาการไม่พอใจ
แต่ว่าเขามีสติทัน พอเห็นใจกระเพื่อม มันก็สงบ แต่แล้วก็กระเพื่อมกลับเข้ามาใหม่ เวลามีเสียงมากระทบเป็นพักๆ ใจก็กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง อยู่อย่างนี้ เขาก็เลยหันไปพิจารณาที่เสียงที่มากระทบ ก็สังเกตว่าเสียงเลื่อยยนต์ บางทีมันก็สูงบางทีก็มันก็ต่ำ บางทีมันก็ลากยาว บางทีก็กระชากกระชั้น
พอพิจารณาไปสักพัก ก็รู้สึกว่ามันเหมือนเสียงเพลง แบบประเภทเฮพวี่ ทันทีที่เขารู้สึกว่าเป็นเสียงเพลง ใจเขาสงบเลย เสียงก็ยังดังเหมือนเดิมแต่ว่าใจไม่กระเพื่อมแล้ว แถมเกิดความเพลินด้วยกับเสียงเหล่านั้น แต่เขาก็รู้ตัวว่า เพลินก็ไม่ดี เพลินกับสิ่งใดมันก็ไม่ถูก ก็ให้ใจกลับมาเป็นปกติ
มีบางช่วงเสียงขาดหายไป ใจเขายังนึกเลยว่าอยากให้กลับมาใหม่ ทั้งที่ทีแรก ไม่ชอบเลย หงุดหงิดกับเสียง แต่ตอนนี้กลับเพลินหรือว่ากลับสงบ แม้มีเสียงมากระทบ เสียงยังเหมือนเดิม แต่ว่าทำไมใจเขาเปลี่ยนแปลงไปจากการกระเพื่อมกลายเป็นความสงบ
ก็เพราะว่า เขาไม่ได้มองว่ามันเป็นเสียงรบกวนอีกต่อไปแล้ว ทีแรกมองว่ามันเสียงดัง เสียงรบกวน เสียงระคายโสตประสาท ใจก็เลยไม่ชอบ ใจก็เลยผลักไส เขาก็เลยเกิดความทุกข์ขึ้นมา แต่พอเรามองมันใหม่ว่าเป็นเสียงเพลง ใจก็สงบเลย
สิ่งที่มากระทบเรา มันจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร รู้สึกกับมันอย่างไร หรือปฏิบัติกับมันอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่รุ่มร้อน เป็นอกุศล เช่น ความโกรธ ความกลัวหรือว่าความหงุดหงิด หรือว่าสิ่งภายนอก เช่น รูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส ที่มากระทบ
มันจะทำให้เราสุขหรือทุกข์มันไม่ได้อยู่ที่สิ่งนั้น แต่อยู่ที่ว่าใจเราปฏิบัติกับสิ่งนั้นอย่างไร เช่น ใจเรารู้ทันมัน รู้ซื่อๆ รู้ด้วยความรู้สึกที่เป็นกลาง หรือว่ารู้สึกเฉยๆกับมัน ที่เฉยๆกับมันเพราะเห็นว่ามันไม่ใช่เป็นสิ่งที่ดี หรือร้ายในตัวมันเอง หรือเห็นว่ามันเป็นธรรมดา คนที่เจออะไรแล้วก็มองว่าเป็นธรรมดา เขาจะยอมรับมันได้ง่าย เขาจะไม่ผลักไสมัน เพราะฉะนั้น เขาก็ไม่ทุกข์เพราะสิ่งนั้น แม้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีในสายตาคนอื่น คนอื่นทุกข์กับสิ่งนั้น แต่ว่าเขาไม่ทุกข์
อย่างคนสองคนนั่งรถไปด้วยกันด้วยกันในกรุงเทพ แต่ว่ารถมันติดมาก คนหนึ่งนั้นหงุดหงิดแต่อีกคนหนึ่งสบายๆ ไม่ได้หงุดหงิดรำคาญอะไรเลย ทั้งที่ไปที่เดียวกันจุดหมายเดียวกัน ทำไมสองคนถึงรู้สึกต่างกัน เพราะว่าคนหนึ่งยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ แต่อีกคนหนึ่งยอมรับได้ว่า กรุงเทพฯก็เป็นอย่างนี้แหละรถติดมันเป็นธรรมดา พอยอมรับได้ใจมันไม่ผลักไส จิตก็ไม่ได้หงุดหงิด เพราะฉะนั้น ใจก็ไม่ได้กระสับกระส่ายเหมือนกับเพื่อนอีกคนหนึ่งที่นั่งรถอยู่ในคันเดียวกัน
ไม่ใช่แค่อารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ หรือว่าสิ่งที่มากระทบ ความรู้สึกทางกายเช่น ความเจ็บความปวด ก็เหมือนกัน คนเราส่วนใหญ่พอเวลาเจ็บป่วย ปวดเมื่อย เขาไม่ได้ทุกข์ที่กายอย่างเดียว ที่ใจเขาก็ทุกข์ด้วย เพราะว่า ใจมันผลักไส ใจไม่ชอบความปวดที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม ทันทีที่เกิดอาการผลักไสไม่ยอมรับ มันก็เป็นทุกข์
ทั้งๆที่อยากจะให้มันหาย ทั้งๆที่จิตไม่ชอบ แต่ก็ไปจดจ่อกับมัน ก็ยิ่งหงุดหงิดเข้าไปใหญ่ ก็เรียกว่าทุกข์ทั้งกายสุขทั้งใจ แต่คนบางคนแม้จะปวดมาก แต่ว่าเขายอมรับมันได้ อาจจะยอมรับเพราะว่ามีสติเห็นมัน ไม่ผลักไส ไม่กดข่มมัน แล้วก็ไม่ไปแบกไม่ไปยึดมัน เพราะเห็นว่าเป็นธรรมดาก็เลยยอมรับได้
ก็เหมือนกับยุงกัดเวลาเรามาทำวัตร มันเป็นธรรมดาเพราะว่ามันก็เป็นอย่างนี้มาทุกวันก็ไม่หงุดหงิด แต่ถ้ายอมรับมันไม่ได้ก็หงุดหงิด คราวนี้พอความปวดความเมื่อยยอมรับมันได้ อาจจะเป็นเพราะว่า รู้ว่าผลักไสมัน หรือว่าบ่นโวยวายตีโพยตีพาย ไม่มีประโยชน์ ก็แค่ดูเฉยๆแล้วยอมรับมัน มันก็ไม่ทุกข์ กายยังปวดเมื่อยแต่ใจไม่ทุกข์
มีคนหนึ่งไปภาวนาที่สำนักแห่งหนึ่ง เวลาประมาณสัก 7 วันได้ เขาไม่เคยภาวนาแต่เพราะเพื่อนชักชวน การทำกรรมฐานที่สำนักนั้นต้องนั่งยาววันหนึ่งติดต่อกันหลายชั่วโมง เรียกว่าแทบไม่ได้เดิน ไม่ได้ลุกเลย แค่วันแรกสองวันแรกก็ทุกข์ทรมานมาก เพราะว่าไม่เคยนั่งยาวอย่างนั้น
พอนั่งไปนานๆก็ปวดขาปวดข้อ วันที่ 3 อาการรุนแรงมาก จนรู้สึกจะไม่ไหวแล้ว แต่ก็พยายามกดข่ม ข่มใจ ก็พยายามให้ความหวังกับตัวเองว่าอีกไม่นานเดี๋ยวเขาก็พักแล้ว แต่รอแล้วรอเล่าก็ยังไม่มีสัญญาณพักสักที รู้สึกไม่ไหวแล้วไม่ไหวแล้วจะตายให้ได้ นั่งนานกว่านี้ตายแน่ ใจมันครวญคราง ใจมันโวยวาย มันกราดเกรี้ยว
แต่มีจุดหนึ่ง อยู่ดีๆใจก็บอกว่า ตายก็ตายวะ พอพูดอย่างนี้ปรากฏว่าใจสงบเลย รู้สึกเบาเลยความปวดทุเลาลงไปเยอะเลย ที่ความปวดทุเลาไม่ใช่ว่าการปวดทุเลา มันเป็นความปวดใจที่ทุเลา ความทุกข์มันเบาบางลงเพราะว่าอะไร เพราะว่ายอมรับได้ คือ ทีแรกมันบอกว่าไม่ไหวไม่ไหว แต่พอถึงจุดหนึ่งมันบอกว่าตายก็ตายวะ ตอนนี้ใจมันก็เลยพร้อม พร้อมที่จะยอมรับความปวดต่อไป เพราะว่ายอมตายแล้ว จะเรียกว่าศิโรราบก็ได้
พอใจมันยอม ความปวดหายไปเยอะเลย มันไม่ใช่ความปวดกายที่หายไปแต่ความปวดใจหรือความทุกข์ใจที่หายไปเพราะยอมรับได้ และที่จริงพอยอมรับได้ ใจมันก็สบาย พอใจสบายก็คงมีสารอะไรที่หลั่งออกมา ช่วยทำให้ความปวดกายความเมื่อยมันเบาบางไปด้วย ซึ่งก็มีสารหลายตัวที่เกิดขึ้นเวลาที่ใจสบาย โดพามีน เซโรโทนิน เอ็นโดรฟิน พวกนี้
การที่ใจเรา ถ้ารู้สึกยอมรับกับสิ่งใดได้ แม้มันเป็นสิ่งที่หยาบ สิ่งที่แสบ สิ่งที่รุ่มร้อน แต่ว่าใจเราไม่ทุกข์แล้ว เพราะที่จริงความทุกข์ไม่ได้เกิดจากสิ่งนั้นมากระทบมากเท่ากับสิ่งที่เราเกี่ยวข้องกับมันไม่ถูก เช่น ไปผลักไสมัน เสียงจะเบาแค่ไหน จะไพเราะแค่ไหน ถ้าเราไปผลักไสมัน เพราะใจไม่ชอบ เพราะเห็นว่าไม่ถูกไม่ควร ผิดกาละเทศะ มันจะเกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที
แต่ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่หยาบ แสบ ถ้าใจยอมรับได้หรือเกี่ยวข้องกับมันอย่างถูกต้อง ซึ่งทำให้ไม่ไปผลักไสมัน ไม่ไปกดข่มมัน ไม่ไปต่อสู้โรมรันพันตูกับมัน ใจก็สงบ ที่จริงแล้วความทุกข์ใจเกิดจากจิตที่มันดิ้น ไม่ได้อยู่ที่ว่าอะไรมากระทบ แต่ว่าอยู่ที่ใจมันดิ้นหรือเปล่า
ดิ้นนั้นมีอยู่ 2 อย่าง คือ ดิ้นเพราะอยากได้ กับดิ้นเพราะอยากผลัก คนที่ได้กลิ่นอาหาร หรือได้เห็นของดีๆ อยากได้อยากเสพ เท่านี้ก็ทุกข์แล้ว แม้ว่าสิ่งที่มากระทบมันจะเป็นของดี เป็นกลิ่นหอมของอาหาร หรือว่าวัตถุสิ่งของที่สวยงาม แต่ทันทีที่อยากได้นี่มันทุกข์เลย เพราะมันดิ้น ดิ้นจะเอา
ในทางตรงข้าม แม้ว่าเป็นสิ่งที่แย่ๆมากระทบ แต่จิตไม่ดิ้น จิตยอมรับได้ ยอมรับได้เพราะว่าวางใจเป็นกลางก็ดี เพราะรู้ทันมันก็ดี หรือว่าเพราะเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ดีก็แล้วแต่ หรือมองว่าเป็นธรรมดา ใจก็สงบเลย ใจไม่ทุกข์ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมากเพราะว่าคนเรามีความทุกข์ใจเมื่อมีอะไรมากระทบโดยเฉพาะสิ่งที่ไม่น่ายินดี เช่นความปวดความเมื่อยหรือความเจ็บป่วย
อย่างเช่น ตอนนี้หลายคนป่วยเพราะโรคโควิด กายก็ทุกข์อยู่แล้วแต่ใจยิ่งทุกข์เข้าไปอีก เพราะว่าใจไม่ยอมรับ ใจผลักไส ก็เป็นธรรมดาที่จะบ่นโวยวายตีโพยตีพายว่า ทำไมถึงต้องเป็นฉัน ใครเอาโรคนี้มาให้ฉัน บางทีก็โทษคนนั้นคนนี้ แต่ยิ่งใจตีโพยตีพาย ไม่ยอมรับ ผลักไสมันเท่าไหร่ มันก็ยิ่งสร้างความทุกข์ให้กับจิตใจแล้วก็ไปซ้ำเติมกายให้หนัก
แต่ถ้าหากว่าใจยอมรับว่า มันเกิดขึ้นแล้ว บ่นโวยวายตีโพยตีพายไป มันก็มีแต่ซ้ำเติมตัวเอง ยอมรับมันแล้วก็พยายามอยู่กับมันด้วยใจที่ไม่ทุกข์ มันก็จะช่วยบรรเทาความทุกข์ใจได้ ใจที่สงบก็จะช่วยฉุดกายให้ดีขึ้นหรือฟื้นตัวได้ไวขึ้น
เพราะฉะนั้น ท่าทีของเราต่อสิ่งต่างๆที่มากระทบก็สำคัญ อย่าไปให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้มากกว่าปฏิกิริยาของใจ หรือว่าการเกี่ยวข้องของใจ หรือการที่ใจไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้น ถ้าวางใจถูกและยอมรับได้ ไม่ผลักไส มันก็จะช่วยลดความทุกข์ที่ใจไปเยอะเลย และอาจจะได้พบความสงบท่ามกลางสิ่งต่างๆมากมายที่มารุมล้อมกระทบก็ได้
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมทำวัตรเช้า วัดป่าสุคะโต วันที่ 1 สิงหาคม 2564