แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การมาอยู่วัด ไม่ว่าในฐานะพระสงฆ์ แม่ชี หรือว่าโยม จะมีประโยชน์ได้นั้น ต้องทำอะไรมากไปกว่าการมาพักกายพักใจ
บางคนทำงานหนักมา ก็อยากจะใช้เวลาที่อยู่วัดมาพักทั้งกายทั้งใจ หรือบางคนก็อยากจะ มาสัมผัส เก็บเกี่ยวความสงบจากธรรมชาติ จากวิถีชีวิตที่ไม่เร่งรีบ มาใช้ชีวิตที่เรียบง่ายสมถะ พวกนี้ดีทั้งนั้น รวมทั้งบางท่านก็อยากจะมาศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก อ่านหนังสือธรรมะ เรียนพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจากหนังสือหลายเล่มที่เขาชมว่าดี อันนี้ก็ถือว่าดีทั้งนั้น แต่ก็อย่ามองข้ามการภาวนาหรือการทำกรรมฐาน
ถ้ามาวัดแล้วไม่ได้ทำอันนี้ ก็ถือว่าเสียโอกาสที่สำคัญมาก เพราะว่าอย่างอื่นที่พูดมา พักกายพักใจ สัมผัสกับความสงบ อ่านหนังสือธรรมะ ศึกษาพระไตรปิฎก เราสามารถที่จะทำที่อื่นก็ได้ แต่ว่าภาวนาหรือการฝึกจิตฝึกใจถ้าไม่ได้ทำที่นี่แล้ว มันก็ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้ทำที่อื่นหรือเปล่า เพราะอุตส่าห์มาถึงสำนักที่เรียกว่าสำนักกรรมฐานหรือสำนักปฏิบัติธรรม อยู่ท่ามกลางผู้คนที่เขาภาวนากัน เรียกว่ามีบรรยากาศ เหตุปัจจัยที่เอื้ออำนวยมากขนาดนี้แล้ว ยังไม่สนใจภาวนา ก็ถือว่าพลาดโอกาสที่สำคัญอย่างยิ่ง
แต่เมื่อจะมาทำภาวนาและทำกรรมฐานแล้ว หลายคนก็มาเพราะเหตุนี้ แต่พอจะทำก็นึกถึงเรื่องการบังคับจิตให้สงบ สมัยที่อาตมามาปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียนที่วัดสนามในใหม่ๆ ก็คิดแบบนี้ว่า การภาวนาจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องบังคับจิตให้มันสงบให้มันหยุด
ในการเจริญสติ ที่ปฏิบัติที่นี่ไม่ได้ทำอย่างนั้น มันไม่มีการบังคับ หรือว่าควบคุมจิต เพราะว่า จริงๆแล้ว จิตก็ไม่ยอมให้ถูกบังคับ ยิ่งไปบังคับ มันก็ยิ่งดื้อรั้นหรืออาจถึงขั้นพยศ ใหม่ๆอาจจะได้ผล เหมือนกับว่าจิตอยู่ในอำนาจของเรา บังคับให้หยุดฟุ้งก็ดูเหมือนว่าทำได้สำเร็จ แต่ว่าพอทำไปสักพัก ก็จะเครียด ก็จะล้า ก็จะเหนื่อย บางทีก็เกิดอาการทางกายขึ้นมา แน่นหน้าอก หรือว่าปวดหัว
หรือบางทีบางช่วง จิตมันฟุ้งกระเจิงเลย ความคิดไหลหลั่งพรั่งพรูออกมาสารพัด อย่างที่ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ โดยเฉพาะเวลานอน เป็นช่วงเวลาที่เรากำลังเคลิ้มๆ บางทีความคิดมันโผล่ออกมามากมายจนนอนไม่หลับจนกระทั่งขวัญกระเจิงไปเลย ที่นี่เราฝึกด้วยการแค่รู้เฉยๆ หลายคนอาจจะไม่เคยคิดว่ามีแบบนี้ด้วยหรือ แค่รู้เฉยๆ รู้อะไร รู้ความคิด และอารมณ์ที่มันเกิดขึ้น
มันจะคิดอะไรก็ไม่ไปควบคุมมัน จะมีอารมณ์อะไรเกิดขึ้นทั้งบวกหรือลบ ก็ไม่ไปกดข่มมัน แต่ว่าใหม่ๆหลายคนอดไม่ได้ที่จะไปห้ามความคิด เพราะว่ารู้สึกว่ามันฟุ้งเหลือเกิน มันคิดโน่นคิดนี่ไม่หยุดเลย บางคนอาจจะรู้สึกว่าตอนอยู่บ้านฟุ้งน้อยกว่าที่นี่เสียอีก ทำไมพอมาภาวนาที่นี่คิดฟุ้งเยอะเหลือเกิน
อันนี้ก็เพราะว่า ตอนที่ไปอยู่ที่บ้าน มันมีอะไรต่ออะไรหลายอย่างให้ทำ จิตก็ไปจดจ่อกับสิ่งที่ทำ ทำงานใจก็ไปจดจ่อกับงาน ฟังเพลงดูหนัง ใจก็ไปจดจ่ออยู่กับเพลงอยู่กับหนัง มันก็เลยดูเหมือนว่าไม่ฟุ้งซ่านอะไรเพราะว่ามีจุดสนใจให้จิตไปจับไปจดจ่อ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่จิตชอบอยู่แล้ว แต่พอไม่มีสิ่งเหล่านั้น ไม่มีเพลงให้ฟัง ไม่มีหนังให้ดู หรือว่าไม่มีงานให้ทำ
จิตก็เหมือนกับไม่มีงานทำ มันก็เคว้ง แล้วมันก็ไม่ชอบ มันก็ต้องหาเรื่องคิด เพราะว่าความคิดก็เหมือนเป็นอาหารของมัน ยิ่งไม่มีอะไรทำ มันก็ยิ่งคิดนั่นคิดนี่สารพัด ทั้งฝันกลางวัน คิดเรื่องที่เป็นลบเป็นร้าย มโนสารพัด พอฟุ้งแบบนี้เจ้าตัวไม่ชอบ ก็พยายามไปห้ามไปกดไปข่มมัน เพราะรู้สึกว่าไม่สงบเลย เพราะอยากสงบจึงมาที่นี่ จึงมาปฏิบัติ พอมันฟุ้งกระเจิดกระเจิงแบบนี้ถึงขั้นที่เรียกว่าคิดเรี่ยราด หลายคนทนไม่ได้ ก็เลยอดไม่ได้ที่จะไปบังคับ ไปห้ามมัน
ประสบการณ์ก็จะสอนเราว่า ทำอย่างนั้นไม่ได้ผล ห้ามมันเท่าไร มันก็ไม่ยอมอยู่ในอำนาจของเรา ดูเหมือนว่าห้ามสำเร็จ แต่พอเผลอ มันก็คิดอีก หรือบางครั้งห้ามเรื่องนี้ มันก็ไปคิดเรื่องนั้น พอไปห้ามเรื่องนั้น มันก็ไปคิดเรื่องอื่นต่อ มันหาทางเลี้ยวรถ นี่เฉพาะความคิด ยังไม่นับอารมณ์ซึ่งมักจะเกิดจากความคิด หรือมักจะตามมาพร้อมกับความคิด
คิดถึงคนที่เรารักก็เกิดความอาลัยอาวรณ์ เกิดความเป็นห่วง คิดถึงความผิดพลาดในอดีตก็เกิดความรู้สึกผิด คิดถึงความพลัดพรากสูญเสียในอดีตก็เกิดความเศร้าโศก เสียใจ คับแค้น หรือว่าคิดถึงคนที่ต่อว่าด่าทอเรา ก็เกิดความโกรธ เกิดความแค้นเคือง และบางครั้งอารมณ์ก็ออกมาโดยไม่รู้ว่ามาจากไหนเขาเรียกว่านิวรณ์ มันฟุ้งลอยมา พอเจออย่างนี้ทำอย่างไร แทนที่จะกดข่มมัน ครูบาอาจารย์ก็สอนว่าให้รู้ ให้เห็นมัน
ท่านสอนให้รู้ซื่อๆ รู้เฉยๆ ซึ่งที่จริงเป็นเรื่องง่ายเพราะว่าไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแค่รู้เฉยๆแค่เห็นเฉยๆ เหมือนกับเราดูรถที่วิ่งไปตามถนน แค่ดูเฉยๆ เราจะเหนื่อยอะไร แต่ว่าส่วนใหญ่หรือว่าแทบจะร้อยทั้งร้อย มันทนไม่ได้หรืออดไม่ได้ที่จะไปหยุดไปห้ามรถ ทำไมรถมันเยอะเหลือเกิน จะไปหยุดไปห้ามรถบนถนนแต่ก็ไม่สำเร็จ อันนี้อุปมาอุปไมยไปห้ามความคิด เพราะว่าความคิดสำหรับผู้ฝึกใหม่ มันทยอยมาเหมือนกับรถที่แล่นติดๆกันบนท้องถนน แทบจะไม่เว้นเลย คันนี้ไปคันนั้นมาอีกแล้ว
ขบวนรถหรือขบวนความคิด ในการเจริญสติ เราก็แค่ดูเฉยๆแค่รับรู้เฉยๆ ไม่ต้องไปทำอะไรกับขบวนความคิดหรือตัวความคิด ไม่ห้ามด้วย ขณะเดียวกันก็ไม่ได้โดยสารรถคันใดคันหนึ่ง พูดอีกอย่างหนึ่งไม่ได้ผลักไสแล้วก็ไม่ได้ไหลตามความคิด อารมณ์ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ใดก็ตาม ผลักไสก็ไม่ใช่ ไหลตามก็ไม่ถูก
ตอนที่ไม่ได้มาปฏิบัตินี้ก็ชอบปล่อยใจไหลไปตามความคิด เหมือนกับว่าเห็นรถมันเข้าท่า ก็กระโดดขึ้นรถไปเลย อันนี้ปล่อยให้ความคิดลากลู่ถูกังไป เรียกว่าไหลตามความคิดหรือไหลตามอารมณ์ แต่ก่อนเป็นอย่างนั้น แต่พอมาปฏิบัติก็เหวี่ยงไปอีกทางหนึ่ง ไม่ไหลตามแต่ผลักไส เห็นรถบนท้องถนนมันเยอะเหลือเกิน ขวักไขว่ จะไปห้ามมัน อันนี้ไม่ถูก ท่านสอนให้แค่ดู หรือรู้เฉยๆ อันนี้เรียกว่ารู้ซื่อๆ
แต่ว่าหลายคน รู้สึกทำไม่ได้ ทำไม่ได้เพราะอะไร เพราะความเคยชินที่สะสมมา คนเราส่วนใหญ่ก็คุ้นกับการไปควบคุม จัดการกับสิ่งต่างๆ อย่างคนที่เป็นแม่ครัวพ่อครัว ก็ต้องคุมไฟ คุมเครื่องปรุง หรือว่าคุมผักหรือเนื้อให้พอดี คนที่ขับรถก็คุมรถ เราใช้โทรศัพท์ก็พยายามควบคุมโทรศัพท์ให้มันอยู่ในอำนาจของเรา ชีวิตส่วนใหญ่ของเราไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัว หรือการทำงาน เรางวดอยู่กับการควบคุมจัดการสิ่งต่างๆ คนที่เป็นพ่อแม่ควบคุมลูกจัดการลูก
อาชีพส่วนใหญ่ของเราโดยเฉพาะการงานโดยส่วนใหญ่ไปควบคุมจัดการแม้จะเป็นสิ่งภายนอก แต่ว่านิสัยนี้ก็ติดมา พอมาภาวนาก็อดไม่ได้ที่จะควบคุมความคิด ควบคุมบังคับจิต ควบคุมอารมณ์ อารมณ์หลายอย่างที่ไม่ดี ก็ต้องไปกดข่มมัน แต่ว่าไม่ว่าทำอย่างไร มันก็ไม่สามารถที่จะเอาชนะมันได้ ยิ่งกด มันก็ยิ่งสู้ ยิ่งต้าน หรือมันอาจจะหลบ
อย่างเช่นความโกรธ พอเราไปกดข่มมัน มันก็หลบ แต่ว่าพอเผลอมันก็โผล่มา แล้วบางทีก็เกิดอาการเก็บกด เก็บมากๆมันก็อัดแน่น มันไม่ได้หายไปไหน เก็บสะสมไว้ พอมีอะไรมากระตุกกระตุ้นมันก็ปรี๊ดแตกเลย อาการปรี๊ดแตกเกิดจากอาการเก็บกด เพราะไปกดข่มอารมณ์พวกนี้เอาไว้ การควบคุมก็ดี การจัดการก็ดีรวมทั้งการกดข่ม ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่เราพยายามฝึกในเรื่องการปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่าการทำบุญการทำความดี เช่น การให้ทานการรักษาศีล จะทำได้ดีก็ต้องอาศัยการกดข่มไม่น้อยทีเดียว เช่น หักห้ามใจไม่ให้ความโกรธปะทุออกมา จนกระทั่งไปทำร้ายใคร หรือหักห้ามใจ ข่มใจไม่ให้เกิดราคะ หรือตัณหามากจนกระทั่งไปขโมยของ
ชีวิตของคนเรา การที่จะทำความดีในระดับทานหรือศีลก็ตาม มันก็ต้องอาศัยการข่มใจ อาศัยการห้ามใจโดยเฉพาะตัวโลภะและโทสะ เราจะให้ทานได้เราก็จะต้องข่มความตระหนี่เอาไว้หรือความเห็นแก่ตัว เราจะรักษาศีลให้ดีได้ ก็ต้องรู้จักข่มความโกรธความโลภ ไม่งั้นเราก็จะอดไม่ได้ที่จะไปพูดร้ายทำร้ายเบียดเบียนคนอื่น แม้กระทั่งการทำความดี เช่น เมตตากรุณาเอื้อเฟื้อ มันก็ต้องข่มความเห็นแก่ตัว
คนที่ใฝ่ดี เราก็ใช้วิธีการข่มใจ เพื่อที่เราจะสามารถให้ทานรักษาศีลได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แต่พอเราเอาวิธีนี้ไปใช้กับการภาวนา มันเกิดปัญหาได้เหมือนกัน จริงอยู่ทานศีลเป็นพื้นฐานของการภาวนา แต่พอเราก้าวจากทานศีลมาสู่ภาวนา วิธีบางอย่างที่เราใช้ในการบำเพ็ญทานรักษาศีล เราก็ต้องวาง จะเอามาใช้ในการภาวนาไม่ได้ โดยเฉพาะการข่มใจ ข่มความโกรธ ข่มความอยาก ข่มความเห็นแก่ตัว
เวลาภาวนาเจริญสติ เราต้องเรียนรู้ที่จะเปิดใจรับทุกอารมณ์ที่มาปรากฏ จะเป็นความโกรธ ความเกลียด ความท้อ ความแค้น ความโลภ ความอิจฉา ก็เปิดรับ เพียงแค่ดูหรือรู้เฉยๆ อันนี้เพื่ออะไร เพื่อที่ใจเราจะได้มีสติรู้ทันอารมณ์เหล่านี้ เราอาศัยอารมณ์เหล่านี้มาเป็นเครื่องฝึกจิตให้มีสติ รู้ทันได้ว่องไว แล้วที่จริงก็เป็นวิธีการที่จะรักษาใจไม่ให้อารมณ์เหล่านั้นเข้ามาครอบงำ
อารมณ์เหล่านี้เราจะไปบังคับด้วยการกดข่มอย่างไร มันก็ไม่สำเร็จ แต่อารมณ์พวกนี้มีจุดอ่อน กลัวการถูกรู้ถูกเห็น ถ้าเราเห็นด้วยสติเมื่อไร หรือรู้ทันด้วยสติ มันก็เรียกว่ามือไม้อ่อนเปลี้ยไปเลย หรือว่าหมดพิษสงเลย เพราะในตอนนั้น จิตเกิดความรู้ตัว อารมณ์พวกนี้อยู่ได้เพราะความหลง เพราะความลืมตัว เพราะขาดสติ พอมีสติปุ๊บ มันก็ไม่มีอำนาจ ในทางตรงข้าม ถ้าไปกดข่มมัน มันก็เหมือนไปต่ออายุให้มัน ไปเติมเชื้อเติมฟืนให้มัน
อันนี้เป็นวิธีที่พวกเราส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคย โดยเฉพาะคนที่ถนัดการให้ทานรักษาศีล อย่างที่บอกก็ใช้วิธีการข่มอารมณ์ที่เป็นอกุศล ใช้วิธีหักห้ามใจ ไม่ให้พูดหรือทำตามความโกรธ และยิ่งกว่านั้น วิธีเหล่านั้น เวลาให้ทานรักษาศีล เราจะเน้นเรื่องการทำความดี เราจะต้องรู้จักแยกแยะว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรดีอะไรชั่ว การที่บำเพ็ญทาน รักษาศีล ทำให้เรายึดมั่นในความดีในสิ่งที่ถูก อะไรที่ไม่ดีก็ไม่ทำ อะไรที่ไม่ถูกก็หลีกเลี่ยง
แต่ว่าพอเวลามาภาวนา โดยเฉพาะการเจริญสติ มันไม่มีการตัดสินว่าอะไรผิดอะไรถูก อารมณ์ ความคิดใดๆเกิดขึ้นก็แล้วแต่ เปิดรับ ไม่ปิดกั้น ไม่ใช่ว่าความคิดนี้ดีเก็บเอาไว้ อันนี้ไม่ดีผลักไสออกไป อารมณ์นี้ดี เอามา อารมณ์ที่ไม่ดี ออกไป แต่การเจริญสตินั้นไม่ได้เป็นการเอาผิดเอาถูก หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า มันไม่มีการตัดสินว่าอารมณ์ไหนดีไม่ดี ปฏิบัติต่อทุกอารมณ์เสมอกันคือแค่ดูเฉยๆ รู้เฉยๆ
อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านว่า คิดดีก็ชั่ง คิดไม่ดีก็ชั่ง ก็แค่รู้มันไม่มีการผลักไสมัน และถ้าทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ มันก็จะทำให้เห็นธรรมชาติของอารมณ์เหล่านี้ว่า มันไม่เที่ยง แล้วก็ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ทุกอารมณ์ล้วนเป็นธรรมะ หรือเป็นธรรมที่แสดงสัจธรรมให้เราเห็น ถ้าเราเฝ้าดูมันอย่างต่อเนื่องด้วยสติ ต่อไปก็จะเกิดปัญญา แต่ก่อนจะถึงตรงนั้น ก็ฝึกแค่การรู้เฉยๆเอาไว้ก่อน
ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่า ความคุ้นเคยของเรา การใช้ชีวิตทางโลกของเราอาศัยการบังคับ การควบคุม การจัดการ แล้วเราก็เอาสิ่งนี้มาใช้กับอารมณ์ มีการกดข่ม มีการผลักไส และยิ่งมาสนใจธรรมะ มาปฏิบัติธรรม การบำเพ็ญทาน รักษาศีลก็ทำให้เราเคร่งครัดเข้มงวดในเรื่องของความดี มีการแยกผิดแยกถูก จนกระทั่งมีการยึดติดในความผิดความถูก ความดีความชั่ว
แล้วพอมาภาวนาเจออารมณ์ที่ไม่ดี ความโกรธ ความเกลียด ความอิจฉา แล้วบางคนรู้สึกว่าฉันเป็นคนดี มีอารมณ์แบบนี้ได้อย่างไร ไม่ได้นะ อย่าปล่อยให้มีความโกรธ ความโกรธเกิดขึ้นไม่ได้ จะปล่อยให้ความอิจฉาเกิดขึ้นในใจไม่ได้ ต้องจัดการกับมัน นี่เพราะว่าเราไปเอาถูกเอาผิดกับอารมณ์เหล่านี้ ซึ่งในขั้นของการให้ทานรักษาศีล อันนี้มันดีอยู่ แต่พอมาภาวนาโดยเฉพาะการเจริญสติ การทำวิปัสสนาแล้ว มันต้องใช้อีกวิธีหนึ่ง มันต้องก้าวไปสู่อีกระดับหนึ่ง
ก็เหมือนกับเวลาเราเรียนประถม มัธยม เราก็อาจใช้วิธีท่องจำอย่างเดียวก็เอาตัวรอดได้ หรือว่าสามารถจะเรียนได้ดีด้วยซ้ำ ท่องจำเก่งมันก็ได้คะแนนดี ได้เกรดสูง แต่พอมาเรียนมหาวิทยาลัย ท่องจำอย่างเดียวไม่พอแล้วมันต้องรู้จักคิด รู้จักใช้เหตุใช้ผล รู้จักใช้ความคิด รู้จักใช้วิจารณญาณ รู้จักวิเคราะห์แยกแยะ พูดง่ายๆคือคิดเป็น จะท่องอย่างเดียวไม่ได้ ขืนใช้วิธีท่องจำอย่างเดียวก็ไปไม่รอดในการเรียนระดับมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะในเมืองนอก แต่ถ้าในไทยก็อาจจะยังใช้การท่องจำได้อยู่
ทาน ศีล ภาวนาก็เหมือนกัน อาศัยวิธีการข่ม การหักห้ามใจ มันก็ทำให้บำเพ็ญทาน รักษาศีลได้ รวมทั้งการยึดมั่นในสิ่งถูก พยายามปฏิเสธสิ่งผิด อะไรดีก็ทำ อะไรไม่ดีก็หลีกเลี่ยง ห่างไกล ความยึดติดในถูกผิด ดีชั่ว พอมาใช้กับการภาวนามันก็กลายเป็นอุปสรรคได้ เพราะว่ากดข่มผลักไสอารมณ์บางอย่าง แม้กระทั่งความฟุ้งซ่านก็กดข่มมัน แล้วสุดท้ายก็เกิดความเครียด ความท้อ เพราะว่าไม่สามารถที่จะเอาชนะมันได้
เพราะฉะนั้น เวลาเรามาเจริญภาวนา โดยเฉพาะการเจริญสติปัฏฐาน สิ่งที่เราคุ้นเคยมา บางทีก็ต้องวางแล้วกลับมาเริ่มต้น เรียนรู้ที่จะแค่รู้ซื่อๆแค่รู้เฉยๆ ดูโดยไม่ตัดสิน ดูโดยที่ไม่ไปกดข่มอะไรมัน ใหม่ๆก็ยากเพราะว่ามันจะเอาแต่เล่นงานความโกรธ ความเบื่อ ความหงุดหงิด ความเซ็ง เพราะพวกนี้มันดูเหมือนมารบกวนจิตใจ แต่ยิ่งทำก็ยิ่งเหมือนต่ออายุให้กับมันหรือเพิ่มกำลังให้มัน
ต้องกลับมาเรียนรู้ที่จะรู้ซื่อๆ ซึ่งที่จริงแล้วมันง่ายกว่ากับการที่ไปทำอะไรกับอารมณ์นั้น เหมือนกับที่ยกตัวอย่าง ดูรถมันวิ่งบนถนนมันสบายกว่าการไปทำอะไรกับรถคันนั้น ไม่ว่าจะเป็นการไปห้ามรถให้หยุด หรือว่าโดยสารไปกับรถเหล่านั้นหรือวิ่งไล่ตามรถเหล่านั้น ห้ามให้มันหยุดหรือวิ่งไล่ตาม มันก็เหนื่อยทั้งคู่ เราไปทำอย่างนั้นกับความคิดและอารมณ์ มันก็เหนื่อยและท้อ แต่ถ้าเราแค่รู้เฉยๆดูเฉยๆ มันก็ไม่เหนื่อยอะไร
แต่ว่าเราทำไม่เป็น เพราะอะไร เพราะลึกๆเราอยากหรือปรารถนาความสงบ พอเราปรารถนาความสงบก็อดไม่ได้ที่จะไปเล่นงานอารมณ์เหล่านี้ เพราะฉะนั้น บางทีก็ต้องรู้จักวางความอยากสงบลงด้วย รู้ทันความอยากชนิดนี้ให้ได้ แล้วไม่ปล่อยให้มันมาครองใจ เราจะได้เห็นมันเฉยๆ แล้วการภาวนาก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายๆ สบายๆ เพราะถ้าไปบังคับกดข่ม มันเหนื่อย แต่แค่เรารู้ซื่อๆ มันไม่เหนื่อยหรอก
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมวัตรเย็น วัดป่าสุคะโต วันที่ 28 กรกฎาคม 2564