แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายต้องมีทั้งผู้พูดและก็ผู้ฟัง จึงจะเรียกว่าเป็นการบรรยายได้ มีผู้พูดแล้วไม่มีผู้ฟังก็ไม่ใช่การบรรยาย มีผู้ฟังแต่ไม่มีผู้พูด การบรรยายก็เกิดขึ้นไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น การภาวนาโดยเฉพาะการเจริญสติก็ต้องอาศัย 2 อย่าง คือตัวรู้กับสิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่ถูกรู้ก็หนีไม่พ้น กายกับใจ รวมไปถึงเวทนา ที่จริงก็รวมไปถึงสิ่งต่างๆภายนอกที่เรียกว่าธรรม ไม่ว่าอะไรตามที่ถูกรู้ ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนประกอบที่ทำให้การเจริญสติเกิดขึ้นได้หรือสำเร็จได้
สิ่งที่ถูกรู้ มันก็มีทั้งสิ่งที่เราชอบและสิ่งที่ไม่ชอบ หรือจะเรียกว่าสิ่งที่ปรารถนากับสิ่งที่ไม่ปรารถนาก็ได้ เช่น ความสงบ ความปลอดโปร่ง ความเบิกบาน อันนี้คือสิ่งที่ใครๆก็ชอบ แต่ว่าสิ่งที่ถูกรู้ มันไม่ได้มีแค่นั้น มันยังรวมไปถึงความฟุ้ง ความคิดที่ไม่ได้เชื้อเชิญ ความหงุดหงิด ความขุ่นมัว ความง่วง ความเบื่อ สิ่งเหล่านี้เรียกรวมๆว่าสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ว่ามันจะเป็นกุศลหรืออกุศล ไม่ว่ามันจะดีหรือไม่ดีในมุมมองของเรา แต่มันก็เป็นส่วนที่ทำให้การเจริญสติเป็นไปได้ หรือทำให้การภาวนานั้นเรียกว่า เป็นการเจริญสติ
และในเมื่อมันทำให้การเจริญสติเกิดขึ้นได้ หรือว่าทำให้การภาวนานั้นเรียกว่าเป็นการเจริญสติ ก็ถือว่าเป็นของดี เมื่อการเจริญสติเกิดขึ้น และเกิดขึ้นบ่อยๆ อะไรตามมา สติก็เจริญเติบโตขึ้น คำว่าเจริญสติก็บอกอยู่ว่าทำให้สติเจริญ เมื่อมีตัวรู้ มีสิ่งที่ถูกรู้ การเจริญสติครบถ้วน ก็จะเกิดสติที่เจริญงอกงามตามมา
เพราะฉะนั้น เวลาเราภาวนาโดยเฉพาะการเจริญสติ อย่าไปคิด อย่าไปคาดหวังว่า มันจะต้องมีแต่สิ่งดีๆผ่านเข้ามาในใจ เช่น อารมณ์ที่สงบ ปล่อยวาง เบาสบาย ทำแล้วมันต้องสงบ โปร่งโล่ง ถ้าหากว่ามีอารมณ์อื่นเข้ามาในจิตใจ ความหงุดหงิด ความขุ่นมัว หรือว่าความเหงา ความเบื่อ รวมทั้งความฟุ้งซ่าน บอกว่าอย่างนี้ไม่ดี อันนี้ไม่ใช่ คนที่มาภาวนาหรือเจริญสติ หลายคนเวลามาทำก็คาดหวัง อยากจะให้มีแต่ความคิดและอารมณ์ที่ดีๆเกิดขึ้น เรียกรวมๆว่า เกิดความสงบ ความผ่อนคลาย อันนี้อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ดึงหลายคนมาที่นี่มาภาวนา
แต่ว่าพอเกิดความคิดและอารมณ์อย่างอื่นเข้ามาแทน ความคิดที่มันจมอยู่กับเรื่องราวในอดีต หรือว่าความฟุ้งซ่านปรุงแต่งสารพัด ความหงุดหงิด ความว้าวุ่น ความเหงา ความเบื่อ ก็เกิดความไม่พอใจขึ้นมา รู้สึกว่าการปฏิบัติของตัวเองล้มเหลว หรือว่ามันไม่ก้าวหน้า เกิดความทุกข์ขึ้นมา
ที่จริงไม่ว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นกับกายและใจ จะเป็นความปวด ความเมื่อย ความหงุดหงิด ความฟุ้งซ่าน ความรุ่มร้อน หากว่าเป็นสิ่งที่เรารู้ทัน รู้ว่ามันเกิดขึ้นในใจ แล้วก็ไม่ปล่อยใจให้ถลำจมลงเข้าไปในอารมณ์นั้นหรือไม่ปล่อยให้อารมณ์หรือความคิดเหล่านั้นลากลู่ถูกังจิตใจไป อันนี้ก็ถือว่าดีแล้ว
อย่าไปคาดหวังว่าเมื่อภาวนาแล้ว มีแต่ความสงบ หรือว่าต่อเมื่อมีความสงบจึงจะเรียกว่าปฏิบัติได้ดี ถ้าไปคิดแบบนั้นก็เตรียมตัวผิดหวังได้เลย เพราะว่ามันไม่ใช่มีแต่สิ่งดีๆผ่านเข้ามาในจิตใจของเรา สิ่งที่เป็นอกุศลมันก็สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ในจิตใจของเรา อารมณ์ต่างๆที่เรียกว่านิวรณ์ ความง่วงเหงาหาวนอน ความฟุ้งซ่าน ความรุ่มร้อนใจ ความลังเลสงสัย ความโลภ ความโหยหาสิ่งที่น่าพอใจเรียกว่าราคะตัณหา ความหงุดหงิดรวมทั้งความเบื่อ ความเซ็งสารพัด พวกนี้จะทยอยเข้ามาสู่จิตใจของเรา โดยเฉพาะคนที่ปฏิบัติใหม่ๆมันจะพรั่งพรูเข้ามาไม่หยุดหย่อน มันเป็นสิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ มันเป็นธรรมดา
เราจะเลือกให้มีแต่สิ่งดีๆให้เกิดขึ้นกับจิตใจของเรา มันเป็นไปไม่ได้ ก็เหมือนกับชีวิตจริงของเรา การดำเนินชีวิตของเราก็มีทั้งสิ่งที่สมหวังกับสิ่งไม่สมหวัง สิ่งที่น่าพึงพอใจกับสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ ไม่ว่าเราจะมีเงินมากแค่ไหน มีความรู้เพียงใด เราก็ไม่สามารถที่จะห้ามสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา สิ่งที่ไม่พึงพอใจเข้ามาในชีวิตของเราได้ เหล่านี้ที่เราเรียกว่าอนิฏฐารมณ์
ในชีวิตจริงเราเลือกไม่ได้ว่าจะต้องมีสิ่งดีๆเกิดขึ้นกับเราฉันใด ชีวิตในการภาวนาหรือในการปฏิบัติก็เหมือนกัน มันก็จะมีทั้งความคิดและอารมณ์ดีๆ เป็นกุศลเกิดขึ้น แล้วก็รวมถึงสิ่งที่เป็นอกุศล แต่ว่าตราบใดที่ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เรารู้ทันมัน เราเห็นมัน อันนี้ถือว่าดี ถือว่าการปฏิบัติของเรา ทำถูกแล้ว เพราะว่าเมื่อใดก็ตาม ที่มันเป็นสิ่งที่ถูกรู้ อันนี้ก็แปลว่าการปฏิบัติ หรือการเจริญสติของเรา มันทำถูกหรือว่ามันสำเร็จแล้ว
เพราะว่าอย่างที่บอกแต่แรกแล้ว การเจริญสติต้องอาศัย 2 อย่าง คือตัวรู้กับสิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่ถูกรู้จะเป็นอะไรก็ได้ จะเป็นกุศลหรืออกุศล จะเป็นสุขหรือทุกข์ ตราบใดที่มันเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ก็ถือว่าการปฏิบัติของเราทำถูกและสำเร็จ สิ่งที่ตามมาก็คือ สติที่เจริญงอกงามมากขึ้น รวดเร็วปราดเปรียวมากขึ้น
เพราะฉะนั้นให้เราวางใจของเราให้ดี ทำความคาดหวังให้ถูกต้องว่า ในระหว่างที่ภาวนา ในระหว่างที่ปฏิบัติ หรือระหว่างที่ใช้ชีวิตที่นี่ หรือที่ไหนก็ตาม แม้ว่าเราจะเพียรภาวนา แต่ว่ามันก็ไม่ใช่ว่ามีแต่สิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับจิตใจของเรา อารมณ์ที่ไม่ดี อารมณ์ที่หมองมัวรุ่มร้อน มันก็เกิดขึ้นได้ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา ตราบใดที่เรารู้ทันมัน มันมาปุ๊บ เราเห็นมัน เรารู้ทันมัน อันนี้ก็ถือว่าการปฏิบัติของเรา ทำถูกแล้ว จะมีความฟุ้งซ่าน จะมีความเบื่อ หรือว่าจะมีความขุ่นมัวอย่างไร อันนั้นเป็นสิ่งที่เราเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือเรารู้ทันมัน
ในชีวิตของเรา ไม่ว่าชีวิตภายนอกหรือชีวิตภายใน เราไม่สามารถที่จะเลือกว่าให้มีสิ่งดีๆให้เกิดขึ้นกับเราได้ อันนี้ไม่มีทางเลย แต่สิ่งที่เราเลือกได้คือ เราจะเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร สิ่งที่เราชอบ ถ้าเราเกี่ยวข้องไม่ถูก มันก็เป็นโทษ สิ่งที่ไม่ชอบถ้าเราเกี่ยวข้องถูก มันก็เป็นคุณ อย่างเช่น ความสุข ถ้าเราหลงสุข เราก็เกิดความประมาท อันนี้ก็เตรียมตัวเดือดร้อน เตรียมตัวทุกข์ได้เลย
คนที่มีความสุข คนที่มีความสำเร็จแล้วก็เพลิดเพลินในความสุขในความสำเร็จนั้น อันนั้นเป็นทางสู่ความทุกข์เลย เพราะว่าทำให้เกิดความประมาท มันทำให้ยึดติด และสิ่งเหล่านั้นก็ไม่เที่ยง พอมันแปรเปลี่ยนไปก็ทุกข์ขึ้นมา มีสุข หลงสุขก็เป็นโทษหรือมีทุกข์ แต่รู้ทุกข์เป็นคุณเป็นประโยชน์ ระหว่างหลงสุขกับรู้ทุกข์ ให้เราเลือกรู้ทุกข์ดีกว่า สุขหรือทุกข์ เราเลือกไม่ได้ เราไม่สามารถที่จะเลือกได้ว่าสุขตลอดเวลา หรือไม่มีทุกข์เลย ทุกข์อย่าได้มา เราเลือกไม่ได้ แต่สิ่งที่เราเลือกได้ คือเลือกว่าเราจะเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร ถ้าเราหลงสุข เราแย่เลย แต่ถ้าเรารู้ทุกข์ ความเจริญก็เกิดขึ้น
รู้ทุกข์เป็นเรื่องสำคัญ เราห้ามทุกข์ไม่ให้เกิดขึ้น เราห้ามไม่ได้ แต่ว่าเราสามารถที่จะฝึกตนให้รู้ทุกข์ได้ทันท่วงทีได้ การรู้ทุกข์เรียกว่าเป็นหัวใจของการภาวนาเลย อริยสัจข้อแรก เราก็ทราบดีอยู่แล้วว่าคือทุกข์ แต่ว่านอกจากว่าอริยสัจคืออะไรแล้ว ท่านยังอธิบายขยายความต่อไปว่า กิจที่พึงมีต่ออริยสัจแต่ละข้อคืออะไร กิจที่พึงมีต่ออริยสัจข้อแรกคือรู้ทุกข์ บางทีท่านก็ใช้คำว่ากำหนดรู้ ทุกข์ไม่มีใครชอบ แต่ถ้าว่าเรารู้ทุกข์เมื่อไหร่ อันนี้เป็นของดี และนี่คือแก่นของการภาวนา หรือว่าการเจริญสติ มีสุขแต่ไม่รู้ว่าสุขเกิดขึ้น มีความสงบแต่หลงในความสงบ อันนี้แย่ ฟุ้งแต่ว่ารู้ว่าฟุ้ง อันนี้ดีกว่า และมันทำให้การเจริญสติของเราเป็นไปได้
ในชีวิตของคนเรา อะไรเกิดขึ้นกับเราไม่สำคัญเท่ากับว่าเราเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร มีความสำเร็จ แต่หลงเพลินในความสำเร็จ อันนี้ก็นำไปสู่ความหายนะได้ แต่เจอความล้มเหลวแล้วรู้จักใคร่ครวญ แทนที่จะคร่ำครวญ ตีโพยตีพาย แต่กลับมาใคร่ครวญ มันกลายเป็นของดีไปเลย เพียงแค่เอาการใคร่ครวญมาจับสิ่งที่ใครๆที่ถือว่าเป็นสิ่งที่แย่ เช่น ความล้มเหลวหรือความทุกข์ มันกลับเกิดผลดี ทำให้เกิดปัญญา
โทมัส เอดิสัน ซึ่งเป็นคนที่ประดิษฐ์หลอดไฟ ที่ทำให้โลกสว่างไสวจนมาถึงทุกวันนี้ ตอนที่เขาหาวัสดุมาเพื่อมาทำเป็นไส้หลอด เขาใช้ความเพียรพยายามมาก หาวัสดุนานาชนิดมาทำไส้หลอดไฟเพื่อให้เกิดความสว่าง เจอความล้มเหลวมาเป็นร้อยๆครั้ง บางตำนานว่าเป็นพันครั้งเลย แต่เขาไม่รู้สึกว่าเป็นความล้มเหลวเลย เขารู้สึกว่าเป็นการเรียนรู้ การล้มเหลวแต่ละครั้งเป็นการเรียนรู้ ทำให้เขารู้ว่าอะไรที่ควรเลี่ยง อะไรที่ควรเปลี่ยน อันนี้เรียกว่าความล้มเหลวกลายเป็นของดี เพราะรู้จักใคร่ครวญ หรือไม่ก็ รู้จักมองในมุมใหม่
ความทุกข์ยากความลำบากในวัยเด็ก ทำให้เด็กบางคนรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เพื่อนๆได้ไปเที่ยวได้ไปเล่น แต่เราต้องอยู่บ้าน ต้องทำงานบ้าน ต้องทำครัวทำอาหารให้กับคนที่บ้าน แถมยังต้องเย็บปักถักร้อยเพราะว่ายายบังคับ รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เวลานึกถึงเหตุการณ์เหล่านี้ก็รู้สึกคับแค้นใจว่า ทำไมเรามีชีวิตที่ลำบากกว่าคนอื่น แต่พอโตขึ้น มีครอบครัว เป็นผู้ใหญ่ มองย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์เหล่านั้น แทนที่จะคับแค้นใจ กลับรู้สึกปลาบปลื้ม ขอบคุณแม่ ขอบคุณยายที่เคี่ยวกรำ ทำให้เรามีความรู้ความสามารถติดตัวเลี้ยงดูครอบครัวและนำไปใช้ทำมาหากินได้ ความรู้สึกเปลี่ยนไปทั้งที่เหตุการณ์เหมือนเดิมคือความยากความลำบาก แต่ว่ามองในมุมใหม่ ไม่ใช่เป็นความยากลำบาก มันเป็นการเคี่ยวกรำ มันเป็นการฝึกฝน และทำให้ชีวิตก้าวหน้า นึกถึงมันไม่ทุกข์แล้วกลับมีความรู้สึกปลาบปลื้ม
เหมือนกับคนบางคนที่มีพ่อไม่รับผิดชอบครอบครัว เล่นการพนัน ติดผู้หญิง จนกระทั่งหนีไปอยู่กับเมียน้อย ทิ้งครอบครัวให้ลำบาก ผจญชะตากรรมแต่ลำพัง ตัวเองก็ต้องทำมาหาเลี้ยงครอบครัวตั้งแต่ยังเด็ก ไม่ได้เที่ยว กินก็ลำบาก ต้องหาเงินส่งน้อง แล้วก็ส่งตัวเองได้ร่ำเรียนหนังสือ คับแค้นใจพ่อมาก แต่พอโตขึ้นได้ประสบความสำเร็จในชีวิตในอาชีพการงาน มองย้อนกลับไปในชีวิตวัยเด็ก ก็รู้สึกขอบคุณพ่อที่ทำให้เรากลายเป็นคนที่เข้มแข็งและอดทน สามารถที่จะช่วยตัวเองจนกระทั่งมีอาชีพเจริญมั่นคงได้
ตอนหลังก็พาพ่อกลับมา มาอยู่กับครอบครัว เพราะตอนนั้นพ่อก็หมดสภาพแล้ว ไปไหนก็ไม่รอด ก็อาศัยลูกนี่แหละพาพ่อกลับมาดูแล ดูแลด้วยความรัก ไม่มีความโกรธแค้นเลย เพราะว่าขอบคุณพ่อที่ทำให้เราเข้มแข็ง อันนี้เรียกว่า แม้เจอความทุกข์ที่ไม่ปรารถนา แต่พอมองในมุมที่ใหม่กว่าเดิม มันกลายเป็นสิ่งที่ดี มันทำให้เกิดความปลาบปลื้ม เกิดความภาคภูมิใจ
เราไม่สามารถที่จะเลือกว่า จะต้องมีสิ่งดีๆให้เกิดขึ้นในชีวิตได้ เราทำไม่ได้ แต่เราเลือกได้ว่าเราจะเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร เกี่ยวข้องหมายความว่า ตั้งแต่รู้จักใคร่ครวญมัน หาประโยชน์จากมัน หรือรู้จักมองในมุมใหม่ มันก็ทำให้เกิดความรู้สึกที่เปลี่ยนไป หรือทำให้เกิดความเจริญงอกงามมากขึ้นในชีวิตในจิตใจ
การเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ มันไม่ใช่มีแค่ใคร่ครวญ หรือมองในมุมใหม่ หรือการหาประโยชน์จากมัน ในลักษณะที่ว่ามาเท่านั้น เพียงแค่รู้เฉยๆสิ่งแย่ๆก็กลายเป็นสิ่งที่ดีได้ ความโกรธ ความเกลียด ความอิจฉา เมื่อมันเกิดขึ้นในใจแล้ว เรารู้เราเห็นมัน ความฟุ้งซ่าน คิดสารพัด เมื่อมันเกิดขึ้น เราเห็นมัน เรารู้เรารู้ทันมัน อันนี้ก็กลายเป็นสิ่งที่ดีขึ้นมาได้ เพราะกลายเป็นวัตถุดิบในการพัฒนาสติของเราให้เจริญงอกงาม
ในทางตรงข้าม มีสิ่งดีๆ อารมณ์ดีๆเกิดขึ้น แต่ไม่รู้ กลับไปหลงเพลิน จมกับความคิดและอารมณ์เหล่านั้น มันสุขก็จริงแต่มันก็ชั่วคราว แล้วก็จะมีทุกข์ตามมา มันทำให้เราเป็นคนที่จมอยู่ในความหลงได้ง่าย และเมื่อหลงแล้วก็เชื้อเชิญให้ความทุกข์มาเล่นงานจิตใจของเรา แต่ถ้าหากว่าเราหมั่นรู้ทันไม่ว่าอารมณ์ใดๆเกิดขึ้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีที่มาฝึกสติของเรา หรือว่าเป็นสิ่งที่มาเพิ่มตัวรู้ให้เจริญงอกงามในจิตใจของเรา อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องวางใจให้ถูกต้องเลย โดยเฉพาะเมื่อเรามาฝึกสติมาภาวนา
ให้เราตระหนักว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับจิตใจของเราหรือกับตัวเราก็ตาม มันไม่สำคัญเท่ากับว่าเราเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร และนี้เป็นสิ่งที่เป็นพื้นฐานในการเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้คือการรู้ รู้ทัน
มันมีความโกรธ ก็รู้ทันมัน มันจะทำให้สติเจริญงอกงาม มีความฟุ้งเกิดขึ้น ฟุ้งเยอะเท่าไหร่ จะฟุ้ง 90% ของการปฏิบัติ แต่ว่ารู้ทันมันเป็นส่วนใหญ่ อันนี้กลับทำให้สติเราเจริญงอกงาม
ในทางตรงข้าม ปฏิบัติแล้วสบายๆ สงบ ผ่อนคลาย แล้วก็เพลินในความสงบในความผ่อนคลายนั้น อันนั้นกลับเพิ่มตัวหลงให้มากขึ้น ทำให้การเจริญสติของเราไม่ก้าวหน้า กับสิ่งนอกตัวก็เหมือนกัน สิ่งที่มากระทบ รูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส แม้จะเป็นสิ่งที่หยาบสิ่งที่ร้อน แต่ถ้าหากว่าเราเกี่ยวข้องกับมันได้ถูก มันก็เป็นประโยชน์ เช่น ยุงกัด เกิดความเจ็บ ก็รู้ทัน เห็นเวทนานั้น มันเห็นตั้งแต่เกิดความไม่พอใจที่ยุงมาตรอมแล้ว มีความไม่พอใจ เห็นมัน อันนี้สติเราโตแล้ว เราได้สติมา 1 แต้มแล้ว หรือว่าเกิดความวิตกกังวลว่ายุงกัด แล้วจะทำให้เราเป็นโรคป่วยอะไรไหม แทนที่จะจมอยู่กับความวิตกกังวล เห็นความวิตกกังวล อันนี้สติเราโตไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว
เพราะฉะนั้น ถ้าเรามองแบบนี้ได้ การปฏิบัติของเราก็จะเจริญงอกงามได้เรื่อยๆ หรือว่าอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่ามีอะไรเกิดขึ้น ก็เอามาใช้ในการฝึกสติคือ ให้เกิดการรู้ทันขึ้นมา ตัวรู้มันจะเติบโตได้ เพราะมีสิ่งที่ถูกรู้ เข้ามาเป็นตัวหล่อเลี้ยงเป็นอาหาร
สิ่งที่ถูกรู้จะเป็นอะไรก็ตาม ก็ดีทั้งนั้น รวมทั้งความทุกข์ด้วย มีความทุกข์เกิดขึ้น อ้าวรู้ทุกข์ เราก็จะเห็นทุกข์ หรือเราก็จะรู้รอบในตัวทุกข์ จนกระทั่งสามารถที่จะปล่อยจะวาง หรือเห็นรากเหง้าของมัน จนกระทั่งไม่ปล่อยให้มันเข้ามายึดครองครอบงำจิตใจของเราได้ ถ้าเราไม่รู้ทุกข์ ในการที่จะออกจากทุกข์ ก็เป็นไปไม่ได้ หรือการที่จะก้าวข้ามความทุกข์จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเราไม่รู้ทุกข์ แต่เราจะรู้ทุกข์ได้ก็เพราะว่าเจอทุกข์อยู่เรื่อยๆ จะทุกข์อยู่บ่อยๆ จากหลงทุกข์กลายเป็นรู้ทุกข์ อันนี้แหละ จะเป็นเครื่องวัดความก้าวหน้าของการปฏิบัติ
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมวัตรเช้า วัดป่าสุคะโต วันที่ 19 กรกฎาคม 2564