แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้เป็นวันสำคัญวันหนึ่งสำหรับชาวพุทธ ตามธรรมเนียมถ้าบ้านเมืองเป็นปกติ วันอาสาฬหบูชา ชาวพุทธก็จะมาทำบุญใส่บาตร ถวายสังฆทาน ตอนค่ำก็มีเวียนเทียน เพราะว่าวันนี้ เป็นวันที่ชวนให้เราระลึกถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนาทีเดียว เหตุการณ์นั้นคือเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนา ศาสนาในที่นี้หมายถึงคำสอน คือทรงแสดงธรรมเป็นครั้งแรกที่เรียกว่าปฐมเทศนา
ก่อนหน้านั้นพระองค์ก็ทรงเห็นแจ้งในสัจธรรมแล้ว จนกระทั่งพ้นทุกข์ด้วยพระองค์เอง แต่ก็ไม่ได้สอนหรือแสดงธรรมให้กับใครเลย จนกระทั่งได้พบปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พระองค์ทรงแสดงธรรมเป็นครั้งแรก แล้วก็เกิดพระสงฆ์ตามมา เริ่มจากพระโกณฑัญญะ ทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ 3 พระธรรม และพระสงฆ์ ส่งผลให้พระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นระบบคำสอน ประกอบไปด้วยผู้ที่เห็นแจ้งในธรรมเกิดขึ้นและขับเคลื่อน พระพุทธศาสนาจึงได้แพร่หลายกระจายออกไป จนมาถึงเราทุกวันนี้ ถ้าไม่มีเหตุการณ์วันนั้นก็ไม่มีพระพุทธศาสนา ซึ่งก็หมายความว่าเราอาจจะไม่มีที่พึ่งอันประเสริฐ
เมื่อถึงวันอาสาฬหบูชา เวียนมาบรรจบอีกครั้ง นอกจากการถือว่าเป็นวันมหามงคลที่ชาวพุทธเรานิยมมาทำบุญเข้าวัดฟังธรรม สิ่งสำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้คือ การใคร่ครวญพิจารณาศึกษาถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงประกาศในวันนั้น ชาวพุทธส่วนใหญ่ไปให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ครั้งนั้น แต่ว่าไม่ได้สนใจที่จะศึกษาคำสอนหรือพระธรรมเทศนาซึ่งเป็นหัวใจแกนกลางของเหตุการณ์นั้น เหตุการณ์ครั้งนั้นจะไม่มีความหมายเลยหากพระพุทธเจ้าไม่ได้แสดงธรรมที่เรียกว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เพราะมีการแสดงธรรมจึงมีผู้รู้ธรรม มีพระสงฆ์เกิดขึ้น
นอกจากมาทำบุญตามประเพณีแล้ว ก็ควรจะใช้โอกาสนี้ใคร่ครวญศึกษาพระธรรมที่ทรงแสดงธรรมในวันนั้นด้วย ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะว่าธรรมะที่เรารู้จักหรือว่าได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นอริยสัจ 4 ก็ดี หรือว่าทางสายกลางก็ดี ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกก็ในปฐมเทศนานี่แหละ ถ้าจะพูดถึงความหมายหรือคุณค่าของปฐมเทศนาแล้ว พูดง่ายๆคือหนทางสู่ความพ้นทุกข์ มนุษย์ทุกคนรวมทั้งชาวพุทธก็อยากห่างไกลจากความทุกข์ ไม่อยากให้ความทุกข์เกิดกับตน ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บป่วย ความพลัดพราก ความสูญเสีย หรือว่าความผิดหวังที่ไม่ได้อย่างที่ต้องการ
แต่ก็มีชาวพุทธจำนวนไม่น้อย ก็หวังว่าถ้าได้อาศัยอำนาจดลบันดาลของพระพุทธเจ้า หรือว่าพระอรหันต์สาวกทั้งหลาย ก็จะช่วยทำให้ทุกข์ภัยไม่เกิด อันตรายไม่ปรากฏ หรือว่าจะเกิดโชคเกิดลาภขึ้นมา อาศัยอำนาจดลบันดาลด้วยการวิงวอนร้องขอ ควบคู่ไปกับการทำบุญ การอธิษฐานทำบุญ อาจจะรวมไปถึงการสร้างโบสถ์สร้างวิหาร เพื่ออาศัยอำนาจของบุญที่เกิดจากการบูชาสักการะอุปถัมภ์ บูชาสักการะพระพุทธเจ้า หรืออุปถัมภ์พระพุทธศาสนา
ซึ่งที่จริงแล้ว อันนั้นไม่ได้เป็นหนทางของการดับทุกข์ หรือเข้าถึงความสุขอย่างแท้จริง จะทำบุญมากมาย บริจาคเงินเป็นล้านเป็นสิบล้าน ก็ไม่สามารถที่จะทำให้เราพ้นทุกข์ได้ ถ้าหากว่าเราไม่รู้จักการปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ ซึ่งจะปฏิบัติได้ก็ต้องเริ่มจากการศึกษาว่า พระองค์ได้สอนอะไร ก็ไม่ต้องไปศึกษาจากที่ไหน ก็ศึกษาจากธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เพราะนี่คือหนทางแห่งการดับทุกข์อย่างแท้จริง
และไม่ใช่หนทางที่พระพุทธเจ้าทรงคิดขึ้นมา แต่ว่าเป็นหนทางที่มีอยู่จริงตามธรรมชาติ หรือว่ากฎธรรมชาติ และเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงค้นพบด้วยพระองค์เอง ค้นพบในที่นี้รวมถึงการปฏิบัติด้วยพระองค์เองด้วย ทางที่พาไปสู่ความดับทุกข์คือทางสายกลาง พระองค์ก็ค้นพบจากการที่ได้ลองผิดลองถูกทางสุดโต่ง 2 ทาง พระองค์ก็ลองมาแล้ว กามสุขัลลิกานุโยค พระองค์ก็ผ่านมาแล้วสมัยที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ อัตตกิลมถานุโยค การทรมานตนให้ลำบาก พระองค์ก็ได้ผ่านมาแล้ว เรียกว่าทุ่มเทอย่างเอาชีวิตเข้าแลก แต่ว่าก็ไม่ประสบผลเลย
สุดท้ายพระองค์ก็พบว่าทางสายกลางนี้แหละ ก็คืออริยมรรคมีองค์ 8 เป็นทางที่จะนำไปสู่การพ้นทุกข์อย่างแท้จริง และเมื่อพระองค์นำไปถ่ายทอดให้กับปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์ก็พ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง เป็นประจักษ์พยานว่า หนทางที่พระพุทธเจ้าทรงนำมาแสดงนั้นพ้นทุกข์ได้
เพราะฉะนั้น พวกเราชาวพุทธที่ปรารถนาอยากจะพ้นทุกข์ อยากให้ทุกข์ไม่บังเกิดขึ้นกับจิตใจของตน อยากจะพบความสุขที่แท้จริง ก็ต้องศึกษาจากคำสอนนี้แหล่ะ เพราะว่าเป็นหนทางที่ปฏิบัติได้จริงและได้ผลจริง อันนี้เป็นหัวใจของวันอาสาฬหบูชาที่ไม่ใช่แค่มาทำบุญหรือรักษาศีล ซึ่งก็ดีอยู่ แต่ว่าก็ต้องกลับมาใคร่ครวญศึกษาคำสอนของพระองค์ แล้วนำมาปฏิบัติกับตัวเองจริงๆ ซึ่งก็ต้องใช้เวลาใช้ความเพียรมากกว่าเพียงแค่มาทำบุญ เพียงแค่มาเวียนเทียน หรือว่ารักษาศีลเฉพาะวันอาสาฬหบูชาเท่านั้น
ฉะนั้นเราชาวพุทธ ก็ต้องมีความเชื่อมั่นในหนทางที่ว่า เมื่อรักจะเป็นชาวพุทธ แต่ชาวพุทธจำนวนมาก แม้ว่าปรารถนาความพ้นทุกข์ แต่ก็แค่เป็นความปรารถนา พอปฏิบัติจริงหรือใช้ชีวิต ก็ไม่ได้เอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติเลย ผลก็คือพัดหลงไปสู่ทางสุดโต่ง กามสุขัลลิกานุโยค ปรนเปรอด้วยกามสุข เห็นเงินเป็นสรณะ กามสุขเป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิต ก็เลยตักตวงสะสมทรัพย์สินเงินทอง มุ่งหาสิ่งเสพปรนเปรอทางตาหูจมูกลิ้นกาย อันนี้เรียกว่าไปสู่ทางสุดโต่ง กามสุขัลลิกานุโยค
แล้วพอเจอความทุกข์ ความเศร้า ความผิดหวัง ก็หลงจมเข้าไปอยู่ในความทุกข์ แล้วก็ทรมานตน ซ้ำเติมตน เพราะอำนาจของความทุกข์ บางคนผิดหวังกินเหล้าเมามายแล้วก็ซ้ำเติมตัวเองให้ตกต่ำย่ำแย่ ชีวิตแบบนั้นเขาเรียกว่าอัตตกิลมถานุโยค เราปรารถนาความพ้นทุกข์ ไม่อยากให้ทุกข์เกิดขึ้น แต่ว่าไม่ได้เอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ แล้วจะพ้นทุกข์ได้อย่างไร
สำหรับคนที่ต้องการที่จะพ้นทุกข์อย่างแท้จริง และก็เห็นว่าคำสอนของพระพุทธเจ้า เชื่อมั่นว่าจะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ ก็เห็นคุณค่าของการปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์์ 8 ซึ่งถ้าจะพูดแบบสรุปรวมๆ หนทางแห่งการพ้นทุกข์จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะการรู้จักตัวเอง ถ้าไม่รู้จักตัวเอง ก็ไม่มีทางที่จะเข้าถึงการพ้นทุกข์ได้เลย
ที่พูดอย่างนี้เพราะว่ามีเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่า ถ้าไม่รู้จักตัวเองแล้ว ก็มีแต่จะถลำเข้าไปในความทุกข์ แต่จะออกจากทุกข์ได้ก็ต้องรู้จักตนเอง พรรษาแรกที่เกิดขึ้น หลังจากที่พระองค์แสดงปฐมเทศนา เราก็ทราบดีแล้วว่า ทีแรกก็มีปัญจวัคคีย์ซึ่งทุกท่านล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ขีณาสพกับพระพุทธเจ้า จำพรรษาด้วยกัน
ภายหลังก็มีพระอีกรูปหนึ่งตามมาชื่อพระยสะ ซึ่งท่านก็ได้เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน เดิมท่านเป็นชายหนุ่ม เป็นมานพที่ใช้ชีวิตปรนเปรอด้วยกามสุข เพราะว่าพ่อแม่ร่ำรวย คล้ายเจ้าชายสิทธัตถะ ก็คือร่ำรวยด้วยทรัพย์สินเงินทอง มีปราสาท 3 ฤดู ล้วนแล้วแต่อำนวยกามสุขยังพรั่งพร้อม ได้ดูบริวารซึ่งล้วนแต่เป็นหญิงสาวมาฟ้อนรำขับกล่อม ก็คงปรนเปรอความสุขตนอย่างนี้มาตลอด
แต่ว่าวันหนึ่งก็เกิดเบื่อขึ้นมา ฟัง และดูนางบำเรอร้องรำทำเพลงและเต้นรำ แต่ว่ายสะไม่มีความสุขเลย เบื่อ จนกระทั่งหลับไป พอตื่นขึ้นมากลางดึก ปรากฏว่า นางละครฟ้อนรำก็หลับตรงนั้น นอนก่ายกัน เรียกว่าไม่งดงาม ตามตำนานว่าสภาพเหมือนกับป่าช้าผีดิบ แต่ละคนนอนก่ายกัน บ้างก็น้ำลายไหล ยสกุลบุตรเกิดความเบื่อหน่ายมาก คงไม่ใช่เบื่อจากภาพที่เห็น แต่ว่าคงเบื่อมานานแล้ว เต็มอิ่มกับกามสุข แต่ก็ไม่ใช่คำตอบ ยิ่งเสพยิ่งเบื่อหน่าย รู้สึกเคว้งคว้างขึ้นมา ก็เลยเดินออกจากปราสาทไปอย่างไร้จุดหมาย
บังเอิญไปในทิศทางของป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ยสะเดินด้วยความสับสน เคว้งคว้าง พูดขึ้นมาตลอดทางว่า ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ แสดงถึงภาวะอารมณ์ที่ไม่มีความสุข สับสน เคว้งคว้าง เบื่อหน่าย ทั้งที่ได้เสพกามสุขมาเต็มที่ จนกระทั่งไปถึงที่ประทับของพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ยินเข้าก็็ตรัสขึ้นมาว่า ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง ยสกุลบุตรได้ฟังก็สงสัยประหลาดใจ แล้วก็หยุดมาสนทนากับพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม พูดถึงอานิสงส์ของทาน ศีล สวรรค์ เมื่อบำเพ็ญทาน เมื่อรักษาศีลก็ได้เข้าสู่สวรรค์หรือว่ามีความสุขความสบายเหมือนกับได้อยู่สวรรค์ แต่สวรรค์ก็เต็มไปด้วยกามสุข พระพุทธเจ้าพูดถึงโทษของกามสุข และพูดถึง อานิสงส์ของการออกจากกาม เรียกว่าเนกขัมมสุข ยสกุลบุตรฟังแล้ว จิตใจก็สงบ และก็เกิดปัญญา ในใจก็คงพบว่านี่คือคำตอบแล้ว ใช่แล้ว จิตใจโปร่งโล่ง พอได้ฟังอริยสัจ 4 ในเวลาต่อมา ก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน
ยสกุลบุตรไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร เดิมคิดว่ากามสุขเป็นสิ่งที่ตัวเองปรารถนา เป็นความสุขที่ชั้นเลิศแต่พอได้เสพเข้าไป ก็พบว่ามันไม่ใช่ รู้ว่ากามสุขไม่ใช่คำตอบ แต่ไม่รู้ว่าแล้วตัวเองต้องการอะไร จนกระทั่งได้มาพบพระพุทธเจ้า แล้วสุดท้ายก็พบคำตอบ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของคนที่ถ้าไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร แม้จะถูกปรนเปรอด้วยกามสุข แทนที่จะมีความสุขแต่กลับเต็มไปด้วยทุกข์ อาการของยสกุลบุตรเต็มไปด้วยทุุกข์ เดินเหม่อลอยออกมา ก็น่าสงสัยว่าถ้าไม่พบพระพุทธเจ้า ไม่พบคำตอบของชีวิตจะลงเอยอย่างไร
มีเหตุการณ์คล้ายๆกัน ดูเหมือนจะตรงข้ามกับอย่างแรก หลังจำพรรษาแรกพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังตำบลอุรุเวลา เพื่อไปหาชฎิล 3 พี่น้อง บ่ายวันหนึ่งพระองค์ก็ทรงประทับอยู่โคนไม้ในไร่ฝ้าย จู่ๆก็มีชายหนุ่ม 30 คน เดินผ่านมาท่าทางกำลังตามล่าใครบางคน ดูมีอาการร้อนรน เรื่องของเรื่องก็คือว่า ชายหนุ่ม 30 คนนี้ไปชวนหญิงสาวมาสนุกสนาน มีคนหนึ่งชวนนางคณิกามาร่วมคณะด้วย
นางคณิกานี้พอเห็นว่าหนุ่ม 30 คนเผลอ ก็หยิบเอาเครื่องประดับของชายหนุ่มทั้ง 30 คน เป็นของมีค่า เป็นเพชรนิลจินดาก็เอามาพอสมควร เจ้าของพอรู้เข้าก็ตามหา ผ่านมาที่ไร่ฝ้าย พบพระพุทธเจ้า ก็ถามพระพุทธเจ้าว่าเห็นหญิงสาวคนหนึ่งเดินผ่านแถวนี้ไหม พระพุทธเจ้าก็เลยถามว่าทำไมหรือ เขาก็อธิบายว่าตามหาหญิงสาวเพราะอะไร พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าระหว่างการแสวงหาหญิงสาวกับแสวงหาตัวเอง อะไรประเสริฐกว่ากัน
ได้ฟังอย่างนี้ ชายหนุ่มทั้ง 30 คนก็สะดุดเลย ไม่เคยมีใครถามแบบนี้ มีด้วยหรือการแสวงหาตัวเอง มีแต่แสวงหาทรัพย์ แสวงหาเงินทอง แสวงหาชื่อเสียง มีการแสวงหาตัวเองด้วยหรือ เกิดความสนใจขึ้นมา ก็เลยฟังธรรมแล้วก็สนทนากับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนคล้ายๆกับที่สอนพระยสะ พูดถึงอานิสงส์ของการให้ทาน ศีล ว่าเมื่อให้ทาน รักษาศีลแล้ว ก็จะพรั่งพร้อมไปด้วยความสุขเสมือนได้อยู่สวรรค์ แต่ในขณะเดียวกันกามสุขนี้ก็เป็นสุขที่เจือไปด้วยโทษ มันไม่ใช่สุขที่แท้จริง
พระพุทธเจ้าก็ตรัสถึงเนกขัมมสุข เป็นสุขที่ออกจากกาม แล้วก็แสดงธรรมอริยสัจ 4 ภัทวัคคีย์ทั้ง 30 คนก็บรรลุธรรมเรื่องราวของภัทวัคคีย์ก็คล้ายๆกับยสกุลบุตร ทั้งๆที่ทีแรก อาจจะดูเหมือนต่างกัน คนหนึ่งเดินห่างจากกามสุข อีกคนหนึ่งตามหาหญิงสาวเพราะว่าเขาเอาทรัพย์สินเงินทองไป ก็เหมือนกับว่าตามหาทรัพย์ที่หายไป ดูเหมือนต่างกัน คนหนึ่งเดินห่างเพราะรู้ว่านั่นไม่ใช่คำตอบ ส่วนอีกคนหนึ่งแสวงหาทรัพย์ที่ถูกขโมยไปเพราะคิดว่ามันคือสิ่งที่มีค่า แต่ว่าสิ่งที่เหมือนกันก็คือ ไม่รู้จักตัวเอง
ไม่รู้จักตัวเอง ความหมายก็คือ ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร หรือว่าสิ่งที่ตัวเองต้องการนั้นมันจะให้ความสุขอย่างแท้จริงหรือไม่ และยสกุลบุตรชัดเจนเลยว่า กามสุขนั้นไม่ใช่ แต่ก็ไม่รู้ว่า อะไรที่มันใช่ จนกระทั่งได้มาพบธรรมจากพระพุทธเจ้าส่วนภัทวัคคีย์ดูเหมือนรู้ว่าต้องการอะไร ทรัพย์หายไปก็ตามล่าหาทรัพย์ แต่ที่จริงแล้วเป็นเพราะความหลงนั่นแหละเพราะไม่รู้ว่า จริงๆแล้วทรัพย์นั้น สุดท้ายก็นำมาซึ่งความทุกข์
จนกระทั่งได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า จึงเข้าใจว่า สิ่งที่ชีวิตต้องการนั้นไม่ใช่กามสุข แต่มีสุขที่ประเสริฐกว่านั้น ซึ่งเรียกง่ายๆว่าเนกขัมมสุข คือสุขที่ออกจากกาม กามทำให้เกิดความตื่นเต้นเร้าใจ แต่ว่ามันตามมาด้วยความทุกข์ ส่วนเนกขัมมสุข มันนำมาซึ่งความสงบในจิตใจ และเป็นสะพานนำไปสู่การพ้นทุกข์ ดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง
การรู้จักตัวเอง ในแง่หนึ่งรู้ว่าสุขอะไรที่ประเสริฐ ที่ดีต่อจิตใจของตัว เมื่อเราไม่รู้จักตัวเอง เราก็ไปคิดว่า ทรัพย์สินเงินทองหรือกามสุข มันจะเป็นสรณะของชีวิตได้ ตราบใดที่ยังแสวงหาความสุขจากกามสุข ก็เรียกได้ว่ายังไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรอย่างแท้จริง คนเราอย่าว่าแต่การเห็นธรรมหรือความสงบว่า เป็นความสุขอันประเสริฐเลย แม้กระทั่งความต้องการพื้นๆว่าความสุขอย่างไหนที่ตัวเองชอบ แม้จะเป็นความสุขทางโลกแท้ๆก็ยังไม่รู้เลย
เคยมีบริการของ netflix ซึ่งเป็นบริการทางออนไลน์ที่จัดหาหนังให้คนดูทางอินเทอร์เน็ตดูได้ทั้งวันทั้งคืน เขาเคยมีการสอบถามสมาชิกว่าชอบหนังประเภทไหน สมาชิกจำนวนมากก็บอกว่าชอบหนังประเภทนั้นประเภทนี้ เขาก็จัดหาให้ เวลามีหนังประเภทนี้เข้ามา ก็มาบอกสมาชิก แต่ปรากฏว่าสมาชิกไม่เปิดดูเลย
netflix ก็เลยเปลี่ยนวิธีใหม่ ก็ลองใช้อัลกอริทึม คอยดูว่าจริงๆ แล้ว สมาชิกชอบดูหนังประเภทไหน แล้วก็จัดหาหนังประเภทเดียวกับที่สมาชิกชอบดู เอามานำเสนอ ปรากฏว่าพอทำอย่างนั้นได้ผล สมาชิกก็ดูหนังที่ netflix เสนอ ทั้งๆที่ไม่ใช่เป็นหนังที่เจ้าตัวบอกว่าชอบ แต่ว่าเอาเข้าจริงกลับดูหนังประเภทนั้น
อันนี้ชี้ให้เห็นว่า netflix รู้ความต้องการของสมาชิกดีกว่าเจ้าตัว เจ้าตัวบอกว่าชอบหนังประเภทนี้แต่ไม่ดู แต่ netflix ร็ว่าสมาชิกชอบดูหนังประเภทไหนจากพฤติกรรมการดู แล้วก็เอาหนังคล้ายๆกันหรือประเภทเดียวกัน มานำเสนอให้สมาชิก ก็ได้ผล ขนาดต้องการดูหนังประเภทไหน คนจำนวนมากยังไม่รู้เลย ตัวบอกว่าชอบแบบนี้แต่ใจไม่ได้ชอบ แล้วก็ไปดูหนังแบบอื่น
ยิ่งความสุขที่ประณีตด้วยแล้ว ยิ่งไม่รู้เข้าไปใหญ่ คนเราไปคิดว่ากามสุขเป็นสิ่งที่เป็นพึงปรารถนา แต่พอได้เสพได้รับการปรนเปรออย่างเต็มมที่ มันกลับไม่ใช่ อย่างยสกุลบุตรเป็นตัวอย่าง แต่คนจำนวนมากเป็นเพราะไม่รู้ จึงพุ่งไปหาความสุขประเภทนี้ สุดท้ายก็ถลำ จนกระทั่งเข้าไปสู่ในวังวนของกามสุขัลลิกานุโยค อันนี้เรียกว่า ไม่มีทางได้พบกับความสุข หรือออกจากความทุกข์ได้เลย เพราะว่าไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร นอกจากไม่รู้ว่าความสุขไหนที่ประเสริฐ ความสุขไหนที่ดีต่อใจ
ความทุกข์ก็เหมือนกัน มีความทุกข์แล้ว เกิดขึ้นกับใจของตัวก็ยังไม่รู้ การรู้จักตัวเอง รวมไปถึงว่า เมื่อมีความทุกข์ก็รู้ทัน มีความโกรธก็รู้ว่าโกรธ เวลาเครียดก็รู้ว่าเครียด เวลาท้อแท้สิ้นหวังเหงาเบื่อหน่ายก็รู้ แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ในยามที่มีทุกข์เกิดขึ้น เพราะถ้ารู้แล้วมันไม่โถมเข้าไปในทุกข์เหล่านั้น ถ้าเห็นทุกข์ ก็ไม่เข้าไปเป็นทุกข์ แต่เพราะไม่รู้ไม่เห็น จึงโถมเข้าไปในความทุกข์ เสร็จแล้วก็หลงวนอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าอัตตกิลมาถานุโยค ซึ่งไม่ได้หมายถึงการทรมานตนด้วยการอดอาหาร ด้วยการนอนบนตะปู ด้วยการยืนขาเดียวอย่างฤาษีชีไพรในอินเดียเท่านั้น
เวลามีทุกข์ก็จมอยู่ในทุกข์ซ้ำเติมตัวเอง ด้วยอารมณ์ต่างๆ จมดิ่งอยู่ในความทุกข์ ถอนจิตออกจากความทุกข์ไม่พ้น และยังซ้ำเติมตัวเองอีก พอทุกข์ก็ไปกินเหล้าไปเสพยา ก็ยิ่งทำให้จมดิ่งไปในความทุกข์ ถลำลึกหนักไปเรื่อยๆ อันนี้ก็เรียกว่าอัตตกิลมาถานุโยคเหมือนกัน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้ว่าทุกข์เกิดขึ้นกับใจของตัว การที่ไม่รู้ว่าทุกข์เกิดขึ้นกับใจ อันนี้ก็เรียกว่าไม่รู้จักตัวเอง
เพราะถ้ารู้จักตัวเอง มันจะรวมถึงการที่ความเป็นไปของใจ ยิ่งกว่านั้นไม่รู้ว่าเหตุแห่งทุกข์คืออะไร ความท้อแท้ ความเศร้า ความโกรธ ความเครียด มันถาโถมเล่นงานจิตใจ แต่ก็ไม่รู้มันว่าเกิดจากอะไร ทั้งๆที่เกิดจากใจของตัวนั่นแหละ ตัณหา อุปาทาน ความยึดติด การปรุงแต่ง ใจมันยึด ใจมันติด ใจมันแบก ใจมันปรุง แต่ไม่รู้ไม่เห็น อันนี้ก็เรียกว่าไม่รู้จักตัวเอง มันไม่เห็นความเป็นไปของใจ
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าไม่รู้จักตัวเอง การที่จะพ้นทุกข์ มันก็เป็นไปไม่ได้เลย แต่ถ้ารู้จักตัวเอง รู้ว่าอะไรคือความสุขที่ดีต่อใจ รู้ว่าสุขที่ประเสริฐคืออะไร รู้ว่ามีสุขที่ประเสริฐกว่ากามสุข สุขที่เกิดจากความสงบ สุขที่เกิดจากการลด การละ การวาง การปล่อย รวมทั้งที่รู้ว่าทุกข์ที่เกิดขึ้นกับใจ เกิดขึ้นเพราะอะไร รู้ทันทันทีที่มันเกิดขึ้น ถ้ารู้ไปถึงขั้นว่า ที่เราทุกข์ๆนั้นเพราะว่ามีเรา ถ้าไม่มีเราเมื่อไหร่ มันก็ไม่มีทุกข์ มันมีแต่ความทุกข์ แต่ไม่มีผู้ทุกข์
เมื่อได้รู้จักตัวเองอย่างแท้จริง จนเห็นว่า แท้จริงแล้ว มันไม่มีเรา มันไม่มีตัวกูไม่มีตัวฉัน มันเป็นสิ่งที่ปรุงขึ้นมา ถ้ารู้ถึงขั้นนี้ในยามที่มีทุกข์ มันก็มีแต่ความทุกข์ แต่ไม่มีผู้ทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงบอกตั้งแต่ต้นว่า หนทางสู่ความพ้นทุกข์ มันเริ่มต้นจากการที่รู้จักตัวเอง อย่างยสกุลบุตรพอรู้จักตัวเองขึ้นมา ก็พ้นทุกข์เลย หรือภัควัคคีย์ พอหันมาแสวงหาตัวเอง รู้จักตัวเองเข้าใจตัวเองในความหมายที่ลึกซึ้งจากคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็ออกจากทุกข์ได้
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราปรารถนาความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง และเห็นว่ามันต้องลงมือปฏิบัติ ไม่ใช่ด้วยการร้องขอ หรือทำบุญรักษาศีล เราก็ต้องกลับมาที่จะรู้จักตัวเองในมิติที่ลึกซึ้ง ทั้งๆที่เกี่ยวข้องกับสุขและเกี่ยวข้องกับทุกข์ อันนี้แหละคือความหมายของปฐมเทศนาที่เราควรจะน้อมเข้ามาใส่ใจ
วันอาสาฬหบูชาปีนี้เราก็ไม่มีโอกาสที่จะได้มาเวียนเทียนกัน หลังจากฟังธรรมแล้ว ทุกปีเราจะมีการเวียนเทียน แต่ปีนี้สถานการณ์ไม่อำนวย และถึงแม้ว่าไม่มีโอกาสเวียนเทียนที่วัด เราก็ทำสิ่งที่มีคุณค่าได้ เพราะเวียนเทียนก็คือการบูชาด้วยอามิส ด้วยดอกไม้ธูปเทียน เราไม่มีโอกาสบูชาด้วยอามิสในวันอาสาฬหบูชาแต่เราก็สามารถที่จะเปลี่ยนมาเป็นการปฏิบัติบูชาได้ ทำที่บ้านคืนนี้ หรือว่าตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป มันก็ยิ่งเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราเข้าถึงการปฏิบัติมากขึ้น ไม่ว่าจะมีโควิดหรือไม่ ไม่ว่าจะมีความผันผวนปรวนแปรอย่างไรกับสังคมกับประเทศชาติ ในหนทางแห่งความพ้นทุกข์นี้ มันก็ยังมีคุณค่าอยู่เสมอ และทำเมื่อไหร่ก็ได้ผลตามมาเมื่อนั้น
เพราะฉะนั้น แม้ว่าช่วงนี้ โควิดจะแพร่ระบาดอย่างไร ก็อย่ามองข้ามถึงคุณค่าของหนทางแห่งการดับทุกข์ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนจากประสบการณ์ของพระองค์เอง และสิ่งเหล่านี้ถ้าเราปฏิบัติก็จะช่วยทำให้จิตใจเราไม่ทุกข์ไปกับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่รู้ว่ามันจะไปสิ้นสุดเมื่อไหร่ covid จะอยู่หรือไปแต่ใจก็ยังปกติได้ ถ้าหากว่าเราเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาทำให้เกิดขึ้นในจิตใจของเรา
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรม ทำวัตรเย็น วันที่ 24 กรกฎาคม 2564