แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พวกเราคงทราบดีว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ก็มีท่านโกณฑัญญะเป็นรูปแรกในกลุ่มปัญจวัคคีย์ที่บรรลุโสดาบัน แล้วก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา หลังจากนั้น ที่เหลือ 4 ท่านในกลุ่มปัญจวัคคีย์ก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันเรียงตามลำดับเมื่อได้ฟังธรรมะจากพระพุทธเจ้าหลังจากนั้น วันที่ 5 หลังจากพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา
ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็ 5 วันหลังจากวันอาสาฬหบูชา พระองค์ก็ทรงแสดงพระอนัตตลักขณสูตรเป็นพระธรรมเทศนาที่มีความสำคัญมาก ก็ปรากฏว่าพระภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ท่านก็ได้บรรลุอรหันตผลเลยเป็นพระอรหันต์กลุ่มแรกในพระพุทธศาสนา เหตุการณ์นี้ก็เกิดขึ้นในวันแรม 5 ค่ำเดือน 8 ซึ่งก็ตรงกับวันนี้
เพราะฉะนั้น ในวันนี้เราก็มาสาธยายพระอนัตตลักขณสูตรแล้วก็พิจารณาไปด้วย ถึงความหมายของพระสูตรนี้ ซึ่งเป็นการแสดงสัจธรรมที่ลึกซึ้งมาก พระธรรมเทศนานี้แหละที่ทำให้เกิดพระอรหันต์กลุ่มแรกขึ้นมาในโลกก็ว่าได้ ก่อนหน้านั้นก็มีแค่เพียงพระโสดาบัน
พระอนัตตลักขณสูตรเป็นพระสูตรที่แสดงถึงสัจธรรมขั้นสูงที่ชี้ให้เห็นว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนมันเป็นอนัตตา คำสอนหรือความจริงเรื่องของอนัตตาเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก แต่ในเวลาเดียวกันก็พลิกความเข้าใจของคน ทำให้ได้เห็นความจริงแท้เลยว่า สิ่งทั้งหลายที่เราคิดว่าเป็นตัวเป็นตนที่จริงไม่ใช่
คำว่าอนัตตาที่ว่าไม่ใช่ตัวตนไม่ได้หมายความว่าไม่มีอะไรเลย มันมีอยู่ หลายสิ่งหลายอย่างก็จับต้องได้ แต่สิ่งที่จับต้องได้ไม่ว่าจะเป็นไม้ ก้อนหิน หรือว่าแม้กระทั่งร่างกายของเรา มันไม่มีตัวตนของมันเอง หมายความว่าเป็นตัวตนที่มีอิสระ หรือว่าเป็นนิรันดร์ เที่ยงแท้แน่นอน แม้แต่สิ่งที่จับต้องได้จะเป็นไม้ ก้อนหิน หรือร่างกายของเรา มันว่างเปล่าจากตัวตน มันไม่มีตัวตนที่เที่ยงแท้ ที่เป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับอะไรเลย
ถามว่าตัวตนคืออันนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมนามธรรม มันก็ล้วนแต่เป็นอนัตตา เพราะถ้าเป็นอัตตา มันก็ต้องเที่ยง มันก็ต้องไม่แปรเปลี่ยน คงอยู่อย่างนั้นชั่วฟ้าดินสลาย และที่สำคัญถ้ามันมีตัวตนจริงก็ต้องสั่งได้ บังคับบัญชาได้ คำว่าอนัตตาอีกความหมายหนึ่งก็คือว่า อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเรา สั่งได้
อย่างที่เราสาธยายสักครู่ รูปถ้าเป็นตัวตนก็สั่งได้ว่าเป็นอย่างนี้อย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราก็ย่อมได้รูปตามใจหวัง อยากได้รูปแบบไหนก็ได้อย่างนั้น แต่ว่ารูปไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา เพราะว่าขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยต่างๆมากมาย ซึ่งเหตุปัจจัยเหล่านั้น เราไม่สามารถจะควบคุมบังคับบัญชาได้
ไม่ใช่แต่สิ่งที่เป็นรูปธรรมอย่างเช่นร่างกาย แม้แต่สิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พวกนี้ก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ยกตัวอย่างง่ายๆ สัญญาคือความจำได้หมายรู้ มันจะมีได้ก็ต้องอาศัยสมอง ต่อเมื่อมีสมอง ความจำได้หมายรู้จึงจะเกิดขึ้นได้ ถ้าสมองถูกกระทบกระเทือน ความจำก็คลาดเคลื่อน ไม่ต้องถูกกระทบกระเทือน แค่แก่ชรา ความจำก็เล่อะเลือนแล้ว ยิ่งถูกกระทบกระเทือนก็อาจจะจำไม่ได้เลย จำไม่ได้ว่านี้คือลูกนี้คือพ่อแม่ อันนี้คือคนที่ความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ ความจำเขาเสียไป
สัญญาขึ้นอยู่กับสมอง อันนี้เฉพาะเหตุปัจจัยเดียว ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่าง เวทนาก็เหมือนกัน ความรู้สึกเจ็บ ความรู้สึกปวด ความรู้สึกทุกข์ ก็ต้องอาศัยระบบประสาท ไม่มีระบบประสาทหรือระบบประสาทไม่ปกติ มันก็ไม่รู้สึก ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่รู้สึกเจ็บเลย เท้าโดนแผลมือโดนน้ำร้อน ไม่รู้สึกเจ็บ เป็นเพราะระบบประสาทเขาผิดปกติ
เพราะฉะนั้น ถ้าเราพิจารณาอย่างนี้ก็จะพบว่า มันไม่มีอะไรเลยที่เรารู้จักที่มันจะเป็นตัวเป็นตนได้ เพราะว่าทั้งหมดทั้งปวงยกเว้นนิพพาน ก็ล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหรือประกอบไปด้วยเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยนั้นถ้าหากว่าหมดไป หายไป สิ่งนั้นมันก็ดับไปด้วย อย่างเช่นบ้านประกอบไปด้วยเสา หลังคา ขื่อ พื้น ถ้าเราถอนเอาแต่ละส่วนๆ ออกไป พื้น เสา ขื่อคา หลังคา มันก็ไม่เหลืออะไรเลย เหลือแต่ความว่าง
รถยนต์ก็เหมือนกัน ถ้าเราถอดชิ้นส่วนไปทีละอย่าง ตัวถัง ล้อ เพลา รวมทั้งชิ้นส่วนเล็กน้อย สุดท้ายก็จะเหลือแต่ความว่างเปล่า หาตัวตนไม่เจอ เพราะว่าที่มันเป็นรูปเป็นร่างได้เพราะเหตุปัจจัยต่างๆมาประกอบกัน และเหตุปัจจัยเหล่านี้ ก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจที่เราจะควบคุมบังคับบัญชาได้
เราไม่อยากให้มันเสื่อมมันก็เสื่อม เราไม่อยากให้มันเสียมันก็เสีย พอเสียแล้วรถก็วิ่งไม่ได้ จะอ้อนวอนมันอย่างไร จะสั่งมันอย่างไร จะบอกว่าเป็นของฉันๆ มันก็ไม่มีความหมายไม่มีประโยชน์ เพราะจริงๆ รถก็ไม่ใช่ของเรา มันเป็นโดยสมมติ แต่โดยความจริงแล้วมันไม่ใช่ของเรา เพราะเราสั่งไม่ได้ บังคับบัญชาก็ได้บ้างในขอบเขตที่จำกัด
เข้ามาใกล้ตัวคือ กายกับใจ มันก็ไม่ใช่ตัวตน แม้เราจะบอกว่านี่กายของเรา แต่เราก็สั่งร่างกายไม่ได้ สั่งให้มันผอมมันก็สั่งไม่ได้ สั่งให้มันไม่ป่วยก็สั่งไม่ได้ ใจก็เหมือนกันสั่งไม่ให้มันหยุดฟุ้งซ่าน มันก็ไม่หยุด นอนไม่หลับ บอกให้มันหยุดคิดได้แล้ว มันก็ไม่หยุด โกรธ รุ่มร้อน อยากจะให้หายโกรธ มันก็ไม่ทำตาม เพราะฉะนั้นกายและใจก็ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา สุดท้าย มันไม่มีตัวเราเลย หรือไม่มีสิ่งที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเรียกว่าตัวกู
ตัวกูหรือตัวเรา มันก็เป็นแค่อุปาทานที่ปรุงขึ้นมา ปรุงด้วยความหลงของจิต แล้วก็ไปยึดเอาว่ามันมีจริง เกิดความยึดมั่นสำคัญหมายในตัวกู แล้วก็ตามมาด้วยของกู แต่ว่าในความหมายที่เป็นสัจธรรมความจริงขั้นลึกซึ้งที่สุด มันไม่มีตัวกู มันมีแต่ความคิดหรือสำคัญผิดว่าเป็นตัวกู อันนี้เป็นเรื่องที่ยิ่งเข้าใจยากและคนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ เพราะว่าถูกปลูกฝังมาว่ามีตัวกูตัวกูตัวกู
แล้วพอตัวกูถูกสร้างขึ้นมา มันก็ทนไม่ได้ที่จะยอมรับความจริงว่าตัวกูไม่มีจริง การที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเรื่อง อนัตตา หรือว่าอนัตตลักขณะ มันเป็นธรรมะขั้นสูงเลยซึ่งถ้าเข้าใจอย่างลึกซึ้งถ่องแท้ก็ทำให้หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นที่นำไปสู่ทุกข์ จะทำให้เป็นอิสระจากทุกข์ เพราะว่าพอเห็นชัด แจ่มกระจ่างว่า มันไม่มีตัวกู
สุดท้ายแม้จะมีความทุกข์ แต่ว่าไม่มีผู้ทุกข์แล้ว ไม่มีกูผู้ทุกข์ มีแต่ความทุกข์ แต่ไม่มีผู้ทุกข์ เพราะฉะนั้นก็กลายเป็นว่า พอไม่มีผู้ทุกข์ไม่มีตัวกูที่เป็นทุกข์ มันก็เหมือนกับว่าหมดทุกข์ไปแล้ว ทุกข์ยังมีอยู่แต่ไม่มีผู้ทุกข์ ในแง่หนึ่งนี่คือความดับทุกข์เพราะไม่มีกูผู้ทุกข์ต่อไป และตราบใดที่ยังมีตัวกูหรือยึดในตัวกูอยู่ มันก็หนีความทุกข์ไม่พ้น
ยกตัวอย่างง่ายๆ ความโกรธ เราก็รู้อยู่แล้วความโกรธ มันก่อทุกข์ให้แก่จิตใจของเรา ความโกรธเกิดจากอะไร เกิดจากการที่ตัวกูของกูถูกกระทบ ถ้ามีอะไรมากระทบกับร่างกายที่เราคิดว่าเป็นกูของกู เจ็บปวดขึ้นมาเราก็โกรธ แม้สิ่งที่กระทบนั้นอาจจะไม่ใช่คน อาจจะเป็นประตูอย่างนี้ เดินไปชนประตูหรือประตูตีกลับชนหัวเรา ร่างกายเราก็เจ็บ แต่พอไปยึดว่าร่างกายเป็นของกู หรือไปยึดว่าร่างกายเป็นกู มันก็ไม่ใช่เจ็บแต่กายมันโกรธด้วย
หรือว่าสมบัติสิ่งของที่เรายึดว่าเป็นของกู ถ้ามีใครทำให้เสียหาย หรือว่าพรากมันจากเราไป เราก็โกรธ โกรธเพราะยึดว่าเป็นของกู รถของเพื่อนมันจะเสียหายอย่างไร เราก็เฉยๆ แต่พอเราซื้อรถคันนั้นเป็นของเราหรือไปสำคัญมั่นหมายว่าเป็นของเรา เพียงแค่มีรอยขีดรอยข่วน หรือมีใครมาทำรอยขีดรอยข่วนก็โกรธแล้ว
บางทีคนนั้นเป็นลูกด้วยซ้ำ ด้วยความไร้เดียงสาก็มาขีดมาข่วนรถ พ่อก็โกรธมาก ตีลูกไม่ยั้งเลย เพราะอะไร เพราะว่าไปสำคัญมั่นหมายว่าเป็นของกู ทั้งที่ก่อนหน้าที่จะซื้อรถคันนี้ มันเป็นของคนอื่น มันจะบุบมันจะพังอย่างไร ไม่รู้สึกอะไร เพราะไม่ใช่ของกู หรือเพราะไม่ได้ยึดว่าเป็นของกู
เวลามีอะไรมากระทบในสิ่งที่เรายึดว่าเป็นของเรา อาจจะไม่ใช่ร่างกาย อาจจะไม่ใช่สิ่งของ อาจจะเป็นประเทศ ประเทศของกู ศาสนาของกู สถาบันของกู พอถูกกระทบก็โกรธ หรือเวลามีอะไรมากระทบสิ่งที่เราถือว่าถูกต้อง เช่น มีคนคุยกันในโรงหนัง หรือว่าเปิดโทรศัพท์มือถือจนเสียงริงโทนดังในขณะที่คนกำลังฟังธรรมะหรือนั่งฟังคำบรรยาย
เราก็โกรธคนที่พูดคุยในโรงหนังหรือเจ้าของโทรศัพท์ เพราะอะไร เพราะว่าเขาทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ในความเข้าใจของเรา ทำผิดมารยาท อันนี้เรียกว่ากระทบในสิ่งที่เราเห็นว่าถูกต้อง หรือบางทีเขาแต่งตัวไม่สุภาพ ไว้ผมยาว หรือว่านุ่งสั้น ทั้งที่เป็นที่สาธารณะ เราก็ไม่พอใจ เพราะว่าการกระทำ การแต่งกายของเขา มันมากระทบความรู้สึกว่าสิ่งนี้ดี เป็นสิ่งที่สุภาพ
อะไรก็ตาม ที่มากระทบกับความคาดหวังของเรา เราคาดหวังอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วมันไม่เป็นไปตามความคาดหวัง มาขัดขวางมาทำความคาดหวังของเราให้ไม่เป็นจริง เราก็โกรธ ยิ่งมากระทบกับความต้องการของเรา เราอยากได้อย่างนี้ แต่เขาขัดขวาง เราต้องการตำแหน่ง เราต้องการลาภ แต่ว่าเขามาขัดขวาง ก็โกรธ
จะเห็นได้ว่าความโกรธล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากการที่มีการกระทบกับสิ่งที่เราคิดว่า เป็นตัวกูของกู ถ้าไม่มีตัวกูของกู อะไรมากระทบก็ไม่ทุกข์ มันก็ไม่โกรธ เพราะฉะนั้น จะเรียกได้ว่าความทุกข์ของมนุษย์ทั้งปวง เมื่อสาวไปถึงที่สุด ก็เพราะมีความยึดมั่นสำคัญหมายว่าเป็นตัวกูของกู หรือจะพูดว่าตัวกูเป็นบ่อเกิดของความทุกข์ก็ได้
จะพ้นทุกข์ได้ ก็เพราะว่าไม่มีตัวกู ไม่มีความยึดมั่นสำคัญหมายในตัวกูและก็ของกู แต่ว่าจะทำอย่างนั้นได้ต้องเห็นสัจธรรมแจ่มแจ้ง มันไม่ใช่แค่คิดเอาอย่างเดียว แม้ว่าความคิดมันจะไตร่ตรองและเห็นว่า ตัวกูไม่มีจริง แต่ว่าใจยังยึดอยู่ และก็เป็นเรื่องยากที่ปุถุชนทั่วไปจะไม่มีความยึดในตัวกูหรือไม่มีตัวกู อันนี้พูดแบบชาวบ้านคือ ไม่มีตัวกู แต่ถ้าพูดอย่างถูกต้องคือไม่มีความยึดว่ามีตัวกู
คนทั่วไปก็ย่อมมีตัวกู เพราะว่ายังไม่สามารถจะเห็นสัจธรรมได้ แต่ว่าสิ่งที่เราทำได้ก็คือว่า พยายามตั้งมั่นอยู่ในจริยธรรม คำสอนของพระพุทธศาสนาที่เรียกว่าธรรมะ มีอยู่ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งก็คือสัจธรรม สัจธรรมก็ได้แก่ ความจริงเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือปฏิจจสมุปบาท อีกส่วนหนึ่งคือจริยธรรม เป็นคำสอนเกี่ยวกับเรื่องความดี
อริยมรรคมีองค์ 8 เป็นเรื่องของจริยธรรม ให้มีความเห็นชอบ พูดจาชอบ การงานชอบ คำว่าชอบคือสิ่งที่ดี สัจธรรมเป็นสิ่งที่ต้องเข้าถึง หรือเห็น ส่วนจริยธรรม เป็นสิ่งที่ต้องทำ ถ้าปรารถนาความสุข ในขณะที่เรายังไม่มีปัญญาเห็นสัจธรรม อย่างน้อยก็ให้เราตั้งมั่นอยู่ในจริยธรรม
ก็หมายความว่าในขณะที่เรายังไม่สามารถที่จะเห็นกระจ่างว่าตัวกูไม่มีจริง เรายังมีตัวกูอยู่ ก็ให้ตัวกูนั้นเป็นตัวกูที่ใฝ่ดี เป็นตัวกูที่มีคุณธรรม เช่นมีเมตตากรุณา มีความอดทน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความขยันหมั่นเพียร มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ขณะที่เรายังไม่สามารถที่จะเข้าถึงระดับของสัจธรรมได้อย่างแท้จริง เราก็รักษาตัวให้อยู่ในระดับของจริยธรรม ในเมื่อยังมีตัวกูหรือยังยึดในตัวกูอยู่ก็ให้เป็นตัวกูที่ใฝ่ดี มีกุศลแล้วก็มีความสุข อันนี้ก็สำคัญตัวกูที่มีความสุข
ท่านเทนซิน พาวโม ท่านเป็นสามเณรีแบบทิเบต ท่านเป็นชาวอังกฤษแต่ว่าบวชแบบทิเบต ท่านยกตัวอย่างได้ดีว่า ถ้าเกิดว่าขาเราหักขึ้นมาหรือใส่เฝือก ตราบใดที่ขาเรายังปวด เราจะเอาแต่บ่นว่าขาของฉันๆๆเราจะหมกมุ่นอยู่กับแต่ขาของตัว แต่ถ้าเกิดว่าขาหายดี ขาวิ่งได้ เราก็จะไม่นึกถึงขาเราเท่าไหร่ เราจะนึกถึงคนอื่นที่เขาเดือดร้อน
แล้วท่านก็บอกว่า คนเราเมื่อจะเริ่มต้นปฏิบัติธรรม เราก็ต้องปฏิบัติอย่างมีตัวกู แต่ก็ให้เป็นตัวกูที่มีสุขภาพดี มีความสุข หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือว่าเป็นตัวกูที่ใฝ่ดี ตัวกูก็มีประโยชน์ ถึงแม้ว่าที่พูดมาว่าเป็นตัวการให้เกิดทุกข์ แต่มันก็มีประโยชน์หลายอย่าง ไม่ใช่แค่ช่วยทำให้อยู่รอดปลอดภัย เพราะว่าไม่อยากเจ็บไม่อยากป่วย ไม่อยากอันตราย
แต่คนเราเวลาทำความดี รักษาศีล เราก็ทำเพราะว่าไม่อยากให้ตัวเองเดือดร้อน อยากให้ตัวเองมีความสุข เราไม่อยากทำชั่วเพราะกลัวว่า คนเขาจะประณามด่าว่าเรา รังเกียจเรา การทำอย่างนี้เกิดจากการมีสำนึกในตัวกู ทำดี มีศีลธรรมเพราะอยากให้ตัวกูมีความสุข อยากให้กูเป็นที่ยอมรับของผู้คนทั้งหลาย ไม่เป็นที่รังเกียจเหยียดหยาม
เพราะอยากให้ตัวเองมีความสุข เราก็เลยมาปฏิบัติธรรม เราก็มายอมเหนื่อยเป็นเพราะตัวกูเราถึงไม่ยอมทำชั่ว เพราะกลัวว่าตัวกูจะเดือดร้อน เช่น ติดคุกติดตะรางเพราะคอรัปชั่น แม้กระทั่งพระอรหันต์หลายท่านบรรลุธรรมก็เพราะความยึดในตัวกูนี่แหละ เช่น เดิมก็เหลาะแหละ ไม่ได้ตั้งใจในการปฏิบัติ ก็ถูกล้อ ถูกต่อว่า ถูกนินทา ก็รู้สึกเสียหน้า เกิดมานะทิฏฐิขึ้นมาก็เลยทำความเพียรจนบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์อย่างพระนันทะ
เพราะฉะนั้นการที่เรายังมีตัวกูอยู่ ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายถ้าหากว่า เรารู้จักฝึกฝนบ่มนิสัย ให้ตัวกูเป็นตัวกูที่ใฝ่ดี และก็ใช้ตัวกูนี่แหละมาทำความเพียรจนกระทั่ง บรรลุถึงสัจธรรมความจริงว่า มันไม่มีตัวกู และไม่ใช่เรื่องเสียหายที่เรายังมีความยึดมั่นในตัวกู แต่ว่าข้อสำคัญเราต้องฝึกฝน ให้ตัวกูเป็นสิ่งที่ดี ใฝ่ดี มีความสุข มีจิตเป็นกุศล รวมไปถึงการไม่เกลียดตัวกู หรือไม่เกลียดตัวเองด้วย
เพราะคนเราถ้าเกลียดตัวเอง หรือเกลียดตัวตนของตน อาจจะเป็นเพราะว่าอ้วน หรือว่ารูปร่างไม่สวย หรือว่าทำบางสิ่งบางอย่างที่น่าอับอาย หรือว่าถูกล้อหรือสั่งสอนมาให้รังเกียจตัวเอง อันนี้ก็ไม่มีทางที่จะก้าวหน้าในการปฏิบัติได้ แม้แต่พระพุทธเจ้ายังยอมรับเลย การรักตน อย่างบทสวดบางบทเราจะสวดว่า เพราะฉะนั้นบุคคลผู้รักตน หวังอยู่เฉพาะคุณเบื้องสูง เมื่อระลึกได้ถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ จงทำความเคารพพระธรรม
ถ้ารักตนอย่างถูกต้องก็หวังคุณเบื้องสูง เมื่อหวังคุณเบื้องสูงก็จะทำให้เกิดความเจริญงอกงามในทางธรรม จนกระทั่งไปถึงจุดที่พบความจริงหรือเข้าถึงสัจธรรมว่า มันไม่มีตัวกู มันมีแต่รูปกับนาม หน้าที่ของเราในขณะที่เรายังไม่ถึงสัจธรรม เราก็ให้ถึงระดับจริยธรรมที่ดี ด้วยการอบรมตัวกูให้มันประณีต
แต่เดิมอาจจะโลภ อยากได้นู่นอยากได้นี่ ติดเสพ ติดสุข เป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟือย เราก็อบรมด้วยการข่มใจบ้าง ไม่ทำตามความอยากของตัวกู มันอยากได้โน่นอยากได้นี่ก็ไม่ยอมทำตามมัน ฝืนใจมัน อันนี้ก็ช่วยทำให้มันเชื่องลง ตัวกูถ้าไม่อบรม บางทีมันไม่เพียงแค่โลภ มันอยากใหญ่อยากมีอำนาจต้องการข่มคนอื่น เราก็ต้องฝึกให้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน
พูดง่ายๆก็คือว่า ขัดเกลาให้ตัวตนหรือตัวกูมันเบาบางหรือว่าเล็กลง ไม่ใช่อวดใหญ่อวดโม้ ชอบประกาศให้โลกรู้ว่ากูเก่งกูแน่ ตัวกูแบบนี้มีแต่สร้างความทุกข์ แต่พอคนเราขัดเกลา อบรมบ่มนิสัยหรือฝึกให้มันเชื่องด้วยการไม่ยอมทำตามอำนาจของมัน ไม่ยอมสนองความปรารถนาของมัน มันก็จะเริ่มเชื่องลง และก็อยู่ในโอวาทอยู่ในกำกับของธรรมะมากขึ้น
แล้วถึงตอนนั้นการที่จะใช้ตัวกูหรือตัวตนเพื่อการฝึกในระดับของวิปัสสนา จนกระทั่งเข้าถึงสัจธรรม เห็นว่าไม่มีตัวกูจนเรียกว่าหมด หรือว่าเพิกถอนที่เรียกว่าสักกายทิฐิ คือความเห็นผิดว่า กายและใจเป็นตัวตนหรือเป็นตัวกูของกู ถ้าเพิกถอนได้ มันก็ได้เข้าถึงความเป็นโสดาบัน ซึ่งเป็นอริยะภูมิขั้นต้น และถ้าเพียรต่อไปจนกระทั่งหมดสิ้นซึ่งมานะ
มานะคือสำคัญตนหรือหลงตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ หรือว่า ยังมีความยึดว่านั่นเป็นเรา พอมันดับไปก็บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์เลย อันนี้เรียกว่าได้เข้าถึงสัจธรรม แต่ในขณะที่เรายังเข้าไม่ถึงสัจธรรมหรืออยู่ในระหว่างที่เข้าถึงสัจธรรม เราก็พยายามตั้งมั่นอยู่ในระดับจริยธรรมให้ดีที่สุด อาศัยจริยธรรมเป็นเครื่องหนุนให้เข้าถึงสัจธรรม ด้วยการทำความดีด้วยการฝึกฝนตน
แต่ก็ต้องระวังเมื่อทำความดีแล้ว อย่าไปหลงตนว่า กูเป็นคนดี คนที่ทำความดีหลายคนพอทำไป ๆ เกิดความหลงตนว่าเป็นคนดี แถมดีกว่าคนอื่นด้วย อันนี้เรียกว่าตัวกูมันใหญ่ขึ้น ทำความดีมากๆถ้าวางจิตวางใจไม่เป็น ตัวกูก็จะใหญ่ขึ้น มีอำนาจมากขึ้น แล้วก็สามารถที่จะทำสิ่งที่น่าเกลียด ก่อทุกข์ให้กับตนเองและผู้อื่นได้ อันนี้ก็ต้องระวัง ต้องรู้เท่าทันมัน
เมื่อเราตั้งมั่นในระดับจริยธรรมแล้ว การที่จะก้าวหน้าไปสู่การเข้าถึงสัจธรรม เข้าใจอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะเป็นไปได้อันนี้เป็นการบ้านที่เราต้องทำให้เกิดมีขึ้นในช่วงชีวิตนี้
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมวัตรเย็น วัดป่าสุคะโต วันที่ 29 กรกฎาคม 2564