แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันแรกของการเข้าพรรษากำลังจะสิ้นสุดลง หลายคนโดยเฉพาะพระที่บวชใหม่จะรู้สึกว่า นี่แค่วันแรก เวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้าอย่างนี้ แล้วจะต้องทนอยู่อีก 90 วันกว่าจะออกพรรษา จะไหวหรือ ถ้าหากว่าคอยแต่จะนับวันที่จะออกพรรษาก็เชื่อได้เลยว่าจะเป็นทุกข์มาก
ก็เหมือนกับที่คอยให้แต่ละวันๆผ่านไปรวดเร็ว การครุ่นคิดแบบนั้น การอยู่วัด การจำพรรษาก็จะเต็มไปด้วยความทุกข์ความอึดอัด เพราะว่ายิ่งเราคอยนับวันเท่าไหร่ หรือว่าให้ถึงวันออกพรรษาเร็วๆเพื่อจะได้สึกขาลาเพศ ไปใช้ชีวิตที่คุ้นเคยที่ชอบ มันก็จะยิ่งทุกข์มากเพราะว่าจะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า บางทีมันก็เหมือนกับว่าโลกมันเล่นตลก ยิ่งอยากให้อะไรถึงไวๆ เรากลับจะรู้สึกว่ายิ่งถึงช้า
ไม่ใช่แค่วันออกพรรษา หรือว่าเวลาที่เรารอคอยเท่านั้น ระยะทางก็เหมือนกัน จุดหมายที่เป็นระยะทาง เวลาเราเดินทาง แล้วอยากให้ถึงจุดหมายไวๆเพราะจะได้เที่ยว หรือจะทำอะไรก็แล้วแต่ เรากลับรู้สึกว่าถึงช้า ยิ่งอยากให้ถึงไวๆ ความรู้สึก ว่ามันถึงช้า แต่ในทางตรงข้ามถ้าเราไม่นึกถึงอะไรเลย จะถึงเมื่อไหร่ก็ช่าง มันกลับถึงเร็ว
เพราะฉะนั้น สำหรับคนที่อยากจะจำพรรษามีความสุข มีความสงบเย็น ราบรื่น อย่างแรกที่ควรทำก็คือว่า ลืม หรือไม่ต้องนึกถึงวันออกพรรษา อย่าไปนับวันเลย แต่ให้ใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน ไม่ว่าทำอะไรอยู่ ให้ใจอยู่กับสิ่งนั้น จะเป็นการทำวัตรสวดมนต์ การบิณฑบาต การฉันอาหาร รวมทั้งเวลาภาวนา เวลาเจริญสติ เวลาเดินจงกรม ขณะที่เดินจงกรม ขณะที่ภาวนาอยู่ อาจจะตั้งใจว่าจะภาวนา 1 ชั่วโมง ก็ให้อยู่กับการปฏิบัติแต่ละขณะๆไป
อย่าไปคิดอย่าไปนึกถึงว่าเมื่อไหร่จะครบชั่วโมงสักที ถ้าคิดแบบนั้น การภาวนาจะรู้สึกอึดอัด น่าทรมานมาก แล้วก็จะเป็นไปอย่างเชื่องช้า บางคนตั้งนาฬิกาไว้หรือจุดธูปไว้ ธูปหมดดอกเมื่อไหร่ก็จะได้เลิก ผลที่เกิดขึ้นคือขณะที่เดินจงกรมก็ตั้งตาดูแต่ธูปนั่นแหละว่าเมื่อไหร่จะหมดสักที แล้วก็จะรู้สึกว่ามันช้าเหลือเกิน แทนที่ใจจะอยู่กับการเดิน กายเคลื่อนไหว ใจคิดนึก มันก็ไปสนใจอยู่ที่ธูปนั่นแหละ ไปคอยเร่งให้มันหมดดอก จะได้เลิกปฏิบัติ การคิดอย่างนั้นการทำอย่างนั้น มีแต่ทำให้การภาวนาเป็นเรื่องที่ทุกข์ทรมาน
ในทางตรงข้าม ถ้าหากว่าใจเราอยู่กับการปฏิบัติ ไม่สนใจธูป ไม่สนใจนาฬิกาไม่สนใจเวลา ถึงแม้ว่าจะเผลอแวบไปคิดก็ดึงกลับมาอยู่กับการเดิน กับการยกมือสร้างจังหวะ หรือว่าอยู่กับการทำกิจนั้นๆ สักพักเราจะรู้สึกว่าหมดเวลาเสียแล้ว เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วเมื่อใจเราอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับสิ่งที่กำลังทำ วันและวันผ่านไปอย่างรวดเร็วถ้าหากว่าใจเราอยู่กับสิ่งที่กำลังทำในแต่ละขณะๆ ในแต่ละนาทีแต่ละชั่วโมง โดยที่ไม่ไปพะวงว่าเมื่อไรจะหมดวันสักที หรือไม่คอยเร่งเร้าให้เวลาผ่านไปเร็วๆ
เวลา จะเป็นศัตรูกับคนที่คอยเร่ง แต่ว่าจะเป็นมิตรกับคนที่ไม่ได้สนใจ ไม่ได้คอยที่จะเร่ง การอยู่กับปัจจุบันเป็นศิลปะสำคัญเลยที่ช่วยทำให้ผ่านความทุกข์ยาก ผ่านความลำบากไปได้ ไม่ว่าจะทุกข์ยากหรือลำบากเรื่องอะไรก็ตาม จะเป็นความลำบากทางกายหรือทางใจก็ตาม รวมทั้งเวลาทำงานด้วย เวลาทำงานที่ยากใช้เวลานานกว่าจะเสร็จ ถ้าทำแต่ละนาทีแต่ละชั่วโมง ถ้าคอยแต่นึกถึงว่าเมื่อไหร่จะเสร็จสักที อีกตั้งหลายวันอีกตั้งหลายเดือน คิดแค่นี้ก็ห่อเหี่ยวแล้ว
แต่พอเราไม่สนใจว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ เราจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ เราก็จะพบว่าเวลาผ่านไปเร็ว เร็วขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าพอจดจ่ออยู่กับสิ่งที่กำลังทำ มันก็เพลิน พอเพลินแล้วก็ลืม หรือไม่สนใจเวลา แต่เราจะไม่มีทางเพลินได้หากว่าใจพะวงว่าเมื่อไหร่จะเสร็จๆ
มีฝรั่งคนหนึ่งเป็นนักปีนเขา เขาที่สูงที่สุดในทวีป ผ่านมาหมดแล้ว รวมทั้งยอดเขาสูงที่สุดในโลก เอเวอร์เรส แกพบว่า เคล็ดลับของการปีนเขาก็คือ ให้ลืมหรือว่าอย่าไปสนใจยอดเขาที่ต้องการพิชิต แต่ว่าให้ใจอยู่กับผืนดินที่ใต้ฝ่าเท้า แล้วก็ก้าวไปทีละก้าว ๆ ถ้าเดินไปทีละก้าวๆ ไม่หยุด แล้วก็ถูกทาง มันถึงจุดหมายแน่ ไม่ว่าจะเป็นยอดเขาสูงแค่ไหน จะใช้เวลาเป็นเดือนหรือกี่เดือนก็ตาม นี่เป็นเคล็ดลับที่ดูง่ายมาก มันทำให้การปีนเขาที่เป็นเรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่ายไปเลย เพราะว่าไม่ต้องทำอะไรนอกเหนือจากการให้ใจมาอยู่กับปัจจุบันเท่านั้น อันนี้ไม่ใช่เป็นคำพูดของเขา
แต่สิ่งที่เขาทำก็เป็นความหมายแบบนี้คือ ให้สนใจแต่สิ่งที่กำลังทำคือใต้ฝ่าเท้าที่กำลังเดิน และเดินไปทีละก้าวๆ เขาพบว่า พอทำอย่างนี้ มันไม่พะวง มันไม่เกิดความวิตกกังวล ในทางตรงข้าม ถ้าเกิดว่าไปจดจ่อที่ยอดเขาที่ต้องการพิชิต มันจะรู้สึกเกิดความหนักอกหนักใจ ความห่อเหี่่ยวหรือบางทีเกิดความท้อห่อ เพราะว่าไหนจะอยู่ไกล ไหนจะต้องผ่านความ ยากลำบาก ต้องเจอกับอันตรายมากมาย เจอหุบเจอเหวสารพัด ทั้งที่ยังอยู่อีกไกล แค่นึกก็ท้อแล้ว
แต่ในทางตรงข้าม พอเอาใจมาอยู่ในสิ่งที่กำลังก้าวเดิน กำลังเหยียบย่ำอยู่ มันรู้สึกผ่อนคลาย มีแต่ว่าทำปัจจุบันให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้น เวลาเดินธรรมยาตราที่จัดทุกปีๆ จนกระทั่งไม่ได้จัดเมื่อปีที่แล้วรวมถึงปีนี้ด้วย เคล็ดลับในการเดินแต่ละวันๆ ก็คือ แม้จุดหมายจะอยู่ไกล ก็ให้ใจอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับเท้าแต่ละก้าว ที่กำลังเดิน บางทีก็บอกคนเดินว่า จุดหมายอยู่ที่ปลายเท้า ไม่ได้อยู่ที่ข้างหน้า แค่ให้ละเท้ามันก้าว เท้าแต่ละก้าวมันขยับๆไปเรื่อยๆ เดี๋ยวถึงเอง เดินไปแป๊บ อ้าวถึงจุดหมายแล้ว พอเดินต่ออีกหน่อยถึงจุดเพล เริ่มเดินต่อไปอีกหน่อยถึงจุดที่พักแล้ว ทั้งที่กว่าจะพัก 50 นาทีหรือบางที 1 ชั่วโมง แต่หลายคนรู้สึกว่าระยะทางมันหดสั้นลง ถึงจุดที่พักหรือจุดหมายแต่ละวันมันเร็ว
ระยะทางไม่ได้หดสั้นเลย แต่ว่าใจ ไปอยู่กับแต่ละก้าวที่เดิน ใจไม่ได้สนใจจุดหมาย ไม่สนใจเวล่ำเวลา เพราะฉะนั้นถ้าเราฝึกที่จะอยู่กับแต่ละวันด้วยใจที่อยู่กับปัจจุบัน วันแต่ละวันก็จะผ่านไปเร็ว และมันก็จะทำให้เราได้เรียนรู้ในการที่จะผ่านอุปสรรคต่างๆไปได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์
หลายคนวิตกกังวลว่าเมื่อไหร่โควิดจะยุติเสียที เมื่อไหร่มันจะสงบสักที ถ้าไปคิด รอหรือเฝ้า จดจ่อนึกถึงวันนั้น ก็จะรู้สึกว่าเวลาแต่ละวันผ่านไปอย่างเชื่องช้า แต่ถ้าเรากลับมาอยู่กับปัจจุบันทำให้ดีที่สุดในโดยเฉพาะในแต่ละชั่วโมงๆ เราจะพบว่าในที่สุดก็ถึงวันที่ทุกอย่างกลับดีขึ้นกว่าเดิม วันที่ covid สงบ บรรเทา มันจะมาถึงเร็วกว่าที่คิด เพราะใจของเราไม่ได้ไปพะวงถึงวันนั้น แต่ว่าเรามาอยู่กับปัจจุบัน
เพราะฉะนั้น เราใช้ช่วงเวลาของเข้าพรรษา ฝึกใจให้อยู่กับปัจจุบัน อยู่กับแต่ละวัน และรับรองเลยว่า ถ้าทำอย่างนี้ไม่ถึงอาทิตย์ก็จะรู้สึกว่า เวลาผ่านไปเร็ว แล้วถ้าทำต่อไปเรื่อยๆ ปุ๊บเดียวก็ออกพรรษาแล้ว ส่วนหนึ่งนอกจากการที่เราให้ใจอยู่กับปัจจุบันแล้ว จิตของเราก็เริ่มปรับตัวได้ มันเริ่มคุ้นเคยกับวิถีชีวิต คุ้นเคยกับตารางชีวิตของแต่ละวัน ตอนอยู่ในเมืองเวลาผ่านไปเร็วเพราะว่ามีอะไรทำเย่อะแยะไปหมดเลย แต่ที่นี่เวลามันดูเหมือนผ่านไปช้าเพราะว่า ไม่มีอะไรทำมาก หรือว่ามันต้องใช้เวลาอยู่กับตัวเอง แทนที่จะเพลิดเพลินกับสิ่งเร้า ที่ทำให้เราลืมเวล่ำเวลา
การอยู่กับตัวเอง อยู่กับสังคม ชุมชนที่ไม่ได้มีสิ่งเร้า ไม่เร่งรีบอะไรมาก ที่ดูเหมือนว่าไม่ค่อยถูกอกถูกใจเท่าไร แต่พออยู่ไปนานๆเริ่มคุ้นเคย พอเราเริ่มคุ้นเคยอะไรก็ตาม คุ้นเคยกับสถานที่ คุ้นเคยกับจังหวะชีวิต เราก็จะเริ่มรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วขึ้นๆ เรื่อยๆ และยิ่งได้มาอาศัยสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ มันช่วยกล่อมเกลาใจให้สงบด้วย พอใจสงบแล้วความวิตกกังวลก็จะค่อยๆลดลง ธรรมชาติช่วยมาก รวมทั้งวิถีชีวิตอย่างที่นี่ มันสามารถช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้สงบเย็นลงได้
มีบางคนมาอยู่วัดไม่ได้คิดที่จะภาวนาเลยด้วยซ้ำ อย่างมีคนหนึ่งหนีหนี้มาแบบไม่ได้ตั้งใจหนีหนี้ แต่ว่ามีเหตุจำเป็น ที่เกิดจากความผิดพลาดบางประการ ทำให้หนีเจ้าหนี้มาตั้งหลัก โดยมีคนพามาที่นี่ วันแรกๆเขาอยู่ด้วยความทุกข์ทรมานเพราะว่าชีวิตก็ลำบาก ไม่คุ้นเคย ห่างไกลจากความสะดวกสบาย ที่สำคัญคือห่างไกลลูก ทุกวันก็ร้องไห้นึกถึงลูก เขาเป็นเป็นผู้ชาย
แต่พออยู่ไปๆเริ่มคุ้นเคย ก็กลับมีความสุข มีความเพลิดเพลินกับการใช้ชีวิตในแต่ละวัน แล้วตอนหลังก็เกิดความศรัทธาอยากบวชอยากภาวนา การอยู่ที่เคยรู้สึกทุกข์ทรมานเหมือนตกนรกในแต่ละวันก็เปลี่ยนไป เกิดความรู้สึกเพลิดเพลิน เกิดความรู้สึกยินดี เพราะว่าอะไร เพราะว่าใจได้สัมผัสกับความสงบ เป็นความสงบที่เกิดจากธรรมชาติ ทั้งที่ทีแรกรู้สึกว่าเหงาว้าเหว่รู้สึกวังเวง ตอนหลังกลายเป็นวิเวก
ธรรมชาติเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อเราตั้งใจที่จะภาวนา ลำพังความตั้งใจที่จะปฏิบัติธรรม มันก็ดี แต่ว่ายังไม่พอที่จะทำให้การปฏิบัติก้าวหน้าได้ จนกว่าจะได้สิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูล แม้แต่พระพุทธเจ้าตอนที่พระองค์ออกจากปราสาทเพื่อมาบำเพ็ญภาวนา ทั้งที่มีจิตใจมุ่งมั่น แสวงหาหนทางออกจากทุกข์ แต่พระองค์ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องของสถานที่เหมือนกัน ตอนที่พระองค์เสด็จมาถึงตำบลอุรุเวลา ก็เกิดประทับใจในสถานที่
พระองค์ตรัสกับสาวกในภายหลัง ว่าพอมาเห็นสถานที่ตรงนั้น พระองค์ก็รำพึงอยู่ในใจว่า สถานที่นี้เป็นที่รมณีย์หนอ มีไพรสณฑ์ร่มรื่นน่าชื่นบาน อีกทั้งมีแม่น้ำไหลผ่าน น้ำใส ชื่นใจ ชายฝั่งท่าน้ำก็ราบเรียบ มีโคจรคามอยู่โดยรอบ โคจรคามคือที่บิณฑบาต เป็นที่รมณีย์จริงหนอ สถานที่นี้เหมาะกับการบำเพ็ญภาวนา แล้วพระองค์ก็ตัดสินใจประทับที่ตรงนั้นแหละใต้ต้นโพธิ์ ด้วยความปลงใจว่าสถานที่นี้แหละที่เราจะทำความเพียร แล้วสุดท้ายพระองค์ก็สำเร็จบรรลุพระสัมโพธิญาณ
ขณะที่สถานที่ตรงนั้นเมื่อ 2600 ปี คงจะสงบสงัดรมณีย์มากดังที่พระองค์ตรัสถึง ใครไปเห็นในเวลานี้ก็จะนึกภาพไม่ออกเพราะว่าแม่น้ำเนรัญชราก็ตื้น ธรรมชาติก็เปลี่ยนไปมาก แต่สมัยนั้นคงเป็นสถานที่สงบสงัด เป็นรมณีย์มาก พระพุทธเจ้าเห็นก็ตัดสินใจเลยว่า ตรงนี้แหละเหมาะ เพราะว่าการทำความเพียร สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะธรรมชาติสงบสงัดนี้ช่วยได้มาก
แต่เวลาพูดถึงสิ่งแวดล้อม มันไม่ได้แค่สิ่งแวดล้อมทางกายภาพหรือธรรมชาติเท่านั้น สิ่งแวดล้อมทางสังคมคือชุมชนผู้คนก็สำคัญเหมือนกัน มีคราวหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปเยี่ยมพระสาวก 3 ท่าน ซึ่งพร้อมใจกันไปทำความเพียรในป่าแห่งหนึ่ง ก็มีพระ พระอนุรุทธะ พระนันทิยะ พระกิมพิละ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปถึง พระองค์ก็ซักถาม 3 ท่าน คำถามของพระองค์ก็น่าสนใจ
ทีแรกพระองค์ก็ถามว่า พออยู่ได้ไหม บิณฑบาตไม่ลำบากหรือ หลังจากนั้นพระองค์ก็ถามต่อไปว่า ถ้าพวกท่านยังพร้อมเพียงกัน ยังชื่นชมกัน ยังไม่วิวาทกัน เข้ากันได้เหมือนน้ำกับน้ำนม มองกันด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมไปด้วยความรักอยู่หรือเปล่า หลังจากนั้นพระองค์ก็ถามต่อไปว่า พวกท่านยังไม่ประมาท ยังทำความเพียร อุทิศกายและใจอยู่หรือเปล่า จนไปถึงคำถามที่ 4 ว่า ได้บรรลุคุณวิเศษอะไรบ้าง
ลำดับคำถามของพระองค์น่าสนใจ ทีแรกพระองค์ก็ถามเรื่องความเป็นอยู่ก่อน ทั้งเสนาสนะ ทั้งการขบฉันคือการบิณฑบาต พอได้คำตอบว่าไม่ลำบาก พระองค์ก็ถามถึงเรื่องของความสัมพันธ์ว่าเป็นอย่างไร พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกันอยู่หรือเปล่า เพราะว่าอะไร เพราะว่าความพร้อมเพียงกัน หรือความสัมพันธ์ที่ราบรื่น มันก็ส่งเสริมการปฏิบัติด้วย และคำตอบของพระอนุรุทธะก็น่าสนใจ พระอนุรุทธะตอบว่า แม้กายของข้าพระองค์จะต่างกัน แต่ว่าจิตใจดูเหมือนเป็นอันเดียวกัน แล้วท่านก็ยังตอบต่อไปอีกว่าเมื่อมาอยู่ที่นี่ ข้าพระองค์ได้เก็บจิตของตัวเองไว้ แล้วก็ปฏิบัติตามจิตของหมู่คณะ
พอตอบเช่นนี้ พระพุทธเจ้าจึงถามว่า มีความเพียร มีความไม่ประมาท อุทิศทั้งกายและใจไหม อันนี้เป็นคำถามเรื่องที่ภายในแล้วเรื่องความตั้งใจ ส่วนเรื่องของผลของการปฏิบัติเอาไว้ทีหลัง เป็นคำถามสุดท้าย เพราะฉะนั้น ถ้าเราพิจารณาจากคำถามของพระองค์เป็นลำดับไป ก็จะเห็นเลยว่า การภาวนา ทีแรกก็ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ ภายนอก เช่น เสนาสนะ ข้าวปลาอาหารหรือบิณฑบาต แต่ว่าที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันก็คือความสัมพันธ์เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ถ้ามีตรงนี้แล้วมีความเพียร มีความไม่ประมาท ก็จะส่งผลให้การปฏิบัติเจริญก้าวหน้าได้
คนเราจะเจริญงอกงามในการภาวนาได้ ลำพังความตั้งใจอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีปัจจัยหนุนเสริม ตั้งแต่เรื่องของการปัจจัย 4 ไปจนถึงเรื่องความสัมพันธ์ที่ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน การภาวนาของเราก็เหมือนกัน ในเรื่องของข้าวปลาอาหาร ในเรื่องของเสนาสนะก็ถือว่าไม่ลำบาก อาหารก็ถือว่าดีเลยทีเดียวโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเมื่อก่อนหรือว่าเทียบกับวัดอื่นก็ตามในละแวกนี้ รวมทั้งได้อยู่ในที่ที่เป็นรมณีย์มีธรรมชาติที่สงบสงัด
แต่สิ่งที่จะช่วยให้การภาวนาหรือการปฏิบัติก้าวหน้าได้ประการต่อมาก็คือ ความสัมพันธ์ที่ราบรื่น ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันความพร้อมเพียง ชื่นชมกัน อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งมันจะเกิดขึ้นได้ อยู่ที่ความร่วมมือของพวกเรา ถ้าพวกเราช่วยกันทำให้ความสัมพันธ์ในชุมชนแห่งนี้ มันเป็นไปด้วยดี มันก็จะหนุนเสริมให้การปฏิบัติของเราเป็นไปก้าวหน้า เราจะรออาศัยสิ่งแวดล้อมที่ดีแล้วมาช่วยทำให้เราปฏิบัติดี ไม่พอ เราต้องสร้างสิ่งแวดล้อมให้ดีด้วย โดยเฉพาะเรื่องของความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ความพร้อมเพียงกัน
เพราะฉะนั้นถ้าเราพยายาม อย่างน้อยมีความอดทนอดกลั้น อะไรมากระทบรู้จักให้อภัย รู้จักให้กำลังใจ สนับสนุนกัน อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัส ให้ชื่นชมกัน แทนที่จะนึกค่อนแคะตำหนิกัน มีคำพูดว่า เวลาอยู่คนเดียวให้ระวังความคิด อยู่กับมิตรให้ระวังวาจา พวกเราคงจะเห็นได้ชัด เวลาอยู่กับตัวเอง ความคิดมันเล่นงานเราเหลือเกินถ้าไม่มีสติ ถ้าไม่รู้ทันความคิด มันจะเอาเราแย่ไปเลย หลายคนทนความคิดไม่ไหว มันมารบกวนมากก็เลยต้องไปคลุกคลีกับเพื่อน พอไปคลุกคลีกับเพื่อนก็เกิดปัญหา เพราะพูดจาไม่ถูกหูกัน ก็อยู่กันไม่ได้ พออยู่กันไม่ได้ จะอยู่กลับตัวเองก็อยู่ไม่ได้เพราะความคิดเล่นงาน ก็กลายเป็นว่าอยู่วัดด้วยความทุกข์ทรมาน
แต่ถ้าขณะที่เราภาวนาเรารู้ทันความคิด เราระวังความคิด ถึงเวลาไปเกี่ยวข้องกับหมู่มิตรเราก็ระวังวาจา มันก็ช่วยทำให้ ความเป็นอยู่ในวัดมันราบรื่น ส่งผลเกื้อกูลต่อการปฏิบัติ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องช่วยกัน นอกจากช่วยกันรักษาธรรมชาติแวดล้อมในวัดให้มีความสงบสงัดในป่า ไม่ตัดต้นไม้ เราก็ต้องช่วยกันทำให้ความสัมพันธ์ในหมู่พวกเรา พวกเราในที่นี้ไม่ใช่หมายถึงพระอย่างเดียว แม่ชีญาติโยมเป็นไปด้วยดี โดยเฉพาะการรู้จักระมัดระวังวาจา เราอาจจะเก็บจิตของเราไม่ได้
อย่างที่พระอนุรุทธะ ท่านบอกว่าเก็บจิตของตัวเอง แล้วก็ปฏิบัติตามจิตของผู้อื่นของหมู่คณะ เราอาจจะทำอย่างนั้นยาก แต่เก็บจิตของเรา เก็บวาจาของตัวเราเข้าไว้ ไม่พูดไม่คุยยังจะดีกว่าเพราะว่าพูดไปแล้วอาจจะทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน แต่แม้ว่ามีวาจากระทบ ก็รู้จักอดทนอดกลั้นเอาไว้ ความอดทนอดกลั้นเราต้องใช้มากใช้เยอะเลยในพรรษานี้ เพราะว่าเราต้องอยู่กับหลายคนหลายชีวิต มันก็จะมีอะไรมากระทบอยู่เรื่อย แต่ถ้าเรารู้จักอดทนอดกลั้น เรื่องเล็กน้อยก็จะไม่กลายเป็นเรื่องใหญ่ แล้วก็จะเป็นการฝึกด้วย
มีความไม่พอใจเกิดขึ้นก็เอามาเป็นแบบฝึกหัดในการรู้เท่าทัน เห็นความหงุดหงิดเกิดขึ้น เห็นความไม่พอใจเกิดขึ้น ก็มีสติรู้ทัน รู้แล้ววางๆ อย่างนี้ได้ประโยชน์ แต่ถ้าเราไม่รู้ทัน ปล่อยให้ความคิดความหงุดหงิด อารมณ์มาเล่นงาน อย่างนี้เราก็แย่ แล้วการอยู่วัดก็กลายเป็นเรื่องของความทุกข์ทรมาน สุดท้ายก็ระบายความทุกข์ใส่คนอื่นก็เกิดปัญหาตามมา หลายวัดหลายแห่ง พอจำพรรษากันมากๆ มักจะมีเรื่องกระทบกระทั่งกัน
แต่วัดเราที่ผ่านมาส่วนใหญ่ก็ไปได้ด้วยดี ทั้งนี้เพราะว่าเราช่วยกันทั้งในเรื่องของการปฏิบัติส่วนตน และการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่ว่าจะด้วยวาจาคำพูดหรือการกระทำ แล้วสุดท้ายก็ส่งผลกลับมาที่เรา ทำให้การปฏิบัติของเราเจริญงอกงาม คุ้มค่ากับการมาจำพรรษาที่นี่
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมวัตรเย็น วัดป่าสุคะโต วันที่ 25 กรกฎาคม 2564