แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การมาอยู่ที่นี่โดยเฉพาะมาจำพรรษา หลายคนต้องทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนหลายอย่าง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นของใหม่ เริ่มตั้งแต่ตารางชีวิต ต้องตื่นแต่เช้าตี 3 เข้านอนไม่ดึกนัก ต้องกินอาหาร 2 มื้อ บางทีก็มื้อเดียว นอนในกลด นอนกลางป่าแต่ผู้เดียว มันเป็นสิ่งใหม่ๆสำหรับหลายคน และสิ่งใหม่อย่างหนึ่งคือ การภาวนาหรือการทำกรรมฐาน
หลายคนไม่เคยทำมาก่อน จนกระทั่งมาที่วัดนี้ แต่เพียงเพราะไม่เคยแล้วไม่ทำ ก็ถือว่าเสียโอกาส เสียประโยชน์อย่างยิ่ง ภาวนาหรือการทำกรรมฐานเป็นของใหม่สำหรับหลายคน มันไม่ใช่แค่นั้น วิธีที่ใช้ในการภาวนากรรมฐานที่นี่มันก็เป็นของใหม่ แม้กระทั่งคนที่เคยผ่านการภาวนามาแล้วจากที่อื่น หลายคนจะไม่เคยภาวนาด้วยการฝึกจิตให้รู้เฉยๆ หรือว่ารู้ซื่อๆ อย่างคำของหลวงพ่อเทียน
ไม่ว่าความคิด และอารมณ์ใดๆ ความดีใจความเสียใจ ความยินดีความยินร้าย ความผ่อนคลาย ความเบิกบาน ความเครียด ความท้อแท้ ที่ปรากฏขึ้นมาในใจ สิ่งที่เราทำหรือควรทำก็คือ เพียงแค่รู้เฉยๆ โดยที่ไม่ไหลตามมัน และก็ไม่กดข่ม รวมทั้งการพยายามควบคุมบังคับจิตใจด้วย
หลายคนพอมาภาวนาที่นี่ เห็นว่าเป็นการฝึกจิต เพราะฉะนั้นก็อดไม่ได้ที่จะบังคับจิต ให้มันหยุดคิด ให้มันหยุดฟุ้ง หรือว่าอดข่มอารมณ์ที่ไม่ดีที่ไม่สมควรเกิดขึ้น ความเห็นแก่ตัว ความอิจฉา ตัณหาราคะ อันนั้นก็มีประโยชน์
แต่ว่าพอเราจะมาภาวนาที่เรียกว่าการเจริญสติปัฏฐาน มันต้องเรียนรู้ที่จะใช้วิธีใหม่ในการเกี่ยวข้องกับความคิดและอารมณ์เหล่านั้น เมื่อมันเกิดขึ้นไม่ว่ามันจะเป็นอะไรก็ตาม ก็เพียงแต่แค่รู้เฉยๆโดยที่ไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน ไม่ต้องไปห้ามจิตให้หยุดคิด ไม่ต้องไปห้ามความคิด ไม่ต้องไปกดข่มความโกรธ ความหงุดหงิด แค่เห็นมัน เห็นแล้วก็รู้เฉยๆรู้ซื่อๆ
ดูไม่น่ายาก เหมือนกับเรานั่งดูรถที่วิ่งบนท้องถนนโดยไม่ต้องทำอะไรกับรถเหล่านั้น ไม่ต้องไปหยุดรถหรือว่าไม่ต้องไปวิ่งไล่ตามรถคันเหล่านั้น แต่หลายคนอดไม่ได้ที่จะไปทำอะไรกับความคิดและอารมณ์เหล่านั้น โดยเฉพาะการไปกดข่ม บังคับผลักไสมัน ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องธรรมดาเพราะความเคยชิน
เราคุ้นเคยกับการควบคุมสิ่งต่างๆมาโดยตลอดชีวิตเลย ควบคุมจัดการสิ่งต่างๆ ข้าวของในบ้าน ของใช้ในห้อง โทรศัพท์ รถยนต์ ถ้ามีลูกน้อง ก็ควบคุม บังคับลูกน้อง จัดการผู้คน รวมทั้งจัดการกับเวลา ควบคุมงานการต่างๆแม้กระทั่งควบคุมร่างกายของตัวเอง จัดการกับเสื้อผ้าหน้าผมให้มันถูกใจ หรือว่าควบคุมน้ำหนักของตัวให้มันพอดีๆ
เราคุ้นกับการควบคุมสิ่งต่างๆมาตลอดชีวิต พอมาภาวนาเจริญสติ มาฝึกจิต ก็อดไม่ได้ที่จะควบคุมจิต มันเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคย โดยที่ไม่เคยที่จะแค่ดูเฉยๆ และอีกเหตุผลหนึ่งที่อดไม่ได้ที่จะไปควบคุมบังคับ หรือว่ากดข่มความคิดและอารมณ์ต่างๆ เพราะมีความรู้สึกว่า ความคิดและอารมณ์เหล่านั้นมันไม่ดี มันไม่ถูก เวลามีความคิดหรืออารมณ์ใดเกิดขึ้น อดไม่ได้ที่จะตัดสินว่า อย่างนี้ดีอย่างนี้ไม่ดี อย่างนี้ถูกอย่างนี้ผิด
อันนี้เป็นเพราะนิสัยความเคยชินของเรามาช้านานเลยก็ว่าได้ เพราะเราถูกสอนมาว่า เราต้องทำความดีเราต้องขยันหมั่นเพียร เพราะฉะนั้น อย่าให้ความเกียจคร้านมาครอบงำ ถ้ามันเกิดขึ้นก็ต้องจัดการกับมัน เราถูกสอนให้รู้จักควบคุมอารมณ์ โดยเฉพาะความโกรธ ความเกลียด เพราะมันไม่ดี ความโลภก็ไม่ดีเพราะมันสามารถชักนำให้เราทำชั่วได้ ยิ่งมาสนใจธรรมะ ก็ยิ่งเห็นความสำคัญของการทำความดี และก็หลีกหนีความชั่ว
การเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ เราก็เกี่ยวข้องโดยอาศัยการพิจารณาว่า มันดีไหมมันถูกไหม อันนี้เป็นเรื่องของจริยธรรมที่เราทุกคนควรจะมี และพอพูดถึงการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมเบื้องต้นก็คือการปฏิบัติให้ถูกจริยธรรม ตั้งมั่นอยู่บนความถูกต้อง ก็ต้องรู้ผิดชอบชั่วดี อะไรถูกอะไรผิด อะไรที่ถูกอะไรที่ดีก็ต้องทำให้มาก อะไรที่ไม่ดีก็ต้องละเว้น หรือห่างไกล
เวลาเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆเราก็ต้องมีการตัดสินให้ค่าว่า อันนี้ดีอันนี้ไม่ดี เหล้าบุหรี่ไม่ดี อาหารรสจัดไม่ถูกต้องกับสุขภาพ ต้องกินอาหารที่มีประโยชน์มีคุณภาพ คบเพื่อนก็ต้องคบเพื่อนดี ไม่คบเพื่อนชั่ว ต้องรู้ว่าคนไหนเป็นคนดี คนไหนเป็นคนชั่วถ้าชั่วก็ต้องอยู่ห่างๆ อันนี้มันเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในโลกหรือการดำเนินชีวิตให้เกิดความเจริญงอกงาม มันเป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรมในระดับจริยธรรม ซึ่งมีดีมีชั่ว มีถูกมีผิด
แต่พอเรามาปฏิบัติธรรมในระดับที่เป็นการภาวนา มันเป็นการปฏิบัติธรรมในอีกขั้นหนึ่ง ไม่ใช่ระดับจริยธรรมแล้ว แต่เป็นระดับสัจธรรม คือการฝึกจิตให้เห็นความจริง เห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง รวมทั้งเห็นสิ่งต่างๆอย่างที่มันเป็น โดยที่ไม่มีการตัดสินว่าถูกผิด ดีชั่ว
เพราะถึงที่สุดการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาคือ การเห็นแจ้งตามความเป็นจริง ไปพ้นสมมติ แม้กระทั่งสิ่งที่ถือว่าดีชั่ว ทะลุจนกระทั่งเห็นสัจธรรมความจริงว่า ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันไม่เที่ยง มันล้วนเป็นทุกข์
คราวนี้เราจะเห็นแจ้งตามความเป็นจริงได้ เราก็ต้องเริ่มต้นเรียนรู้ความคิดและอารมณ์ โดยที่ไม่ไปตัดสินว่าผิดหรือถูก จริงอยู่ ความโลภความโกรธมันสามารถที่จะชักนำให้เราชั่วได้ หรือทำสิ่งที่ผิดทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้ แต่ตราบใดที่มันยังแค่ปรากฏอยู่ในใจของเรา แล้วเราจะเห็นมัน หรือว่ารู้ซื่อๆ มันก็ไม่สามารถบงการจิตใจ หรือคำพูด การกระทำของเราให้ทำสิ่งที่ชั่วร้ายได้ หรือว่าผิดศีลเบียดเบียนผู้อื่น
ซึ่งที่จริงความโกรธความโลภมันก็ไม่ได้ดีไม่ได้ชั่วในตัวมันเอง อยู่ที่ว่าเราจะเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร มันไม่ได้ชั่วมันไม่ได้ผิด ถ้าเราเพียงแต่เห็นมันเฉยๆ หรือว่ารู้ว่ามันปรากฏอยู่ในใจโดยที่ไม่ปล่อยให้มันมาครอบงำใจ แต่พอเราไปยึดติดกับการเอาถูกเอาผิด หรือว่ายึดติดถือมั่นในความถูกต้อง ซึ่งมันก็จำเป็นในการดำเนินชีวิตโดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมในระดับจริยธรรม
แต่พอมาภาวนามาทำกรรมฐาน มันก็อดไม่ได้ที่จะเอาวิธีคิดแบบนี้มาใช้มามองความคิดและอารมณ์ต่างๆเพราะฉะนั้น พออารมณ์บางอย่างเราเห็นว่า มันไม่ดีมันไม่ถูก ต้องกำจัดต้องกดข่มมัน เหมือนกับที่เราเคยทำ เวลาเราโกรธเพื่อนแล้วเราข่มใจไม่ให้หลุดปากด่า หรือว่าเวลาที่เราขี้เกียจ แล้วเราพยายามข่มความขี้เกียจไว้ อันนั้นมันก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเกี่ยวข้องกับผู้คนและโลกภายนอก รวมทั้งการเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ เช่น อาหารการกิน
แต่ว่าพอมาเป็นเรื่องการภาวนา มันเป็นการปฏิบัติธรรมในอีกระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งเป็นของใหม่สำหรับเรา เพียงแค่รู้ซื่อๆ แต่ว่ามันก็ไม่ได้ยากเกินวิสัยของเรา เพียงแต่ว่าให้เรารู้ว่าเวลามีอะไรเกิดขึ้นในใจก็อย่าเพิ่งไปตัดสิน ถูกผิด ดีชั่ว ก็แค่เห็นมันอย่างที่มันเป็น เพราะว่าสุดท้ายมันก็เป็นธรรมชาติ ไม่ว่าคิดดีคิดไม่ดี อารมณ์กุศล อกุศล มันเป็นธรรมชาติที่สามารถแสดงสัจธรรมให้เราเห็น
ก่อนที่เราจะรู้ซื่อๆได้ เราต้องรู้ทันก่อน ก่อนที่จะมาถึงการรู้ซื่อๆ เห็นอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น มันต้องรู้ทันก่อน ถ้าไม่รู้ทันในอารมณ์เหล่านั้น มันก็ไม่มีทางที่จะรู้ซื่อๆ รู้ทันถ้าเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น เพราะว่าถ้ารู้ช้า จิตก็อาจจะเข้าไปจมอยู่ในอารมณ์เหล่านั้น หรือว่าปล่อยให้อารมณ์เหล่านั้นเข้ามาครอบงำ แต่ว่าเรามักจะไม่รู้ทันมันเท่าไร เพราะว่าโดนมันเล่นงานเสียก่อน ไม่ทันรู้ซื่อๆ
ที่จริงมีอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะไปกดข่ม ผลักไสอารมณ์เหล่านี้ เพราะว่าพอมันเกิดขึ้นแล้ว เรารู้สึกทุกข์ เราทุกข์เมื่อมีความโกรธ เราทุกข์เมื่อความโลภ เราทุกข์เมื่อมีความท้อแท้ เราทุกข์เมื่อมีความห่อเหี่ยว มีความเบื่อ เพราะฉะนั้น ธรรมชาติคนเราก็ไม่อยากทุกข์ก็เลยต้องขับไสไล่ส่งมัน
แต่ที่จริงแล้วถ้าเราสังเกตอย่างแท้จริงแล้ว ก็จะพบว่า เพียงแค่มันเกิดขึ้น มันไม่ได้ทำให้เราทุกข์ แต่เป็นเพราะเราไม่รู้ทันมัน เป็นเพราะเราไปแบกไปยึดไปถือ หรือแม้กระทั่งไปผลักไสมัน จึงทุกข์ต่างหาก ความโกรธถ้าไม่ไปยึดไม่ไปแบกหรือไม่ไปผลักไสกดข่มมัน แค่เห็นมันเฉยๆ มันไม่ทุกข์หรอก
คนไปเข้าใจผิดว่ามันเกิดขึ้นทีไรทุกข์ทุกที มันไม่ใช่ แม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่าทุกข์ ถ้าเรารู้ ถ้าเราเห็นมัน ก็ไม่ทุกข์ ปฏิบัติไปก็จะเห็นความแตกต่างระหว่างรู้ทุกข์กับเป็นทุกข์ ทุกข์เกิดขึ้นถ้าไม่รู้ทัน มันก็เป็นทุกข์หรือถึงรู้ทัน ไม่รู้ซื่อๆไปแบก ไปผลักไสมันก็ทุกข์ พูดง่ายๆก็คือว่า เราทุกข์เพราะไปเกี่ยวข้องกับมันไม่ถูกต้อง เพียงแค่เห็นมัน รู้ทันมัน มันก็ทำอะไรจิตใจเราไม่ได้ เรียกว่าหมดพิษสงไป
เพราะฉะนั้น ก่อนที่เราจะรู้สึกซื่อๆ เราต้องมีการรู้ทันก่อน รู้ทันนี้มันต้องอาศัยสติ เพราะว่าถ้าสติไม่ไว ไม่ปราดเปรียว อารมณ์เกิดขึ้น ก็ไม่รู้หรอก มันก็ยังหลงจมอยู่ในอารมณ์เหล่านั้น ปล่อยให้เผาลนจิตใจหรือว่าถลำลึกลงไปในอารมณ์เหล่านั้น พอรู้ทันแล้วก็ตามมาด้วยการรู้ซื่อๆ บางคนรู้ทันรู้ว่าโกรธ แต่ว่าไม่รู้ซื่อๆ ก็จมเข้าไปในความโกรธ หรือไปผลักไสกดข่มความโกรธ ก็ทุกข์ต่อไป
การที่จะรู้ทันความคิดและอารมณ์เหล่านี้ มันก็ต้องรอให้มันเกิดก่อน ไม่ใช่ไปจ้องดักจ้องดูมัน ถ้ามันยังไม่เกิดขึ้น จะทำอะไร ก็มารู้กาย กายที่กำลังเดิน กายที่กำลังยกมือ หรือว่าลมที่หายใจเข้าออก หรือว่าทำอะไรก็ตามที่เป็นอิริยาบถประจำวัน เดินบิณฑบาต กวาดใบไม้ ทำครัว อาบน้ำถูฟัน กิจเหล่านี้มีการใช้กายทำตลอดเวลา ก็รู้กายไป อะไรทำให้รู้กายได้ก็คือสติ
สติเป็นเครื่องกำกับให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว พอใจอยู่กับเนื้อกับตัว มันก็รู้กาย รวมทั้งมีความรู้สึกตัวด้วย ระหว่างที่กายทำ เดิน ยกมือ บางทีใจมันหลุดออกไป ไหลออกไปจากเนื้อตัว ไม่ได้อยู่กับกายแล้ว มันไหลไปตามความคิด หรือไปปรุงอารมณ์ขึ้น ก็ไปรู้ทัน พอรู้ทันเสร็จก็รู้ชื่อ แต่ถ้ามันยังไม่มีความคิดเกิดขึ้น ก็รู้กายไป กายทำอะไร ก็รู้สึก
รู้สึกไม่ใช่รู้สึกเจ็บรู้สึกปวด แต่หมายถึงรู้สึกว่า มันมีการเคลื่อนไหวของกาย ไม่ว่าจะเป็นการเดิน เวลาเดินแล้วเรารู้สึก เราก็รับรู้ถึงการเคลื่อนของกาย ตัวขยับ เท้าเขยื้อน เวลาสร้างจังหวะก็เหมือนกัน ก็รู้กาย แต่พอมีความคิดหรืออารมณ์ใดเกิดขึ้น ก็ไปรู้ใจ หรือรู้ทัน เป็นการรู้แบบรู้ซื่อๆรู้โดยไม่ไปทำอะไรกับอารมณ์เหล่านั้น แค่รู้เท่านั้นมันก็มากพอที่จะทำให้อารมณ์หรอนั้นมันสลายหายไป ทำอย่างอื่นมันก็แค่หลบชั่วคราว
การที่รู้ซื่อๆก็ยังทำให้เราได้เห็นธรรมชาติของอารมณ์เหล่านั้น ว่ามันก็ไม่เที่ยง มันมาแล้วก็ไป แต่ก่อนนี้ก็ไม่เห็นตรงนี้ ก็ไปเอาจริงเอาจังกับมัน เวลาโกรธก็จมดิ่งอยู่ในความโกรธ หรือว่าโวยวายตีโพยตีพาย รวมทั้งความเบื่อความเหงา ไปเอาจริงเอาจังกับมัน แต่พอเรามาดูมาเห็นมัน เห็นมันบ่อยๆ มันก็จะรู้ว่าของพวกนี้มันมาแล้วก็ไป ทุกอย่างไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ ดีใจหรือเสียใจ เราก็ไม่ไปเอาจริงเอาจังกับมัน เพราะรู้ว่าเดี๋ยวมันก็ไป
แล้วต่อไปก็จะเห็นว่า อารมณ์พวกนี้ไม่ใช่เรา แต่ก่อนไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นเลย เวลามีอารมณ์พวกนี้เกิดขึ้น ก็ไปคิดว่าเป็นเรา เราโกรธ เราเกลียด เราสุข เราทุกข์ เราคิด พอคิดดีก็ดีใจ พอคิดชั่วก็เสียใจ บางทีก็โกรธตัวเองว่าทำไมถึงคิดแบบนั้น มันไม่ใช่เราคิด มันไม่ใช่เรา มันแค่เป็นความคิดที่เกิดขึ้น
อารมณ์ก็เหมือนกัน มันไม่ใช่เรา ตรงนี้แหละที่มันช่วยทำให้ความยึดมั่นในตัวเราของเรา มันค่อยๆลดลงเมื่อวานนี้ก็ได้พูดถึงเรื่องอนัตตา พูดถึงเรื่องของการความจำเป็น หรือความสำคัญของฝึกจิต จนกระทั่งไม่ยึดมั่นในตัวกูของกู หรือพูดภาษาชาวบ้านก็คือ ไม่มีตัวกู ซึ่งในขณะที่ยังละตัวกูไม่ได้ ก็ให้มีตัวกูที่ดี ที่มีคุณธรรมก่อน แต่ถึงแม้ยังละตัวกูไม่ได้อย่างสิ้นเชิง เราก็ยังสามารถที่จะละมันได้ชั่วคราว
จากการที่เราได้เห็น รู้ทัน แล้วก็รู้ซื่อๆในอารมณ์เหล่านี้ในความคิดเหล่านี้ เมื่อเห็นโดยไม่ไปยึดว่าเป็นเราเป็นของเรา มันก็มีแต่ความโกรธไม่มีผู้โกรธ มันก็มีแต่ความฟุ้งไม่มีผู้ฟุ้ง แม้กระทั่งมีความทุกข์ไม่มีผู้ทุกข์ มีความสุขไม่มีผู้สุข นี่ก็คือการละวางตัวตนได้เหมือนกัน ซึ่งเราสามารถที่จะทำได้ในแม้เป็นปุถุชนอยู่ ไม่ต้องรอให้เป็นพระอรหันต์ก่อนถึงจะหมดสิ้นซึ่งตัวตนหรือไม่มีตัวกูของกู
เพราะฉะนั้นในการภาวนาที่เป็นการเจริญสติ มันก็ทำให้เราสามารถที่จะเข้าถึงภาวะที่ไร้ตัวกูได้เหมือนกัน หรือปล่อยวางตัวกู แล้วก็จะทำให้เราเริ่มเข้าใจว่า อนัตตาเป็นอย่างไร แต่ก่อนก็หลงไปคิดว่า ความโกรธเป็นเรา ความคิดเป็นเราเป็นของเรา ที่จริงไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราสักหน่อย อันนี้แหละเป็นขั้นบันไดของการปล่อยวางหรือว่าละวางตัวกู ซึ่งช่วยทำให้เราเข้าถึงสัจธรรมความจริงที่เรียกว่าอนัตตา อนัตตภาวะได้
วิปัสสนาก็คืออันนี้แหละ คือการที่ทำให้จิตตื่นรู้ต่อความเป็นจริง หรือเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง เห็นแจ้งตามความเป็นจริง ไม่ใช่แค่เห็น แต่เห็นแจ้ง เพราะว่า เห็นด้วยใจ อย่างนี้แหละเป็นจุดเริ่มต้น อันนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราควรจะฝึกฝน
เราปฏิบัติธรรมในระดับจริยธรรมมาตลอดแล้ว ก็ควรที่จะยกระดับสู่การปฏิบัติธรรมระดับที่เป็นสัจธรรม คือเข้าถึงสัจธรรมความจริงบ้าง แทนที่จะติดกับเรื่องดีชั่วผิดถูก หรือเอาถูกเอาผิด เราก็ไปพ้นจนกระทั่งได้เห็นสิ่งที่มันเป็นความจริงที่ลึกซึ้งคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมวัตรเย็น วัดป่าสุคะโต วันที่ 30 กรกฎาคม 2564