แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อวานก็ได้พูดไปแล้วว่าพวกเราโชคดีอย่างหนึ่งก็คือว่าเรามีอาหารกิน เราไม่ค่อยตระหนักหรือสำนึกว่า อันนี้เป็นโชคอย่างหนึ่งของเรา แต่ถ้าเรามองไปให้รอบๆ เราก็จะพบว่ามันเป็นโชคจริงๆเพราะว่ามีคนมากมายที่ไม่มีอาหารจะกิน อย่างตอนนี้หลายคนหลายชุมชน เขาก็ไม่สามารถที่จะไปทำมาหาเงินได้ ต้องเก็บตัวหรือว่าต้องกักตัว ไม่รู้ว่าจะหาอาหารจากไหน ก็ต้องอาศัยคนที่มีจิตศรัทธาช่วยกันระดมหาอาหารมาเผื่อแผ่แบ่งปัน
แต่ที่จริง ก่อนที่จะมีโควิด มันก็มีคนที่เดือดร้อน หิวโหย ขาดอาหารมากอยู่แล้ว และถึงแม้ว่าจะมีคนเผื่อแผ่อาหารแบ่งปันมาให้ ก็ไม่มีสิทธิ์เลือกว่าจะกินอะไร ไม่กินอะไร แต่อย่างพวกเรายังมีสิทธิ์เลือก บางคนบ่นว่าอาหารไม่ถูกปาก ไม่อร่อย มีแต่ผักไม่มีเนื้อ ที่จริงมันมี แต่น้อย การตักอาหาร การกินอาหาร กลายเป็นทุกข์ไป เพราะว่าไม่ได้มองว่า นี่เราโชคดี ที่เรายังมีอาหารกิน และก็เลือกได้ว่าจะตักอะไร ไม่ตักอะไรเพราะอาหารมีเยอะ
ที่จริงอาหารที่นี่ คุณภาพนี้ถือว่าดีเลย ปริมาณก็พอสมควร ไม่ขาด ถ้ามองอย่างนี้เราจะรู้สึกว่าเราโชคดี และในขณะเดียวกันเมื่อตระหนักเช่นนี้ สิ่งหนึ่งที่เราควรทำก็คือตักอาหารให้พอดีด้วย อาหารบางอย่างที่เราชอบ อยากฉันอยากกินเยอะๆ ก็ตักเย่อะตักหลายอย่างด้วย แต่พอถึงเวลาฉันเวลากิน ก็ฉันไม่หมดกินไม่หมด เพราะว่าตอนตัก ตักด้วยความอยาก อาหารก็เลยเหลือ ก็ต้องทิ้ง
เดี๋ยวนี้เรากินทิ้งกินขว้างกันเยอะ เพราะว่าเราไม่เห็นคุณค่าของอาหารมากเท่าไร คนสมัยก่อนสอนลูกสอนหลาน กินอาหารไม่ให้เหลือแม้แต่ข้าวเม็ดเดียว เพราะเขารู้ดีว่า ข้าวแต่ละเม็ดแต่ละจานหามาด้วยความยากลำบาก หรือได้มาด้วยความลำบาก เพราะว่าต้องปลูกเอง หรือว่าต้องสีข้าวเอง ข้าวแต่ละเม็ดที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรง มันทำให้คนรู้ว่าแต่ละเม็ดมีค่ามาก
และยิ่งนึกถึงคนอื่นว่าเขาไม่มีจะกิน การที่ตักเยอะๆแล้วกินทิ้งกินขว้างมากมาย ก็ถือว่าไม่ถูกต้อง จะเรียกว่าไม่มีศีลธรรม หรือว่าขาดจริยธรรมก็ได้ อย่างที่พระพุทธเจ้าสอนว่าให้รู้จักประมาณในการบริโภค ก็รวมไปถึงการตักแต่พอดีด้วย เมื่อตักแล้วก็ควรฉันให้หมดกินให้หมด อย่าให้เหลือ ถ้าเหลือ วันหน้าก็ตักให้น้อยลง ให้พอดีๆอย่าให้เหลือ เพราะว่าถ้าเหลือแล้ว ไม่ใช่เป็นเรื่องที่สูญเปล่าอย่างเดียว มันยังก่อภาระสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมด้วย มันกลายเป็นขยะ พอกลายเป็นขยะแล้วก็เกิดโทษต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
เดี๋ยวนี้เป็นปัญหามากและเป็นปัญหาทั่วทั้งโลก ในขณะที่มีคนหิวโหยเป็นพันๆล้านคน ปรากฏว่า การทิ้งอาหารให้สูญเปล่า เขาพบว่า มันมีจำนวนเป็นมหาศาลมาก มากกว่าที่เคยคิดเอาไว้ อย่างเช่น ราวอาทิตย์ที่แล้ว เพิ่งเปิดเผยรายงานการศึกษาว่า ทั่วทั้งโลกทิ้งอาหารให้สูญเปล่า จำนวนมากทีเดียว 2,500 ล้านตัน ถ้าคิดเป็นกิโลก็เอา 1,000 คูณเข้าไป มหาศาลมากเลยทีเดียว นี่คือจำนวนอาหารที่ทิ้งไปเลย
แล้วครึ่งหนึ่ง เป็นการทิ้งหรือเป็นความสูญเปล่า ในร้าน ในห้าง และก็ในบ้านเรือน คือ ห้างรับอาหารมาขาย จะเป็นผัก เป็นขนมปัง เป็นเนื้อ ทั้งอาหารสดหรืออาหารปรุง เสร็จแล้วขายไม่หมดก็ทิ้ง ส่วนผู้คนทั่วไป ไปซื้อของมาจากห้าง จากร้าน ซื้อมาเยอะๆ มาตุนไว้ใส่ตู้เย็น ปรุงไม่หมดก็ทิ้ง ที่ปรุงเป็นอาหารก็เยอะ กินไม่หมดก็ทิ้ง จำนวนนี้ก็เกือบพันล้านตัน มหาศาลมาก
ก็ประมาณว่าอาหารที่ผลิตกันทั้งโลก 40% ไม่ได้กิน กินแค่ 60% อีก 40 เปอร์เซ็นต์ทิ้ง ทิ้งก็กลายเป็นขยะ แล้วก็ก่อปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งทำให้โลกร้อนมากขึ้น ที่จริงไม่ใช่แค่ขยะที่ทำให้เกิดโลกร้อนมากขึ้น ตอนผลิต ไม่ว่าจะเป็นตอนผลิตในไร่นา เป็นผัก ผลไม้ ธัญพืชหรือว่าเนื้อสัตว์ มันก็ก่อปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว สร้างปัญหาผลิตก๊าซเรือนกระจก ทำให้โลกร้อนขึ้น
แต่ถ้ากินให้หมด หรือว่าแบ่งปันไปให้คนที่หิวโหย มันก็ยังพอว่า แต่นี่คนหิวโหยคนยากจนก็เข้าไม่ถึงอาหารที่ผลิตกันมากๆแบบนี้ มิหนำซ้ำของที่ผลิตได้ก็ทิ้ง เกิดปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม เป็นขยะ สร้างมลพิษน้ำเน่า อากาศเสีย นี่ยังไม่นับบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในการบรรจุอาหาร เช่น พลาสติก ก็ทิ้ง อันนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก ทั้งที่ผลิตอาหารมาเยอะ แต่ก็ทิ้งเป็นจำนวนมาก
ในขณะที่มีคนเกือบพันล้านคนไม่มีจะกิน หิวโหย ในแอฟริกาหรือว่าในทุกประเทศ ที่เมืองไทยก็ไม่น้อย เขาหิวโหย ถ้าเอาอาหารพวกนี้ไปแบ่งปันคนเหล่านี้ก็จะดีมาก ช่วยลดความทุกข์ยากได้ แต่นี่ผลิตเยอะมหาศาลแต่ว่าทิ้งไปมากมาย โดยที่คนที่ควรจะได้กินไม่ได้กิน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราควรจะรับรู้ไว้ มันเป็นปัญหาระดับโลก แต่อย่างน้อยเราแต่ละคนช่วยบรรเทาได้ อย่างที่ว่า เวลาปรุงอาหาร ก็ปรุงให้พอดีกับความต้องการ หรือเวลาตักอาหารก็ตักให้พอดี จะได้ไม่เหลือทิ้งเหลือขว้าง
และถ้าหากว่ามีการเอาอาหารที่เหลือ จากการขายหรือขายไม่ได้ หรือขายไม่ออก หรือว่าจากการบริโภคเอาไปแบ่งปันคนยากคนจนก็ช่วยเหลือความเดือดร้อนความทุกข์ยากได้ ซึ่งมันถูกต้องทางศีลธรรม และสิ่งแวดล้อม อันนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เราควรจะรับรู้ไว้ เราจะได้รู้ว่าอาหารที่เรากิน มันมีความสำคัญอย่างไร มันมีคุณค่าอย่างไร
ถึงแม้ว่าเราจะช่วยคนที่เดือดร้อนไม่ได้มาก แต่อย่างน้อยเราก็ช่วยลดภาระให้กับสิ่งแวดล้อมได้ด้วยการกินอาหารให้นอกจากพอเพียงต่อความต้องการแล้ว ก็ไม่กินแบบทิ้งๆขว้างๆ และถ้ามีทางที่จะกระจายจ่ายแจกอาหารเหล่านี้ให้กับคนที่เดือดร้อนก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ อันนี้เป็นเรื่องที่เราต้องคิดกัน เรียกว่าในระดับประเทศลงมาจนถึงระดับบุคคล
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมก่อนฉันเช้า วัดป่าสุคะโต วันที่ 28 กรกฎาคม 2564