แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อเช้าได้พูดถึงคนๆหนึ่งซึ่งเป็นนักโทษที่อยู่ในเรือนจำ พื้นเพเป็นนักธุรกิจซึ่งมีภาพลักษณ์ที่สงบเยือกเย็น และเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ เขาเชื่อว่าเขาไม่มีความโกรธเลย
เวลาอาจารย์หรืออนุศาสนาจารย์พาเขานั่งสมาธิหรือเจริญสติ เขาก็บอกว่าในชีวิตนี้ เขาไม่มีความโกรธเลย อาจารย์ก็ตอบดีว่า นั่นเป็นคงเป็นเพราะคุณไม่เห็นความโกรธต่างหาก ไม่ใช่ว่าไม่มีความโกรธ แต่ไม่เห็นความโกรธ แต่เขาก็ไม่เชื่ออาจารย์ก็เลยแนะนำให้เขาสังเกตจิตใจของตัวทั้งในระหว่างการภาวนาและในชีวิตประจำวัน สุดท้ายผ่านไปไม่กี่อาทิตย์เขาก็พบว่าสิ่งที่อาจารย์พูดนั้นถูก
พอเขาเจออาจารย์ เขาบอกว่าผมเห็นความโกรธของผมแล้วล่ะ เขาพูดด้วยความยินดี ธรรมดาคนที่เชื่อว่าตนไม่มีความโกรธ แล้วพอรู้ว่ามีความโกรธ คงต้องเสียใจ แต่ว่าเขากลับมีความสุข ที่มีความสุขก็เพราะว่าเขาได้ค้นพบตัวเอง ได้เห็นสิ่งที่เขาปฏิเสธมานาน ทั้งๆที่อยู่ในจิตใจของเขาหรืออยู่ในตัวของเขามาตลอด
แล้วมันทำให้เขาเห็นที่มาของความทุกข์หรือเหตุแห่งความทุกข์ อันนั้นคือการเก็บกดความโกรธหรือปฏิเสธความโกรธ แล้วปล่อยให้ความโกรธบังคับจิตใจบงการจิตใจเขาโดยไม่รู้ตัว ขนาดทำร้ายภรรยาเกือบตาย จนเป็นเหตุให้ติดคุกติดตาราง ก็ยังไม่เข้าใจว่าฉันทำอย่างนั้นไปได้อย่างไร ฉันเป็นคนสุภาพ ฉันเป็นคนนิ่ง สงบเยือกเย็น
คนเราบางครั้งอัตตาหรือกิเลสมันก็ฉลาด ขนาดทำร้ายตบตีชกต่อยภรรยาจนย่ำแย่ ก็ยังไม่ยอมรับว่ามีความโกรธ ทั้งๆที่ทำลงไปนั้น เป็นความโกรธแท้ๆเลย หลักฐานพยานก็มี ร่างกายที่บอบช้ำของภรรยา แต่ว่าจิตใจ หรือถ้าพูดให้ถูกก็คือว่า กิเลสหรืออัตตามันไม่ยอมรับ เพราะว่าติดยึดในภาพของตัวเองว่า เป็นคนที่สุภาพ เป็นคนที่ใจเย็น เวลาเจรจาธุรกิจก็สุขุมจนกระทั่งกลายเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ
การที่คนแบบนี้ มาพบตัวเองว่ามีความโกรธที่รุนแรงอยู่ในจิตใจ มันน่าจะทำให้เขารู้สึกแย่หรือว่ารู้สึกผิดหวังกับตัวเอง หรืออาจจะถึงขั้นเกลียดตัวเองก็ได้ว่า ทำไมฉันเป็นคนเลวแบบนี้ แต่ว่าเขากลับรู้สึกมีความสุขเพราะอะไร เพราะว่าเขาได้เรียนรู้การเห็นความโกรธ เป็นการเห็นด้วยใจที่ไม่ตัดสิน
ถ้าใช้สำนวนของหลวงพ่อเทียนหลวงพ่อคำเขียนก็คือ มันรู้ซื่อๆ เป็นการเห็นที่ไม่ได้ตัดสินว่าผิดว่าถูก เป็นการเห็นที่ไม่มีอาการเลือกที่รักมักที่ชัง การเห็นแบบนี้มันทำให้สามารถจะยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในใจได้ และถ้าเห็นจริงๆก็จะพบว่า นั่นไม่ใช่เรา มันเป็นเพียงแค่อารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ
อันนี้แหละที่หลวงพ่อคำเขียนเรียกว่าเห็นไม่เข้าไปเป็น เห็นความโกรธแต่ไม่ได้เป็นผู้โกรธหรือไม่ได้ยึดว่าความโกรธเป็นเรา ถ้าเราเห็นกิเลสเหลืออารมณ์อกุศลที่เกิดขึ้นในใจ แล้วเห็นอย่างที่มันเป็น คือไม่ได้ยึดว่าเป็นเรา ใจมันจะยอมรับอารมณ์เหล่านี้ได้มากขึ้น และดังนั้นก็จึงไม่มีการผลักไส เพราะยิ่งผลักไสก็ยิ่งเป็นทุกข์ หรือว่ายิ่งผลักไสยิ่งทำให้อารมณ์เหล่านี้เข้ามาครอบงำจิตใจได้ง่ายขึ้น
การเห็น ช่วยปลดปล่อยใจให้เป็นอิสระจากสิ่งที่ถูกเห็น แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอารมณ์อกุศลเพียงใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความโลภ ตัณหาราคะ ความห่อเหี่ยวท้อแท้ อนุศาสนาจารย์คนนี้พูดดีว่า ความทุกข์เป็นปัญหาต่อเมื่อเรามองไม่เห็นมัน ถ้าเราเห็นมันเมื่อไหร่ มันก็ไม่เป็นปัญหา เห็นในที่นี้คือเห็นด้วยสติ เห็นโดยไม่ได้เข้าไปเป็น
ไม่ใช่เห็นอย่างที่คนทั่วไปเห็นว่า ฉันรู้ว่าฉันโกรธ แต่ทำไมยังโกรธอยู่ อันนั้นเพราะว่ายังไม่ได้เห็นอย่างจริงจัง คนเรามักจะกลัวความทุกข์ไม่อยากให้ความทุกข์เกิดขึ้น พยายามหลีกหนีความทุกข์เท่าที่จะทำได้ แต่ที่จริงแล้วความทุกข์ไม่ได้น่ากลัวเท่ากับความทุกข์ที่มองไม่เห็นต่างหาก สิ่งที่น่ากลัวกว่าไม่ใช่ความทุกข์ แต่คือทุกข์ที่มองไม่เห็น ถ้าหากว่ามองเห็น ทุกข์นั้นไม่น่ากลัว
พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนแต่ว่าอริยสัจ 4 คืออะไร แต่ยังสอนว่าเราควรจะเกี่ยวข้องอริยสัจแต่ละข้ออย่างไรอริยสัจข้อแรกคือทุกข์ เราควรจะเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร ก็คือรู้ทุกข์ ทุกข์เป็นสิ่งที่ควรรู้ บางทีก็แปลว่ากำหนดรู้ คำว่ารู้ทุกมีความหมายตั้งแต่ว่าพอมีทุกข์ก็รู้ มีทุกข์เกิดขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าคนเราจะรู้ทุกข์ได้ทุกครั้งที่มันเกิด ทุกข์ทางกายจะรู้ได้ง่าย แต่ทุกข์ทางใจคนจำนวนมากไม่รู้
เวลาปวดเวลาเมื่อยถามเขาว่าทุกข์ไหม ทุกข์ ถามว่าทุกข์ที่ไหนทุกข์ที่ขา ทุกข์ที่หลังเพราะนั่งนานเป็นชั่วโมง มีอย่างอื่นที่ทุกข์อีกไหม ใจล่ะ ไม่ทุกข์หรือ ใจไม่บ่นไม่โวยวาย ไม่ตีโพยตีพาย ไม่หงุดหงิดหรือ แล้วที่นั่งนานๆล่ะ พอทักแบบนี้หลายคนจึงเห็นว่าใช่ เราไม่แค่ทุกข์กายยังทุกข์ใจด้วย แต่ว่าไม่เห็น พอไม่เห็นก็ยิ่งซ้ำเติมทุกข์กายเข้าไปใหญ่
แต่พอเห็นทุกข์ทางใจ เห็นอาการของใจที่บ่นโวยวายตีโพยตีพาย หงุดหงิด รุ่มร้อน ใจมันเบาเลย การเห็นทุกข์ ทำให้ทุกข์ไม่สามารถจะครอบงำใจได้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ท่านกล่าวว่า เรามีหน้าที่รู้ทุกข์ เราไม่มีหน้าที่เป็นทุกข์
รู้ทุกข์กับเป็นทุกข์ต่างกัน เป็นทุกข์เพราะว่าไม่รู้ทุกข์ ไม่เห็นทุกข์ ไม่รู้ตัวว่าทุกข์ เพราะฉะนั้น ถ้าจะว่าไปแล้ว ความทุกข์ไม่น่ากลัวเท่ากับการไม่เห็นความทุกข์ การไม่เห็นความทุกข์มันทำร้ายเรายิ่งกว่าตัวทุกข์เสียอีก ความเจ็บความปวดมันไม่ทำร้ายเรา ถ้าเราเห็นมัน แต่ว่าส่วนใหญ่ไม่เห็น มันก็เลยเกิดอาการทุกข์ทรมาน
หลวงพ่อคำเขียนพูดว่า ความทุกข์ไม่ได้ลงโทษเราหรอก แต่การเป็นผู้ทุกข์ต่างหากที่มาลงโทษเรา ท่านหมายถึงความปวด ความปวดไม่ได้ลงโทษเราหรอก แต่ความเป็นผู้ปวดต่างหากที่มาลงโทษเรา ความเจ็บความปวดมีไว้ให้ดูให้เห็น ไม่ใช่เข้าไปเป็น ความปวดที่ว่าหมายถึงทุกขเวทนาทางกาย
แต่ว่าทุกข์เวทนาทางใจก็มี รวมทั้งความทุกข์ที่เกิดขึ้นเวลามีอารมณ์อย่างเช่น ความโกรธ ความเกลียดความเครียด ความท้อ ราคะตัณหา พวกนี้มันรุ่มร้อน เกิดขึ้นทีไรถ้าไม่เห็นมัน มันก็เผาลนจิตใจหรือกรีดแทงใจ แต่พอเห็นมันเข้า มันทำอะไรจิตใจไม่ได้
การเห็นมีอานุภาพมาก มันทำให้ความทุกข์ไม่เข้ามาครอบงำย่ำยีจิตใจ หรือว่าไม่เข้ามากลืนกินจิตใจจดจนหมดเนื้อหมดตัว หรือจะเรียกว่าไม่เข้ามาสิงก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเกลียด ถ้าไม่เห็นมันเมื่อไร มันก็เข้ามาสิงจิตใจ ทำให้เป็นผู้โกรธ ทำให้เป็นผู้เกลียด ทำให้เป็นนั่นเป็นนี่ ซึ่งก็ล้วนแต่ทุกข์ทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราควรจะตระหนัก ก็คือว่าเราไม่กลัวทุกข์ แต่เรากลัวมองไม่เห็นทุกข์ต่างหาก ถ้าเราเห็นมันอย่างแจ่มแจ้ง มันเป็นอิสระอย่างนักโทษคนที่ว่านี้ ทั้งๆที่พบว่าตัวเองมีความโกรธหรือเห็นความโกรธในจิตใจ แต่ไม่ได้รู้สึกเสียใจเลยเพราะว่าสำหรับเขาเป็นการค้นพบที่ทำให้สามารถเป็นอิสระจากความโกรธได้
ไม่ปล่อยให้ความโกรธเข้ามาบงการจิตใจจนกระทั่งสร้างปัญหาทั้งแก่ตัวเองและต่อผู้อื่น จนเกิดความทุกข์ไม่หยุดหย่อน มันก็เป็นเพียงแค่เห็น ก็ทำให้จิตเป็นอิสระจากความโกรธหรือจากความทุกข์ได้ เขาจึงรู้สึกมีความยินดี หรือถึงขั้นว่ามีความสุข เขาพูดว่าผมมีความสุขไม่ใช่เพราะผมไม่มีความทุกข์ แต่ว่าเพราะผมเห็นความทุกข์ต่างหาก
เห็นความทุกข์ก็ทำให้มีสุขได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องได้กินได้เสพได้เที่ยว ปรนเปรอตนเองด้วยสิ่งเสพถึงจะมีความสุขได้ แม้มีทุกข์ก็เห็นทุกข์เป็นสุขได้ หรือว่าเป็นอิสระ เกิดความสงบในจิตใจ ถ้าเรารู้จักเห็นอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในจิตใจ รวมทั้งความคิด และก็รู้จักวางใจให้ถูกต้องกับสิ่งเหล่านี้ ก็คือว่าแค่รู้ซื่อๆ เป็นการพร้อมจะเปิดรับสิ่งต่างๆที่เข้ามาในจิตใจ
การรู้ซื่อๆอีกความหมายหนึ่งคือ พร้อมจะเปิดรับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ตัดสินว่านี้ดีนี้ชั่ว นี้ถูกนี้ผิด เปิดรับแต่ก็ไม่ได้คล้อยตาม ไหลตามและก็ไม่ได้ผลักไส ส่วนใหญ่เราถูกฝึกมาใจปิดกั้น ปฏิเสธอารมณ์บางอย่างเพราะเห็นว่า มันเป็นตัวสร้างความทุกข์ให้กับจิตใจ แต่ก็อย่างที่บอกมันสร้างความทุกข์ให้กับจิตใจไม่ได้ถ้าหากว่าเห็นมัน แต่เป็นเพราะไม่เห็นมัน ไม่รู้เท่าทันมันต่างหาก หรือมิฉะนั้นก็ไปผลักไส ต่อสู้กับมัน
การมาเจริญสติก็คือการเปิดใจให้กว้าง เปิดรับสิ่งต่างๆโดยที่ไม่เข้าไปผลักไสหรือไหลตาม เวลาพูดถึงการเปิดใจหรือเปิดรับ บางคนกลัว เหมือนกับเปิดประตูบ้าน อะไรๆก็เข้ามา มิจฉาชีพ โจรผู้ร้ายต่างๆมันจะไม่แออัดยัดเยียดหรือ ที่จริงมันตรงข้ามถ้าหากเปิดรับโดยไม่ผลักไสมันกลับตามมาด้วยความปลอดโปร่งเพราะว่าอารมณ์ใดๆที่เข้ามา ถ้าเราเห็นมัน ไม่ไปต่อสู้กับมัน แค่เห็นมันเฉยๆ มันก็ยอมแพ้ล่าถอยไปแล้ว
เพราะฉะนั้นการฝึกใจให้เป็นกลาง ถ้าใช้คำนี้ เปิดกว้างหรือเปิดรับ คือ รู้ซื่อๆ ความหมายหนึ่งคือการทำใจให้เป็นกลางต่อสิ่งต่างๆที่มันเกิดขึ้นมาผ่านเข้ามาในจิตใจของเรา มันเป็นวิธีที่จะรับมือกับอารมณ์เหล่านี้ได้ดีที่สุด ถ้าเราไปใช้วิธีตรงข้าม เปิดรับเฉพาะบางอารมณ์ เช่น ความสงบ ความเบิกบานแจ่มใส ความมีน้ำใจเมตตากรุณา แต่ว่าไม่ต้อนรับสิ่งอื่น ไม่ต้อนรับอารมณ์อื่น อารมณ์เหล่านี้ก็ยิ่งเข้ามาเล่นงานจิตใจเรามากขึ้น
เวลาเรามาภาวนา ลองสังเกตหลายคนใช้วิธีปิดกั้น ไม่ให้ใจไปรับรู้บางสิ่งบางอย่าง เช่น รู้สึกว่ามันฟุ้งซ่านเหลือเกิน คิดมากเหลือเกิน เพราะฉะนั้นปิดกั้นไม่ให้ความคิดเข้ามาสู่จิตใจ ก็ด้วยการจดจ่ออยู่กับลมหายใจ จดจ่ออยู่กับท้องพองยุบหรือว่ากลับมาที่เคลื่อนไหวไปมา อันนี้ก็เป็นการปิดกั้นความคิดหรืออารมณ์บางอย่าง
เพราะว่าถ้าไม่ทำอย่างนั้น เดี๋ยวก็คิดโน่นคิดนี่ ไหลไปในอดีตบ้าง ลอยไปในอนาคตบ้าง หรือว่าคิดเรื่องที่ทำให้หดหู่ ทำให้เศร้าหมอง ทำให้คับแค้น ก็เลยพยายามปิดกั้น ด้วยการให้จิตมาอยู่กับลมหายใจแบบแนบแน่น ไม่ใช่แค่ปิดกั้นไม่ใช่ให้อารมณ์เข้ามาสู่จิตใจ บางทียังปิดกั้นเสียงภายนอก เช่น เสียงดังเหลือเกิน ปิดประตูหน้าต่าง หรือไม่เช่นนั้นก็หลบเข้ามาอยู่ในห้องพระ เพื่อที่จะได้กันไม่ให้มีเสียงอะไรมารบกวน
เราก็จะพบว่าทำอย่างนั้น ใจก็ไม่ได้สงบเลย แต่ว่าพอลองเปิดใจรับสิ่งต่างๆ อะไรจะเข้ามาก็ตาม ไม่ผลักไส ไม่ปฏิเสธ หรือไม่ไหลตามมัน เราก็จะพบว่า ที่เคยเข้าไปสู้รบปรบมือกับอารมณ์เหล่านั้น หรือไปแบกไปยึดอารมณ์เหล่านั้น มันก็ลดน้อยถอยลง เกิดความโปร่งเบา มันเป็นการปล่อยวางอย่างหนึ่ง พอเปิดรับก็ทำให้การปล่อยวางเกิดขึ้นได้
ลองทำใจให้กว้าง เรียกว่าใจกว้างก็ได้ ใจกว้างรับรู้อารมณ์ต่างๆที่เข้ามา แล้วไม่ใช่อารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจรวมถึงสิ่งที่ปรากฏภายนอก เช่น เสียง ความร้อนความหนาว เปิดรับหรือยอมรับด้วยใจที่เป็นกลาง แล้วเราจะพบว่าความทุกข์ ความหงุดหงิด หรือความโกรธที่เกิดขึ้น มันก็จะบรรเทาเบาบางไป
เพราะที่จริงแล้วความทุกข์ที่เกิดขึ้น มันเกิดจากใจที่ผลักไส ไม่ใช่แค่ผลักไสอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ รวมทั้งสิ่งที่กระทบจากภายนอกไม่ว่าจะเป็นรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส เป็นเพราะใจไม่ได้เป็นกลางต่อสิ่งนั้น แต่ไปผลักไสมัน จึงเกิดความทุกข์ อย่างเช่นเสียง เสียงหมาเห่า เสียงมอเตอร์ไซค์
ถ้าหากว่าวางใจเป็นกลางต่อสิ่งนั้น มันไม่ทุกข์หรอก แม้ว่าเสียงจะดังระคายโสตประสาทแต่ใจไม่ทุกข์ แต่พอใจไปผลักไสมัน ความทุกข์เกิดขึ้นเลย ในขณะที่ใจบ่นตีโพยตีพาย ก็ไม่เห็นอาการโวยวายในใจ เพราะว่ามาจากการผลักไสต่อสิ่งที่มากระทบ
เพราะฉะนั้น ถ้าวางใจเป็นกลางต่อสิ่งที่มากระทบ ไม่มีการตัดสินว่าดีหรือชั่ว ถูกหรือผิด ใจมันจะวาง แต่ถ้าผลักไสมันเมื่อไหร่ มันจะเกิดการยึดทันที เกิดการจดจ่อขึ้นมาทันทีเลย ยิ่งไม่ชอบ ยิ่งผลักไสสิ่งใด ยิ่งจดจ่อสิ่งนั้น แล้วมันก็เกิดความหงุดหงิด โทสะขึ้นมา อาการหงุดหงิด โทสะเกิดขึ้นแล้วยังไม่เห็นอีก คือเห็นแล้วก็พยายามกดข่มมัน แต่ไม่สำเร็จก็ยิ่งทุกข์ ยิ่งเครียดเข้าไปใหญ่
แต่พอเราวางใจเป็นกลางต่อสิ่งนั้นได้ เราก็จะพบกับความโปร่งความเบา ซึ่งก็เป็นความสงบอีกอย่างหนึ่งซึ่งอาจจะไม่เคยพบจากการที่พยายามปิดกั้นหรือผลักไสอารมณ์ต่างๆ การที่เราจะเห็นอารมณ์ต่างๆเหล่านี้ แล้วก็รู้ทันอารมณ์เหล่านี้ รวมทั้งวางใจเป็นกลางกับสิ่งเหล่านี้ได้
มันต้องอาศัยทั้งสติและสัมปชัญญะหรือว่าความรู้ตัว ถ้าหากว่ามีความรู้ทันหรือมีความรู้ตัว ความสงบก็จะเกิดขึ้นได้ การปล่อยวางมันก็สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ และเมื่อปล่อยวาง ความทุกข์เพราะแบกเพราะยึดมันก็จะหมดไป
ให้เราลองฝึกแบบนี้ดูบ้างถึงแม้ว่าจะไม่คุ้นเคย แต่ว่าถ้าเราทำบ่อยๆ เราก็จะพบว่ามันเป็นวิธีที่จะเกี่ยวข้องกับทุกข์ได้ดี ก็อย่างที่บอก จริงๆแล้ว ทุกข์ไม่น่ากลัว แต่ที่น่ากลัวคือการที่ไม่รู้ทุกข์ หรือไม่เห็นทุกข์ อันนี้น่ากลัวกว่า
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมวัตรเย็น วัดป่าสุคะโต วันที่ 31 กรกฎาคม 2564